ในโลกที่ผกผัน เราจะใช้อะไรนำทางชีวิต?

ผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ทำธุรกิจสมัยนี้ยากกว่าสมัยก่อน แต่ก่อนยังวางแผนเป็นรายปีได้ แต่สมัยนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกเดือน หรือแม้กระทั่งทุกสัปดาห์ ทำให้เราต้องพร้อมปรับตัวและปรับความคาดหวังกันตลอดเวลา

ในหนังสือ Aladdin & Luddite บอกเอาไว้ว่า ความเสี่ยงนั้นมีตั้งแต่ระดับแรดเทา (ความเสี่ยงที่เราเห็นได้แต่ไกลและจัดการได้) ระดับหงส์ดำ (ความเสี่ยงที่เราคาดไม่ถึงและส่งผลรุนแรง) และระดับมังกรราชัน (ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบกว้างไกลและยาวนาน)

ความเสี่ยงระดับมังกรราชันที่ผมมองเห็นอยู่ตอนนี้ ก็คือเรื่องสงคราม เรื่องสภาพภูมิอากาศ และเรื่องเอไอ

เรื่องสงคราม นอกจากที่ยูเครนและอิสราเอลแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือไต้หวัน เพราะจีนและอเมริกาฮึ่มๆ กันมาพักใหญ่ ไต้หวันเป็นมหานครแห่งชิปประมวลผล (semiconductor chips) ซึ่งอยู่ในสิ่งที่เราขาดไม่ได้อย่างมือถือและแล็ปท็อป รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมาย

กลุ่มทรงอิทธิพลอย่าง OPEC ที่มี 13 ประเทศสมาชิก ครองส่วนแบ่ง 38% ของตลาดน้ำมันดิบโลก

แต่บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เพียงบริษัทเดียวมีส่วนแบ่งตลาดโลกของชิปถึง 55% ดังนั้นไต้หวันจึงมีความสำคัญมากในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก (geopolitics) และหากมีกรณีพิพาทกันระหว่างจีนกับอเมริกาเรื่องไต้หวัน ย่อมส่งผลต่อ supply chain ทั่วโลกที่ต้องใช้ชิปอย่างแน่นอน

เรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน หลายคนอาจได้เห็นข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่าโลกเราร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเป็นครั้งแรก เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าหากร้อนเกินสององศาแล้วจะส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ในระดับที่เราไม่สามารถแก้ไขได้

ส่วนเรื่องเอไอก็อย่างที่เห็นกันว่ามันมาไกลและมาเร็วกว่าที่เราคาดคิด นักประวัติศาสตร์ Yuval Harari บอกว่านี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าเปรียบกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ChatGPT ในปัจจุบันยังเป็นแค่เอไอระดับอะมีบา ถ้ามันวิวัฒนาการเป็นเอไอระดับทีเร็กซ์จะทรงพลานุภาพแค่ไหน

วันก่อนมีเพื่อนที่กำลังจะมีลูกถามผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่าจะสอนอะไรลูกดี ผู้ใหญ่ท่านนั้นส่ายหน้า บอกว่าลูกของเราจะเติบโตไปในโลกที่เราไม่รู้จัก ดังนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเราควรจะสอนอะไร

เมื่อยังต้องอาศัยอยู่และเอาตัวรอดในโลกที่ผันผวนขนาดนี้ ผมก็นึกถึงประโยคหนึ่งในหนังสือ “สู่ชีวิตใหม่ : การแสวงหาในช่วงหนึ่งของชีวิต” ของนายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ที่อ้างอิงถึงคำพูดของ Otto Charmer ผู้เขียนหนังสือ The Theory U เมื่อปี 2007 ว่า

“โลกในภายหน้า เราจะพบความแปรปรวนอย่างหนัก จนความรู้เดิมและประสบการณ์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราทำได้เพียงเชื่อในสิ่งที่หัวใจบอก นำทางชีวิตพวกเราไป”

ฟังดู cheesy นิดๆ แต่เป็นถ้อยคำที่ควรพิจารณา

เพราะผมไม่คิดว่าคำตอบจะอยู่ใน ChatGPT TikTok หรือที่ปรึกษาใดๆ

เราทำได้เพียงเชื่อในสิ่งที่หัวใจบอก และให้มันค่อยๆ นำทางชีวิตของเราไป ส่วนจะใช้เครื่องมืออื่นใดเป็นตัวช่วยก็ไม่ผิด แต่ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นมันมากนัก

