ตัวเลขในบัญชีคือนิทาน ประสบการณ์วันต่อวันคือของจริง

เมื่อปี 2016 Seth Godin ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Tim Ferriss Show เอาไว้ว่า

“เงินคือนิทาน (Money is a story) หลังจากที่เรามีเงินเพียงพอสำหรับซื้อข้าวปลาอาหาร ดูแลคนในครอบครัว และเรื่องอื่นๆ อีกนิดหน่อย เงินก็จะกลายเป็นแค่นิทานที่เราเล่าให้ตัวเองฟัง

เราสามารถเล่านิทานเกี่ยวกับเงินได้ตามที่เราต้องการ และคงจะเป็นการดีถ้านิทานเรื่องนั้นเป็นนิทานที่เราฟังมันได้อย่างสบายใจ

เดี๋ยวนี้เงินส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นธนบัตรด้วยซ้ำ เหลือแค่เพียงตัวเลขบนหน้าจอ และจำนวนเงินที่เรามีก็ไม่ได้บ่งบอกคุณค่าของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเราค่อนข้างสุขสบายดีแล้ว เมื่อเราไม่ต้องกระเบียดกระเสียร เมื่อเรามีหลังคาคุ้มหัว เมื่อเรามีประกันสุขภาพ มันก็ถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจว่าเรายังต้องการเงินเพิ่มอีกแค่ไหน และเราจะยอมแลกอะไรบ้างเพื่อให้ได้มันมา เพราะทุกอย่างมีราคาของมันเสมอ”


ผมเคยฟังสัมภาษณ์นี้แค่ครั้งเดียว แต่ประเด็นที่ Seth Godin จุดเอาไว้ก็สว่างอยู่ในใจผมตลอดมา

เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเคยพูดกับผมว่า “Nobody dislikes more money.” ไม่มีใครไม่ชอบเงินเยอะขึ้นหรอกนะ

ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นความจริงสำหรับพวกเราส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในโลกทุนนิยม ถ้าไม่มีเงินเราก็อยู่ลำบาก และความสามารถในการดูแลคนที่เรารักย่อมจำกัด

โหมด default ของเราก็คือหาเงินให้เยอะๆ เอาไว้ก่อน เพื่อสร้างอนาคตและความมั่นคง

แต่เส้นความรู้สึกมั่นคงของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนมีหนึ่งล้านก็พอใจ ในขณะที่อีกคนมีสิบล้านก็รู้สึกว่ายังไม่ปลอดภัย

และนี่คือความหมายของ “นิทาน” ที่ Seth Godin พูดถึง เพราะแต่ละคนเล่านิทานให้ตัวเองฟังคนละเรื่อง แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้นิทานของตัวเองมี Happy Ending

สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือหากเรามัวแต่จับจ้องที่จะสร้าง Happy Ending เราอาจสูญเสีย Happy Being ไประหว่างทาง

สมมติว่าเราไม่ได้เดือดร้อนทางการเงิน แล้วมีคนมาเสนองานใหม่ที่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 50% แต่มันไม่ใช่งานที่เราทำแล้วมีความสุขเลยแม้แต่น้อย เราจะยอมทุกข์ใจสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเพื่อ “สร้างอนาคตให้เสร็จเร็วขึ้น” หรือไม่?

หรือถ้าเราทำธุรกิจเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ แต่เราไม่เคยมีเวลาว่าง ไม่เคยได้พักผ่อนเพียงพอ และเรากลายเป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ มันจะยังคุ้มกันอยู่รึเปล่า?

แน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะบริบทชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

สิ่งที่เรามีเหมือนกันแน่ๆ คือเวลาอันจำกัดบนโลกใบนี้ ที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เงินทองที่เก็บไว้จะได้ใช้หรือเปล่า อนาคตที่มั่นหมายเราจะอยู่ถึงวันนั้นหรือไม่

ในวันนี้ที่ “ยังไม่สำเร็จ” เราไม่คิดจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขบ้างเลยหรือ

อย่างที่เซธบอกเอาไว้ ว่าเมื่อชีวิตเดินทางถึงจุดหนึ่ง เราต้องตัดสินใจว่าเรายังต้องการเงินเพิ่มอีกแค่ไหน และเราจะยอมแลกอะไรเพื่อให้ได้มันมา

