อยู่ประเทศไหนรวยง่ายที่สุด?

Herald Eia เป็นนักสังคมวิทยาและผู้จัดการทีวีชาวนอร์เวย์

ในปี 2016 เขาเคยขึ้นพูดบนเวที TEDxOslo ในหัวข้อ Where in the world is it easiest to get rich?

ผมขอถอดความบางส่วนมาไว้ในบล็อกนี้ครับ


อยู่ประเทศไหนรวยง่ายที่สุด? นี่คือคำถามที่ผมถามอาจารย์ของผมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 90’s สมัยที่ผมเรียนคณะสังคมวิทยา (sociology)

อาจารย์กำลังสอนเรื่องประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) และรัฐสวัสดิการ (welfare state) ของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ฯลฯ) เขาเชื่อเรื่องการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ไม่มีทั้งคนรวยและคนจน

แต่ผมเองตอนนั้นกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคนรวย ตอนที่ผมได้สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจผู้มั่งคั่ง ทุกคนล้วนบอกว่าชีวิตในสแกนดิเนเวียมันไม่ง่ายเลย พวกเขาต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพราะว่าโดนเก็บภาษีแพงมาก สหภาพแรงงานก็มีอำนาจต่อรองเยอะ และรัฐสวัสดิการก็ทำให้ผู้คนที่นี่เกียจคร้านอีกต่างหาก

ผมเลยอดไม่ได้ที่จะยกมือถามอาจารย์ในห้องว่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความเท่าเทียม ถ้าความฝันของผมคือการได้เป็นคนรวยล่ะ ผมควรจะไปเกิดที่ประเทศไหนถึงจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้เป็นคนรวย

อาจารย์นิ่งไปสักครู่ก่อนจะตอบผมว่า

“ถ้านั่นคือเป้าหมายของคุณ คุณก็ควรจะเลือกเกิดในประเทที่มีตลาดเสรี ภาษีถูก และรัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงกลไกลตลาดมากนัก อ้อ แล้วถ้าคุณอยากจะรวยจริงๆ ควรไม่ควรเลือกเรียนสังคมวิทยาด้วยนะ”

ผมก็คิดว่านั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง จนกระทั่งผมได้อ่านผลงานของอาจารย์ Karl Moene แห่งมหาวิทยาลัย Oslo ถึงได้รู้ความจริงคืออะไร

ก่อนอื่นเราต้องนิยามคำว่า “รวย” กันก่อน

ยูเอ็น (United Nations) ได้กำหนด “เส้นความยากจน” (poverty line) เอาไว้ที่ $2 ถ้าใครมีรายได้ต่ำกว่าวันละ $2 ก็ให้ถือว่าคนคนนั้นยากจน

แต่เส้นที่น่าสนใจกว่าคือ “เส้นความร่ำรวย” (richness line) และรายงานที่เชื่อถือได้มากที่สุดก็คือ Wealth Report ที่นิยามคนร่ำรวยไว้ว่าต้องมีความมั่งคั่งสุทธิ (net worth = ทรัพย์สินลบด้วยหนี้สิน) อยู่ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า Ultra High Net Worth Individual

ในโลกนี้มี UHNWI อยู่ 170,000 คน และนี่คือประเทศ Top 5 ที่มีคนเหล่านี้

ที่ 5 คือจีนมีแปดพันคน ที่ 4 อังกฤษหนึ่งหมื่นคน ที่ 3 เยอรมันมีหมื่นสอง ที่ 2 ญี่ปุ่นมีหมื่นเจ็ดพันคน และแน่นอนว่าที่ 1 คืออเมริกาที่มีคนรวยระดับนี้ถึงสี่หมื่นคน

แต่สิ่งที่เราอยากรู้มากกว่าคือจำนวนคนรวยต่อประชากร 1 ล้านคน และถ้าเราตัดดินแดนภาษีต่ำ (tax havens) อย่างไซปรัส สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และโมนาโคทิ้งไป [เพราะเป็นเพียงแหล่งซุกเงินของคนรวยเท่านั้น] เราก็จะได้รายชื่อประเทศเหล่านี้

