7 วิธีดูว่าสไลด์เราดีพอรึยัง

20180331_7slides

การทำสไลด์เพื่อการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น Powerpoint หรือ Keynote คืองานที่คนทำงานเกือบทุกคนต้องได้ทำกัน

อย่างที่ผมเคยเขียนไปว่าเราพรีเซ้นต์เพื่อจะเปลี่ยนคนฟัง เปลี่ยนจากคนไม่รู้ให้กลายเป็นรู้ เปลี่ยนจากคนที่ไม่สนใจให้กลายเป็นสนใจ เปลี่ยนจากคนตั้งแง่ให้กลายมาเป็นพวกเดียวกับเรา

ดังนั้น เมื่อเราทำสไลด์เสร็จแล้ว เราควรตรวจทานให้ดีว่าสไลด์ของเรานั้นดีเท่าที่มันควรจะเป็นรึยัง โดยผมมีวิธีที่ใช้เป็นประจำและเห็นว่าได้ผลที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

1. ลองซ้อมพรีเซ้นต์ดูซักรอบนึงก่อน
ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ซ้อมก่อนพรีเซนต์จริงเลย โดยน่าจะมีสองเหตุผลหลัก คือทำเสร็จแบบเผาขน หรือไม่ก็มั่นใจว่าตัวเองทำได้ดีอยู่แล้ว

แต่การได้ซ้อมพรีเซนต์ก่อนนั้นมีประโยชน์มากๆ ขนาดสตีฟ จ๊อบส์เองยังซ้อมพรีเซนต์หลายสิบเที่ยว แล้วเราเก่งมาจากไหนถึงคิดว่าจะทำได้ดีโดยไม่ต้องซ้อม

ควรจะซ้อมโดยให้เพื่อนซักหนึ่งคนมาช่วยฟังและจับเวลา แต่ถ้าทำไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ซ้อมด้วยการพูดคนเดียวเบาๆ ที่โต๊ะก็ยังดี

2.คนฟังจำอะไรได้บ้าง
เมื่อซ้อมเสร็จแล้ว ลองถามเพื่อนว่าจำอะไรได้บ้าง และสิ่งที่เขาจำได้นั้นใช่แก่นสารของเรื่องที่เราอยากนำเสนอรึเปล่า ถ้าเพื่อนบอกว่าจำอะไรไม่ค่อยได้ หรือสิ่งที่เขาจำได้ดันไม่ใช่เรื่องที่ควรจำ นั่นเป็นสัญญาณว่าเราต้องปรับสไลด์หรือวิธีการนำเสนอใหม่

ถ้าเป็นกรณีที่เราซ้อมคนเดียว ก็ต้องถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า เมื่อเราพูดจบแล้ว คิดว่าคนฟังจะจำอะไรได้บ้าง

3.เราพูดยาวเกินไปรึเปล่า
เราควรจะพูดให้น้อยกว่าเวลาที่กำหนดเสมอ (อ่านบทความ “น้อยไปนิดนึงแล้วจะพอดีเอง“) จะได้สามารถพูดได้โดยไม่รีบ และมีเวลาเน้นย้ำบางเนื้อหาหรือบางถ้อยคำที่เราอยากให้ติดตัวคนฟังไป

ถ้าซ้อมแล้วใช้เวลาเกิน ควรกลับมาตัดเนื้อหาออก ไม่ใช่พยายามพูดให้เร็วขึ้น ทักษะของการลดทอนเนื้อหาให้เหลือแต่แก่นเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ในยุคที่ข้อมูลมีมากมายเกินความจำเป็น

4.สไลด์ของเราเคารพคนฟังเพียงพอมั้ย?
ให้คิดเสมอว่าคนฟังไม่รู้อะไรเลย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้โง่ด้วย

Assume the audience knows nothing and assume they are not stupid.

เราเห็นสไลด์นี้หลายสิบรอบแต่เขาจะเห็นมันเป็นรอบแรก ดังนั้นเนื้อหาส่วนไหนที่ควรจะปูพื้นให้คนฟังได้ก็ควรทำ อย่างน้อยที่สุดถ้าจะมีตัวย่อหรือชื่อเฉพาะอะไรโผล่ขึ้นมาในสไลด์ของเรา ต้องให้แน่ใจว่าคนฟังรู้ว่าชื่อเฉพาะเหล่านั้นหมายถึงอะไร

ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเชื่อมั่นว่าคนฟังของเราฉลาดพอที่จะเข้าใจเนื้อหาได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องอธิบายยิบย่อยจนการพรีเซ็นต์ของเรายืดยาวเกินกว่าเหตุ

5.แต่ละสไลด์ทำให้คนฟังประหลาดใจรึเปล่า?
Derek Sivers เล่าว่า เวลาที่เขาเตรียมตัวจะขึ้นพูด TED Talk สไลด์ไหนที่ไม่ทำให้คนดูเซอร์ไพรส์เขาจะตัดออก

I try to leave out slides that don’t surprise the audience.

