คำถามง่ายๆ เพื่อการโละเสื้อผ้า

20160818_ClothPurging

ทุกๆ สามเดือนที่บริษัทผมจะมีรับบริจาคเลือด บริจาคเสื้อผ้า และบริจาคหนังสือ

ก็เลยอยากจะเอาเคล็ดลับในการเลือกเสื้อผ้าบริจาคมาฝากเสียหน่อย

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการจัดบ้านแบบ KonMari เมื่อปีที่แล้ว ที่สอนวิธีการโละเสื้อผ้าด้วยการหยิบมันขึ้นมา แล้วถามตัวเองว่า

Does it spark joy? จับเสื้อตัวนี้แล้วมันทำให้เราชื่นใจรึเปล่า?

ถ้าชื่นใจก็จงเก็บไว้ ถ้าไม่ชื่นใจก็ควรเอาไปบริจาค

อีกคำถามหนึ่งที่มีประโยชน์ คือการถามตัวเองว่า “ถ้าเราไม่ได้มีเสื้อตัวนี้อยู่แล้ว เรายังจะยอมควักเงินเพื่อซื้อมันอยู่รึเปล่า?” – If I don’t already own it, would I still buy it?

ถ้าคำตอบคือไม่ เราก็ควรเอาเสื้อตัวนี้ไปบริจาคเหมือนกัน

ลองเอาสองคำถามนี้ไปใช้ดูนะครับ น่าจะช่วยให้ตู้เสื้อผ้าดูสดใสงามตาขึ้นมาไม่มากก็น้อยครับ


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ได้ออกทีวีเพราะ KonMari

20150823_TVKonMari

เมื่อวานนี้ผมไปออกรายการทีวีมาครับ!

ชื่อรายการ Home Room ช่อง TPBS ออกอากาศตอน 18.30 – 19.30 ทุกเย็นวันเสาร์ครับ

เรื่องของเรื่องคือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม คุณวรรณซึ่งเป็นทีมงานรายการโฮมรูมทักมาทาง Inbox ของเพจ Anontawong’s Musings อยากจะเชิญมาออกรายการเพื่อพูดคุยเรื่องวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari

บล็อกเรื่อง KonMari ที่ผมเขียนเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเป็นบทความที่ผมใช้พลังในการเขียนเยอะที่สุดตอนหนึ่ง (พอๆ กับเรื่องแต่งงานและเรื่องลดน้ำหนัก) และเป็นตอนที่มีคนแชร์ต่อถึง 32,000 ครั้ง จำนวนแชร์เป็นรองแค่เรื่องความเคารพของคุณโอปอล์ที่มีคนแชร์เจ็ดหมื่นครั้ง

พอเขาติดต่อมาอยากจะให้ไปคุยเรื่องนี้ผมเลยตอบตกลงทันที เพราะผมเชื่อจริงๆ ว่ามันเป็นแนวคิดที่จะมีประโยชน์มากๆ

จากนั้นคุณวรรณก็โทร.มาคุยกับผม ไอเดียแรกคือเขาอยากจะมาถ่ายที่บ้านด้วย แต่ผมออกตัวว่าไม่สะดวกเพราะหนึ่ง กำลังจะย้ายบ้าน ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านจึงรกผิดปกติ (เนื่องจากขนชั้นและอะไรต่อมิอะไรไปบริจาคเกือบหมดแล้ว) และสองคือไม่มีคนที่จะมาคอยเปิดบ้านให้ทีมงานเข้ามาถ่าย

สุดท้ายจึงสรุปกันว่าจะหาตู้เสื้อผ้า กล่อง และเสื้อผ้ามาพับให้ดูกันสดๆ ในสตูดิโอเลย

—–

พอถึงวันเสาร์ (เมื่อวานนี้) ผม แม่ ภรรยา และพี่เขย ก็เดินทางไปยังสถานี Thai PBS ซึ่งอยู่ติดกับสโมรสรตำรวจบนถนนวิภาวดี-รังสิต

ไปถึงตอน 17.15 คุณวรรณก็เดินออกมารับและพาไปห้องรับแขก จากนั้นก็บรี๊ฟให้ฟังว่า รายการเริ่มตอนหกโมงครึ่ง แต่ช่วงของผมจะเป็นเบรคสอง ประมาณ 18.50 และบอกให้ผมฟังว่าพิธีกรจะถามคำถามประมาณไหน เช่น KonMari คืออะไร ถ้ามีเสื้อผ้ายังไม่ได้ใส่เลยจะทำยังไง สามารถใช้วิธีนี้ได้ทุกคนรึเปล่า ฯลฯ

พิธีกรสามท่านในวันนี้คือ พี่แอ๊ดไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย,  คุณโบว์ลิ่ง ปริศนา กัมพูสิริ และ คุณท๊อป ทศพล หมายสุข

ผมถามคุณวรรณว่าจะมีโอกาสได้ซักซ้อมคิวกับพิธีกรรึเปล่า คุณวรรณบอกว่าไม่ต้องค่ะ เดี๋ยวไปคุยกันสดๆ ในรายการเลย (เพื่อความเป็นธรรมชาติสินะ!)

จากนั้นคุณวรรณก็ขอยืมหนังสือ The Life Changing Magic of Tidying และ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ที่ผมติดมาด้วย เพื่อจะเอาไปเตรียมไว้โชว์ในรายการ

—-

ระหว่างนั่งรอเวลา พี่แอ๊ดที่เพิ่งแต่งหน้าเสร็จเดินเข้ามาที่ห้อง ตอนแรกนึกว่าเขาจะเข้ามาทักผม แต่ดูเหมือนเขาจะมองหาใครซักคนมากกว่า พอไม่เจอก็เลยเดินกลับออกไป สงสัยเค้าอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำแฮะว่าผมเป็นแขกรับเชิญ (เพราะคงไม่เคยเห็นหน้า)

จากนั้นช่างก็มาตามไปแต่งหน้าทำผม ตอนแต่งหน้าใช้เวลาแค่ 5 นาทีคือประแป้ง เติมคิ้ว (ผมคิ้วขาด) และทาลิปสติกบางๆ ให้ แต่ตอนทำผมใช้เวลาสิบกว่านาที ดูช่างทำผมจะหนักใจพอสมควรเพราะจัดยังไงก็ไม่ยอมเข้าทรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เพื่อนกับแฟนผมบ่นมานานแล้วว่าผมของผมจัดทรงยากมาก ดังนั้น ถ้าเห็นในรายการผมหัวยุ่ง ขอบอกว่าช่างทำดีที่สุดแล้วนะครับ!

แต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จเรียบร้อย เดินกลับมาที่ห้องรับรองก็เห็น “ผู้ติดตาม” ทั้งสามคนกำลังกิน cracker ที่ติดรถกันมาอย่างเอร็ดอร่อยเพื่อประทังหิว ผมเลยให้แฟนป้อนให้กินมั่ง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ลิปสติกเลอะเทอะ (นึกนับถือผู้หญิงขึ้นมาเลย)

18.25 เจ้าหน้าที่มาตามให้เข้าไปในสตูดิโอ จุดที่ผมไปนั่งรออยู่ตรงหลังห้อง ห่างจากเวทีที่พิธีกรนั่งอยู่ประมาณ 15 เมตร อีกไม่กี่นาทีรายการจะเริ่ม พิธีกรนั่งอยู่ที่เก้าอี้กันครบแล้ว และทุกคนกำลังก้มดูมือถือกันอยู่! (ส่วนสคริปต์ถืออยู่อีกมือหนึ่ง) แสดงให้เห็นว่าชิลล์กันสุดๆ

แล้วพี่คนหนึ่งในห้องส่งก็ตะโกนบอกว่ากำลังจะตัดเข้ารายการแล้ว พิธีกรทุกคนเก็บมือถือ หันหน้าขึ้นมองกล้อง ดนตรีมา และยกมือไหว้ทักทายแขกเข้ารายการกันอย่างพร้อมเพรียง

พอรายการเริ่มขึ้นแล้วจริงๆ ผมก็ชักจะเริ่มตื่นเต้นแฮะ เลยต้องลุกเดินไปเดินมาเพื่อให้พลังงานมันผ่องถ่ายไปทางอื่นบ้าง

เมื่อพิธีกรพูดทักทายเสร็จแล้ว พี่แอ๊ดกับคุณโบว์ลิ่งก็เดินไปที่ฉากข้างๆ เพื่อคุยกับเชฟบุ๊ค บุญสมิทธิ์ที่มาสาธิตวิธีการทำแกงอ่อมบุก (ครับ ผมเองก็เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกัน) ส่วนคุณท๊อปที่ยังไม่ต้องเข้าฉาก ก็เดินลงมาจากเวที พอเดินผ่านจุดที่ครอบครัวผมนั่งอยู่ คุณท๊อปก็ยกมือไหว้ทุกคนเลย

(ดาราอีกคนที่นอบน้อมมากคือคุณเป้ อารักษ์วงเสลอที่ชอบไปเล่นปีนเขาที่สปอร์ตคลับแห่งหนึ่งแถวทองหล่อ เจอพี่พนักงานทุกคนเข้าไหว้หมดเลย)

