นิทานภรรยาดีเด่น

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานที่สร้างจากเรื่องจริงกันนะครับ

ในปี 1140 เกิดศึกที่ได้รับการขนานนามว่า “การล้อมไวนส์เบิร์ก” (Siege of Weinsberg) เมื่อพระเจ้าคอนราดที่ 3 ได้ทรงบุกปราสาทไวนส์เบิร์กเพื่อกำราบบรรดาดุ๊กแห่งเวลฟ์และประชาชนบางส่วนที่ลุกขึ้นขัดขืนการขึ้นครองราชย์ของพระองค์

พระเจ้าคอนราดตั้งใจจะจับกบฏทุกคนขังคุกและทำลายไวนส์เบิร์กให้ราบเป็นหน้ากลอง แต่หลังจากอีกฝ่ายประกาศยอมแพ้และขอเจรจาสงบศึก พระเจ้าคอนราดจึงทรงอนุญาตให้เหล่าหญิงสาวและแม่บ้านสามารถออกจากปราสาทไปโดยไม่ต้องรับการลงโทษ และพวกเธอสามารถขนสัมภาระอะไรออกไปก็ได้เพื่อไปตั้งต้นชีวิตใหม่

แทนที่เหล่าแม่บ้านจะขนข้าวของเครื่องใช้ พวกเธอเลือกที่จะแบกสามีขึ้นบนหลังและวิ่งหนีออกจากปราสาทไปแทน

“ทำแบบนี้มันผิดกติกานะพระองค์!” ราชองครักษ์กล่าวทักท้วงกับพระเจ้าคอนราด

พระเจ้าคอนราดจึงตอบไปว่า

“อิสตรีเมืองนี้ช่างเจ้าเล่ห์นัก แต่พระราชาตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ”

เหล่าสามีแห่งไวนส์เบิร์กจึงรอดตัวมาได้ด้วยประการฉะนี้


ขอบคุณนิทานจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ – Wikipedia: Siege of Weinsberg

เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

ผมอ่านเจอประเด็นหนึ่งในหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention ที่เขียนโดย Johann Hari เห็นว่าน่าสนใจดีเลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ประชาชน 60% ในสหรัฐอเมริกามีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า $500 (17,000 บาท) ดังนั้นหากเจอสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่นถูกให้ออกจากงาน หรือรถเสียโดยไม่มีประกัน พวกเขาจะตกที่นั่งลำบากทันที

Hari อยากเข้าใจว่าการที่เรามีความกังวลเรื่องการเงินนั้นมันส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนรึเปล่า – what happens to your ability to think clearly when you become more financially stressed?

เขาได้พบงานวิจัยของศาสตราจารย์ Sendhil Mullainathan ที่สอนวิชา computational science ในมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ไปศึกษาคนงานตัดอ้อยในอินเดียในฤดูเก็บเกี่ยว

ทีมวิจัยทดสอบ IQ ของคนงานก่อนตัดอ้อย (ซึ่งตอนนั้นกำลังถังแตก) แล้วพอพวกเขาตัดอ้อยเสร็จ ได้เงินค่าจ้างมาแล้ว ก็ทำการทดสอบ IQ กันอีกรอบ

ผลปรากฎว่า IQ ของคนงานตัดอ้อยหลังจากที่มีเงินในกระเป๋านั้น มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า IQ ที่วัดได้ก่อนตัดอ้อยถึง 13 คะแนน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เยอะพอสมควร

ใครหลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลาที่ขัดสนด้านการเงิน คงจะพอนึกออกว่าสภาพจิตใจของเราตอนนั้นเป็นเช่นไร กังวล หงุดหงิดง่าย เจอปัญหาอะไรหน่อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเสียหมด จะให้คิดอะไรได้อย่างมีสติสัมปชัญญะตอนที่เราเครียดเรื่องเงินๆ ทองๆ นั้นเป็นเรื่องท้าทายมาก

พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เวลาที่เราถังแตก เรามักจะโง่ลงนั่นเอง

ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้น สังคมไหนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็อาจอนุมานได้ว่า IQ โดยรวมของคนในสังคมนั้นอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็นครับ


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention by Johann Hari

To-Do List 3 มิติ

วันก่อน James Clear ผู้เขียน Atomic Habits แชร์เรื่องการทำ to-do list ของนักเขียนที่ชื่อ Jenée Desmond-Harris

เจเน่ (@jdesmondharris) เคยทวีตไว้ว่า

“ฉันลองแบ่ง to-do list ออกเป็น

1) สิ่งที่ฉันต้องทำ

2) สิ่งที่ฉันอยากทำ

3) สิ่งที่คนอื่นอยากให้ฉันทำ

มันเปลี่ยนชีวิตฉันเลยนะ! หลายครั้งฉันก็ทำไปไม่ถึงส่วนที่ 3 หรอก แล้วฉันก็เลยเข้าใจว่า อ๋อ การไม่ให้คนอื่นล้ำเส้นมันเป็นอย่างนี้เองสินะ”

ผมเคยเห็นแต่การแบ่ง to-do list ตามความสำคัญ/เร่งด่วน/โปรเจ็ค/ธรรมชาติของเนื้องาน แต่ยังไม่เคยเห็นการแบ่ง to-do list ในสามมิติแบบนี้

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะติดใจกับประโยคสุดท้าย ว่าการทำไม่ถึงส่วนที่ 3 – สิ่งที่คนอื่นอยากให้เราทำ มันถูกต้องและทำได้จริงหรือ ผมเลยลองไปตามอ่านใน replies ของ Twitter ที่เขาคุยกันต่อ

@jdesmondharris:

“คุณคงเคยได้ยินกันมาว่าเราจำเป็นต้องขีดเส้นให้ตัวเอง ฉันเคยคิดว่ามันหมายถึงการที่เรา say no และบอกคนอื่นว่าอย่ามายุ่ง แต่บางทีมันอาจจะหมายความว่าเราก็แค่ทำเรื่องของเราอย่างเมามันเท่านั้นเอง”

@ok_post_guy มาคอมเมนต์ว่า:

“ความยากอยู่ที่การสื่อสารกับคนที่ขอให้เราทำและมันไปตกอยู่ในข้อ 3 โดยเฉพาะถ้าเราเป็นคนที่ชอบพลีสคนอื่นและชอบรับปากอะไรเกินตัว มันแย่เหมือนกันนะที่ความตั้งใจดีของเรามักสร้างปัญหา”

@jdesmondharris:

“ใช่เลย แต่สุดท้ายฉันก็ตัดสินใจว่าฉันจะเลิกพลีสคนอื่น แล้วก็แบกรับกับความรู้สึกไม่สบายใจนั้นเอาไว้ ดีกว่าที่ฉันจะไม่มีเวลาทำสิ่งที่ฉันรักเลย เพราะการไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำนั้นมันรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเสียอีก”

@ok_post_guy

“และส่วนใหญ่แล้ว การปฏิเสธคนก็ไม่ได้รู้สึกแย่อย่างที่เรากลัวด้วย คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าเวลาเขาขอให้เราทำอะไร ก็ย่อมต้องได้รับการปฏิเสธบ้างอยู่แล้ว และถ้าเราปฏิเสธทันทีตอนที่เขาขอ อย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีเวลาไปขอคนอื่นที่พร้อมจะช่วยเหลือได้”


ส่วนตัวผมเห็นว่า ข้อ 2) สิ่งที่ฉันอยากทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องส่วนตัวเสมอไป มันเป็นเรื่องงานได้เช่นกัน อาจจะเป็นงานที่สอดคล้องกับ KPI หรือ OKR ของเราหรือเป็นงานที่เราทำแล้วได้ใช้ทักษะและความสามารถของเราอย่างเต็มที่

อีกข้อควรระวังก็คือ Jenée เป็นนักเขียน ดังนั้น ข้อ 3) สิ่งที่คนอื่นอยากให้ฉันทำ อาจไม่ได้มีความเข้มข้นสำหรับเขาเท่าพนักงานประจำ ที่ต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือแผนกอื่น แม้ว่าเราจะไม่ค่อยอยากทำก็ตามที

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก James Clear และจาก Twitter ของ Jenée Desmond-Harris

คันปากในความดีของตัวเอง คันปากในความชั่วของคนอื่น

เคยมั้ยครับ เวลาตัวเองทำดีแล้วรู้สึกคันปาก อยากประกาศให้โลกรู้

ทำดีในที่นี้อาจจะเป็นการทำสิ่งที่ดี หรือทำสิ่งที่ดูดีก็ได้

เช่นได้ช่วยเหลือคน (ทำสิ่งที่ดี) หรือได้ออกรถใหม่ (ทำสิ่งที่ดูดี)

เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ มันก็ยากอยู่เหมือนกันที่จะเก็บไว้คนเดียว รู้สึกว่าคันยุบยิบต้องระบายให้ใครฟัง สมัยก่อนก็เล่าให้คนข้างๆ สมัยนี้ก็เล่าขึ้นเฟซหรือสตอรี่

แต่ความคันปากไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้

เราจะคันปากมากๆ เวลาเห็นความชั่วของคนอื่น

“ชั่ว” ในที่นี้ก็กินความหมายกว้างเหมือนกัน เช่นเห็นเขาทำร้ายใคร (ทำสิ่งที่ไม่ดี) หรือเห็นเขาออกมาพูดเรื่องที่ไม่ฉลาด (ทำสิ่งที่ดูไม่ดี)

เวลาเกิดเหตุการณ์ที่เป็นกระแสเช่นนี้ เราจะแปลงร่างจากคนธรรมดาเป็น “ชาวเน็ต” ที่รุมสหบาทาจำเลยสังคมโดยไม่รีรอ

ซึ่งก็น่าสนใจว่า สรุปแล้ว “ความคันปาก” นี้เกิดจากอะไรกันแน่

ไม่น่าจะเกิดเพราะความดี-ความชั่วในตัวบุคคลหรือตัวเหตุการณ์

เพราะเวลาเราเห็นคนอื่นทำดี เราไม่ค่อยคันปากเท่าตอนที่เราทำดี

และตอนที่เราเองทำชั่ว ความคันปากยิ่งน้อยกว่าตอนคนอื่นทำชั่วอย่างลิบลับ

เช่นนั้นอะไรกันคือปัจจัยสำคัญของการคันปาก?

ผมคิดเล่นๆ ว่าอาการคันทั้งหลาย มันมีจุดเริ่มต้นมากจาก “คันใจ”

และใจเราจะคันก็ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เราเห็นว่า “มีโอกาสจะอยู่สูงกว่าผู้อื่น”

เมื่อเราทำดี เรารู้สึกว่ามีโอกาสอยู่สูงกว่าคนอื่น เราก็เลยต้องหาทางดันตัวเองให้สูงขึ้นด้วยการประกาศความดีงามของตน

เมื่อเราเห็นคนอื่นทำชั่ว เรารู้สึกว่ามีโอกาสกดคนอื่นให้ต่ำกว่า เราก็เลยประณามความเลวร้ายที่อยู่นอกตัวเรา

คันปากในความดีของตัวเอง คันปากในความชั่วของคนอื่น

ก่อนจะพูดจะพิมพ์อะไรออกไป มองให้เห็นอาการคันใจของตัวเองบ่อยๆ นะครับ

เมื่อเราอยากเป็นคนพิเศษ เราจะเป็นแค่คนธรรมดา

เมื่อเรายินดีที่จะเป็นคนธรรมดา เมื่อนั้นเราคือคนพิเศษ

ผมอ่านเจอประโยคประมาณนี้จากหนังสือเล่มหนึ่งของคุณพศิน อินทรวงค์ ต้องขออภัยว่าจำไม่ได้ว่าเล่มไหน คำพูดเลยอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง

โลกของเราเต็มไปด้วยผู้คนที่อยากจะเป็น somebody อยากจะมีตัวตน อยากจะมีที่ทาง อยากจะพูดอะไรออกไปแล้วมีคนมาเห็นด้วยและชื่นชม ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ตอบโจทย์สัญชาตญาณนี้ได้ดียิ่งกว่าเครื่องมือไหนๆ

แต่ยิ่งเราอยากเป็นคนพิเศษมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งกลายเป็นคนธรรมดามากขึ้นเท่านั้น เพราะนี่คือวิถีที่คนส่วนใหญ่ล้วนเป็นกัน

แต่คนที่ไม่ได้อยากจะเป็น somebody นี่สิน่าสนใจและน่าศึกษา

โดยเฉพาะคนที่เคยเป็น somebody มาก่อนและไม่รังเกียจการกลับไปเป็น nobody

เพราะเมื่อเราประสบความสำเร็จ พร้อมไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โอกาสที่จะติดใจในโลกธรรมนั้นมีสูงมาก

คนที่สละสิ่งเหล่านี้ได้ แสดงว่าเขาเข้าใจอะไรบางอย่าง มองเห็นความไร้สาระของเป้าหมายที่หลายคนพยายามไขว่คว้า และพร้อมจากตรงนั้นมาโดยไม่แคร์ว่าใครจะมองอย่างไร

ดังนั้น อย่ามั่นใจอะไรเกินไปนัก เพราะที่ๆ เรากำลังมุ่งไป คือที่ที่คนที่เรานับถือไม่ได้ใส่ใจ หรือเคยไปถึงแล้วก็เลือกที่จะเดินจากมา

เมื่อเราอยากเป็นคนพิเศษ เราจะเป็นแค่คนธรรมดา

เมื่อเรายินดีกับการเป็นคนธรรมดา เมื่อนั้นเราจะกลายเป็นคนพิเศษครับ