น้ำหนักของฟางไม่ได้ทำให้วัวหลังหัก

20170228_load

It’s not the load that breaks you down. It’s the way you carry it.

ความหนักหนาของปัญหาไม่ได้ทำลายเรา

สิ่งที่ทำลายเราคือวิธีที่เรารับมือกับมันต่างหาก

― Lou Holtz

แต่เดิมโลกนี้มีแต่เหตุการณ์และสถานการณ์

แต่พอเริ่มมีมนุษย์ ก็เริ่มมีปัญหา

เพราะเราถือว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปแก้ ถ้าไม่แก้ต้องแย่แน่ๆ

ไอ้ความรู้สึกว่าต้องแย่แน่ๆ นี่แหละที่ทำให้เรา break down กันมานักต่อนัก

เพราะเราจะจับจดกับปัญหา จนลืมไปเลยว่าปัญหาไม่ใช่เราและเราไม่ใช่ปัญหา

ถามว่าภูเขาหนักมั้ย – หนัก

แต่เราไม่เป็นอะไรเพราะเราไม่ได้เข้าไปแบก

ถามว่าปัญหาหนักมั้ย – หนัก

และจะไม่เข้าไปแบกเลยก็คงทำไม่ได้ เพราะมันเป็นหน้าที่

แต่เราไม่ต้องและไม่ควรแบกมันตลอดเวลา

ถ้าค่ำแล้ว ก็ควรวางปัญหาลงชั่วคราว เพื่อจะได้ใส่ใจคนสำคัญ ซึ่งหมายรวมถึงตัวเราเองด้วย

It’s not the load that breaks you down. It’s the way you carry it.

ปัญหาจะหนักแค่ไหน ถ้าแบกถูกวิธี หลังก็ไม่หักง่ายๆ หรอกนะครับ


ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ชีวิตที่เราภูมิใจ

20170227_proud.png

I hope you live a life you’re proud of. If you find that you are not, I hope you have the strength to start all over again.

ผมหวังว่าคุณกำลังใช้ชีวิตในแบบที่คุณภูมิใจ แต่ถ้าคุณยังไม่ภูมิใจกับชีวิตคุณ ผมก็ขอให้คุณจะเข้มแข็งพอที่จะเริ่มต้นใหม่นะ

– F. Scott Fitzgerald

เมื่อเช้าได้ฟังเพลง Creep ของวง Radiohead แล้วก็คิดถึงการเล่นดนตรีสมัยเด็กๆ

หนึ่งในความภูมิใจของผมคือการเล่นโซโลเพลง Don’t Look Back in Anger ของวง Oasis ในงานจบการศึกษาที่นิวซีแลนด์

ผมกับเพื่อนคนไทยตั้งวงชื่อ So L (โซแอล) และเป็นวงดนตรีวงเดียวที่ได้เล่นในคืนนั้นซึ่งเต็มไปด้วยนักเรียนและผู้ปกครองฝรั่ง

สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตและ MP3 การแกะเพลงต้องใช้สเตริโอเปิดซีดีเอา ซึ่งก็ถือว่าสะดวกกว่าการใช้เทปคาสเซ็ตมากมายแล้ว

ผมซื้อหนังสือกีตาร์รายเดือนของฝรั่งซึ่งมีแท็บและคอร์ดเพลง Don’t Look Back in Anger เพื่อจะแกะเพลงนี้มานานหลายเดือน แต่จนแล้วจนรอดก็เล่นไม่ได้เสียที

จุดเปลี่ยนอยู่ที่การไปพักบ้านโจช่วงปิดเทอม

(ผมอยู่กับแม่บ้านชาวนิวซีแลนด์ในเมืองเล็กๆ ชื่อเทมูก้า ส่วนโจซึ่งแก่กว่าผมนั้นอยู่แฟลตกับแฟนที่เมืองไครส์เชิร์ช)

พวกเราจะนั่งเล่นเกมจนถึงตีสี่ตีห้า ตื่นมาเกือบบ่าย ไปเดินเล่นที่ห้าง หาอะไรกิน ก่อนจะกลับมานั่งเล่นกีต้าร์ เล่นเกมและคุยกับโจเคล้ากับเบียร์และกลิ่นบุหรี่และกินมาม่าตอนตีสอง

ผมใช้ชีวิตแบบนั้นถึงสองสัปดาห์เต็มๆ ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านพร้อมด้วยความรู้สึกว่าเป็นสองสัปดาห์ที่ใช้เวลาอย่างทิ้งขว้างที่สุด

