“สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง” – Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens

เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา TED ได้สัมภาษณ์ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind เกี่ยวกับมุมมองที่เขามีต่อสงครามยูเครนในตอนนี้

หากใครอยากฟังยูวาลเต็มๆ ก็เข้ายูทูบแล้วค้นหา The War in Ukraine Could Change Everything ได้เลย

ส่วนผมเองได้แปลบางช่วงตอนมาฝากไว้ตรงนี้ครับ [ส่วนที่ผมขยายความ จะใส่ไว้ในวงเล็บสี่เหลี่ยมแบบนี้นะครับ]

.

[ถาม] อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับยูเครนเพื่อจะได้เข้าใจว่าสงครามครั้งนี้มีเดิมพันอะไรบ้าง?

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้ก็คือชาวยูเครนไม่ใช่ชาวรัสเซีย และยูเครนคือประเทศอธิปไตยที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ยูเครนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี เคียฟ [Kyiv เมืองหลวงของยูเครน] เป็นมหานครและศูนย์กลางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนที่มอสโกยังไม่ได้เป็นหมู่บ้านด้วยซ้ำ

ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคียฟไม่ได้อยู่ในการปกครองของมอสโก เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เคียฟมีสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและเป็นสหภาพเดียวกับลิทูเนียและโปแลนด์ก่อนจะถูกยึดครองโดยอาณาจักรซาร์ของรัสเซีย

แต่ความเป็นชนชาติของยูเครนก็ยังคงอยู่ตลอดมา และเราจำเป็นต้องเข้าใจประเด็นนี้ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่เป็นเดิมพันในสงครามครั้งนี้

ประเด็นสำคัญของการทำสงคราม อย่างน้อยก็ในมุมของปูติน คือยูเครนเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่ายูเครนเป็น “ประเทศ” รึเปล่า เพราะปูตินมีจินตภาพ (fantasy) ว่ายูเครนไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัสเซีย และชาวยูเครนก็คือชาวรัสเซีย

ในจินตภาพของปูติน ชาวยูเครนอยากกลับสู่อ้อมอกแม่ที่มีนามว่ารัสเซีย และอุปสรรคเพียงอย่างเดียวก็คือแก๊งค์เล็กๆ ที่กุมอำนาจสูงสุดของที่ปูตินสร้างภาพว่าเป็นพวกนาซี ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีของยูเครนนั้นเป็นยิว…คนยิวที่เป็นนาซี…เอาอย่างนั้นก็ได้

และสิ่งที่ปูตินเชื่อก็คือ ถ้าเพียงรัสเซียบุกเข้ายูเครน เซเลนสกี้ [ประธานาธิบดีของยูเครน] ก็จะลี้ภัย รัฐบาลจะล้ม ทหารจะวางอาวุธ และชาวยูเครนจะโปรยดอกไม้ให้เหล่าทหารรัสเซียผู้มาปลดแอก

แต่จินตภาพนั้นก็ถูกทำลายลงไปเรียบร้อย เซเลนสกี้ไม่ได้หนีไปไหน กองทัพยูเครนยังคงสู้รบ และชาวยูเครนไม่ได้โปรยดอกไม้ให้รถถังของรัสเซีย แต่ปาระเบิดขวดให้แทน

.

[ถาม] ในหนังสือเล่มล่าสุดที่คุณเขียน [21 Lessons for the 21st Century] คุณบอกว่ารัสเซียไม่ได้ถูกนำทางด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง มันเป็นเพียงการรวบอำนาจและความมั่งคั่งไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่ดูจากสิ่งที่ปูตินทำกับยูเครนแล้ว เหมือนเขากำลังใช้อุดมการณ์การสร้างอาณาจักรรัสเซีย ด้วยการปฏิเสธความมีตัวตนของประเทศยูเครน อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปใน 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่คุณเขียนหนังสือเล่มนั้น?

ความฝันในการสร้างจักรวรรดินั้นมีมาโดยตลอด แต่คุณก็รู้ว่าจักรวรรดินั้นถูกสร้างโดยแก๊งค์ของคนไม่กี่คนที่กุมอำนาจสูงสุด ผมไม่คิดว่าประชาชนชาวรัสเซียสนใจอยากทำสงครามนี้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาอยากจะยึดครองยูเครน หรืออยากจะเข่นฆ่าประชาชนในเคียฟ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนมาจากกลุ่มผู้นำสูงสุดเท่านั้น

เมื่อเปรียบกับตอนที่เป็นสหภาพโซเวียต อย่างน้อยตอนนั้นก็มีอุดมการณ์บางอย่างที่ผู้คนในสหภาพยึดถือร่วมกัน แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว

คุณก็รู้ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากร แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เพราะอำนาจและความมั่งคั่งถูกดูดไปที่ส่วนบนหมดเลย

นี่จึงเป็นสภาพการณ์ที่ไม่ต่างจากจักรวรรดิภายใต้จักรพรรดิที่กุมอำนาจประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พูดว่า “เฮ่ย แค่นี้มันไม่พอนะ ข้ายังต้องการมากกว่านี้” ว่าแล้วก็เลยส่งกองทัพมาเพื่อขยายอาณาจักร

.

[ถาม] เมื่อวานนี้คุณเขียนบทความลง The Guardian ว่า เหตุใดปูตินจึงแพ้สงครามครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยขยายความหน่อย

เพื่อความชัดเจน ผมไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะแพ้ในทันที ปูตินมีกองทัพที่สามารถยึดครองเคียฟได้ และเผลอๆ จะยึดครองยูเครนทั้งประเทศได้ แต่เป้าหมายระยะยาวของปูตินคือการปฏิเสธความเป็นชาติของยูเครน และผนวกยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งหากจะทำอย่างนั้น แค่ยึดครองเคียฟยังไม่พอ แต่ต้องรักษาเคียฟเอาไว้ให้ได้ด้วย

ซึ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนจินตภาพหรือการเดิมพันที่ว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย หรือแม้กระทั่งยินดีกับการกระทำของรัสเซีย แต่ตอนนี้เราก็ได้รู้แล้วว่ามันไม่จริง ชาวยูเครนเป็นชนชาติที่หวงแหนเอกราชของตัวเองมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และพวกเขาพร้อมจะสู้ตาย

คุณอาจจะยึดครองประเทศได้ แต่อย่างที่รัสเซียได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถาน และอย่างที่อเมริกาได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถานและอิรัก การยึดครองนั้นง่ายกว่าการรักษาประเทศเอาไว้มากนัก

ก่อนสงครามจะเริ่ม เรารู้อะไรหลายอย่างอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ากองทัพของรัสเซียนั้นแข็งแกร่งกว่ากองทัพของยูเครนหลายเท่า ทุกคนรู้ว่านาโต้ (NATO) จะไม่ส่งกองกำลังมาในยูเครน ทุกคนรู้ว่าอเมริกาและยุโรปจะไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงเกินไปเพราะมันจะส่งเสียต่อตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในแผนสงครามของปูติน

มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่มีใครแน่ใจ ก็คือชาวยูเครนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร มันยังมีความเป็นไปได้ที่จินตภาพของปูตินจะเกิดขึ้นจริง เมื่อรัสเซียบุกเข้ามา เซเลนสกี้อาจจะหนี กองทัพยูเครนอาจจะล่ม และชาวยูเครนอาจจะปล่อยเลยตามเลย

แต่ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามันเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ ชาวยูเครนกำลังสู้และจะสู้ต่อไป และความจริงข้อนี้ก็ลดความชอบธรรมในการทำสงครามของปูติน เพราะแม้คุณจะเอาชนะได้ แต่คุณไม่สามารถจะผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้

สิ่งเดียวที่ปูตินจะบรรลุคือการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความแค้นในใจของชาวยูเครน แต่ละศพของชาวยูเครนที่ต้องสังเวยในสงครามคือเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่จะคงอยู่ไปอีกหลายชั่วอายุคน

ก่อนเกิดสงคราม ชาวยูเครนกับชาวรัสเซียไม่ได้โกรธเกลียดกัน พวกเขาคือบ้านพี่เมืองน้อง แต่ปูตินกำลังทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศัตรู และถ้าปูตินยังไม่หยุด นี่จะกลายเป็นมรดกบาปของเขา

ผมอยากให้สงครามคราวนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพราะหากมันไม่จบ คนที่เดือดร้อนจะไม่ใช่แค่ยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น ทุกคน ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย

.

[ถาม] ช่วยขยายความหน่อยว่าเพราะอะไร

ขอเริ่มจาก “บรรทัดสุดท้าย” ก็แล้วกัน นั่นก็คือเรื่องงบประมาณ พวกเราได้อยู่ในช่วงเวลาที่โลกสงบสุขอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในยุโรปงบประมาณกลาโหมนั้นเป็นเพียง 3% ของงบประมาณทั้งหมด นี่แทบจะเป็นปาฎิหาริย์ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา งบประมาณ 50%-80% ของจักรพรรรดิและสุลต่านนั้นถูกใช้ไปกับการสงครามและการเลี้ยงกองทัพ แต่ตอนนี้ในยุโรปใช้งบประมาณแค่ 3% เท่านั้น ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ฝากเช็คข้อมูลนี้เพื่อความถูกต้องด้วย แต่ 6% คือตัวเลขที่ผมจำได้

สิ่งที่เราได้เห็นภายในไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือเยอรมันนีเพิ่มงบกลาโหมเป็นสองเท่า ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านนะ เพราะเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ต้องเผชิญมันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่เยอรมันนี โปแลนด์ และทุกประเทศในยุโรปจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นเท่าตัว แต่นี่คือเกมที่ทุกคนจะแพ้ (race to the bottom)

เพราะเมื่อคุณเห็นประเทศอื่นๆ เพิ่มงบประมาณการทหาร คุณก็จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นประเทศของคุณก็ต้องเพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน และแทนที่งบเหล่านี้จะไปลงที่สาธารณสุข การศึกษา หรือการสู้กับโลกร้อน มันกลับถูกนำไปซื้อรถถัง มิสไซล์ และใช้ในการสู้รบ

ประชาชนจะได้รับสวัสดิการสุขภาพที่แย่ลง และเราจะไม่มีทางออกสำหรับภาวะโลกร้อน ดังนั้นทุกคนจะได้รับผลกระทบแม้ว่าคุณจะอยู่ที่บราซิลหรือออสเตรเลียก็ตาม

.

