แสดงละคร

20160430_Drama

“คนที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่แสดงละครโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังแสดง ย้อนกลับมาในเรื่องการศึกษาธรรมะ ซึ่งการศึกษาธรรมะคือการเจริญสติ รู้จิต รู้ว่าจิตเราคิดอะไรอยู่ จิตเราไปทางไหน อย่างมีวันหนึ่ง แฟนเราขึ้นบ้านแล้ว เขาเดินขึ้นไปก่อนแล้วเขาก็ถือของขึ้นไป แล้วเราก็มีกระเป๋าใบหนึ่งซึ่งก็คาดหวังว่าเขาจะต้องมายกให้เรา แต่วันนั้นเขาเหนื่อยมาก แล้วเขาก็ถือกระเป๋าให้เราหลายใบขึ้นไปแล้วรอบหนึ่ง ตอนนั้นเราก็รอว่าทำไมเขาถึงไม่ลงมาช่วยถือสักที ก็เลยถือขึ้นไปเองเลย จังหวะวูบหนึ่งของการที่เราเดินถือขึ้นไป เราก็จับความรู้สึกของตัวเองได้ว่าถ้าเราแบกกระเป๋าใบนี้ขึ้นไปแล้วเขาเห็นนะ เขาจะต้องรู้สึกผิด เราจับได้เลยว่าเราไม่ใสซื่อในพฤติกรรมของเรา เราไม่ได้ถือขึ้นไปเพราะโอเคที่ถือได้ แต่ถือไปเพื่อให้เขารู้สึกผิด พอจับตัวเองได้ปุ๊บ เราก็เลยหยุดพฤติกรรมนี้ของตัวเอง แล้วตะโกนเรียกว่า ‘ตัวเอง ตัวเอง มาช่วยถือหน่อย’ เขาก็บอกว่า ‘แป๊บหนึ่ง เข้าห้องน้ำอยู่ เราก็เลยรู้ว่า อ๋อ เขาเข้าห้องน้ำ อยู่ เราก็เลยสบายใจ ก็สามารถถือกระเป๋าขึ้นไปเองได้โดยที่เข้าใจว่า เขาเข้าห้องน้ำ เขาไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่อยากจะช่วยเรานะ พอขึ้นไปเขาก็ถามว่าทำไมถึงถือขึ้นมาเอง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ถือได้สบายๆ ก็เลยไม่ได้ไปหยิบยื่นความรู้สึกผิดให้กับเขา ซึ่งในชีวิตเราทำแบบนี้กันตลอดเวลา แต่เราไม่เคยจับความรู้สึกนี้ได้ คือเรามี sub text หรือทำหนึ่งอย่าง เพื่อแฝงความต้องการอีกหนึ่งอย่าง”

– รสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ)
ครูสอนการแสดงและผู้อำนวยการ The Drama Academy
a day BULLETIN issue 398, 7-13 March 2016
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, เอกพล บรรลือ
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร


อ่านประสบการณ์ถือกระเป๋าขึ้นบันไดของครูเงาะ ก็พลอยนึกถึงวันหนึ่งในชีวิตวัยเด็ก

ตอนนั้นผมน่าจะอยู่ม.1  โดนน้าตีจนน่องขาด้านหลังมีเลือดออกซิบๆ

อยากจะไปฟ้องแม่แต่กลัวจะดูเป็นเด็กขี้ฟ้อง เลยทำฟอร์มเดินไปที่ออฟฟิศ (ตอนนั้นแม่มีโฮมออฟฟิศอยู่ซอยถัดไป มีพนักงานอยู่ 3-4 คน) ผมพยายามเดินกะเผลกๆ ไปมารอบๆ ออฟฟิศแล้วเอามือแตะๆ ที่ขา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครทัก จนผมถอดใจแล้วเดินกลับบ้านแบบจ๋อยๆ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน

ขนาดเด็ก 12 ขวบยังแก่แดดขนาดนี้ ผู้ใหญ่จะแก่แดดขนาดไหน

“A man always has two reasons for doing anything: a good reason and the real reason.”