ดังนั้นสไลด์ไหนที่พูดไปแล้วไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนฟังเราก็ควรลบทิ้ง เหลือไว้เพียงสไลด์ที่มี insight ให้คนฟังได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือสไลด์ที่ทำให้คนฟัง “รู้สึก” ไปกับเราได้ ไม่ว่าจะสุข เศร้า หรือซึ้ง

แต่ถ้าสไลด์ไหนดูแล้วเฉยๆ แถมพูดเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ ก็ตัดทิ้งไปได้เลย

6. แต่ละสไลด์มีตัวนำสายตาหรือไม่
อดีตหัวหน้าชื่อซุปปี้เคยสอนผมว่า

When the audience sees your slide, there should be no doubt where they should look at.

ซึ่งหมายความว่า เวลาที่เราเปิดแต่ละสไลด์ขึ้นมา มันควรจะมีตัวนำสายตาให้คนฟังมองไปที่จุดเดียวกัน เขาจะได้เข้าใจสิ่งที่เราพูดทันที ซึ่งทำได้โดยการ

  • มี 1 key message ต่อ 1 สไลด์
  • พาดหัวด้วย key message
  • มีฟอร์แมตที่เสมอต้นเสมอปลาย (เช่นพาดหัวที่เดิมเสมอ)
  • (optional) ค่อยๆ โชว์เนื้อหาขึ้นมาทีละส่วนด้วย animation
  • (optional) มีรูปประกอบที่เตะตาและสื่อสารเนื้อหาหลักของสไลด์นั้นได้

ความผิดพลาดที่คนพรีเซนต์มักจะทำกันคือยัดเนื้อหาลงไปในสไลด์เยอะจนเกินไป พอเปิดสไลด์ขึ้นมา คนฟังก็เลยงง ไม่รู้ว่าจะมองตรงไหนดี เขาเลยใช้เวลาไปกับการกวาดสายตาบนสไลด์จนไม่มีสมาธิฟังสิ่งที่เราพูด

7. พรีเซนต์ของเราตอบ 3 คำถามนี้รึเปล่า
เทคนิคนี้ได้มาจากหนังสือ TED Talks: The Official TED Guide to Public Speaking ที่เขียนโดย Chris Anderson (เจ้าของลิขสิทธิ์ TED) คือการนำเสนอของเราต้องบอกได้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร (What?) ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ (So what?) แล้วจากนี้ไปจะเป็นยังไงต่อหรือผู้ฟังสามารถจะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้างรึเปล่า (Now what?)

What? So what? Now what?

สไลด์ส่วนใหญ่น่าจะมี What อยู่แล้ว แต่หากเรามี So what ก็จะทำให้คนสนใจและให้คุณค่ากับสิ่งที่เราพูดมากขึ้น และ Now what ก็จะทำให้คนเกิด action หลังจากที่การพรีเซนต์ของเราได้ “เปลี่ยน” เค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และนี่คือ 7 วิธีที่ผมเชื่อว่าจะทำให้การนำเสนอของคุณดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

ลองเอาไปใช้ดูนะครับ


หนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ พิมพ์ครั้งที่ 3 แล้วนะครับ!

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน เวลา 12.15-13.00 ผมจะไปเซ็นหนังสือที่บู๊ธซีเอ็ด งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ แวะมาทักทายกันได้นะครับ!

พบบทความใหม่ได้ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings

BookAdvertise

 

นิทานสองทาส

20180323_twoslaves

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ณ พระราชวังแห่งหนึ่ง พระราชาได้เรียกทาสสองคนให้มาเข้าเฝ้า

“เจ้าทั้งสองได้รับใช้ข้าอย่างซื่อสัตย์มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ข้าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พรุ่งนี้ข้าจะปล่อยให้เจ้าได้เป็นอิสระ”

ทาสทั้งสองดีใจจนแทบกระโดดกอดกัน

“แต่ก่อนที่เจ้าจะไป ข้ามีสิ่งสุดท้ายที่อยากขอจากพวกเจ้า ข้าอยากให้เจ้าทำกระเป๋าให้ข้าคนละใบ จะหน้าตาแบบไหนหรือขนาดใดก็ได้”

เมื่อกลับถึงที่พัก ทาสคนแรกบอกกับตัวเองว่า

“เรารับใช้พระราชามาก็หลายสิบปีแล้ว เหนื่อยมาพอแล้ว พรุ่งนี้เราก็เป็นไทแล้ว วันนี้ขอสบายๆ ซักวันแล้วกัน”

พูดจบทาสก็ทำกระเป๋าผ้าขนาดเท่าฝ่ามือแล้วเข้านอน

ส่วนทาสคนที่สองบอกกับตัวเองว่า

“เรารับใช้พระราชามาก็หลายสิบปีแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญูที่ท่านได้ชุบเลี้ยงเรามา เราต้องทำกระเป๋าที่ดีที่สุด สวยที่สุด และใหญ่ที่สุดเพื่อให้สมพระเกียรติพระองค์ท่าน”

