5 ความคลาสสิกยุค 90’s ที่หาไม่ได้ในยุค 20’s

20200112

ช่วงปี 2000-2019 ภาษาอังกฤษไม่มีชื่อย่อให้เราเรียกได้ง่ายๆ

แต่หลังจากรอคอยมา 20 ปี ตอนนี้เราก็ได้เดินทางถึงยุค “ทเวนตี้ส์” (20’s) แล้ว

ผมเองเติบโตมาในยุคไนน์ตี้ส์ (90’s) ซึ่งคิดกลับไปกี่ทีก็รู้สึกว่ายุคนั้นมันมีเสน่ห์บางอย่างที่ช่วง 2000-2019 ไม่มี เลยอยากจะขอระลึกความหลังกันหน่อยครับ

1. แกรมมี่แข่งกับอาร์เอส

ยุค 90’s คือยุคที่แกรมมี่กับอาร์เอสคือมหาอำนาจทางดนตรีในประเทศไทย สองค่ายผลัดกันส่งศิลปินออกมาซัดกันแบบมวยถูกคู่

เจ เจตริน แข่งกับ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง
มอส ปฏิภาณ แข่งกับ เต๋า สมชาย
UHT แข่งกับ ลิฟท์กับออย
นัท มีเรีย แข่งกับ ปุ๊กกี้
Teen 8 Grade A แข่งกับ The Next Generation
งานซนคนดนตรี นานที 10 ปีหน แข่งกับ RS Unplugged ดนตรีนอกเวลา

บางคนเชียร์แกรมมี่ บางคนเชียร์อาร์เอส แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนร้องเพลงทั้งสองค่ายได้เกือบทุกเพลง

เรารอฟังเพลงใหม่ๆ ทางคลื่นวิทยุ รอดูมิวสิกวีดีโอตัวใหม่ทางรายการของค่ายที่มาตอนดึกๆ ต้องถ่างตารอให้ละครจบบวกรายการอีกอย่างน้อยสองรายการกว่าจะได้ดูพี่เบิร์ดออกมาขว้างบูมเมอแรงให้เราเห็นเป็นครั้งแรก

2. โทรหาสาวไปที่โทรศัพท์บ้าน

สมัยก่อนไม่มีมือถือ การจะจีบผู้หญิงคนหนึ่งต้องใจถึงพอสมควร คือต้องโทร.ไปที่บ้านเขา รอสายไปหัวใจเต้นแรงไป และเมื่อเสียงปลายสายรับก็มักจะเป็นเสียงผู้ใหญ่

“ขอสายผิงครับ”

“จากใครคะ” (เสียงคุณแม่)

“จากรุตม์ครับ เป็นเพื่อนที่โรงเรียนครับ”

แล้วเราก็ต้องกลั้นใจว่าเขาจะให้คุยรึเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็ให้คุยเกือบทุกทีนะ ยกเว้นว่าเค้าจะไม่อยู่บ้าน

มีอีกสามเรื่องความคลาสสิกที่เกี่ยวพันกัน

หนึ่ง ถ้าบ้านมีโทรศัพท์หลายเครื่อง (แต่ใช้เบอร์เดียวกัน) พอมีใครยกหูขึ้น เราก็ต้องระวังว่าเขาแอบฟังเราอยู่รึเปล่า

สอง บางครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน อยากโทร.หาก็ต้องไปต่อคิวโทรศัพท์สาธารณะ หยอด 1 บาทคุยได้ 3 นาที คุยนานก็ไม่ได้เพราะเกรงใจคนที่ต่อคิวอยู่นอกตู้

สาม ถ้าใครไฮโซหน่อยก็จะมีเพจเจอร์ เราสามารถโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของแพ็คลิงค์เพื่อฝากข้อความถึงคนที่เราคิดถึงได้

3.ทำอัลบั้มรวมฮิตใส่เทปคาสเซ็ท

ตอนนั้นไม่มี MP3 และไม่มี Streaming เราจะฟังเพลงผ่านเทปคาสเซ็ทหรือถ้ารวยหน่อยก็ซื้อ CD จำได้ว่าซีดีสมัยนั้นแผ่นละ 450 บาท ในยุคที่บะหมี่เกี๊ยวชามละ 15 บาท

หนึ่งในสิ่งที่วัยรุ่นนิยมทำกันคือ “สร้างอัลบั้มของตัวเอง” ด้วยการเอาเพลงจากหลายๆ ที่มาใส่ไว้ในเทปม้วนเดียว

กระบวนการคือใช้เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทที่ใส่เทปได้สองฝั่ง เราต้องใส่เทปที่มีเพลงที่เราชอบไว้ด้านนึง และใส่เทปเปล่าไว้อีกด้านนึง จากนั้นจึงเปิดเพลงที่เราชอบ และกดอัดเพลงนั้นลงในเทปเปล่า จบเพลงก็ต้องกด stop เพื่อจะได้เพลงมาหนึ่งเพลง แล้วเราก็เปลี่ยนเทปต้นทางเพื่ออัดเพลงที่ 2 ทำซ้ำอย่างนี้ไปอีก 15 รอบ เทปเปล่าของเราก็จะกลายเป็นอัลบั้มรวมฮิตที่เราเก็บไว้ฟังเองหรือเอาไปให้คนที่เราอยากให้ฟัง