“ไม่ว่าเราจะทำอะไร เรามีเหตุผลสองข้อเสมอ คือเหตุผลที่ดี กับเหตุผลที่แท้จริง”

– J. P. Morgan

เวลาเราทำอะไร เรามักจะมีเหตุผลที่ดีที่เอาไว้บอกตัวเองและคนอื่น

แต่บ่อยครั้ง เหตุผลที่เราบอกตัวเองกับเหตุผลที่แท้จริงก็ไม่เหมือนกัน

เช่น เราอาจจะอยากลงแข่งมาราธอน โดยมีเหตุผลว่าอยากสุขภาพแข็งแรงและลองพิชิตการวิ่งระยะไกลนี้ดู

แต่เหตุผลที่ซ่อนอยู่ลึกๆ อาจเป็นเพียงเพราะว่าเราต้องการจะอัพรูปลงเฟซบุ๊คเพื่อประกาศก้องว่า “กูวิ่งมาราธอนแล้วนะ เก่งป่ะล่ะ”

เราอาจจะทำงานกลับบ้านดึก โดยให้เหตุผลว่างานเยอะหรือทุ่มเทให้กับองค์กร แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นเพราะเราไม่อยากกลับไปเจอคนที่บ้านก็ได้

เราอาจจะนุ่งขาวห่มขาวถือศีล 8 โดยให้เหตุผลว่าเราอยากศึกษาธรรมะและพบความสงบ แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นเพียงเราเสพติดความรู้สึกว่าเราเป็นคนดีกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง


แล้วผมมีข้อแนะนำอะไรบ้าง?

จริงๆ ก็รู้สึกกระดากเหมือนกันที่จะมาแนะนำเรื่องเหล่านี้ เพราะผมเองก็ยังฟอร์มจัด ปากไม่ตรงกับใจ และมักมีเหตุผลลึกๆ ซ่อนอยู่ในการกระทำเหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้แนะนำตัวเอง ก็คงนึกออกสามข้อ

ข้อแรกคือกลับไปอ่านบทความเรื่องสองเอสที่ควรจำไว้เสมอ ว่าคนเรานั้นมีความต้องการพื้นฐานอยู่แค่สองอย่างคือ Significance และ Security

คนเราทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ และคนเราทุกคนอยากได้ความรู้สึกปลอดภัย สิ่งที่ผลักดันการกระทำของเรามักจะเป็นหนึ่งในความต้องการสองอย่างนี้

การที่ครูเงาะอยากให้แฟนมาถือกระเป๋าให้ก็เพราะว่าอยากให้แฟนแสดงออกว่าครูเงาะเป็นคนสำคัญ

การที่เราอยากลงเฟซบุ๊คเรื่องวิ่งมาราธอน ก็เพราะว่าเราอยากได้การยอมรับ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับความสำคัญ (significance) เช่นกัน

การที่เราทำงานกลับบ้านดึก เพราะรู้สึกว่าที่ทำงานนั้นปลอดภัยและสบายใจกว่า (security) อยู่บ้าน

คำแนะนำข้อที่สองคือเราต้องคอยถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มีอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนกันแน่

ถ้ามีเหตุผลที่ดี ลองตัดเหตุผลนั้นทิ้งไปแล้วดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังอีก?

ข้อสุดท้ายก็คือเมื่อเราค้นเจอแล้วว่าเหตุผลที่ขับเคลื่อนอยู่หลังฉากนั้นคืออะไร ก็ลองดูซิว่าเหตุผลนั้นมันเป็นพลังงานบวกหรือพลังงานลบ

ถ้าเป็นพลังงานลบก็อย่าเพิ่งไปทำ รอให้เป็นพลังงานบวกก่อนแล้วค่อยทำ

เหมือนกรณีครูเงาะที่ตอนแรกก็จะถือกระเป๋าขึ้นบันไดด้วยแรงขับเคลื่อนที่เป็นพลังงานลบ (อยากให้แฟนรู้สึกผิด) แต่พอเข้าใจแล้วว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ครูเงาะจึงถือกระเป๋าขึ้นบันไดเองด้วยพลังงานบวก

การกระทำเดียวกัน แต่เจตนาต่างกัน ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันเสมอ อย่างน้อยก็ผลลัพธ์ในใจเรา

เมื่อเราคอยสำรวจตัวเองเป็นประจำว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนทุกการกระทำ เราก็จะเป็นคนที่ตรงไปตรงมา