เพราะตัวเลขในบัญชีคือนิทาน แต่ประสบการณ์วันต่อวันคือของจริงครับ

ให้คำพูดของเรานั้นศักดิ์สิทธิ์

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนบอกว่าเขาสามารถทำนายอนาคตได้

เขาพูดว่า “เดี๋ยวผมจะไปอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของห้อง” เมื่อพูดจบเขาก็เดินไปที่ฟากหนึ่งของห้อง เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำนายเอาไว้นั้นแม่นยำจริงๆ

ตอนที่อ่านข้อความนี้ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผมก็รู้สึกแปลกๆ ผู้เขียนไม่ได้ทำนายอนาคตได้เสียหน่อย เขาก็แค่พูดในสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แล้วก็ทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเหลวไหลเรื่องนี้ก็ยังกลับมาให้ผมขบคิดอยู่บ่อยๆ

(อะไรที่ผ่านไปนานแล้วแต่เรายังนึกถึงมันอยู่ แสดงว่ามันน่าจะมีประโยชน์อะไรบางอย่าง เพราะโดยปกติแล้วสมองคนเรานั้นโยนทิ้งข้อมูลเก่งกว่านักจัดบ้านแบบ KonMari เสียอีก อะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ spark joy เราก็จะลืมมันไปอย่างง่ายดาย อังคารที่แล้วกินอะไรเป็นข้าวเที่ยงผมยังจำไม่ได้เลย)

ผมว่าบทเรียนลึกๆ ของการ “ทำนายอนาคตอันแสนสั้น” ก็คือเราสามารถทำในสิ่งที่เราลั่นวาจาเอาไว้ได้

แน่นอนว่าโอกาสในการทำสิ่งที่เราเอ่ยไว้ให้สำเร็จนั้นก็มีสูงต่ำต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราพูดออกมานั้นทำได้ยากแค่ไหนและต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง

ถ้าการทำนายว่า “ผมจะไปอยู่อีกฟากหนึ่งของห้องใน 10 วินาที” นั้นมีโอกาสถูกต้อง 100%

และการทำนายว่า “ผมจะมีเงินเก็บ 100 ล้านภายใน 10 ปี” มีโอกาสถูกต้อง 1%

การทำนายว่า “น้ำหนักผมจะลดลง 1 กิโลภายใน 1 เดือน” นั้นมีโอกาสถูกต้อง 80% เพราะว่ามันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

เราจึงควรฝึก “ทำนาย” เรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างน้อย 80% แล้วตั้งใจทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ

ปีใหม่นี้หลายคนตั้งปณิธานว่าจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น จะออกกำลังกายให้มากขึ้น จะเล่นโซเชียลให้น้อยลง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเรามีโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้เกิน 80% แน่ๆ เพราะมันอยู่ในความควบคุมของเราเกือบทั้งหมด

แต่ถ้าเราตั้งใจเอาไว้ แล้วเรากลับไม่ได้ทำ (ซึ่งต่างจากการทำไม่ได้) การผิดคำพูดนี้จะกลับมาทำร้ายตัวเองตรงที่มันอาจทำให้เราเชื่อถือตัวเองน้อยลง

เมื่อพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และควรทำได้ แต่เรากลับไม่ทำ คำพูดของเราก็จะศักดิ์สิทธิ์น้อยลงเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งคนก็จะเลิกให้น้ำหนักกับคำพูดของเรา

และคงเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้าไม่มีใครเชื่อใจในคำพูดของเราแม้แต่ตัวเราเอง

ในมุมกลับกัน ถ้าเราพูดในสิ่งที่เราทำได้ และเราก็ทำให้มันเกิดขึ้นจริง เราจะเริ่มเชื่อใจตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

จากเชื่อใจจะกลายเป็นเชื่อมั่น จากเชื่อมั่นจะกลายเป็นศรัทธา

ถ้าเราเชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะมีทรัพย์สมบัติอะไรที่มีค่าไปกว่าการมีศรัทธาในตัวเอง

เมื่อมองไปยังคนที่เขาคิดใหญ่ ฝันใหญ่ และลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือศรัทธาที่เต็มเปี่ยมทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เพราะเขาได้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายและเอ่ยวาจาเอาไว้นั้นมันเกิดขึ้นจริง

