อยู่ให้ต่ำ ทำให้สูง

ใครที่อายุเกิน 40 น่าจะเคยเล่นเกม Contra บนเครื่อง Famicom

เกมคอนทรามีสูตรที่กดแล้วสามารถเพิ่มชีวิตจาก 3 เป็น 30 ชีวิตได้

สูตรที่ว่าก็คือ “ขึ้น ขึ้น ลง ลง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา B A Select Start”

ถ้าเรากดสูตรติด เกมคอนทราจะเล่นง่ายขึ้นเยอะ


บทความวันนี้เป็นการรวบยอดเนื้อหาบางส่วนจากสองตอนล่าสุด:- “คิดแบบซีเนียร์แล้วจะได้เป็นซีเนียร์” กับ “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง (เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 1)

สำหรับคนที่อยากเป็นซีเนียร์ หรืออยากเติบโตในหน้าที่การงาน ทางหนึ่งที่ใช้แล้วได้ผล คือเราต้องทำเกินหน้าที่

มันคือการทำให้สูงกว่า Job Level และเงินเดือนที่เราได้รับในปัจจุบัน

เมื่อเราเป็นจูเนียร์ แต่คิดและทำแบบซีเนียร์ โอกาสก้าวหน้าย่อมเปิดกว้าง

แถมหลักการนี้ยังใช้ได้กับพนักงานทุกระดับ ถ้าเราเป็น Team Leader แต่สามารถคิดและทำ one level above ได้ เราก็มีโอกาสขึ้นเป็น Manager

สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือการทำงานแบบ one level below คือเป็นซีเนียร์แล้วแต่ยังคิดและทำแบบจูเนียร์

เมื่อคิดและทำต่ำกว่าเงินเดือน นอกจากไม่ก้าวหน้าแล้วยังมีความเสี่ยง

เพราะเมื่อคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดมา คนกลุ่มนี้มีโอกาส “ปลิว” สูงมาก


หนึ่งในบทเรียนที่ผมได้จากการทำ mentoring กับพี่อ้นในโครงการ IMET MAX ก็คือ “Live one level below what you can afford.” – จงใช้ชีวิตให้ต่ำกว่าฐานะ

เมื่อเรา live one level below เราจะมีความสุขเพราะรู้สึกว่ามีเงินพอใช้ตลอด

สมัยนี้เงินไหลออกจากกระเป๋าง่ายดายกว่าเดิม แม้ไม่คิดจะซื้ออะไรเพิ่มแต่ฟีดโซเชียลก็เหมือนรู้ใจและคอยส่งอะไรมายั่วกิเลสตลอด เพื่อนๆ ในโซเชียลก็ชีวิตดี๊ดีจนเราอดเปรียบเทียบไม่ได้ เมื่อความอยากบังเกิดแค่กระดิกนิ้วไม่กี่ครั้งเงินก็หลุดลอยไป

เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะใช้เงินเกินตัว

ถ้าเราไม่ออกแบบชีวิตให้ดี เราจะเผลอ live one level above อย่างง่ายดาย และเราจะทุกข์ใจกับปัญหาการเงินไปตลอด

Morgan Housel เคยเขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money ว่า

“Saving is the gap between your ego and your income.”

เงินเก็บของเราคือช่องว่างระหว่างรายรับและอัตตา


เมื่อรวมสองเรื่องเข้าด้วยกัน จึงได้สูตรในการใช้ชีวิต

“อยู่ให้ต่ำกว่าฐานะทางการเงิน ทำให้สูงกว่าฐานะทางการงาน”

เรียกย่อๆ ว่า “อยู่ให้ต่ำ ทำให้สูง”

เมื่อก้าวเข้าสู่วงจรนี้ รายได้ของเราจะวิ่งไปเร็วกว่ารายจ่าย ช่องว่างระหว่างอัตตากับรายรับจะขยายและกลายเป็นเงินเก็บที่พอกพูน เราจะไม่ค่อยเครียดเรื่องเงินเพราะมีพอใช้ตลอดเวลา และเราจะก้าวสู่อนาคตที่มีอิสรภาพอย่างมั่นคง

