วิกฤติรถม้า

20190331_horsemanure

ใครที่เคยไปเที่ยวยุโรปอาจเคยย้อมเสียตังค์เพื่อได้ขึ้นไปนั่งรถม้าชมเมือง

คงเป็นประสบการณ์ที่ชวนให้เราย้อนยุคกลับไปสมัยเก่าก่อน ที่คนยังเดินทางด้วยสัตว์อันสง่างามอย่างม้าอาชาไนย ไม่มีควันพิษที่ออกมาจากท่อไอเสียอย่างสมัยนี้

แต่ภาพที่เราคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันก็ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป

เมื่อก่อนปี ค.ศ.1900 ลอนดอนใช้ม้าถึง 50,000 ตัวสำหรับการสัญจรของคนในเมือง

ปัญหาก็คือม้าพวกนี้วิ่งไปถ่ายไป ม้าตัวนึงอุจจาระวันละประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งนั่นแปลว่ามีขี้ม้าถึงวันละห้าแสนกิโลกรัมถูกถ่ายเรี่ยราดไว้ตามท้องถนนในลอนดอน ส่วนที่นิวยอร์คที่มีม้า 100,000 ตัวก็จะมีขี้ม้าถึงวันละ 1 ล้านกิโลกรัม

ม้าพวกนี้ยังมีอายุขัยค่อนข้างต่ำคือ 3 ปีเท่านั้น จึงมีม้าที่หมดแรงตายตามท้องถนนเต็มไปหมด ศพม้ามักจะถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยเสียก่อนเพื่อจะได้จัดเก็บได้ง่าย

ลองคิดสภาพดูว่าท้องถนนที่เต็มไปด้วยขี้ม้าและศพม้านั้นจะมีกลิ่นอบอวลเพียงใด

แย่ไปกว่ากลิ่นคือการที่มันเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดีให้แมลงวันและสัตว์ที่เป็นพาหะต่างๆ มาซ่องสุมและกระจายเชื้อร้ายอย่างไทฟอยด์และอหิวา

ในปี 1894 ปัญหาขี้ม้าเป็นวิกฤติที่หนักหนาสาหัสในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก หนังสือพิมพ์ The Times ถึงกับทำนายว่า อีกไม่เกิน 50 ปี ถนนทุกสายในลอนดอนจะจมอยู่ในกองขี้ม้าลึก 3 เมตร!

เหตุการณ์นี้ได้รับการขนานนามว่า ‘The Great Horse Manure Crisis of 1894’ – วิกฤติขี้ม้าครั้งใหญ่แห่งปี 1894

วิกฤตินี้นำไปสู่การประชุมการวางแผนผังเมืองนานาชาติครั้งแรกในปี 1898 ซึ่งตอนแรกจะใช้เวลา 10 วัน แต่พอผ่านไป 3 วันการประชุมนี้ก็ต้องยุติลงเพราะไม่มีใครคิดหาทางออกให้กับปัญหาขี้ม้านี้ได้

แต่แล้วแสงสว่างปลายอุโมงค์ก็มาถึงอย่างไม่มีใครคาดคิด

ในปีค.ศ. 1903 ณ เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา นายเฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ได้ก่อตั้งบริษัท Ford Motor Company และคิดค้นระบบสายพานการผลิต (assembly line) ที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตรถถูกลงอย่างมหาศาล

ในปี 1908 ฟอร์ดผลิตรถรุ่น Model T ที่ดิบขายดีไปทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป แถมยังมีราคาถูกลงทุกปี จนสุดท้ายคนก็หันมาซื้อรถยนต์เพราะราคาถูกกว่าและดูแลง่ายกว่าการใช้รถม้า

ภายในปี 1917 รถม้าก็หมดไปจากท้องถนนในนิวยอร์ค และเหตุการณ์คล้ายๆ กันก็เกิดขึ้นในลอนดอนและเมืองใหญ่ต่างๆ ที่เคยใช้รถม้ามาก่อน

วิกฤติบางอย่างอาจจะมีทางออกที่เรานึกไม่ถึง

อ่านเรื่องนี้แล้วอาจช่วยให้เราพอจะมีความหวังกับวิกฤติฝุ่น PM2.5 และภาวะโลกร้อนได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก Historic UK, Business Horsepower, Wikipedia

เปิดรับสมัคร Writing Workshop รุ่นที่ 3 เรียนวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 9:00-12:00 (เหลือ 8 ที่นั่ง) อ่านรายละเอียดได้ที่ https://anontawong.com/2017/12/03/writing-workshop

