5 คำแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ที่ Bill Gates ไม่เคยได้รับ

5 คำแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ที่ Bill Gates ไม่เคยได้รับ

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft และผู้ก่อตั้ง Bill & Melinda Gates Foundation ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของนักศึกษาที่เรียนจบจาก Northern Arizona University (NAU)

เกตส์ให้คำแนะนำ 5 ข้อที่ไม่ได้มีคุณค่าแค่กับเด็กจบใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทุกเพศทุกวัยควรระลึกไว้เช่นกัน

จึงขอถอดเนื้อหาบางส่วนมาแชร์ไว้ในบล็อกนี้ครับ

“…หลายท่านอาจจะทราบว่าผมไม่เคยเรียนจบปริญญาตรี หลังเทอมที่ 3 ผมก็ดร็อปการเรียนและเริ่มออกมาก่อตั้งไมโครซอฟต์ คนที่เรียนไม่จบจะรู้อะไรเกี่ยวกับการสำเร็จการศึกษาน่ะเหรอ? เอาจริงๆ ก็ไม่มากนักหรอก

ระหว่างที่ผมเตรียมตัวสำหรับวันนี้ ผมนึกถึงพวกคุณในฐานะบัณฑิตจบใหม่ ว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้โลกใบนี้จากการศึกษาที่คุณได้รับจากที่นี่ได้อย่างไร มันทำให้ผมนึกถึงพิธีจบการศึกษาที่ผมไม่เคยเข้าร่วม สุนทรพจน์ที่ผมไม่เคยได้ยิน และคำแนะนำที่ผมไม่เคยได้รับ

และนี่คือคำแนะนำ 5 ข้อที่ผมคิดว่าคงจะดีถ้าผมได้รู้เร็วกว่านี้

ข้อแรก ชีวิตของคุณไม่ใช่ละครองก์เดียว (Your life isn’t a one-act play.)

คุณอาจกำลังรู้สึกกดดันที่ต้องตัดสินใจให้ถูกว่าจะเอายังไงกับอาชีพการงาน มันอาจรู้สึกเหมือนว่าการตัดสินใจเหล่านี้เป็นเรื่องถาวร แท้จริงมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย งานที่คุณเลือกทำวันพรุ่งนี้หรือแม้กระทั่งสิบปีต่อจากนี้อาจไม่ใช่งานที่คุณต้องทำตลอดไป

ตอนที่ผมหยุดเรียน ผมเคยนึกว่าผมจะทำงานที่ไมโครซอฟต์ไปตลอดชีวิต

มาถึงวันนี้ ผมก็ยังรักงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ แต่งานประจำของผมคืองานมูลนิธิ ผมใช้เวลาแต่ละวันในการสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อสู้กับ climate change และลดความเหลื่อมล้ำบนโลกใบนี้ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ผมโชคดีมากที่มูลนิธิของเราได้รับการสนับสนุนจากสถาบันชั้นยอดอย่าง NAU แม้ว่าตัวผมในวัย 22 ไม่เคยจินตนาการเอาไว้เลยว่าวันหนึ่งผมจะได้มาทำงานนี้

มันจึงเป็นเรื่องปกติที่คุณจะเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนสายงาน บางทีมันอาจเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ด้วยซ้ำไป

คำแนะนำข้อที่สองก็คือ คนเราไม่ว่าเก่งแค่ไหนก็สับสนกันได้ (You are never too smart to be confused.)

ตอนที่ผมดร็อปเรียนนั้นผมคิดว่าผมรู้ทุกอย่างแล้ว แต่ขั้นแรกของการเรียนรู้สิ่งใหม่คือการเปิดรับสิ่งที่คุณไม่รู้ มากกว่าการจดจ่ออยู่แต่กับสิ่งที่คุณรู้

ในชีวิตการทำงาน คุณจะได้เผชิญปัญหาที่คุณไม่อาจแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว เมื่อวันนั้นมาถึงก็อย่าตื่นตระหนก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ บังคับให้ตัวเองได้คิดถึงปัญหาอย่างถี่ถ้วน จากนั้นก็หาคนเก่งๆ ที่คุณสามารถเรียนรู้จากเขาได้

อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ประสบการณ์สูงกว่า อาจจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่มีมุมมองที่ดีและผลักดันให้เราคิดในมุมอื่น อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นที่พร้อมจะตอบข้อความส่วนตัวจากคุณ

เกือบทุกเรื่องที่ผมทำสำเร็จนั้นเกิดจากการเสาะหาคนที่รู้ดีกว่าผม คนส่วนใหญ่อยากจะช่วยคุณอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่กลัวที่จะถาม

คุณอาจจะเรียนจบแล้วก็จริง แต่คุณก็ควรจะมองด้วยว่าชีวิตที่เหลืออยู่คือการศึกษา

คำแนะนำข้อที่สาม คือจงเลือกงานที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญๆ (Gravitate toward work that solves an important problem.)

ข่าวดีก็คือคุณเรียนจบในยุคที่มีปัญหามากมายให้แก้ไข บริษัทใหม่ๆ และอุตสาหกรรมใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นทุกวัน และคุณสามารถทำงานในองค์กรเหล่านั้นโดยได้ทั้งเงินและได้ทั้งกล่อง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้การสร้าง impact นั้นเป็นไปได้ยิ่งกว่าทุกยุคทุกสมัย

หลายคนในห้องนี้วางแผนจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้* เหล่าอาจารย์ได้สอนให้คุณรู้จักกับเครื่องมือล้ำยุคมากมาย เช่นการใช้โดรนและ LIDAR เพื่อจัดทำแผนที่ป่าไม้อย่างถูกต้อง วันหนึ่งคุณอาจจะหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นรับมือกับ climate change ก็ได้

หลายคนอาจจะเริ่มจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ คุณสามารถใช้ความรู้ของคุณเพื่อเมคชัวร์ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จาก AI – หรือคุณอาจช่วยขจัดความลำเอียงที่มีอยู่ใน AI ก็ได้เช่นกัน

เมื่อคุณต้องใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ มันจะกระตุ้นให้คุณทำสุดฝีมือ มันจะผลักดันให้คุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมันจะมอบความหมายให้กับงานที่คุณทำ

คำแนะนำข้อที่สี่นั้นเรียบง่าย คืออย่าดูเบาคุณค่าของมิตรภาพ (Don’t underestimate the power of friendship.)