“อยู่ให้ต่ำ ทำให้สูง”

สั้นกว่าสูตรคอนทรา แต่กดยากกว่าหลายเท่า

แต่ถ้ากดติด เกมชีวิตจะเล่นง่ายขึ้นเยอะเลยนะครับ

วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง (เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 1)

ตามที่เคยได้เล่าลงในบล็อกนี้ว่าผมได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX ครั้งที่ 5

IMET MAX เป็น mentoring program ที่มุ่งหมายจะสร้าง “อุทยานผู้นำ” โดยแต่ละรุ่นจะมี mentor 12 ท่าน และ mentee 36 คน

Mentee จะได้รับการจัดเป็นกลุ่มละ 3 คน ผมได้อยู่กลุ่มเดียวกับ “อ้อ” ผู้บริหารของ SCB Digital Banking และ “เอ็ม” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ARINCARE 

อ้อ เอ็ม และผมได้ “พี่อ้น” เป็นเมนทอร์

พี่อ้น หรือคุณวรรณิภา ภักดีบุตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

พี่อ้นเคยทำงานอยู่ยูนิลีเวอร์มา 30 ปี ก่อนที่จะได้รับการทาบทามมาช่วยนำโอสถสภาเข้าตลาดหุ้น โดยใช้เวลา 2 ปีก็สามารถ IPO ได้สำเร็จ

นัดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ร้านฉันท์ แอนด์ ยุพา ซอยสุขุมวิท 12 ทุกคนใส่เสื้อยืดสีขาวโดยไม่ได้นัดหมาย เราสั่งเมนูชื่อไม่คุ้นหูอย่าง “ประทัดลม” “ผัดผักเย็น” และ “ปลาเบญจรส” และคุยกันอย่างออกรสออกชาติ

ใช้เวลาด้วยกันสามชั่วโมงกว่า ได้อะไรมากมายกลับมาคิดต่อ ต้องขอบคุณเอ็มกับอ้อที่ช่วยกันจดโน้ต

พวกเราจะได้เจอกันเดือนละครั้งไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผมจึงมีความตั้งใจว่าจะนำบทเรียนบางส่วนที่ได้จากพี่อ้นมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้จนถึงสิ้นปีเช่นกันครับ

1.ไม่รู้ (บางทีก็) ดีที่สุด

ตาม career path ของพี่อ้นนั้น สามารถอยู่ที่ยูนิลีเวอร์จนเกษียณได้เลย แต่พี่อ้นก็เลือกที่จะย้ายมาโอสถสภา

ที่ตัดสินใจย้าย เพราะพี่อ้นทำงานบริษัทข้ามชาติมาทั้งชีวิต ก่อนเกษียณเลยอยากลองทำงานองค์กรไทยดูบ้าง

แถมโอสถสภาก็ไม่ใช่องค์กรไทยธรรมดา แต่เป็นองค์กรไทยที่มีอายุถึง 130 ปี โดยมีจุดกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็งชื่อว่า “เต๊กเฮงหยู” (ป้ายร้านเขียนว่า “เต๊กเฮ้งหยุ”)

เมื่อพี่อ้นมาถึง ก็มีเรื่องต้องปรับมากมาย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการปรับทีมและวัฒนธรรมการทำงาน แถมยังมีเดดไลน์จ่อคออยู่คือต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น

พี่อ้นบอกว่า ถ้าก่อนมาเขารู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง พี่อ้นอาจจะไม่รับงานนี้ก็ได้

บางทีการไม่รู้จึงเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะรู้แล้วอาจจะคิดมากจนเราไม่กล้าออกจาก comfort zone

.