และจะได้เลิกเล่นละครตบตาตัวเองเสียที


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Issuu: a day BULLETIN issue 398, 7-13 March 2016

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

นิทานเครื่องบินตก

20160429_20160429

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

คุณหมอ ทนายความ บาทหลวง และเด็กชายวัยห้าขวบกำลังไปเที่ยวเกาะด้วยกันด้วยเที่ยวบินส่วนตัว

ระหว่างที่บินอยู่นั้น เกิดปัญหาขัดข้องกับเครื่องยนต์ นักบินพยายามแก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย จึงหันไปบอกผู้โดยสารทั้งสี่ว่า ต้องสละเครื่องบินแล้วครับ พูดเสร็จนักบินก็คว้าร่มชูชีพแล้วกระโดดหนีไป

โชคร้ายที่ร่มชูชีพเหลืออยู่แค่ 3 ชุด

คุณหมอคว้าร่มชูชีพขึ้นมาแล้วพูดว่า “ผมเป็นหมอ ผมยังต้องช่วยชีวิตคนอีกมาก ผมขออยู่ต่อแล้วกันนะ” แล้วก็กระโดดออกไป

ทนายความเห็นดังนั้นก็รีบคว้าร่มชูชีพบ้าง “ผมเป็นทนายความ และทนายความอย่างพวกเรานั้นฉลาดหลักแหลมที่สุด ประเทศชาติจำเป็นต้องมีคนอย่างผมอยู่” ว่าแล้วก็กระโดดออกไป

บาทหลวงหยิบร่มชูชีพอันสุดท้ายขึ้นมาแล้วยื่นไปให้เด็กน้อย “พ่อแก่มากแล้ว ยังไงก็อยู่ได้อีกไม่นาน ลูกเอาร่มชูชีพนี้ไปเถอะ ขอให้ลูกมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขนะ”

เด็กน้อยยื่นร่มชูชีพคืนให้บาทหลวง “ไม่เป็นไรครับหลวงพ่อ คุณอาคนที่ฉลาดที่สุดในโลกเขาหยิบกระเป๋านักเรียนผมไปครับ”


อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

สมบูรณ์แบบ

20160428_Perfect

“Perfection is achieved not when there is nothing more to add, but when there is nothing left to take away”

ความสมบูรณ์แบบไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่สามารถเพิ่มอะไรได้อีกแล้ว แต่เกิดจากการที่เราไม่สามารถเอาอะไรออกไปได้อีกแล้วต่างหาก

– Antoine de Saint Exupéry


Search Engine
สมัยเป็นนักเรียนวิศวะปี 4 สิ่งหนึ่งที่ผมขาดไม่ได้เลยคือ Search Engine ชื่อดังอย่าง Yahoo, Altavista และ Lycos เพราะต้องใช้มันในการหาข้อมูลสำหรับทำ senior project

หน้าตาของ Search Engine สมัยนั้นเป็นอย่างนี้ครับ

This slideshow requires JavaScript.

พอเข้าทำงานที่รอยเตอร์ปี 2003 เพื่อนที่ออฟฟิศจึงแนะนำให้รู้จัก Google

ความรู้สึกแรกที่ใช้งานคือทำไมหน้าตามันจืดจัง

Google

และอีกเพียงไม่กี่ปีต่อมากูเกิ้ลก็ครองโลก

โทรศัพท์มือถือ
กลางปี 2007 ผมได้เป็นหัวหน้าทีมซัพพอร์ต และสิ่งหนึ่งที่บริษัทจะให้หัวหน้าทีมซัพพอร์ตทุกคนก็คือ Blackberry สมาร์ทโฟนที่เจ๋งและดังที่สุดในยุคนั้น เพราะขนาดเล็กพกพาง่าย แถมแป้นคียบอร์ดยังเป็นปุ่ม QWERTY ทำให้เขียนอีเมล์หากันได้อย่างรวดเร็ว สมัยนั้นใครๆ ก็ใช้ BB ส่งข้อความหากัน เพราะฟรีและรวดเร็วกว่า sms เยอะ

SONY DSC

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สตีฟ จ๊อบส์และแอปเปิ้ลก็ทำให้โลกตะลึงด้วยการสร้างโทรศัพท์มือถือที่มีแค่ปุ่มเดียว