ตอนที่ผมเรียนอยู่ ผมมีเพื่อนที่มีความชอบคล้ายกับผม ไม่ว่าจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์หรือแม็กกาซีนคอมพิวเตอร์

ตอนนั้นผมไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามิตรภาพนั้นสำคัญแค่ไหน เพื่อนของผมชื่อ Paul Allen และเราก็ได้สร้างไมโครซอฟต์ขึ้นมาด้วยกัน

คนที่นั่งข้างๆ คุณในห้องเล็คเชอร์ คนที่คุณไปเที่ยวหรือเล่นเกมด้วยไม่ได้เป็นแค่เพื่อนร่วมรุ่น แต่เขาคือเครือข่ายของคุณ บางคนอาจจะได้ตั้งบริษัทร่วมกับคุณ บางคนก็จะกลายเป็นคนที่คุณต้องพึ่งพาและขอคำปรึกษาในอนาคต

ตอนคุณเดินลงจากเวทีนี้คุณจะได้ใบปริญญาติดตัวไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าใบปริญญาที่คุณถือลงจากเวที ก็คือคนที่เดินขึ้นเวทีมาพร้อมกับคุณ

คำแนะนำข้อสุดท้ายคือคำแนะนำที่ผมใช้เองบ่อยที่สุด และต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจ นั่นก็คือ การผ่อนปรนให้ตัวเองบ้างไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนใช้ไม่ได้ (You are not a slacker if you cut yourself some slack.)

ตอนที่ผมอายุเท่าพวกคุณผมไม่เคยเชื่อเรื่องการลาพักร้อน ผมไม่เชื่อเรื่องวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผมกดดันให้ทุกคนรอบตัวผมทำงานจนดึกดื่น ในยุคแรกๆ ของไมโครซอฟต์ผมสามารถมองเห็นลานจอดรถจากห้องทำงานของผม และผมจะคอยสังเกตว่าใครมาทำงานเช้าและกลับดึกอยู่เสมอ

แต่พอผมอายุมากขึ้น – โดยเฉพาะตอนที่ผมได้เป็นพ่อคน – ผมก็ตระหนักว่าชีวิตมีอะไรมากไปกว่าการทำงาน

อย่ารอนานเหมือนผมเพื่อจะเรียนรู้บทเรียนนี้ ให้เวลากับการดูแลความสัมพันธ์ ฉลองความสำเร็จ และฟื้นตัวจากความล้มเหลว

เมื่อคุณจำเป็นต้องพักก็จงพักเสีย และให้โอกาสเดียวกันนี้กับคนรอบตัวคุณด้วยเช่นกัน

ก่อนที่คุณจะเริ่มฉากต่อไป อย่าลืมใช้ชีวิตให้สนุก จะเป็นคืนนี้ สุดสัปดาห์นี้ หน้าร้อนนี้ หรือเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะคุณคู่ควรกับมันจริงๆ”


ขอบคุณเนื้อหาจาก GatesNotes: 5 things I wish I heard at the graduation I never had

* นักศึกษาที่บิล เกตส์มากล่าวสุนทรพจน์นั้นจบจาก College of Engineering, Informatics, and Applied Sciences และ the College of the Environment, Forestry, and Natural Sciences

ความมีอยู่จริงของแอปเปิลสีเขียว

เมื่อต้นสัปดาห์ครอบครัวผมไปเที่ยวหัวหินกันมา จึงมีเวลาคุยกับลูกๆ เยอะพอสมควร

“ปรายฝน” ลูกสาวคนโตวัย 7 ขวบครึ่ง ยังเป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้กลัว และจะกังวลเป็นพิเศษถ้าไม่ได้ทำตามที่ครูสั่งเป๊ะๆ

“ผึ้ง” ภรรยาของผมเลยสอนปรายฝนว่า บางทีคุณครูก็ไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง

“มัมมี่มีเพื่อนคนหนึ่งที่ตอนเด็กๆ ครูสั่งการบ้านให้วาดรูปแอปเปิลและระบายสี

เพื่อนมัมมี่ก็เลยวาดรูปแอปเปิลและระบายสีเขียวมาส่งครู

ปรากฎว่าครูเรียกเพื่อนคนนั้นมาคุย ว่าทำไมถึงระบายแอปเปิลเป็นสีเขียว แอปเปิลต้องเป็นสีแดงต่างหาก”

“แอปเปิลก็มีสีเขียวไม่ใช่เหรอ” ปรายฝนถาม

“เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยนั้นแอปเปิลสีเขียวยังไม่ค่อยมีขายในเมืองไทย ครูคนนั้นเลยไม่รู้ว่าแอปเปิลก็มีสีเขียวได้ด้วย”

โลกทัศน์และใจที่ไม่กว้างพอของครูจึงตัดสินให้เรื่องที่ถูกกลายเป็นผิด


ผมพยายามระลึกอดีตว่าเคยเจอสถานการณ์แอปเปิลสีเขียวกับตัวบ้างรึเปล่า แล้วก็นึกขึ้นได้เรื่องหนึ่ง

ตอนอยู่ที่ทำงานเก่า ผมเป็นหนึ่งสมาชิกชมรมดนตรีที่ชื่อว่า TRMG

งานที่ TRMG ตื่นเต้นรอคอยอยากจะแสดงมากที่สุด คืองานเลี้ยงประจำปีของบริษัท

เนื่องจากสมาชิกมีกันยี่สิบกว่าคน เราจึงจัดนักดนตรี/นักร้องเป็นเซ็ต มีประมาณ 6 เซ็ต แต่ละเซ็ตเล่นกัน 6-7 เพลง

เซ็ตสุดท้ายคือเซ็ตที่เล่นปิดงาน เป็นช่วงที่พีคที่สุด ต้องมีแต่เพลงมันๆ แมสๆ เพื่อไม่ให้อารมณ์สะดุด ยกตัวอย่างเช่นเพลง “เพียงกระซิบ” “เล่นของสูง” “โปรดส่งใครมารักฉันที” โดยผมจะได้ร้องนำประมาณ 3-4 เพลง

มีน้องในชมรมเสนอว่าอยากเล่นเพลง “มีแต่เธอ” ของวงพาราด็อกซ์ในเซ็ตปิดงานนี้

ผมไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าเพลงยังไม่แมสพอ ผมเพิ่งได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกในหนัง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ด้วยซ้ำไป

แต่เมื่อน้องๆ ยืนกรานว่าเพลงนี้ดังมาตั้งแต่สมัยเขาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็เลยยอมให้เล่น แต่ก็ขอตัวไม่ร้องเพลงนี้ หนึ่งเพราะว่าไม่อิน สองเพราะไม่เชื่อว่าเพลงมันสนุกพอที่จะอยู่ในเซ็ตสุดท้าย

ในวันงาน พอขึ้นเพลงมีแต่เธอ ปรากฎว่าคนส่วนใหญ่ในงานร้องตามกันได้อย่างเมามัน อารมณ์ร่วมไม่ได้ดร็อปลงจากเพลงอื่นๆ เลย

นึกย้อนกลับไปก็น่าเขกหัวตัวเองที่เกือบทำให้ TRMG ไม่ได้เล่นเพลงสนุกๆ

เขกหัวตัวเองที่เรียกร้องว่าแอปเปิลต้องมีแต่สีแดงเท่านั้น


Morgan Housel เขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money ว่า

“Your personal experiences make up 0.00000001% of what’s happened in the world, but maybe 80% of how you think the world works.”