2. 10=20

ก่อนจะรับงานที่โอสถสภา พี่อ้นโทรไปหาแม่เพื่อแจ้งข่าว ตอนแรกแม่ทักท้วงว่าจะหาเรื่องให้ตัวเองทำไม เพราะหากพี่อ้นอยู่ต่อที่ยูนิลีเวอร์จนเกษียณ พี่อ้นจะได้รับ package ก้อนใหญ่

แต่ก่อนวางสาย แม่พี่อ้นก็บอกว่า พออายุ 80 จะมีเงิน 10 ล้านหรือ 20 ล้านก็ไม่ต่างกัน สำคัญคือควรจะมีเงินเก็บพอที่จะดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน เลยจากนั้นจะมีเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญแล้ว ถึงมีมากก็ไม่มีปัญญาใช้ ดังนั้นจงเลือกทางเดินที่เราจะไม่เสียดายทีหลัง

.

3. จุดแข็งคานจุดอ่อน

พี่อ้นถามพวกเราว่าเคยทำแบบทดสอบ StrengthsFinder แล้วหรือยัง เอ็มยังไม่เคยทำ ส่วนผมกับอ้อเคยทำแต่ก็นานมาแล้ว

พี่อ้นแนะนำว่าควรทำอีกรอบ และควรมีที่ปรึกษาที่เข้าใจศาสตร์นี้มานั่งอธิบายให้เราฟัง แล้วเราจะเก็บเกี่ยวอะไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า

StrengthsFinder เป็นแบบทดสอบที่ออกแบบโดย Gallup ใช้เวลาทำประมาณ 30-45 นาที เพื่อดูว่าใน 34 “ธีม” มีด้านไหนที่เราโดดเด่นที่สุด

ธีมของพี่อ้น 5 ข้อแรกคือ – Arranger, Relator, Developer, Maximizer และ Responsibility

พี่อ้นบอกว่า เราควรรู้จุดแข็งตัวเองเพื่อที่จะได้พัฒนามันไปให้ถึงที่สุด

ข้อดีอีกอย่าง คือเราสามารถใช้จุดแข็งมา “คาน” กับจุดอ่อนของเราได้

ยกตัวอย่างเช่น พี่อ้นเป็นคนคิดเยอะและคิดนาน พี่อ้นเลยเลือกใช้หนึ่งในจุดแข็งของตัวเองคือ Responsibility ด้วยการตั้งเดดไลน์ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้ภายในเมื่อไหร่

แม้จะเป็นคนคิดเยอะ แต่เมื่อมีเส้นตายชัดเจน ความเป็นคนรับผิดชอบของพี่อ้นเลยช่วยให้สามารถตัดจบได้

.

4. เรื่องคนต้องคิดให้จบ

ในช่วง 2 ปีแรกของการทำงานที่โอสถสภา พี่อ้นใช้เวลาเรื่องคนเยอะที่สุด เพราะหากไม่จัดการเรื่องนี้ก็จะไม่สามารถ IPO ได้

ผู้บริหารหลายคนอยู่มาหลายสิบปี บางคนพร้อมจะไปต่อ แต่บางคนก็ไม่

ด้วยความที่พี่อ้นมี Developer เป็นหนึ่งในจุดแข็ง พี่อ้นจึงใช้การโค้ช ซึ่งมีอยู่สองแบบคือ coach in กับ coach out

Coach in คือชวนคุยให้คนคนนี้พร้อมเดินและเติบโตไปกับเรา

Coach out คือชวนคุยให้เขาเห็นว่าเขาน่าจะเหมาะกับที่อื่นมากกว่า

สิ่งสำคัญสำหรับการ coach out คือเราต้องให้เกียรติเขา ทุกบทสนทนาเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัว และเมื่อถึงวันที่เขาตัดสินใจที่จะไป เขาควรเดินออกไปอย่างมี dignity

พี่อ้นเน้นว่าการดีลกับคนต้องทำในช่วงเวลาที่เรา “นิ่ง” ที่สุด ถ้าเร่งจะพลาด

ดังนั้น ก่อนการพูดคุย เราควรคิดมาอย่างละเอียด ว่าหากอีกฝ่ายตอบว่าอย่างนี้ เราจะไปอย่างไรต่อ มี mindmap และ decision tree ในหัวอย่างชัดเจน

เรื่องคนต้องคิดให้จบ ถ้ายังคิดไม่จบอย่าเพิ่งคุย

.