อยากเป็นคนถูกหรืออยากเป็นคนมีความสุข

20190330_rightorhappy

เพราะสองอย่างนี้บางทีก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์อันใกล้ชิด

เมื่อเราทะเลาะกับแฟน ทะเลาะกับแม่ หรือทะเลาะกับลูก ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองถูก และหากไม่มีใครลดราวาศอก การทะเลาะกันคราวนั้นก็จะสร้าง “คนถูก” ขึ้นมาสองคน และสร้าง “คนทุกข์” แถมให้อีกสองคนด้วย

แต่หากมีใครสักคนระลึกได้ว่าความสัมพันธ์สำคัญกว่าการเป็นฝ่ายถูก เขาก็อาจหยุดเถียง หรือเลือกที่จะประณีประนอมมากกว่าจะใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน

เวลาเราทะเลาะกันเรื่องการเมืองหรือเรื่องศาสนา ศาสดาและนักการเมืองที่เรายึดมั่นไม่ได้มารับรู้ด้วยซักนิด

อย่าทะเลาะกันเรื่องคนอื่นจนคนกันเองมองหน้ากันไม่ติดเลยนะครับ

—–

เปิดรับสมัคร Writing Workshop รุ่นที่ 3 เรียนวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 9:00-12:00 (เหลือ 8 ที่นั่ง) อ่านรายละเอียดได้ที่ https://anontawong.com/2017/12/03/writing-workshop

นิทานกล้วยไม้

20190329_orchid

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

มีพระอาจารย์คนหนึ่งชอบดอกกล้วยไม้มาก ที่วัดปลูกกล้วยไม้เป็นร้อยๆ ชนิด ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กล้วยไม้เป็นชีวิตของอาจารย์

วันหนึ่งอาจารย์มีธุระต้องออกไปข้างนอก อาจารย์สั่งให้ลูกศิษย์รดน้ำให้กล้วยไม้ แต่ลูกศิษย์ไม่ได้ระวัง ทำกระถางตกพื้น ทำให้กล้วยไม้ต้นหนึ่งตายไป

ลูกศิษย์วิตก ถ้าอาจารย์กลับมาเห็น ตนต้องแย่แน่ๆ

เมื่ออาจารย์กลับมา ได้รับรู้เรื่องราว กลับไม่โกรธลูกศิษย์

“อาตมาชอบปลูกกล้วยไม้เพราะใช้มาทำบุญ อีกหนึ่งทำให้สิ่งแวดล้อมของวัดดีขึ้น ไม่ใช่ปลูกมาเพื่อโกรธ”


ขอบคุณนิทานจากเพจนิทานเซน

โน๊ตดนตรียังต้องมีตัวหยุด

20190328_rest

หนึ่งในเทคนิคการทำงานที่มีประสิทธิผลที่สุด คือเทคนิคที่เรียกว่า pomodoro

หลักการคือทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที

ตอนทำงาน 25 นาที ก็ทำให้เต็มที่ เหมือนวิ่ง 100 เมตรที่อัดแน่นไปด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจ

แต่เมื่อทำครบ 25 นาทีแล้ว ให้ไปพัก 5 นาที

งาน 25 พัก 5 งาน 25 พัก 5 สลับกันไปเรื่อยๆ ทำได้ซัก 4 รอบแล้วค่อยพักยาวๆ

ด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราทำงานอย่างมีโฟกัสและรักษาแรงไว้ได้ตลอดทั้งวัน ไม่หมดก๊อกไปเสียก่อน

—–

ใครที่เคยเห็นโน๊ตเพลงตามรูปด้านบน น่าจะพอคุ้นเคยกับกุญแจซอล ขีดห้าเส้น และตัวโน๊ตสีดำๆ ขาวๆ ที่แซมอยู่บนบรรทัดเหล่านั้น

ตัวดำๆ ขาวๆ แต่ละตัวจะบอกว่าโน๊ตที่ต้องเล่นมีอะไรบ้าง โด เร มี อะไรก็ว่ากันไป

แต่สิ่งที่คนที่ไม่ได้เรียนดนตรีอาจไม่รู้ก็คือนอกจากตัวโน๊ตที่บอกว่าต้องเล่นอะไร มันยังมี “ตัวหยุด” (rest) ที่บอกว่าต้องหยุดเล่นเมื่อไหร่ และหยุดนานแค่ไหนด้วย