[ถาม] ถ้าหนึ่งในเป้าหมายของปูตินคือการแบ่งแยกยุโรป คือการลดทอนกำลังของนาโต้ และระเบียบเสรีโลก (global liberal order) ก็ดูเหมือนว่าปูตินจะทำให้กลุ่มเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นมายิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ถ้าเป้าหมายคือการแบ่งแยกยุโรปและนาโต้ สิ่งที่เขาทำกลับให้ผลตรงกันข้ามเลย ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมยุโรปถึงตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพขนาดนี้ ผมว่าแม้แต่ยุโรปก็ยังแปลกใจตัวเอง แม้กระทั่งฟินแลนด์หรือสวีเดนยังส่งอาวุธไปให้ยูเครน เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นเลย

.

[ถาม] คุณได้เขียนบทความลง The Economist ไว้ด้วยว่า สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ในตอนนี้คือ “ทิศทางของประวัติศาสตร์ เพราะเรากำลังทำลายความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ นั่นก็คือการลดลงของสงคราม”

ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสู้รบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

และตั้งแต่ 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีประเทศใดถูกทำให้หายไปจากแผนที่โลกเพราะการรุกรานจากประเทศอื่น

นี่เป็นความสำเร็จที่สุดยอดมาก และมันคือพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์หรือการศึกษา แต่เรื่องเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย

สันติภาพไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนไปของกฎธรรมชาติ แต่เกิดจาการที่มนุษย์เลือกทางที่ถูกต้องมากขึ้นและสร้างองค์การ (institutions) ที่ดีขึ้น

ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าความสงบสุขนี้จะคงอยู่ตลอดไป หากมีใครบางคนตัดสินใจโง่ๆ และทำลายองค์การที่ช่วยสร้างสันติภาพให้โลก เราก็จะกลับไปอยู่ในยุคของสงครามอีกครั้ง ในวันนั้นงบกระทรวงกลาโหมอาจจะคิดเป็น 20% 30% หรือ 40% ของงบประมาณทั้งหมดก็ได้

เราจึงควรเข้าใจว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์เพียงคนเดียว ชาวรัสเซียไม่ได้ต้องการสงครามนี้ แค่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น

.

[ถาม] สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูตินก็พูดถึงมันอยู่หลายครั้ง เขาสั่งให้ฐานทัพอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มระดับความระมัดระวัง และประธานาธิบดีเซเลนสกี้ก็ยอมรับว่ายูเครนพลาดไปที่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้มาตั้งแต่สมัยเป็นสหภาพโซเวียต คุณคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้

ผมว่ามันน่ากลัวสุดๆ ไปเลย เราเคยคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงเรื่องของยุค 60s ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมาแล้ว ตอนนี้คุณเริ่มเห็นผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายว่าอาวุธนิวเคลียร์แต่ละชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับเมืองเมืองหนึ่งได้ในระดับไหน

ในทางหนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ได้รักษาสันติภาพของโลกเอาไว้ ผมอยู่ในกลุ่มคนที่เชื่อว่าถ้าเราไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ เราน่าจะมีสงครามโลกครั้งที่สามไปนานแล้ว นั่นก็คือสงครามระหว่างสหภาพโซเวียต อเมริกา และนาโต้ในนยุค 50s หรือ 60s

เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ เราจึงไม่มีการปะทะกันของมหาอำนาจ เพราะมันจะเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ของทุกคน (collective suicide) แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ตลอดมา หากมีการคาดการณ์หรือประเมินผิดพลาด ผลลัพธ์จะเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง

.

[ถาม] ในยุค 70s เราเริ่มสร้างองค์การนานาชาติเพื่อลดความเสี่ยงของการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และเราก็มีการร่างสนธิสัญญาเรื่องการควบคุมอาวุธ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ สถานการณ์ตอนนี้จึงน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าตอนขึ้นสหัสวรรษใหม่เสียอีก

นี่คือวิบากจากความประมาทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่รวมไปถึงองค์การนานาชาติและความร่วมมือกันระดับโลก (international institutions and global cooperation)

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เราได้สร้างบ้านของมนุษยชาติที่วางอยู่บนรากฐานของความร่วมมือและความเข้าใจกัน เพราะเรารู้ดีว่าอนาคตตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นเราจะทำลายล้างกันเองจนสูญพันธุ์

และเราทุกคนก็อยู่ในบ้านหลังนี้ แต่หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจ เราไม่ได้ซ่อมแซมบ้าน เราปล่อยให้มันทรุดโทรม และสุดท้ายบ้านก็จะพังครืนลงมา ผมเลยหวังว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนที่มันจะสายเกินแก้ ว่าเราจำเป็นต้องหยุดสงครามครั้งนี้ และเราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับองค์การนานาชาติ เราต้องซ่อมบ้านหลังใหญ่หลังนี้ เพราะถ้ามันพังลงมา พวกเราจะตายกันหมด

.

[ถาม] คุณเขียนไว้ในบทความเดียวกันว่าสุดท้ายแล้วประเทศชาตินั้นถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่แต่งขึ้น (nations are ultimately built on stories) ดังนั้นเมล็ดที่เรากำลังหว่านอยู่ตอนนี้คือเรื่องราวใหม่ๆ ที่เรากำลังแต่งขึ้น ซึ่งมันจะมีผลต่ออนาคตอย่างนั้นใช่มั้ย

ใช่ เมล็ดพันธุ์ของสงครามในยูเครนถูกหว่านเอาไว้ตั้งแต่การล้อมเลนินกราด [Siege of Leningrad ที่นาซีทำกับโซเวียตช่วงปี 1941-1944] ผลของมันคือการบุกรุกเคียฟในวันนี้ ซึ่งก็จะเป็นการหว่านเมล็ดที่อาจส่งผลอันเลวร้ายอีกครั้งใน 50 ปีข้างหน้า เราจึงต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ บางทีผมก็รู้สึกผิดเหมือนกันเมื่อเห็นว่าประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรกับผู้คนบ้าง หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเห็นผู้นำประเทศเข้าพบและพูดคุยกับปูติน และหลายครั้งปูตินก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเทศนาเรื่องประวัติศาสตร์ ตอนที่มาครง [Emmanuel Macron ปธน.ฝรั่งเศส] เข้าพบปูตินนั้น พวกเขาคุยกันถึง 5 ชั่วโมง และมาครงก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าปูตินใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสั่งสอนเขาเรื่องประวัติศาสตร์

ผมก็เลยรู้สึกผิดที่วิชาชีพของผมอาจะมีส่วนให้เกิดปัญหาเหล่านี้ อย่างประเทศอิสราเอลของผมเอง ผมก็รู้สึกว่าเรากำลังทุกข์ทนเพราะประวัติศาสตร์มากเกินไป ผมเชื่อว่าคนเราควรจะได้รับการปลดปล่อยจากอดีต ไม่ใช่ย้อนรอยอดีตซ้ำๆ ทุกคนควรจะละทิ้งความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นชาวรัสเซียหรือชาวเยอรมันก็ตามที

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับชาวเยอรมันที่รับชมอยู่ตอนนี้ก็คือ พวกเรารู้ว่าพวกคุณไม่ใช่นาซี ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรอก สิ่งที่เราต้องการจากเยอรมันนีในตอนนี้คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทัพในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

แต่ดูเหมือนเยอรมันนียังห่วงสายตาประชาคมโลก ยังกลัวว่าถ้าพวกเขาพูดจาขึงขังหรือจับอาวุธขึ้นมา พวกเขาจะถูกประณามว่า “นี่ไง พวกนาซีมาอีกแล้ว” ผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย

ตอนนี้เยอรมันนีเป็นผู้นำของยุโรปแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ Brexit ผมจึงอยากเห็นเยอรมันนีที่ปล่อยวางอดีตและอยู่กับปัจจุบัน

พูดในฐานะที่ผมเป็นชาวยิว เป็นชาวอิสราเอล และเป็นนักประวัติศาสตร์นะ ถ้าจะมีประเทศไหนที่ผมมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอยสิ่งที่นาซีเคยได้ทำเอาไว้ ประเทศนั้นคือเยอรมันนี

.