ไอ้ความรู้สึกเสียดายเวลาที่หายไปนี่แหละ ที่ทำให้ผมตั้งใจว่าจะเล่นโซโลเพลง Don’t Look Back in Anger เพื่อเป็นการชดเชยเวลาที่สูญหายไป

และหลังจากพยายามอยู่สองสัปดาห์เต็มๆ ฟังเพลงไปไม่ต่ำกว่าสองร้อยรอบ ผมก็เล่นเพลงนี้สำเร็จ และได้ไปเล่นในงานจบการศึกษา (จำได้ด้วยว่ามีเพื่อนฝรั่งคนนึงลุกขึ้นตบมือตอนเล่นเพลงนี้เสร็จ)

I hope you live a life you’re proud of. If you find that you are not, I hope you have the strength to start all over again.

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ตัวว่ากำลังใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่ภูมิใจ ขอให้มีแรงฮึดขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อเป็นการชดเชย

แล้วเราอาจรู้สึกขอบคุณช่วงเวลานั้น เหมือนที่ผมรู้สึกขอบคุณช่วงเวลาที่ไปอยู่บ้านโจครับ


ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา

20170226_sapiens11

สองตอนที่ผ่านมา เราพูดถึงเงินที่ช่วยหลอมรวมโลกในเชิงเศรษฐกิจ พูดถึงจักรวรรดิที่หลอมรวมโลกในเชิงรัฐศาสตร์ วันนี้เราจะมาพูดถึงศาสนาที่หลอมรวมโลกในเชิงจิตวิญญาณนะครับ

ระเบียบสังคม (social order) เป็นสิ่งที่มนุษย์จินตนาการขึ้นมาทั้งนั้น เช่นการแบ่งคนออกเป็นวรรณะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในเชิงชีววิทยาเราแทบไม่มีอะไรต่างกันเลย

เมื่อระเบียบสังคมเป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้น มันจึงมีความเปราะบาง และยิ่งสังคมมนุษย์ขยายใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเปราะบางขึ้นเท่านั้น

บทบาทที่สำคัญของศาสนาก็คือ มันได้สร้างความชอบธรรมที่มาจากสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์ (superhuman legitimacy) ขึ้นมาช่วยลดความเปราะบางของระเบียบสังคมนี้

ศาสนาบอกว่ากฎกติกาหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นตามอำเภอใจ แต่เป็นคำบัญชาจากเบื้องบน เมื่อคนส่วนใหญ่เชื่อในแนวคิดนี้ คนย่อมไม่กล้าที่จะตั้งคำถามหรือแข็งขืนกับกฎระเบียบ สังคมนั้นจึงมีเสถียรภาพ

นิยามของศาสนา
“ศาสนา” คือระบบที่กำหนดบรรทัดฐานทางศีลธรรมโดยตั้งอยู่บนความเชื่อในเรื่องเหนือมนุษย์

ศาสนาจึงมีเกณฑ์วัดอยู่สองข้อ

1.ศาสนายึดถือว่าโลกนี้มีกฎระเบียบที่มาจากสิ่งที่เหนือมนุษย์ (superhuman order) ฟุตบอลไม่ถือว่าเป็นศาสนา เพราะถึงแม้ว่าฟุตบอลจะมีกฎกติกามากมายแต่คนที่ตั้งกฎเหล่านี้ขึ้นมาคือฟีฟ่า และพวกเขามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเองได้

2.ศาสนาเป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์ควรจะประพฤติตนอย่างไร คนมากมายเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้ (ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องเหนือมนุษย์) แต่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมและความประพฤติ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นศาสนา

การที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งจะมีบทบาทในการหลอมรวมคนจำนวนมากได้นั้นยังต้องมีคุณลักษณะเพิ่มอีกสองข้อ นั่นคือกฎกติกาที่ศาสนากำหนดขึ้นมานี้ต้องเป็นสากล (universal) ที่ถูกต้องในทุกสถานในกาลทุกเมื่อ และคำสอนของศาสนานี้เป็นเรื่องที่พึงนำไปเผยแผ่ให้แก่มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม (missionary)

ศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างคริสต์ อิสลาม และพุทธนั้นอ้างว่าคำสอนของตัวเองเป็นสากลและเป็นสิ่งที่ต้องนำไปประกาศให้ชาวโลกรับรู้

แต่ศาสนาส่วนใหญ่ในยุคแรกๆ นั้นมีคุณลักษณะตรงกันข้ามคือ มีความเป็น local และ exclusive

พวกเขาเชื่อในเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่เฉพาะละแวกนั้นๆ และไม่เคยคิดจะไปเผยแผ่ให้คนอื่นเห็นดีเห็นงามด้วย

