แสดงละคร

20160430_Drama

“คนที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่แสดงละครโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังแสดง ย้อนกลับมาในเรื่องการศึกษาธรรมะ ซึ่งการศึกษาธรรมะคือการเจริญสติ รู้จิต รู้ว่าจิตเราคิดอะไรอยู่ จิตเราไปทางไหน อย่างมีวันหนึ่ง แฟนเราขึ้นบ้านแล้ว เขาเดินขึ้นไปก่อนแล้วเขาก็ถือของขึ้นไป แล้วเราก็มีกระเป๋าใบหนึ่งซึ่งก็คาดหวังว่าเขาจะต้องมายกให้เรา แต่วันนั้นเขาเหนื่อยมาก แล้วเขาก็ถือกระเป๋าให้เราหลายใบขึ้นไปแล้วรอบหนึ่ง ตอนนั้นเราก็รอว่าทำไมเขาถึงไม่ลงมาช่วยถือสักที ก็เลยถือขึ้นไปเองเลย จังหวะวูบหนึ่งของการที่เราเดินถือขึ้นไป เราก็จับความรู้สึกของตัวเองได้ว่าถ้าเราแบกกระเป๋าใบนี้ขึ้นไปแล้วเขาเห็นนะ เขาจะต้องรู้สึกผิด เราจับได้เลยว่าเราไม่ใสซื่อในพฤติกรรมของเรา เราไม่ได้ถือขึ้นไปเพราะโอเคที่ถือได้ แต่ถือไปเพื่อให้เขารู้สึกผิด พอจับตัวเองได้ปุ๊บ เราก็เลยหยุดพฤติกรรมนี้ของตัวเอง แล้วตะโกนเรียกว่า ‘ตัวเอง ตัวเอง มาช่วยถือหน่อย’ เขาก็บอกว่า ‘แป๊บหนึ่ง เข้าห้องน้ำอยู่ เราก็เลยรู้ว่า อ๋อ เขาเข้าห้องน้ำ อยู่ เราก็เลยสบายใจ ก็สามารถถือกระเป๋าขึ้นไปเองได้โดยที่เข้าใจว่า เขาเข้าห้องน้ำ เขาไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่อยากจะช่วยเรานะ พอขึ้นไปเขาก็ถามว่าทำไมถึงถือขึ้นมาเอง เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ถือได้สบายๆ ก็เลยไม่ได้ไปหยิบยื่นความรู้สึกผิดให้กับเขา ซึ่งในชีวิตเราทำแบบนี้กันตลอดเวลา แต่เราไม่เคยจับความรู้สึกนี้ได้ คือเรามี sub text หรือทำหนึ่งอย่าง เพื่อแฝงความต้องการอีกหนึ่งอย่าง”

– รสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ)
ครูสอนการแสดงและผู้อำนวยการ The Drama Academy
a day BULLETIN issue 398, 7-13 March 2016
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, เอกพล บรรลือ
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร


อ่านประสบการณ์ถือกระเป๋าขึ้นบันไดของครูเงาะ ก็พลอยนึกถึงวันหนึ่งในชีวิตวัยเด็ก

ตอนนั้นผมน่าจะอยู่ม.1  โดนน้าตีจนน่องขาด้านหลังมีเลือดออกซิบๆ

อยากจะไปฟ้องแม่แต่กลัวจะดูเป็นเด็กขี้ฟ้อง เลยทำฟอร์มเดินไปที่ออฟฟิศ (ตอนนั้นแม่มีโฮมออฟฟิศอยู่ซอยถัดไป มีพนักงานอยู่ 3-4 คน) ผมพยายามเดินกะเผลกๆ ไปมารอบๆ ออฟฟิศแล้วเอามือแตะๆ ที่ขา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครทัก จนผมถอดใจแล้วเดินกลับบ้านแบบจ๋อยๆ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน

ขนาดเด็ก 12 ขวบยังแก่แดดขนาดนี้ ผู้ใหญ่จะแก่แดดขนาดไหน

“A man always has two reasons for doing anything: a good reason and the real reason.”

