ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปเดิน

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่านักปรัชญาหลายคนก็ชอบเดิน

โสเครตีสชอบเดินทอดน่องในอะกอรามากกว่าการทำสิ่งอื่นใด

นีทเชอผู้เดินท่องเทือกเขาแอลป์สองชั่วโมงเป็นกิจวัตรเชื่อว่า “ความคิดยิ่งใหญ่ทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นได้จากการเดิน”

โธมัส ฮอบส์ มีไม้เท้าที่ทำขึ้นพิเศษให้มีที่ใส่หมึกติดไว้ เผื่อเขาจะจดสิ่งที่คิดขึ้นมาได้ระหว่างเดิน

อิมมานูเอล คานท์ กินอาหารเที่ยงตอน 12:45 น. แล้วออกไปเดินเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเป๊ะ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ กิจวัตรนี้เสมอต้นเสมอปลายมากถึงขนาดที่ผู้คนในเคอนิคส์แบร์คตั้งนาฬิกาตามการปรากฎกายของเขา”

-Eric Weiner, The Socrates Express

ใครที่เคยไปเที่ยวเกียวโตอาจจะเคยได้ไปเดินบนถนนสายนักปราชญ์ (The Philosopher’s Path) ซึ่งเป็นทางเดินริมคลองส่งน้ำยาว 2 กิโลเมตรจากวัดกินคะคุจิ (วัดเงิน) ไปจนถึงวัดนันเซจิ

Johny Ive ที่เป็นคนดีไซน์ไอโฟนก็เคยเล่าว่าเขากับสตีฟ จ็อบส์ชอบไปเดินเล่นรอบออฟฟิศเพื่อคุยเรื่องใหญ่กันอยู่บ่อยๆ

ผมคิดว่าคนไทยได้ใช้เวลากับการเดินน้อยไปหน่อย คงเพราะสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เวลาไปไหนเลยต้องพึ่งพายานพาหนะตลอด การเดินจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพ

สมัยผมเรียนที่นิวซีแลนด์ ในเมืองชื่อ Temuka ที่มีประชากรสี่พันคนและไม่เคยมีรถติด เวลาไปไหนผมมักจะปั่นจักรยานไป แต่ถ้าวันไหนลมแรงก็จะใช้วิธีเดิน เดินไปโรงเรียน เดินไปบ้านเพื่อน ใช้เวลาเดินเกือบชั่วโมงก็ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหรือไม่ทันใจ

เดี๋ยวนี้แม้จะไม่ได้เดินมากเท่าแต่ก่อน แต่ในวันที่ได้ทำงานที่บ้าน ถ้าผมไม่ติดประชุม ช่วงห้าโมงครึ่งผมจะไปเดินรอบหมู่บ้านโดยไม่เอามือถือไปด้วย ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็เพียงพอให้คลายความเหนื่อยล้า

การเดินคือการได้อยู่กับตัวเองโดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง เวลาผมมีโจทย์สำคัญให้ต้องขบคิด ผมจึงมักออกไปเดินรอบหมู่บ้าน เพราะการเดินช่วย “เขย่า” อะไรบางอย่างในตัว ช่วยให้เรามีมุมมองไม่เหมือนตอนนั่งอยู่กับโต๊ะหรือตอนคุยกับคนอื่น

ใครกำลังมีโจทย์ใหญ่ในชีวิต และรู้สึกว่าได้ทำรีเสิร์ชบนหน้าจอและนั่งคิดนอนคิดมามากพอแล้ว ลองหาโอกาสไปเดินเล่นดู แล้วเราอาจได้สัมผัสกับความรู้สึกที่คุ้นเคยแต่ห่างหายไปนาน

ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปเดินครับ


ขอบคุณ Quote จากหนังสือ รถด่วนขบวนปรัชญา: เดินทางค้นหาบทเรียนชีวิตกับโสเครตีสและผองเพื่อน (The Socrates Express: In Search of Life Lessons from Dead Philosophers) ผู้เขียน Eric Weiner ผู้แปล ณัฐกานต์ อมาตยกุล สำนักพิมพ์ Bookscape

บางทีเราก็ควรกินกบตัวใหญ่ บางทีเราก็ควรกินเฟรนช์ฟรายส์

หนึ่งในหัวข้อสำคัญของ time management คือการเลือกว่าจะหยิบงานชิ้นไหนขึ้นมาทำก่อน

ผมคิดว่ายิ่งเรารู้จักทางเลือกมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสคัดสรรและพลิกแพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นเท่านั้น

วันนี้จึงอยากมาแชร์ว่า ผมมีวิธีการตัดสินใจอย่างไรบ้างว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง

1.กินกบตัวนั้นซะ! – มาจากหนังสือเล่มดังชื่อ Eat That Frog ของ Brian Tracy ที่เปรียบงานเป็นเหมือนกบ เราควรเลือกกบตัวที่ใหญ่ที่สุดและหน้าตาน่าเกลียดสุดขึ้นมากินก่อน เพราะถ้าเรากินกบตัวนี้ได้ กบตัวที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว ซึ่งวิธีการนี้ก็สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่า willpower หรือพลังใจของเรานั้นจะสูงที่สุดในช่วงเช้า และจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาทำงาน ดังนั้นการเลือกทำงานยากที่สุดตอนที่พลังใจเราสูงที่สุดก็สมเหตุสมผล

  1. กินเฟรนช์ฟรายส์ก่อน – ไอเดียนี้ไม่ได้มาจากหนังสือเล่มไหน ผมแค่ตั้งชื่อให้มันเล่นๆ เพราะเฟรนช์ฟรายส์เป็นอาหารมหาชน อร่อยและกินง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายาม ดังนั้นถ้าเราอยากจะทำงานง่ายๆ ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร ข้อดีคือเมื่อเราทำเรื่องง่ายสำเร็จ มันจะเป็น quick wins ที่ทำให้เรามีความมั่นใจและโมเมนตั้มในงานชิ้นถัดไป
  2. ทำงานที่ด่วนที่สุดก่อน – งานไหนด่วนสุดก็เอาขึ้นมาทำก่อน เพราะถ้าไม่เสร็จเดี๋ยวจะโดนตำหนิหรือดูไม่ดีในสายตาเพื่อนร่วมงาน วิธีแบบนี้อาจจะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ก็จริง แต่ก็ต้องระวังที่จะไม่ทำงานด่วนอยู่ตลอด เพราะคนที่มาบอกว่าด่วนนั้นบางทีเขาอาจมาเร่งเราเกินความจำเป็น หรืออาจวางแผนไม่ดีมาตั้งแต่ต้นก็ได้
  3. ทำงานที่มี long-term impact ที่สุดก่อน – ในภาษา time management ก็คืองาน Q2 – สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เป็นงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของเรา ไม่มีเส้นตายชัดเจน ถึงไม่ทำก็ไม่โดนตำหนิ งานประเภทนี้ถ้าไม่จัดเวลาให้มันเราอาจจะโดนงานด่วนงานแทรกแย่งชิงเวลาไปหมด
  4. ทำงานโดยดูจากคนสั่งงาน – ถ้าหัวหน้าเป็นคนสั่งงานนี้ เราก็อาจจะอยากเอางานนี้ขึ้นมาทำก่อนงานที่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องมาขอให้ช่วยทำ เพราะสุดท้ายแล้วหัวหน้าคือคนที่ตัดสินใจเรื่องผลการประเมินประจำปี (ซึ่งมีผลต่อโบนัสและการปรับเงินเดือน) ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการทำให้หัวหน้าแฮปปี้ก็จะช่วยให้เราจัดลำดับงานได้ง่ายขึ้น
  5. เรียงลำดับตามความอยาก – อยากทำงานชิ้นไหนก็หยิบงานชิ้นนั้นขึ้นมาทำก่อน ซึ่ง “ความอยาก” ที่ว่านั้นก็มาได้จากหลายปัจจัย อยากเพราะว่ามันง่าย อยากเพราะว่ามันด่วน อยากเพราะว่ามันเป็นผลดีกับเราในระยะยาว อยากเพราะรู้ว่าถ้าไม่ทำจะโดนหัวหน้าตามงาน การเลือกงานโดยทำตามความอยากนี้ค่อนข้างเวิร์คในวันที่เราไม่ได้มีประชุมมากนักและไม่ได้มีงานไหนที่เร่งเป็นพิเศษ เพราะมันคือการทำงานสนองความชอบและความพร้อมทางใจล้วนๆ
  6. เรียงลำดับตามความไม่สบายใจ – งานชิ้นไหนที่เรารู้สึกไม่สบายใจมากที่สุดก็เอาขึ้นมาทำก่อน แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้สำคัญหรือไม่ได้มีผลลัพธ์ระยะยาวมากนัก แต่การจัดการงานเหล่านี้ให้เรียบร้อยจะช่วยให้เราลดความรู้สึกหน่วงๆ และมีกำลังใจทำงานชิ้นอื่นได้อย่างมีสมาธิมากขึ้น

