ฝากถึงคนที่ชอบใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

ฝากถึงคนที่ชอบใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้สอนคลาสออนไลน์เรื่อง Time Management ให้กับพนักงานในองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง

มีคำถามในคลาสที่ผมติดใจเป็นพิเศษ:

“ถ้าอยากประชุมไปและทำงานไปด้วย เราควรจัดการตัวเองอย่างไรดี”

ผมนิ่งไปครู่หนึ่งเพราะปกติไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น แล้วก็ตอบไปว่าถ้าเราเป็นคนที่ต้องพูดบ่อยๆ หรือเป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจฟัง ก็ไม่ควรทำงานอื่นไปด้วยในระหว่างการประชุม

แต่ถ้าการประชุมนี้เราไม่มีบทบาทอะไร แค่เข้ามารับฟังเฉยๆ และบางช่วงเนื้อหาไม่เกี่ยวกับเรา เราก็คงพอที่จะทำงานอื่นไปด้วยได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ เราก็ควรขอไม่เข้าร่วมประชุมนี้ดีกว่า

สิ่งที่อยู่ลึกกว่าการประชุมไปทำงานไป ก็คือความพยายาม multi-tasking เพื่อจะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำงานที่ไม่เคยมีเวลาพอ


Oliver Burkeman บอกไว้ในหนังสือ Four Thousand Weeks ว่า “ความฝันสูงสุด” ของคนทำงานจำนวนไม่น้อย คือการพยายามไปให้ถึงจุดที่เรา “เอาอยู่ทุกอย่าง” ทำงานเสร็จเรียบร้อย ตอบเมลครบทุกฉบับ อ่านครบทุกข้อความ แถมยังมีเวลาเหลือมากพอที่จะทำทุกสิ่งที่เราอยากทำ

เราเลยชอบเสาะหาเครื่องมือใหม่ๆ แอปใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ ด้วยความหวังลึกๆ ว่ามันจะช่วยพาเราเข้าใกล้วันที่เราจะเอาอยู่จริงๆ เสียที

แต่เราก็ต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะวันนั้นไม่เคยมาถึง เป็นเหมือนบ่อน้ำกลางทะเลทรายที่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ถึงได้รู้ว่ามันเป็นเพียงภาพมายา


เมื่อกลางสัปดาห์ ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับพี่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง ผมบอกเขาว่าสิ่งที่กำลังขบคิดอยู่ตอนนี้ คือแม้หน้าที่การงานจะไปได้ดี แต่ก็รู้สึกผิดที่ไม่เคยมีเวลาพอให้กับลูกสาวและลูกชายที่กำลังจะอายุครบ 8 ขวบและ 6 ขวบ

เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ตัวพี่เขาเองก็เคยทำงานหนักมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเสาร์-อาทิตย์ แต่ทุกครั้งที่มีเวลาอยู่กับลูกสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พี่เขาจะไม่ทำอย่างอื่นเลย จะอยู่กับลูกร้อยเปอร์เซ็นต์

คืนนั้น ผมส่งข้อความไปขอบคุณ และได้รับข้อความตอบกลับมาว่า

“การเลี้ยงลูก เป็นงานที่จะให้คุณค่ากับเรามากกว่างานไหนในชีวิต

เมื่ออายุมากขึ้น เราจะเข้าใจสิ่งนี้ครับ”


การประชุมไปทำงานไป เป็นเพียง “อาการ” อย่างหนึ่งของคนที่ต้องการใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

เราต้องการเค้นทุกหยาดหยดของเวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์กลับมามากเท่าที่จะทำได้

ผมจึงรู้สึกว่า หาก multi-task เป็นอาจิณ เราอาจนำความเคยชินติดกลับมาที่บ้าน

หากตอนทำงานเราชอบประชุมไปทำงานไป ก็มีความเป็นไปได้สูงเหลือเกินว่าเวลาที่เราอยู่กับลูก หรืออยู่กับพ่อแม่ เราก็จะพยายามทำอย่างอื่นไปด้วยเช่นกัน

เมื่ออยู่ด้วยกันดีๆ แล้วมีคนหนึ่งหยิบมือถือขึ้นมาเช็ค อีกคนย่อมรู้สึกอึดอัดจนต้องหาอะไรทำ