สุดท้าย ถ้ามันจะดีจะร้าย ก็ขอให้มันเป็นทางที่เราเลือกเองโดยรู้ตัวครับ

แรดเทา หงส์ดำ และมังกรราชัน”อาละดินกับลัดไดต์”หนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน

Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือเล่มใหม่จาก openbooks หลังจากสำนักพิมพ์แห่งนี้ “จำศีล” ไปนานเกือบสามปี

อาละดินคือเจ้าของตะเกียงวิเศษที่สามารถเรียกยักษ์จินนี่ออกมารับใช้ตามที่ใจนายปรารถนา ปัญหาคือยักษ์จินนี่ที่มีชื่อว่าเอไอถูกเรียกออกมา และไม่อาจส่งกลับเข้าตะเกียงได้อีกต่อไป

ลัดไดต์ คือชื่อเรียกของกลุ่มช่างทอผ้าชาวอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ลุกขึ้นมาประท้วงการนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงาน เพราะกลัวว่ามันจะมาทำลายการเลี้ยงชีพของพวกเขา

การประท้วงของลัดไดต์บางกลุ่มรุนแรงถึงขั้นทำลายเครื่องจักร จนนำไปสู่การล้อมปราบของรัฐบาล ลัดไดต์จำนวนมากได้รับโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือถูกส่งไปยังเมืองอาณานิคมอย่างออสเตรเลีย

ผมอ่านอาละดินกับลัดไดต์จบด้วยความอิ่มเอมและความกังวล

อิ่มเอม เพราะได้เห็นภาพใหญ่ที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการคัดสรร (curator) ได้ร้อยเรียงเรื่องราวจากหนังสือเล่มหนา 5 เล่มของนักคิดนักเขียนระดับปรมาจารย์

กังวล เพราะรู้ตัวว่าหากไม่ลงมือทำอะไรที่ต่างออกไปตั้งแต่ตอนนี้ ผมอาจต้องมานั่งเสียดายในภายหลัง

หนังสือที่ปรากฎตัวใน Aladdin & Luddite ได้แก่

  1. World Order ของเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลก
  2. Doom ของนีลล์ เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์แถวหน้าของอังกฤษ
  3. The Technology Trap ที่นิตยสาร Financial Times ยกย่องให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดประจำปี 2019 ในหมวดเทคโนโลยี เขียนโดย คาร์ล เบเนดิกต์ เฟรย์ (Carl Benedikt Frey) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเทคโนโลยี
  4. Redesigning Work ของลินดา แกรตตัน (Lynda Gratton) อาจารย์ดีเด่นแห่งปีของ London Business School และผู้เขียนหนังสือ “ชีวิตศตวรรษ” (The 100-Year Life) ที่พิมพ์ไปแล้วนับล้านเล่ม
  5. The Metaverse – ของ คิมซังกยุน (Sangkyun Kim) หนึ่งในหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ในเกาหลี

เมื่อระเบียบโลกที่เราคุ้นเคยกำลังพังทลาย สัตว์มหัศจรรย์ทั้งหลายเริ่มปรากฎตัว ไม่ว่าจะเป็นแรดเทา (อันตรายที่เรามองเห็นและพอคาดเดาได้) หงส์ดำ (อันตรายที่เรามิอาจคาดการณ์) และมังกรราชัน (เหตุการณ์รุนแรงเกินจินตนาการ)

เทคโนโลยีที่มาใหม่ อาจเป็น labor-enabling technology ที่ช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็น labor-replacing technology อย่างเครื่องทอผ้าที่ทำให้แรงงานฝีมือนั้นด้อยคุณค่าในข้ามคืน

เราจึงต้องวางแผนชีวิตและการงานของเราใหม่ ต้องเพิ่มทักษะเพื่อจะไม่ต้องเป็นลัดไดต์ที่ต่อต้านจักรกลและเอไอโดยไม่เห็นหนทางชนะ

การเรียนเต็มเวลา ทำงานเต็มเวลา และจบลงด้วยการเกษียณอาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป เพราะเงินที่เรากันไว้ยามชราอาจไม่พอใช้สำหรับชีวิตที่อาจยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี

เมื่อ Metaverse แพร่หลายไปกว่านี้ เราจะมีตัวตนใหม่อยู่ในโลกคู่ขนานที่กำกับโดยเอไอ จนเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า ตัวเองเป็นจวงจื่อที่ฝันว่าเป็นผีเสื้อ หรือเราเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นจวงจื่อกันแน่