หากผู้อ่านท่านไหนมีวิธีจัดลำดับแบบอื่นๆ อีกก็มาแชร์ไว้ตรงนี้ได้เลยนะครับ

สูตรความสำเร็จจาก Charlie Munger

“มันง่ายมากเลยนะ ใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามาได้ ลงทุนอย่างฉลาดเฉลียว อย่าอยู่ใกล้คน toxic และอย่าทำกิจกรรมที่ toxic พยายามเรียนรู้ตลอดชีวิต และอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ถ้าคุณทำทั้งหมดที่กล่าวมาก็แทบจะการันตีความสำเร็จได้เลย และถ้าคุณไม่ทำสิ่งเหล่านี้ คุณก็จำเป็นต้องเป็นคนดวงดีมากๆ (ถึงจะประสบสำเร็จ) แต่คุณไม่ควรหวังพึ่งดวงหรอกนะ คุณควรลงเล่นเกมที่คุณมีโอกาสชนะมากพอโดยไม่ต้องหวังพึ่งความโชคดี”

ถ้อยคำของ Charlie Munger คู่หูของ Warren Buffett ทำให้ผมนึกถึงหนังสือชื่อ All I Really Need to Know I Learned in Kindergarten ของ Robert Fulgum ที่บอกว่าความรู้ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตนั้นเราได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนอยู่อนุบาลแล้ว

  • แบ่งปันทุกอย่าง
  • เล่นกันแฟร์ๆ
  • อย่ารังแกคนอื่น
  • เก็บของเข้าที่
  • ถ้าทำเลอะเทอะแล้วต้องเก็บกวาดให้เรียบร้อย
  • อย่าไปเอาของที่ไม่ใช่ของเรา
  • หากทำใครเจ็บก็เอ่ยปากขอโทษ
  • ล้างมือก่อนกินข้าว
  • กดชักโครก
  • ใช้ชีวิตให้มีสมดุล – เรียนรู้บ้าง คิดบ้าง วาดรูปบ้าง ระบายสีบ้าง ร้องเพลงบ้าง เต้นรำบ้าง เล่นบ้าง ทำงานบ้าง
  • แอบงีบตอนบ่าย
  • เวลาออกไปข้างนอก มองซ้ายมองขวาก่อนข้ามถนน และจูงมือกันเอาไว้
  • มองให้เห็นความมหัศจรรย์
  • นึกถึงเมล็ดในแก้วโฟม รากจะแทงลง ลำต้นจะแทงขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น แต่ทุกอย่างก็เป็นเช่นนี้ ทั้งปลาทอง หนูแฮมสเตอร์ และแม้แต่เมล็ดในแก้วโฟม ทุกอย่างล้วนต้องตาย เราเองก็ด้วย
  • นึกถึงคำแรกๆ ที่เราพูดได้ คำที่สำคัญที่สุด – “ดู!” (Look!)

ขอจบท้ายด้วยคำจากหนังสือเจ้าชายน้อย

“ผู้ใหญ่ทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่น้อยคนนักที่จะจดจำช่วงเวลานั้นได้”

ตอนเป็นเด็กเราอาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนรู้ตอนอยู่อนุบาลสำคัญอย่างไร กว่าที่เราจะมีสติปัญญพอจะเข้าใจได้เราก็เป็นผู้ใหญ่เสียแล้ว แต่ผู้ใหญ่ก็มักจะทำให้เรื่องยุ่งยากเกินจำเป็น

บางทีก็แค่มองอะไรให้นานขึ้น (Look!) และระลึกให้ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตลอดไป

แค่นี้ก็อาจเพียงพอที่จะสำเร็จในแบบของเราเองแล้วนะครับ

คุณภาพชีวิตคนคือผลรวมของการตัดสินใจ

ชีวิตของเราที่เดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจนับครั้งไม่ถ้วน

เวลาเราคิดถึงการตัดสินใจ เรามักจะนึกถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรียนคณะอะไร ทำงานที่ไหน แต่งงานกับใคร จะมีลูกหรือไม่

แต่การตัดสินใจที่มีผลไม่น้อยไปกว่ากัน คือการตัดสินใจเรื่องเล็กๆ ที่โดยตัวมันเองแล้วเหมือนจะไม่มีความหมายอะไร แต่เมื่อมองในเชิงผลลัพธ์ทบต้น (compound results) ในระยะยาวแล้วสามารถเปลี่ยนทิศทางชีวิตได้เหมือนกัน