อันดับ 5 เดนมาร์ค มีคนรวย 179 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

อันดับ 4 แคนาดา 181

อันดับ 3 นิวซีแลนด์ 234

อันดับ 2 สวีเดน 329

อันดับ 1 นอร์เวย์ 484 คน

ส่วนอเมริกาอยู่เพียงอันดับที่ 13 มี 126 คน

อาจารย์แกงผมซะแล้ว ไหนบอกว่าสแกนดิเนเวียไม่มีทั้งคนรวยและคนจนไง

แต่เอาเถอะ $30 ล้านอาจจะดูจิ๊บจ๊อยไปหน่อย สมมติเราเพิ่มมาตรฐานเป็น $1 พันล้านจะเกิดอะไรขึ้น? แหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้มากที่สุดก็คือ Forbes Billionaires List

อันดับ 5 เยอรมันนี มีคนรวยระดับ billionaires 1.2 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

อันดับ 4 อเมริกา 1.7 คน

อันดับ 3 นอร์เวย์ 2.0 คน

อันดับ 2 สวีเดน 2.4 คน

ส่วนอันดับ 1 คือไอซ์แลนด์ 3.1 คน ซึ่งมี billionaire หนึ่งคนถ้วนคือ Thor Björgólfsson [ไอซ์แลนด์มีประชากรสามแสนกว่าคน]

ประเด็นก็คืออเมริกา 1.7 ส่วนสแกนดิเนเวียค่าเฉลี่ยคือ 2.1

มันเป็นไปได้ยังไง? ทำไมประชาธิปไตยสังคมนิยมซึ่งคนเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียมจึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์มหาเศรษฐีไปได้?

มีเหตุผล 2 ข้อ

ข้อแรกคือค่าเล่าเรียนฟรี (free education)

ประชาธิปไตยสังคมนิยมทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ แถมยังมีเงินกู้ยืมดอกเบี้ยถูกและทุนการศึกษาให้อีกด้วย มันจึงช่วยให้คนจำนวนมากสามารถใช้ความสามารถที่ตัวเองมีเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว

มิติหนึ่งที่เราสามารถดูกันได้คือ “การขยับสถานะทางสังคม” (social mobility)

ลองนึกภาพคนที่เป็น “่พ่อคน” ในประเทศหนึ่ง และแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็น 5 กลุ่มโดยดูจากรายได้เรียงจากมากไปน้อย

คราวนี้ก็ให้ไปดูลูกของคนเหล่านั้น และแบ่งเป็น 5 กลุ่มเช่นกัน

แล้วลองดูซิว่า พ่อที่อยู่ในกลุ่มที่จนที่สุด 20% นั้น มีลูกที่ได้ไปอยู่ในกลุ่มที่รวยที่สุด 20% บ้างรึเปล่า มีลูกที่ได้เปลี่ยนจากยาจกเป็นมหาเศรษฐีมากน้อยแค่ไหน

ในโลกอุดมคติที่มี perfect social mobility [ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะไปจบอยู่ที่กลุ่มไหนก็ได้] 20% ของลูกของพ่อในกลุ่มที่จนที่สุดควรจะได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่รวยที่สุด

ที่สวีเดน ตัวเลขคือ 14%

นอร์เวย์ 12%

สวีเดน 11%

ส่วนอเมริกาคือ 8%

การเรียนฟรีในประเทศแถบสแกนดิเนเวียทำให้คนสร้างเนื้อสร้างตัวได้มากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา

แล้วถ้าเราดูลูกของพ่อที่จนที่สุดว่ามีใครที่ยังคงอยู่ในกลุ่มที่จนที่สุดบ้างล่ะ (ลูกของยาจกที่ดิ้นไม่หลุดจากความยากจน)