Aladdin & Luddites จึงเป็นเหมือน wake-up call ให้เราตื่นจากฝันและตื่นจากความชะล่าใจ เผลอคิดว่าอนาคตคือเส้นตรงที่ลากไปจากปัจจุบัน ทั้งที่จริงแล้วทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในอัตราเร่ง

“เมื่อวิกฤติยังมาไม่ถึง
เรามีแนวโน้มที่จะประเมินสถานการณ์
ต่ำกว่าความเป็นจริง

เราจึงไม่คิดว่า
แรดเทา จะกลายเป็น หงส์ดำ
และ หงส์ดำ จะกลายร่าง
เป็น มังกรราชัน ได้…

เราจึงไม่ตัดสินใจกระทำการใหญ่
ได้แต่ผัดผ่อนการแก้ปัญหา
คล้ายการเตะกระป๋องไปเบื้องหน้า

ด้วยเชื่อว่าปัญหา
อาจจะมีใครบางคนช่วยคลี่คลาย
และเรื่องจริงคงไม่เลวร้ายขนาดนั้น

นี่คืออันตรายที่สุด
ในการเตรียมตัวรับมือวิกฤติ
ในทุกมิติของชีวิต”

อาละดินกับลัดไดต์ไม่ใช่หนังสือ How To มันไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป จริงๆ แล้วเมื่ออ่านจบแล้วเราจะมีคำถามมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เราจะออกแบบชีวิตอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกันจากแรดเทา หงส์ดำและมังกรราชัน?

เราควรลงมือทำสิ่งใดเพื่อลดโอกาสที่เราจะกลายเป็นลัดไดต์แห่งศตวรรษที่ 21?

เราจะให้การศึกษาอะไรกับลูกในวันที่ AI จะทำได้ดีกว่าลูกเราเกือบทุกอย่าง?

เป็นคำถามที่เราต้องสบตาและใช้เวลาขบคิดให้มาก ไม่อย่างนั้นเราอาจเสียแรงและเวลาอย่างผิดที่ผิดทางและเปล่าดาย

“เราจะรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างไร
ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งฝ่าย
ความเกลียดชัง ความเย้ยหยัน ความริษยา
และความปรารถนาอันไม่สิ้นสุด

อะไรคือการศึกษายุคใหม่
ที่เราต้องมอบให้ลูกหลาน
เพื่อเตรียมพวกเขาให้เข้าสู่โลกอนาคต
อนาคตซึ่งเราเองก็ไม่เข้าใจ…

นอกจากมีเงินเก็บเท่าไรจึงจะมั่นคง
เราอาจจะต้องคิดถึงคำถามใหม่ที่ว่า
เราจะรู้สึกมั่นคงได้อย่างไร
โดยไม่จำเป็นต้องมี
เงินเก็บมากมายตามตำรา”

ผมเชื่อว่า “อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน เผื่อว่ามันจะกระตุกให้เราได้หยุดคิดพิจารณา เริ่มวางแผนสำรองให้กับชีวิตและครอบครัว เพื่อเตรียมตัวกับอนาคตที่ไร้ซึ่งความแน่นอนครับ


ขอบคุณเนื้อหาและประกายความคิดจากหนังสือ Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรียบเรียง สำนักพิมพ์ openbooks (หนังสือมีสองปกคือสีฟ้าและสีส้มอมชมพู ขอบคุณภาพจากเพจ openbooks ครับ)

3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

ผมเพิ่งได้ฟังการสัมภาษณ์ที่นักข่าว Pedro Pinto พูดคุยกับ Yuval Noah Harrari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในเมืองลิสบอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2023 เนื้อหาหลักของการพูดคุยคือ AI จะมีผลกระทบต่อการเมืองและประชาธิปไตยอย่างไร

ในช่วงต้นของการสัมภาษณ์ ฮารารีได้พูดถึงบางแง่มุมของ AI ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ

.