ความอันตรายก็คือเพราะมันเป็นเรื่องเล็กๆ เราจึงไม่ค่อยใส่ใจและมักจะไม่รู้ตัว

จะนั่งท่าไหนตอนทำงาน

จะหยิบงานยากหรืองานง่ายขึ้นมาทำก่อน

ปวดฉี่แล้วจะลุกไปเดี๋ยวนี้หรือจะนั่งทำงานต่อ

เวลา Slack หรือไลน์เด้ง จะตอบทันทีหรือจะโฟกัสกับงานตรงหน้า

เวลามีคนมาขอให้ช่วยเหลือจะ say yes จะปฏิเสธ หรือจะต่อรอง

เวลาใครมาพูดไม่ดีจะตอบโต้ทันทีหรือจะสงวนวาจา

เวลาพ่อแม่หรือลูกโทรมาตอนงานยุ่งๆ เราจะรับสายหรือไม่

การตัดสินใจเล็กๆ นี้เกิดขึ้นตลอดวัน

สมมติว่าวันหนึ่งเรานอน 7 ชั่วโมง แสดงว่าเรามีช่วงเวลาตื่นนอน 17 ชั่วโมง

สมมติว่ามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจทุก 10 นาที ใน 1 ชั่วโมงก็จะมี 6 เรื่องให้ตัดสินใจ

ในหนึ่งวันจะมีเรื่องให้ตัดสินใจ 17×6 = 112 เรื่อง หรือหนึ่งปีเราจะได้ตัดสินใจประมาณ 112×365 = 40,000 ครั้ง

สมมติว่าการตัดสินใจที่ถูกทำให้ชีวิตเราดีขึ้น 1 ในพันเปอร์เซ็นต์ หรือ 0.001% และสมมติว่าการตัดสินใจที่ผิดทำให้ชีวิตเราแย่ลงในอัตราเดียวกัน

ถ้าตัดสินใจถูก 40,000 ครั้ง ชีวิตเราจะดีขึ้นปีละ 1.00001^40,000 = 1.49 หรือประมาณ 49%

แต่คงไม่มีใครที่จะตัดสินใจถูกทุกครั้งได้ ถ้าใน 40,000 ครั้ง เราตัดสินใจถูก 30,000 ครั้ง ตัดสินใจผิด 10,000 ครั้ง คุณภาพชีวิตเราจะดีขึ้น 1.00001^20,000 = 22%

ถ้าชีวิตเราดีขึ้นปีละ 22% ติดต่อกัน 7 ปี ชีวิตเราจะดีขึ้น 4 เท่า (1.22^7 = 4)

สมมติว่าเด็กจบใหม่ เงินเดือน 20,000 บาท ทำงานไป 7 ปีเงินเดือนอาจไต่ไปถึง 80,000 บาท สำหรับผู้อ่านบางท่านอาจมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าใครทำงานอยู่ในฝั่ง tech หรือธุรกิจที่กำลังเติบโตก็จะรู้ว่าเงินเดือนแบบนี้นั้นเป็นไปได้

(ผมยกตัวอย่างเป็นเงินเดือนเพื่อให้จับต้องได้เฉยๆ ในความเป็นจริงแล้วคุณภาพชีวิตไม่ได้ดูที่เงินเดือนอย่างเดียว ต้องดูเพื่อนร่วมงาน โอกาสเรียนรู้และสร้างอิมแพ็ค ความสัมพันธ์ ชีวิตส่วนตัว ทรัพย์สิน-หนี้สิน และอื่นๆ อีกหลายมิติ

และไม่มีใครที่จะชีวิตดีขึ้นได้ตลอดไป พอพ้นวัย 40 สังขารก็เริ่มโรยรา เด็กรุ่นใหม่ก็เก่งกว่า ทักษะของเราอาจหมดคุณค่าในตลาด เราจึงยิ่งจำเป็นต้องตัดสินใจให้ถูกต้องบ่อยยิ่งกว่าตอนวัยหนุ่ม เพื่อชะลอความถดถอยในหลายๆ ด้าน ไม่ต่างอะไรกับการเดินขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนลง)

ในทางกลับกัน ถ้าเราตัดสินใจถูกพอๆ กับการตัดสินใจผิด ชีวิตย่อมย่ำอยู่กับที่

และถ้าเราตัดสินใจผิดมากกว่าตัดสินใจถูก คุณภาพชีวิตก็จะร่อยหรอลงเรื่อยๆ เช่นถ้าใน 40,000 ครั้ง เราตัดสินใจถูก 15,000 ครั้ง ตัดสินใจผิด 25,000 ครั้ง ชีวิตเราจะแย่ลงปีละ 1-(0.99999^10,000) = 10%

ดังนั้น หากอยากเพิ่มโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี – หรืออย่างน้อยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น – เราก็ควรใส่ใจการตัดสินใจของเราให้ออกมาถูกต้องมากที่สุด