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ คือความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา เราควรพูดให้น้อยลง ฟังให้เยอะขึ้น ไม่เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเป็นไม้บรรทัดที่ใช้วัดทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นคุณครูผู้ไม่รู้จักแอปเปิลสีเขียว แม้จะปรารถนาดีเพียงใดก็อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าสร้างคุณค่า

ในมุมกลับ ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เคยเห็นหรือลิ้มลองแอปเปิลสีเขียวมาแล้ว รู้แน่ชัดว่ามันมีอยู่จริง แต่คุณครูของเราเขาอาจไม่เคยเห็นแอปเปิลสีเขียวมาก่อน เราก็ต้องคิดและวางแผนให้ดีว่าจะสื่อสารกับเขาอย่างไรเพื่อให้เขาเปิดใจและให้โอกาสเราครับ

17 ความลับของฟ้าจาก “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร

“พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท MFEC ผู้ให้บริการ IT Solutions ชั้นนำของประเทศไทย

MFEC เป็นคนวางระบบให้กับองค์กรอย่าง AIS และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังเป็นผู้สร้างแอปที่เราใช้ทุกวันอย่าง K PLUS อีกด้วย

ผมมีโอกาสได้ฟังสัมภาษณ์พี่เล้งในรายการ The Secret Sauce ก่อนจะเรียนคอร์สออนไลน์กับพี่เล้งใน Cariber และมีโอกาสได้กินข้าวเย็นด้วยกันเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม

พี่เล้งมีมุมมองเรื่องการบริหารคนที่น่าสนใจมาก ผมเลยตามไปอ่านไปฟังสิ่งที่พี่เล้งเคยแชร์เอาไว้ในช่องทางอื่นๆ และขอนำเนื้อหาบางส่วนที่ผมได้เรียนรู้มาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ

.

1. ฝึกปรือวิชา-หาคนที่เชื่อ

พี่เล้งเรียนจบวิศวะจากจุฬา รหัส 29 (เข้าเรียนปีหนึ่งตอนพ.ศ.2529) ได้งานที่บริษัทเอสโซ เมื่อทำงานได้สองปีก็คิดอยากจะตั้งบริษัทของตัวเอง แต่พบว่าไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจเลย จึงลาออกไปเป็นเซลส์ ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์อยู่หลายปีจนมั่นใจพอที่จะออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง

เนื่องจากไม่ได้มีเงินทุกมากนัก จึงไปเสนอไอเดียให้กับโมเดิร์นฟอร์ม ปรากฎว่าโมเดิร์นฟอร์มตัดสินใจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พี่เล้งจึงได้จดทะเบียนบริษัท MFEC ซึ่งย่อมาจาก ModernForm Enterprise Computing ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

ลูกค้ารายแรกของ MFEC คือ AIS เป็นโปรเจ็คมูลค่า 500,000 บาทในวันที่ MFEC มีพนักงานสิบกว่าคน

ในวันเงินเดือนออก พี่เล้งให้พิมพ์หัว payslip เอาไว้ว่า

“Brought to you by AIS”

เพื่อให้พนักงานรู้ว่าคนที่จ่ายเงินเดือนให้เราเป็นใคร และต้องทุ่มเทให้ลูกค้าเจ้านี้อย่างสุดฝีมือ

.

2. กอล์ฟหลุมนี้เดิมพันเท่าไหร่

ถ้าเราตีกอล์ฟแล้วพนันกันหลุมละ 20 บาท เราจะตียังไง

ถ้าเราเพิ่มเดิมพันเป็นหลุมละ 2,000 บาท เราจะตียังไง

และถ้าเป็นหลุมละ 200,000 บาท เราจะตียังไง

ทั้งสามแบบนี้มันตีไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

แต่ละ “โอกาส” มี “เดิมพัน” ไม่เท่ากัน ถ้าโอกาสนั้นเป็นหลุมละสองแสนแต่เราตีเหมือนหลุมละยี่สิบโอกาสนั้นก็ย่อมหลุดลอยไป

เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่มันเป็นหลุมละยี่สิบ และเมื่อไหร่เป็นหลุมละสองแสน

เราไม่สามารถทุ่มสุดตัวได้ตลอด แต่ถ้ารู้ว่าหลุมนี้เดิมพันสูง เราก็ต้อง all-in

.

3. กลยุทธ์เมียหลวง

การทำธุรกิจด้าน IT Solutions นั้นมีได้สองแบบ คือกลยุทธ์เมียหลวงกับกลยุทธ์เมียน้อย

กลยุทธ์เมียหลวง คือหากลูกค้าทำโปรเจ็คที่ใหญ่กับเราเพียงพอจนเลี้ยงบริษัทได้ MFEC ก็จะทำกับลูกค้านั้นเพียงเจ้าเดียวไปยาวๆ

ส่วนกลยุทธ์เมียน้อยคือการทำ solution ให้ลูกค้าหนึ่งเจ้า แล้วนำ know-how ไปทำให้กับลูกค้าเจ้าอื่นๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

MFEC ยึดกลยุทธ์เมียหลวงเป็นหลัก ทำให้ลูกค้าเติบโตขึ้น และ MFEC ก็โตไปพร้อมกับลูกค้า

จากโปรเจ็คแรกของ AIS ที่มีมูลค่า 500,000 บาท สุดท้าย AIS ทำโปรเจ็คกับ MFEC ถึงปีละ 500 ล้านบาท

.