1. AI ที่เราเห็นยังเป็นแค่อะมีบา

AI ที่เราใช้งานกันอยู่มีอายุประมาณ 10 ปี

วิวัฒนาการต้องใช้เวลาถึง 4 พันล้านปีกว่าจะสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์

เมื่อสี่พันล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกยังเป็นแค่อะมีบา (amoeba) อยู่เลย

ChatGPT จึงเป็นแค่อะมีบาในโลกของ AI

ถ้า AI ระดับอะมีบายังทำได้ขนาดนี้ ลองนึกภาพดูว่า AI ระดับ T-Rex จะทำได้ขนาดนี้

และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ที่ “อะมีบา AI” จะวิวัฒนาการเป็น “ทีเร็กซ์ AI”

คงไม่ได้ใช้เวลาเป็นพันล้านปีแน่ๆ อาจจะใช้เวลาแค่ระดับทศวรรษหรือไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะว่าวิวัฒนาการของ AI อยู่บนคนละ time scale กับสิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก AI ทำงานได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องพักผ่อนเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

.

2. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่ตัดสินใจได้เอง

เราคงเคยได้ยินบางคนพูดว่า AI ไม่ได้อันตรายอย่างที่เราคิด ที่ผ่านมาเวลาเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ คนก็มักจะกลัวกันไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันก็โอเค ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์หรือการบิน ดังนั้นสุดท้ายแล้ว AI ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

แต่เราไม่อาจเทียบ AI กับเทคโนโลยีอื่นได้ เพราะไม่เคยมีเทคโนโลยีใดในประวัติศาสตร์ที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างระเบิดปรมาณู (atomic bomb) – แม้ว่ามันจะทำลายเมืองทั้งเมืองได้ แต่มันไม่สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะไประเบิดที่เมืองไหน เรายังต้องใช้มนุษย์ในการเลือกอยู่ดี

แต่ AI นั้นตัดสินใจเองได้ เวลาเรายื่นขอเงินกู้ หลายธนาคารใช้ AI ในการตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้เราหรือไม่

.

3. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่สร้างไอเดียใหม่ๆ ได้

เทคโนโลยีการพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ทำได้เพียงกระจายไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมันสมองของมนุษย์

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก เป็นผู้ปฎิวัติการพิมพ์จนทำให้สามารถพิมพ์ไบเบิลออกมาได้ในช่วงศตวรรษที่ 15

“The printing press printed as many copies of the Bible as Gutenberg instructed it, but it did not create a single new page”

แท่นพิมพ์เหล่านั้นจะพิมพ์ไบเบิลออกมากี่ร้อยกี่พันเล่มก็ได้ แต่มันไม่สามารถ “เขียน” ไบเบิลหน้าใหม่ออกมาได้เลยแม้แต่หน้าเดียว

แท่นพิมพ์เหล่านั้นไม่มีไอเดียเป็นของตัวเอง มันไม่รู้หรอกว่าไบเบิลที่มันผลิตออกมานั้นดีหรือไม่ดี

แต่ AI สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้ มันอาจจะสามารถเขียนไบเบิลใหม่ทั้งเล่มได้เลยด้วยซ้ำ

หลายศาสนามักจะเคลมว่าพระคัมภีร์ของศาสนาตัวเองนั้นถูกเขียนขึ้นโดยบางสิ่งที่มีภูมิปัญญาเหนือมนุษย์ (superhuman intelligence)

แต่ไม่กี่ปีต่อจากนี้ อาจจะเกิดศาสนาใหม่ที่มี AI เป็นผู้เขียนพระคัมภีร์จริงๆ ก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก YouTube: Humanity is not that simple | Yuval Noah Harari & Pedro Pinto

Siri ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราพูดหรอกนะ

ตอนนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ “ฉลาดกว่า AI” ของสำนักพิมพ์ howto อยู่ครับ

เขาโฆษณาว่านี่เป็นหนังสือ AI ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น

แม้จะเขียนมา 5 ปีแล้ว แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ยังเป็นความรู้ใหม่สำหรับผมมาก

มีช่วงตอนหนึ่งที่ผมลองอ่านแล้วทำตามแล้วสนุกมาก คือการ “เข้าใจคำสั่งของมนุษย์” ของ AI

หลายคนคงคุ้นเคยกับการพูดคุยกับ Siri หรือ Google Assistant เพื่อให้มันเปิด Google Maps พาเราไปไหนต่อไหน แล้วเราก็คิดว่า AI นี่ชักจะพูดจารู้เรื่องเหมือนมนุษย์มากขึ้นทุกที

แต่ที่เราคิดว่า AI เข้าใจเรานั้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้เข้าใจเราจริงๆ หรอก มันแค่ “ทำเป็นเข้าใจ” เราเฉยๆ

