สมการความสุข / สมการความทุกข์

ผมเคยเขียนถึงสมการความสุขไว้ในบล็อกนี้หลายครั้งว่า

Happiness = Reality – Expectations

ความสุขเท่ากับความจริงลบความคาดหวัง

ถ้าความจริงมันดีกว่าที่เราคาดหวัง เราก็จะมีความสุข

ถ้าความจริงมันแย่กว่าที่เราคาดหวัง ผลออกมาย่อมเป็นลบ นั่นแสดงว่าเรากำลังมีความทุกข์

ยิ่งเรามีความคาดหวังมากเท่าไหร่ เรายิ่งเพิ่มโอกาสที่จะมีความทุกข์มากเท่านั้น

แต่ถ้าเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง ก็คือเราอาศัยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความจริงย่อมเปลี่ยนไป แต่คนเราก็ยังยึดติดกับความเคยชินและความคาดหวังเดิมๆ

เมื่อความจริงเปลี่ยน แต่เราคาดคั้นให้มันเป็นเหมือนเดิม ความสุขก็อาจลดน้อยถอยลงได้เช่นกัน

อีกสมการหนึ่งที่ผมเพิ่งเจอและอยากเอามาเขียนในบล็อกนี้เป็นครั้งแรก ก็คือสมการความทุกข์

Suffering = Pain x Resistance

ความทุกข์เท่ากับความเจ็บปวดคูณด้วยการต่อต้าน

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดของ Haruki Murakami ที่เคยบอกไว้ว่า “Pain is inevitable. Suffering is optional”

ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราเลือกได้

เมื่อความเจ็บปวดหรือสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นทางกายหรือทางใจ ยิ่งเรายิ่งต่อต้านมันเท่าไหร่ เรายิ่งทุกข์มากขึ้นเป็นทวีคูณ

แต่ถ้าเราไม่ต่อต้าน และยอมรับอย่างที่มันเป็น กายอาจจะยังทุกข์อยู่ แต่ความทุกข์ทางใจจะน้อยลงอย่างแน่นอน

Happiness = Reality – Expectations

Suffering = Pain x Resistance

คาดหวังให้น้อย ต่อต้านให้น้อย แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น และมีความทุกข์น้อยลงครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Master of Change: How to Excel When Everything Is Changing – Including You by Brad Stulberg

Miswanting – เมื่อสิ่งที่เคยฝันไว้ไม่ได้สร้างความสุขเท่าเราที่คิด

คำสาปหนึ่งของมนุษยชาติ คือเรามักคาดการณ์ผิดว่าเราจะมีความสุขขนาดไหนหากเราได้ “สิ่งนั้น” มาไว้ในครอบครอง

ไม่ว่าจะเป็นรถในฝัน บ้านในฝัน หรือแม้กระทั่งคนในฝัน

เรามีแนวโน้มที่จะ overestimate ทั้งระดับและระยะเวลาของความสุขที่เราจะได้มาจากการบรรลุเป้าหมาย

นักจิตวิทยาเรียกอาการนี้ว่า miswanting คือการไขว่คว้าในสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการ แต่เมื่อได้มันมาแล้วเรากลับรู้สึกแปลกใจที่มันไม่ได้สร้างความอิ่มเอมเท่าที่เราคิด

และแม้ว่าเราจะคิดผิดมาแล้วหลายครั้ง เราก็ยังเจ็บไม่จำอยู่ดี

แม้ว่ารถคันที่แล้วจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขขนาดนั้น แต่พอมีรถออกใหม่ให้ใฝ่ฝันถึง เราก็ยังแอบเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าหากได้รถคันนี้มา มันจะนำพามาซึ่งความสุขมากกว่ารถคันเดิม

จะว่าไป ช่วงเวลาแห่งการไขว่คว้านั้นมีรสชาติกว่าช่วงเวลาแห่งการได้มาเสียอีก เพราะเมื่อได้มันมาแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะเริ่มจืดจาง สิ่งที่เคยแสนพิเศษก็จะกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา

เหมือนที่ Mark Manson เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Everything is F*cked, A Book About Hope ว่า

“The only thing that can ever truly destroy a dream is to have it come true.”

วิธีทำลายล้างความฝัน คือการทำให้มันกลายเป็นจริง

เมื่อรู้แล้วว่ามนุษย์ต้องคำสาปที่ไม่อาจถอดถอนได้ แล้วเราจะมีความสุขขึ้นได้อย่างไร?

Dr. Laurie Santos อาจารย์มหาวิทยาลัย Yale และผู้จัดพ็อดแคสต์ “The Happiness Lab” บอกว่า จากงานวิจัย คนที่มีความสุขนั้นมักจะมี 5 สิ่งนี้

  1. มีความสัมพันธ์ที่ดี – social connection
  2. โฟกัสที่คนอื่นมากกว่าเรื่องตัวเอง – other-orientedness
  3. เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี – gratitude
  4. ดื่มด่ำกับประสบการณ์ดีๆ ในชีวิต – savoring
  5. ร่างกายได้เคลื่อนไหว – exercise

ข้อ 3 กับ 4 นั้นสอดคล้องกับประเด็นข้างต้น เพราะคนเรามักไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่ตัวเองมี ทั้งที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นสิ่งที่เราได้แต่ฝันถึงด้วยซ้ำ

หากเราเป็นคนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ในชีวิต วิธีหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยได้คือการเขียน gratitude journal