ทำอาหารกันอยู่ประมาณเกือบยี่สิบนาทีก็เป็นอันจบเบรคแรก อยากบอกว่ากลิ่นแกงอ่อมบุกหอมมาก ผมนั่งอยู่ห่างจากเวทีราว 20 เมตรยังได้กลิ่นจนอยากลองชิม

พอจะเข้าเบรคสอง เจ้าหน้าที่ก็ให้ผมไปยืนรอด้านข้างเพื่อที่จะเดินขึ้นเวทีตรงมุมเวที ผมยังคิดเล่นๆ เลยว่าถ้าเข้าฉากแล้วเกิดสะดุดบันไดล้มนี่คงฮาน่าดู

พอพิธีกรแนะนำชื่อผมเสร็จ ก็เดินขึ้นเวทีด้วยความระมัดระวัง เข้ามาถึงพี่แอ๊ดก็บอกให้แนะนำตัวเลยว่าทำอะไรอยู่ ผมก็บอกไปว่าตอนนี้ทำงานสื่อสารองค์กรที่ทอมสันรอยเตอร์ บริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์รายใหญ่เจ้าหนึ่งในเมืองไทยนะ เสร็จแล้วพี่แอ๊ดก็ถามต่อเลยว่า KonMari คืออะไร

(จริงๆ มาคิดได้ทีหลังว่าเขาน่าจะถามซักนิดว่าทำงานสื่อสารองค์กรแล้วมาพูดเรื่องการจัดบ้านได้ยังไง พอเค้าไม่ถามผมก็เลยอดโปรโมตบล็อกตัวเองเลย)

จากนั้นทุกๆ อย่างก็เป็นไปตามครรลอง

เรื่องหนึ่งที่ประทับใจพิธีกรคือความเป็นธรรมชาติของทั้งสามคน อย่างตอนที่ทีมงานผิดคิวเล็กน้อยเอาวีดีโอพับผ้าเร็วหนึ่งวินาทีขึ้นมาโชว์แทนที่จะเป็นการพับเสื้อแขนยาวแบบคอนมาริ คุณโบว์ลิ่งก็ดูแล้วทำตามได้เลย (เธอบอกด้วยว่าไม่เคยดูมาก่อน) หรือตอนพับถุงเท้า พี่แอ๊ดก็พับตามแล้ววางตั้งไว้บนโต๊ะให้ทีมงานได้ซูมกล้องให้ดูกันจะจะ ส่วนคุณท๊อปก็มีการช่วยสรุปประเด็นได้ตรงเป้า แสดงถึงความคิดความอ่านที่เป็นผู้ใหญ่เกินตัว

—–

มีคำถามหนึ่งที่พี่แอ๊ดถามแล้วผมรู้สึกว่าตอบได้ไม่ดี

คือเขาถามว่า การปฏิบัติกับของทุกชิ้นราวกับว่ามันมีชีวิตนี่มันช่วยสร้างความแตกต่างยังไง

ผมคิดว่าที่เขาถามอย่างนี้เพราะคุณผู้ชมหลายคนอาจจะมองว่าการจินตนาการว่าของทุกชิ้นนั้นมีชีวิตนั้น ถ้าพูดกันแบบไม่เกรงใจก็เหมือนเป็นเรื่องหลอกเด็ก

ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้

เพราะในหนังสือก็ไม่ได้ตอบตรงๆ ว่าทำไมเราควรปฏิบัติราวกับของทุกชิ้นมีชีวิต

แต่ “สาร” หนึ่งที่ส่งออกมาจากหนังสือก็คือ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งของเป็นสิ่งมีชีวิต คุณจะหาคำตอบได้ไม่ยากว่าคุณควรจะปฏิบัติกับข้าวของคุณยังไง

อย่างเสื้อผ้าที่เราคัดทิ้ง เราไม่ใช่แค่จับมันโยนลงถุงเฉยๆ แต่เราควรจะขอบคุณมันด้วยที่เคยดูแลกันมาก (ประเด็นนี้ผมเลยพูดไปเสียสนิท ทั้งๆ ที่มันสำคัญมากๆ)

หรืออย่างคุณมาริเอะบอกว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ให้พับเก็บ แต่ถ้าตัวไหนดูน่าจะแฮปปี้กว่าถ้าโดนแขวน ก็จงแขวนมันซะ (อย่างพวกเสื้อโค้ทหรือเสื้อสูทเป็นต้น)

แถมคุณมาริเอะย้งบอกอีกว่า ที่เก็บของในบ้านมีมากเกินพอ ถ้าเราคัดของของเราเรียบร้อยแล้ว และลอง “ถาม” ข้าวของของเราดีๆ ว่ามันควรจะอยู่ตรงไหน เราจะรู้คำตอบเอง

สิ่งที่คุณมาริเอะอาจไม่ได้เขียนในหนังสือ แต่ผมคิดเอาเองก็คือ ถ้าคุณปฏิบัติต่อข้าวของซึ่งไม่มีชีวิตด้วยความเคารพ คุณก็จะปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ด้วยความเคารพเช่นกัน และเมื่อเราใช้ชีวิตด้วยการให้เกียรติคน สัตว์ สิ่งของเป็นสรณะแล้ว เราก็ย่อมจะมีชีวิตที่เจริญยิ่งขึ้น

—–

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณท๊อปหันมาคุยด้วยตอนจบรายการก็คือ ความยากของ KonMari อยู่ที่การเก็บนี่แหละ เพราะมันต้องใช้เวลาเยอะกว่าปกติ แถมคนกรุงเทพก็ไม่ค่อยมีเวลาว่าง ถึงบ้านแล้วก็อยากจะพัก ดังนั้นการจะใช้วิธีนี้ได้ คงต้องจัดเวลาว่างเพื่อมานั่งเก็บผ้ากันทุกสัปดาห์

พอดีคุณท๊อปคงไม่เคยอ่านบล็อก anontawong.com ไม่อย่างนั้นผมจะบอกให้เขาลองไปอ่านตอน จะรีบไปไหน

การที่เรารู้สึกว่าไม่มีเวลามานั่งจัดบ้านหรือพับผ้า ก็เพราะว่าเรามองว่ามันเป็น “งาน” (chore)

แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็น “กิจกรรมผ่อนคลาย” หรือ “งานอดิเรก” ไม่ต่างจากการเล่น Facebook หรือเล่น LINE เราจะมีความรู้สึกต่อการพับผ้าที่เปลี่ยนไป

ผมว่าการนั่งพับผ้านี่คือวิธีง่ายๆ ที่จะมี Slow Life โดยไม่ต้องเปลืองตังค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้ว่า การพับผ้าพวกนี้จะนำพาความสุขมาให้เราทุกครั้งที่จะหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาใช้

กาารพับผ้าจะกลายเป็นช่วงเวลาของการได้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องจ้องจอแสงจ้าให้ปวดตา

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราสามารถมีความสุขแม้กระทั่งกับการพับผ้าได้ เราก็น่าจะมีความสุขกับเรื่องอื่นๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน

——

สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณคุณวรรณ และทีมงานรายการ Home Room ทุกๆ ท่านที่ให้โอกาสผมได้มาออกรายการนี้นะครับ

และต้องขอโทษจริงๆ ที่ผมยังพูดเร็วและ”พูดหวัด” อยู่มาก ทั้งๆ ที่ที่บ้านก็กำชับแล้วกำชับอีก

ทั้งนี้เพราะผมเป็นคนพูดเร็วอยู่แล้ว และชั่วโมงบินเรื่องการพูดคุยออกสื่อยังต่ำมาก

สงสัยทางเดียวที่จะแก้ได้คือต้องเชิญผมไปออกรายการทีวีบ่อยๆ แล้วล่ะครับ!

—–

ขอบคุณภาพจาก Youtube ช่อง Thai PBS รายการ Home Room

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

จัดบ้านแบบ KonMari ในวันแม่

20150812_KonMariMotherDay

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ช่วยแชร์บทความวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari อย่างล้นหลามถึงหมื่นกว่าแชร์ ถือว่าเกินความคาดหมายและสร้างความปลาบปลื้มให้กับผมแบบสุดๆ ไปเลย

อย่างที่ได้เขียนเล่าไปเมื่อสองวันที่แล้วว่า วันแม่ปีนี้ผมมีนัดจัดบ้านกับครอบครัว

กำลังสำคัญวันนี้ได้แก่ แม่ พ่อ รอง (น้องชาย) ผึ้ง (ภรรยา) เฮียชาติ พี่ชายของผึ้ง และตัวผมเอง

ผึ้ง แม่ และรองอ่านบล็อกของผมมาเรียบร้อยแล้ว แต่พ่อกับเฮียชาติยังไม่ได้อ่านเลยต้องมีอธิบายขั้นตอนกันนิดหน่อย ว่าวันนี้เราจะเริ่มจากเสื้อผ้าของห้องพ่อกับแม่นะ แล้ววิธีเลือกว่าจะเก็บเสื้อผ้าชิ้นไหนเอาไว้ก็ด้วยการหยิบมันขึ้นมาทีละชิ้นแล้วถามตัวเองว่ามันสปาร์คจอย (spark joy / ชื่นใจ) รึเปล่า