ลองทดลองดูง่ายๆ ก็ได้ ในตัวอย่างนี้ผมลองกับ Google search ในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของผม แต่คุณจะลองทำผ่าน Siri หรือ Google Assistant บนโทรศัพท์ก็คงจะได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน

ตัวอย่างแรก ผมอยากหาร้านอาหารอิตาเลี่ยนดีๆ ที่อยู่แถวนี้ ก็เลยพิมพ์ว่า

find good italian restaurants near me

ก็จะได้ลิสต์ร้านอาหารที่คะแนน 4 ดาวขึ้นไปมาโชว์ให้เห็น

แต่ถ้าเราอยากหาร้านอาหารอิตาเลี่ยนที่ไม่อร่อยล่ะ?

find bad italian restaurants near me

ผลลัพธ์ที่ได้คือรายชื่อร้านอาหารอิตาเลี่ยน 4 ดาวขึ้นไปเหมือนกัน ตัวผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนข้อแรกซะทีเดียว แต่ในตัวอย่างนี้ผมก็มีร้านที่ซ้ำกับข้อแรกคือร้าน Peppe และไม่มีร้านไหนที่ได้คะแนนน้อยๆ เลย

แล้วถ้าอยากหาร้านอร่อยๆ ที่ไม่ใช่ร้านอิตาเลี่ยนล่ะ?

find good restaurants near me except italian restaurants


ผลลัพธ์ก็แทบไม่ต่างจากข้อแรกเช่นกัน ร้านที่โชว์ขึ้นมาล้วนแล้วแต่เป็นร้านอิตาเลี่ยนที่ได้คะแนนดีๆ ทั้งนั้น

นี่มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไม AI ที่เก่งกาจถึงไม่เข้าใจคำว่า “bad” หรือ “except”?

สาเหตุก็เพราะ AI ไม่ได้เข้าใจความหมายของภาษามนุษย์จริงๆ สิ่งที่มันทำคือใช้หลักการสถิติและความน่าจะเป็นในการศึกษา big data ว่าถ้าถูกถามด้วยประโยคที่มี keywords เหล่านี้ คำตอบควรจะเป็นแบบไหน

แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีคนถามหาร้านอาหารอิตาเลี่ยนที่ไม่อร่อยหรือร้านอร่อยที่ไม่ใช่ร้านอิตาเลี่ยน ฐานข้อมูล big data จึงไม่ค่อยมีรูปประโยคเหล่านี้ และคำว่า bad หรือคำว่า except จึงไม่มีน้ำหนัก ผลลัพธ์จึงไม่ต่างจากการค้นหาร้านอิตาเลี่ยนตามปกติ

ผมว่านี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมันคือช่องว่างระหว่างสติปัญญาของมนุษย์และสติปัญญาของ AI ซึ่งอาจจะเป็นกุญแจนำเราไปสู่คำตอบที่ว่า มนุษย์เราจะยังรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ได้อย่างไรในวันที่ AI ครองเมือง

ไว้อ่านหนังสือเล่มนี้จบผมอาจจะได้มาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ

รู้ทุกอย่างยกเว้นรู้ตนเอง

20200701

Yuval Noah Harrari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens มักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า

“We are hackable animals”

ในความหมายที่ว่า AI สามารถประมวลข้อมูล big data ที่เก็บมาจากพฤติกรรมการใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ต จนสามารถเดาใจหรือแม้กระทั่ง “ชักใย” (manipulate) เราได้

ไม่ว่าจะเป็น Google, Youtube, Facebook, Netflix, Shopee, Lazada, Amazon เว็บเหล่านี้ล้วนเก็บพฤติกรรมของเราไว้หมดว่าเสิร์ชอะไรบ้าง คลิกอะไรบ้าง เพื่อที่มันจะ suggest บทความ วีดีโอ หรือสินค้าที่เราสนใจ

ในอนาคตเมื่อ internet of things และ wearable technolgoies เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเมื่อ COVID หรือโรคระบาดอื่นๆ ทำให้เราต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเรามากกว่าที่เคย (เช่นวันนี้ไปเดินห้างไหนมา เข้าร้านไหนตอนกี่โมง) ข้อมูลเหล่านี้ก็จะยิ่งถูกนำไปประมวลผลเพื่อเอามาวิเคราะห์ตัวตนและรสนิยมของเราได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากที่เคยเดินตามหลังมนุษย์ AI จะมาเดินนำหน้ามนุษย์และโน้มน้าวให้เราชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังถูกชักจูงอยู่