“ไม่ว่าเราจะทำอะไร เรามีเหตุผลสองข้อเสมอ คือเหตุผลที่ดี กับเหตุผลที่แท้จริง”

– J. P. Morgan

เวลาเราทำอะไร เรามักจะมีเหตุผลที่ดีที่เอาไว้บอกตัวเองและคนอื่น

แต่บ่อยครั้ง เหตุผลที่เราบอกตัวเองกับเหตุผลที่แท้จริงก็ไม่เหมือนกัน

เช่น เราอาจจะอยากลงแข่งมาราธอน โดยมีเหตุผลว่าอยากสุขภาพแข็งแรงและลองพิชิตการวิ่งระยะไกลนี้ดู

แต่เหตุผลที่ซ่อนอยู่ลึกๆ อาจเป็นเพียงเพราะว่าเราต้องการจะอัพรูปลงเฟซบุ๊คเพื่อประกาศก้องว่า “กูวิ่งมาราธอนแล้วนะ เก่งป่ะล่ะ”

เราอาจจะทำงานกลับบ้านดึก โดยให้เหตุผลว่างานเยอะหรือทุ่มเทให้กับองค์กร แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นเพราะเราไม่อยากกลับไปเจอคนที่บ้านก็ได้

เราอาจจะนุ่งขาวห่มขาวถือศีล 8 โดยให้เหตุผลว่าเราอยากศึกษาธรรมะและพบความสงบ แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นเพียงเราเสพติดความรู้สึกว่าเราเป็นคนดีกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง


แล้วผมมีข้อแนะนำอะไรบ้าง?

จริงๆ ก็รู้สึกกระดากเหมือนกันที่จะมาแนะนำเรื่องเหล่านี้ เพราะผมเองก็ยังฟอร์มจัด ปากไม่ตรงกับใจ และมักมีเหตุผลลึกๆ ซ่อนอยู่ในการกระทำเหมือนกัน

แต่ถ้าจะให้แนะนำตัวเอง ก็คงนึกออกสามข้อ

ข้อแรกคือกลับไปอ่านบทความเรื่องสองเอสที่ควรจำไว้เสมอ ว่าคนเรานั้นมีความต้องการพื้นฐานอยู่แค่สองอย่างคือ Significance และ Security

คนเราทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ และคนเราทุกคนอยากได้ความรู้สึกปลอดภัย สิ่งที่ผลักดันการกระทำของเรามักจะเป็นหนึ่งในความต้องการสองอย่างนี้

การที่ครูเงาะอยากให้แฟนมาถือกระเป๋าให้ก็เพราะว่าอยากให้แฟนแสดงออกว่าครูเงาะเป็นคนสำคัญ

การที่เราอยากลงเฟซบุ๊คเรื่องวิ่งมาราธอน ก็เพราะว่าเราอยากได้การยอมรับ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับความสำคัญ (significance) เช่นกัน

การที่เราทำงานกลับบ้านดึก เพราะรู้สึกว่าที่ทำงานนั้นปลอดภัยและสบายใจกว่า (security) อยู่บ้าน

คำแนะนำข้อที่สองคือเราต้องคอยถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มีอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนกันแน่

ถ้ามีเหตุผลที่ดี ลองตัดเหตุผลนั้นทิ้งไปแล้วดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังอีก?

ข้อสุดท้ายก็คือเมื่อเราค้นเจอแล้วว่าเหตุผลที่ขับเคลื่อนอยู่หลังฉากนั้นคืออะไร ก็ลองดูซิว่าเหตุผลนั้นมันเป็นพลังงานบวกหรือพลังงานลบ

ถ้าเป็นพลังงานลบก็อย่าเพิ่งไปทำ รอให้เป็นพลังงานบวกก่อนแล้วค่อยทำ

เหมือนกรณีครูเงาะที่ตอนแรกก็จะถือกระเป๋าขึ้นบันไดด้วยแรงขับเคลื่อนที่เป็นพลังงานลบ (อยากให้แฟนรู้สึกผิด) แต่พอเข้าใจแล้วว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ครูเงาะจึงถือกระเป๋าขึ้นบันไดเองด้วยพลังงานบวก

การกระทำเดียวกัน แต่เจตนาต่างกัน ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันเสมอ อย่างน้อยก็ผลลัพธ์ในใจเรา

เมื่อเราคอยสำรวจตัวเองเป็นประจำว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนทุกการกระทำ เราก็จะเป็นคนที่ตรงไปตรงมา

และจะได้เลิกเล่นละครตบตาตัวเองเสียที


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Issuu: a day BULLETIN issue 398, 7-13 March 2016

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s