4. เขียนจดหมายหยอดตู้ไปรษณีย์

สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการจะส่งอีเมลหรือทำ LINE Video Call ก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครไปอยู่ต่างประเทศ การจะโทรทางไกลกลับประเทศก็นาทีละ 40 บาท ดังนั้นการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการเขียนจดหมาย

สมัยเรียนม.ปลายที่นิวซีแลนด์ ผมเคยเขียนจดหมายฉบับละหลายหน้ากระดาษ A4 ถ้าเขียนผิดก็ต้องใช้ลิควิดเปเปอร์ลบ ห้ามป้ายหนาเกินไปไม่งั้นมันจะเละและเขียนทับไม่ได้ เขียนเสร็จก็พับจดหมายใส่ซอง ปั่นจักรยานไปไปรษณีย์ให้เค้าชั่งน้ำหนักจดหมายเพื่อคำนวณว่าจะต้องเสียค่าแสตมป์เท่าไหร่

เมื่อส่งไปแล้วก็รอคอยจดหมายตอบกลับมาอย่างใจจดใจจ่อ อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 3 สัปดาห์ ผมจะต้องเดินไปหน้าบ้านทุกเช้าเพื่อค่อยๆ เปิดตู้จดหมายดูว่ามีอะไรมาส่งบ้างรึเปล่า วินาทีที่เห็นว่ามีซองจดหมายที่มีชื่อเราจ่าหน้าซองอยู่ หัวใจมันพองโตกว่าการได้รับอีเมลประมาณหนึ่งร้อยเท่า

5. ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน

สมัยนั้นใครเอากีตาร์ Ovation หลังเต่ามาโรงเรียนจะดูคูลมาก เพลงอะคูสติกที่คนหัดเล่นกีตาร์ทุกคนใฝ่ฝันว่าอยากเล่นให้ได้คือเพลง More Than Words ซึ่งดังมาจากโฆษณาเกงเกงยีนส์ Lee

เพื่อนผู้ชายของผมหนึ่งในสามจะมีวงของตัวเอง นัดกันไปซ้อมตามห้องซ้อม เล่นกันก็ไม่ค่อยจะเอาอ่าวหรอกแต่สนุกดี เล่นเสร็จก็หารค่าห้องแล้วไปหาอะไรกินกันต่อ

ถ้าจะเล่นเพลงฝรั่ง แค่จะหาเนื้อร้องก็ยากแล้วเพราะเทปเพลงฝรั่งมันไม่ค่อยจะมีเนื้อร้องแถมมาให้เหมือนเทปเพลงไทย ส่วนการแกะเพลงก็ต้องลำบากกรอเทปซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเทปยาน (เด็กสมัยนี้จะเข้าใจคำว่าเทปยานมั้ย?)

สมัยนั้นเราจะมีฮีโร่ให้ยึดเหนี่ยวหลายวง ถ้าเป็นวงฝรั่งก็เช่น Guns N’ Roses , Bon Jovi, Radiohead, Oasis, Blur, Nirvana, Red Hot Chilli Peppers หรือถ้าจะอยากจะดูเหนือชั้นจริงๆ ก็ต้องเล่น Dream Theater

ส่วนเพลงไทยตอนนั้นก็เป็นยุคที่ดนตรีอัลเตอร์เนทีฟเฟื่องฟู ทางคอร์ดง่ายๆ ใส่เอฟเฟ็คกีตาร์ distortion ไปหน่อยก็เพราะแล้ว เพลงยอดฮิตที่เรามักจะเอามาซ้อมกันในห้องซ้อมก็เช่น “บุษบา” ของโมเดิร์นด็อก “ไม่เป็นไร” ของพี่ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ “ดีเกินไป” ของสไมล์บัฟฟาโล่ “อึ๊ม…ดาว” ของวง Imp ซึ่งได้รองชนะเลิศ Hot Wave Music Award ส่วนวงที่ชนะเลิศในปีเดียวกันนั้นชื่อวงละอ่อน มีนักร้องชื่ออาทิวราห์ คงมาลัย

—–

ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ยุค 90’s มันพิเศษกว่ายุคก่อนๆ ก็เพราะว่ามันเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” พอดี มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตเราสบายขึ้นแต่ก็ยังต้องออกแรงอยู่ มีฮีโร่ให้ยึดเหนี่ยว มีเพลงจากสองค่ายใหญ่ที่เราได้ฟังทุกวันจนผูกพันกับศิลปินเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสมัยนี้ความสัมพันธ์แบบนั้นมันเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเรามีทางเลือกเยอะจนทำให้ความสนใจของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลงไปทุกที

ผมเล่ามาแค่ 5 เรื่องที่คลาสสิกสำหรับผมเพราะผมได้สัมผัสกับมันโดยตรง เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายสิบเรื่องที่เป็นความทรงจำยุค 90’s ใครคิดอะไรออกก็นำมาแชร์ตรงนี้ได้เลยแล้วผมจะคัดสรรบางส่วนมาอัพเดตในบทความนี้นะครับ

—–

“Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer

80507942_579966649467475_5144866110411112448_n