วิญญาณนิยม (Animism)
ในยุคที่คนเรายังเข้าป่าล่าสัตว์กันนั้น ความเชื่อของพวกเขาจะยึดกับสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ เช่นคนที่อยู่ริมแม่น้ำคงคาอาจจะมีความเชื่อว่าห้ามตัดต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้ ไม่อย่างนั้นภูติจะพิโรธ ขณะที่ชาวบ้านริมแม่น้ำสินธุอาจจะห้ามล่าจิ้งจอกหางขาวเพราะตำนานเล่าว่าจิ้งจอกหางขาวเคยมาบอกสถานที่เก็บขุมทรัพย์

คนยุคนั้นใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในพื้นที่แค่ไม่กี่พันตารางกิโลเมตร สิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อประพฤติตนให้เหมาะสม จึงมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปโน้มน้าวให้คนในพื้นที่อื่นต้องมาเชื่อตามเขา คนริมแม่น้ำสินธุจึงไม่เคยคิดไปบอกคนริมแม่น้ำคงคาว่าห้ามล่าจิ้งจอกหางขาวนะ

นี่คือศาสนาที่เรียกว่า “วิญญาณนิยม” (animism) หรือความเชื่อที่ว่าทุกสรรพสิ่งมีจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งก้อนหิน มนุษย์มองตัวเองว่าเป็นเพียงสมาชิกอีกคนหนึ่งในบรรดาสรรพสัตว์ และให้คุณค่ากับชีวิตของสัตว์และต้นไม้เท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์ของตน

แต่การมาถึงของการปฏิวัติเกษตรกรรมก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อมนุษย์หันมาเพาะพืชและเลี้ยงสัตว์ พืชและสัตว์จึงถูกเปลี่ยนฐานะจากเพื่อนร่วมโลกมาเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์แทน

ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเริ่มเกิดในยุคนี้นี่เอง เพราะถึงแม้เขาจะดูแลข้าวในไร่ของตัวเองเป็นอย่างดี แต่หากมีภัยแล้งหรืออุทกภัย ไร่นาย่อมเสียหาย คนจึงเริ่มบวงสรวงเทพเจ้า ทำการบูชายัญด้วยลูกแกะ ฯลฯ เพื่อแลกกับความอุดมสมบูรณ์ของไร่นาและปศุสัตว์ที่เป็นสมบัติของพวกเขา

ศาสนาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheistic Religions)
ในสมัยที่คนยังอยู่ในพื้นที่จำกัด การมีเทพเจ้าท้องถิ่นคอยดูแลก็เพียงพอแล้ว แต่พออาณาเขตของบ้านเมืองเริ่มขยายใหญ่ขึ่นเรื่อยๆ เทพเจ้าในความเชื่อของมนุษย์จึงต้องมีพลังมากขึ้นเช่นกัน

นี่คือที่มาของศาสนาที่เชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ (polytheistic religions – poly = many, theos = god) โดยเทพเจ้าแต่ละองค์ก็จะมีความชำนาญที่แตกต่างกันไป เช่นเทพเจ้าแห่งฝน เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเทพเจ้าแห่งสงคราม

แต่อีกหนึ่งผลกระทบสำคัญของศาสนาหลายเทพเจ้าก็คือ มันได้ลดฐานะของสัตว์ต่างๆ เป็นเพียงแค่ตัวประกอบในโรงละครใหญ่ที่มีมนุษย์เป็นนักแสดงนำ

มนุษย์เริ่มมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า หากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่จนสัตว์ตายเป็นเบือ นั่นก็เพียงเพราะว่ามนุษย์โง่ๆ บางคนไปทำให้เทพเจ้าโกรธเคืองเท่านั้นเอง

การเกิดขึ้นของศาสนาหลายเทพจึงไม่เป็นเพียงการยกระดับของเทพเจ้าเท่านั้น แต่เป็นการยกฐานะของมนุษย์ให้เหนือกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงด้วย

ศาสนาหลายเทพเจ้าแตกต่างจากศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวตรงที่เขาไม่ค่อยซีเรียสกับการไปเปลี่ยนศาสนาคนอื่น

ในยุคที่อาณาจักรโรมันเฟื่องฟู จักรพรรดิโรมันไม่เคยพยายามเปลี่ยนศาสนาของประชาชนในบ้านเมืองที่ท่านเข้าไปตีและยึดครอง ประชาชนในพื้นที่จะถูกคาดหวังให้เคารพเทพเจ้าของชาวโรมันแต่ไม่จำเป็นต้องเลิกเชื่อในเทพเจ้าที่ตัวเองเคยยึดถืออยู่ก่อน