4. คิดแบบ Win-Win

หลักการอย่างหนึ่งที่ MFEC ยึดถือมาโดยตลอด คือเมื่อลูกค้าใช้บริการ MFEC ไปแล้วต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น

ถ้าประเมินว่าลูกค้ารายใดทำระบบกับ MFEC แล้วมันไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจเขาโตขึ้น พี่เล้งจะไม่แนะนำให้เดินหน้าต่อ เพราะการทำระบบ IT ย่อมจะทำให้ต้นทุนของลูกค้าสูงขึ้นและความสามารถในการแข่งขันลดลง สุดท้ายก็จะอยู่กับ MFEC ได้ไม่นาน

ดังนั้นอย่าคิดถึงแต่กำไร แต่ต้องคิดต่อด้วยว่ามันจะสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนรึเปล่า

.

5. รถ F1 แซงกันที่ทางโค้ง

พี่เล้งก่อตั้ง MFEC ในเดือนมีนาคมปี 2540

เดือนกรกฎาคมรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 25 บาท กลายเป็น 35 บาท และขึ้นไปแตะ 45 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์

MFEC มีทุนจดทะเบียน 10 ล้าน แต่ปีแรกก็ขาดทุนเพราะอัตราแลกเปลี่ยนถึง 16 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องนำเข้า software/hardware จากต่างประเทศทั้งหมด

ยังดีที่โมเดิร์นฟอร์มเข้าใจ ส่วนพี่เล้งก็ทำต้องทำหน้าที่ปลุกขวัญกำลังใจพนักงานต่อไปโดยถือคติว่า “เป็นเจ้าของห้ามก่ายหน้าผากให้ใครเห็น”

พี่เล้งอธิบายกับพนักงานว่าธุรกิจเรายังไปได้ดี ที่ขาดทุนเป็นเรื่องค่าเงินที่เราจัดการไม่เป็น ถ้าเราจัดการความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ปัญหานี้ก็จะหมดไป

ข้อดีอย่างหนึ่งในการตั้งธุรกิจช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ไม่กล้าจ้างคนเพิ่ม MFEC ก็เลยได้คนเก่งมาร่วมงานด้วยค่าตัวที่สมเหตุสมผล

และในห้วงวิกฤติมีแต่คนหดหู่ MFEC ก็เลยคึกคักอยู่เจ้าเดียว และสร้างฐานลูกค้าได้ในช่วงนี้

พี่เล้งบอกว่าเวลาแข่งรถ Formula 1 ถ้ารถแรงพอๆ กัน วิ่งทางตรงไม่มีใครชนะใครได้ จะแซงกันได้ตรงทางโค้งเท่านั้น

MFEC สมัยนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ ถ้าในสถานการณ์ปกติก็คงจะโดนยักษ์ใหญ่บี้ แต่พอเข้าทางโค้งที่เศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทอื่นชะลอตัวแต่ MFEC กล้าเหยียบคันเร่งจนขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้นำได้

หลังจากเปิดบริษัทได้เพียง 6 ปี MFEC ก็ IPO ในเดือนตุลาคมปี 2546 และมี Market Cap 2,000 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนให้กับโมเดิร์นฟอร์มที่ลงเงินตอนจดทะเบียนบริษัทได้อย่างงดงาม

.

6. พนักงานที่มี ROI สูงสุด

พี่เล้งเป็นคน “ให้ค่าความฉลาด” หมายถึงชอบจ้างคนเทพๆ ในเงินเดือนสูงๆ

ช่วง 5 ปีแรกที่เล้งจึงกวาดเด็กวิศวะคอมจุฬาเกียรตินิยมมาทำงานกับ MFEC เยอะมาก

เด็กกลุ่มนี้ฉลาดแน่นอน แต่ข้อเสียคืออยู่กับบริษัทได้ไม่นาน อายุงานเฉลี่ย 2.7 ปีเท่านั้นก่อนจะออกไปหาโอกาสที่อื่น

เด็กลาดกระบังจะอยู่กับองค์กรได้นานกว่า ส่วนเด็กมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดจะอยู่ได้นานที่สุด

พี่เล้งบอกว่า ในบรรดาเด็กที่ได้เรียนระดับอุดมศึกษานั้น 95% มาจากชนชั้นกลางขึ้นไป มีเพียง 5% เท่านั้นที่มาจากครอบครัวยากจน

โจทย์ของ MFEC คือหา 5% นี้ให้ได้ ซึ่งเมื่อเราให้โอกาสเขาแล้ว เขาจะเห็นคุณค่าและมีใจให้กับองค์กรจนไม่คิดจะไปไหน

คนที่เคยผ่านความยากลำบาก จะเชื่อมโยงกับ passion และ drive ของตัวเองได้ง่าย ผิดกับคนที่สบายมาทั้งชีวิตที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเพราะมีคนคอยป้อนให้ตลอด

และคนที่เคยลำบากมักจะมี empathy หรือความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ต่างกับเด็กที่โตมากับคนใช้ในบ้านเพราะเขาแทบไม่เคยต้องอ่านสีหน้าใครเลย อยากได้อะไรแค่เอ่ยปากก็ได้หมด ขณะที่เด็กยากจนนั้นจะขออะไรทีก็ต้องสังเกตสีหน้าพ่อแม่ให้ดีๆ ก่อน

.

7. มุมมองเรื่อง Turnover

MFEC เคยมี turnover สูงถึง 35% ซึ่งหมายความว่าทุกปีจะมีพนักงานหายไปหนึ่งในสาม

พี่เล้งเลยจ้าง HR มือดีมาช่วยวิเคราะห์และให้คำแนะนำ ทาง MFEC ก็เลยปรับปรุงสวัสดิการให้ดีกว่าเดิม รวมถึงมอบ ESOP ให้พนักงานด้วย [Employee Stock Options Plan คือสิทธิ์ให้พนักงานซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่าตลาด]

แต่สุดท้ายพนักงานก็ถูกดึงตัวไปอยู่ดี เพราะสมัยนั้นเป็นที่รู้กันในวงการว่า หากอยากได้คนเก่งๆ ให้มาเอาที่ MFEC

พี่เล้งเลยได้ข้อสรุปว่า พนักงานก็เป็นเหมือนนก เขาต้องการอิสระ เราไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวเขาไว้ได้ สิ่งที่เราพอจะทำได้คือสร้าง MFEC ให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ร่มเย็น แล้วนกจะบินมาเกาะกิ่งเอง

หลังจากปรับปรุงองค์กร turnover ก็ดีขึ้น แต่พี่เล้งก็ไม่คิดว่าการมี turnover ที่ต่ำเกินไปเป็นเรื่องดีเช่นกัน เพราะนั่นแสดงว่าไม่มีใครอยากได้คนของเรา