ตัวอยู่ด้วยกัน แต่ใจเตลิดกันไปคนละทาง

เวลาที่เราอยู่กับคนสำคัญ เราจึงต้องหัดละวางความคิดเรื่องความคุ้มค่าของการใช้เวลา เพราะคุ้มค่ากับคุณค่าเป็นคนละอย่าง

เมื่อต่างคนต่างมีเวลาน้อย เรามาใช้เวลานั้นเพื่อที่จะอยู่ด้วยกันอย่างแท้จริงกันนะครับ

ทำไมยิ่งอายุมากเวลายิ่งผ่านไปเร็วขึ้น

ประเด็นนี้มีนักจิตวิทยาถกเถียงกันมานาน เท่าที่ผมทราบยังไม่มีข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์

แต่คำอธิบายที่ผมชอบมากที่สุดมาจากบทสนทนาในซีรี่ส์เรื่อง Beef บน Netflix

Danny: Where does the time go, dude? Life, man.

George: I read that time speeds up as you get older, because when you’re a year old, that year is a hundred percent of your perception of time, but as you get older, that year is a smaller fraction of the time you’ve experienced.

สำหรับเด็ก 1 ขวบ 1 ปีคือ 100% ของเวลาทั้งหมดที่เขาได้ใช้บนโลกใบนี้

สำหรับเด็ก 10 ขวบ 1 ปีจะเป็นเพียงแค่ 10%

สำหรับเด็กมหาลัย 20 ปี 1 ปีจะมีค่าเท่ากับ 5%

สำหรับผู้ใหญ่อายุ 40 ปี 1 ปีจะเหลือแค่ 2.5%

สำหรับคนชราอายุ 80 ปี 1 ปีจะเท่ากับ 1.25% ของชีวิตทั้งหมด

ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ 1 ปีจะมีสัดส่วนในชีวิตเราน้อยลงเรื่อยๆ

ความทรงจำที่เรามีต่อทุกปีที่ผ่านไปจึงรู้สึกว่าสั้นลงเช่นกัน

ลองเอาไปขบคิดต่อกันดูนะครับ


ขอบคุณ Quote จาก Netflix: Beef: EP7 I am a cage, นาทีที่ 18

เวลาคืออัตตา

ผมได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกจากการไปทริปของ IMET MAX ที่เมืองจันทบุรีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นประโยคชวนคิด ว่าเวลาของนาฬิกามันมาเกี่ยวพันกับความเป็นตัวกูของกูได้อย่างไร

คนที่แนะนำประโยคนี้ให้เราได้รู้จักคือ “พี่ก็” ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานคณะกรรมการบริหารแม่ฟ้าหลวง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

พี่ก็เล่าให้ฟังว่ารู้จักคอนเส็ปต์นี้จากนิทรรศการของศิลปินนาม “คามิน เลิศชัยประเสริฐ” ที่เชียงใหม่

เวลาคือสิ่งที่เรา “รู้สึก” อยู่ทุกวัน ถ้าอยากเห็นอัตตาตัวเองให้ชัดๆ ให้ดูความรู้สึกที่เรามีต่อเวลา

หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ร้อนใจ หรือหงุดหงิด รู้สึกว่าทำไมเราต้องมาเสียเวลากับเรื่องนี้ นั่นแสดงว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญ (priority) กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่อัตตาของเรากำลังให้ค่ากับสิ่งอื่นมากกว่า

ผมนึกถึงตัวเองเวลาที่กำลังเขียนบล็อกแบบเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วลูกๆ ก็วิ่งเข้ามาในห้องอยากจะเล่นด้วย บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกขุ่นเคืองใจ แม้ปากจะตอบคำถามลูก แต่สายตาก็ยังจ้องจอมอนิเตอร์อยู่ ถ้ามองลึกลงไป ณ ขณะนั้น อัตตาของผมกำลังให้ความสำคัญกับการเขียนบล็อกมากกว่าการคุยกับลูก

ไม่ได้บอกว่าเราจะต้องสลายอัตตาและอยู่แบบคนไม่ห่วงเวลา เพียงแต่เราสามารถใช้ “การรับรู้ของเวลา” เป็นระฆังเตือนให้เรามองเห็นตัวเอง

