ความประทับใจจาก TEDx Bangkok 2017

20170806_tedx

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงาน TEDx Bangkok 2017 ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศมาครับ

งานเริ่ม 9 โมงเช้า แต่กว่าผมจะไปถึงก็ 10 โมงกว่าแล้ว เพราะคืนวันศุกร์มีงานเลี้ยงศิษย์เก่า Thomson Reuters เลยอยู่กันดึกดื่นจนนอนตื่นสาย

ไปถึงงานจึงเป็นช่วงเบรคพอดี พูดจบไปแล้ว 3 คน แต่ก็ยังเหลืออีกหลายคนให้ฟัง และหลายอย่างให้ดู

นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจจากงานนี้ครับ

1. ความคุ้มค่า ตอนแรกเห็นบัตรราคา 1500 บาทผมก็รู้สึกว่ามันแอบแพงอยู่เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจว่าถ้าได้ฟังไอเดียบรรเจิดจนเอามาต่อยอดอะไรได้มันก็คงคุ้มแหละ

การจองบัตร TEDx จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ง่ายตรงที่คุณจะเป็นใครก็ลงชื่อได้ แต่ยากตรงที่ตอนสมัครนั้นต้องตอบคำถาม “อัตนัย” หลายข้อ แล้วทีมงานจะเป็นคัดเลือกอีกทีว่าคุณมีสิทธิ์ซื้อบัตรเพื่อมางานนี้รึเปล่า โชคดีที่เขาเลือกผมมาฟังด้วย

ตอนเดินเข้างานเพื่อไปลงทะเบียนและรับป้ายชื่อ ก็ต้องตกใจที่เขามี “ของชำร่วย” ให้เราเยอะขนาดนี้ ทั้งเสื้อยืด TEDX ถุงผ้า TEDx ขวดน้ำ TEDx สมุด TEDx ปากกา Krungsri (!!??) รวมมูลค่าสิ่งของเหล่านี้ (เอาแค่ราคาต้นทุน) ก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 300 บาทแล้ว

ในปกหลังด้านในของสมุด ยังมีการ์ด 3 ใบสำหรับอาหารว่าง 2 มื้อและอาหารกลางวันอีก 1 มื้อ ผมไปทันรับอาหารว่างช่วงเช้าพอดี ซึ่งมาในถุงกระดาษจากโรงแรม Marriott แต่สุดท้ายผมไม่ได้กิน เพราะว่าถ่ายรูปถุงเสร็จแล้วลืมหยิบถุงมา!

ส่วนเครื่องดื่มจาก Roots Coffee ก็รสชาติแปลกดี ดื่มเสร็จแล้วยังสามารถนำขวดเปล่า มาใส่ชั้นที่มีช่องนับร้อยช่อง ด้านหลังเขียนคำว่า TED Talks อีกด้วย ผมเลือกที่จะวางขวดเปล่าของผมไว้ตรงฐานของตัว T ตัวแรก เหตุผลเพราะอะไรลองไปทายดูเองนะครับ 🙂

ก็เลยคิดได้ว่า ค่าของชำร่วยบวกค่าอาหารก็น่าจะเกือบ 1000 บาทแล้ว (แม้จะได้สปอนเซอร์มาไม่น้อย) ดังนั้นบัตร 1500 ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจะได้มา

2. พลังงานบวกสูงมาก ผมมาโรงละครนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมสัมผัสกับมวลพลังงานบวกก้อนโตที่สุด

คนที่มาส่วนใหญ่จะเป็นคนในวัยยี่สิบกว่าๆ หรือสามสิบต้นๆ (ผมนี่ถือว่าเลยค่าเฉลี่ยไปแล้ว) แต่ก็มีคนผมสีดอกเลามาด้วยประปราย อาสาสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งจบใหม่ๆ ก็ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ยืนชูป้ายบอกทาง ปากก็คอยเปล่งคำสุดเสียงเพื่ออธิบายให้แขกเข้าใจว่าแต่ละจุดมีอะไรให้ทำบ้าง ยิ่งมารู้ทีหลังว่าเขาไม่ได้เงินซักบาทเดียว (ถึงเรียกว่าอาสาสมัครไง!) ก็ยิ่งประทับใจ

(ไม่ต้องได้ตังค์ก็ยังทำงานเต็มที่ได้ แล้วทำไมบางคนยังใช้เรื่องค่าตอบแทนต่ำมาเป็นข้อแก้ตัวในการทำงานเหยาะๆ แหยะๆ อยู่อีก?)

