เราอาจหมดวัยที่จะกินบุฟเฟ่ต์แล้ว

เมื่อวานนี้มีน้องในทีมถามมาว่า จะขอใช้งบ individual training ของบริษัทไปสมัครคอร์สเรียนออนไลน์แบบเหมาจ่าย 3 ปี 6 พันกว่าบาทได้มั้ย ตกเดือนละร้อยกว่าบาทเท่านั้น คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แถมวันนี้ก็เป็นโปรโมชั่นวันสุดท้ายแล้ว

ผมเลยถามเขากลับไปว่า เคยเรียนออนไลน์กับเจ้านี้มั้ย เขาตอบว่าไม่เคย

ผมก็เลยแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า แต่ก่อนผมเห็นคอร์สถูกๆ ใน Udemy ผมก็ซื้อแหลกเลยเหมือนกัน ตอนนี้มีคอร์สอยู่ในพอร์ต 64 คอร์ส เรียนจบไปแค่ 1 คอร์สถ้วน

ผมเลยบอกว่าอย่าตาวาวเพียงเพราะของมันถูก

เพราะถ้าสุดท้ายเราไม่ได้ใช้ ของถูกก็กลายเป็นของแพงอยู่ดี


ตั้งแต่อายุเลย 30 มา ผมไม่ค่อยนิยมการกินบุฟเฟ่ต์เท่าไหร่

อาจจะเพราะกินได้น้อยลง อาจจะเพราะคุณภาพอาหารของบุฟเฟ่ต์มักจะสู้ร้านแบบ a la carte ไม่ได้

และถ้าได้ไปกิน ปัญหาที่มักจะเจอคือสั่งมาเกินพอดี แล้วก็ต้องฝืนกินให้หมด ไม่อย่างนั้นจะโดนปรับ สุดท้ายก็เลยอิ่มเกินไป ท้องพังไปหลายชั่วโมง นอนก็ไม่สบายตัว

แล้วผมก็คิดได้ว่าการกินอาหารแบบบุฟเฟต่นี่มันเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมที่เด่นชัดมาก

คนกินรู้สึกว่า กินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่าเดิม ดังนั้นต้องกินให้เยอะเพื่อจะ “กำไร” ให้มากที่สุด

แต่ยิ่งเรารู้สึกว่ายิ่งต้องเอาให้คุ้มมากเท่าไหร่ เรากลับทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

เพราะความต้องการของเรานั้นมีไม่จำกัด แต่ร่างกายมนุษย์เรานั้นโคตรจะจำกัด


แน่นอนว่าความเป็นบุฟเฟ่ต์นั้นก็มีประโยชน์ เพราะในมุมผู้บริโภค เราสามารถคุมต้นทุนได้ ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเน็ตฟลิกซ์ ค่าสมาชิก spotify ล้วนแต่ใช้แนวคิดแบบบุฟเฟ่ต์ คือจ่ายเท่ากันทุกเดือน แล้วคุณจะใช้เท่าไหร่ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะจ่ายแพงไปกว่านี้

แต่เมื่ออายุมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เราจะมองไปที่ตัวเงินน้อยลง และมองไปที่เวลามากขึ้น

ถ้าเราจ่ายเน็ตฟลิกซ์เดือนละ 499 บาท ได้ดูซักเดือนละ 30 ชั่วโมงก็อาจได้ความสุขกำลังดี

แต่หากเราไม่ยับยั้งชั่งใจ ใช้มายด์เซ็ตกินบุฟเฟ่ต์ที่จ่ายแล้วต้องเอาให้คุ้ม เราอาจจะเผลอไผลดูเน็ตฟลิกซ์เดือนละ 100 ชั่วโมง

70 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะสร้างความบันเทิงมากขึ้นก็จริง แต่มันคือ diminishing returns เพราะความบันเทิงที่เพิ่มขึ้นมาเริ่มไม่คุ้มค่าเวลานอนที่เราเสียไปแล้ว

แต่ก่อนเราอยู่ในยุคสมัยแห่งความขาดแคลน กว่าจะได้ฟังเพลงสักเพลง กว่าจะได้ดูหนังสักเรื่องต้องออกแรงกันพอสมควร