ประมาณสิบโมง เราก็เริ่มภารกิจกันด้วยการขนเสื้อผ้าของพ่อบางส่วนมากองไว้ที่พื้น แล้วก็ให้พ่อคัด ส่วนแม่เองก็เอาผ้ามากองไว้บนเตียงและทำขนานกันไปเช่นกัน

ในขณะที่พ่อและแม่คัดผ้า พวกเราเหล่าลูกๆ ก็ช่วยกันจัดผ้าเก็บเข้าตู้เป็นอย่างๆ ไป เพราะไม่อย่างนั้นจะมีพื้นที่ไม่พอปฏิบัติการ

ข้อดีที่ได้พบก็คือ แม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ Spark Joy เป็นอย่างดี วันนี้ทั้งวันผมว่าแม่พูดคำว่า “สปาร์ค” ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง ไม่ว่าจะกับเสื้อผ้าหรือกระเป๋าถือ ส่วนพ่อจะใช้คำว่า “ชื่นใจ” หรือคำว่า “ชอบ” ไม่ค่อยได้ใช้คำว่าสปาร์คจอยเท่าไหร่

บทเรียนที่ได้ร้บจากการช่วยพ่อแม่จัดการเรื่องเสื้อผ้ามีดังนี้

1. การไม่เอาผ้าลงมากองให้หมดทีเดียวทำให้ต้องทำงานซ้ำ เพราะห่วงกันว่าพื้นที่จะไม่พอ ก็เลยทยอยทำจากชุดชั้นในก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ โกยเอาเสื้อจากตู้เสื้อผ้ามาคัด แล้วค่อยเอาผ้าจากราวเหล็กมาคัด ซึ่งด้วยวิธีการอย่างนี้พอเอาเสื้อใส่กล่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะเจออีกตัวใหม่เข้ามาอีกสองสามตัว เลยต้องมานั่งจัดกันใหม่ เราเลยยิ่งเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าทำไมมาริเอะถึงแนะนำว่าควรจะเอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองไว้ตูมเดียวเลย (แม้จะดูว่าพื้นที่อาจจะไม่พอ แต่ผมเชื่อว่าทำจริงๆ ก็ต้องพออยู่แล้วเพราะผ้าจะกองสูงเท่าไหร่ก็ได้)

2. ควรเตรียมกล่องใส่ไว้ให้พร้อม เมื่อวานพอดีที่ตึกเอ็มไพร์มีร้านมาออกบู๊ธขายกล่องใส่รองเท้า ผมเลยซื้อมาทั้งหมดสี่กล่อง ใช้เงินไป 480 บาท (กล่องรองเท้าผู้หญิงเซ็ตสามกล่อง 310 บาท กล่องรองเท้าผู้ชายหนึ่งกล่อง 170 บาท) พอแม่รู้ราคาก็บอกว่าแพงจัง ที่แม่เคยซื้อไดโสะ แม๊กซ์แวลูพัฒนาการถูกกว่า เพราะกล่องละ 60 บาทเอง แถมสี่กล่องที่ซื้อมายังไงก็คงไม่พออยู่แล้ว

จริงๆ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมกับแฟนไปเดินไดโสะมาแล้วและหาไม่เจอ แต่แม่ก็ยืนยันให้ลองโทร.ไปถามดูอีกที ผมก็เลยลองโทร.ไปที่ร้านและเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่ามีกล่องรองเท้าจริงๆ ผมก็เลยวิ่งไปดูแล้วก็ซื้อมา 12 กล่อง เอากลับมาใช้ได้แค่ชั่วโมงกว่าๆ ก็ทำท่าจะไม่พออีก เฮียชาติเลยวิ่งไปซื้อมาให้เพิ่มอีก 20 กล่อง รวมแล้วเป็น 32 กล่องที่เราใช้ในการเก็บเสื้อผ้าพ่อแม่ครั้งนี้ (แถมใช้หมดเกลี้ยงด้วย!)

ข้อเสียอย่างหนึ่งของกล่องจากไดโสะก็คือ มันแคบไปนิดนึง ทำให้เวลาพับเสื้อต้องเฉไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้คอดูเบี้ยวๆ ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ (แต่ตอนพับเสร็จและจัดลงกล่องแล้วก็ดูไม่ออกหรอกนะ) จะให้ดีคือควรจะหากล่องกว้างซัก 22-25 ซ.ม. ถึงจะพับลงได้พอดี ซึ่งเท่าที่ผมลองใช้มากล่องผ้าพับได้จาก Ikea ขนาดลงตัวสุดครับ

3. คนใส่กับคนเตรียมชุดคนละคนกัน ธรรมดาแม่จะเป็นคนจัดเสื้อผ้าให้พ่อ ทั้งวันที่ไปทำงานและวันที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด แต่พ่อผมดันโละกางเกงสแล็กสีดำไปเกือบหมด (น่าจะสิบกว่าตัว สงสัยไม่ค่อยสปาร์คจอย) เหลือแต่กางเกงยีนส์และกางเกงสีอื่นๆ  เอาไว้ แม่เลยโวยวายใหญ่เลยว่าอย่างนี้จะจัดเสื้อผ้าให้ได้ยังไง ผมเลยต้องไปค้นกางเกงที่พ่อโละแล้วขึ้นมาให้แม่ “ฟื้นคืนชีพ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เสื้อผ้าก็สามารถแยกได้สองประเภทคือประเภท Emotional กับ Functional โดยประเภท Emotional (เสื้อผ้าสวยงามใส่แล้วอารมณ์ดี) ควรให้สิทธิ์กับเจ้าของโดยเต็มที่ที่จะตัดสินใจว่ามัน Spark Joy หรือไม่ แต่ประเภท “เพื่อใช้งาน” อย่างชุดชั้นใน กางเกงสแล็ก เสื้อกล้าม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ดังนั้นควรจะคุยกับคนที่ต้องเตรียมเสื้อผ้า (อย่างภรรยา) ก่อนที่จะโละทิ้ง

4. ของที่เป็น Functional อย่างกางเกงใน ชุดชั้นใน ถุงเท้านั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเยอะมากมาย ตอนนี้จากความรู้สึกผม ผมว่าพ่อกับแม่ยังมีถุงเท้า เสื้อกล้าม ชุดชั้นในเยอะเกินไปนิดนึงจน “เสื้อผ้าเค้าดูอึดอัด” ตอนนี้พ่อน่าจะมีถุงเท้าทำงานไม่ต่ำกว่า 40 คู่ ถ้าเอาออกไปได้ซัก 10 คู่น่าจะพอดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแล้วแต่เจ้าของครับ

แต่ผลลัพธ์ของวันนี้ก็น่าดีใจไม่น้อย เพราะเราสามารถเอาราวเหล็กแขวนผ้าขนาดยาว 2.4 เมตรออกจากห้องไปได้เลย และเสื้อผ้าต่างๆ ของพ่อกับแม่ก็หยิบง่ายและน่าใช้ขึ้นเยอะ ถือเป็นการแสดงความรักในวันแม่ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

นัดจัดบ้านครั้งต่อไปคงจะได้จัดเอกสารและของจิปาถะ แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับผม

IMG_2187 IMG_2182
IMG_2183

—–

ภาพจากกล้องของผู้เขียน ถ่ายเมื่อ 12 สิงหาคม 2558

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari

20150810_KonMari

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาเขียนบล็อกเรื่องวิธีจัดบ้านแบบ KonMari (คอนมาริ) นะครับ

จริงๆ ตอนแรกผมกะจะรอเก็บบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาเขียนเล่าให้ฟัง แต่เนื่องจากว่าวันพุธนี้เป็นวันแม่ และทุกคนอยู่บ้านกันพร้อมหน้าพร้อมตา เลยจะถือโอกาสจัดบ้านแบบคอนมาริซะเลย ก่อนที่จะต้องเตรียมย้ายเข้าบ้านใหม่เดือนหน้า

และเจตนาของผมคือเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้นมาให้ พ่อ แม่ น้อง และภรรยาได้อ่าน จะได้เข้าใจภาพตรงกันก่อนจะลงมือครับ ดังนั้นเนื้อหาอาจจะไม่ได้ครอบคลุมหนังสือทั้งหมดนะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าวิธีเก็บบ้านแบบ KonMari นั้น อยู่ในหนังสือชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up ซึ่งเขียนโดยสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นชื่อ Kondo Marie (คนโด มาริเอะ) ดูภายนอกเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่หนังสือของเธอได้สร้างปรากฎการณ์มาแล้วทั้งในญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป จนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 (100 Most Influential people)

ผมเองได้รู้จักวิธีการนี้จากบล็อกเกอร์สามีภรรยาชื่อ James & Claudia Altucher ที่บอกว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเขาก็โยนของในบ้านออกไปเกือบหมด

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงกลัวว่า เฮ้ย มันจะบ้ารึเปล่า อดทนอ่านต่ออีกสักนิดนะครับ ผมไม่ได้มาชวนให้ทุกคนโยนของทุกอย่างออกจากบ้านแน่ๆ

หลังจากเห็นฝรั่งหลายคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้บ่อยเข้า กอปรกับผมกำลังจะย้ายเข้าบ้านใหม่ด้วย เลยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลองไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน โดยผมไปเดินดูที่คิโนะคุนิยะพารากอน และกว่าจะหาได้ก็ยากเย็นเพราะมันไม่ได้เป็นหนังสือแนะนำหรือติดอันดับขายดีอะไรทั้งนั้น (ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคม 2558)

ปกหนังสือที่ผมได้มา ต่างจากที่เห็นในเว็บไซต์ tidyingup.com พอสมควร แถมชื่อยังขาดคำว่า “Up” ต่อท้าย เหลือเพียง The Life-changing Magic of Tidying เฉยๆ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ของปลอมหรอกเนอะ!

ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือเรื่องการเก็บบ้าน แต่กลับไม่มีภาพประกอบเลย ผมเลยต้องใช้วิธีเปิด Youtube แล้วพิมพ์คำว่า KonMari ก็จะเจอวีดีโอที่คนเอามาแชร์กันเยอะแยะ

แค่เปิดหนังสือมาอ่านหน้าแรกๆ มาริเอะก็พูดถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คือเธอบอกว่าวิธีจัดบ้านของเธอจะทำให้เราต้องจัดบ้านแค่ครั้งเดียว และใช้ได้กับทุกคนแม้ว่าจะเป็นคนขี้เกียจหรือไร้ระเบียบแค่ไหนก็ตาม

ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ราวหนึ่งสัปดาห์ แล้วก็เริ่มลงมือทดลองด้วยการจัดถุงเท้าเมื่อตอนกลางเดือนกรกฎาคม จนบัดนี้ผ่านมาเดือนหนึ่งแล้วถุงเท้าของผมก็ยังเรียบร้อยอยู่จริงๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากผมเขียนบทความเรื่อง จะรีบไปไหน น้องสาวที่ชื่อหญิงก็มาคอมเม้นท์บอกว่าทางสำนักพิมพ์วีเลิร์นกำลังจะวางแผงหนังสือเล่มนี้แล้วนะ โดยมีชื่อไทยว่า “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว” ซึ่งแฟนผมก็ไปสอยมาให้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

จากนี้ไปผมจึงจะขอสรุปบทเรียนที่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้ แล้วก็ให้คุณผู้อ่านได้ตัดสินกันเอาเองนะครับว่ามันจะ Life-Changing จริงรึเปล่า

หลักการเก็บบ้านสไตล์ KonMari มีดังนี้

เก็บรวดเดียวให้เสร็จ ถ้าคุณเก็บบ้านวันละนิดวันละหน่อย คุณจะต้องเก็บบ้านไปตลอดชีวิต (ซึ่งดูจากชีวิตที่ผ่านมาของผมมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ) และวิธีการเก็บรวดเดียวให้เสร็จ จะสร้าง “ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด” กับชีวิตคุณ จนคุณจะไม่ยอมให้บ้านคุณรกอีกเลย ทั้งนี้ การเก็บรวดเดียวให้เสร็จไม่ได้หมายความว่าต้องเก็บวันเดียวเสร็จนะครับ แต่อาจจะทำสามวันติดต่อกัน หรือวันเสาร์สามเสาร์ติดต่อกันก็ได้ เพราะขนาดห้อง/บ้านแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว

ให้ถือว่าการเก็บบ้านเป็นวาระพิเศษ เหมือนกับที่เราให้การไปเที่ยวต่างประเทศหรือการจัดงานวันเกิดเป็นเหตุการณ์พิเศษ (special occasion) ที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม

ให้จัดบ้านตามหมวดหมู่ ไม่ใช่จัดตามห้อง เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าของอย่างเดียวกันจะมีที่เก็บมากกว่าหนึ่งที่ ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลังอย่างแน่นอน อย่างบ้านผมตอนนี้มีที่เก็บกระดาษทิชชู่อยู่สองที่คือห้องน้ำแม่และหลังตู้เย็นชั้นสอง ดังนั้นแทนที่จะเก็บห้องน้ำหนึ่งวันนี้ และเก็บห้องน้ำสองวันพรุ่งนี้ ก็ควรจะ “เก็บอุปกรณ์ในห้องน้ำ” ภายในคราวเดียวไปเลย

สองขั้นตอนหลักในการเก็บบ้านแบบ KonMari คือการคัดของออกและการจัดเก็บของเข้าที่ เพราะถ้าคุณไม่คัดของทิ้งซะก่อน รับรองเลยว่าบ้านคุณจะกลับมารกอีกครั้งแน่นอน เพราะสาเหตุหลักที่บ้านเรารกก็เพราะเรามีของเยอะเกินไป ไม่ใช่เพราะเรามีพื้นที่จัดเก็บน้อยเกินไป (และยิ่งคุณมีของมากเท่าไหร่ คุณจะซื้อของเข้าบ้านเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไม)

วิธีการคัดของออกควรจะเรียงตามนี้ คือเริ่มจากเสื้อผ้า ต่อด้วยหนังสือ ตามด้วยเอกสาร ต่อด้วยของจิปาถะ และจบท้ายด้วยของที่มีคุณค่าทางจิตใจเช่นจดหมายหรืออัลบั้มรูป เพราะถ้าเราคัดของโดยไม่เลือกประเภทเสียก่อน สิ่งที่เราจะเจอคือรูปเก่าๆ หรือจดหมายเก่าๆ แล้วเราก็จะใช้เวลามากมายไปกับการละเลียดความหลัง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้ว ทำให้การเก็บของล่าช้าไปมาก ทางที่ดีคือถ้าเราเจอสมบัติอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้เราเอาไปกองรวมกันเอาไว้ แล้วค่อยมาจัดการทีหลังสุด เพราะพอถึงตอนนั้น “กระดูกเราจะแข็งพอ” เพราะเราได้ฝึกฝนผ่านการทิ้งของอื่นๆ ที่ง่ายกว่าอย่างเสื้อผ้า หนังสือและเอกสารมาแล้ว

วิธีการคัดของออก – อันนี้ถือเป็นหัวใจของวิธี KonMari เลยนะครับตั้งใจอ่านดีๆ

สมมติเราเริ่มต้นจากเสื้อผ้า เราต้องเอาเสื้อผ้าที่เรามีทั้งหมดมากองไว้ที่พื้นหรือบนเตียง และต้องให้แน่ใจว่านี่คือเสื้อผ้าทั้งหมดที่เรามีแล้วจริงๆ (อาจต้องเดินไปดูว่ามีเสื้อผ้าของเราตกหล่นอยู่ที่ห้องอื่น หรืออยู่ในกล่องอื่นๆ อีกรึเปล่า) วิธีการนี้จะช่วยให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีเสื้อผ้าอยู่เยอะแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่คุณจะเจอก็คือ “เยอะกว่าที่คิด”

ยกตัวอย่างผมเป็นต้น ธรรมดาผมไม่ใช่คนชอบชอปปิ้งอยู่แล้ว เสื้อผ้าก็วิ่งไปซื้อที่แพลตตินัมแค่ปีละครั้ง และนานๆ ทีแฟนก็อาจจะซื้อเสื้อเชิ๊ตมาให้บ้าง แต่พอผมลองเอาเสื้อผ้ามากองรวมกันดูก็อดตกใจไม่ได้ว่า นี่เรามีเสื้อผ้าเยอะขนาดนี้จริงๆ เหรอ?

20150730_091622

20150730_090654

2015-08-11_001417

20150712_152914

หลังจากเอาเสื้อผ้าทุกอย่าง มากองรวมกันแล้ว ก็ให้หยิบเสื้อผ้าขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามตัวเองว่า Does it spark joy? (ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า Tokimeku)

Spark = จุดประกาย
Joy = ความสุข

แปลตรงตัวก็คือพอคุณหยิบเสื้อตัวนี้ขึ้นมาแล้วมันจุดประกายความสุขให้คุณรึเปล่า?

สำนวนของสำนักพิมพ์วีเลิร์นเขาใช้คำว่า “มันปลุกเร้าความสุขได้ไหม”

ส่วนถ้าจะใช้สำนวนผม ผมก็คงใช้ทับศัพท์ว่า “มันสปาร์คจอยรึเปล่า” หรือไม่ก็ “มันทำให้ชื่นใจรึเปล่า”

ขอย้ำว่า ก่อนที่คุณจะถามว่ามันทำให้คุณชื่นใจรึเปล่า คุณต้องหยิบเสื้อตัวนั้นขึ้นมา ห้ามตัดสินด้วยการดูเฉยๆ การจับเสื้อขึ้นมาดูจะทำให้เราตัดสินใจโดยใช้สัญชาติญาณได้ง่ายขึ้นเยอะเลยครับว่าเรายังอยากจะใส่เสื้อตัวนี้อยู่รึเปล่า

เสื้อหรือกางเกงตัวไหนที่ทำให้คุณชื่นใจ ก็เก็บมันไว้ ตัวไหนที่ไม่ได้สปาร์คจอย ก็จงปล่อยมันไปซะ

แต่ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ไม่ได้สปาร์คจอยยัดลงถุงดำ อย่าลืมกล่าวขอบคุณมันด้วย “ขอบคุณที่ดูแลกันมานะ”

วิธีการคัดของแบบเก่าๆ ของเราไม่เวิร์คเพราะเราเลือกว่าจะทิ้งอะไร แทนที่จะเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ วิธีสองแบบนี้ดูจะเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกันเลย

วิธีการเลือกของที่จะทิ้งจะทำให้เราไม่มีความสุข (เพราะเราไปโฟกัสแต่สิ่งที่ไม่อยากได้) แต่ถ้าเราเลือกว่าจะเก็บเฉพาะของที่ทำให้เราชื่นใจ เราจะมีความสุข ไม่เชื่อลองดูได้ครับ

อีกสาเหตุหนึ่งที่วิธีการแบบเก่าๆ ของเราต่างกับวิธีคอนมาริก็คือ พอเราเลือกว่าจะทิ้งของชิ้นไหนแล้ว เราจะโยนมันทิ้งอย่างไม่แยแส

แต่วิธีคอนมาริจะปฏิบัติกับสิ่งของทุกชิ้นด้วยความเคารพราวกับว่ามันคือสิ่งมีชีวิต ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถ “สะสาง” ความรู้สึกภายในใจของเราได้เวลาเราต้องอำลาจากของชิ้นนั้น

ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าวิธีคิดอย่างนี้ดูเด็กๆ และเพ้อฝัน แต่ถ้าลองได้ทำดูจะรู้ว่ามันช่วยคลายปมบางอย่างภายในใจได้จริงๆ และการคัดเลือกของก็จะกลายเป็นการนั่งสนทนากับตัวเอง เป็นประสบการณ์แสนรื่นรมย์ที่วิธีการแบบเดิมๆ ไม่มีทางให้เราได้

อ้อ เวลาคัดเสื้อผ้าออก มันก็จะมีปัญหาบางอย่างเช่น เสียดาย เสื้อตัวนี้ยังไม่ได้ใส่เลย หรือกลัวว่าถ้าคัดเก็บแต่ของที่ spark joy เราจะมีเสื้อผ้าไม่พอใช้

มาริเอะก็บอกเราอีกว่า เมื่อเจอสิ่งของที่ไม่ได้สปาร์คจอยแต่ยังเสียดายที่จะทิ้ง ให้ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่า ตอนที่เราซื้อเสื้อตัวนี้มานั้น เราซื้อมาด้วยเหตุผลอะไร

เพราะของแต่ละชิ้นมีวัตถุประสงค์ของมันอยู่ ถ้าเสื้อตัวนี้คุณซื้อมาเป็นปีแล้วแต่คุณก็ยังไม่ได้ใส่ และตอนนี้พอคุณจับมันมาแล้วคุณไม่รู้สึกถึงความชื่นใจอะไรเลย แสดงว่าวัตถุประสงค์ของเสื้อตัวนี้ก็คือการสอนให้คุณรู้ว่า เสื้อสไตล์นี้ไม่เหมาะกับคุณและไม่ใช่เสื้อที่คุณอยากจะใส่อะไรมากมายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพียงแต่จังหวะที่ซื้ออาจเพราะเห็นว่าอยู่บนหุ่นแล้วดูดี หรือกำลังลดราคาเท่านั้นเอง เมื่อคุณรู้แล้วว่าเสื้อตัวนี้มันได้บรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว ก็จงกล่าวขอบคุณที่มันช่วยให้บทเรียนกับเราและลาจากมันไปด้วยดี

ส่วนเรื่องเสื้อผ้าไม่พอ มาริเอะบอกว่า ถ้าคุณเลือกเฉพาะเสื้อผ้าที่ทำให้คุณชื่นใจ คุณจะมีเสื้อผ้าเพียงพอแน่นอน เพราะลูกค้าหลายพันคนที่เธอเคยให้บริการเรื่องการจัดบ้าน ไม่เคยมีใครซักคนที่กลับมาบ่นกับเธอว่าเสื้อผ้าไม่พอใส่

แต่ถ้าคุณกลัวจริงๆ ว่าเสื้อผ้าจะไม่พอ ก็อาจจะลองเก็บไว้ในถุงแล้วทิ้งไว้ในห้องเก็บของซักพักก็ได้ (อันนี้ผมพูดเอง มาริเอะไม่ได้พูด)

ขอนอกเรื่องนิดนึง เคยมั้ยครับที่มีเสื้อผ้าหรือถุงเท้าอยู่เต็มตู้ แต่ก็รู้สึกว่าหาเสื้อที่ถูกใจใส่ไม่ได้เลย?

ปัญหาจริงๆ ก็คือ เรามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้อยากใส่แล้วเยอะเกินไป เสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำให้เราชื่นใจจึงมาเบียดบังเสื้อผ้าที่เราอยากใส่จริงๆ เกือบหมด นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกว่ามีเสื้อผ้าเยอะแต่ไม่มีตัวไหนถูกใจ จิตใต้สำนึกของเราจึงคอยบอกให้เราซื้อเสื้อใหม่ตลอดเวลา และการซื้อเสื้อผ้าเข้ามาเพิ่มก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก

ก่อนจะจัดระเบียบถุงเท้า ผมก็รู้สึกเสมอๆ ว่าถุงเท้าที่ผมมีมีแต่คู่ที่มันพังๆ เวลาเดินผ่านร้านขายถุงเท้าผมจึงมักจะซื้อติดมือมาบ่อยๆ ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะพอผ่านไปซักเดือนนึงปัญหาเดิมก็จะกลับมาอีก

แต่พอผมคัดถุงเท้าจนเหลือแต่ที่ยางยังดีและน่าใส่จริงๆ จำนวนถุงเท้าเหลือน้อยกว่าครึ่ง แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าผมขาดถุงเท้าอีกต่อไปแล้ว

ขอทวนกันอีกครั้งนะครับ

เอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองรวมกันเพื่อที่จะรู้ว่าเรามีเยอะแค่ไหน

แทนที่จะเลือกว่าจะทิ้งเสื้อผ้าตัวไหน ให้เลือกว่าจะเก็บตัวไหน โดยหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่า “มันทำให้เราชื่นใจรึเปล่า”

เสื้อผ้าตัวไหนที่มันไม่ได้ทำให้เราชื่นใจแล้ว ให้กล่าวขอบคุณมัน (อาจจะแค่ในใจก็ได้ถ้าเขิน) แล้วส่งมันไปตามทาง (อาจจะขนไปบริจาคหรืออะไรก็ตามแต่)

อ้อ แล้วก็ไม่ต้องเอาไปฝากไว้บ้านแม่ หรือบ้านญาตินะครับ เพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้ท่านเสียเปล่าๆ

มาริเอะเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ลูกค้าคนหนึ่งย้ายออกจากบ้านพ่อแม่มาแล้ว ก็ยังเอาสิ่งของต่างๆ ที่เธอไม่ได้ใช้แล้วกลับมาเก็บไว้ที่ห้องนอนเดิมของตัวเองที่บ้านพ่อแม่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่แม่ของเธอเขาปรารถนามาตลอดคือการมีห้องของตัวเองไว้ทำอะไรตามใจ แต่แม่ก็ทำไม่ได้เพราะต้องเอาไว้เก็บของที่ลูกสาวไม่ได้ใช้ ผมว่าถ้าเราทำให้แม่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้มันก็ดูจะใจร้ายกับท่านไปหน่อยนะ

ขอเตือนอีกข้อหนึ่ง เวลาที่เราคัดว่าจะเก็บอะไร จะทิ้งอะไร อย่าให้คนในครอบครัวเห็นนะครับ เพราะอาจจะทำให้เขารู้สึกเสียดายแทนเรา และเขาจะขอเก็บเอาไว้เอง ซึ่งนั่นจะทำให้ปัญหาคาราคาซังครับ

—–

เมื่อเราคัดเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงคราวจัดเก็บเข้าที่

มาริเอะแนะนำว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเราควรจะใช้วิธีพับเก็บ ยกเว้นพวกเสื้อผ้าที่น่าจะแฮปปี้กว่าถ้ามันโดนแขวน (ใช้หลักปฏิบัติราวกับว่าเสื้อผ้ามีชีวิตอีกเช่นเคย)

ดังนั้นผมเลยเลือกที่จะแขวนเสื้อเชิ๊ต กางเกงสแล็ก และชุดสูท ที่เหลือผมพับเก็บหมดเลย

อ้อ เวลาพับเก็บควรจะเก็บเป็นแนวตั้งนะครับ เพราะไม่มีเสื้อผ้าตัวไหนอยากโดนทับหรอก

ถุงเท้าก็เช่นกัน ไม่มีถุงเท้าที่ไหนอยากโดนมัดเป็นก้อนๆ หรือขมวดเป็นปมหรอก

อย่างที่บอกครับ ให้ปฏิบัติต่อสิ่งของราวกับว่ามันมีชีวิตจิตใจ แล้วคุณจะตอบได้เองว่าควรจะเก็บมันยังไง

วิธีการพับผ้า ก็ให้ลองไปดูใน Youtube ได้เลยนะครับ

https://www.youtube.com/results?search_query=konmari+folding

หลักการสำคัญคือควรจะพับเพื่อให้มันวางตั้งบนสันได้ ซึ่งขอเตือนไว้เลยว่าถ้าไม่ลองดูวีดีโอให้เข้าใจก่อน มีโอกาสสูงมากที่คุณจะพับผิดวิธีและพอจัดเสร็จแล้วผ้าจะล้มดูไม่งามตา