3. Speaker ที่ประทับใจที่สุดคือคนแรกที่ผมได้ฟัง นั่นคือคุณ “ฉิ่ง” วินัย ฉัยรักษ์พงศ์ นักออกแบบสหสาขา (ผมก็เพิ่งเคยได้ยินอาชีพนี้เหมือนกันครับ) ที่มาเล่าให้พวกเราฟังว่ากระบวนการของความคิดสร้างสรรค์นั้นเหมือนกระบวนการที่พ่อแม่ใช้เพื่อให้กำเนิดเราขึ้นมา

คิดภาพเสปิร์มนับร้อยล้านตัววิ่งไปหาไข่ ตัวที่ว่ายเร็วที่สุด แข็งแรงที่สุดก็จะได้ผสมกับไข่และกลายเป็นตัวเราขึ้นมา

คุณฉิ่งบอกว่าความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน เราต้องสร้างไอเดียเยอะๆ แถมไอเดียส่วนใหญ่ควรเป็นไอเดียไร้สาระด้วย

แต่ไอเดียเยออย่างเดียวไม่พอ ต้องมี “ไข่” จากแม่ด้วย ซึ่ง “ไข่” ในที่นี้ก็คือ “ปัญหา” ที่เราต้องการจะแก้ หากไอเดียไร้สาระอันไหนมันดันบังเอิญไป “เจาะ” ปัญหานั้นได้ ลูกของมันก็จะออกมาเป็น “creativity” นั่นเอง

4. เพื่อนใหม่ ช่วงพักเที่ยงเขามีพื้นที่ให้เราได้ไปนั่งกินข้าวกับคนแปลกหน้า แม้กระทั่งตอนนั่งในโรงละครเขาก็มีกิจกรรมให้เรารู้จักคนที่อยู่ด้านซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง ผมเลยได้รู้จักกับน้องฟรีแลนซ์ที่ทำธุรกิจ 3 ตัวพร้อมกัน ได้รู้จักกับพี่ที่ดูแลห้องสมุด TCDC ส่วนพี่อีกคนก็เคยทำงานอยู่ตึกอื้อจื่อเหลียงเหมือนผมร่วม 10 ปี (แต่ไม่เคยเจอหน้ากันเลย) น้องอีกคนผันตัวจากสถาปนิกมาเป็น AE และกำลังจะไปเที่ยวรัสเซีย ส่วนอีกคนเป็นเลขาของพี่โน๊ส อุดม!

5. คณะเดอะ ชราภาพ เค้าว่ากันวันเรามักจะจำ “เรื่องแรก” กับ “เรื่องสุดท้าย” ได้ดีเสมอ ผมประทับใจกระบวนการความคิดสร้างสรรค์จากคุณฉิ่งไปแล้ว และผมก็ได้ประทับใจกับการแสดงของคณะเดอะ ชราภาพ ซึ่งเป็นการแสดงปิดท้าย TEDx Bangkok 2017 ด้วย

วงเดอะชราภาพมีแต่คนอายุยี่สิบกว่าๆ แต่เพลงทุกเพลงที่น้องเขาทำขึ้นมาจะต้องมีคนชรามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ (ไม่ว่าจะร้อง เล่นดนตรี หรือเต้นระบำ) ด้วยความเชื่อที่ว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนต้องแก่อยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำความรู้จักกับความชราภาพให้ดี ดูว่าเขาคิดยังไง รู้สึกยังไง สนใจเรื่องอะไร ทำอะไรได้บ้าง ช่องว่างระหว่าง “เรา” กับ “คนแก่” จะได้น้อยลง

ภาพที่ผมประทับใจที่สุดคือตอนที่พวกเขาเล่นเพลงสุดท้าย ท่อนฮุคมีเนื้อหาประมาณว่า “เอลวิสยังอยู่” ซึ่งต้องการจะสื่อว่า ต่อให้ร่างกายภายนอกจะโรยราไปแค่ไหน แต่ข้างในจิตใจเขาก็ยังมีความเฮี้ยวมีความเฟี้ยวเหมือนเอลวิสวัยหนุ่มเหมือนเดิม คนที่ออกมาหน้าเวทีเป็นคุณอาวัยห้าสิบกว่าๆ แต่งตัวเป็นเอลวิสออกมาดิ้นได้มันสะแด่วแห้ว คนดูตบมือกันทั้งฮอล แต่จุดไคลแมกซ์สำหรับผมคือตอนที่คุณลุงวัย 60-70 ออกมาเต้นด้านข้างๆ เอลวิส กันสี่ห้าคน คนดูสนุกมาก แต่คุณลุงสนุกมากกว่า

จังหวะนั้นผมนี่น้ำตาคลอเบ้าเลยนะครับ เพราะถ้าผมเป็นคุณลุงที่ได้ไปยืนโยกย้ายอยู่ตรงนั้น ผมคงจะซาบซึ้งใจมากที่เด็กๆ วงเดอะชราภาพได้ทำให้ผมได้ขึ้นมาอยู่บนเวที TEDx ได้รับเสียงตบมือและเสียงเชียร์จากทุกคน (ยิ่งถ้าเทียบกับชีวิตเปลี่ยวเหงาที่รออยู่ที่บ้านด้วย) มันคงเป็นประสบการณ์ที่ผมจะจดจำไปตลอดเวลาที่เหลืออยู่ ขอบคุณน้องๆ จริงๆ ที่ได้มอบความรู้สึกดีๆ ให้กับคนที่มักจะถูกหลงลืมคนนี้

พอหอมปากหอมคอกับ TEDx Bangkok 2017 นะครับ หวังว่าปีหน้าจะได้ไปร่วมงานนี้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะในฐานะคนฟังหรือคนพูดก็ตาม 😉