การตัดสินใจ 3 ระดับ: หมวก ทรงผม และรอยสัก

James Clear บอกไว้ว่า คนเรามีการตัดสินใจได้ 3 ระดับ

ระดับแรกคือการตัดสินใจระดับหมวก

ถ้าลองหมวกใบนี้แล้วไม่ชอบ ก็หยิบหมวกใบอื่นขึ้นมาใส่ได้ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ดังนั้นจงตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดนานเกินไป

ระดับที่สองคือการตัดสินใจระดับทรงผม

ถ้าเราตัดผมทรงนี้ไปแล้วเราไม่ชอบ ก็จะลำบากหน่อย เพราะอาจจะเปลี่ยนทรงผมได้ไม่มากนัก หรือกว่าจะได้ตัดทรงใหม่ก็ต้องรอเวลาให้ผมยาวกว่านี้

ระดับที่สามคือการตัดสินใจระดับรอยสัก

การตัดสินใจแบบนี้แทบจะย้อนกลับไปแก้อะไรไม่ได้ สักแล้วสักเลย หรือต่อให้พยายามลบก็จะเหลือร่องรอยอยู่ดี ดังนั้นต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน

เมื่อเจอเรื่องให้ต้องตัดสินใจ ลองจำแนกแยกแยะให้ดีว่ามันคือการตัดสินใจระดับ หมวก ทรงผม หรือรอยสักนะครับ


ขอบคุณที่มาจาก 3-2-1: On hats, haircuts, and tattoos

กับดักของทางเลือก

20190912

คือเรามักจะชอบนึกว่ามีแค่สองทาง

ในโบรชัวร์ชี้ชวนให้เรียน MBA ของมหาลัยเมืองนอกแห่งหนึ่ง มีภาพของอาคารเรียนที่ดูขลัง สนามหญ้าเขียวชอุ่ม หนุ่มสาวหลายเชื้อชาติล้อมวงคุยกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

ในโบรชัวร์บอกว่า การเรียน MBA คือการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะแม้จะเสียค่าเล่าเรียน $100,000 แต่ในระยะเวลา 30 ปี คนที่เรียน MBA จะมีรายได้สะสมมากกว่าคนที่ไม่ได้เรียน MBA ถึง $400,000

พูดง่ายๆ ก็คือการเรียน MBA ทำให้เรามีกำไรถึง $400,000-$100,000 = $300,000 เลยทีเดียว

แต่คำชี้ชวนเช่นนี้มีหลุมพรางด้วยกันถึง 4 ประการ

หนึ่ง คนที่เรียน MBA มักเป็นคนทะเยอะทะยานและทำงานเก่งอยู่แล้ว ดังนั้นถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เรียน MBA ก็น่าจะมีรายได้มากกว่าคนทำงานปกติอยู่ดี

สอง เวลาสองปีที่เอาไปเรียน MBA นั้นเราต้องหยุดทำงาน และจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย สมมติว่าสองปีนี้ถ้าเรายังทำงานอยู่เราจะมีรายได้อีก $100,000 นี่คือ “ค่าเสียโอกาส” ที่ต้องถูกคิดรวมอยู่ใน “ต้นทุน” การเรียน MBA ด้วย

สาม 30 ปีเป็นเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะมาคาดการณ์ได้ว่ารายได้ของเราจะเป็นเท่าไหร่ โลกอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้เลย

สี่ ทางเลือกของเราไม่ได้มีแค่เรียน MBA หรือ ไม่เรียน MBA แต่เรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย เช่นอาจเข้าคอร์สหรือเรียนโทสาขาอื่นๆ ที่ค่าใช้จ่ายไม่ได้เว่อร์วังเท่า MBA แต่ยังเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้เราได้

ข้อสี่คือข้อที่เราควรใส่ใจให้มาก เพราะเรามักหลงลืมกัน

เวลาเราเจอโจทย์ เรามักจะมองเห็นแค่สองทางเลือก

เช่นมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ในตัวจังหวัด นักการเมืองท้องถิ่นเลยบอกว่าเราควรสร้างสนามกีฬา เพราะยังไงก็ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไว้เฉยๆ

แต่ประเด็นที่เราควรคุยกัน ไม่ใช่การเลือกว่าจะปล่อยที่ให้รกร้างหรือจะสร้างสนามกีฬา แต่เราต้องคุยว่า มันมีอะไรอื่นๆ ที่ดีกว่าการสร้างสนามกีฬาด้วยรึเปล่า

หรืออีกตัวอย่างหนี่ง หากเราป่วยเป็นโรคร้ายที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 5 ปี แล้วหมอเสนอว่า หากผ่าตัดจะสามารถรักษาโรคนี้ได้หายขาด แต่การผ่าตัดมีโอกาสสำเร็จเพียง 50%

เราจะเลือกอะไร ระหว่างอยู่ไปอีก 5 ปีแล้วต้องตายแน่ๆ กับผ่าตัดพรุ่งนี้แล้วอาจจะรอดหรืออาจจะตายก็ได้

ซึ่งเป็นคำถามที่ผิด

คำถามที่ถูกคือมีทางเลือกอะไรอีกบ้าง เช่นมันอาจจะมีการรักษาอย่างอื่นที่ไม่ได้ช่วยให้หายขาด แต่จะทำให้เราอยู่ไปได้อีก 10 ปี ซึ่งถึงตอนนั้นก็อาจจะมีการรักษาวิธีอื่นที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าแล้วก็ได้

กับดักของทางเลือก คือเรามักจะติดอยู่กับทางเลือกที่เห็นชัดๆ อยู่ตรงหน้า จนมองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ

นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า Alternative Blindness

ทางเลือกจึงมีมากกว่าสองทางเสมอ

จำไว้ให้มั่นเลยนะครับ

—–

สรุปเนื้อหาจากบทหนี่งในหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด โดย Rolf Debelli สำนักพิมพ์ WeLearn