[ถาม] มีคำถามจากในห้องแชทเกี่ยวกับจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ และจีนเองก็มีนโยบายที่ต่อต้านการรุกล้ำอาณาเขตของชาติอื่น แต่จีนเองก็สนิทสนมกับรัสเซีย สี จิ้นผิงกับปูตินก็ได้พบกันก่อนงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง และเป็นภาพที่ทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าทั้งสองเป็นมิตรกัน คุณมองยังไงเกี่ยวกับบทบาทของจีนในความขัดแย้งครั้งนี้

ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน การอ่านข่าวไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจวิธีคิดและความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำในจีนได้

จีนใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงน่าจะโน้มน้าวรัสเซียได้ไม่น้อย ผมจึงหวังว่าจีนจะทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและช่วยรดน้ำเพื่อดับไฟสงครามครั้งนี้

จีนจะสูญเสียประโยชน์ไม่น้อยหากระเบียบโลกพังทลายลง (they have a lot to lose from a breakdown of the global order) และถ้าสันติภาพกลับคืนมา จีนก็จะได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณจากนานาชาติด้วย

ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจีนจะทำรึเปล่า แต่ผมหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

.

[ถาม] ถ้าไม่นับเรื่องโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อะไรที่ทำให้สงครามยูเครนครั้งนี้แตกต่างจากสงครามอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก

อย่างที่ได้กล่าวไป นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1945 ที่เราได้เห็นประเทศมหาอำนาจพยายามที่จะลบประเทศเอกราชให้หายไปจากแผนที่โลก

ตอนที่อเมริกาบุกยึดครองอัฟกานิสถานหรืออิรัก คุณอาจจะวิจารณ์อเมริกาได้มากมาย แต่เรารู้ว่าอเมริกาไม่เคยคิดจะผนวกอิรักหรือตั้งอิรักเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา

แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับยูเครน เป้าหมายที่แท้จริงคือการผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งถ้ารัสเซียทำสำเร็จ ยุคสมัยแห่งสงครามอาจจะกลับมา

ผมยังจำได้ไม่ลืมกับสิ่งที่ตัวแทนจากประเทศเคนยาเคยกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและตัวแทนจากหลากหลายประเทศในแอฟริกา เขาบอกว่า “เราเองก็เป็นผลผลิตที่ตกค้างจากยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม การที่โซเวียตล่มสลายและแตกเป็นประเทศต่างๆ ฉันใด ประเทศในแอฟริกาเองก็เกิดจากการล่มสลายของจักรวรรดิยุโรปฉันนั้น

และหลักการสำคัญที่ชาติแอฟริกายึดถือนับแต่นั้นมาก็คือ ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับชายแดนประเทศที่ถูกขีดเอาไว้มากแค่ไหน แต่เราจำเป็นต้องรักษาชายแดนเหล่านั้นเอาไว้ อย่าไปแตะต้องมัน เพราะถ้าเราเริ่มรุกล้ำประเทศเพื่อนบ้านเพราะเราเอาแต่คิดว่า “เฮ้ย จริงๆ แล้วนี่คือแผ่นดินของฉัน” เราจะทะเลาะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น

และถ้ารัสเซียบุกยูเครนได้สำเร็จ มันอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ชาติอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มทำแบบนั้นบ้าง

อีกสิ่งหนึ่งที่สงครามนี้ต่างออกไป ก็คือเรากำลังพูดถึงการปะทะกันของประเทศมหาอำนาจ นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบุลลอฮ์ (มุสลิมชีอะห์ในเลบานอน) สงครามครั้งนี้อาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต้ และต่อให้ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันก็ยังทำให้สันติภาพทั่วโลกสั่นคลอนอยู่ดี

ผมจึงขอย้ำเรื่องงบประมาณอีกครั้ง ถ้าเยอรมันนีเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นสองเท่า และโปแลนด์ก็ทำอย่างนั้นบ้าง สุดท้ายทุกประเทศก็จะทำตาม และนี่จะเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง

.

[ถาม] หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลให้ยุโรปหันมาสนใจพลังงานสะอาดมากขึ้นมั้ย

ผมก็หวังว่ายุโรปจะเข้าใจความเสี่ยงนี้แล้ว และเริ่มต้น “โปรเจคแมนฮัตตันสีเขียว” (a green Manhattan project) [Manhattan คือชื่อโปรเจ็คลับในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] เพื่อเร่งเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ดีกว่านี้ ยุโรปจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน

ซึ่งนั่นย่อมลดอำนาจของระบอบบปูตินและกองทัพของเขา เพราะรัสเซียมีแค่น้ำมันกับก๊าซ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว จำได้มั้ยว่าคุณซื้อของที่ Made in Russia ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

ทุกคนก็รู้ว่าน้ำมันนั้นเหมือนมีคำสาป มันคือขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง แต่มันก็มักจะถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะได้ประโยชน์จากน้ำมัน คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งอะไรให้ประชาชน คุณไม่จำเป็นต้องมีสังคมที่เปิดกว้าง คุณไม่ต้องให้การศึกษา คุณก็แค่ต้องขุดเจาะน้ำมันเท่านั้น

หากน้ำมันและก๊าซราคาตก นอกจากจะทำให้การเงินและการทหารของรัสเซียสั่นคลอนแล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียต้องผลัดใบระบอบการเมืองด้วย

.

[ถาม] ขอพูดถึงอีกหนึ่งตัวละคร ที่หลายคนในห้องแชทรูมรู้สึกว่าเป็นวีรบุรุษ นั่นก็คือเซเลนสกี้ ซึ่งเคยเป็นนักแสดงตลก ก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดีแบบงงๆ และตอนนี้ก็กลายเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางศึกสงคราม และเขาก็แสดงบทบาทได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนที่อเมริกาเสนอให้เขาลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เซเลนสกี้ตอบไปว่า ‘ผม่ได้ไม่ต้องการตั๋วเครื่องบิน ผมต้องการกระสุนเพิ่ม’ (‘I don’t need a ride, I need more ammunition’)

สิ่งที่เซเลนสกี้ทำนั้นน่าชื่นชมจริงๆ และมันได้ปลุกเร้าความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวยูเครนแต่มันยังส่งผลไปทั่วโลก ปฏิกิริยาของยุโรป ทั้งการคว่ำบาตรและการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผมคิดว่าเซเลนสกี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้

เพราะนักการเมืองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผู้นำหลายคนเคยได้เจอหน้ากับเซเลนสกี้ และเข้าใจว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียว แต่ครอบครัวเขาด้วยเช่นกัน [ครอบครัวของเซเลนสกี้ไม่มีใครหนีไปไหน] เขาจะพูดเสมอว่า นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คุยกัน เพราะวันนี้หรือพรุ่งนี้เขาอาจจะตายจากการโดนลอบสังหารหรือถูกระเบิดถล่มก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก The War in Ukraine Could Change Everything | Yuval Noah Harari | TED

พระเจ้าสองพระองค์ของผู้เขียน Sapiens

บริษัท Google จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการมาร่วมพูดคุยให้พนักงานฟังภายใต้ชื่อ Talks at Google

หนึ่งในแขกรับเชิญคือ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens, Homodeus, และ 21 Lessons for the 21st Century

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาครับ

พิธีกร: คุณเขียนเอาไว้ในหนังสือ “21 Lessons” ว่าพระเจ้าตายแล้วหรือพระเจ้ากลับมาแล้ว และบทบาทของศาสนาที่มีต่อการพัฒนาของมนุษย์ คุณคิดว่ายังมีพื้นที่ให้พระเจ้าสำหรับความหมายและจุดมุ่งหมายของชีวิตอยู่รึเปล่า?

ฮารารี: มันก็แล้วแต่คำจำกัดความนะ เพราะพระเจ้ามีหลายรูปแบบมาก และแต่ละคนก็เข้าใจคำว่าศาสนาไม่เหมือนกัน

ในหัวของเรามักจะมีพระเจ้าสองพระองค์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

พระองค์หนึ่งคือพระเจ้าที่เป็นความลี้ลับของจักรวาล (cosmic mystery) เราไม่รู้ว่าทำไมถึงมีการก่อเกิดของสรรพสิ่ง (we don’t understand why there is something rather than nothing) เราไม่รู้ว่าทำไมถึงมีบิ๊กแบง เราไม่รู้ว่าสติสัมปชัญญะของมนุษย์คืออะไร (what is human consciousness) มีหลายอย่างในโลกที่เราไม่เข้าใจและบางคนก็เรียกความลี้ลับนี้ว่า “พระเจ้า”

พระเจ้าคือผู้ให้การก่อเกิดของสรรพสิ่ง พระเจ้าคือผู้มอบสติสัมปชัญญะและความตระหนักรู้ให้มนุษย์ แต่สิ่งที่เด่นชัดที่สุดสำหรับพระเจ้าองค์นี้คือเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับท่านเลย (จะเรียกท่านว่า him, her, it หรือ they ก็ตาม) ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพระองค์ที่เป็นรูปธรรม ทุกอย่างเกี่ยวกับพระองค์ล้วนเป็นความลี้ลับ และนี่คือพระเจ้าที่เรานึกถึงตอนนั่งล้อมวงรอบกองไฟกลางทะเลทรายและใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต

ผมไม่มีปัญหาอะไรกับพระเจ้าพระองค์นี้ ผมชอบท่านมาก (I have no problem with this God. I like him very much.)