ศาสนาเดียวที่กรุงโรมมีปัญหาด้วยคือศาสนาคริสต์ เพราะชาวคริสต์ปฏิเสธที่จะบูชาเทพเจ้าและจักพรรดิแห่งกรุงโรม ชาวโรมจึงเขียนเสือให้วัวกลัวด้วยการจับพระเยซูตรึงไม้กางเขน

ในช่วงระยะเวลา 300 ปีนับแต่นั้นจนถึงวันที่พระเจ้าคอนสแตนตินแห่งกรุงโรมเปลี่ยนมาถือคริสต์ ชาวโรมจับชาวคริสเตียนมาลงโทษและประหารไปไม่น้อย ตัวเลขน่าจะอยู่ในหลักสองพันถึงสามพันคน

แต่การสูญเสียนี้เทียบไม่ได้เลยกับการประหัตประหารของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเอง

ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เชื่อว่าพระเจ้าจุติลงมาเป็นมนุษย์และยอมโดนทรมานและตรึงกางเขน ดังนั้นจึงได้ไถ่บาปทั้งหมดและเปิดประตูสวรรค์เพื่อรับใครก็ตามที่เลือกนับถือศาสนานี้ แต่คริสต์นิกายแคธอลิคเชื่อว่าแค่ศรัทธาอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำความดีและเข้าโบสถ์ด้วย

ความแตกต่างในรายละเอียดของสองนิกายนี้มากพอที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข่นฆ่ากันเป็นจำนวนมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และ 17 ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์สังหารหมู่วันเซนต์บาโธโลมิว (St. Bartholomew’s Day massacre) ที่ชาวคาธอลิกสังหารชาวโปรเตสแตนท์ในปารีสนับหมื่นคนภายในเวลาแค่ 24 ชั่วโมง

ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว (Monotheistic religion)
ศาสนาแบบพระเจ้าองค์เดียวเกิดขึ้นในสมัยฟาโรห์แอเคนาเตนเมื่อ 350 ปีก่อนคริสตกาล

ฟาโรห์องค์นี้ได้ประกาศว่า หนึ่งในเทพเจ้าของชาวอียิปต์นาม “อาเต็น” (Aten) แท้จริงแล้วเป็นพระเจ้าผู้อยู่สูงสุดและปกครองทุกสรรพสิ่งในจักรวาล องค์ฟาโรห์จึงตั้ง “อาเต็น” เป็นศาสนาประจำชาติและคอยตรวจสอบการบวงสรวงเทพเจ้าองค์อื่นๆ แต่ภายหลังจากฟาโรห์องค์นี้เสด็จสวรรคตชาวอียิปต์ก็กลับไปนับถือเทพเจ้าหลายองค์ตามเดิม

การบุกเบิกครั้งยิ่งใหญ่เกิดในสมัยของศาสนาคริสต์ ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นลัทธิเล็กๆ ของชาวยิวที่ต้องการจะโน้มน้าวคนยิวว่าชายนามจีซัสแห่งนาซาเรธคือผู้มาโปรดที่ชาวยิวเฝ้ารอมานานแสนนาน โดยมีนักบุญพอลแห่งทาร์ซัส (Paul of Tarsus) เป็นตัวตั้งตัวตีในการเผยแผ่คำสอนของจีซัสไปทั่วโลก

อีก 700 ปีต่อมาลัทธิเล็กๆ ในคาบสมุทรอาหรับก็เดินตามรอยศาสนาคริสต์และเผยแผ่ไปได้รวดเร็วกว่าศาสนาคริสต์เสียอีก

คนที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว จะเชื่อว่าคำสอนในศาสนาของตนคือความจริงทั้งหมด จึงมีความอดทนต่ำต่อความเชื่อที่แตกต่าง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาศาสนาเหล่านี้จึงพยายามนำ “คนนอกศาสนา” มาเข้ารีต รวมถึงทำลายศาสนา “คู่แข่ง” ด้วย

ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ก็ได้ผลเป็นอย่างดี สองพันปีที่แล้ว แทบไม่มีใครนับถือศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเลย แต่ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกเอเชียตะวันออกล้วนแล้วแต่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว

ในตอนหน้า เราจะมาพูดถึงศาสนาที่ตั้งอยู่บนกฎธรรมชาติ (ศาสนาพุทธ) และ “ศาสนา” ที่บูชามนุษย์อย่างศาสนาคอมมิวนิสต์ และศาสนานาซีครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari  (อ่านรีวิวได้ใน Amazon)