5. โมโหคือแพ้

แม้จะเตรียมตัวมาดีเพียงใด การพูดคุยก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะบางคนอาจจะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกับเรา หรือบางคนอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวพันด้วยมากเป็นพิเศษ

พี่อ้นบอกว่าสิ่งสำคัญคือห้ามโมโห โมโหคือแพ้

.

6. Live One Level Below

พ่อสอนพี่อ้นตั้งแต่เด็กว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่เป็นอิสระ จงอย่าเป็นหนี้ใคร

พี่อ้นจึงเป็นคนไม่มีหนี้ อยากซื้ออะไรก็จะเก็บเงินก่อนเสมอ แม้กระทั่งคอนโดก็ซื้อด้วยเงินสด

พี่อ้นมีลูกสองคน ลูกชายเรียนจบแล้ว ส่วนลูกสาวกำลังเรียนอยู่ปี 4

ตอนแรกลูกชายพี่อ้นเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่พอเห็นว่าลูกไม่ยอมกินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง บ่นว่าร้อน คุณพ่อจึงตัดสินใจให้ไปเข้าโรงเรียนไทย ให้หัดไปต่อคิวซื้อข้าวในโรงอาหาร

“การเลือกโรงเรียนคือการเลือกไลฟ์สไตล์ให้ลูก” พี่อ้นกล่าว

พี่อ้นเป็นคนไม่ใช้ของแบรนด์เนม ลูกสาวพี่อ้นจึงไม่ติดของแบรนด์เนมเช่นกัน

“Live one level below what you can afford.” แล้วเราจะรู้สึกว่ามีเงินพอใช้ตลอด

คนไม่น้อยชอบทำตรงกันข้าม คือ Live one level above.

.

7. วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง

ผมถามพี่อ้นว่า พวกเรา mentee ทั้งสามคนอยู่ในวัยสี่สิบต้นๆ มีอะไรที่พวกเราควรระวังเป็นพิเศษรึเปล่า

พี่อ้นบอกว่าวัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่

ในวัยนี้เราจึงควรมีเวลาได้คุยกับตัวเอง ตอบตัวเองให้ได้ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับเรา

พี่อ้นยังบอกอีกว่า แต่ละวันที่เริ่มทำงาน เราควรรู้ว่าภาพใหญ่คืออะไร สิ่งที่เราทำในวันนี้มันจะไปต่อจิ๊กซอว์ตัวไหน

เพราะหากเราทำงานโดยไม่เห็นภาพใหญ่ ชีวิตจะเหนื่อยมาก


Reflections

– ใน StrengthsFinder ธีมที่พี่อ้นได้คะแนนรั้งท้ายคือ Command และ Significance ซึ่งโดยปกติเรามองว่าน่าจะจำเป็นสำหรับ CEO แต่พี่อ้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้นำมีได้หลายแบบ ดอกไม้มีได้หลายสี เราสามารถเป็นผู้นำในสไตล์ของเราได้ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร

– “เรื่องคนต้องคิดให้จบ” – ผมทำงานส่วนของ HR เมื่อมองย้อนกลับไป หลายครั้งผมยังเตรียมตัวไม่ดีพอ ไปด้นเอาหน้างานเสียเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงและคิดให้รอบคอบกว่านี้

– “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง” ผมไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อน แต่เมื่อพี่อ้นสะกิดก็เห็นจริงดังว่า อะไรที่อยากทำจึงควรลงมือทำเสียตอนนี้ เมื่อมองย้อนกลับมาจะได้ไม่เสียดายทีหลัง

– ในวันแรกของโครงการ IMET MAX เราได้ “พี่ใหญ่” ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีและอดีต mentor ของ IMET MAX มาแชร์ประสบการณ์ เมื่อมีคนในห้องถามว่า ถ้าตอนนี้พี่ใหญ่อายุเท่าพวกเรา พี่ใหญ่น่าจะกำลังทำอะไรอยู่

พี่ใหญ่ตอบว่า “คงกำลังโลดแล่นในทุกทาง”

วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง เราจึงควรหาให้เจอว่าอะไรสำคัญ พัฒนาจุดแข็งเพื่อปิดจุดอ่อน แล้วออกไปโลดแล่นในทุกทาง

ขอบคุณ IMET MAX พี่อ้น อ้อ เอ็ม สำหรับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความปรารถนาดี

แล้วพบกันใหม่เร็วๆ นี้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง: 3 วันแรกกับ IMET MAX รุ่นที่ 5

คิดแบบซีเนียร์แล้วจะได้เป็นซีเนียร์

ช่วงนี้งานที่บริษัทกำลังสนุก เพราะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

หลายคนเลยต้องรับบทหนักหน่อย น้องจูเนียร์ในทีมบางคนต้องทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งยังเป็นงานที่กดดันพอสมควร แต่ผมมองว่านี่คือโอกาส เพราะงานที่น้องได้ทำมี visibility สูง คือผู้บริหารมองเห็น ถ้าทำได้ดีเขาจะจำชื่อเราได้ ถ้าทำได้ไม่ดีเขาก็จะจำชื่อเราได้เหมือนกัน เข้าข่ายพลิกโอกาสให้เป็นวิกฤติ

ผมเลยฝากหัวหน้าเขาไปบอกน้องว่า “คิดแบบซีเนียร์แล้วจะได้เป็นซีเนียร์”

คืองานมารออยู่ตรงหน้าแล้ว ทำให้สุดฝีมือ แล้วทางที่เขาจะได้เติบโตในองค์กรนี้ก็จะเปิดกว้างขึ้น

ผมเคยเขียนบทความ “ข้อแนะนำสำหรับคนอยากเป็นซีเนียร์” เอาไว้ดังนี้

  • ทำงานของตัวเองให้ดี (Do your job well)
  • ทำให้มากกว่าที่ขอ (Go the extra mile)
  • ทำโดยไม่ต้องให้ใครมาบอก (Be proactive)
  • ขยันอย่างฉลาด (Work hard & work smart)
  • เป็นคนไว้ใจได้ (Be reliable)
  • กล้าแสดงความคิดเห็น (Speak up)
  • พร้อมช่วยเหลือคนอื่นเสมอ (Be there when someone needs you)
  • เป็นแบบอย่างที่ดี (Be a role model)
  • ผูกพันกับองค์กร (Be an engaged employee)
  • คิดเหมือนเราเป็นเจ้าของบริษัท (Think & act like the owner)

ถ้าทำได้ครบทุกข้อ มันจะเข้าข่ายหนังสือของ Cal Newport ที่ชื่อว่า “So good they can’t ignore you.” คือเก่งเสียจนผู้ใหญ่อยู่เฉยไม่ได้ ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบแทนพนักงานคนนั้น

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกองค์กรจะตอบแทนคนทำงานดี ไม่มีอะไรการันตีว่าโลกนี้จะแฟร์กับเรา

แต่สิ่งหนึ่งที่แฟร์เสมอ คือใครทำคนนั้นก็ได้ ทั้งทักษะและทัศนคติที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

คิดแบบซีเนียร์แล้ว(อาจ)จะได้เป็นซีเนียร์

ส่วนใครที่คิดแบบจูเนียร์ก็จะได้เป็นจูเนียร์ต่อไปครับ

จงลืมคำนาม จงทำกิริยา

จงลืมคำนาม จงทำกิริยา

“Forget the noun, do the verb.”
-Austin Kleons

พวกเราส่วนใหญ่ล้วนมีเป้าหมายอยากเป็นใครสักคน

อยากเป็นโค้ช อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากเป็นผู้บริหาร อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นนักวิ่ง

แล้วเราก็จะซื้อหนังสือมาอ่าน หรือฟังพ็อดแคสต์ ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

แน่นอนว่าการทำการบ้านนั้นมีประโยชน์ แต่มันจะเริ่มเป็นโทษเมื่อเราปล่อยให้การเตรียมตัวมาทดแทนการลงมือทำ