[เสียงผู้ชมในห้องส่งหัวเราะ]

ส่วนพระเจ้าอีกองค์หนึ่งคือพระเจ้าผู้ออกกฎหยุมหยิม (petty lawgiver)

สิ่งที่เด่นชัดที่สุดสำหรับพระเจ้าองค์นี้คือเรารู้เกี่ยวกับท่านเยอะมาก เรารู้ว่าท่านคิดอย่างไรกับการแต่งตัวของผู้หญิง เรารู้ว่าพระองค์คิดอย่างไรในเรื่องรสนิยมทางเพศ (sexuality) เรารู้ว่าท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับอาหารและการเมือง เรารู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพระองค์มากมาย และนี่คือพระเจ้าที่เราพูดถึงเวลาเราจับคนนอกรีตมาเผาทั้งเป็น – เพราะคุณได้ทำสิ่งที่พระเจ้าไม่ทรงโปรด (และเราก็รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าองค์นี้) เราจึงจำเป็นต้องเผาคุณทิ้งเสีย

การพูดถึงพระเจ้าบางทีมันก็เลยเหมือนกับการเล่นมายากล พอเราถามว่าคุณรู้ได้ยังไงว่าพระเจ้ามีอยู่จริง คุณก็จะตอบว่าก็เพราะมีบิ๊กแบงไง เพราะมนุษย์มีความตระหนักรู้ไง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งก็จริง

แล้วก็เหมือนดังนักมายากลที่แอบสลับไพ่ ดึงไพ่พระเจ้าอันลี้ลับออกไปแล้วใส่ไพ่พระเจ้าผู้ออกกฎหยุมหยิมเข้ามา แล้วคุณก็ได้ข้อสรุปแปลกๆ อย่าง “เพราะเราไม่เข้าใจบิ๊กแบง ผู้หญิงจึงต้องใส่เสื้อแขนยาว และผู้ชายไม่ควรมีเซ็กส์กับผู้ชายด้วยกันเอง”


ขอบคุณข้อมูลจาก Youtube: 21 Lessons for the 21st Century | Yuval Noah Harari | Talks at Google นาทีที่ 18:20

เมื่อผู้เขียน Sapiens ต้องให้คะแนนศาสนา

วันนี้ตอนขับรถผมได้ฟังคลิป Youtube การพูดคุยกันของ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind และ Natalie Portman ดาราฮอลลีวู้ดที่ทั้งสวยและฉลาด

ตอนท้ายของการพูดคุย พิธีกรเปิดโอกาสให้คนในห้องประชุมส่งคำถามขึ้นมา คำถามก่อนหน้านี้ถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว #metoo ซึ่ง Natalie Portman ตอบไว้ดีมาก

ส่วนนี่เป็นคำถามสุดท้ายจากผู้ชมในห้องส่งครับ

พิธีกร: เราเหลือเวลาแค่ 5 นาทีแล้ว จึงขอถามคำถามสุดท้าย จากคนที่ชอบจะได้พูดเป็นคนสุดท้าย (somebody who likes to have the last word). คำถามนี้มาจากพระเจ้า ซึ่งขอถามว่าโดยรวมแล้วศาสนาได้สร้างประโยชน์หรือสร้างโทษให้กับมนุษยชาติ จากคะแนนเต็ม 5 คุณให้คะแนนศาสนาเท่าไหร่

Harari: ไม่รู้สิ…ซัก 2 คะแนนมั้ง

(คนในห้องส่งหัวเราะ)

ศาสนาได้สร้างสิ่งดีๆ เอาไว้แน่นอน ทั้งด้านศีลธรรม ด้านมนุษยธรรม ด้านศิลปะ และการทำให้ผู้คนวางใจและร่วมมือกันก็เป็นผลจากศาสนา

แต่ศาสนาก็สร้างความเสียหายเอาไว้มากมายเช่นกัน สุดท้ายแล้วผมคิดว่าศาสนาไม่ได้มีความจำเป็นต่อการมีศีลธรรมหรือการร่วมมือกันอีกต่อไป

จริงๆ แล้วศีลธรรม (morality) ก็คือการพยายามลดความทุกข์ร้อนในโลกใบนี้ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อในพระเจ้าองค์นี้หรือพระเจ้าองค์นั้นเพื่อที่จะประพฤติตนให้ดี แต่คุณต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความทุกข์ยาก (suffering)

สำหรับผม ผมคิดว่าพวกเราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจทางจิตวิญญาณ (spirituality) มากกว่าการมีศาสนา (religion) เพราะสองอย่างนี้แตกต่างกันหรือแทบจะตรงกันข้ามกันด้วยซ้ำ

Spirituality เป็นเรื่องของคำถาม

Religion เป็นเรื่องของคำตอบ

Spirituality คือเวลาที่คุณมีคำถามใหญ่ๆ เช่นความตระหนักรู้คืออะไร (what is consciousness?) ความหมายของชีวิตคืออะไร ความดีงามคืออะไร และคุณก็เริ่มออกเดินทางไปแสวงหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ และคุณก็มีความกล้าและความพร้อมที่จะไปในที่ใดก็ได้ที่คำถามจะพาคุณไปเพราะมันสำคัญสำหรับคุณมาก

Religion เป็นเรื่องของคำตอบ มันคือการที่มีคนเดินมาบอกคุณว่า นี่แหละคือคำตอบ คุณต้องเชื่อสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เชื่อคุณก็จะถูกแผดเผาในนรกหรือไม่เราก็จะจับคุณเผาไฟเสียเอง และผมมองว่าวิธีคิดแบบนี้นั้นมันตรงกันข้ามกับ spirituality

เราอาจจำเป็นต้องมี spirituality หรือความรู้ความเข้าใจทางจิตวิญญาณมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เพราะคำถามด้านจิตวิญญาณหรือคำถามด้านปรัชญาได้กลายมาเป็นคำถามในเชิงปฏิบัติไปแล้ว (spiritual questions and philosophical questions are suddenly becoming practical questions)

เจตจำนงเสรี (free will) และความหมายของการเป็นมนุษย์ล้วนเป็นประเด็นที่เราถกเถียงกันมานับพันปี แต่พอมันไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ทันที การขบคิดถึงคำถามเหล่านี้เลยเป็นแค่งานอดิเรกของพวกนักปรัชญามากกว่า

แต่ตอนนี้มันกลายเป็นคำถามของวิศวกรแล้ว เพราะในไม่ช้าเราจะสามารถ reengineer มนุษย์ได้ ดังนั้นคำถามที่ว่าแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์คืออะไรจึงเป็นคำถามที่สำคัญมากและไม่ใช่คำถามสำหรับนักปรัชญาอีกต่อไป

นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราต้องขบคิดเรื่องเหล่านี้มากกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงองค์กรอย่าง Google, Facebook และอีกหลายองค์กรที่ผมเชื่อว่าเขาควรจะจ้างนักปรัชญาเอาไว้ด้วย องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณเพื่อจะได้เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรกันอยู่

ส่วนศาสนานั้น ผมคิดว่ามันได้ทำสิ่งดีๆ และสิ่งแย่ๆ เอาไว้หมดแล้ว และมันกำลังสูญเสียบทบาทของมันไป ในสมัยก่อนนั้นถ้าคุณป่วยคุณก็ไปหานักบวช ถ้าฝนไม่ตกคุณก็เข้าโบสถ์เพื่อสวดมนต์อ้อนวอน แต่โจทย์เหล่านี้กลับถูกแก้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรและคุณหมอไปแล้ว

บทบาทเดียวที่เหลืออยู่สำหรับศาสนาคือการมอบอัตลักษณ์ให้กับคนแต่ละกลุ่ม (defining collective identitities for human groups) ซึ่งสำหรับผมนั้นมักจะเป็นผลเสีย เพราะแทนที่จะสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีกันในประชาคมโลก สิ่งที่ศาสนาก่อให้เกิดในตอนนี้คือเผ่าพันธ์ุนิยมและชาตินิยม (tribalism and nationalism) ซึ่งเป็นอุปสรรรคต่อการร่วมมือร่วมใจกันของมนุษย์ในระดับที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่านี้

—–

ขอบคุณเนื้อหาจาก Youtube: Natalie Portman and Yuval Noah Harari in Conversation

ขอบคุณภาพจาก Twitter: Yuval Noah Harari

Sapiens ตอนที่ 20 – อวสาน Sapiens

20170508_sapiens20

ในสมัยก่อน คนที่เชื่อมั่นในศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวจะเชื่อว่ามนุษย์และสรรพสัตว์ล้วนถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมา และเรียกกระบวนการนี้ว่า Intelligent Design หรือการออกแบบอย่างชาญฉลาด

แต่หลังจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ คนส่วนใหญ่หันมาเชื่อในทฤษฎีของ Charles Darwin ที่สันนิษฐานว่านับตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวได้ถือกำเนิดขึ้นในท้องทะเลเมื่อ 4 พันล้านปีที่แล้ว กระบวนการ Natural Selection หรือ “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” คือแรงผลักดันให้สิ่งมีชีวิตตัวนั้นค่อยๆ พัฒนาและขยายเผ่าพันธุ์จนกลายมาเป็นพืชพรรณ สรรพสัตว์ และมนุษย์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนอย่างทุกวันนี้

คนที่เชื่อเรื่อง Natural Selection จะมองว่าการที่ยีราฟคอยาวไม่ใช่เพราะประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นเพราะว่ายีราฟที่คอยาวจะกินอาหารได้มากกว่าและออกลูกได้มากกว่ายีราฟที่คอสั้น ดังนั้นยีราฟที่คอยาวจึงมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงกว่าและสืบพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

เป็นเวลาถึง 4 พันล้านปีที่สิ่งมีชีวิตทุกผู้ทุกนามตกอยู่ใต้กระบวนการ Natural Selection

