เราอาจหมดวัยที่จะกินบุฟเฟ่ต์แล้ว

เมื่อวานนี้มีน้องในทีมถามมาว่า จะขอใช้งบ individual training ของบริษัทไปสมัครคอร์สเรียนออนไลน์แบบเหมาจ่าย 3 ปี 6 พันกว่าบาทได้มั้ย ตกเดือนละร้อยกว่าบาทเท่านั้น คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แถมวันนี้ก็เป็นโปรโมชั่นวันสุดท้ายแล้ว

ผมเลยถามเขากลับไปว่า เคยเรียนออนไลน์กับเจ้านี้มั้ย เขาตอบว่าไม่เคย

ผมก็เลยแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า แต่ก่อนผมเห็นคอร์สถูกๆ ใน Udemy ผมก็ซื้อแหลกเลยเหมือนกัน ตอนนี้มีคอร์สอยู่ในพอร์ต 64 คอร์ส เรียนจบไปแค่ 1 คอร์สถ้วน

ผมเลยบอกว่าอย่าตาวาวเพียงเพราะของมันถูก

เพราะถ้าสุดท้ายเราไม่ได้ใช้ ของถูกก็กลายเป็นของแพงอยู่ดี


ตั้งแต่อายุเลย 30 มา ผมไม่ค่อยนิยมการกินบุฟเฟ่ต์เท่าไหร่

อาจจะเพราะกินได้น้อยลง อาจจะเพราะคุณภาพอาหารของบุฟเฟ่ต์มักจะสู้ร้านแบบ a la carte ไม่ได้

และถ้าได้ไปกิน ปัญหาที่มักจะเจอคือสั่งมาเกินพอดี แล้วก็ต้องฝืนกินให้หมด ไม่อย่างนั้นจะโดนปรับ สุดท้ายก็เลยอิ่มเกินไป ท้องพังไปหลายชั่วโมง นอนก็ไม่สบายตัว

แล้วผมก็คิดได้ว่าการกินอาหารแบบบุฟเฟต่นี่มันเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมที่เด่นชัดมาก

คนกินรู้สึกว่า กินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่าเดิม ดังนั้นต้องกินให้เยอะเพื่อจะ “กำไร” ให้มากที่สุด

แต่ยิ่งเรารู้สึกว่ายิ่งต้องเอาให้คุ้มมากเท่าไหร่ เรากลับทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

เพราะความต้องการของเรานั้นมีไม่จำกัด แต่ร่างกายมนุษย์เรานั้นโคตรจะจำกัด


แน่นอนว่าความเป็นบุฟเฟ่ต์นั้นก็มีประโยชน์ เพราะในมุมผู้บริโภค เราสามารถคุมต้นทุนได้ ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเน็ตฟลิกซ์ ค่าสมาชิก spotify ล้วนแต่ใช้แนวคิดแบบบุฟเฟ่ต์ คือจ่ายเท่ากันทุกเดือน แล้วคุณจะใช้เท่าไหร่ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะจ่ายแพงไปกว่านี้

แต่เมื่ออายุมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เราจะมองไปที่ตัวเงินน้อยลง และมองไปที่เวลามากขึ้น

ถ้าเราจ่ายเน็ตฟลิกซ์เดือนละ 499 บาท ได้ดูซักเดือนละ 30 ชั่วโมงก็อาจได้ความสุขกำลังดี

แต่หากเราไม่ยับยั้งชั่งใจ ใช้มายด์เซ็ตกินบุฟเฟ่ต์ที่จ่ายแล้วต้องเอาให้คุ้ม เราอาจจะเผลอไผลดูเน็ตฟลิกซ์เดือนละ 100 ชั่วโมง

70 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นมาอาจจะสร้างความบันเทิงมากขึ้นก็จริง แต่มันคือ diminishing returns เพราะความบันเทิงที่เพิ่มขึ้นมาเริ่มไม่คุ้มค่าเวลานอนที่เราเสียไปแล้ว

แต่ก่อนเราอยู่ในยุคสมัยแห่งความขาดแคลน กว่าจะได้ฟังเพลงสักเพลง กว่าจะได้ดูหนังสักเรื่องต้องออกแรงกันพอสมควร

แต่ยุคนี้มันตรงกันข้าม เรากำลังอยู่ในยุคที่ทางเลือกมีล้นเกิน หากเราไม่พิจารณาดีๆ เราจะสูญเสียพลังชีวิตให้กับ tech giants ที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวคือดึงให้เราอยู่บนแพลตฟอร์มของเขาให้นานที่สุด

เมื่อชีวิตเดินมาเกินครึ่งทาง เริ่มต้องไปงานศพบ่อยขึ้น เราจะเริ่มตระหนักว่าคนเราไม่ได้เหลือเวลามากมายขนาดนั้น

ชีวิตไม่ใช่การยัดให้อิ่มที่สุด แต่คือการหาจุดที่เราอิ่มกำลังดี

เราอาจหมดวัยที่จะกินบุฟเฟ่ต์แล้วครับ