เพราะในโลกแห่งความจริงนั้นกิริยามาก่อนคำนาม

เราต้องเขียนก่อน เราถึงจะเป็นนักเขียน

เราต้องเริ่มทำธุรกิจก่อน เราถึงจะเป็นเจ้าของธุรกิจ

เราต้องวิ่งก่อน เราถึงจะเป็นนักวิ่ง

ผมเคยอ่านสัมภาษณ์วงดนตรี Scrubb ที่แม้จะเล่นดนตรีมาเป็นสิบปีและออกผลงานมาหลายอัลบั้มแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ได้มองตัวเองเป็น “นักดนตรีมืออาชีพ” พวกเขามองตัวเองเป็นแค่วงดนตรีหนึ่งที่ชอบ “เล่นดนตรี” เท่านั้นเอง

ช่วง 5 ปีแรกที่ผมเขียนบล็อกก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นบล็อกเกอร์ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นพนักงานธรรมดาคนหนึ่งที่เขียนบล็อกในเวลาว่าง เพิ่งจะมารู้สึกว่าสามารถเรียกตัวเองเป็นบล็อกเกอร์โดยไม่ตะขิดตะขวงใจในช่วงปีสองปีนี้เอง

ดังนั้น บางทีเรายังไม่ต้องสนใจหรอกว่าเราเป็นใครหรือเป็นอะไรแล้วรึยัง

เราก็แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ และหากเราอยู่กับมันได้นานพอเราก็จะกลายเป็นสิ่งนั้นโดยธรรมชาติ

Forget the noun, do the verb.

จงลืมคำนาม จงทำกิริยาครับ

ส่องความคิดคนอ่อนไหวในหนังสือ คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว

HSP – Highly Sensitive Person หมายถึงคนที่มีความอ่อนไหวในระดับสูง มีสัมผัสที่ไวต่อสถานการณ์ และมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตัวเอง

คุณสมบัติ 4 ประการของ HSP:

1) ประมวลผลลึกซึ้ง ฟุ้งไปได้มากมายจากเรื่องนิดเดียว

2) ถูกกระตุ้นเร้าได้ง่าย

3) ตอบสนองทางอารมณ์ได้รุนแรง

4) อ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย

หนังสือเล่มนี้พาเราเกาะติดชีวิตของ “นาโอะเนียน” นามปากกาของสาวญี่ปุ่นวัยกลางคนที่เป็น HSP มาตั้งแต่เด็ก เพื่อจะได้เห็นว่าเธอต้องประสบกับความรู้สึกอะไรบ้าง

เราคงไม่ไปตัดสินว่าที่เธอคิดนั้นผิดหรือถูก แค่รับรู้ว่ามันมีคนที่รู้สึกแบบนี้ได้เช่นกันก็พอ

“เวลาฉันสอบได้คะแนนไม่ดี แม่จะถอนหายใจด้วยความผิดหวัง ฉันเลยตั้งใจเรียนสุดชีวิต”

“การถอนหายใจของพ่อแม่อาจกลายเป็นบาดแผลทางใจสำหรับเด็ก ถ้าเป็นไปได้อย่าถอนหายใจให้เด็กเห็นเลยนะคะ”

“เวลาที่ได้คะแนนไม่ดี บางครั้งฉันถึงขั้นไปต่อรองกับครูว่าขอคะแนนเพิ่มอีกสักคะแนนได้ไหม”

“อะไรที่ตอนเด็กถูกห้ามมากๆ พอโตขึ้นแล้วความรู้สึกต่อต้านจะแสดงออกมาในแบบสุดขั้วไปเลย”

“ฉันคิดว่าการเอาเด็กอายุไล่เลี่ยมาเปรียบเทียบกันมันไม่มีอะไรดีเลย อยากให้เลิกเปรียบเทียบแบบไม่รู้จักแยกแยะเสียที”

“คนที่อยากให้ทุกคนชอบตัวเองนั้น จะกลับกลายเป็นว่าโดนทุกคนเกลียดแทน”

“หากพ่อแม่พูดว่า ‘ไม่ต้องกังวลนะ’ ก็ยังจะพอรับได้ แต่การใช้ประโยคคำสั่งว่า ‘อย่ากังวล’ นี่ทำให้โมโหสุดๆ”