แต่ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ กระบวนการ Intelligent Design จะกลับมาอินเทรนด์อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่คราวนี้ “ผู้ออกแบบ” จะไม่ใช่พระเจ้าของศาสนาใด แต่เป็นชาว Homo Sapiens นี่เอง

—– กระต่ายเรืองแสง —–
ในปี 2000 ศิลปินชาวบราซิลเลียนนาม Eduardo Kac ได้ว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์ในฝรั่งเศสให้ช่วยเอายีนในแมงกะพรุนเรืองแสงสีเขียวมาฉีดใส่ตัวอ่อนกระต่าย ซึ่งพอกระต่ายตัวนี้เกิดมามันก็กลายเป็นกระต่ายที่เรืองแสงสีเขียวในที่มืดได้ กระต่ายตัวนี้มีชื่อว่า Alba*

Alba ไม่ได้เกิดจาก Natural Selection แน่ๆ เพราะไม่เคยมีบรรพบุรุษกระต่ายตัวไหนที่เรืองแสงได้ มันจึงอาจเป็นสิ่งมีชีวิตตัวแรกที่เกิดจาก Intelligent Design และเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญที่เปิดศักราชใหม่แห่งวิวัฒนาการที่ไม่ได้ตกอยู่ใต้กฎ Natural Selection อีกต่อไป

ณ ปี 2014 ที่ผู้เขียนเขียนหนังสือเรื่อง Sapiens ภาคภาษาอังกฤษขึ้นมานี้ Intelligent Design มีอยู่สามวิธี ได้แก่วิศวกรรมทางชีววิทยา (biological engineering) วิศวกรรมไซบอร์ก (cyborg engineering) และการสร้างสิ่งมีชีวิตอนินทรีย์ (inorganic life)

—– แมมมอธจะกลับมา —–
ในปี 1996 นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการปลูกกระดูกอ่อนของวัวลงบนหลังของหนู และหน้าตาของกระดูกอ่อนที่งอกขึ้นมาก็คล้ายคลึงกับหูมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความรู้นี้จะทำให้เราสามารถสร้างอวัยวะเทียมเพื่อนำมาใช้ในคนได้

นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถตัดต่อพันธุกรรม (genetic engineering) ได้อีกด้วย แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหว งานวิจัยด้านนี้จึงถูกจำกัดเฉพาะสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างไส้เดือนหรือหนูทดลองเท่านั้น โดยนักพันธุศาสตร์ได้ค้นพบวิธีการตัดต่อยีนที่ทำให้ไส้เดือนประเภทหนึ่งมีอายุยืนยาวขึ้น 6 เท่า ทำให้หนูบางตัวกลายเป็นหนูอัจริยะที่มีความจำเป็นเลิศ และทำให้หนูนาซึ่งปกติมีพฤติกรรมสำส่อนให้กลายเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียวได้

นอกจากนี้ นักพันธุกรรมยังกำลังทำสิ่งที่เราเคยเห็นในหนัง Jurassic Park อีกด้วย ไม่ใช่การคืนชีพให้ไดโนเสาร์นะครับ แต่เป็นการคืนชีพให้แมมมอธ เพราะมีการขุดพบศพของแมมมอธที่ถูกแช่แข็งไว้ในไซบีเรียและนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังทำการถอดรหัส DNA ของแมมมอธ จากนั้นก็จะนำมันไปให้ช้างอุ้มท้อง ซึ่งถ้าทำสำเร็จเราก็จะมีแมมมอธตัวแรกในรอบ 5,000 ปี

ยังไม่พอ ศาสตราจารย์ George Church แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ยังบอกอีกว่า เราน่าจะชุบชีวิตให้มนุษย์นีแอนเดอร์ธาลได้ (Neanderthal) เพราะนักพันธุกรรมได้ถอดรหัส DNA ของนีแอนเดอธาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าใครพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุน 30 ล้านดอลลาร์ เขาก็พร้อมที่จะทำภารกิจนี้และเชื่อว่าน่าจะมีอาสาสมัครรับอุ้มบุญให้กับนีแอนเดอธาลคนแรกในรอบ 30,000 ปีอีกด้วย

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำไมไม่ออกแบบมนุษย์ให้ดีกว่าเดิมด้วยซะเลย? เพราะการถอดรหัส DNA ของมนุษย์นั้นไม่ได้ยากไปกว่าการถอดรหัสหนูเท่าไหร่ (จำนวน DNA ของมนุษย์มีมากกว่าหนูแค่ 13%) ถ้าเราสามารถออกแบบหนูอัจฉริยะและหนูนาที่รักเดียวใจเดียวได้ ทำไมเราไม่ทำให้มนุษย์มีคุณสมบัติเหล่านั้นบ้าง?

แต่เนื่องจากวิศวพันธุกรรมกับมนุษย์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและถูกต่อต้านสูงมาก การศึกษาวิจัยในมนุษย์จึงเป็นไปอย่างช้าๆ แต่สุดท้ายแล้วจะมีใครหยุดมันได้จริงหรือ? สมมติว่ามีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งคิดค้นวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ และวิธีการเดียวกันนี้ยังสามารถทำให้คนปกติมีความจำเป็นเลิศได้ จะมีเหตุผลอะไรที่จะห้ามไม่ให้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับคนธรรมดา?

—– มนุษย์ไซบอร์ก —–
นิยามของไซบอร์กคือสิ่งมีชีวิตที่มีทั้งส่วนผสมของอินทรีย์และอนินทรีย์ (organic & inorganic parts) จริงๆ แล้วพวกเราตอนนี้ก็มีสิ่งที่เป็นอนินทรีย์อยู่บนร่างกายอยู่แล้ว เช่นแว่นตาหรือมือถือ แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังจะทำให้มนุษย์กลายเป็นไซบอร์กเต็มรูปแบบเพราะเครื่องมือเหล่านี้จะถูกฝังอยู่เป็นเนื้อเดียวกับร่างกายของเรา

ยกตัวอย่างบริษัท Retina Implant ในเยอรมนีที่สามารถทำให้คนตาบอด “มองเห็น” ได้ด้วยการฝังชิปลงในตาของผู้พิการ เมื่อชิปได้รับภาพมันจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทที่เชื่อมไปยังสมองอีกทีหนึ่ง โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีตัวนี้ทำให้คนตาบอดสามารถหันหน้าถูกทิศ อ่านตัวหนังสือได้ และยังแยกแยะใบหน้าคนได้อีกด้วย

นาย Jesse Sullivan ที่สูญเสียแขนไปทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุ ได้รับการผ่าตัดฝังแขน bionic (ชีวประดิษฐศาสตร์) ที่เขาสามารถควบคุมได้ด้วยความคิดไม่ต่างอะไรกับคนที่มีแขนปกติ และแม้แขนกลเหล่านี้จะยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเหมือนแขนมนุษย์ แต่ข้อดีก็คือมันสามารถถูกสร้างให้แข็งแรงกว่าแขนมนุษย์ได้หลายเท่า

นักวิจัยกำลังศึกษาการทำงานของสมองเพื่อช่วยผู้ป่วยโรค Locked-in syndrome ที่ไม่สามารถขยับอะไรได้เลยนอกจากกะพริบตา โดยนักวิจัยได้ฝังเครื่องรับสัญญาณไว้ที่หัวสมองเพื่อพยายามจะเปลี่ยนสัญญาณเหล่านี้เป็นคำพูด ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะทำให้คนป่วยด้วยโรคนี้สามารถพูดคุยกับโลกภายนอกได้ และเราอาจใช้เทคโนโลยีนี้ในการอ่านความคิดคนได้อีกด้วย

แต่โปรเจ็คที่น่าสนใจที่สุดคือการเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อให้มันพูดคุยกันได้โดยตรง จะเกิดอะไรขึ้นหากมนุษย์เชื่อมสมองเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือเชื่อมสมองของตนเองเข้ากับสมองของคนอื่นๆ? ถ้าเราสามารถเข้าถึงความคิดและความทรงจำของคนทั่วโลกได้ราวกับมันเป็นความคิดและความทรงจำของเราเอง จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวตนและเพศสภาพของเรา? เราจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร? ไซบอร์กที่อยู่ในสภาพนี้คงไม่สามารถเรียกว่ามนุษย์ได้อีกแล้ว แต่เป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง

—– ชีวิตไร้ขอบเขต —–
อีกความเป็นไปได้หนึ่งในการออกแบบชีวิตคือชีวิตที่เป็นอนินทรีย์ล้วนๆ (completely inorganic life) จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถดาวน์โหลดทุกอย่างในหัวสมองมนุษย์ลงคอมพิวเตอร์ได้ และคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นสามารถคิดและพูดได้เหมือนเราทุกอย่าง?

