เก๊กแก่

20180228_oldpretense

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมกับแฟนพา “ปรายฝน” ลูกสาววัย 2 ขวบ 4 เดือนไปเข้า Playgroup แถวบ้านมาครับ

Playgroup ที่นี่จัดเป็นสไตล์ Montessori ที่เน้นให้เด็กได้เลือกของเล่นด้วยตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ว่าหากเราปล่อยให้เค้าค้นหาและลองผิดลองถูก เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และไม่กลัวที่จะออกจากกรอบ

รอบๆ บริเวณมีสนามเด็กเล่น มีสไลเดอร์ มีสะพานเชือกให้ป่ายปีน

แถมยังมีแทรมโปลีนขนาดใหญ่ที่เราเคยเห็นแต่ในหนังฝรั่งอีกด้วย

ปรายฝนเป็นเด็กชอบกระโดดอยู่แล้ว พอได้ไปกระโดดบนแทรมโปลีนเลยสนุกขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

ผมเองก็ไม่เคยได้กระโดดบนแทรมโปลีนใหญ่ขนาดนี้ ก็เลยสนุกไปกับเขาด้วย แฟนแซวว่าผมดูสนุกกว่าลูกเสียอีก

จริงด้วย ผมไม่ได้รู้สึกสนุกแบบนี้มานานแค่ไหนแล้วนะ

—–

คุณผู้อ่านที่อายุอยู่ในวัย 30 หรือ 40 กว่าๆ เคยรู้สึกมั้ยครับว่า จิตใจเราเองก็ยังไม่ต่างจากสมัยวัยรุ่นเท่าไหร่

แม้ตีนกาจะขึ้น ผมจะเริ่มบาง พุงจะเริ่มมา แต่เวลาเจอเพื่อนสมัยม.ปลายก็ยังรู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปเป็นเด็กอายุ 16 อีกครั้ง

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ลึกๆ ข้างในเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ

แต่พอมีงานมีการ มีตำแหน่ง มีหน้ามีตา เราต้องเริ่มแต่งตัวให้ดูดี ต้องเริ่มวางมาด ต้องไม่ทำอะไรติ๊งต๊องๆ

15-20 ปีของการเป็นผู้ใหญ่ คือกระบวนการแห่งการชุบตัวและฉาบเคลือบด้วยความคาดหวังที่(เราคิดว่า)สังคมมีต่อเรา

เวลาขำอะไรจึงไม่หัวเราะดังๆ

เวลาฟังเพลงมันๆ เราจึงไม่ลุกขึ้นมาเต้น

เวลาเจอกิจกรรมที่ดูน่าสนุก เราจึงเลือกที่จะนั่งเล่นมือถือ

ความเป็นผู้ใหญ่เลยทำให้เราสูญเสียความกล้า

กล้าที่จะทำในสิ่งที่ทำให้หัวใจพองโต กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง

ยอมทิ้งตัวตน เพื่อแลกกับอะไรก็ไม่รู้

อาจไม่ถึงกับเป็นโศกนาฎกรรม แต่ก็ใกล้เคียงนะครับ

อยากได้ปลาช่อนก็จงไปจับปลาช่อน

2018022_salmon

อย่าไปจับปลาแซลมอนแล้วพยายามเอามาทำเป็นปลาช่อนเลย

คำพูดนี้พี่ต่อ ฟีโนมีน่าเคยกล่าวไว้ตอนที่มาพูดที่ Wongnai เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว

ผ่านมาครึ่งปีผมก็ได้พบว่าคำนี้มันจริงมากๆ โดยเฉพาะสำหรับผมที่ทำงานอยู่ทีม People (ที่ Wongnai เราจะเรียกแผนก HR ว่า People)

ว่าการหาคนให้เหมาะกับงานตั้งแต่แรกนั้น ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าการพยายามไปเปลี่ยนแปลงเขา

คนที่ไม่ชอบเขียนรีวิว ต่อให้เราเอาเงินรางวัลมาล่อ เขาก็ไม่เขียนรีวิวอยู่ดี

คนที่ทำงานแนว passive แม้ว่าเราจะบิ๊วแค่ไหน ก็มีโอกาสน้อยที่เขาจะทำงานแบบ proactive

คนที่ไม่มี service mind ต่อให้เราท้วงติงกี่ครั้ง service mind ก็ไม่กระเตื้องขึ้น

แน่นอน คนเราควรต้องยืดหยุ่นและปรับตัว แต่ในทางกลับกัน ถ้าเขาทำไม่ได้หรือไม่ยอมทำ ก็เป็นความผิดขององค์กรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่เลือกใช้คนไม่ถูกกับงาน หรือเลือกคนที่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรเข้ามา

นี่อาจหมายรวมไปถึงการเลือกแฟนหรือเลือกหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ต้องคำนึงไว้เสมอว่าสิ่งที่เราคาดหวังควรจะสอดคล้องกับธรรมชาติของเขาด้วย

อยากได้ปลาช่อนก็จงเฟ้นหาปลาช่อน อย่าไปฝืนปลาแซลมอนให้เป็นปลาช่อนเลยนะครับ

เสื้อตัวนั้นคือของเหลือใช้จากตัวเราเมื่อวานนี้

20180226_itemfromyesterdayyou

หนังสือเล่มนั้นที่ซื้อมานานแต่ยังไม่ได้อ่านก็ใช่

คอมเก่าตัวนั้นก็ใช่

สายอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ต่างๆ นั้นก็ใช่เช่นกัน

ไม่สำคัญว่าตัวเราในอดีตจ่ายเงินซื้อมันมาเท่าไหร่ สิ่งเดียวที่ควรคำนึงคือตัวเราในปัจจุบันจะได้ใช้มันอีกหรือเปล่า

หากคำตอบคือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องรับของชิ้นนั้นไว้ เพราะเราในวันนี้เป็นคนละคนกับเราในอดีต

และการเก็บของที่ไม่ได้ใช้เอาไว้ รังแต่จะทำให้พื้นที่ว่างหายไปโดยไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้เราครับ

—–

ใครรู้สึกว่าห้องเริ่มจะรกเกินไปแล้ว แนะนำให้อ่านวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari ครับ: https://anontawong.com/2015/08/10/konmari/

ขอบคุณประกายความคิดจาก Seth Godin: Totaled