ความจริงข้อหนึ่งของธุรกิจก็คือ บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะต้องขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน ค่าเช่าออฟฟิศก็เพิ่ม ค่าครองชีพก็สูงขึ้น ในขณะเดียวกันลูกค้าเก่าก็มักจะต่อรองขอให้ MFEC ลดราคาให้

โจทย์ก็คือจะทำยังไงถึงจะเก็บเงินลูกค้าน้อยลงโดยที่ MFEC ยังกำไรเท่าเดิม

พี่เล้งบอกว่าทำได้ด้วยการใช้ turnover ให้เป็นประโยชน์ เช่นพนักงานที่ออกไปเงินเดือน 40,000 เราอาจหาคนเงินเดือน 30,000 เข้ามาทำแทน ซึ่งการจะทำอย่างนี้ต้องมีระบบการถ่ายทอดความรู้และการวางแผนที่ดีเพื่อให้โปรเจ็คไม่สะดุด

คนลาออกไม่ใช่ปัญหา จะเป็นปัญหาเฉพาะการออกแบบเซอร์ไพรส์ที่เราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนเท่านั้น

.

8. อย่าใช้ความกล้า-อย่าใช้ความกลัว

นับจากปี 2540 MFEC ก็มีอายุ 25 ปีแล้ว

พี่เล้งบอกว่า 5 ปีแรกทำได้ดีมาก เติบโต 100% ทุกปีจนได้เข้าตลาดหุ้น ส่วน 5 ปีล่าสุดหลังจากผ่าตัดองค์กรก็ทำได้ดีมากเช่นกัน

แต่ 15 ปีที่อยู่ตรงกลางนั้นค่อนข้างเสียเวลาไปพอสมควร รายได้ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ โดยพี่เล้งวิเคราะห์ว่าเกิดจากการให้ความกล้ากับความกลัวมาขับเคลื่อนการทำธุรกิจมากเกินไป

เมื่อ MFEC เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทุกๆ ไตรมาสจะมีการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งคำถามก็จะเป็นชุดเดิมๆ Q on Q โตหรือไม่ Year on Year โตตามเป้ารึเปล่า มีข่าวดีอะไรมั้ย

เมื่อต้องออกสื่อทุกสามเดือน ความเป็น CEO ก็ไม่อยากเสียฟอร์ม เลยต้องหาทางทำอะไรให้นักลงทุนประทับใจอยู่เสมอ

แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนเราจะเอาชนะเป้าหมายไปได้ตลอด

พี่เล้งเลยบอกว่าอย่าใช้ความกล้า เพราะมันจะทำให้เราโลภและทำอะไรไม่สมเหตุสมผล เช่นรับงานมามากเกินกว่าที่ทีมจะทำไหว หรือทำจับธุรกิจที่เรายังไม่ได้มีความรู้มากเพียงพอ

ขณะเดียวกันก็ไม่ควรใช้ความกลัว เพราะเราจะขาดความคิดสร้างสรรค์และจะไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ เช่นเรารู้ว่าธุรกิจนี้เริ่มสู้เขาไม่ได้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือยุติธุรกิจนั้น แต่พอกลัวว่าจะทำให้รายได้หดและทำให้นักลงทุนไม่พอใจ ก็เลยดันทุรังทำธุรกิจนั้นต่อไป

.

9. ชนะแค่ครึ่งก้าวก็พอ

นักฟุตบอลระดับโลก แท้จริงเขาวิ่งถึงบอลก่อนคนอื่นแค่ครึ่งก้าว

ซึ่งครึ่งก้าวนั้นก็เพียงพอแล้ว หากมันช่วยให้เราแตะบอลก่อนและยิงประตูได้ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อให้ถึงบอลก่อนคนอื่น 5 ก้าว

การทำธุรกิจก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องชนะคู่แข่งแบบขาดลอย เราชนะเขาแค่นิดเดียวก็สามารถได้โปรเจ็คมาอยู่ในมือแล้วเช่นกัน

หากทุ่มกำลังมากเกินไป ต้องการจะเอาชนะคู่แข่ง 5 ก้าวตลอด นั่นหมายถึงแรงและเวลาที่ต้องใช้อย่างมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้ทีมงานเหน็ดเหนื่อยเกินไป และเสียโอกาสที่จะแบ่งกำลังไปแข่งในเกมอื่นๆ

.

10. Transformation ไม่ใช่เรื่องของ Process หรือ Technology

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว พี่เล้งเข้าพบกับ CEO บริษัทที่เป็นลูกค้าของ MFEC เพื่อจะถามว่าความสามารถในการแข่งขันของ MFEC ยังคงดีอยู่มั้ย

ลูกค้าตอบว่าสมัยก่อนที่เขาเลือก MFEC เพราะว่าเป็นคนหนุ่ม ทำงานเร็ว เก่ง และราคาไม่แพง

แต่เดี๋ยวนี้ MFEC มีแต่คนแก่ ราคาแพง ทำงานก็ช้า ส่วนเก่งหรือไม่แล้วแต่ว่าเป็นทีมไหน

อายุเฉลี่ยของพนักงาน MFEC ณ ตอนนั้นคือ 36 ปี ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับบริษัท IT พี่เล้งเลยเริ่มผ่าตัดใหญ่องค์กรหรือทำ transformation นั่นเอง

คำว่า transformation เป็นศัพท์ที่มีคนใช้กันเยอะมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แต่องค์กรมักจะ transform ผิดจุด คือไปแก้เทคโนโลยีหรือ process

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการ transform องค์กรก็คือคน โดยต้องเริ่มจาก CEO และผู้บริหารที่ต้องพร้อม transform ตัวเองก่อน ต้องพร้อมที่จะปล่อยวางการ control ที่คุ้นเคยให้ได้และกล้าเชื่อใจคนทำงานมากขึ้น

ถ้าเปลี่ยน process / เปลี่ยนเทคโนโลยี แต่คนส่วนใหญ่ยังมี mindset เหมือนเดิม การ transform นั้นย่อมไม่สำเร็จ

นั่นคือช่วงที่พี่เล้งปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ยุบบางแผนก ลดจำนวนพนักงาน จนสุดท้ายอายุเฉลี่ยพนักงานลดลงมาอยู่ที่ 29 ปี MFEC หันมาโฟกัสแต่งานที่ทำให้บริษัทเอกชน จนมีการเติบโตปีละ 15% หลายปีติดต่อกัน

.