และจะเกิดอะไรขึ้นถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถเขียนโค้ดที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความคิดเป็นของตัวเอง มีตัวมีตน และมีความทรงจำของตัวเองได้? The Human Brain Project คือโครงการที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเหมือนสมองมนุษย์ ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ “ชีวิต” ที่เคยถูกจำกัดอยู่แต่ในร่างอินทรีย์ (organic body) อยู่ 4 พันล้านปีจะถูกปลดปล่อยสู่โลก inorganic อันกว้างใหญ่และแปรสภาพไปอยู่ในรูปแบบที่ยากเกินจะหยั่งถึง

—- Singularity ครั้งใหม่ —–
การถอดรหัส DNA มนุษย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้นต้องใช้เงินถึง 3 พันล้านดอลลาร์และใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ตอนนี้เราสามารถถอดรหัส DNA ของเราเองด้วยการจ่ายเงินแค่ไม่กี่ร้อยดอลลาร์และใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์

จากนี้ไปการรักษาโรคจึงจะมีความจำเพาะเจาะจงกับตัวคนไข้มากขึ้นเรื่อยๆ คุณหมออาจจะอ่านรหัส DNA แล้วบอกได้เลยว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ แต่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจ หรือยาตัวนี้อาจจะทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตแต่มันกลับเข้ากับร่างกายของคุณได้พอดี

แต่เราจะโดนบริษัทประกันขอให้เราส่ง DNA ให้เขาตรวจสอบก่อนคิดเบี้ยประกันรึเปล่า? และบริษัทที่เราสมัครงานจะขอดู DNA ของเราก่อนตัดสินใจรับเราเข้าทำงานหรือไม่?

ปัญหาเหล่านี้จะดูเล็กไปทันทีเมื่อเทียบกับโปรเจ็ค Gilgamesh ที่ต้องการนำความหนุ่มสาวนิรันดร์มาสู่มนุษย์ รวมถึงการสร้างยอดมนุษย์หรือ superhuman ที่ฉลาดกว่าและแข็งแรงกว่ามนุษย์ธรรมดาหลายเท่า

ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมามนุษย์เรียกร้องสังคมที่เท่าเทียมกันมาโดยตลอด ซึ่งดูเหมือนเราจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เราอาจกำลังก้าวสู่สังคมที่เหลื่อมล้ำมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา

สมัยก่อนคนรวยมักจะหลอกตัวเองว่าทายาทของตนนั้นเลอเลิศกว่าทายาทของคนจน ทั้งที่จริงแล้วลูกของชาวนานั้นก็มีโอกาสที่จะฉลาดได้เท่ากับลูกของพระราชา แต่ในอนาตตอันใกล้นี้ คนรวยที่เข้าถึงเทคโนโลยีจะสามารถให้กำเนิดเด็กที่ฉลาดกว่า หน้าตาดีกว่า และแข็งแรงกว่าอย่างที่ลูกชาวนาไม่มีทางเทียบติด

นี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ นิยายวิทยาศาสตร์ที่เราเคยอ่านจะเป็นภาพของมนุษย์ที่มีรูปร่าง หน้าตา ความคิดเหมือนเรานี่แหละ เพียงแต่มีเครื่องไม้เครื่องมือเท่ๆ เช่นยานอวกาศความเร็วแสงหรือปืนเลเซอร์

แต่โลกอนาคตที่เรากำลังมุ่งไปจริงๆ นั้นคือโลกที่เหล่า Homo Sapiens จะถูกดัดแปลงจนไม่อาจเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป เพราะพวกเขาจะเป็นไซบอร์กที่ไม่แก่ ไม่มีเพศ ไม่ลืม ไม่โกรธและไม่เศร้า แต่จะมีอารมณ์และความรู้สึกที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่อาจจินตนาการถึงได้

นักฟิสิกส์เรียก Big Bang ที่เป็นจุดกำเนิดจักรวาลว่า Singularity หรือเอกภาวะ มันเป็นจุดที่กฎต่างๆ ในธรรมชาติยังไม่ปรากฎซึ่งรวมถึงเวลาด้วย การถามว่า “ก่อน” จะมี Big Bang นั้นมีอะไรจึงเป็นคำถามที่ไร้ความหมาย

มนุษยชาติอาจกำลังมุ่งสู่ Singularity ครั้งใหม่ ณ จุดที่สมองและตัวตนของมนุษย์ทุกคนเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว คอนเซ็ปต์ที่เราใช้อธิบายสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ตัวผม” หรือ “ตัวคุณ” “ผู้หญิง” หรือ “ผู้ชาย” “รัก” หรือ “เกลียด” จะไม่มีความหมายอีกต่อไป

—– เมื่อมนุษย์กลายเป็นพระเจ้า —–
เมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว Homo Sapiens เป็นเพียงเผ่าพันธุ์เล็กๆ เผ่าพันธุ์หนึ่งที่อยู่ไปวันๆ ในทวีปแอฟริกา

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เผ่าพันธุ์นี้ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครองโลก

เราสร้างเมือง สร้างอาณาจักรและทำการค้าขายไปทั่วโลก แต่เราได้ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นหรือเปล่า?

ความเป็นอยู่ของมนุษย์อาจดีกว่าแต่ก่อนก็จริง เพราะการอดตายและสงครามลดลง และโรคภัยหลายหลากก็มีหนทางรักษา แต่สัตว์จำนวนมหาศาลยังถูกเบียดเบียนและถูกทารุณอย่างที่บรรพบุรุษของมันไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน

ที่สำคัญ แม้ว่าเราจะมีความสามารถมากกว่าเดิมหลายเท่า แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าเราต้องการอะไรกันแน่

เรามีพลังและอำนาจมากกว่ายุคใด แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาพลังนั้นไปทำอะไร

เราได้สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าที่ไม่ต้องเกรงใจใครหรือเคารพอะไรเลย

เราจึงเบียดเบียนสรรพสัตว์เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำราญและความสะดวกสบาย แต่เราก็ไม่เคยพอใจจริงๆ เสียที

จะมีสิ่งใดที่อันตรายไปกว่าพระเจ้าขี้หงุดหงิดที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร?

<<<<< จบบริบูรณ์ >>>>>


ขอบคุณที่ติดตามซีรี่ส์ Sapiens มาโดยตลอดนะครับ

คิดว่าคุณผู้อ่านน่าจะอยากอ่านสรุปหนังสือเล่มถัดไปจากผู้เขียนคนเดียวกัน – Homo Deus ซึ่งว่าด้วยอนาคตต่อจากนี้ แต่ผมคงต้องขอเวลาอีกซักอย่างน้อยหนึ่งเดือนเพื่ออ่านให้จบและพักผ่อนร่างกายหลังจากใช้พลังและเวลามากมายไปกับการเขียนสรุป Sapiens 20 ตอนครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม
Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ
Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา
Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า
Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้
Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า
Sapiens ตอนที่ 15 – เมื่อยุโรปครองโลก
Sapiens ตอนที่ 16 – สวัสดีทุนนิยม
Sapiens ตอนที่ 17 – จานอลูมิเนียมของนโปเลียน
Sapiens ตอนที่ 18 – ครอบครัวล่มสลาย
Sapiens ตอนที่ 19 – สุขสมบ่มิสม

Sapiens ตอนที่ 19 – สุขสมบ่มิสม

20170430_sapiens19

500 ปีที่ผ่านมา การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สร้างความก้าวหน้าให้มนุษย์ในอัตราเร่งยิ่งกว่ายุคใดๆ

เรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย เรามีแหล่งพลังงานที่ไม่จำกัด (นิวเคลียร์และแสงอาทิตย์) และชีวิตของพวกเราก็เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้

แต่ความก้าวหน้าเหล่านั้นมันได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นรึเปล่า?

นายนีล อาร์มสตรองที่ทิ้งรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ มีความสุขกว่าหญิงสาวนิรนามที่ทิ้งรอยฝ่ามือไว้ในถ้ำ Chauvet Cave เมื่อ 30,000 ปีที่แล้วหรือไม่?

หลายคนเชื่อว่า เมื่อมนุษย์มีความสามารถมากขึ้น เราก็จะนำความสามารถนั้นมาบรรเทาความทุกข์ร้อน ดังนั้นมนุษย์ควรจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่แนวคิดนี้ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะแม้การพัฒนาจะทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพชีวิตในระดับปัจเจกจะดีขึ้น เหมือนอย่างที่เราได้เห็นแล้วว่าชีวิตของชาวนาหลังการปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นต้องตรากตรำและเหน็ดเหนื่อยกว่าชีวิตของเหล่าบรรพบุรุษในยุคเข้าป่าเก็บพืชผลมากมายนัก

แต่ถ้าจะมองในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา ชีวิตของคนเราก็อาจจะดีขึ้นจริงๆ เพราะเรามีสงครามข้ามชาติน้อยลง ความรู้เรื่องการแพทย์ของเราก็พัฒนาไปมาก อัตราการตายของทารกก็ต่ำ และการล้มตายเพราะความหิวโหยนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

แต่มุมมองอย่างนี้ก็มีช่องโหว่อยู่อย่างน้อยสามประการ

ประการแรกคือ ข้อดีที่กล่าวมานั้นเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง มนุษย์เพิ่งได้รับประโยชน์จากความรู้ด้านยารักษาโรคจริงๆ เมื่อ 150 ปีที่แล้ว อัตราการตายของเด็กทารกเพิ่งลดลงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ความอดอยากครั้งสุดท้ายก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อนโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward) ของจีนทำให้คนล้มตายไปไปหลายสิบล้าน และสงครามระหว่างนานาประเทศเพิ่งจะยุติหลังการมาของอาวุธนิวเคลียร์เมื่อ 70 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง เมื่อเทียบปรากฎการณ์เหล่านี้กับระยะเวลาร่วม 70,000 ปีนับตั้งแต่ Homo Sapiens เดินทางออกจากแอฟริกา จึงถือเป็นการสุ่มตัวอย่างที่เข้าข้างตัวเองไปหน่อย