ส่วนตัวผมเองผมใช้กล่องรองเท้า (ซึ่งเป็นวัสดุที่มาริเอะแนะนำเพราะฟรีและมีกันเกือบทุกคน) โดยตอนแรกใช้กล่องกระดาษที่ได้มากับรองเท้า แต่ผมมีไม่พอเลยไป “ยืม” กล่องรองเท้าพลาสติกที่แม่ผมซื้อเอาไว้ (ไว้จะซื้อคืนให้นะครับแม่)

ผลลัพธ์ที่ได้คือตามนี้ครับ

20150730_162449

20150801_092452

20150712_162417

ตู้เสื้อผ้าใหม่ที่ผมจะย้ายเข้าไปคงจะมีชั้นมากกว่านี้ ซึ่งก็จะทำให้สามารถวางกล่องเหล่านี้ได้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น

ข้อดีของการพับเสื้อและถุงเท้าแบบนี้ก็คือแค่มองปราดเดียวก็รู้เลยว่ามีเสื้อผ้าอยู่เท่าไหร่ และมีลายไหนบ้าง

ข้อเสียก็คือมันอาจจะขาดความยืดหยุ่น เพราะกล่องหนึ่งก็ใส่ได้แค่ไม่กี่ชิ้น ถ้ากล่องหมดก็ไปต่อไม่ได้แล้ว แต่นั่นก็อาจจะทำให้เรากลับมาทบทวนว่าเสื้อผ้าที่เราพยายามจะยัดลงกล่องอยู่นั้น มัน spark joy ทุกตัวแน่แล้วเหรอ

—–

เมื่อเราจัดการกับเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาจัดการกับหนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจตามลำดับ

วิธีการก็เหมือนเดิม คือเอาหนังสือทั้งหมดมากองรวมกันไว้ เพื่อให้รู้ (สำเหนียก/สำนึก) ว่าเรามีหนังสือเยอะแค่ไหน

หนังสือหลายสิบเล่มที่เราคิดว่าจะเก็บเอาไว้อ่าน “วันหลัง” ถ้าเราไม่หลอกตัวเองเราก็จะรู้ดีว่า “วันหลังไม่มีวันมาถึง”

แทนที่จะเก็บหนังสือที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าคงไม่ได้อ่าน สู้เราส่งต่อมันไปถึงมือคนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากมันดีกว่า เพราะหนังสือบางเล่มก็เลยเวลาที่เราจะอ่านมันมามากโขแล้ว

หนังสือประเภทเดียวที่เราจะเก็บคือหนังสือที่ทำให้เราชื่นใจ ซึ่งเมื่อเราใช้วิธีนี้ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่เราจะได้อ่านหนังสือที่เราอยากจะอ่านจริงๆ

20150730_090554

20150730_191100

20150811_001839_resized

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะมีหนังสือเยอะแค่ไหน ผมก็จะซื้อเล่มใหม่เข้าบ้านตลอด แต่พอตื่นเช้ามาเห็นแต่หนังสือที่เรา “อยากอ่านไปหมดเลย” อยู่บนชั้น แม้จะมีเพียงไม่กี่เล่ม ผมก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากซื้อหนังสือเล่มใหม่เข้าบ้านเท่าแต่ก่อนแล้ว

——

ในแง่เอกสาร มาริเอะบอกว่า หลักการง่ายๆ คือ “ทิ้งเอกสารทุกชิ้น ยกเว้นที่ต้องใช้จริงๆ เท่านั้น”

ผมเองมีเก็บสลิปบัตรเครดิตไว้ร่วมสามปี ใบภงด. สลิปเงินเดือนเก่าๆ และใบเสร็จอีกนับร้อย  พอคัดเฉพาะที่ต้องเก็บจริงๆ ลิ้นชักผมก็เบาไปเยอะมาก ส่วนอันไหนผมไม่แน่ใจก็ถ่ายรูปเอาไว้แล้วก็ทิ้งตัวกระดาษไปซะ

พวกเอกสาร Manual ต่างๆ มาริเอะบอกให้ทิ้งไปได้เลย เพราะเรา google เอาได้อยู่แล้ว

ส่วนกล่องที่มากับของ (เช่นกล่องลำโพง กล่องโน๊ตบุ๊ค) มาริเอะก็บอกให้ทิ้งเช่นกัน บางคนเก็บกล่องเพราะหวังว่าจะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้นเวลาเราเอาของไปขายต่อ แต่ถ้านับพื้นที่ที่เราต้องเสียไปกับการเก็บกล่องที่ไม่ได้ใช้ (โดยเฉพาะพวกเราที่เช่าห้องเป็นรายเดือน) จะเห็นได้เลยว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับพื้นที่เหล่านั้น เยอะกว่าเงินที่จะได้มาในอนาคตจากการขายของโดยมีกล่องค่อนข้างแน่

ลูกค้าบางคนของมาริเอะทิ้งเอกสารบางอย่างไป แล้วพอต้องใช้อีกครั้ง เขาก็รู้ชัดว่าเอกสารพวกนี้ไม่มีแล้ว เขาจึงสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นต่อไปเลย ไม่ต้องมาเสียเวลางมหาเอกสารอยู่ (ใครเคยมีประสบการณ์ที่ใช้เวลาหาเอกสารตั้งนาน แล้วสุดท้ายไม่เจอบ้างมั้ยครับ?)

เสียดายผมไม่ได้ถ่ายรูป before/after ในการจัดเก็บเอกสาร มีแต่ตอนที่กำลัง in progress อย่างเดียวเลยไม่ขอเอามาลงนะครับ

—–

(ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้ (10 ส.ค.) ส่วนตัวผมเองทำถึงแค่เรื่องจัดการเอกสารครับ ส่วนของจิปาถะกับของที่มีคุณค่าทางใจยังไม่ได้ทำ ดังนั้นจึงยังไม่มีรูปนะครับ)

เมื่อจบเรื่องเอกสารแล้ว ก็ค่อยลงมือกับของจิปาถะ เช่น ซีดี อุปกรณ์ครัว แบงค์+เหรียญ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องเอาทุกอย่างมากองไว้ในที่เดียวเพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณมีของเหล่านี้เยอะเกินความจำเป็นแค่ไหน (และจะได้ไม่กลัวที่จะคัดบางอย่างออก)

อ้อ บางคนชอบแพ้ของลดราคา ซึ่งมักจะมาเป็นแพ็ค ซึ่งมาริเอะบอกว่าไม่คุ้มกันหรอก เพราะกว่าคุณจะได้ใช้ชิ้นหลังๆ ในแพ็ค ของก็เสื่อมคุณภาพ ไม่น่าชื่นใจอีกต่อไปแล้ว สู้ซื้อมาเท่าที่จำเป็นจริงๆ ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ในการเก็บ และถ้าจำเป็นต้องซื้อใหม่จริงๆ แค่เดินไปปากซอยหรือขับรถไปนิดหน่อยก็หาซื้อได้แล้ว

—–

ของประเภทสุดท้ายที่เราต้องเจอ ก็คือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่นอัลบั้มรูปหรือจดหมาย จงจัดการของพวกนี้ต่อเมื่อคุณจัดการที่เหลือหมดเรียบร้อยแล้ว เพราะอัลบั้มรูปและจดหมายนั้นเป็น “ตัวบอส” ซึ่งยากต่อการตัดใจอย่างมาก คุณจึงต้องผ่านด่านเสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร และของจิปาถะก่อน

วิธีการก็เช่นเดิม เอามันมากองรวมกัน หยิบขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่าม้นยัง spark joy อยู่มั้ย (แม้กระทั่งภาพถ่าย มาริเอะก็บอกให้เอาออกมาจากอัลบั้ม)

ของพวกนี้มีคุณค่า และเราไม่อยากทิ้งมันไปเพราะมันช่วยให้เรานึกถึงอดีตอันหอมหวาน และเราก็กลัวว่าถ้าเราทิ้งรูปเหล่านี้ไป เราก็จะลืมเรื่องเหล่านี้ไปด้วย

แต่มาริเอะบอกว่า ความทรงจำอันล้ำค่าจริงๆ ของเรา ต่อให้ไม่มีรูปถ่ายเหล่านี้ เราก็ยังจะจำมันได้อยู่ดี

ถ้าเราอยากจะคัดรูปเก็บไว้ ก็ควรจะคัดแต่รูปที่ spark joy เท่านั้น สมมติการไปเที่ยวครั้งนี้มีรูป 36 รูป เราอาจจะคัดรูปที่ดีที่สุดเพียงสามสี่รูป ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้เรานึกถึงทริปคราวนี้ได้ (จะว่าไป สมัยเป็นกล้องฟิล์มเราถ่ายรูปเสียๆ เยอะจะตาย)

มาริเอะบอกว่าวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นก็คือ จงให้ความสำคัญกับตัวเราในปัจจุบัน (cherish what you have become) แทนที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเคยเป็นในอดีต

ของอีกชนิดนึงที่เรามักไม่กล้าทิ้ง คือของที่คนอื่นให้มา อาจจะเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ ของฝากจากเพื่อนสนิท หรือรูปวาดของลูกสมัยเขายังเด็ก ถ้าเราทิ้งของเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกผิดทันที

มาริเอะก็สอนอีกเช่นกันว่า จงดูให้ดีว่าเจตนารมณ์ของสิ่งของเหล่านี้คืออะไร

ของพวกนี้คือ “ของขวัญ” ดังนั้น วัตถุประสงค์ของมันคือการ “ถูกรับ”

ในเมื่อเราในฐานะ “ผู้รับ” ได้รับมันมาแล้ว ได้รู้สึกดีและรู้สึกขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ/ความใส่ใจของผู้ให้แล้ว ของขวัญชิ้นนั้นก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วเช่นกัน

เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เราก็ย่อมกล่าวอำลากับของขวัญเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร

—–

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก และคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเจอกัน คือเราอยากเก็บบ้าน แต่คนอื่นในครอบครัวไม่สนใจ

มาริเอะก็เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้ เพราะคนในครอบครัวไม่ได้บ้าการเก็บบ้านเหมือนเธอ มาริเอะรู้สึกหงุดหงิดมากที่คนในครอบครัวยอมอยู่กันแบบรกๆ และไม่ว่าเธอจะบ่นแค่ไหนก็ไม่มีใครขยับตัว เธอจึงเจ้ากี้เจ้าการเก็บห้องให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว แถมยังแอบเอาของบางชิ้นของคนในบ้านไปทิ้งด้วย (หลังจากสังเกตเห็นแล้วว่าไม่ค่อยได้ใช้)

ปรากฎว่ามาริเอะโดนจับได้ แม่เลยสั่งห้ามไม่ให้เธอไปเก็บห้องให้ใคร หรือไปยุ่งกับทรัพย์สมบัติของคนอื่นอีก

มาริเอะกลับมาที่ห้องด้วยความผิดหวัง เพียงเพื่อจะพบว่า ในขณะที่เธอเจ้ากี้เจ้าการเก็บห้องให้คนโน้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วห้องของเธอก็ยังรกอยู่มาก เธอจึงเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่เธอจะทำได้ คือการจัดการกับข้าวของของเธอให้เรียบร้อย เธอจึงหันกลับมาสนใจแต่ข้าวของของตัวเองเท่านั้น

และเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น หลังจากมาริเอะจัดห้องเธอเสร็จไปเพียงสองสัปดาห์ น้องชายที่ร้อยวันพันปีไม่เคยคิดจะทิ้งอะไรเลย กลับเริ่มจัดห้องของตัวเองและทิ้งหนังสือถึง 200 เล่มในวันเดียว

ดังนั้น ถ้ารู้ตัวว่าเรากำลังหงุดหงิดกับความไร้ระเบียบของคนในบ้าน ผมแนะนำให้ลองจัดห้องตัวเองให้เรียบร้อยก่อนครับ แล้วคนอื่นๆ ก็จะเห็นและ (อาจ) รู้สึกอยากทำตามเอง

—–

การที่เราไม่ยอมทิ้งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ spark joy แล้ว มันมีเหตุผลเพียงสองข้อเท่านั้นคือ

1. ยึดติดกับอดีต (เลยยังเก็บของเก่าๆ ไว้อยู่)
2. กังวลกับอนาคต (เลยซื้อของมาตุนไว้เพียบ)

ซึ่งทั้งสองเหตุผลนี้จะเบียดบังไม่ให้เรามีความสุขกับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

ข้อความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่กระทบใจผมมากก็คือ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สิ่งของต่างๆ จะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรา

เสื้อเชิ๊ตรุ่นนึงมีผลิตออกมาตั้งเป็นพันเป็นหมื่นตัว แต่เสื้อเชิ๊ต “ตัวนี้” ก็ยังอุตส่าห์ “หาเราจนเจอ” และมาอยู่กับเราในบ้านหลังนี้

โชคชะตาพาให้เราและสิ่งของต่างๆ มาเจอกัน และความปรารถนาสูงสุดของสิ่งของเหล่านั้น ก็คือการได้รับใช้เจ้านายของมัน ถ้ามันไม่ได้ถูกใช้งาน ชีวิตของมันก็ไม่มีคุณค่าอันใด

คำถามคือ เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือที่เราจะเก็บมันเอาไว้เพียงเพราะว่า “อาจจะได้ใช้มันซักวันหนึ่ง” ทั้งที่จริงแล้ว เรากลับปล่อยมันเอาไว้ในส่วนลึกสุดของตู้ หรือวางไว้บนชั้นจนฝุ่นจับ นานจนกระทั่งเราลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามันเคยมีตัวตน

ไม่มีใครอยากถูกลืมหรอกนะครับ

ดังนั้น ถ้าสิ่งของชิ้นใดไม่ได้ทำให้เราชื่นใจอีกแล้ว จงปล่อยมันให้เป็นอิสระเพื่อให้มันได้ทำหน้าที่ของมันกับเจ้านายคนอื่นเถิด

และถึงแม้สุดท้ายแล้วมันจะถูกทำลาย แต่สิ่งของเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปรเปลี่ยนเป็นสสารและเกิดใหม่เป็นสิ่งของชิ้นอื่นในอนาคตเท่านั้นเอง

จงปล่อยมันไป แล้วมันจะกลับมาหาคุณอีกครั้งในรูปแบบอื่นอย่างแน่นอน

—–

มาริเอะบอกว่า การจัดบ้านไม่ใช่แค่การจัดบ้าน แต่มันคือการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับข้าวของที่เรามี

การจัดบ้าน คือการสบตากับความจริง ว่าตัวเราในปัจจุบันต้องการอะไร และเราต้องการจะใช้ชีวิตที่เหลือแบบไหน

การจัดบ้านให้เรียบร้อย จึงเป็นการเดินทางของจิตวิญญาณ ปลดปล่อยตัวเองจากอดีต และมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยความไว้ใจในชีวิตเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตกับปัจจุบันได้ดีที่สุด

ลองนึกภาพดูนะครับว่า ถ้าของทุกชิ้นในบ้านคุณ spark joy มันจะดีแค่ไหน

เปิดตู้เสื้อผ้าก็เห็นแต่ชุดที่เราอยากใส่ มองไปที่ชั้นหนังสือก็เจอแต่หนังสือที่อยากหยิบขึ้นมาอ่าน ดีวีดีทุกแผ่นล้วนแล้วแต่เป็นหนังในดวงใจ และรูปทุกใบทำให้เรายิ้มทุกครั้งที่เห็น

เมื่อนั้น “บ้าน” จะเป็นแหล่งพักพิงใจของเราอย่างแท้จริง

ผมไม่อาจการันตีได้ว่าวิธีนี้จะดีอย่างที่มาริเอะบอกไว้รึเปล่า ทางเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือต้องลองทำดูครับ

ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ค สถานการณ์ก็คงไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่

แต่ถ้ามันได้ผลจริงๆ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณ เหมือนกับที่มันได้เปลี่ยนชีวิตหลายพันหลายหมื่นคนมาแล้ว

ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการจัดบ้านครับ

—–

ป.ล. แม้ผมจะอธิบายมาค่อนข้างยาว ก็ยังเทียบไม่ได้กับการซื้อหนังสืออ่านเต็มๆ นะครับ ฉบับแปลไทยราคา 180 บาทเท่านั้น (แฟนผมซื้อจากร้านนายอินทร์สาขาแม๊กซ์แวลูพัฒนาการ) ส่วนเล่มภาษาอังกฤษผมซื้อมาจากคิโนะคุนิยะสาขาพารากอน ราคา 521 บาทครับ

—–

ภาพจากกล้องมือถือของผู้เขียน เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่


UPDATE 06.04.2017

ผมเขียนบล็อกนี้ในเดือนสิงหาคมปี 2558 และได้แชร์บล็อกตอนนี้อีกครั้งผ่านเพจ Anontawong’s Musings  เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีผู้อ่านทักเข้ามาว่า “อยากรบกวนให้ช่วยอัพเดทรูปปัจจุบันหน่อยได้ไหมคะว่าหลังจากย้ายบ้านมาแล้ว และจัดเก็บของแบบนี้แล้วสามารถคงสภาพความเรียบร้อยได้นานแค่ไหน” ก็เลยถ่ายภาพมาให้ดู โดยพยายามคงสภาพเดิมให้มากที่สุดนะครับ (หากจะมี “จัดฉาก” บ้างก็อย่างเช่นรูปในห้องน้ำที่ต้องเอาผ้าที่ตากไว้ออกไปก่อน)

20170406_145848

ถุงเท้าและกางเกงขาสั้น

20170406_145901

เสื้อยืด

20170406_150237

เสื้อเชิ๊ต กางเกงแสล็ค และเสื้อยืดสีดำล้วน

20170406_145945

ชั้นหนังสือ

20170406_152231

ห้องน้ำ

20170406_150445

ห้องทำงาน

20170406_150641

โต๊ะกินข้าวแบบยังไม่ได้จัดระเบียบ

20170406_150735

ชั้นรองเท้า (มีสตั๊ดใส่ถุงแหลมอยู่มุมขวาบนด้วย)

