อีเลียด คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนแห่งยุคสมัยที่ไม่เคยเฉลิมฉลองชัยชนะ

คนที่วิ่งมาราธอนหรือฮาล์ฟมาราธอนทุกคนน่าจะรู้จัก Eliud Kipchoge นักวิ่งชาวเคนยาวัย 37 ปี เพราะเขาคือนักวิ่งระยะไกลที่ยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับเมสซี่ในโลกฟุตบอลและราฟาเอล นาดาล บนคอร์ตเทนนิส

งาน “INEOS: 1:59” ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2019 ในกรุงเวียนนา คิปโชเก้ไม่ต้องลงแข่งกับใครเลย สิ่งเดียวที่เขาต้องแข่งด้วยคือกำแพง 2 ชั่วโมงที่ไม่เคยมีนักวิ่งมาราธอนคนไหนทำลายได้มาก่อน

มีนักวิ่งชั้นนำมากมายมาร่วมวิ่งกับคิปโชเก้ในฐานะ “pacer” คือวิ่งเป็นเพื่อนในความเร็วที่กำหนดไว้ พอวิ่งครบ 10 กิโลเมตรก็เปลี่ยน pacer ชุดใหม่ ส่วนคิปโชเก้นั้นต้องวิ่งตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตร

สุดท้ายคิปโชเก้ก็วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1:59:40 เป็นการวิ่งจบระยะมาราธอนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยเพซเฉลี่ย 2:50 (หนึ่งกิโลเมตรใช้เวลาวิ่ง 2 นาที 50 วินาที)

คืนนั้นทางผู้จัดงานเฉลิมฉลองกันยกใหญ่ คิปโชเก้ขึ้นมอบถ้วยรางวัลให้กับนักวิ่ง 41 คนที่มาร่วมวิ่งเป็น pacer จากนั้นอาหารและเหล้ายาปลาปิ้งก็ free flow ไม่อั้น คนส่วนใหญ่ปาร์ตี้กันจนหัวรุ่ง

แต่ตัวคิปโชเก้ที่เป็นพระเอกของงานนั้นไม่แตะต้องแอลกอฮอลแม้แต่หยดเดียว พอมอบรางวัลเสร็จ เขาก็ออกมาจากงานอย่างเงียบๆ และเข้านอนแต่หัวค่ำ


ในงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 คิปโชเก้ก็เข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 (ที่สองช้ากว่าคิปโชเก้ 80 วินาที) งานจัดที่ซัปโปโร แต่เป็นธรรมเนียมของโอลิมปิกว่านักวิ่งมาราธอนต้องมารับเหรียญในพิธีปิด พวกเขาจึงต้องบินจากซัปโปโรมาโตเกียวและนั่งรอในห้องรับรองที่สนามบินอยู่ 3 ชั่วโมงเพื่อรอรถมารับไปส่งที่สเตเดี้ยม

ขณะที่ทุกคนหยิบมือถือออกมาเช็คข้อความแสดงความยินดีและฆ่าเวลา คิปโชเก้กลับนั่งเฉยๆ โดยไม่แตะต้องมือถือเลยแม้แต่นิดเดียว

Bashir Abdi นักวิ่งที่ได้เหรียญทองแดงจากเบลเยี่ยมพูดถึงคิปโชเก้แบบขำๆ ว่า “เขาไม่ใช่มนุษย์!”


คิปโชเก้มองว่าการฉลองเป็นเรื่องต้องห้ามและอันตราย มันคือการตามใจตัวเองที่อาจทำให้จิตใต้สำนึกเข้าใจว่าเขาได้มาถึงจุดสูงสุดและไม่มีอะไรต้องบรรลุอีกแล้ว

คิปโชเก้เป็นชาวเคนย่าที่เติบโตมาจากครอบครัวชาวนา ตอนเด็กๆ คิปโชเก้มีหน้าที่ปั่นจักรยานเอานมไปขายที่ตลาดนัด เขาจึงคุ้นเคยกับความยากลำบากเป็นอย่างดี

บ้านเกิดของคิปโชเก้อยู่ที่เมือง Eldoret ซึ่งอยู่ห่างจากไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาไป 300 กิโลเมตร แต่ค่ายฝึกซ้อมที่คิปโชเก้เก็บตัวนั้นอยู่ในเมือง Kaptagat ที่อยู่ห่างจาก Eldoret ออกไปอีก 40 นาที

รองเท้าที่คิปโชเก้ใส่ซ้อมนั้นไม่มีตราใดๆ ทั้งสิ้น แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็น Nike AlphaFly รุ่นล่าสุดที่ไนกี้ผลิตให้คิปโชเก้ใส่เพียงคนเดียวเท่านั้น


หลังจากจบงานโตเกียวโอลิมปิก คิปโชเก้หยุดพักจากการซ้อมวิ่งถึงหนึ่งเดือนเต็ม ก่อนจะกลับมาซ้อมด้วยโปรแกรมประมาณนี้