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม
Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ

เทคนิคถังน้ำมันในทะเลทราย

20170225_barrel

วันนี้จะมาแชร์เทคนิคหนึ่งที่ Brian Tracy เคยพูดถึงในหนังสือ Eat That Frog ครับ

เทรซี่เคยต้องขับรถข้ามทะเลทรายซาฮาร่า ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เส้นทางที่เทรซี่ขับผ่านนั้นมีระยะทางถึง 800 กิโลเมตร หรือพอๆ กับกรุงเทพ-เชียงราย

ความยากของการขับรถข้ามทะเลทรายคือความเวิ้งว้างว่างเปล่าสุดลูกหูลูกตา ไม่มีร้านค้า ไม่มีที่ให้แวะเติมน้ำมัน ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร มองไปทางไหนก็มีแต่ทราย ทราย และทราย

มีคนถึง 1300 คนที่เคยขับผ่านเส้นทางนี้แล้วหลงทางกลับออกมาไม่ได้ จนสูญหายและหาตัว(ศพ)ไม่เจอ

เพื่อแก้ปัญหา กองทัพฝรั่งเศส (ซึ่งเคยยึดครองพื้นที่นี้) จึงเอาถังน้ำมันขนาด 55 แกลลอนมาตั้ง เพื่อเอาไว้บอกเส้นทาง โดยแต่ละถังจะอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลพอดู แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าที่ตาเนื้อจะมองเห็น และไม่ไกลจนความโค้งของโลกจะบดบังความสูงของถังน้ำมันเสียหมด

ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เทรซี่จะเห็นถังน้ำมันเพียงสองถังเท่านั้น คือถังที่เขาเพิ่งขับผ่านมา และถังถัดไป

แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาขับรถข้ามทะเลทรายระยะทาง 800 กิโลเมตรได้อย่างปลอดภัย

ชีวิตคนเราก็เช่นกัน

เวลาเราจะลงมือทำอะไรที่ยิ่งใหญ่หรือต้องใช้เวลานานๆ เราไม่รู้หรอกว่าระหว่างทางจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

แต่อย่างน้อยเราก็พอคิดได้ว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไป (next step) คืออะไร

หน้าที่ของเราคือการมุ่งไปสู่ถังใบต่อไป และเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว เราก็จะเห็นเองว่า ถังที่อยู่ถัดจากนั้นวางอยู่ตรงไหน

การทำงานก็เช่นกัน

ถ้าเนื้องานมันเยอะจนเราเห็นแล้วก็ท้อ ก็จงซอยย่อยงานชิ้นนั้นลง ให้งานแต่ละชิ้นเป็นหมุดหมายเหมือนดังถังน้ำมัน

เมื่อเราวางถังน้ำมันตามรายทางในระยะทางที่เหมาะสม และใช้พลังและสมาธิไปกับการมุ่งสู่ถังน้ำมันถังถัดไป

เราย่อมจะข้ามทะเลทรายอันกว้างใหญ่ได้แน่นอน


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Eat That Frog by Brian Tracy

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

นิทานฝ่ามือ

20170224_palm

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

โมกุเซน ฮิกกิ เป็นพระอาจารย์เซ็นที่อาศัยอยู่ในวัดที่ตำบลทันบา

วันหนึ่งมีศิษย์ของเขามาปรารภให้ท่านฟังเรื่องความขี้เหนียวของภรรยา

โมกุเซนจึงเข้าเยี่ยมภรรยาของชายผู้นั้น กำหมัดแน่นแล้วยื่นกำปั้นไปตรงหน้าของเธอ

“สมมติมือของฉันเป็นแบบนี้ไปตลอด เธอจะเรียกมันว่าอย่างไร”

“พิการ” ภรรยาของชายผู้นั้นตอบ

เขาแบมือเต็มที่ แล้วถามต่อว่า

“แล้วแบบนี้ล่ะ ถ้าเป็นแบบนี้ไปตลอด จะเป็นอย่างไร”

“ก็เป็นความพิการอีกแบบหนึ่ง”

“ถ้าเข้าใจดีแล้ว เธอก็จะเป็นภรรยาที่ดี” โมกุเซนพูดเสร็จก็เดินทางกลับ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นิสัยของนางก็เปลี่ยนไป รู้จักจับจ่ายใช้สอยและรู้จักเก็บออมเงินให้สามีและครอบครัว


ขอบคุณนิทานจากซุโดกุ.ไทย: ปริศนาฝ่ามือ

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com