เรายังไม่ต้องฝันใหญ่เบอร์นั้นก็ได้ เพราะจะกดดันตัวเองเกินตัว

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เรื่องที่ถ้าได้ลงมือทำแล้วโอกาสสำเร็จนั้นเกือบ 100% ก่อน

พูดในสิ่งที่เราทำได้ แล้วก็ลงมือทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเดินไปฟากหนึ่งของห้อง จากนั้นค่อยขยับไปทำเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะพูดอะไรออกมาว่าจะทำ ก็จงลงมือทำอย่างตั้งใจ จนกว่าสิ่งนั้นจะเห็นผล

หากทำได้บ่อยๆ คำพูดของเราจะมีความศักดิ์สิทธิ์ครับ

ใช้วันนี้ให้เหมือนเราได้รับโอกาสครั้งที่สอง

เมื่อมองย้อนกลับไป อาจมีหลายจังหวะในชีวิตที่เรารู้สึกเสียดายหรือเสียใจ

เสียดายที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียน

เสียดายที่เอาแต่อยู่ในกรอบจนไม่ได้ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น

เสียดายที่ไม่ได้บอกความในใจกับคนคนนั้น

เสียใจที่พูดจาไม่ดีกับคนที่เรารัก

เสียดายที่ใช้เวลากับพ่อแม่น้อยไปหน่อย

เสียดายที่ทิ้งโอกาสเพราะอยากเก็บเงิน

เสียดายที่ทิ้งโอกาสเพราะกลัวอะไรก็ไม่รู้

เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายวีดีโอลูกตอนเด็กๆ ไว้มากกว่านี้

แต่ไม่ว่าจะเสียดายหรือเสียใจแค่ไหน เราก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

สิ่งเดียวที่เราจะแก้ไขได้คือวันนี้

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon บอกว่าสำหรับเขา เป้าหมายคือมีเรื่องเสียดายให้น้อยที่สุด

“When I’m eighty, I want to have minimized the number of regrets that I have in my life.”

ให้นึกถึงตัวเองตอนอายุ 80 ปีอาจจะไกลเกินไปสำหรับบางคน แค่ลองคิดถึงวันที่ตัวเองแก่กว่านี้สัก 20 ปีก็น่าจะพอ

ในอีก 20 ปี พ่อแม่อาจจะไม่อยู่กับเราแล้ว ลูกๆ อาจจะโตและออกจากบ้านไปกันหมด ร่างกายและสติปัญญาของเราอาจเปราะบางเกินกว่าจะเดินทางหรือทำอะไรที่เคยฝันไว้ว่าอยากจะทำ

ถ้าตัวเราในอีก 20 ปีข้างหน้าได้นั่งไทม์แมชชีนกลับมาหาตัวเราในวันนี้ เขาจะพูดกับเราว่าอะไร? จะมีอะไรที่เขาอยากเตือนเราว่าอย่าพลาดเหมือนอย่างที่เขาเคยพลาดหรือเปล่า

หากจินตนาการได้ว่าเราอาจเสียใจอะไรในภายหลัง วันนี้ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะเปลี่ยนอดีตสำหรับตัวเราในอนาคต

“Live as if you were living already for the second time and as if you had acted the first time as wrongly as you are about to act now!”
-Viktor Frankl

ใช้วันนี้ให้เหมือนเราได้รับโอกาสครั้งที่สองครับ


ขอบคุณภาพจาก Doraemon Wiki

จุดอ่อนของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เมื่อเช้านี้แฟนเรียกผมให้ไปดู “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัย 6 ขวบในห้องทำงานของแฟน

ใกล้รุ่งนั่งกอดเข่าขดตัวอยู่ใต้โคมไฟที่ตั้งอยู่มุมห้อง ฝั่งหนึ่งถูกปิดด้วยโซฟา อีกฝั่งถูกปิดด้วยโต๊ะทำงาน ผมงงนิดหน่อยว่าใกล้รุ่งเข้าไปนั่งตรงนั้นได้ยังไง

ผมไม่แน่ใจว่าใกล้รุ่งงอนเรื่องอะไร เดาว่าอาจจะทะเลาะกับพี่สาวที่ห่างกันสองปี แต่พอคุยหยอกด้วยซักครู่ใกล้รุ่งก็อารมณ์ดีขึ้น เลิกกอดเข่า แล้วคลานออกมาจากมุมห้อง ผ่านโคมไฟและใต้โต๊ะ