20170406_150935

อุปกรณ์อิเลคโทรนิคทั้งหลาย

musicgroup

สุดสัปดาห์ มกราคม 2560 วันที่เพื่อนมาเล่นดนตรีด้วยกันที่บ้าน

จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยเรียบร้อยมากนัก แต่ถ้าเทียบกับตอนก่อนจัดบ้านแบบ KonMari ก็ยังดีกว่ามากครับ


ชวนฟังเพลงภาษาใจ by Anontawong’s Music: http://bit.ly/pasajaiyt

(Updated: Jan 2020) [ขายของ] “Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer

80507942_579966649467475_5144866110411112448_n


(UPDATE: 11 Aug 2017) หากคุณเป็นคนที่ชอบ “เล่นเกมยาว” และเบื่อหนังสือประเภท รวยเร็ว รวยลัด ฯลฯ อยากจะบอกว่าหนังสือ  Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ของผมวางแผงแล้วที่ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S และศูนย์หนังสือจุฬานะครับ! >> bit.ly/tgimannounce

TGIM_HardCopies

จะรีบไปไหน

20150802_HurryFor

ช่วงนี้ผมกำลังทดลองการเก็บบ้านแบบ KonMari ซึ่งเรียนรู้มาจากหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ของ Marie Kondo โดยตั้งใจว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะนำมาเล่าสู่กันฟังแบบเต็มๆ นะครับ (อ่านน้ำจิ้มได้ในตอนถุงเท้าร่ำไห้)

แต่วันนี้ขอเล่าเรื่องที่เพิ่งคิดได้เมื่อเช้าก่อนครับ

ที่ห้องผมจะมีราวแขวนผ้ายาว 3.6 เมตรที่แม่ผมสั่งทำพิเศษ เป็นราวเหล็กที่แข็งแรงและรับน้ำหนักได้เยอะมาก ดังนั้นเสื้อผ้าส่วนใหญ่ของผมกับแฟนจึงถูกแขวนไว้ที่ราวนี้ ยกเว้นพวกเสื้อเชิ๊ต กางเกงยีนส์ ถุงเท้าและชุดชั้นในที่จะเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า

เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาเป็นวันหยุดอาสาฬหบูชา ผมก็เลยลองปรับเปลี่ยนการเก็บเสื้อผ้าด้วยวิธี KonMari โดยการเอาเสื้อยืดมาพับใส่กล่องแทนที่จะแขวนเอาไว้บนราวเหล็ก

และเมื่อวานนี้ (วันเสาร์) แฟนผมก็ลองพับชุดนอนและกางเกงของเธอลงกล่องด้วยวิธี KonMari เช่นกัน ใช้เวลาไปไม่น้อย แต่เสื้อผ้าก็จัดวางเป็นระเบียบดูสบายตาน่าใช้งาน

20150730_124800

เมื่อเช้านี้ร้านซักรีดมาส่งผ้า ผมก็เลยนำจัดเก็บให้เข้าที่

เริ่มจากคลี่ถุงเท้าที่เขาขมวดเป็นปม มาพับสามทบและจัดเข้ากล่อง เอาเสื้อยืดออกจากไม้แขวนเสื้อมาพับแล้ววางเป็นแนวตั้งลงในกล่อง รวมถึงพับชุดนอนของแฟน (ที่ทำจากผ้าลื่นๆ) มาพับใส่กล่องเช่นกัน

สิ่งที่พบคือวิธีการนี้เสียเวลาพอสมควรเลย แต่ก่อนผมใช้เวลาเก็บไม่เกิน 2 นาทีก็เสร็จแล้ว เพราะเสื้อยืดก็แค่แขวนเอาไว้ ถุงเท้าก็โยนใส่ลิ้นชัก ส่วนชุดนอนก็วางซ้อนกับชุดที่มีอยู่เดิม

แต่ด้วยวิธีเก็บแบบใหม่ผมต้องใช้เวลาถึง 20 นาที เพราะบางทีพับแล้วขนาดไม่เท่ากับชุดอื่นๆ ที่อยู่ในกล่องก็ต้องพับใหม่ หรือจัดเรียงแล้วไม่สวยงามก็ต้องหยิบออกมาจัดใหม่ (โดยเฉพาะชุดนอนแฟนที่เป็นผ้าลื่นๆ นี่จัดให้สวยงามยากมาก)

สำหรับคนที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับเรื่อง Productivity* อย่างผม จึงอดไม่ได้ที่จะมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ในใจว่า วิธี KonMari นี่มันดีจริงๆ เหรอ เพราะเห็นอยู่ชัดๆ ว่าต้องใช้เวลาเพิ่มไม่รู้ตั้งกี่เท่า

แล้วผมก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาอย่างหนึ่ง

ทำไมเราถึงคิดว่าวิธีที่เสร็จเร็วกว่าถึงดีกว่าวิธีที่เสร็จช้ากว่า?

หรืออีกนัยหนึ่ง ทำไมเราถึงให้ค่ากับการทำอะไรโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด?

คำตอบที่ตามมา ก็คือเราอยากทำเรื่องนี้ให้เสร็จเร็วๆ จะได้มีเวลาไปทำเรื่องอื่น

แล้วเรื่องอื่นที่ว่า เราก็อยากทำให้เสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะไปทำอย่างอื่นต่ออีกเช่นกัน

ยิ่งกิจกรรมหนึ่งๆ ใช้เวลาน้อยลงเท่าไหร่ เราก็ยิ่งทำกิจกรรมได้หลายอย่างมากขึ้น ภายใต้ระยะเวลาจำกัดที่เรามี 24 ชั่วโมงต่อวัน

แล้วทำไมเราถึงให้ค่ากับการทำกิจกรรมได้หลายๆ อย่างในหนึ่งวันล่ะ?

เคยเห็นคนที่ชอบขับรถจี้ตูดรถคนอื่น เปิดไฟสูงใส่ และบีบแตรไล่มั้ยครับ?

คนๆ นี้อาจจะอยากรีบกลับให้ถึงบ้าน เพียงเพื่อสุดท้ายแล้วเขาจะได้มีเวลานอนเล่นเฟซบุ๊คเพิ่มขึ้น

หรือเคยเห็นหัวหน้าที่สั่งงานตอนบ่าย และจะเอางานภายในวันนั้น แต่พอเราทนอยู่ดึกเพื่อจะได้ส่งงานตามที่ขอ หัวหน้าก็ดันไม่มีเวลาดูจนถึงวันมะรืนอยู่ดี

ความเร่งรีบของคนเรานั้นสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างไม่น้อยเลย

ทำไมคนเราถึงรีบ?

ในยุคบริโภคนิยม เราถูกถาโถมด้วยสินค้าและบริการที่จะช่วยให้เราประหยัดแรงและเวลา โดยเค้าบอกกับเราว่าถ้าเราใช้สินค้าตัวนี้ เราจะมีเวลามากขึ้น เพื่อไปทำอย่างอื่นที่จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

ตกลงก็คือ เรารีบเพื่อจะมีความสุขใช่มั้ย?

ผมคิดว่าเรากำลังติดอยู่ในกับดักความเชื่อที่ว่า ยิ่งทำได้เยอะ และใช้เวลาน้อยลงเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีความสุข นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรากลายเป็นคนเร่งรีบโดยไม่รู้ตัว

และด้วยความที่เราให้ค่ากับการทำอะไรเร็วๆ จนเคยชิน ตอนนี้เราหลายคนจึง “รีบเพื่อรีบ” ไปอย่างนั้นเอง เพราะเราหลงลืมจุดประสงค์หลักไปนานแล้ว

ถ้าเราระลึกอยู่เสมอว่า สุดท้ายแล้ว ทุกๆ สิ่งที่เราทำก็เพื่อมีความสุขหรือบรรเทาความทุกข์ การทำอะไรโดยใช้เวลาน้อยที่สุด จึงอาจเป็นแค่หนึ่งในหลายวิธีการที่จะนำพาเราไปสู่จุดนั้นได้

การเก็บผ้าแบบ KonMari นั้นใช้เวลาเยอะกว่าแบบเก่าพอสมควร แต่มันก็นำมาซึ่งความชื่นใจทุกเช้าเวลาที่ผมเปิดตู้เสื้อผ้าเพื่อที่จะเลือกชุดมาใส่

ขณะที่วิธีการเก็บผ้าแบบเดิมนั้นไม่เคยทำให้ผมรู้สึกดีอย่างนี้ได้เลย แม้ว่ามันจะใช้เวลาน้อยกว่าแค่ไหนก็ตาม

เพราะฉะนั้น การวัดว่ากิจกรรมใดๆ มีคุณค่าแค่ไหน จึงไม่ควรดูแค่ว่ามันใช้เวลามากน้อยเพียงใด

แต่ต้องดูด้วยว่า สุดท้ายแล้วกิจกรรมแบบไหนจะนำพาความสุขมาให้เราได้มากที่สุดครับ

—–

* EDIT: 10:30 2/8/2015 มีคนแนะนำให้แปลด้วยว่า Productivity คืออะไร ผมเลยขออนุญาตลิงค์ไปที่บล็อกนี้ของ CC: Somkiat นะครับ

ภาพจากกล้องผู้เขียน ถ่ายที่เมืองแมนเชสเตอร์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2558

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ Archives

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)