“ผมฉันแข็งกระด้างและหยักศก ทำให้โดนรุ่นพี่ในชมรมแอบเรียกว่า ‘ยายหัวฟู’ ถ้าทำได้ฉันก็อยากไปยืดผมให้ตรง แต่ที่โรงเรียนห้ามยืดผม ฉันเลยต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่งเพื่อใช้เวลา 30 นาทีในการเป่าผมให้ตรง ฉันเกลียดวันฝนตกมาก เพราะความชื้นทำให้ผมกลับไปหยักศกเหมือนเดิม”

“ฉันได้พบความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะตั้งใจเรียนแค่ไหน ถ้าหน้าตาไม่ดีก็จะถูกนินทาอยู่ดี”

“ในหมู่เด็กผู้หญิงชอบมีการซุบซิบนินทากัน แต่ด้วยความกลัวว่าจะโดนกลุ่มเมิน ฉันจึงต้องร่วมวงนินทากับเขาด้วย ทั้งที่แต่ละคนอยู่คนเดียวก็นิสัยดี แต่พอจับกลุ่มกันแล้วกลับหัวรุนแรงขึ้น”

“ต่อให้ไปปรึกษาครูก็ไม่ช่วยอะไร (ครูเองก็โดนกลั่นแกล้งเหมือนกัน)”

“สังคมเราให้ความสำคัญกับการมีความอดทนและการไม่ร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น แต่การต้องอดทนเก็บความเศร้าแล้วแกล้งทำเป็นร่าเริงนี่มันดีจริงๆ เหรอ”

“ถ้าแต่งหน้าที่บ้านจะโดนพ่อแม่ดุ ฉันเลยต้องตื่นแต่เช้าไปแต่งหน้าที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟแล้วค่อยไปโรงเรียน ขากลับก็ต้องลบเครื่องสำอางที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟก่อนกลับบ้าน มันยุ่งยากมากๆ”

“เวลาไม่แต่งหน้าฉันจะกลัวสายตาของคนอื่นขนาดที่ต้องถอดคอนแทกต์เลนส์เดินข้างนอกบ้าน”

“พอลองๆ นึกดู ฉันก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้ชอบเรียนหนังสือ แต่ตั้งใจเรียนเพราะพ่อแม่ชม ที่เริ่มแต่งตัวแนวโลลิต้าก็เพราะคนจะได้มองว่าน่ารัก ไม่ว่าจะความสนใจ เพลงที่ฟัง หรือหนังสือที่อ่าน ฉันก็เลือกแต่สิ่งที่สังคมบอกว่าดี แทบไม่มีอะไรที่เลือกด้วยตัวเอง เป็นมนุษย์ที่กลวงโบ๋ที่ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนของตัวเองเลย”

“ด้วยความเป็น HSP ตอนทำงานบริษัทฉันจึงไม่ชอบรับโทรศัพท์เลย โทรศัพท์ดังทีไรหัวใจแทบหยุดเต้น จนทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่ถูกโฉลกกับโทรศัพท์ ไม่เคยรับสายหลังจากได้ยินเสียงโทรศัพท์แค่ครั้งเดียวได้เลย”

“ฉันยังมีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำด้วยค่ะ นั่นคือ เวลารับโทรศัพท์ให้ท่องว่า ‘ตอนนี้เราอยู่ในโหมดอัตโนมัติ’ โดยคิดเสียว่าตัวเองเป็นเครื่องจักรจะได้ทำให้เสร็จๆ ไปโดยไม่ต้องรู้สึกอะไร”

“พออยู่กับคนอื่นแล้วฉันจะรู้สึกกดดันว่าต้องพูดอะไรสักอย่าง เลยเลือกจะใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ ออฟฟิศฉันอยู่ชั้น 11 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เหนื่อยสุดๆ จนอดสมเพชตัวเองไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องใช้ชีวิตแบบคิดมากเรื่องคนอื่นขนาดนี้ด้วย”