หลักการนั้นง่ายมาก ก่อนจะเข้านอนให้เขียน 3-5 เรื่องที่เราอยากจะขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ หรือแม้กระทั่งฟ้าฝน

อาจจะขอบคุณคนในครอบครัว ขอบคุณคนแปลกหน้าที่ยิ้มให้ ขอบคุณฝนที่ทำให้อากาศเย็นสบาย

ช่วงแรกของการเขียน gratitude journal มันจะขัดๆ เขินๆ เป็นธรรมดา แต่เมื่อทำไปได้สัก 2 สัปดาห์เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

หากสิ่งที่เคยฝันไว้ไม่ได้สร้างความสุขเท่าเราที่คิด วิธีแก้อาจไม่ใช่การออกไปหาความสุขครั้งใหม่ แต่คือการเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีให้มากกว่าเดิมครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก Big Think: How to be happier in 5 steps with zero weird tricks | Laurie Santos

มีความสุขนั้นไม่ยาก มันจะยากตอนอยากสุขมากกว่าคนอื่น

อยากมีความสุขนั้นไม่ยาก – มีข้าวกิน มีน้ำดื่ม ได้นอนหลับเพียงพอ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย มีงานที่ได้ใช้ความสามารถ มีความก้าวหน้าในบางเรื่องบางราว ได้ทำสิ่งที่ชอบ มีเรื่องที่ทำให้เรามีชีวิตชีวา ก็มากเกินพอที่เราจะมีความสุข

มันจะยากตอนอยากสุขมากกว่าคนอื่น – มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบเป็นทุนเดิม พอมาเจอโลกโซเชียลที่มักถ่ายทอดแต่ highlights ของเพื่อนฝูงและคนดัง เราจึงมักเผลอนึกว่าเขามีความสุขมากกว่าที่เขาเป็น

“If one only wished to be happy, this could be easily accomplished; but we wish to be happier than other people, and this is always difficult, for we believe others to be happier than they are.”
-Montesquieu

ฉะนั้นแล้ว เคล็ดลับของความสุขน่าจะมีแค่สองอย่าง คือลดโอกาสที่จะเกิดการเปรียบเทียบ และหันมาใส่ใจแต่สิ่งที่เราควบคุมได้และมีคุณค่ากับเราอย่างแท้จริงครับ

จะมีความสุขได้ ต้องมีความกล้าเสียก่อน

“The secret of happiness is freedom, and the secret of freedom is courage.”
-Thucydides

หลายคนถูกขังอยู่ในกรงที่เราลงกลอนไว้เอง

เมื่อเคยชินกับ comfort zone การออกไปข้างนอกกรงจึงดูอันตราย

เบื่องานที่ทำอยู่เต็มที แต่ไม่กล้าเปลี่ยนสายงาน

เบื่อคนที่คบอยู่เต็มที แต่ไม่กล้าบอกเขาตรงๆ

เบื่อตัวเองเต็มที แต่ไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไร

เมื่อไม่มีความกล้า ก็เลยไร้ซึ่งทางเลือก เมื่อเลือกไม่ได้จึงต้องติดหล่มกับสิ่งที่ตัวเราในอดีตได้ทำเอาไว้

แต่หากเราเพิ่มความกล้าขึ้นอีกนิด เสี่ยงขึ้นอีกหน่อย บอกตัวเองว่าถ้าพลาดก็ไม่เป็นไร ยังไงเราคงเอาตัวรอดได้

เราก็จะได้พบหนทางใหม่ๆ ที่นำพาไปสู่วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความเชื่อและตัวตนของเรายิ่งขึ้น และช่วยให้เรามีโอกาสจะพึงพอใจกับชีวิตมากกว่าเดิม

จะมีความสุขได้ต้องมีความกล้าเสียก่อนครับ

ความสุขไม่ได้รออยู่ข้างหน้า

ความสุขที่รออยู่ตอนที่เราบรรลุเป้าหมายนั้น เป็นความสุขที่เกิดจากการหลั่งของโดพามีน ซึ่งมีอายุสั้นนิดเดียว ผ่านไป 2-3 วันความสุขนั้นก็หมดไปแล้ว

ดังนั้น ใครที่ตั้งความหวังว่าจะยอมทนทุกข์วันนี้เพื่อความสุขในวันข้างหน้า ก็มีความเสี่ยงว่าอาจจะผิดหวัง

หนึ่ง เพราะเราอาจไปไม่ถึงเป้าหมายก็ได้

สอง เพราะแม้จะบรรลุเป้าหมาย ความสุขก็เพียงชั่วคราว และเราจะรู้สึกว่างเปล่าเหมือนเดิม

เหมือนที่ Mark Manson เคยบอกเอาไว้ว่า วิธีการทำลายความฝันที่ดีที่สุด คือการทำให้มันเป็นจริง – the best way to destroy a dream is to make it come true.

ดังนั้น เราต้องอย่าหลงไปกับภาพมิราจ อย่าคิดว่าเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วเราจะมีความสุขที่ยั่งยืน

สุขที่ยั่งยืน คือสุขที่อยู่ในแต่ละก้าวที่เราเดิน

ความสุขไม่ได้อยู่ในอนาคต แต่อยู่ในปัจจุบัน

เพราะความสุขคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์

ความสุขไม่ได้รออยู่ข้างหน้า แต่ความสุขรออยู่ตรงหน้า

ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นมันรึเปล่าเท่านั้นเอง