อ๋อ เข้าไปตรงนั้นด้วยการมุดโต๊ะนี่เอง

แล้วผมก็พลันตระหนักได้ว่า ใกล้รุ่งน่าจะเป็นคนเดียวในบ้านที่ยังทำแบบนั้นได้เพราะตัวยังเล็กพอที่จะมุดโต๊ะแล้วแทรกตัวเข้าไประหว่างโซฟากับกำแพงห้องที่เว้นที่ว่างไว้เพียงให้วางโคมไฟตั้งพื้นได้

ปีหน้าน่าจะตัวใหญ่เกินที่จะมุดเข้าไปอย่างนั้นแล้ว


หลายคนน่าจะเคยได้ยินการทดลอง Marshmellow Test เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่นำเด็กวัย 3 ขวบครึ่งถึง 5 ขวบครึ่งมานั่งอยู่ในห้องคนเดียว ตรงหน้ามีขนมมาร์ชเมลโล่ โดยเลือกได้ว่าจะกินมันทันที หรือถ้ายอมอดทนรอ 15 นาที พี่ๆ นักวิจัยก็จะเอามาร์ชเมลโล่มาเพิ่มให้อีก 1 ชิ้น

จากการทดลองพบว่า มีเด็กๆ 1 ใน 3 ที่รอจนครบ 15 นาที หลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี นักวิจัยก็กลับมาติดตามผลของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วก็พบว่าเด็กที่อดทนรอได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รับมือกับความเครียดได้ดี และสอบได้คะแนน SAT ได้สูงกว่าเด็กอีกกลุ่มที่รอไม่ได้

ผลสรุปของการทดลองนี้ก็คือ คนที่มี willpower และสามารถ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ delayed gratification นั้นมีโอกาสที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า


สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ How-to หนังสือการลงทุน หนังสือวางแผนการเงิน เกือบทุกเล่มก็จะเน้นย้ำความสำคัญของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เราควรทำงาน Q2 คือสิ่งทำสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้

เราลงทุนในวันนี้ เพื่อจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณ

เราควรออกกำลังในวันนี้ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า

เราควรสรรหาความรู้ เข้าสัมมนา เพื่อเป็นการ “ลงทุนกับตัวเอง” เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเราในอนาคต

ผมเองก็เชื่อแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะมันก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นได้จริงๆ ทำงานอย่างขยัน ใช้เงินอย่างประหยัด เป็นคนวินัยเพื่อจะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า


หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผมยกให้หนังสือ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022 ก็เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเห็นจุดอ่อนของ Q2 และทำให้ผมเขียนบทความชื่อ “5 กับดักของคน Productive

โดยกับดักข้อที่ 5 ผมเขียนเอาไว้ว่า “วันนี้จะถูกใช้เพื่อวันข้างหน้าเรื่อยไป”

เมื่อเราอยาก “ใช้เวลาให้คุ้มค่า” เราจะมองทุกอย่างด้วยสายตาของนักลงทุน เราจะทำอะไรบางอย่างในตอนนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างในอนาคตเสมอ

เราออกไปวิ่ง เพื่อจะทำเวลาได้ดีในการแข่งขัน

เราอ่านหนังสือ เพื่อจะได้เอาไปเขียนบล็อกหรือเล่าในพอดแคสต์

เราพักผ่อน เพื่อที่เราจะได้มีแรงกลับไปทำงานอย่างเต็มที่

เราแทบไม่เคยจะวิ่งเพื่อวิ่ง อ่านหนังสือเพื่ออ่านหนังสือ หรือพักผ่อนเพื่อพักผ่อนเลย

เพราะมันคือการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน มันคือการยอมแลก “วันนี้” เพื่อ “วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ซึ่งเราทำแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบจนสิ้นอายุขัย

แต่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า วันที่เราจะมีเงินเก็บมากพอ วันที่ to-do list เราจะเป็นศูนย์ วันที่เราจะรู้สึกว่า “เอาอยู่” แล้วและพร้อมที่จะเริ่มใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากให้เป็นจริงๆ นั้นมันไม่เคยมาถึง และอาจไม่มีวันมาถึง