แต่ยุคนี้มันตรงกันข้าม เรากำลังอยู่ในยุคที่ทางเลือกมีล้นเกิน หากเราไม่พิจารณาดีๆ เราจะสูญเสียพลังชีวิตให้กับ tech giants ที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวคือดึงให้เราอยู่บนแพลตฟอร์มของเขาให้นานที่สุด

เมื่อชีวิตเดินมาเกินครึ่งทาง เริ่มต้องไปงานศพบ่อยขึ้น เราจะเริ่มตระหนักว่าคนเราไม่ได้เหลือเวลามากมายขนาดนั้น

ชีวิตไม่ใช่การยัดให้อิ่มที่สุด แต่คือการหาจุดที่เราอิ่มกำลังดี

เราอาจหมดวัยที่จะกินบุฟเฟ่ต์แล้วครับ

นิทานผู้สืบทอด

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ซามูไรผู้หนึ่งมีลูกชาย 3 คน ซึ่งต่างก็มีความเชี่ยวชาญในเชิงซามูไร

พอถึงวาระที่ซามูไรผู้พ่อจะต้องมอบตราประจำตระกูลให้ลูกชายเพื่อสืบทอดต่อไปนั้น เขาก็ใช้วิธีทดสอบความสามารถของลูกๆ ทั้ง 3 คน

ซามูไรผู้พ่อคิดวิธีได้แล้วก็เข้าไปนั่งอยู่ในห้อง แล้วหับประตูไว้ ประตูห้องแบบญี่ปุ่นเป็นแบบฉากเลื่อน และบนประตูแบบฉากเลื่อนนี้เอง ซามูไรผู้พ่อก็นำเอาหมอนลูกหนึ่งขึ้นไปวางไว้ แล้เรียกให้ลูกชายเข้าไปหาทีละคน

ลูกชายคนโตถูกเรียกก่อน เมื่อเดินไปถึงประตูเลื่อน พอขยับประตู ก็มองเห็นหมอนอยู่ข้างบน จึงเอื้อมมือไปหยิบ แล้วเลื่อนประตูเข้าไปหาพ่อ

ซามูไรผู้พ่อสั่งให้เอาหมอนไปไว้ที่เดิม แล้วให้นั่งรออยู่ในห้อง

ลูกชายคนกลางถูกเรียกเป็นคนต่อไป เมื่อเดินไปถึงประตูก็เลื่อนประตูเปิด ทันใดนั้นหมอนก็ตกลงมา ลูกชายคนกลางรีบรับเอาไว้ทันทีโดยแทบไม่มีเสียงเลย แล้วจึงเดินเขาไปหาพ่อ

ซามูไรผู้พ่อจึงสั่งให้เอาหมอนไปวางไว้ที่เดิม แล้วให้นั่งรออยู่ในห้องเช่นกัน

ลูกชายคนเล็กถูกเรียกเป็นคนสุดท้าย พอเดินถึงประตูก็เลื่อนเปิดทันที หมอนก็ตกลงมา ดาบซามูไรก็ปลิวออกจากฝักในชั่วพริบตา หมอนถูกฟันจนนุ่นปลิวว่อน แล้วเสียบดาบลงฝักเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทบไม่มีใครเห็นใบดาบซามูไรเลยก็ว่าได้ แล้วลูกชายคนเล็กก็เดินอย่างสง่าและสงบเข้าไปหาพ่อ

ถ้าเป็นท่าน ท่านจะมอบตำแหน่งให้ลูกคนไหน?