ช่วงเช้า

วิ่งยกละ 1600 เมตรที่เพซ 4:40 พัก 2 นาที x 8 ยก

วิ่งยกละ 400 เมตร ภายในเวลา 64 วินาที และพัก 30-50 วินาที x 8 ยก

ช่วงเย็น

วิ่ง 10 กิโลเมตร เริ่มจากเพซ 5:30 และจบที่เพซ 4:20

คิปโชเก้จะเข้านอนตอนสามทุ่ม และตื่นตี 5.45 ทุกวัน

เขาซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 200-220 กิโลเมตร และมีเซสชั่นฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมถึงมีนวดคลายกล้ามเนื้อกับนักกายภาพที่ทำงานด้วยกันมา 18 ปี

คิปโชเก้ซ้อมทุกวัน แต่จะซ้อมหนักแค่สัปดาห์ละ 3 วัน คือวันอังคารวิ่ง 15-16 กิโลเมตร วันพฤหัสฯ วิ่งระยะยาว 30-40 กิโลเมตร และวันเสาร์ ซ้อม 50 นาทีแบบ ‘Fartlek’ ด้วยการวิ่งเร็ว 3 นาที สลับกับวิ่งจ็อกกิ้ง 1 นาที

“ทุกครั้งที่ผมซ้อม ผมพยายามที่จะไม่ทุ่มเต็ม 100% เพราะร่างกายจะล้าเกินไป ดังนั้นวันอังคาร พฤหัส และเสาร์ ผมจะใส่แรงลงไปซัก 80% ส่วน 4 วันที่เหลือผมจะลงแรงประมาณ 50%” คิปโชเก้อธิบาย

คิปโชเก้ดื่มน้ำวันละ 3 ลิตร ทานเนื้อไม่เยอะ กินผักที่ปลูกโดยชาวบ้านในละแวกนั้น รวมถึงขนมปังที่ตัวคิปโชเก้อบเองกับมือ สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือปริมาณโปรตีนเพราะนักโภชนาการเห็นว่าคิปโชเก้บริโภคโปรตีนน้อยเกินไป

เวลาซ้อมวิ่งระยะ 40k คิปโชเก้จะดื่ม energy drink ยี่ห้อ Maurten แต่นอกจากนั้นเขาไม่ได้กินอาหารเสริมใดๆ ทั้งสิ้น


แม้จะเป็นวีรบุรษของเคนย่าครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หากมีใครคิดจะจัดงานต้อนรับเขาอย่างยิ่งใหญ่ พาขึ้นรถแห่ขบวนกลางเมือง เขาจะปฏิเสธทุกครั้ง

สิ่งที่คิปโชเก้ต้องการจะสื่อกับคนรุ่นใหม่ก็คือ พวกเขาสามารถเริ่มต้นจากศูนย์ และประสบความสำเร็จได้โดยที่เท้ายังติดดินเหมือนเดิม

“การปฏิเสธชีวิตที่หรูหราทำให้ผมมีโฟกัสมากขึ้นและเป็นคนในแบบที่ผมอยากเป็น ผมอยากให้ชีวิตมันเรียบง่ายเข้าไว้ จะได้ซ้อมให้หนักเท่าที่จะทำได้ ดีกว่าเอาเวลาไปขับรถสปอร์ตหรือนั่งเครื่องบินส่วนตัว”

สิ่งที่คิปโชเก้อยากทำให้สำเร็จต่อจากนี้คือวิ่งงาน World Marathon Majors ให้ครบทั้ง 6 รายการ โดยยังเหลือสามรายการที่คิปโชเก้ยังไม่เคยวิ่ง คือโตเกียว บอสตัน และนิวยอร์ค

เวลามีใครได้ไปเยี่ยมค่ายฝึกซ้อมของคิปโชเก้ พวกเขามักจะแปลกใจในความแสนธรรมดาของมัน

หนึ่งในทีมงานกล่าวว่า “โลกข้างนอกนั้นถูกทำให้ซับซ้อน แต่การซ้อมมาราธอนนั้นเป็นเรื่องที่เรียบง่ายมากๆ”

ซึ่งคิปโชเก้ก็เห็นตรงกัน “ถ้าคุณซ้อมในโรงยิมเล็กๆ มาตลอดจนประสบความสำเร็จ การไปซ้อมโรงยิมที่ใหญ่ขึ้นไม่น่าจะทำให้คุณเก่งขึ้นได้หรอกนะ”

มีคนอดถามคิปโชเก้ไม่ได้ว่า ตอนเขาได้เหรียญทองโอลิมปิก เขาไม่ได้เฉลิมฉลองอะไรจริงๆ เหรอ ไม่ว่าจะที่ญี่ปุ่นหรือที่บ้านเกิดก็ตาม

“ไม่มีเลย การฉลองจบลงตั้งแต่ตรงเส้นชัยแล้ว”


ขอบคุณข้อมูลจาก Irish Examiner: Eliud Kipchoge: Inside the camp, and the mind, of the greatest marathon runner of all time