IMG_2298

แล้วอีกแค่สองปีต่อมาไอโฟนก็ครองโลก

เก็บบ้าน
ถ้าใครเคยได้เรียนรู้หลักการจัดบ้านแบบ KonMari มาแล้ว จะเข้าใจว่าสิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือคัดเก็บแต่ข้าวของที่ spark joy เท่านั้น ของชิ้นอื่นๆ ที่ไม่ได้สร้างความชื่นใจให้กับเราแล้ว จงกล่าวขอบคุณแล้วปล่อยให้เขาไปทำหน้าที่กับเจ้านายคนอื่นดีกว่า

วิธีแบบ KonMari จะทำให้เราเหลือหนังสือและเสื้อผ้าในตู้น้อยลงไปกว่าครึ่ง แต่ที่แปลกคือเรากลับรู้สึกว่าเรา “มีครบ” ยิ่งกว่าเดิม อาการที่รู้สึกว่าต้องซื้อของมาเพิ่มนั้นแทบจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง

วิธีการจัดบ้านแบบคอนมาริ (จริงๆ ต้องอ่านว่าคมมาริ) กลายเป็นกระแสโด่งดังไปถึงอเมริกาและยุโรป และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อย่าง คนโด มาริเอะ ก็ได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกจากญี่ปุ่นที่ถูกจัดอันดับโดยนิตยสาร Time ว่าเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

เขียนบล็อก anontawong.com 
เวลาผมเขียนบล็อกแล้วมานั่งแก้ไข ส่วนใหญ่ผมจะไม่เขียนอะไรเพิ่ม เพราะเนื้อหาทุกอย่างอยู่ในนั้นหมดแล้ว

การแก้ไขจึงเน้นไปที่การตัดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือไม่สอดคล้องกับเนื้อหาหลักออก

การเขียนบทความให้กระชับ แต่เนื้อหาครบถ้วนและกินใจคนนั้นเป็นอะไรที่ยากที่สุดในโลก

การใช้ชีวิต
ในวัยยี่สิบกว่าๆ ผมได้ลองทำอะไรหลายอย่างมาก เช่นไปเรียน sound engineering จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยกับคนรุ่นใหม่ ทำวงดนตรีไปออดิชั่นตามผับ เตะบอลสัปดาห์ละสองครั้ง เล่นดนตรีออกงานของบริษัทเดือนเว้นเดือน เที่ยวผับศุกร์เว้นศุกร์ เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและการพบปะผู้คน

พอมาถึงวัยสามสิบกว่าๆ กิจกรรมเริ่มลดน้อยลง ยิ่งมีครอบครัวมีลูกแล้วด้วย วันๆ หนึ่งผมจึงทำได้แค่ไม่กี่อย่าง ตอนเช้าเขียนบล็อก กลางวันทำงาน ค่ำอยู่กับครอบครัวก็หมดวันแล้ว

ถ้าวัยยี่สิบกว่าๆ คือวัยแห่งการทดลองว่าชอบอะไร  วัยสามสิบกว่าๆ คือวัยที่พอจะรู้แล้วว่าทางของเราคือทางไหน และต้องตัดอะไรออกไปบ้าง เพื่อจะทำกิจกรรมให้น้อยลง แต่ทำให้ “ลึก” ขึ้น

“Perfection is achieved not when there is nothing more to add, but when there is nothing left to take away”

อ่านประโยคนี้แล้วผมเห็นภาพผู้ชายสองคน

คนหนึ่งเป็นเศรษฐีพันล้าน มีบ้านหลังใหญ่  มีภรรยาสวย และมีลูกๆ ที่น่ารักสามคน มีลูกน้องและบริวารมากมาย กิจการของเขากำลังเติบโตและเขายังคงมุ่งมั่นที่จะขยายกิจการไปเรื่อยๆ

อีกคนเป็นนักบวช ไม่มีบ้านของตัวเอง ออกจาริกไปด้วยตัวคนเดียว นอกจากอัฐบริขารก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการอะไรอีกแล้วเช่นกัน

คุณคิดว่าชีวิตของใคร “สมบูรณ์แบบ”กว่ากันครับ?


