หนังสือ 3 เล่มที่ชอบที่สุดในปี 63

No Rules Rules

ผู้เขียน: Reed Hastings & Erin Myer

อ่านเมื่อ: 27 ก.ย.-14 ต.ค.63

เหมาะกับ: CEO, เจ้าของธุรกิจ และ HR

เหตุผลที่ชอบ: Reed Hastings เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันของ Netflix ส่วน Erin Myer ก็เป็นอาจารย์ MBA ชื่อดังและเคยออกหนังสืออย่าง The Culture Map

วัฒนธรรมของ Netflix โด่งดังในหมู่สตาร์ตอัพมาสักพักแล้ว เหตุผลหนึ่งก็เพราะ The Culture Deck ที่ รี้ด เฮสติ้งส์ อัปโหลดไว้ใน Slideshare ตั้งแต่ปี 2009 และมีคนเข้าไปดูแล้วถึง 20 ล้านครั้ง

หนังสือเล่มนี้เป็นการต่อยอดและลงลึกถึง Culture ของ Netflix โดยมีหลักการใหญ่ๆ สามข้อคือ

  1. Build up Talent Density สร้างความหนาแน่นของคนเก่งในองค์กร
  2. Introduce Candor ให้คนกล้าฟีดแบ็คกันเยอะๆ
  3. Remove Controls ลดกฎระเบียบกติกาหยุมหยิม

ซึ่งสามข้อนี้ต้องมาด้วยกัน จะขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ เมื่อทำได้ดีแล้วก็สามารถยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายบริษัทแทบจะไม่ต้องมีกฎอะไรเลยดังชื่อหนังสือนั่นเอง

ถ้าองค์กรเต็มไปด้วยคนเก่ง แต่ละคนก็จะมีมาตรฐานสูงสำหรับตัวเองและผู้อื่น ดังนั้นจะไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรเหยาะแหยะหรือเสียๆ หายๆ โดยไม่ตักเตือนกัน เมื่อทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองและคอยเป็นกระจกเงาให้กันและกัน กฎกติกาต่างๆ ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป พนักงานจึงมีทั้ง freedom & responsibility ที่จะทำอะไรก็ได้แต่ก็ต้องพร้อมรับผิดชอบผลลัพธ์ที่จะตามมาเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้บอกถึงความเป็นไปได้ อ่านแล้วก็จะต้องคอยถามตัวเองบ่อยๆ ว่า “อย่างนี้ก็ได้เหรอ” เหมือนสมัยที่พี่ตูนเป็นเด็กม.ปลายและได้ดูโมเดิร์นด็อกมาแสดงคอนเสิร์ต พี่ป๊อดร้องเพลงอยู่ดีๆ ก็ลงไปชักดิ้นชักงออยู่กลางเวที มันเป็นการเปิดโลกให้อาทิวราห์ ที่ในกาลต่อมาร้องเพลงอยู่ดีๆ ก็วิ่งไปปีนเสาไฟ

หนังสือ No Rules Rules จะช่วยชี้ให้เห็นกำแพงที่เรามองไม่เห็น เหลือก็แต่ว่าเราจะกล้าเอาไปลองทำจริงๆ แค่ไหน

สิ่งที่คนอ่านต้องระวังคือย่าเคลิ้มเกินไป หญ้าไม่ได้สีเขียวเสียทั้งหมด ลองเข้าไปอ่านรีวิวบริษัทเน็ตฟลิกซ์ใน glassdoor.com ก็จะช่วยให้เรามีมุมมองที่บาลานซ์มากยิ่งขึ้น


ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ

ผู้เขียน: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

อ่านเมื่อ: 4-8 พ.ย.63

เหมาะกับ: นักการเมืองและคนที่สนอกสนใจเรื่องปัญหาบ้านเมือง

เหตุผลที่ชอบ: นี่คือพี่ภิญโญ at his best ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ออกมาเป็นเนื้อเดียวกัน ชั้นเชิงการเล่าเรื่องทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังอ่านนวนิยายชั้นดี พาเราไปสัมผัสกับคนสำคัญและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราคิดว่าเรารู้จักอยู่แล้ว แต่พอได้อ่านจริงๆ ถึงได้รู้ว่าเราไม่ได้รู้อะไรเลย

ในห้วงวิกฤติ การตัดสินใจของคนหนึ่งคนอาจทำให้เขาเป็นรัฐบุรษหรือทรราชเลยก็ได้ เส้นแบ่งบางๆ และทางสองแพร่งเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แม้การตัดสินใจนั้นจะยากลำบากและอาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนบางกลุ่ม แต่พอเวลาผ่านไปคนรุ่นหลังจะมองย้อนกลับไปเห็นอะไรได้อย่างชัดเจน เหมือนสำนวนฝรั่งที่บอกว่า “Hindsight is 20/20”

เมื่อผู้เขียนพาเราย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์ต่างๆ ในวันที่ประเทศไทยต้องประสบกับทางแยก ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้นำตัดสินใจในเวลานั้นเลือกและเหตุผลที่เขาเลือกทางนั้นทำให้เรามีประเทศไทยในวันนี้

ในฐานะคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นประชากรส่วนใหญ่และไม่ได้มีโอกาสเลือกมากนัก เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติ สิ่งที่เราทำได้คือยึดคำพระที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

“ในโลกที่ขมขื่นเช่นนี้ เราจะก่นด่าผู้ใดได้
ในวิกฤติใหญ่ หัวใจแห่งกลยุทธ์
คือการรักษาตัวรอดให้นานที่สุด
เพราะมีแต่มนุษย์ผู้มีชีวิตเท่านั้น
จึงจะดำเนินแผนการต่อไปได้”

บางทีวิกฤติก็ซ้อนวิกฤติ และบางทีวิกฤติใหม่ก็กลบวิกฤติเก่าเสียมิด สองสัปดาห์ที่แล้วเรากำลังบ่นเรื่อง PM 2.5 กลับมาอยู่พอดี แต่พอโควิดระลอกใหม่มา อากาศกลับดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ (วันนี้ค่า PMI ที่บ้านผม แค่ 15 เท่านั้น)


รู้อะไรไม่สู้รู้สึกตัว

ผู้เขียน(ผู้บรรยาย): หลวงพ่อสมบูรณ์ ฉัตตสุวัณโณ

อ่านเมื่อ: 10-30 ธ.ค.63

เหมาะกับ: ผู้สนใจการภาวนา

เหตุผลที่ชอบ: หลวงพ่อสมบูรณ์เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนที่สอนการภาวนาด้วยการขยับมือ

หลวงพ่อเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3 ในวัย 76 ปีแต่ก็กำลังใจดีจนผ่านการทำคีโม 12 ครั้งจนหายขาด

คนที่ประสบกับวิกฤติขนาดนี้ในวัยขนาดนั้นประคองตัวและประคองใจเอาไว้ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่เราควรศึกษา จะได้เตรียมความพร้อมไว้สำหรับอนาคตที่อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้

นี่คือยุคที่เราแสวงหาความมั่นคงทางการเงินกันมากมาย อยากมี passive income อยากมีเงินเก็บ แต่เรากลับละเลยที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมกับความเจ็บไข้ที่จะมาในวัยชรา

หลวงพ่อสมบูรณ์สอนให้รู้กายรู้ใจตลอดเวลา อาศัยดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเรา แต่ต้องเป็นการ “เห็นความรู้สึก” ไม่ใช่ “เรารู้สึก” เพราะถ้า “เรารู้สึก” เราจะยึดว่ามันเป็นตัวเราทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วความรู้สึกต่างๆ ก็เป็นเพียงสภาวะที่ผ่านมาและผ่านไปเท่านั้น

หลวงพ่อสอนให้ภาวนาแบบไม่เคร่งเครียด ถ้าเครียดแปลว่าผิด ให้ทำไปด้วยความสบายๆ ถ้าเมื่อยก็ขยับแข้งขยับขา ถ้าหายใจติดๆ ขัดๆ ก็ยืดอกขึ้น ตั้งตัวให้ตรงขึ้น จะได้หายใจได้สะดวก เวลาเดินก็เดินให้สบาย หาให้เจอว่าเดินยังไงไม่ให้เมื่อย

ถ้าเราสามารถภาวนาด้วยใจที่สบายได้ เราก็จะมีแนวโน้มที่จะอยู่กับมันได้นานขึ้น ทำได้บ่อยขึ้น และมีโอกาสที่จะขัดเกลาจิตใจตนเองได้โดยไม่ต้องลำบากตรากตรำเหมือนภาพจำที่เราเคยมีเกี่ยวกับการปฏิบัติ

ปีใหม่เป้าหมายใหม่อย่าลืมใช้ Trigger

ขึ้นปีใหม่เชื่อว่าหลายคนคงจะมี New Year’s Resolutions

เป้าหมายปีใหม่ยอดฮิต 3 ข้อคงหนีไม่พ้น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายให้มากขึ้น อ่านหนังสือให้มากขึ้น

ความตั้งใจและแรงฮึดเป็นสิ่งที่ดี แต่เชื่อถือไม่ได้ เพราะมันมาแรงและไปเร็ว

สิ่งที่เราจะพึ่งพาได้มากกว่าคืออุปนิสัยที่นำพาเราไปสู่จุดหมายนั้นได้โดยไม่ต้องออกแรงจนเกินไป

ในหนังสือ The Power of Habit ของ Charles Duhigg บอกไว้ว่านิสัยทุกอย่างของเรานั้นมีองค์ประกอบ 3 ข้อด้วยกันคือ Cue, Routine, Reward

Cue ก็คือ Trigger หรือตัวกระตุ้น

Routine คือการกระทำ

Reward คือผลตอบแทนที่ได้มา

ถ้าอยากจะสร้างนิสัยอะไรก็แล้วแต่ ควรต้องมีสามองค์ประกอบนี้ให้ครบ

ซึ่งใน 3 ส่วนนี้ ผมมองว่า trigger สำคัญที่สุด เพราะมันเป็นตัวคอยเตือนใจไม่ให้เราลืมนิสัยนั้น