ประการที่สอง “ความรุ่งเรือง” ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาอาจเป็นเพียงการจุดระเบิดเวลา ลัทธิบริโภคนิยมได้ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปมากเสียจนธรรรมชาติอาจมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้

ประการสุดท้าย หากจะวัดความสุข เราควรจะวัดความสุขของสัตว์อื่นๆ บนโลกใบนี้ด้วยรึเปล่า? แม้คุณภาพชีวิตของมนุษย์จะดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของปศุสัตว์อย่างวัว ไก่ และหมู กลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาปศุสัตว์นับหมื่นล้านตัวถูกทารุณกรรมในระดับที่บรรพบุรุษของมันไม่เคยพบเจอ สุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมอาหารอาจเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้

—– ดัชนีความสุข —–
เนื่องจากความสุขเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน นักวิจัยจึงวัดความสุขของคนด้วยการแจกแบบสอบถามที่มีคำถามอย่าง “ฉันพอใจกับชีวิตของฉันตอนนี้” หรือ “ฉันรู้สึกว่าอนาคตยังมีสิ่งดีๆ รออยู่” แล้วให้แต่ละคนช่วยให้คะแนนว่าเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่นักวิจัยค้นพบมีดังนี้

หนึ่ง คือเงินซื้อความสุขได้ แต่ก็ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น ถ้าสาวโรงงานลูกติดเงินเดือน 8000 บาทถูกล็อตเตอรี่ 5 ล้านบาทจนมีเงินชำระหนี้ ส่งค่าเทอมลูก และมีเงินทุนที่จะทำธุรกิจเองได้ ความสุขของเธอในระยะยาวย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่สำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เงินเดือน 300,000 บาทที่มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว แม้จะถูกหวย 10 ล้านบาท ความสุขของเขาจะเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว อย่างมากก็แค่ขับรถราคาแพงขึ้นหรือย้ายไปอยู่บ้านหลังใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายเขาก็จะเคยชินกับมันอยู่ดี

สอง คือความเจ็บป่วยจะทำให้ความสุขลดลงเพียงชั่วคราว เว้นเสียแต่ว่าอาการเจ็บป่วยนั้นจะแย่ลงเรื่อยๆ หรือนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่ตลอดเวลา คนที่พบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน (ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง) อาจจะรู้สึกหงุดหงิดในช่วงแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่นานเขาก็จะปรับตัวได้และมีความสุขพอๆ กับคนสุขภาพดี

สาม นักวิจัยพบว่าความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือในชุมชนมีความสำคัญต่อความสุขมากกว่าเงินหรือสุขภาพ คนพิการที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นและดูแลเขาเป็นอย่างดีอาจมีความสุขกว่าเศรษฐีพันล้านผู้โดดเดี่ยวก็ได้

นั่นอาจหมายความว่า ความสุขที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสองสามร้อยปีที่ผ่านมา อาจถูกคานด้วยความทุกข์อันเกิดจากสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดเมื่อความเหนียวแน่นในครอบครัวถูกทำลายด้วยแรงขับแห่งทุนนิยมที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่ได้อยู่ร่วมกัน นายสมศักดิ์ในวันนี้จึงอาจไม่ได้มีความสุขไปกว่าปู่ของปู่ของเขาที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 200 ปีที่แล้ว

สี่ – ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด – คือจริงๆ แล้วความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความรวย ความแข็งแรง หรือแม้กระทั่งชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสภาพความเป็นจริงกับความคาดหวังของคนๆ นั้น (correlation between objective conditions and subjective expectations)

หากความฝันของผมคือการได้ขี่มอเตอร์ไซค์ซูซูกิแล้วผมได้มันมาขี่จริงๆ ผมก็มีความสุขแล้ว แต่ถ้าผมขับเบนซ์ผมอาจไม่มีความสุขก็ได้หากจริงๆ แล้วผมอยากขับเฟอรารี่มากกว่า

เมื่อการวัดความสุขไม่ใช่เรื่องภววิสัย (objective) แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) ด้วย การเปรียบเทียบความสุขของคนสมัยนี้กับคนสมัยก่อนจึงยากขึ้นไปอีก เพราะแม้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะดีกว่าแต่ก่อนมาก แต่ความคาดหวังของเราก็สูงขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

จะว่าไปแล้วคนสมัยนี้น่าจะมี “ภูมิต้านทานความยากลำบาก” น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ มากมายนัก เพราะคนรุ่นเราแค่เจอความไม่สะดวกนิดๆ หน่อยๆ ก็พร้อมจะทุกข์ใจได้แล้ว

ถ้าสมการความสุขนั้นมีความคาดหวังเป็นตัวแปรสำคัญ สองเสาหลักของโลกทุนนิยมอย่างสื่อสารมวลชนและโฆษณาก็อาจจะกำลังทำให้คนเรามีความสุขน้อยลงไปทุกที

ถ้าคุณเป็นเด็กหนุ่มนมแตกพานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว คุณอาจจะคิดว่าคุณเป็นคนหน้าตาดี เพราะคนอื่นๆ ในหมู่บ้านต่างก็หน้าตาธรรมดา หรือไม่ก็แก่ หรือไม่ก็เด็กเกินไป

แต่ถ้าคุณเป็นเด็กหนุ่มนมแตกพานในสมัยนี้ ต่อให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนจะหล่อสู้คุณไม่ได้ คุณก็อาจจะยังรู้สึกว่าตัวเองหน้าตาไม่หล่ออยู่ดี เพราะคุณเอาตัวเองไปเทียบกับดารานักร้องที่เห็นในทีวีและอินสตาแกรม

ความไม่พอใจของผู้คนในประเทศโลกที่ 3 จึงอาจไม่ได้เกิดจากความยากจนหรือการคอรัปชั่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่เขาเทียบคุณภาพชีวิตของตัวเองกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศโลกที่ 1 ด้วย

คนชั้นกลางในประเทศอียิปต์ในปี 2011 มีชีวิตที่ดีกว่าแต่สมัยฟาโรห์หรือคลีโอพัตรามากแต่พวกเขาก็ยังลุกขึ้นมาโค่นอำนาจนาย Hosni Mubarak อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่ได้เปรียบเทียบตัวเองกับบรรพบุรุษ แต่เปรียบเทียบตัวเองกับชนชั้นกลางในอเมริกา

เมื่อคนเราช่างเปรียบเทียบเช่นนี้แล้ว แม้กระทั่งชีวิตที่อมตะก็อาจจะไม่ได้ทำให้มนุษย์เรามีความสุขมากขึ้นก็ได้

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะยากดีมีจนเท่าไหร่ อย่างน้อยทุกคนก็ยังรู้สึกว่าความตายนั้นเท่าเทียมเสมอ เพราะไม่ว่าคุณจะมีอำนาจหรือร่ำรวยมหาศาลเพียงใด สุดท้ายทุกคนก็ต้องตาย

แต่หากวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการรักษาโรคได้ทุกชนิด และหาวิธีคงความหนุ่มสาวให้กับมนุษย์ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความโกรธแค้นของคนชั้นล่างที่ไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เพราะมันคงไม่แฟร์สุดๆ ที่มนุษย์บางคนจะได้อยู่ตลอดไปเพียงเพราะเขามีเงิน ส่วนคนจนนั้นถูกปล่อยให้ป่วยหรือแก่ตาย

และสำหรับชนชั้นสูง ปัญหาก็ใช่ว่าจะจบ เพราะแม้จะไม่แก่และไม่เจ็บป่วย แต่คุณก็อาจจะยังตายจากอุบัติเหตุได้อยู่ดี คุณจะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรเลยเพราะเดิมพันสูงเกินไป และหากมีคนในครอบครัวต้องตายไปจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ความเจ็บปวดก็ยิ่งทบเท่าทวีคูณ

—– ความสุขจากสารเคมี —–
นักสังคมศาสตร์อาจวัดความสุขโดยดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง แต่นักชีววิทยาจะดูปัจจัยจากอีกมุมหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายและสมอง

นักชีววิทยาจะบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนเรานั้นถูกกำกับด้วยชีวเคมีในร่างกาย ความสุขของคนเราจึงไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างเงินเดือนหรือชื่อเสียง แต่เกิดจากกลไกการทำงานของนิวรอน (neurons) ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท (synapses) และสารชีวเคมีอย่างเซโรโทนิน โดพามีน และออกซิโทซิน (serotonin, dopamine, oxytocin) ต่างหาก

ในเชิงชีววิทยาแล้ว คนเราจึงไม่ได้มีความสุขจากการถูกล็อตเตอรี่หรือได้รับการเลื่อนขั้น ความสุขนั้นเกิดจากเหตุผลเดียวเท่านั้น นั่นคือความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา

เวลาที่คนเรากระโดดโลดเต้นเมื่อถูกหวย จริงๆ แล้วเราเพียงมีปฏิกิริยาตอบสนองการสูบฉีดของฮอร์โมนในร่างกายและพายุประจุไฟฟ้าในสมองต่างหาก แต่สภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ไม่นานฮอร์โมนก็จะหยุดพลุ่งพล่านและประจุไฟฟ้าก็ย่อมสงบลง

นักวิจัยบางกลุ่มตั้งสมมติฐานว่าระดับความสุขของคนเรานั้นถูกกำหนดมาแต่กำเนิด คนบางคนอาจเกิดมาพร้อมชีวเคมีที่ทำให้เขามีระดับความสุขอยู่ระหว่าง 6-10 คะแนนโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เต็ม 10 ขณะที่คนบางคนอาจมีระดับความสุขอยู่ระหว่าง 3-7 คะแนนและมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เต็ม 10