ดังนั้นให้ระวังตรงนี้ให้มาก ถอดแว่นตาของนักลงทุนออกเสียบ้าง ไม่ต้องทำอะไรเพื่อวันพรุ่งนี้ไปเสียทุกอย่าง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราเหลือวันพรุ่งนี้อีกกี่วัน


คนที่ใช้ชีวิตด้วยการมี delayed gratification มาจนชิน มักจะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุขในวันนี้ เพราะต้องการสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

แต่เรามักจะลืมไปว่า ประสบการณ์บางอย่าง หรือเรื่องบางเรื่องนั้นมันไม่สามารถผัดผ่อนไปได้ตลอด

การจะมีประสบการณ์บางอย่างนั้นต้องใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือเงิน เวลา และสุขภาพ

ยกตัวอย่างที่สุดโต่งหน่อยเช่นการเล่นสกี

สำหรับคนไทย สกีฟังดูเป็นกีฬาที่ไกลตัวไปหน่อย แต่ผมโชคดีที่ช่วงมัธยมปลายได้ไปเรียนนิวซีแลนด์อยู่ 3 ปี และได้ไปเล่นสกี 3 ครั้ง เหตุผลที่ไม่ได้ไปมากกว่านี้เพราะไม่มีเงิน และหลังจากกลับจากนิวซีแลนด์ในปี 1997 ผมก็ไม่เคยได้เล่นสกีอีกเลย แม้ช่วงที่ทำงานใหม่ๆ จะมีโอกาสไปจอยทริปสกีแต่ก็ตัดสินใจไม่ไปเพราะเสียดายเงิน ขอเก็บตังค์ก่อนดีกว่า (delayed gratification!)

วันนี้ผมมีเงินเก็บมากพอที่จะไปทริปสกีได้ แต่อาการเจ็บเข่าเรื้อรังที่ผมได้จากการเตะบอลเมื่อ 10 ปีที่แล้วทำให้ผมไม่มั่นใจว่าจะเล่นสกีได้อีกต่อไป

ประสบการณ์บางอย่างถ้าเราผัดผ่อนมันไป เราอาจจะพลาดโอกาสนั้นไปตลอดชีวิต ต่อให้มีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อมันไม่ได้แล้วเพราะร่างกายไม่เอื้ออำนวย


นอกจากสามปัจจัยอย่างเงิน เวลา และสุขภาพแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือคนในครอบครัวของเรา

ในวันที่มีเงินเก็บมากมาย แต่ถ้าคนสำคัญของเราเขาไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว เราก็ไม่อาจจะซื้อประสบการณ์นั้นได้อีก ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็ตาม

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ ผมจะพูดเสมอว่า อย่านับว่าพ่อแม่จะอยู่กับเราอีกกี่ปี แต่ให้นับว่าเราจะมีโอกาสได้กินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกกี่หน

เมื่อพูดถึงพ่อแม่ จะไม่พูดถึงลูกก็ไม่ได้

วัยสี่สิบกว่า เป็นช่วงเวลาที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน หลายคนได้เป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร และเรามักจะให้ความสำคัญกับงานจนบางทีก็รู้สึกรำคาญเวลาที่ลูกมาก่อกวนสมาธิ (แล้วค่อยมารู้สึกตัวและรู้สึกผิดทีหลัง)

ที่อาจทำให้เรารู้สึกผิดไปกว่านั้น คือเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ (เช่นตอนที่ผมเขียนบทความนี้เป็นต้น!) เราก็ยังเอาเวลามาหารายได้เสริมหรือสร้างอนาคต แล้วทำให้เราเสียโอกาสที่จะใช้เวลากับลูกไปอีกเช่นกัน

อาจเพราะงานมีเส้นตาย แต่ลูกของเราอยู่ตรงนี้แบบไม่มีเส้นตาย แต่ขอให้อย่าลืมว่าลูกของเราจะอายุ 6 ขวบอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เมื่อเขาโตไปกว่านี้ เขาก็จะห่างอ้อมอกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการใช้เวลากับลูกในวันที่เขายังต้องการเราที่สุดนั้นก็มีเวลาจำกัดเช่นกัน


เรื่องของ Marshmellow test ยังไม่จบ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ของ Tyler Watts, Greg Duncan และ Haonan Quan ได้นำการทดลองนี้มาปัดฝุ่นใหม่ เพราะงานวิจัยเก่านั้นทำกับกลุ่มเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ต่างกันมากนัก