ใน perfect social mobility ตัวเลขก็คือ 20% เช่นกัน

เดนมาร์ค 25%

สวีเดน 26%

นอร์เวย์ 28%

อเมริกา 42%

นั่นเป็นเพราะว่าค่าเล่าเรียนในอเมริกานั้นแพงมากนั่นเอง [คนจนเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก]

แต่เหตุผลข้อที่ 2 – และเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สแกนดิเนเวียเป็นแหล่งเพาะพันธุ์คนร่ำรวยก็คือ…

ที่อเมริกา เวลาคุณขึ้นทางด่วน คุณจะเจอเจ้าหน้าที่ประจำด่าน เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต คุณจะเจอพนักงานเก็บเงิน เวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะ คุณก็จะเจอแม่บ้านทำความสะอาด

ขณะที่ในนอร์เวย์ ไม่ว่าคุณจะขึ้นทางด่วน ไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเข้าห้องน้ำสาธารณะ คุณจะแทบไม่ได้เจอมนุษย์เลย เพราะใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีแทนคนไปเกือบหมดแล้ว

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สหภาพแรงงานนั้นคอยกดดันให้เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำอยู่เสมอ การว่าจ้างคนจึงแพงมาก ถ้าคุณอยู่นอร์เวย์แล้วคุณได้งานเป็นพนักงานเก็บค่าทางด่วน พนักงานคิดเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นแม่บ้านทำความสะอาด คุณจะได้ค่าจ้างมากกว่าในอเมริกาถึง 3 เท่า

เพราะค่าแรงในสแกนดิเนเวียแพงมาก หลายบริษัทเลยต้องลดจำนวนพนักงาน (downsize) และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่อย่างนั้นบริษัทก็อยู่ไม่ได้ แต่การใช้เทคโนโลยีก็ทำให้บริษัทมี productivity มากขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

ในทางกลับกัน สหภาพแรงงานในสแกนดิเนเวียก็ไม่ยอมให้ค่าแรงของคนที่มีทักษะสูงๆ นั้นสูงเกินไปเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

Senior Engineer ในนอร์เวย์จะได้ค่าแรง $76,000 ต่อปี ส่วนในอเมริกานั้นจะได้ $100,000 ต่อปี และแน่นอนว่าการจำกัดเงินเดือนของคนที่ทักษะสูงๆ นั้นย่อมเป็นผลดีต่อกำไรของบริษัท เช่นนี้แล้วสหภาพแรงงานจึงเหมือนช่วยบริษัทประหยัดต้นทุนอยู่กลายๆ

มันจึงเป็นเหมือนตลกร้าย ที่คนร่ำรวยที่ผมได้สัมภาษณ์ตอนทำวิทยานิพนธ์นั้นล้วนบ่นว่าการเป็นคนรวยในสแกนดิเนเวียนั้นช่างยากเย็น พวกเขาเข้าใจผิดไปไกลเลย

ภาษีแพงนั้นทำให้พวกเราได้เรียนฟรีและทำให้เศรษฐกิจของเราเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถ

สหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งบังคับให้องค์กรมี productivity ที่ดีขึ้น

และความเป็นรัฐสวัสดิการก็ทำให้สหภาพแรงงานยอมให้เกิดการปลดพนักงานได้เพราะเขารู้ว่าแม้จะตกงานไปคนเหล่านี้ก็จะยังมีรัฐคอยดูแลเป็นอย่างดี

ประชาธิปไตยสังคมนิยมจึงไม่ใช่แนวคิดที่ต่อต้านความร่ำรวยหรือต่อต้านระบอบทุนนิยม รัฐสวัสดิการและสหภาพแรงงานนั้นทำงานควบคู่ไปกับทุนนิยมเลยด้วยซ้ำ

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศในสแกนดิเนเวียจึงเป็นดินแดนที่ผู้คนสามารถบรรลุ The American Dream ได้ง่ายดายเสียยิ่งกว่าในอเมริกาครับ!


ขอบคุณเนื้อหาจาก TEDxOslo | Where in the world is it easiest to get rich? | Harald Eia