เมื่อเห็นตัวเองชัด ด้วยใจที่เป็นกลาง สติก็จะเกิด เราจะเห็นสิ่งตรงหน้าอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่อัตตาเราอยากให้เป็น

ใจที่บีบคั้นจะคลี่คลาย และเราจะทำหน้าที่ด้วยความเบาสบายกว่าเดิมครับ

สองประเภทของคนไม่มีเวลา

ประเภทแรก คือคนที่มีภาระหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานสองกะเพื่อให้มีเงินพอใช้เดือนชนเดือน มีญาติผู้ใหญ่นอนติดเตียงให้ต้องดูแล ไม่มีกำลังจ้างแม่บ้านเลยต้องทำงานบ้านทุกอย่างด้วยตัวเอง

ถ้าไม่มีเวลาแบบนี้ ต่อให้มี time management techniques ดีๆ ก็อาจไม่ช่วยอะไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องการจัดการเวลา แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ลำดับล่างสุดของสังคมลืมตาอ้าปาก คนกลุ่มนี้อาจไม่เคยนึกถึง work-life balance ด้วยซ้ำ เพราะโจทย์สำคัญของเขาคือการอยู่รอด

ส่วนคนไม่มีเวลาประเภทที่สอง คือคนที่มี discretionary time หรือมีเวลาที่เลือกได้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่เขาเลือกที่จะใช้ discretionary time นี้ไปกับกิจกรรมมากมายในชีวิต เช่นออกกำลังกาย เรียนป.โท ลงคอร์สต่างๆ สังสรรค์กับเพื่อน ดูเน็ตฟลิกซ์ ทำงานหนักหน่วง รับจ๊อบเสริม เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว แถมยังอยากเป็นสามีที่ดี เป็นแม่ที่เพอร์เฟ็กต์อีกด้วย

คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกว่าไม่มีเวลา แต่ที่รู้สึกว่าเวลาไม่เคยพอก็เพราะว่าเราเลือกเอง ไม่เหมือนคนกลุ่มแรกที่ไม่มีเวลาเพราะไม่มีทางเลือก

คนที่มี discretionary time แต่ยังเลือกที่จะใช้ชีวิตให้ยุ่งตลอดเวลานั้นสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการศึกษา time management ด้วยการนั่งคุยกับตัวเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งที่เราพร้อมจะตัดออกไปจากชีวิตและยอมรับได้กับผลลัพธ์ที่จะตามมา (หรือที่จะหายไป)

ผมเดาว่า “คนไม่มีเวลา” ที่อ่านบล็อกนี้อยู่น่าจะเป็นประเภทที่สองเสียส่วนใหญ่ ขอให้เราตระหนักไว้ว่าเราเป็นคนโชคดี ที่ยังมีโอกาสคิดเรื่อง work-life balance และหาทางออกให้กับความไม่มีเวลานี้ได้ด้วยตนเองครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Saving Time: Discovering a Life Beyond the Clock by Jenny Odell

เรามี “กล่องเวลา” วันละ 100 กล่อง

คนเรานอนวันละประมาณ 7 ชั่วโมง เวลาที่ตื่นก็คือ 17 ชั่วโมงหรือประมาณ 1000 นาที

เมื่อเราแบ่ง 1000 นาทีออกเป็นกล่องละ 10 นาที เราจะมีเวลา 100 กล่อง

แต่ละกล่องเราใช้ไปกับอะไรบ้าง นับเป็นเรื่องน่าสนใจ

ถ้านับตั้งแต่ตื่นนอนจนมาถึงตอนนี้ รู้สึกตัวว่าทำกล่องหล่นหายไปแล้วหลายสิบกล่อง ขอให้ระลึกไว้ว่าเราสามารถใช้ 2-3 กล่องถัดไปในการ “เปลี่ยนเกม” ได้เสมอ

หากใช้กล่องส่วนใหญ่ได้ถูกวิธี เราก็จะมีวันที่ดี เมื่อมีวันที่ดี เราก็จะมีสัปดาห์ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่เดือนที่ดี ปีที่ดี ทศวรรษที่ดี และชีวิตที่ดีครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Wait But Why