ถ้าอยากจะซ้อมวิ่งเพื่อไปลงฮาล์ฟมาราธอน เคล็ดลับที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมชุดเอาไว้ให้พร้อมตั้งแต่ตอนกลางคืน ตื่นขึ้นมาตอนเช้าจะได้เปลี่ยนชุดแล้วออกไปวิ่งได้

แต่ถ้าเราคิดเอาว่า เดี๋ยวตื่นเช้าขึ้นมาค่อยเตรียมชุดก็ได้ โอกาสที่เราจะได้ซ้อมวิ่งนั้นจะลดลงอย่างฮวบฮาบ

ถ้าอยากอ่านหนังสือให้มากขึ้น เราต้องพกหนังสือไปด้วยทุกที่ และวางหนังสือเอาไว้ตามจุดต่างๆ ในบ้านเช่นในห้องนั่งเล่นและในห้องน้ำ ที่สำคัญคือต้องวางมือถือไว้ไกลๆ ตัวเพราะถ้าเห็นมือถือมันจะไป trigger ให้เราทำอย่างอื่นแทน

ส่วนเรื่องลดน้ำหนัก ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คืออย่าซื้อของกินอ้วนๆ มาเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะถ้าเปิดเจอยังไงเราก็หยิบมากินอยู่แล้ว หาผลไม้หรือของกินที่ไม่อ้วนมาไว้ใกล้ๆ มือก็จะเป็น trigger ที่ดีกว่า

ไม่ว่าจะอยากสร้างนิสัยอะไรก็ตาม หาให้เจอว่า trigger คืออะไร แล้วออกแบบสภาพแวดล้อมให้เต็มไปด้วย trigger เหล่านั้น

แล้วเราอาจจะทำ New Year’s Resolutions สำเร็จได้ในปีใหม่นี้ครับ

21 ข้อความสำหรับปี 2021

  1. โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนแต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม
  2. คนที่ยอมถูกเอาเปรียบอาจเป็นคนอ่อนแอ หรืออาจเป็นคนมีเมตตาก็ได้
  3. อย่าห่วงว่าตัวเองจะโดนเอาเปรียบ (exploited) ห่วงว่าตัวเองจะหมดความหมายดีกว่า (irrelevance)
  4. ถ้าวางใจให้ถูก ทุกอย่างเป็นคุณกับเราได้เสมอ
  5. อย่าไปกลัว New Normal ให้กลัว Old Normal ที่จะกลับมาเพราะความเคยชินและมักง่าย
  6. โควิดจะระบาดหรือไม่เราก็ควรล้างมือบ่อยๆ อยู่ดี
  7. เมื่อโลกเปลี่ยนผันขนาดนี้ เราต้องหาวิธี pivot ตัวเอง
  8. คนที่ยึดมั่นในความเป็นตัวของตัวเองอาจหมายความว่าเขาไม่ได้โตขึ้นเลย
  9. ความเครียดของเรา 80% มาจากปัญหาแค่ 20% หรือน้อยกว่านั้น
  10. จงเป็นคนใจเย็นที่ทำงานเร็ว
  11. ทำใจให้ลหุตา ถ้าใจไม่เบา เรารับเรื่องหนักๆ ไม่ได้หรอก
  12. เวลาดูคนเก่งอย่าดูแค่สิ่งที่เขาทำ ให้ดูสิ่งที่เขาไม่ทำด้วย
  13. อ่านหนังสือทุกวัน อาสาทำงานยากๆ ไม่มีมีดด้ามไหนที่ลับแล้วไม่คม
  14. ความสำเร็จล้วนเกิดจากความผิดพลาดที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว
  15. จัดวางความสัมพันธ์ของตัวเรากับสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นงาน เงิน คน สิ่งของ หรือการออกกำลังกาย
  16. เราไม่ได้หงุดหงิดเพราะลูกงอแง เราหงุดหงิดเพราะเราอยากให้ลูกไม่งอแง
  17. ลูกจะอยู่กับเราถึงแค่ 10 ขวบเท่านั้น จากนั้นเขาก็ไปอยู่กับเพื่อนๆ แล้ว
  18. สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อจะทำให้ลูกได้คือรักแม่ของเขาให้มากๆ
  19. ฝึกรู้เนื้อรู้ตัวบ่อยๆ แล้วเราจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในห้วงเวลาคับขัน
  20. ปีใหม่ที่กำลังจะมา อย่าลืมถามตัวเองว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ใหญ่ อะไรคือแผนการรายวัน และอะไรเป็นเพียงแค่ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์
  21. 2020 หนักขนาดนี้เราก็ยังผ่านมันมาได้ 2021 จะหนักขนาดไหนเราก็จะผ่านมันไปได้เช่นกัน ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่ง