ในการทดลองครั้งใหม่ Watts และเพื่อนๆ ทำการทดลองนี้อีกครั้งกับเด็กถึง 900 คน และเมคชัวร์ว่าเด็กๆ เหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย รวมถึงเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนักด้วย

ผลที่ได้จากการทดลองก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับ willpower แต่เกี่ยวกับ money

เด็กที่ฐานะยากจนกว่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะกินมาร์ชเมลโล่ทันที เพราะประสบการณ์สอนให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน และคำพูดของผู้ใหญ่บางคนนั้นเชื่อถือไม่ได้

ในขณะที่สำหรับเด็กที่มีฐานะดีกว่านั้นมันตรงกันข้าม เพราะเขาคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ที่บ้านของเด็กเหล่านี้อาหารไม่เคยขาดแคลน และผู้ใหญ่ก็เป็นคนรักษาคำพูด ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถอดใจรอ 15 นาทีเพื่อจะได้มาร์ชเมลโล่ว์ชิ้นที่สอง

Delayed gratification นั้นยังมีประโยชน์อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี


สำหรับใครที่ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้มานาน ผมว่าเราควรกลับมาใส่ใจการใช้ชีวิตในวันนี้ให้มากขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องรอให้เราสำเร็จทุกอย่างก่อนจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

สำหรับคนที่ชีวิตเดินมาเกินครึ่งทาง การเลือกกินมาร์ชเมลโล่แค่ชิ้นเดียวในวันนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรอไปอีกสิบหรือยี่สิบปีเพื่อโอกาสจะได้มาร์ชเมลโล่ชิ้นที่สอง

เพราะถึงตอนนั้นเราอาจกินมาร์ชเมลโล่ไม่ไหว หรือคนที่เราอยากกินมาร์ชเมโล่ด้วยเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้วครับ

ถ้าจะทำนับพันครั้งก็ควรทำมันให้ถูกต้อง

1. เพราะอะไรที่เราทำซ้ำๆ มันจะเกิดการทบต้น หรือ compounding effect

2. เพราะอะไรที่เราทำทุกวัน เรามักไม่ใส่ใจและมองข้าม

ถ้าให้สำรวจเร็วๆ ว่ามีอะไรที่เราทำทุกวันหรือเกือบทุกวันบ้าง ก็เช่น

แปรงฟัน – เราแปรงฟัน/ขัดฟันถูกวิธีหรือยัง ถ้าฟันยังผุ เหงือกยังร่น ยังมีคราบหินปูนเยอะ แสดงว่าเรายังดูแลฟันได้ดีกว่านี้

กินข้าว – เราเคี้ยวข้าวและกับข้าวละเอียดพอก่อนที่จะกลืนหรือไม่ กินในปริมาณที่เหมาะสมหรือเปล่า กินเวลาไหน และกินอะไรบ้าง

เก้าอี้/โต๊ะทำงาน – ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้มันพอดีกับสรีระของเรารึยัง ถ้าทำงานแล้วยังปวดแขนปวดคอ แสดงว่ายังมีอะไรให้ปรับได้

การพิมพ์คอม – เรายังพิมพ์แบบจิ้มหรือพิมพ์สัมผัส ถ้ายังจิ้มอยู่แล้วหัดพิมพ์สัมผัสได้ เราน่าจะทำงานเสร็จเร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง

การออกกำลังกาย – เช่นการวิ่งหรือเล่นเวท ถ้าเราทำผิดซ้ำๆ อาจนำมาสู่อาการเข่าเสื่อมหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ถ้าหาคนสอนพื้นฐานให้ถูกต้องตั้งแต่แรก น่าจะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บและทำให้เรายืนระยะได้ยาวนาน

การนอน – เรานอนถูกท่าหรือไม่ นอนทับแขนตัวเองหรือเปล่า นอนหลับสนิทหรือเปล่า ถ้าเรานอนดี วันถัดมาก็จะดี ถ้าเรานอนแย่ วันถัดมาก็จะแย่

เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันคือสิ่งพื้นฐานที่เราต้องทำไปตลอดชีวิต ดังนั้นเราควรจะทำให้ถูกและทำให้ชำนาญ แล้วการใช้ชีวิตจะราบรื่นขึ้นครับ