AI จะ shape ความคิด พฤติกรรม การซื้อ หรือแม้กระทั่งความฝันและการเลือกคู่

และเมื่อถึงตอนนั้น AI ก็จะ ‘hack’ มนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แล้วเราจะต้านทานปรากฎการณ์นี้ได้อย่างไร

บางที เราอาจต้องกลับไปที่คำสอนโบราณ ที่บอกว่า ‘Know thyself’ – จงรู้จักตนเอง

แต่การรู้จักตนเองเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

เมื่อมือถือ จอมอนิเตอร์ และจอทีวีมาจับจองช่วงเวลาตื่นของเราไปเสียหมดสิ้น เราจึงแทบไม่เหลือเวลาที่จะศึกษาตัวเองเลย

เรารู้เรื่องข้างนอกเยอะไปหมด เยอะจนเกินความจำเป็น ในขณะที่เรารู้เนื้อรู้ตัว และรู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองน้อยมาก

สิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการ บางทีมันเป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าเราควรต้องการเท่านั้นเอง

และแนวโน้มก็จะมีแต่แย่ลง เพราะองค์กรใหญ่ๆ อย่าง Facebook หรือ Youtube นั้นเค้าจ้างคนจบปริญญาเอกด้าน psychology เพื่อมาทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขา sticky จนเราเสพติดอย่างงอมแงม

ถ้าเราปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแส ใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ระวังตัว เราก็จะกลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ เป็นเพียง hackable animals ที่ AI สั่งซ้ายหันขวาหันได้

ทุกๆ วัน เราจึงควรมีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง อยู่เงียบๆ โดยไม่ต้องอ่านอะไร ไม่ต้องพูดอะไร ไม่ต้องฟังอะไรนอกจากเสียงในหัวและในใจของเราเอง

ก่อนจบบทความนี้ ผมขอยกคำถามสุดท้ายที่ผมเคยถามพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่เคยมาเป็นแขกของ Wongnai WeShare ครับ:

—–

พี่ภิญโญเคยอธิบายไว้ว่า การอยู่รอดในยุคถัดไปที่จะมี AI มาทำงานแทนเรา เราต้องกลับไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ อยากให้พี่ช่วยขยายความหน่อยว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวันที่โดน AI แย่งงาน

ถ้า AI ทำงานแทนเราได้ทั้งหมด – ซึ่งมันจะทำงานส่วนใหญ่แทนเราได้ น่าจะชงกาแฟอร่อยกว่าด้วยซ้ำไปถ้าสัดส่วนถูกต้อง

เราเป็นมนุษย์ เรารู้อยู่แล้วว่าแท้ที่สุด ลึกลงไปของหัวใจ มนุษย์อย่างพวกเราต้องการอะไร และสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ถามว่าหุ่นยนต์กลไก AI มอบให้เราได้ไหม

AI จะเคยหลั่งน้ำตาให้ใครได้ไหม จะเคยเสียใจปลอบใจใครได้ไหม ในวันที่เราสูญเสียคนรัก สูญเสียมิตรภาพ ตกงาน คุณอยากมีเพื่อนดีๆ สักคนหนึ่ง อยากกอดใครสักคนหนึ่ง ในวันที่คุณสูญเสีย เจ็บปวด เศร้าใจ ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ คุณจะกอดเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะที่บ้านไหม คุณจะคุยกับ Siri เหรอ

ในวันที่บุพการีของคุณ หรือคนที่คุณรักกำลังจะจากไป คุณจะให้ AI อยู่ข้างเตียงแล้วคอยเปิดบทสวดมนต์กล่อมพ่อแม่คุณให้ไปสู่สุคติ หรือคุณอยากได้สมณะที่คุณนับถือและคุณเชื่อว่ามีการปฏิบัติภาวนาที่แก่กล้านำพาดวงวิญญาณของบุพการีคุณสู่สัมปรายภพ

คุณจะเลือกนักร้องที่ดังที่สุดที่อยู่ใน AI มาเปิดข้างเตียงให้แม่คุณฟัง หรือคุณอยากจะหาคนที่คุณไว้วางใจที่สุด นุ่มนวลที่สุดในชีวิตเข้าไปจับมือประคองดวงวิญญาณของบุพการีไปสู่สรวงสวรรค์

ในวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คุณอยากจะอยู่กับหุ่นยนต์สักตัวหนึ่งแล้วดินเนอร์ด้วยกัน หรือว่าคุณอยากจะนั่งอยู่กับคนที่คุณรักแล้วจับมืออยู่ด้วยกัน คุณอยากกินซูชิที่อร่อยที่สุดจากมือหุ่นยนต์ หรือคุณอยากนั่งกินซูชิโดยมือของเชฟที่อายุ 90 ปีที่ผ่านการทำงานมาแล้ว 50 ปี

มันมีบางเรื่องในชีวิตที่หุ่นยนต์กลไกทำงานแทนมนุษย์ไม่ได้ และนั่นคือคำถามว่ามันคืออะไร และนั่นคือสิ่งที่มนุษย์ต้องห่วงแหนรักษาเอาไว้เพื่อไม่ให้หายไป นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้

ถ้าเราหาเจอว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราจำเป็นต้องรักษาไว้ และถ้าเราฉลาดพอว่านั่นคือสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องรักษาไว้ แล้วเราสร้างธุรกิจหรือดำเนินชีวิตไปกับสิ่งที่เป็นคุณค่าของมนุษย์เหล่านั้นได้ เราก็จะอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ และนั่นเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์กลไก AI จะ disrupt เราไม่ได้

ถึงที่สุดแล้ว AI ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ ปัญหาคือมนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ต่างหาก เราจึงกลัว AI จึงกลัวหุ่นยนต์และกลไก สิ่งที่ต้องรักษาไว้สูงสุดคือความเป็นมนุษย์ และเรื่องที่ผมคุยมาตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาทั้งหมดคือความเป็นมนุษย์

ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องกลัวหุ่นยนต์ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ แล้วเรารู้ว่าคุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวความเปลี่ยนแปลง AI จะ disrupt เราไม่ได้ ฉะนั้นจงหาให้เจอว่าคุณค่าที่แท้จริงที่สูงสุดของมนุษย์อยู่ตรงไหน

ถามว่าจะต้องไปค้นหาที่ไหนเหล่า ก็ต้องย้อนกลับเข้ามาข้างในตัวเรา เพราะใครจะเป็นมนุษย์และรู้จักมนุษย์ได้ดีเท่ากับตัวเราเอง ทุกคนล้วนเป็นแบบจำลองของมนุษย์ที่ทั้งสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัว

ใน Present หนังสือเล่มล่าสุดที่ผมเขียน ผมขอให้ทุกคนย้อนกลับเข้ามาดูในตัวเรา มันเป็นศาสตร์ที่ยากและลึกซึ้ง ต้องใช้เวลาอ่านหลายปี อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ 10 ปี 20 ปีแต่หวังว่าทุกคนจะเริ่มทำความเข้าใจ แล้วย้อนกลับมาดูข้างในว่าอะไรคือหัวใจสูงสุดของมนุษย์ที่ AI หุ่นยนต์กลไกมา disrupt เราไม่ได้ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ปลูกฝังไว้ในตัวเรามาเป็นพันปีแล้ว แล้วทำไมปราชญ์โบราณ ศาสดาพยากรณ์โบราณเข้าใจเรื่องแบบนี้ทั้งหมด แล้วเราซึ่งคิดว่าตัวเองชาญฉลาดที่สุดในโลก อยู่ในยุคที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ทำไมเราไม่เข้าใจ ทำไมเรามองข้าม ทำไมเราปรามาสว่านี่เป็นปัญญาแต่อดีตกาล แล้วเราหลงลืมกันไป แล้วเราก็กลัวว่า AI จะมา disrupt เรา

ถ้าเราหาหัวใจเหล่านี้ไม่เจอ เราก็จะสูญเสียหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ไป และแน่นอนเราจะถูก disrupt แต่ถ้าเราเจอหัวใจของตัวเรา ยากที่หุ่นยนต์กลไกจะ disrupt เราได้ คำถามคือเราเจอหรือเปล่าว่าหัวใจที่แท้จริง จิตวิญญาณที่แท้ ความหมายที่แท้ของการเป็นมนุษย์ของเราอยู่ที่ไหน

ขอให้ย้อนกลับไปข้างในนั้นแล้วจะเจอ ถ้าไม่เจอวันนี้พรุ่งนี้ อาจจะใช้เวลา 10 ปี 20 ปี หรือเราจะต้องค้นหาไปชั่วชีวิต แต่หวังว่าทุกท่านจะพบเจอคำตอบนี้