เหตุผลที่เราไม่ควร Work From Home ทุกวัน

20200615

เมื่อประมาณเกือบสองปีที่แล้ว ทาง Wongnai ได้เชิญ “พี่ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้พวกเราฟังในกิจกรรม Wongnai WeShare

หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ silent knowledge

ความรู้ที่เราได้จากโรงเรียนหรือจากตำราเรียกว่า articulated knowledge

articulate แปลว่า พูดออกมาอย่างชัดเจน

articulated knowledge จึงเป็นความรู้ที่ถูกถ่ายทอดด้วยภาษา มีการบันทึกไว้เป็นหลักสูตร

articulated knowledge เป็นพื้นฐานของการศึกษาทั่วโลก และนี่คือเหตุผลที่วงการการศึกษากำลังแย่ มหาวิทยาลัยกำลังลำบาก เพราะ articulated knowledge หาได้ในอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว

ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่าสิ่งที่เราเรียนที่มหาลัย เราได้เอามาใช้กี่เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เราทำวันนี้ เราเรียนรู้ได้โดยที่ไม่ต้องมีใครสอน นี่คือเหตุผลที่การศึกษาในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

แต่ silent knowledge คือการเรียนรู้ที่ไม่สามารถจะสอนได้ ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาได้ เหมือนการเรียนกับช่างไม้ ที่ต้องไปฝากตัวอยู่กับครูนานๆ ถึงจะทำได้

เพราะเวลาเราเรียนรู้จากคนเก่งๆ หลายครั้งเขาไม่ได้เอ่ยปากสอนด้วยซ้ำ แต่เราเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การคุมอารมณ์ ความตั้งใจ ความเข้มข้นในการทำงาน

ช่วงที่เราปิดโควิดกันไปสองเดือน ดูเหมือนว่าหลายคนกำลังติดใจการ work from home จนคิดว่าการมาเข้าออฟฟิศนั้นไม่จำเป็น

แต่การทำงานที่บ้านอย่างเดียวไม่ทำให้เกิด silent knowledge ครับ หรือถึงจะเกิดก็เกิดได้น้อยกว่าการทำงานที่ออฟฟิศมาก

แน่นอนว่าเรื่องโควิดเราก็ห้ามการ์ดตก เรายังต้องรักษาระยะห่างเอาไว้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรทำงานจากที่บ้านห้าวันต่อสัปดาห์

เพราะเราไม่ได้มาทำงานเพื่อจะหาเลี้ยงชีพอย่างเดียว แต่เรากำลังหาอย่างอื่นด้วย

และบางอย่างจะหาเจอได้ก็ต่อเมื่อเราได้พบปะพูดคุยกับมนุษย์ตัวเป็นๆ เท่านั้นครับ

—–

ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ

บางทีเราก็ไม่ควรเป็นตัวของตัวเอง

20190918

“Sometimes you have to be not yourself.”
-Anonymous

การเป็นตัวของตัวเองนั้นฟังดูสมเหตุสมผล และเป็นคำแนะนำที่เราได้ยินจากปากคนที่หวังดีกับเรามาเนิ่นนาน

แต่หลุมพรางของการเป็นตัวของตัวเอง คือมันอาจเป็นข้ออ้างให้เราไม่ได้ปรับปรุงตัวหรือไม่ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างสมบูรณ์

ถ้าเราเป็นหัวหน้า แต่ไม่ค่อยสื่อสารกับลูกน้องโดยอ้างว่าเราเป็นคนเงียบๆ ขี้อาย เราก็เป็นหัวหน้าที่ใช้ไม่ได้

หรือถ้าเราเป็นคนตรงไปตรงมา คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น แล้วคำพูดของเราทำให้คนใกล้ตัวเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ย่อมทำให้ความสัมพันธ์คลอนแคลน

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนได้ ถ้าเรามีตรงไหนที่ไม่ดีแล้วอยากเห็นมันดีขึ้น เราก็ต้องพยายามไม่เป็นตัวของตัวเอง – อย่างน้อยก็สักช่วงนึง

เช่นถ้าเราเป็นคนพูดจามะนาวไม่มีน้ำ บางทีเราก็ต้องหัดพูดให้นุ่มนวลขึ้นบ้าง เมื่อได้ผลลัพธ์ที่ดี มันก็จะเป็น reward ที่เราจะจดจำและอยากทำซ้ำ เมื่อทำบ่อยเข้า เราก็จะกลายเป็นคนที่พูดจาดีไปโดยปริยาย อย่างน้อยก็ในบริบทที่จำเป็นต้องพูดจาดี