11. คัมภีร์อันดับหนึ่งตลอดกาล

ประเทศจีนนั้นเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก มีปราชญ์และปรัชญามากมายที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ และมีคัมภีร์ที่เป็นมรดกทางปัญญานับหมื่นคัมภีร์

แต่ในหมื่นคัมภีร์นั้น มีหนึ่งคัมภีร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล ถ้าพ่อค้าได้อ่านแล้วเข้าใจก็จะสำเร็จจนเป็นมหาเศรษฐี ถ้าเป็นหมอได้อ่านแล้วเข้าใจก็จะเป็นหมอที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ถ้ากษัตริย์ได้อ่านแล้วเข้าใจก็จะเป็นนักปกครองในอุดมคติ

คัมภีร์นั้นมีชื่อว่า “เต้าเต๋อจิง” ที่ประพันธ์โดย “เหลาจื่อ” เมื่อ 2500 ปีที่แล้ว เป็นคัมภีร์ที่มี 81 บทและอักขระ 5,000 ตัวเท่านั้น

พี่เล้งได้รู้จักคัมภีร์นี้ตอนไปแข่งหมากล้อมที่เมืองจีน อ่านครั้งแรกไม่ค่อยเข้าใจ อ่านรอบที่สองก็ยังเข้าไม่ถึง พออ่านรอบที่สามก็เลยอ่านแบบ “วิศวกร” คือตีความในแบบที่จะเอามาใช้งานได้จริง

.

12. สมดุล สมดุล สมดุล

เมื่อได้ศึกษาคัมภีร์เต้าเต๋อจิง พี่เล้งก็ตระหนักว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่ ส่วนมนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่ เพราะมนุษย์ไม่เคยสร้างสิ่งใด มนุษย์เพียงค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงโน้มถ่วง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ DNA

ธรรมชาติเป็นครูใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจอะไรให้กลับไปดูธรรมชาติแล้วเราจะได้คำตอบ

สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติคือหยิน-หยางหรือความสมดุล ถ้าสิ่งใดมีปัญหา แสดงว่าสิ่งนั้นยังขาดสมดุลอยู่

เวลาไปหาหมอแมะ สิ่งที่หมอแนะนำให้เราทำคือปรับสมดุลในร่างกาย อะไรที่ชอบก็กินให้มันน้อยๆ อะไรที่ไม่ชอบก็กินให้มันเยอะๆ แล้วเดี๋ยวร่างกายจะสมดุลเอง

ถ้าเรากินๆ นอนๆ ไม่ทำอะไรเลยก็อายุสั้น ถ้าเราทำงานหนักไม่พักไม่ผ่อนก็อายุสั้น แต่ถ้าเราทำงานหนักสลับกับมีเวลาพักผ่อนเพียงพอ เราก็จะแข็งแรงและอายุยืน

องค์กรก็เช่นกัน ถ้าคนในองค์กร aggressive เกินไป แสดงว่ามีหยางมากเกินไป ต้องเติมหยินเข้าไปบ้าง แต่ถ้าองค์กรมีหยินมากเกินไปก็จะเริ่มเฉื่อยชา ก็ต้องเติมหยางเพื่อให้เกิดความสมดุล

.

13. ฝึกใช้ System 2

ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ศาสตราจารย์ Daniel Kahneman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายเอาไว้ว่าคนเรามีระบบการคิดอยู่สองระบบ

System 1 คือคิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งทำงานได้เร็ว รองรับปริมาณงานได้เยอะ แต่ก็มีโอกาสผิดพลาด ส่วน System 2 คือการคิดแบบไตร่ตรอง ซึ่งต้องใช้เวลาและใช้พลังงาน แต่จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า

พี่เล้งบอกว่า ความเคยชินจะทำให้เราใช้ System 1 เป็นประจำ เราจึงมักมองไม่เห็นปัญหาทั้งที่มันก็อยู่ตรงหน้าเรา

CEO มักจะชอบอะไรที่มันรวดเร็ว ตัดสินใจรวดเร็ว ลงมือรวดเร็ว อยากเห็นผลเร็วๆ ซึ่งถ้าทำธุรกิจด้วยความเร็วอย่างเดียวมันก็จะขาดสมดุล

เราจึงต้องหัดช้าให้เป็น เข้าใจความงดงามของความช้า แล้วเราจะพบว่า Slow is the New Fast

พี่เล้งเล่าให้ฟังช่วงที่เคยบวชเรียน พระพี่เลี้ยงให้เคล็ดลับเวลานั่งสมาธิว่าให้เพ่งความสนใจไปที่อะไรก็ได้ พี่เล้งก็เลยตั้งใจฟังเสียงแอร์ในกุฏิ

ตอนแรกได้ยินแต่เสียงคอมเพรสเซอร์ พอฟังไปเรื่อยๆ เริ่มได้ยินเสียงของอากาศที่ออกมาจากเครื่องแอร์ และเมื่อฟังไปนานๆ ก็ได้ยินเสียงลมกระทบกับสิ่งของอื่นๆ ในบริเวณนั้น

เมื่อเราช้าลง เราจะเห็น pattern อะไรบางอย่างทั้งในชีวิตและในองค์กร

ดังนั้นเราต้องใช้ System 2 ให้บ่อยขึ้น แล้วเราจะเห็นปัญหาที่ไม่เคยเห็น เราจะพบความเป็นไปได้ใหม่ที่อาจกลายเป็น New S-Curve

.

14. ปัจจัยสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จ

คนเราเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เกรดเฉลี่ยพอๆ กัน ฐานะไม่ต่างกัน ผ่านไป 20 ปี สองคนนี้จะสำเร็จเท่ากันหรือไม่?

คนที่จบมาเกรดเฉลี่ยต่ำ จะสำเร็จน้อยกว่าคนที่จะจบเกียรตินิยมหรือไม่?

คนทำงานมานานย่อมรู้คำตอบดี

พี่เล้งบอกว่าการศึกษา ความฉลาด ฐานะ ความขยัน ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จ

คนบางคนถนนยิ่งเดินยิ่งกว้าง แต่คนบางคนถนนยิ่งเดินยิ่งแคบ จากถนนกลายเป็นซอย จากซอยกลายเป็นซอยตัน

ถ้าสังเกตธรรมชาติ เราจะเห็นว่าสัตว์ตัวที่แข็งแกร่งที่สุด (alpha male) ไม่ได้เป็นผู้นำเสมอไป แต่เป็นกลุ่มที่ฉลาดที่สุดและเก่งที่สุดที่จะได้เป็น leader

ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จก็คือ network หรือคนที่รายล้อมตัวเรา เพราะเราจะเลียนแบบคนใกล้ตัวเราโดยไม่ตั้งใจ ถ้าแม่เป็นคนจู้จี้ขี้บ่น โตขึ้นมาเราก็จะกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่นเหมือนกัน

เพื่อนที่ดี 1 คนจึงมีคุณค่ายิ่งกว่าหนังสือ 50 เล่ม เพราะการอ่านหนังสือไม่ได้เปลี่ยนเรา แต่ถ้าเพื่อนชอบออกกำลังกาย ก็จะชวนเราไปออกกำลังกายด้วย หรือถ้าเพื่อนชอบปาร์ตี้เราก็จะกลายเป็น party animal ไปด้วยเช่นกัน

เราจึงต้องฝึกดูคนให้เป็น ต้องแยกให้ออกระหว่างกระดูกขาวกับงาช้าง ซึ่งนี่คือเรื่องที่ยากที่สุด แต่ถ้าเราทำได้ โอกาสสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

เคล็ดลับการดูคนคือ “อย่าถาม” เพราะถามไปก็ไม่มีประโยชน์ หากผู้หญิงถามผู้ชายว่าเคยนอกใจมั้ย ผู้ชายย่อมตอบเหมือนกันหมดว่าไม่เคย

ทุกคำแก้ตัวมีคำโกหกซ่อนอยู่เสมอ ทุกคำ convince มีคำโกหกซ่อนอยู่เสมอ

ยิ่งเราถาม เราจะยิ่งเกิด confirmation bias เพราะไม่มีใครอยากบอกว่าตัวเองไม่ดี

เพราะฉะนั้น อย่าถาม แต่ให้สังเกต และบังคับให้ตัวเองใช้ System 2

คนเราจะแสดงตัวตนให้เห็นชัดตอนโกรธ ตอนเมา ตอนเล่นพนัน ตอนเล่นกีฬาแพ้ และทุกความนึกคิดจะแสดงออกมาทางใดทางหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา ภาษากาย หรือคำพูด

.

15. วิชาใจดำอำมหิต

เมื่อแยกแยะได้แล้ว เราต้องมีความใจดำอำมหิต กล้าตัดเขาออกจากวงจรชีวิตให้ได้ ไม่อย่างนั้นชื่อเสียงที่สร้างมา 5 ปีอาจสูญหายใน 5 นาที เหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนที่เสื่อมเสียเพราะบริวาร

นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย การเอาหมากฝรั่งออกจากผมยากยังไง การเลิกคบกับคนไม่ดีก็ยากอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ทำ ย่อมเหมือนการเอาหมาป่าเข้ามาอยู่ในกลุ่ม เผลอแป๊บเดียวมันจะกินแกะจนหมดฝูง

เรามีพลังและเวลาที่จำกัด จึงไม่สามารถเลือกคบได้ทุกคน คนคือยาพิษที่อันตรายที่สุด และจะทำลาย network ที่เราเพียรสร้างขึ้นมา ร่างกายจะเป็นมะเร็งได้ ต้องเติมพิษเป็นสิบปี องค์กรจะพังก็ไม่ได้พังใน quarter เดียว แต่พังเพราะเราใส่ยาพิษมาเป็นสิบปี

ที่ MFEC จึงมีกฎข้อหนึ่ง คือห้ามรับพนักงานใหม่เข้ามา ถ้าหัวหน้าคนนั้นไม่มีความสามารถในการเอาคนออกโดยที่เขายังรัก MFEC อยู่

ถามว่าทำได้ด้วยหรือ คำตอบคือทำได้ ถ้าเราสื่อสารกับพนักงานตั้งแต่วันแรกว่าเราคาดหวังกับเขาอย่างไร และถ้าเขาทำไม่ได้จะเกิดอะไรตามมาบ้าง

หากเราสื่อสารตั้งแต่วันแรก มันจะเรียกว่า commitment

แต่หากเราเพิ่งมาพูดสิ่งเดียวกันในวันที่เราจะให้เขาออก เขาจะมองว่ามันคือ excuse

.

16. หลักการเลี้ยงลูก

คนเราควรกินให้น้อย มีลูกให้เยอะ ถ้าไม่มีลูกเลยมันผิดธรรมชาติ โดยพี่เล้งเองก็มีลูกสี่คน

พี่เล้งมองว่าเราควรเลี้ยงลูกแบบ “ทิ้งๆ ขว้างๆ” เพื่อให้ลูกเข้มแข็ง ทำอะไรเองเป็น แถมลูกจะรักเรามากกว่าการเลี้ยงแบบประคบประหงมด้วยซ้ำ

คนจีนและประเทศจีนนั้นมี core values ที่เราคุ้นเคยอย่างความขยัน ความประหยัด และความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องสอนลูก

ขยันต้องสอน – ขี้เกียจไม่ต้องสอน – คนเราพอเริ่มสบายก็ขี้เกียจเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

ประหยัดต้องสอน – ฟุ่มเฟือยไม่ต้องสอน – พอเริ่มทำงานมีตังค์เดี๋ยวมันก็จะฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว

อ่อนน้อมถ่อมตนต้องสอน – Ego ไม่ต้องสอน – เดี๋ยวพอเราทำอะไรสำเร็จอีโก้มันจะฟูขึ้นมาเอง

ดังนั้น เราต้องปลูกฝังความขยัน ความประหยัด และความอ่อนน้อมให้ลูกของเรา พอเขาโตขึ้น ได้เจอขั้วตรงกันข้ามแล้วมันจะเคลื่อนเข้าสู่จุดสมดุลเอง

.

17. โฟกัสในความไม่มี

ตำราจีนแบ่งอายุคนเราออกเป็นสามช่วง

ช่วง 0-25 ปี เป็นช่วงที่เกิดจากความไม่มี เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้และปูพื้น เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด

ช่วง 25-50 ปี คือช่วงแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัว นับเป็นช่วงที่ซับซ้อนที่สุด

ช่วง 50-75 ปี คือช่วงแห่งการกลับไปสู่ความไม่มีอีกครั้ง เป็นช่วงที่ยากที่สุด

พี่เล้งอายุ 53 ปี จึงกำลังถอยฉากจากการเป็น CEO ของ MFEC และเริ่มโฟกัสกับความไม่มี – ไม่มีภาระ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความเครียด

พี่เล้งบอกว่าคนวัยนี้จะมีความสุขได้ขอแค่สองอย่าง คือร่างกายที่แข็งแรง และเพื่อนฝูงให้พูดคุย เคยมีเพื่อนพี่เล้งคนหนึ่งไปสร้างบ้านไว้ต่างจังหวัด แต่ไปอยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายกลับเข้ากรุงเทพเพราะคิดถึงเพื่อน

