ความมีอยู่จริงของแอปเปิลสีเขียว

เมื่อต้นสัปดาห์ครอบครัวผมไปเที่ยวหัวหินกันมา จึงมีเวลาคุยกับลูกๆ เยอะพอสมควร

“ปรายฝน” ลูกสาวคนโตวัย 7 ขวบครึ่ง ยังเป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้กลัว และจะกังวลเป็นพิเศษถ้าไม่ได้ทำตามที่ครูสั่งเป๊ะๆ

“ผึ้ง” ภรรยาของผมเลยสอนปรายฝนว่า บางทีคุณครูก็ไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง

“มัมมี่มีเพื่อนคนหนึ่งที่ตอนเด็กๆ ครูสั่งการบ้านให้วาดรูปแอปเปิลและระบายสี

เพื่อนมัมมี่ก็เลยวาดรูปแอปเปิลและระบายสีเขียวมาส่งครู

ปรากฎว่าครูเรียกเพื่อนคนนั้นมาคุย ว่าทำไมถึงระบายแอปเปิลเป็นสีเขียว แอปเปิลต้องเป็นสีแดงต่างหาก”

“แอปเปิลก็มีสีเขียวไม่ใช่เหรอ” ปรายฝนถาม

“เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยนั้นแอปเปิลสีเขียวยังไม่ค่อยมีขายในเมืองไทย ครูคนนั้นเลยไม่รู้ว่าแอปเปิลก็มีสีเขียวได้ด้วย”

โลกทัศน์และใจที่ไม่กว้างพอของครูจึงตัดสินให้เรื่องที่ถูกกลายเป็นผิด


ผมพยายามระลึกอดีตว่าเคยเจอสถานการณ์แอปเปิลสีเขียวกับตัวบ้างรึเปล่า แล้วก็นึกขึ้นได้เรื่องหนึ่ง

ตอนอยู่ที่ทำงานเก่า ผมเป็นหนึ่งสมาชิกชมรมดนตรีที่ชื่อว่า TRMG

งานที่ TRMG ตื่นเต้นรอคอยอยากจะแสดงมากที่สุด คืองานเลี้ยงประจำปีของบริษัท

เนื่องจากสมาชิกมีกันยี่สิบกว่าคน เราจึงจัดนักดนตรี/นักร้องเป็นเซ็ต มีประมาณ 6 เซ็ต แต่ละเซ็ตเล่นกัน 6-7 เพลง

เซ็ตสุดท้ายคือเซ็ตที่เล่นปิดงาน เป็นช่วงที่พีคที่สุด ต้องมีแต่เพลงมันๆ แมสๆ เพื่อไม่ให้อารมณ์สะดุด ยกตัวอย่างเช่นเพลง “เพียงกระซิบ” “เล่นของสูง” “โปรดส่งใครมารักฉันที” โดยผมจะได้ร้องนำประมาณ 3-4 เพลง

มีน้องในชมรมเสนอว่าอยากเล่นเพลง “มีแต่เธอ” ของวงพาราด็อกซ์ในเซ็ตปิดงานนี้

ผมไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าเพลงยังไม่แมสพอ ผมเพิ่งได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกในหนัง SuckSeed ห่วยขั้นเทพ ด้วยซ้ำไป

แต่เมื่อน้องๆ ยืนกรานว่าเพลงนี้ดังมาตั้งแต่สมัยเขาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็เลยยอมให้เล่น แต่ก็ขอตัวไม่ร้องเพลงนี้ หนึ่งเพราะว่าไม่อิน สองเพราะไม่เชื่อว่าเพลงมันสนุกพอที่จะอยู่ในเซ็ตสุดท้าย

ในวันงาน พอขึ้นเพลงมีแต่เธอ ปรากฎว่าคนส่วนใหญ่ในงานร้องตามกันได้อย่างเมามัน อารมณ์ร่วมไม่ได้ดร็อปลงจากเพลงอื่นๆ เลย

นึกย้อนกลับไปก็น่าเขกหัวตัวเองที่เกือบทำให้ TRMG ไม่ได้เล่นเพลงสนุกๆ

เขกหัวตัวเองที่เรียกร้องว่าแอปเปิลต้องมีแต่สีแดงเท่านั้น


Morgan Housel เขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money ว่า

“Your personal experiences make up 0.00000001% of what’s happened in the world, but maybe 80% of how you think the world works.”

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ คือความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา เราควรพูดให้น้อยลง ฟังให้เยอะขึ้น ไม่เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเป็นไม้บรรทัดที่ใช้วัดทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นคุณครูผู้ไม่รู้จักแอปเปิลสีเขียว แม้จะปรารถนาดีเพียงใดก็อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าสร้างคุณค่า

ในมุมกลับ ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เคยเห็นหรือลิ้มลองแอปเปิลสีเขียวมาแล้ว รู้แน่ชัดว่ามันมีอยู่จริง แต่คุณครูของเราเขาอาจไม่เคยเห็นแอปเปิลสีเขียวมาก่อน เราก็ต้องคิดและวางแผนให้ดีว่าจะสื่อสารกับเขาอย่างไรเพื่อให้เขาเปิดใจและให้โอกาสเราครับ