เป็นตัวของตัวเองนั้นทำได้ ถ้ามันไม่ได้ก่อความเดือดร้อน

แต่ถ้าเป็นตัวของตัวเองแล้วทำร้าย ก็อย่ายึดติดตัวตนให้มากนักเลย

ถ้าอยากเป็นคนมั่นใจกว่านี้

20190605_confident

ก็จงเก่งขึ้นกว่านี้

เพราะถ้าเราเก่งขึ้น เราจะมั่นใจขึ้นเอง

และวิธีที่ลัดสั้นที่สุดที่เราจะเก่งขึ้นได้ ก็คือการฝึกซ้อมให้หนัก

หลายคนกลัวการขึ้นไปพูดบนเวที ขาสั่น มือเย็น

ผมไม่มีเคล็ดลับที่จะช่วยให้ขาหยุดสั่นหรือมือไม่เย็นได้ รู้แค่ว่าถ้าเราซ้อมพูดซ้ำๆ เป็นสิบๆ รอบ มันจะมีความมั่นใจอยู่ลึกๆ ถึงแม้จะตื่นเต้น ถึงแม้จะมีกระท่อนกระแท่น แต่อย่างน้อยเราจะพูดได้จนจบแน่ๆ เพราะซ้อมพูดจนจบมาไม่รู้กี่รอบแล้ว

ซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการขึ้นพูดโดยไม่ได้ซ้อม เพราะเรามักจะทำสไลด์จนถึงนาทีสุดท้ายโดยไม่เผื่อเวลาในการทบทวนและซ้อมใหญ่ไว้เลย

เรื่องความมั่นใจนี่สะท้อนอยู่ในทุกมิติของชีวิตนะครับ

ผู้ชายที่เดินเข้าไปจีบหญิงด้วยความมั่นใจ เพราะว่าเขาผ่านการจีบและโดนปฏิเสธมาเยอะ คนที่โซโล่กีตาร์ด้วยความมั่นใจ ก็เพราะว่าเขาฝึกฝนมาเยอะ คนที่ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจก็เพราะว่าเขาเตรียมตัวมาดี

ภายนอกเราอาจจะเห็นว่าเป็นพรสวรรค์หรือเปล่า ไม่เห็นเขาได้เตรียมตัวเลย แต่ที่จริงแล้วที่เห็นว่าเขาทำได้ง่ายๆ เพราะเขาฝึกฝนมาทั้งชีวิตแล้วต่างหาก

ถ้าอยากเป็นคนมั่นใจกว่านี้ ก็จงเก่งขึ้นกว่านี้

และทางลัดสั้นที่สุดที่จะเก่งขึ้นได้ คือฝึกซ้อมให้เยอะๆ ครับ

กำแพงที่ใหญ่ที่สุด

20190604_biggestwall

คือสิ่งที่เรารู้

เวลาใครมาถามผมว่า คนทำงานสมัยใหม่ควรจะเป็นคนยังไง สองคำที่ผมมักจะพูดเสมอคือ learn กับ unlearn

เรื่อง learn นั้นรู้กันอยู่แก่ใจ ความรู้มากมายและเทคโนโลยีถูกพัฒนาอยู่ทุกวัน เราจึงต้องพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

แต่การ unlearn หรือการ “ทิ้งสิ่งที่เรารู้” นั้นยากกว่ากันมาก เพราะเรารู้และเชื่อมันมานาน แถมความรู้นี้เคยสร้างประโยชน์ในอดีตด้วย เราก็เลยมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นถือมั่นมันยิ่งกว่าอะไรดี

Learn คือการถามว่าเราจะทำอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง

Unlearn คือการถามว่าเราควรหยุดทำอะไรได้แล้ว

Learn คือการเพิ่มอาวุธ

Unlearn คือการปลดเปลื้องสัมภาระที่ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป

ถ้าเราไม่ยอม unlearn เราก็เหมือนคนที่ยังใช้ Windows 98 ในการทำงานและในการใช้ชีวิต

อาจจะคุ้นเคยกว่าก็จริง แต่ลงโปรแกรมอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เลยนะครับ

อย่าฝากความหวังไว้กับตัวเราในอนาคต

20181231_futureself

คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งก็เพราะว่าเชื่อมั่นตัวเองในอนาคตมากเกินไป

“ตอนนี้ขอดูทีวีก่อน คืนนี้ค่อยทำงานแล้วกัน”

“ตอนนี้ขอกินให้สะใจก่อน ปีใหม่ค่อยเริ่มลดน้ำหนัก”

“ตอนนี้ทนกับปัญหานี้ไปก่อน ไว้มีจังหวะค่อยแก้ปัญหาแล้วกัน”

เหล่านี้คือการฝากความหวังไว้กับตัวเองในอนาคตทั้งสิ้น

เรามักจะประเมินอนาคตไว้ดีกว่าความเป็นจริงเสมอ ไม่รู้ว่าเพราะเราเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงๆ หรือเราแค่ปลอบใจตัวเอง

เพราะตัวเราในวันพรุ่งนี้คงไม่ได้ขยัน/เก่ง/มีเวลา/มีความกล้า มากไปกว่าวันนี้ซักเท่าไหร่

จะฝากความหวังไว้กับตัวเองในอนาคตทำไม

ตัวเราในอนาคตต่างหากที่ฝากความหวังไว้กับตัวเราในปัจจุบัน

หยุดฝันว่าปีใหม่หรือปีไหนๆ จะดีขึ้น ถ้าวันนี้-ปีนี้ยังทำตัวเหมือนเดิมครับ

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือเทคนิคเปลี่ยนคุณให้เป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่งและลงมือทำทันที โดย ซะซะกิ โชโกะ

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้เปิดรับสมัครแล้วดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt