เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

ผมอ่านเจอประเด็นหนึ่งในหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention ที่เขียนโดย Johann Hari เห็นว่าน่าสนใจดีเลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ประชาชน 60% ในสหรัฐอเมริกามีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า $500 (17,000 บาท) ดังนั้นหากเจอสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่นถูกให้ออกจากงาน หรือรถเสียโดยไม่มีประกัน พวกเขาจะตกที่นั่งลำบากทันที

Hari อยากเข้าใจว่าการที่เรามีความกังวลเรื่องการเงินนั้นมันส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนรึเปล่า – what happens to your ability to think clearly when you become more financially stressed?

เขาได้พบงานวิจัยของศาสตราจารย์ Sendhil Mullainathan ที่สอนวิชา computational science ในมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ไปศึกษาคนงานตัดอ้อยในอินเดียในฤดูเก็บเกี่ยว

ทีมวิจัยทดสอบ IQ ของคนงานก่อนตัดอ้อย (ซึ่งตอนนั้นกำลังถังแตก) แล้วพอพวกเขาตัดอ้อยเสร็จ ได้เงินค่าจ้างมาแล้ว ก็ทำการทดสอบ IQ กันอีกรอบ

ผลปรากฎว่า IQ ของคนงานตัดอ้อยหลังจากที่มีเงินในกระเป๋านั้น มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า IQ ที่วัดได้ก่อนตัดอ้อยถึง 13 คะแนน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เยอะพอสมควร

ใครหลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลาที่ขัดสนด้านการเงิน คงจะพอนึกออกว่าสภาพจิตใจของเราตอนนั้นเป็นเช่นไร กังวล หงุดหงิดง่าย เจอปัญหาอะไรหน่อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเสียหมด จะให้คิดอะไรได้อย่างมีสติสัมปชัญญะตอนที่เราเครียดเรื่องเงินๆ ทองๆ นั้นเป็นเรื่องท้าทายมาก

พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เวลาที่เราถังแตก เรามักจะโง่ลงนั่นเอง

ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้น สังคมไหนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็อาจอนุมานได้ว่า IQ โดยรวมของคนในสังคมนั้นอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็นครับ


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention by Johann Hari