“ด้วยความที่อ่อนไหวง่ายต่ออารมณ์คนรอบข้าง พอเห็นพนักงานคนไหนอารมณ์เสีย ฉันก็จะวิตกจริตว่า ‘เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า’ แล้วก็จะไปถามรุ่นพี่ที่สนิทกับคนคนนั้นว่าเขาโกรธอะไรฉันไหม หลังจากนั้นจากที่เคยไม่มีอะไรก็กลายเป็นว่าโดนเกลียดเข้าจริงๆ”

“ฉันเริ่มเห็นด้วยกับสำนวนที่ว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง เราไม่จำเป็นต้องพูดหมดทุกเรื่อง ที่สำคัญแม้ตัวเราจะมองว่าการไม่พูดไม่จาเป็นปมด้อย แต่สำหรับบางคนแล้วมันอาจทำให้เราดูเป็นคนสุขุมก็ได้”

“นับแต่นั้นมาฉันเลยพูดกับพ่อแม่เรื่องเป็นโรคซึมเศร้าไม่ออก พ่อแม่เป็นคนที่หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่เชื่อเรื่องความอ่อนแอทางจิตใจ และไม่ยอมรับฟังฉันมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าแสดงความอ่อนแอให้เห็นแค่นิดเดียวก็จะดุฉันว่า “ใจไม่สู้เลย” “อย่าทำตัวเหยาะแหยะ”

“ถึงจะรู้สึกผิดที่โกหก แต่การปกห้องหัวใจตัวเองสำคัญกว่า ตอนนั้นฉันตัดสินใจแล้วว่าชีวิตนี้ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนมาเข้าอกเข้าใจก็ได้”

“ฉันจงใจเลือกงานที่พ่อแม่สามารถเอาไปอวดคนรอบข้างได้”

“ฉันเคยโพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า ‘ฉันเคยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็พยายามหาสิ่งที่ตัวเองทำได้เลยมาเป็นฟรีแลนซ์’ ปรากฏว่ามีคนมาตอบกลับว่า ‘นี่อวดเหรอ'”

“สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน เพราะงั้นไม่ต้องใส่ใจดีกว่า”

“ฉันเป็นคนที่มักอิจฉาคนเด่นดัง ทว่าพักหลังมานี้ฉันเริ่มคิดว่าคนดังนั้นเป็น ‘ขุมพลัง’ ของมนุษย์อย่างวัดหรือศาลเจ้า พอคิดแบบนี้ความอิจฉาก็หายไปอย่างประหลาด”

“เวลาฉันไปร้านอาหารฉันยังเป็นคนที่กะจังหวะไม่ถูกว่าควรเรียกพนักงานเสิร์ฟที่กำลังยุ่งๆ ตอนไหนดี”

“แม้จะหาเพื่อนได้ แต่ฉันก็มักเผลอใส่ใจอีกฝ่ายเกินไป พอเพื่อนแสดงอารมณ์อะไรออกมาหน่อยก็ชอบคิดลึกไปโน่น จากนั้นก็ทึกทักเอาเองว่า ‘ถูกเกลียด’ แล้วก็เป็นฝ่ายตัดสัมพันธ์เสียเอง”

“ว่ากันว่าในทุกๆ 10 คนจะมีคนที่เกลียดเราอยู่ 2 คน การทำให้ทุกคนชอบจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แค่พยายามไม่ให้คนที่เราชอบเกลียดเราก็พอแล้ว”

“ฉันว่าการสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่นถือเป็นข้อดีของ HSP เวลาเพื่อนดูสีหน้าไม่ดีหรือเอาแต่ก้มหน้าก้มตา ฉันจะสังเกตเห็นแล้วเข้าไปทักว่า ‘เป็นอะไรไหม’ ‘ฝืนอยู่หรือเปล่า’ ทำให้เพื่อนยอมบอกเรื่องที่อยู่ในใจออกมา

“ด้วยความที่ HSP สามารถเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง จึงช่วยเป็นที่พึ่งพิงยามทุกข์ให้กับคนอื่นได้”


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว (100 年後にはみんな死んでるから気にしないことにした) ผู้เขียน นาโอะเนียน สำนักพิมพ์วีเลิร์น