ตรงไหนมีตัวหยุด ตรงนั้นไม่มีเสียงดนตรี

เป็นความเงียบ เป็นช่องว่าง เป็นพื้นที่ให้หายใจ

ตัวหยุดเหมือนเป็นพระรอง แม้เหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันก็ทำให้ตัวโน๊ตซึ่งเป็นพระเอกโดดเด่นขึ้น

—–

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมได้ดูหนังชื่อ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่กำกับโดยหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) นำแสดงโดยคุณบี๋ ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ คุณอนันดา เอเวอริ่งแฮม และคุณพลอย เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์

คุณบี๋เล่นเป็น “พะโป้” มหาเศรษฐีหม้ายชาวพม่าผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชั้นสูง

คุณอนันดาเล่นเป็น “ส่างหม่อง” หลานของพะโป้

คุณพลอยเล่นเป็น “ยุพดี” ภรรยาใหม่ของพะโป้

ส่างหม่องกับยุพดีลอบเป็นชู้กัน พะโป้จับได้จึงลงโทษด้วยการล่ามโซ่ข้อมือให้ส่างหม่องกับยุพดีตัวติดกัน

ตอนแรกส่างหม่องกับยุพดีก็ดีใจ นึกว่าจะโดนลงโทษหนัก กลับกลายเป็นว่าได้อยู่กันใกล้ชิดกว่าเดิม ไม่ต้องลักๆ ลอบๆ อีกต่อไป

แต่เมื่อต้องอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน ความรำคาญก็เริ่มตามมา เพราะแต่ละคนมีพื้นเพไม่เหมือนกัน วิถีชีวิตไม่เหมือนกัน รสนิยมไม่เหมือนกัน จึงเริ่มมีปากมีเสียงและทะเลาะกันหนักขึ้นเรื่อยๆ

แม้กระทั่งตอนที่ยุพดีเสียชีวิตแล้ว พะโป้ก็ยังไม่ยินยอมให้ส่างหม่องถอดกุญแจมือ เรื่องราวตอนจบจึงกลายเป็นโศกนาฎกรรม

—–

เมื่อมองไปรอบๆ ตัว เรามักจะเห็นสรรพสิ่ง

สิ่งที่เรามองแต่มักไม่เห็นก็คือพื้นที่ว่าง

เรามองเห็นหน้าจอมือถือ แต่เรามองไม่เห็นพื้นที่ว่างระหว่างเรากับมือถือ

เรามองเห็นต้นไม้ แต่เรามองไม่เห็นพื้นที่ว่างระหว่างเรากับต้นไม้

เรามองเห็นดวงดาว แต่เรามองไม่เห็นพื้นที่ว่างระหว่างเรากับดวงดาว

พื้นที่ว่างมีอยู่ในทุกภาคส่วนของชีวิต และเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าที่คิด เพราะถ้าจักรวาลนี้ไม่มีพื้นที่ว่าง เราก็คงไม่อาจมองเห็นและไม่อาจทำอะไรได้เลย

เมื่อพื้นที่ว่างคือองค์ประกอบสำคัญ เราจึงไม่ควรละเลยที่จะมีพื้นที่ว่างให้ชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเล่นดนตรี หรือความสัมพันธ์

ถ้าทำงานโดยไม่พัก สุดท้ายก็หมดแรง

ถ้าเล่นดนตรีโดยไม่มีโน๊ตหยุด เพลงนี้อาจไม่เพราะเท่าที่ควร

และถ้ามีความสัมพันธ์โดยไม่มีพื้นที่ว่างให้กัน หนังเรื่องนี้ก็อาจไม่มี happy ending ครับ

—–

ป.ล. ผมกำลังจะเปิด Writing Workshop รุ่นที่ 3 วันเสาร์ที่ 20 เมษายนนี้ ติดตามข่าวได้ทางเพจ Anontawong’s Musings นะครับ

ถ้าไม่อาจฉลองความสำเร็จ

20190326_celebrate

ให้ฉลองการกระทำ

หลายครั้งที่ลงแรงไปมากมาย แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่มุ่งหวัง

ผลลัพธ์ก็คือผลลัพธ์ ให้จมจ่อมยังไงก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

แต่อย่างน้อยถ้ารู้ตัวว่าเราทำเต็มที่แล้ว และสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามที่ควรจะเป็นแล้ว ก็อย่าลืมตบไหล่ให้กำลังใจตัวเองบ้าง

เพราะความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดิน

ในเวลาที่ฟ้ายังไม่เปิด ดีที่สุดคือหยุดพักให้หายเหนื่อย แล้วค่อยเริ่มใหม่อีกครั้งเท่านั้นเอง