และนี่คือบางไอเดียที่จะช่วยให้เราตัดสินใจถูกต้องได้บ่อยขึ้น

มีเป้าหมาย – เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน เราจะรู้ว่าอะไรสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญ – เราจึงจะจัดสรรเวลาให้กับเป้าหมาย และลดความสำคัญของกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายลงไปโดยปริยาย

วางแผน – การวางแผนว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง จะเป็นเหมือนไหล่ถนนที่ช่วยป้องกันไม่เราตกคูและไม่ออกนอกเส้นทาง

สร้างอุปนิสัยที่ดี – Habit ที่ดีจะทำให้เราตัดสินใจถูกต้องได้โดยไม่ต้องใช้เจตนาหรือความพยายาม

ออกกำลังกาย – เมื่อเราออกกำลังกาย อ็อกซิเจนจะไปหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้หัวปลอดโปร่ง คิดอะไร มองเห็นอะไรได้ชัดเจน

นอนให้พอ – เวลานอนไม่พอแล้วเราจะตัดสินใจผิดได้บ่อยมาก

หาความรู้ – บางทีการตัดสินใจผิดก็เกิดจากความรู้หรือความเชื่อที่ผิดๆ ดังนั้นหากเราหมั่นขยายคลังความรู้ของตัวเอง (โดยความรู้นั้นต้องมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ) เราก็จะเพิ่มโอกาสที่จะตัดสินใจได้ถูกต้องเช่นกัน

ตั้งคำถามกับแนวทางที่ตัวเองยึดถือ – อะไรที่เราทำมานานอาจจะเป็นจุดบอดที่เรามองข้ามได้ง่ายที่สุด ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง อะไรที่เคยตอบโจทย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป อะไรที่เคยต้องการเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอีกต่อไป

ฝึกสติ – หลายครั้ง การตัดสินใจที่ผิดพลาดเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ การฝึกสติจะช่วยสร้างช่องว่างระหว่าง “สิ่งเร้า” จากภายนอก และ “ปฏิกิริยา/การตอบสนอง” (reaction/response) จากภายใน

หากเราใช้เครื่องมือทั้งหมดที่กล่าวมา เราก็น่าจะตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น ตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ

เพราะสุดท้ายแล้ว คุณภาพชีวิตคนคือผลรวมของการตัดสินใจครับ*


* แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของปัจเจกบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอย่างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองด้วย

สิ่งที่อยู่ข้างใน ยิ่งใช้ยิ่งมี

ของนอกกาย ใช้แล้วย่อมหมดหรือเสื่อมไป

ดินสอ ใช้แล้วย่อมสั้นลง

แปรงสีฟัน ใช้ไปนานๆ ขนแปรงย่อมยู่ยี่

เงิน ถ้าใช้เพื่อการเสพ ย่อมร่อยหรอ

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา ยิ่งใช้เรากลับยิ่งมีมากขึ้น

ยิ่งได้ออกกำลังกาย เรายิ่งมีแรงมากกว่าเดิม

ยิ่งได้ทำงานใช้สมอง ยิ่งกลายเป็นคนมีสมอง

ยิ่งใช้ความเมตตา เรายิ่งเป็นคนมีเมตตา

อาจไม่ใช่ทุกเรื่องและทุกอย่าง และถ้าใช้เกินพอดีก็อาจพัง ทำงานหนักเกินไปอาจ burnout ออกกำลังกายมากไปก็อาจบาดเจ็บ

แต่ผมคิดว่าความเสี่ยงที่เราจะใช้อะไรในตัวเรามากเกินไปนั้นมีไม่มาก สิ่งที่ควรระวังคือการใช้อะไรในตัวเราน้อยเกินไปมากกว่า

ถ้านั่งโต๊ะทั้งวัน ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเลย กล้ามเนื้อหลังจะอ่อนแอจนปวดหลัง ลำไส้จะขดตัวและทำให้ท้องผูก

ถ้าเลือกทำแต่งานง่ายๆ ไม่ท้าทาย เราจะสบายวันนี้แต่อาจลำบากในวันข้างหน้า เพราะอายุเยอะแต่ความสามารถน้อย

ถ้าเราไม่หัดเป็นคนมีเมตตา เราจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการโกรธ และจิตใจขุ่นมัวอยู่เสมอ

สิ่งที่อยู่ข้างใน เราไม่ต้องประหยัด

เพราะสิ่งที่อยู่ข้างใน ยิ่งใช้เรายิ่งมีครับ