ขอบคุณภาพจาก Internet Archive Wayback Machine: Yahoo, Altavista, Lycos, Google

Wikipedia: Blackberry, Flickr: iPhone


อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

6 เหตุผลที่เราไม่ควรนินทาใคร

20160426_Gossip

1. คนถูกนินทาไม่ได้ดีขึ้น – เพราะเขาไม่ได้ยินว่าเรานินทาเขาเรื่องอะไร ดังนั้นต่อให้เรานินทาเท่าไหร่เขาก็ไม่ปรับปรุงตัว การนินทาจึงไม่ได้ส่งผลในทางดีใดๆ มากไปกว่าความสนุกปาก

2. ทำลายความไว้ใจ – ถ้าคนที่ถูกนินทาบังเอิญผ่านมาได้ยินจังหวะที่เรากำลังนินทาเขาพอดี ความไว้ใจและนับถือที่เขามีให้เราจะพังทลายและกอบกู้กลับมายากมาก เชื่อผม เพราะผมเคยโดนมากับตัว (นินทาเพื่อนสนุกปากแล้วหันหลังไปเจอมันพอดี) กว่าจะกลับมามองหน้ากันติดก็ต้องใช้เวลานานอยู่

3. ก่อพลังงานลบโดยใช่เหตุ – คำว่านินทาก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการพูดถึงคนอื่นในทางลบ และเมื่อเราเข้าไปอยู่ในบทสนทนานั้นแล้ว เราก็จะรับพลังงานลบมา และมันจะอยู่กับเราไปตลอดวัน ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจ

4. ทำให้สมองฝ่อ – Great minds discuss ideas, average minds discuss events, small minds discuss people. – Eleanor Roosevelt

5. โดนนินทากลับ – คนที่พร้อมจะนินทาคนอื่นให้เราฟัง ก็คือคนที่พร้อมที่จะนินทาเราให้คนอื่นฟังเช่นกัน

6. มันไม่เท่ – คนจริงเขาไม่นินทากัน มีอะไรไม่พอใจก็บอกกันตรงๆ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ถ้าบอกตรงๆ ไม่ได้จริงๆ (เช่นเขาอยู่ตำแหน่งสูงกว่าหรือเป็นคนเจ้าอารมณ์) เราก็อาจจะฝากคนอื่นที่เขานับถือกันให้ไปบอกก็ได้

จริงอยู่ โลกนี้ไม่มีใครไม่โดนนินทา

แต่เราสามารถทำให้โลกนี้มีคนที่ไม่นินทาใครได้นะครับ

—-

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ข้อสอบปรนัย

20160425_Choice

การใช้ชีวิตของคนเราบางทีก็เหมือนทำข้อสอบปรนัย

ทางเลือกที่เราเห็นมักจะมีสองสามทาง

และในบางกรณี คำตอบอาจจะเป็น “ถูกทุกข้อ” ก็ได้ เพราะไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ทั้งนั้น

เวลาที่เราจมจ่อมกับปัญหาหนักๆ และเราบ่นกับใครๆ ว่าไม่มีทางออกนั้น จริงๆ แล้วคือยังไม่มีทางออกที่เราชอบหรือที่ง่ายพอต่างหาก

ซึ่งถ้ารู้ตัวว่าตกอยู่ในสถานการณ์นี้ก็ทำได้สองอย่าง

คือเลือกทางออกที่ไม่ชอบน้อยที่สุด

หรือไม่ก็สร้างทางเลือกเพิ่ม เพราะเราไม่ได้ต้องเลือกแค่ ก. ข. ค. ง. ซะหน่อย

สำหรับคนที่หัวใจเปิดกว้างเพียงพอ ชีวิตจะไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่จะมีช้อยส์แค่สี่ข้อ

ชีวิตจะเป็นข้อสอบอัตนัยที่เราจะเขียนอะไรลงไปก็ได้ที่คิดว่ามันตอบโจทย์

และเขาจะไม่ปล่อยให้คนอื่นมาให้คะแนนหรือให้ใครมาตัดสินว่าเขาสอบตกหรือสอบผ่าน

เพราะหนึ่งคำถาม มีได้หลายคำตอบเสมอ

—-

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com