ซามูไรผู้พ่อได้พูดกับลูกทั้งสามว่า

“เจ้าเล็ก เจ้าใช้ดาบได้รวดเร็วดังใจ”

“เจ้ากลาง เจ้ารู้วิธีใช้มือแทนดาบได้”

“เจ้าโต เจ้ารอบคอบ รู้การควรไม่ควรก่อนทำการทั้งปวง เจ้าใช้หัวและปัญญา ไม่ได้ใช้ดาบเพียงอย่างเดียว พ่อขอมอบดาบประจำตระกูลให้เจ้า จงปกครองคนในตระกูลแทนพ่อสืบต่อไป”


ขอบคุณนิทานจากเว็บประตูสู่ธรรม

หินวางอยู่ตรงนั้นดีๆ ไปแบกมันขึ้นมาทำไม

บางทีเราก็ใส่ใจกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

คำพูดหรือการกระทำของคนบางคนที่เขาไม่ได้แคร์เรา บางคนไม่ได้รู้ถึงการมีอยู่ของเราด้วยซ้ำ

แต่เราก็ยังไม่วายเป็นเดือดเป็นร้อน รู้สึกอยากระบาย รู้สึกว่าปล่อยไปอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง

คำพระว่า ทุกอย่างมันถูกของมันอยู่แล้ว มีแต่เรานี่แหละที่วางใจผิด

หินก้อนนั้นวางอยู่ของมันไม่ได้หนักอะไรใคร แต่เราก็ทะลึ่งไปยกมันขึ้นมาแบกเอาไว้

เมื่อแบกจนสาแก่ใจเราก็ต้องวางลงอยู่ดี ไม่ใช่เพราะละวางได้ แต่เพราะอยากไปแบกหินอีกก้อนแทน

“Learn to be indifferent to what makes no difference.”

Marcus Aurelius

อะไรที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้ชีวิต ก็อย่าไปใส่ใจมันมากนักเลย

สิ่งที่เราตามหาก็กำลังตามหาเราอยู่เช่นกัน

เราตามหาความก้าวหน้าและความสำเร็จ เพราะเราเชื่อว่ามันจะทำให้เรามีความสุข

แต่บางอย่างรีบวิ่งไล่ยิ่งหาไม่เจอ

เหมือนคำพูดของนิ้วกลมที่บอกว่า เรามีความสุขอยู่แล้ว แต่เราต้องมีเวลาให้มันด้วย

ถ้าตื่นมาเรามุ่งแต่จะวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ใช้ชีวิตเพื่ออนาคตอย่างเดียว เราจะไม่มีที่ว่างเหลือให้ปัจจุบัน

ปัจจุบัน เป็นภาษาบาลี ปจฺจ + อุปฺปนฺน ที่แปลว่า “เกิดขึ้นเฉพาะหน้า”

อะไรที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เรามองเห็นมันบ้างรึเปล่า เราได้ยินมันบ้างรึเปล่า เราได้สัมผัสมันบ้างรึเปล่า

อร่อยกับรสกับข้าวโดยไม่ดูมือถือ

นั่งคุยกับคนตรงหน้าโดยใจไม่เผลอไปคิดเรื่องาน

พิมพ์แป้นและขยับเมาส์ทำงานอย่างรู้เนื้อรู้ตัว

มองเห็นความคิดว่าเรากำลังชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ใจเราเบาสบายหรือใจมันหนักๆ

เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ ความสุขก็จะแผ่ซ่านมาให้เราได้สัมผัส

“What you seek is seeking you.”

Rumi

สิ่งที่เราวิ่งตามหามาตลอด ก็ตามหาเรามาตลอดเช่นกันครับ

ไม่ต้องเป็นคนเก่งตลอดเวลาก็ได้

บางทีเราก็ยึดมั่นกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากเกินไป

ว่าเราคือคนเข้มแข็ง เราคือคนที่ไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น เราจะผ่านมันไปได้ด้วยตัวเอง

แต่ถ้าเราเข็มแข็งมานานเกินไปมันก็มีเหนื่อยมีล้าได้เหมือนกัน

ไม่ได้ผิดอะไรที่จะยอมรับว่าวันนี้เราเหนื่อย ว่าวันนี้เราอ่อนแอ ว่าวันนี้เราต้องการใครบางคนที่จะกอดเราแน่นๆ และบอกเราว่าไม่เป็นไรนะ

“Don’t make it so difficult for others to help you.”
-Gal Shapira.

บอกกับตัวเอง ว่าไม่ต้องเป็นคนเก่งตลอดเวลาก็ได้ครับ