ถ้าลองนึกถึงชื่อโฆษณาไทยที่คุณโปรดปรานซัก 3 เรื่อง มีโอกาสสูงมากที่อย่างน้อยหนึ่งในนั้นจะเป็นฝีมือการกำกับของพี่ต่อ ฟีโนมีน่า
เช่นหนังโฆษณาซึ้งๆ ของไทยประกันชีวิต (ปู่ชิว, แม่ต้อย, Que Sera Sera)
หรือโฆษณา จน เครียด กินเหล้า! ของสสส.
หรือโฆษณาเงินติดล้อ – เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก
งานของพี่ต่อกวาด Cannes Lion ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของคนทำโฆษณามาแล้วหลายสิบรางวัล จนนิตยสาร a day ต้องเชิญพี่ต่อมาขึ้นปกแล้วพาดหัวว่าคนคนนี้คือผู้กำกับโฆษณาอันดับ 1 ของโลก
ผมจึงดีใจมากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพี่ต่อได้เข้ามาพูดให้พนักงานที่บริษัทวงในร้อยกว่าคนฟัง (ทุกๆ สองศุกร์ เราจะมีกิจกรรม Wongnai WeShare ที่เราจะเชิญคนเจ๋งๆ มาร่วมพูดคุย)
พี่ต่อมาพูดโดยไม่มีสคริปต์ เน้นตอบคำถามเป็นหลัก และการตอบแต่ละข้อพี่ต่อจะหยุดคิดก่อนพูดเสมอ (เป็นการพูดคุยที่มี “ความเงียบ” แซมอยู่ตลอดทางมากที่สุด)
นี่คือข้อคิดที่ผมได้จากการฟังพี่ต่อในวันนั้นครับ
1. ใช้ชีวิตให้ตรงประเด็น เราถามพี่ต่อไปว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ พี่ต่อตอบว่าเขาแค่เป็นคนจับประเด็นเก่ง และหลักการการทำงานของเขาก็คือเวลาทำงาน ก็ทำให้ดีที่สุด พองานเราดี จะแต่งตัวยังไงก็ไม่สำคัญ ขับรถอะไรก็ไม่เกี่ยว connection ก็ไม่จำเป็น เพราะงานเราดีซะอย่าง ยังไงเขาก็ต้องจ้างเรา พอเราใช้ชีวิตตรงประเด็น ชีวิตมันก็จะง่าย
2. ทำอะไรควรสร้างการผลิต สำหรับคนที่อยากรวย อยากมีอิสระทางการเงินเร็วๆ พี่ต่อแนะนำให้ลองสำรวจดูว่า กิจกรรมที่เราทำหรือเงินที่เราใช้ไปนั้นมันสร้างการผลิตรึเปล่า ถ้าไม่สร้างการผลิตก็พยายามอย่าไปทำ เช่นปลูกไม้ประดับไม่สร้างการผลิต ปลูกผักสวนครัวสร้างการผลิต นั่งคุยการเมืองไม่สร้างการผลิต ถ้าคุณเป็นห่วงบ้านเมืองก็ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างไปเลย
3. อ่านหนังสือให้เยอะๆ เราจะเข้าใจคนดู (ลูกค้า / Consumers) ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร พี่ต่อจึงอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเยอะมาก รวมถึงอ่านหนังสือขึ้นหิ้งอย่างสามก๊ก ซุนวู มูซาชิด้วย ถามว่าพี่ต่อจะแนะนำหนังสืออะไรให้พนักงานวงในอ่าน พี่ต่อพูดถึงหนังสือ Good Luck ของนานมีบุ๊คส์ เป็นหนังสือที่บอกว่าโชคไม่มีอยู่จริง ความสำเร็จเป็นสิ่งที่เราสร้างเอง (เย็นวันนั้นมีน้องวิ่งไปซื้อมา 4 เล่มเลยนะครับ ผมเองก็ไปสอยมาแล้วหนึ่งเล่มเช่นกัน ไว้จะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)
4. อย่าพยายามทำปลาแซลม่อนให้เป็นปลาช่อน เวลาเลือกคนมาแสดงโฆษณา พี่ต่อจะเลือกคนที่ทำสิ่งๆ นั้นเป็นอยู่แล้ว เช่นถ้าตัวละครต้องขี่มอเตอร์ไซค์ เขาก็จะไม่เอาคนขับรถยนต์มาแสดง เพราะแค่แอคติ้งง่ายๆ อย่างการปิดเบาะมอเตอร์ไซค์ลง คนขี่มอเตอร์ไซค์จะทำได้สมจริงกว่าคนขับรถยนต์แน่ๆ ถ้าเราอยากได้ปลาช่อนก็อย่าไปเอาปลาแซลม่อนมาทำใหเป็นปลาช่อน สู้เอาเวลาไปเฟ้นหาปลาช่อนดีกว่า
5. ปัญหาเป็นเรื่องดี เพราะมันบอกให้รู้ว่ายังมีอะไรที่ไม่ดี เริ่มจากคำถามที่ว่ามีโฆษณาตัวไหนที่พี่ต่อไม่ชอบมั้ย พี่ต่อตอบว่ามีหลายตัวมากที่พอกลับไปดูแล้วเจอจุดที่มันควรจะดีกว่านี้ได้ เช่นแอคติ้งมากเกินไป ซาวด์ไม่โอเค ฯลฯ แต่กว่าจะรู้ตัวคือต้องผ่านไปซัก 1 ปีแล้วกลับมาดูใหม่ เพราะพอทำงานไปเยอะๆ รสนิยมของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะมองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองได้ดีขึ้น พอเจองานที่เขาไม่ชอบแล้ว พี่ต่อจะจำแนกออกมาเป็นข้อๆ เลยว่ามีอะไรบ้างไม่ชอบเพราะอะไร แล้วพี่ต่อก็จะไม่ทำมันอีก
พี่ต่อบอกว่าข้อผิดพลาดโคตรมีประโยชน์ เพราะถ้าเราเรียนรู้จากมันและไม่ทำมันผิดซ้ำ กราฟชีวิตของเราจะพุ่ง อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในวันนั้นสำหรับผม เพราะผมรู้ตัวว่าไม่ค่อยกล้าสบตากับจุดอ่อนของตัวเองซักเท่าไหร่ เช่นไม่ค่อยกลับไปอ่านงานเขียนเก่าๆ และไม่กล้าอัดวีดีโอตัวเองตอนที่สอนหนังสือ แต่จากนี้ไปจะต้องลองดูซักหน่อยแล้วครับ
ขอบคุณพี่ต่ออีกครั้งที่สละเวลามาเล่าประสบการณ์และแนวทางการดำเนินชีวิตให้พวกเราฟัง และขอบคุณยุ้ย เพื่อน HR ที่เคยทำงานอยู่ฟีโนมีน่าและได้มารู้จักกันที่ทอมสันรอยเตอร์ ที่ช่วยประสานงานจนเชิญพี่ต่อสำเร็จนะครับ
—–
ป.ล. ปีแรกที่ผมเขียนบล็อก ผมมีเขียนถึงพี่ต่อในเรื่อง เงิน/ความสุข/คุณค่าด้วยนะครับ
ป.ล.2 “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” หนังสือเล่มแรกของผมวางแผงแล้ว หาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S และศูนย์หนังสือจุฬาครับ