ขอบคุณพี่เล้งที่ช่วยไขความลับของฟ้าให้พวกเราได้รับรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Secret Sauce, Cariber, Skooldio, ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ, New Normal Talk, Executive Go Club, และบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ดู Playlist ได้ที่นี่ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ตามช่องทางต่างๆ ได้ที่ linktr.ee/anontawong

17 บทเรียนชีวิตจากหนังสือเล่มล่าสุดของนิ้วกลม

  1. หากอยากเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ ให้พาตัวเองไปอยู่ในจุดที่โง่บ่อยๆ
  2. เมื่อบอกว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ เรากำลังประเมินตัวเองจาก ‘ตอนนี้’ เสมอ
  3. ความสำคัญอาจอยู่ที่ระหว่างทาง ความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน ตอนเช้าได้ซ้อมวิ่ง รู้สึกว่าฉันชนะตัวเองแล้ว ฉะนั้น วันที่เรายืนอยู่ตรงจุดสตาร์ต จบหรือไม่จบเราไม่รู้หรอก แต่เราจะทำให้ดีที่สุด และสิ่งที่เราได้จะเป็นของแถมทั้งหมด เพราะแก่นของเรื่องมันสำเร็จไปแล้วในช่วงที่เราซ้อม
  4. การวิ่งทำให้เรามีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่น้อยลง เพราะเรานับถือตัวเองได้ผ่านความสำเร็จบนเส้นทางวิ่ง
  5. ทางไกลก็คือทางใกล้ที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ระยะเวลายาวนานคือระยะเวลาสั้นๆ ต่อเข้าด้วยกัน เราเหนื่อยเพราะเราคิดถึงทั้งหมด เราหยิบอนาคตมาเหนื่อยล่วงหน้า
  6. เราจะต้องรบรากับความยากของโลกภายนอก หรือความอ่อนแอของโลกภายในกันแน่?
  7. ไม่เร็วก็ได้ ขอแค่อย่าหยุด พักบ้างก็ได้ ขอแค่อย่าเลิก
  8. เหนื่อย พักแป๊บเดียวก็หาย แต่ความทรงจำดีๆ จะอยู่ไปตลอด
  9. การหัดเผชิญหน้ากับเรื่องยากจะบ่มเพาะหัวใจที่มีคุณภาพแบบใหม่ ไม่สำออยเกินจำเป็น แล้วเรื่องที่เคยทำให้ร้องไห้จะทำอะไรเราไม่ได้เหมือนเดิม
  10. บางที เรื่องสนุกของชีวิตก็เป็นเรื่องเดียวกับที่เรากลัวที่สุดนั่นแหละ
  11. ความสำเร็จของแต่ละคนนั้นมีปัจจัยร้อยพันที่แตกต่าง เมื่อมองเหตุปัจจัยโดยละเอียดย่อมทราบว่าการเปรียบเทียบเป็นเพียงภาพลวงตาไร้สาระ ในเมื่อต้นทุนและเงื่อนไขของแต่ละคนแตกต่างกันไป
  12. ทุกสิ่งในสนามจริงคือผลลัพธ์ของสนามซ้อม ถ้าผลดีแปลว่าซ้อมมาดี ถ้าผลแย่แปลว่าซ้อมมาห่วย ไม่ต้องโทษอย่างอื่น โทษตัวเองสถานเดียว
  13. เอาแต่ครุ่นคิดย่อมกังวล เมื่อลงมือทำใจจะเบา
  14. จุดมุ่งหมายสูงส่งยิ่งเงยหน้ามองยิ่งท้อใจ สิ่งที่ควรทำคือมองต่ำเข้าไว้แล้วก้าวไปทีละขั้น ก้าวไปเรื่อยๆ สลับกับหันมองย้อนลงไป จะเห็นว่าเราขึ้นสูงมาจากเดิมไม่น้อยเลย
  15. เมื่อเราก้าวไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุด ภูเขาสูงจะค่อยๆ เตี้ยลง จุดหมายแสนไกลจะค่อยๆ ใกล้ขึ้น ทีละก้าวนั่นเองที่จะบดภูเขาเสียดฟ้าให้เตี้ยลงได้
  16. จงสม่ำเสมอแล้วผลลัพธ์จะปรากฏ ไม่มีเส้นทางไหนไกลเกินความสม่ำเสมอของเรา
  17. ตราบที่ยังพยายาม แปลว่าเรายังมีความหวังว่าจะมีพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม

ขอบคุณบทเรียนชีวิตจากหนังสือ Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล นิ้วกลม เขียน สำนักพิมพ์ KOOB

ถ้าอยากยอมแพ้ให้รอวันพรุ่งนี้

Shane Parrish ได้เล่าไว้ในบล็อก Brain Food ว่าสมัยเล่นกีฬาตอนมัธยมปลาย หากทีมเพิ่งแข่งแพ้มาโค้ชจะซ้อมโหดมาก

มูฮัมหมัด อาลี นักมวยผู้ยิ่งใหญ่เคยพูดไว้ว่า ตอนเขาซิทอัพ เขาจะเริ่มนับตอนที่ท้องเริ่มปวดเท่านั้น โค้ชของ Shane ก็ทำแบบเดียวกัน คือจะเริ่มนับว่า sprint ไปแล้วกี่รอบตอนที่ผู้เล่นในทีมเริ่มหมดแรงกันแล้ว

เมื่อโดนฝึกซ้อมหนักขนาดนี้ ก็จะมีบางคนในทีมบอกว่าไม่ไหวแล้ว จะขอลาออกจากทีม ซึ่งโค้ชก็จะโต้กลับด้วยถ้อยคำต่างๆ นานา และตบท้ายว่า

“If you really want to quit, you can quit tomorrow, but you can’t quit today.”

ถ้าอยากจะยอมแพ้ค่อยยอมวันพรุ่งนี้ก็ได้ แต่วันนี้คุณห้ามยอมแพ้

และวันถัดมาก็ไม่มีใครลาออกจากทีมแม้แต่คนเดียว

ในระยะยาวแล้ว คนที่จะประสบความสำเร็จคือคนที่มีความเสมอต้นเสมอปลาย และการจะเป็นคนแบบนั้นได้เราก็ต้องมียุทธศาสตร์ที่จะ keep going ในเวลาที่ความยากลำบากและความท้อถอยมาเยือน

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ให้บอกตัวเองว่าถ้าจะยอมแพ้ก็ให้รอวันพรุ่งนี้

แต่วันนี้ห้ามยอมครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Brain Food: Unthinkable