ลองนึกภาพคนที่เรารู้จักก็ได้ คนบางคนหน้าบึ้งตึงตลอดเวลา ต่อให้คนๆ นี้ถูกหวยหรือได้เลื่อนขั้น เขาก็มีความสุขได้แค่ 7 เต็ม 10 เท่านั้น ขณะที่บางคนดูเหมือนจะหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา แม้ว่าขายหุ้นขาดทุนเขาก็ดูไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรมาก

เมื่อระดับความสุขของคนเราถูกกำหนดโดยชีวเคมี ต่อให้เราสมปรารถนาเพียงใด ได้ซื้อรถใหม่ ได้แต่งงาน ได้มีลูก ขีดความสุขอาจเพิ่มขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว สุดท้ายระดับของความสุขจะกลับไปที่ค่าเฉลี่ยของเราอยู่ดี

แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเสียทีเดียว เพราะถ้าตัวคุณมีระดับของความสุขอยู่ระหว่าง 3-7 คะแนน การมีคู่ครองที่ดีก็อาจทำให้คุณมีความสุขอยู่ที่ 6/10 ไปได้นานๆ แต่หากคุณได้คู่ครองที่ไม่เหมาะสม ระดับความสุขก็อาจจะอยู่ที่ 3/10 ไปอีกแสนนานเช่นกัน

ถ้าเรายึดทฤษฎีความสุขของนักชีววิทยา นั่นก็แสดงว่าการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมาของนุษย์ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เพราะแม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็แทบไม่มีผลกับระดับชีวเคมีในตัวของแต่ละคนเลย ถ้าคุณอยากมีความสุขขึ้นจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่ให้กินยากระตุ้นฮอร์โมนหรือกระตุ้นการหลั่งสารอย่าเซโรโทนินก็พอแล้วรึเปล่า

—– ความหมายของชีวิต —–
แต่ถ้าความสุขเกิดจากเพียง “ความรู้สึกดีๆ ในร่างกาย” แต่เพียงอย่างเดียว ทำไมพ่อแม่ถึงยังอยากจะมีลูก? เพราะการเลี้ยงลูกนั้นต้องเจอแต่ความรู้สึกไม่ดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอดหลับอดนอน การเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เหม็นฉึ่ง การรับมือเวลาลูกงอแง แต่พอถามคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็มักจะตอบว่าลูกคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขที่สุด

หรือจริงๆ แล้วความสุขไม่ใช่เพียงสมการง่ายๆ ที่เอาความรู้สึกดีๆ ตั้งและลบด้วยความรู้สึกไม่ดี แต่เป็นการรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มีคุณค่าและมีความหมาย

ความเชื่อและวิธีคิดจึงมีผลอย่างมากว่าเราจะมองการเลี้ยงลูกอย่างไร ระหว่างการ “เป็นทาสให้กับลูกจอมเผด็จการ” หรือ “การเลี้ยงดูชีวิตใหม่ด้วยความรัก”

เหมือนดังที่นิทเช่ นักปรัชญาชื่อดังได้กล่าวไว้ “ถ้าคุณเชื่อมั่นในเหตุผล คุณจะทนรับกับทุกสถานการณ์ได้” (if you have a why, you can bear almost any how) ชีวิตที่ลำบากแต่มีความหมายอาจนำพามาซึ่งความสุขได้ และชีวิตที่แสนสบายแต่ไร้คุณค่าก็อาจจะนำพามาซึ่งความทุกข์ได้เช่นกัน

ดังนั้น แม้คนในยุคกลางจะไม่ได้มีสุขสบายเหมือนคนในสมัยนี้ แต่ถ้าเขาเชื่อในเรื่องความสุขนิรันดร์กาลในปรโลก คนคนนั้นก็อาจจะมีความสุขกว่าคนยุคใหม่ที่ไม่ได้เชื่อว่าชีวิตมีแก่นสารอะไร แค่เกิดมาใช้ชีวิตเพื่อรอวันตายและรอวันถูกลืมเท่านั้น

เราอาจจะรู้สึกว่าคนในยุคกลางที่เชื่อในปรโลกกำลังหลอกตัวเองอยู่รึเปล่า? ซึ่งคำตอบก็คือใช่ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบใดที่ความเชื่อนั้นทำให้ชีวิตเขามีความสุขและทำให้ชีวิตเขามีความหมาย

เพราะหากมองในเชิงชีววิทยาแล้ว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นไม่ได้มีความหมายพิเศษใดๆ เลย ถ้าพรุ่งนี้โลกจะแตกไป จักรวาลก็จะยังคงอยู่ต่อไปโดยไม่ทุกข์ร้อนใดๆ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นยาใหม่ๆ หรือเป็นทหารที่ปกป้องแผ่นดินแม่ ต่างก็ต้องยึดมั่นกับความเชื่อหรือความหมายอะไรบางอย่างไม่ต่างอะไรกับคนยุคกลางที่เชื่อในเรื่องความสุขในปรโลก

ฟังแล้วก็เครียดเหมือนกัน สุดท้ายแล้วความสุขขึ้นอยู่กับการหลอกตัวเองว่าชีวิตมีความหมายอย่างนั้นหรือ?

—– รู้จักตัวเอง —–
ยุคนี้คือยุคที่ความคิดแนวเสรีนิยม (liberalism) กำลังเฟื่องฟู แนวคิดนี้บอกว่าเราเองเท่านั้นที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรนำความสุขมาให้ เราจึงได้ยินเสียงพร่ำสอนว่าให้ทำไปเลย! (Just do it!) หรือจงตามเสียงของหัวใจ (Follow your passion)

แต่แนวคิดนี้ขัดแย้งกับศาสนาหลักๆ หลายศาสนา ที่บอกว่าจักรวาลก็มีกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมอยู่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นไม้บรรทัด เพราะมนุษย์นั้นมีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด จึงอาจตกเป็นทาสของซาตานเมื่อไหร่ก็ได้หากปล่อยตัวปล่อยใจทำตามทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการ

แม้กระทั่งดาร์วินก็ยังพูดถึงทฤษฏี “ยีนเห็นแก่ตัว” (selfish gene) ที่มีสมมติฐานว่าดีเอนเอจะกำกับให้มนุษย์ทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการสืบสายพันธุ์แม้ว่ามันอาจเป็นโทษต่อตัวคนๆ นั้นหรือคนอื่นๆ ก็ตามที

หลายศาสนาจึงมีแนวทางตรงกันข้ามกับแนวคิดเสรีนิยม โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ศึกษาเรื่องความสุขมากกว่าศาสนาใดในโลกนี้

พระพุทธเจ้ามีความเห็นตรงกับนักชีววิทยาที่ว่า ความสุขนั้นเกิดจากความรู้สึกในร่างกาย แต่บทสรุปของพระองค์นั้นกลับต่างออกไป

ศาสนาพุทธสอนว่าคนทั่วไปจะมองว่าความรู้สึกดีๆ ในร่างกายคือความสุข ส่วนความรู้สึกที่ไม่ดีคือความทุกข์ ดังนั้นคนเราจึงโหยหาความรู้สึกดี และวิ่งหนีความรู้สึกที่ไม่ดี

แต่ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดก็แล้วแต่ ก็ล้วนเกิดขึ้นชั่วคราวและหมดไปทั้งนั้น การวิ่งตามหาความรู้สึกสุขจึงเป็นเรื่องไม่มีวันจบ เพราะแม้ว่าจะสมหวังแต่ความสุขนั้นก็จะหมดไปในไม่ช้า ทำให้เราต้องวิ่งตามหาความสุขอยู่ร่ำไป

คนเราจะหมดทุกข์ได้ไม่ใช่เพราะว่ามีแต่ความรู้สึกดีๆ ตลอดเวลา แต่จะหมดทุกข์ก็ต่อเมื่อเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของความรู้สึกเหล่านี้ และการทำวิปัสสนาก็คือเทคนิคที่จะทำให้เข้าใจถึงความจริงข้อนี้ โดยผู้ปฏิบัติจะคอยสังเกตความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามร่างกาย เพื่อให้เห็นถึงการเกิดขึ้นและดับไปถึงความรู้สึกนั้นๆ และเข้าใจว่าการตามหาความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้ความหมาย

เมื่อเราหยุดตามหา จิตใจก็จะหยุดดิ้นรน และผู้ปฏิบัติก็จะได้พบกับความสุขความสงบที่แท้จริง

ถ้าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นถูกต้อง ความเข้าใจเรื่องความสุขของนักสังคมศาสตร์หรือนักชีววิทยาก็อาจจะคลาดเคลื่อน เพราะความสุขไม่ได้มาจากการได้ในสิ่งที่หวังหรือการได้มีความรู้สึกดีๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจความจริงในตัวเรามากน้อยเพียงใดต่างหาก

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็แทบไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันเลยว่าคนเราในยุคนี้มีความสุขกว่ามนุษย์ยุคหินบ้างรึเปล่า


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari  (อ่านรีวิวได้ใน Amazon)

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม
Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ
Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา
Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า
Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้
Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า
Sapiens ตอนที่ 15 – เมื่อยุโรปครองโลก
Sapiens ตอนที่ 16 – สวัสดีทุนนิยม
Sapiens ตอนที่ 17 – จานอลูมิเนียมของนโปเลียน
Sapiens ตอนที่ 18 – ครอบครัวล่มสลาย