โลกใบเล็ก
เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว เป็นยุคสิ้นสุดของ Ice Age ครั้งล่าสุด ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก แผ่นดินบางแห่งอย่างแทสมาเนียได้กลายเป็นเกาะที่ถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่อย่างออสเตรเลียโดยสิ้นเชิง
เมื่อไม่มีการติดต่อสื่อสารกัน คนในสมัยนั้นจึงเปรียบเหมือนอยู่ใน “โลกคนละใบ” อย่างแท้จริง เป็นเวลาถึงหมื่นกว่าปีที่ชาวแทสมาเนียไม่เคยรับรู้ความเป็นไปหรือแม้กระทั่งสำเหนียกถึงความมีตัวตนอยู่ของสังคมอื่นๆ และคนในสังคมอื่นก็ไม่เคยรู้ถึงการมีตัวตนของชาวแทสมาเนียเช่นกัน
ถ้านับว่าแทสมาเนียเป็น “โลก 1 ใบ” เมื่อหมื่นปีที่แล้วก็มีโลกใบเล็กๆ อยู่หลายพันใบ (หลายพันสังคมที่อยู่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง) แต่พอเข้าสู่ช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งคนเริ่มมีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น จำนวนโลกก็ลดลงเหลือแค่หลักร้อย และเมื่อถึงปีปีค.ศ.1450 (ก่อนที่ชาวยุโรปจะเริ่มออกเดินทะเล) คน 90% บนโลกใบนี้ก็อยู่บนโลกขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Afro-Asia ซึ่งหมายรวมถึงประชาชนในทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป และทวีปเอเชียทั้งหมด
ส่วนอีก 10% ของประชากรที่เหลือ อยู่ในโลกอีก 4 ใบอันได้แก่
Mesoamerican World – โลกของคนที่อยู่ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง
Andean World – โลกของคนที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้
Australian World – โลกของคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินออสเตรเลีย
Oceanic World – โลกของคนที่อยู่บนเกาะอย่างนิวซีแลนด์ ฮาวาย และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
ภายในเวลา 300 ปี โลก Afro-Asia ก็กลืนกินโลกอื่นๆ เสียสิ้น โดยสเปนเข้าโค่นล้มอาณาจัก Aztec ในอเมริกากลาง ในปี 1521 และ อาณาจักรอินคาในอเมริกาใต้ในปี 1532
ชาวยุโรปเดินทางถึงทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในปี 1606 พอปี 1788 อังกฤษก็เริ่มออกล่าอาณานิคมอย่างจริงจัง และเมื่อปี 1803 ก็ยกพลขึ้นบกที่เกาะแทสมาเนีย ปิดฉากโลกใบเล็กๆ ใบสุดท้ายและทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้โลกใบเดียวกัน
อาหารประจำชาติ?
พอเรานึกถึงอิตาลี เราจะนึกถึงสปาเก็ตตี้ในซอสมะเขือเทศ
นึกถึงอินเดีย ก็จะนึกถึงพริกและเครื่องเทศ
อาร์เจนตินาก็ขึ้นชื่อเรื่องสเต๊กเนื้อวัวที่มีให้เลือกหลายชนิด
และพอพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์ ก็ต้องคิดถึงฟองดูช็อกโกแล็ต
แต่อาหารเหล่านี้ไม่ใช่อาหารท้องถิ่นเลยซักอย่าง
มะเขือเทศ พริก และโกโก้ล้วนแล้วแต่มาจากเม็กซิโก ซึ่งคนยุโรปได้รู้จักอาหารเหล่านี้ตอนที่สเปนโค่นล้มอาณาจักร Aztc และก่อนปี 1500 สเต๊กชนิดเดียวในอาร์เจนตินาก็ทำจากเนื้อลามะ
เราอาจมีภาพจำของชาวอินเดียแดงที่ถือธนูขี่ม้าเพื่อสู้รบกับชาวยุโรปผู้รุกราน แต่การขี่ม้าก็ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอินเดียแดง เพราะก่อนการมาถึงของชาวยุโรป ทวีปอเมริกาไม่เคยมีม้า!
แรงขับเคลื่อนทั้งสาม
โลกค่อยๆ หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร?
ผู้เขียนบอกว่า ในช่วง 3000 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดระเบียบสากล (Universal Order) สามอย่างที่ผลักดันให้คนทั้งโลกเชื่อมโยงกัน
ระเบียบสากลทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ เงินตรา (monetary order)
ระเบียบสากลทางการเมือง นั่นคือ จักรวรรดิ (imperial order)
ระเบียบสากลทางจิตวิญญาณ นั่นคือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
พ่อค้า นักรบ และ ศาสดา คือบุคคลสามกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์และมองเห็นโลกทั้งโลกนี้เป็นหนึ่งเดียวกันได้
พ่อค้ามองว่าคนทั้งโลกเป็นดังตลาดใหญ่ที่พร้อมจะซื้อสินค้าของเขา
นักรบมองว่าแผ่นดินทุกแห่งคืออาณาจักรและคนทุกคนเป็นอาณาประชาราษฎร์
ศาสดามองว่าโลกทั้งโลกล้วนมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว และทุกคนพร้อมเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธา
ในสามตอนต่อจากนี้ เราจะมาเจาะลึกกันว่า ระเบียบสากลแต่ละข้อนั้นได้มีส่วนขับเคลื่อนโลกาภิวัฒน์อย่างไรบ้าง
โดยเราจะเริ่มต้นจาก “ผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” ที่ทำให้คนหันมานับถือและบูชาอย่างถวายหัว
ผู้พิชิตคนนั้นมีชื่อว่า “เงิน”
คนสองคนแม้ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันหรือพระราชาองค์เดียวกัน แต่พวกเขาพร้อมใช้เงินสกุลเดียวกัน
โอซามะ บินลาเดนอาจจะเกลียดวัฒนธรรมของสหรัฐ เกลียดนักการเมืองสหรัฐ แต่เขานิยมชมชอบดอลล่าร์สหรัฐไม่ใช่น้อย
ความเป็นหนึ่งเดียวที่พระผู้เป็นเจ้าและจักรพรรดิไม่อาจมอบให้ได้ แต่เงินกลับทำได้ เป็นเพราะอะไร ต้องติดตามตอนต่อไปครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari
ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่
ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com
Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
หนังสือซีรีย์นี้ตั้งมานานมาก อ่านไม่จบซะที ขอบคุณที่ช่วยย่อยให้อ่านง่ายค่ะ ขออนุญาติแชร์ต่อนะคะ
LikeLike
ขอบคุณมากค่ะที่ แปลให้ได้อ่านกัน อ่านง่าย เนื้อหาสละสลวย เก่งมากค่ะ
LikeLike
Pingback: Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า | Anontawong's Musings
Pingback: Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้ | Anontawong's Musings
Pingback: Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า | Anontawong's Musings
Pingback: Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา | Anontawong's Musings
Pingback: Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ | Anontawong's Musings
Pingback: Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา | Anontawong's Musings