ว่าแล้วทาสคนที่สองก็ตั้งหน้าตั้งตาเย็บกระเป๋าจนถึงเช้า

รุ่งขึ้น เมื่อทาสทั้งสองมาเข้าเฝ้าพระราชาเพื่อถวายกระเป๋า พระราชาก็ตรัสว่า

“ตามข้ามา”

พระราชาเดินนำทาสทั้งสองไปยังท้องพระคลังที่เต็มไปด้วยเพชรนิลจินดามากมาย

“เชิญหยิบอะไรก็ได้ในห้องนี้ใส่กระเป๋าที่เจ้าทำมา มันคือของขวัญที่ข้าอยากมอบให้เจ้าในวันแห่งอิสรภาพนี้”

—–

ขอบคุณนิทานจาก Quora: Ian Noble’s answer to What is your favorite fable?

ความฝันหมดอายุ

20180329_expireddreams

ตอนเด็กๆ เราอาจเคยบอกตัวเองว่า โตขึ้นอยากเข้ามหาลัยนี้ เรียนจบแล้วอยากทำงานบริษัทนี้ หรือมีเงินแล้วจะบินไปดูทีมฟุตบอลที่ตัวเองชอบ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลง

การศึกษาอาจมีทางเลือกใหม่ บริษัทในฝันอาจกำลังขาดทุนอย่างหนัก นักเตะที่เคยคลั่งไคล้อาจแขวนสตั๊ดไปหมดแล้ว

และที่สำคัญที่สุด ตัวเราในวันนี้ก็ไม่ใช่เราคนเดิมกับตอนที่ความฝันนั้นเกิดขึ้นมา

การทำตามความฝันเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสำรวจตัวเองว่าความฝันนั้นมันยังมีความหมายและสอดคล้องกับตัวตนของเรารึเปล่า

ถ้าฝันนั้นไม่ได้ spark joy สำหรับเราอีกต่อไป ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่จะวางมันลง

ไม่เหยาะแหยะกับความฝัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดกับความฝันที่หมดอายุไปแล้ว

จะได้เอาเวลาไปทุ่มเทแรงกายแรงใจกับสิ่งที่ใช่กับเราจริงๆ ครับ

—–

ผมจะไปเซ็นหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ บู๊ธซีเอ็ด วันเสาร์ที่ 7 เมษายน เวลา 12.15-13.00 มาเจอกันได้นะครับ

คนที่ไม่ยอมเสียเปรียบ

20180328_disadvantage

วันหนึ่งอาจกลายเป็นคนไม่ยอมเสียสละ

เพราะชุดความคิดของสองอย่างนี้คล้ายคลึงกันมาก จนบางทีความเคยชินก็ทำให้เราเผลอตัว กลายเป็นคนแล้งน้ำใจในสถานการณ์ที่ควรมีน้ำใจ

พระท่านจึงสอนให้ทำบุญ ไม่ใช่เพื่อจะได้บุญ แต่เพื่อที่จะให้คุ้นเคยกับการให้และลดความข้นเหนียวของจิตใจ

และแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำใจก็ได้ ก็ยังเป็นการดีที่จะยอมเสียเปรียบในครั้งนี้ เพราะถ้าเราเลือกคนที่เราคบหาสมาคมให้ดีๆ อนาคตเขาก็จะยอมให้เราได้เปรียบบ้างเช่นกัน

ความสัมพันธ์แบบ Give & Take นั้นยั่งยืนและรื่นรมย์กว่าความสัมพันธ์แบบตาต่อตาฟันต่อฟันเยอะเลยนะครับ

ชิงช้า

20180326_chingcha

เมื่อวานผมพูดถึงคำว่า Go first – อย่ารีรอที่จะเป็นคนแรก

แต่มันก็มีอีกหลายๆ สถานการณ์ที่เราควรจะช้า และยอมเป็นที่สองหรือที่สาม

เวลาอีกฝ่ายกำลังอารมณ์ขึ้น เราก็ควรปล่อยให้เขาได้พูดก่อน อย่าไปต่อล้อต่อเถียง

เวลาอยู่บนท้องถนน เห็นรถจากอีกเลนส์กำลังรอกลับรถ เราสามารถเหยียบเบรคแทนที่จะเหยียบคันเร่งได้

เวลาทุกคนกำลังแห่ไปห้างเปิดใหม่ หรือเห่อสินค้าตัวใหม่ เรารอให้คนซาก่อนแล้วค่อยไปก็ยังทัน

เวลาที่ทุกคนทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน เราสามารถทำทีละอย่างอย่างมีสติได้

ในโลกธุรกิจและการแข่งขันใครเร็วกว่าได้เปรียบ

แต่ในโลกส่วนตัวที่มีแต่คนเร่งรีบ คนที่ชิงช้าได้อาจมีภาษีดีกว่านะครับ

—–

ผมจะไปเซ็นหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ บู๊ธซีเอ็ด วันเสาร์ที่ 7 เมษายน เวลา 12.15-13.00 มาเจอกันได้นะครับ