ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำแรก จาก Nassim Nicholas Taleb ในหนังสือ Skin in the Game ปี 2018

“You will never fully convince someone that he is wrong; only reality can.”

เราไม่อาจโน้มน้าวใครได้หรอกว่าเขาคิดผิด ต้องรอให้ความจริงพิสูจน์ตัวมันเอง


อีกหนึ่งถ้อยคำ มาจากคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของ openbooks ที่เคยมาพูดให้ Wongnai WeShare เมื่อสิงหาคม 2019

[ถาม]: เวลาอ่านหนังสืออย่างปัญญาอนาคต อ่านบทสัมภาษณ์คุณภิญโญ หรือดูวีดีโอที่คุณภิญโญให้สัมภาษณ์ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ก็คือคุณภิญโญดูจะโปรคนรุ่นใหม่ (pro – เข้าข้าง) คำถามก็คือทำไมต้องโปรคนรุ่นใหม่ด้วยครับ แล้วคนรุ่นเก่าอยู่ที่ไหนในสมการของอนาคต

[ตอบ]: ที่ต้องโปรคนรุ่นใหม่มากเพราะคนรุ่นเก่าโปรตัวเองกันเยอะไปแล้ว หลงใหลในความรุ่งเรืองในอดีตของตัวเองมากจนเกินไป คนรุ่นเก่ามีอำนาจอยู่ในมือเพราะว่าอยู่ที่นี่มานาน เมื่ออยู่มานานก็มีอำนาจเยอะ แล้วก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจนั้นไป

อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตลูกหลาน อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตอนาคตธุรกิจ อำนาจในการตัดสินใจบงการอนาคตการเมือง อำนาจในการกำหนดนโยบายอนาคตของประเทศ

ซึ่งถ้าท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้น รวมทั้งรุ่นผมหรือตัวผมด้วยทำได้ดี เราคงอยู่ในประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามีความสุขสะดวกสบายอิ่มหนำสำราญใกล้ๆ ยุคพระศรีอาริย์เข้าไปเต็มที จากเพชรบุรีตัดใหม่บ้านผมมาถึงสุขุมวิทคงไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอย่างนี้ เมื่อกี้ต้องลงจากรถเพื่อนั่งมอเตอร์ไซค์มา ระยะทางมันแค่ 2 กิโล นี่คือผลงานของคนรุ่นเก่าที่ทำเอาไว้หรือไม่ได้ทำเอาไว้

ฉะนั้นคนรุ่นผมถือเป็นคนรุ่นเก่า มีประโยชน์อะไรที่จะมาชมเชยตัวเอง ถ้าเราทำดีไว้ในอดีตที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องส่งมอบสังคมที่ทำให้ลูกหลานต้องลำบากแบบนี้ ถ้าเราใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงานหรือ 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นที่กำลังจะเกษียณ ทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพและทำในวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง เราจะส่งมอบสังคมที่น่าอยู่ ความขัดแย้งต่ำ แล้วทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ให้กับลูกหลาน ซึ่งก็คือทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วลูกหลานจะไม่มีคำถามย้อนกลับมาที่เรา

ผมว่าคนรุ่นผมต้องทำความผิดพลาดอะไรบางอย่าง หรือไม่ได้ทำบางอย่างให้ดี มันจึงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลที่เราต้องละวางอดีต ละวางคนรุ่นเก่าไว้ เพราะว่ามีอำนาจ แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้คนรุ่นใหม่อยู่อาศัยและเดินทางต่อไปสู่อนาคตได้

คำถามคือ แล้วถ้าผมอยู่ตรงกลาง ผมควรที่จะไปยึดอดีต แล้วโปรคนมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว มีทรัพยากรล้นฟ้าอยู่แล้ว หรือผมควรจะหันหน้ากลับมาสนทนากับคนรุ่นใหม่แล้วบอกว่านี่คือปัญหาที่คนรุ่นผมสร้างมา หรือว่าไม่ได้สร้างมาแต่เราล้มเหลว เราทำไม่สำเร็จ

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมขอฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ แล้วทำสิ่งที่มันดีขึ้นให้กับประเทศนี้ ไม่งั้นผมจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้อย่างไร

คนรุ่นผมเหลือเวลาไม่มากในการมีชีวิตอยู่ ความหวังก็คือหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น กำลังเราเหลือน้อย ปัญญาเราเหลือน้อย เราจำเป็นต้องฝากชีวิตเราไว้อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ทุกท่าน

เราต้องให้ปัญญา ให้กำลัง ให้ทรัพยากร และให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างสังคมที่ดี เราจำเป็นต้องอยู่อาศัยในสังคมนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ทำไม่สำเร็จ เราจะไม่เหลือใครที่มีกำลังพอที่จะแบกรับอนาคตของประเทศชาตินี้ไว้ได้เลย…ซึ่งนี่จะเป็นเรื่องที่น่าขมขื่นมาก…พูดแล้วน้ำตาจะไหลนึกออกไหมครับ…

…ไหลมาเอง ไม่ได้ตั้งใจ…ขออภัย…

นี่คืออารมณ์ของสังคมตอนนี้ ผมว่ามันเป็นอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย ที่ผมพูดอย่างนี้น้ำตามันไหลออกมาเอง ไม่ได้ตั้งใจจะดราม่า แต่คำถามมันโดนใจ

ถ้าเราไม่ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ ใครจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผมดีใจมากที่มีโอกาสได้มาพูดกับทุกท่านในวันนี้ ขอบพระคุณที่ให้เกียรติ อยากมาพูดกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า อยากมาพูดกับ startup ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่าพูดกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรอีกแล้ว เพราะทุกท่านคือความหวังของคนรุ่นผม

ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปเถอะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก คนรุ่นผมฝ่าฟันกันมาเยอะ ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ สำเร็จบ้างก็มี ผลงานไม่ได้มากมายนัก แต่ประเทศนี้จะเดินทางต่อไปสู่อนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความยากลำบากขนาดนี้ได้ ไม่มีใครที่จะฟันฝ่าไปได้นอกจากคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะฟันฝ่าไปให้ได้

คนรุ่นใหม่คือบริษัทเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา คือวงในและอื่นๆ อีก 500 บริษัท นี่ผมใช้คำเปรียบเปรย ห้าร้อยไม่ได้หมายถึงตัวเลข 500 นะ ห้าร้อยมาจากทหารพระเจ้าตาก ทหารเสือที่ฟันฝ่าและสร้างธนบุรีให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

วันนี้เราต้องการ 500 ธุรกิจต้องการ 500 ชีวิตต้องการ 500 ผู้มีวิสัยทัศน์เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้มันเดินต่อไปได้ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างไร เราจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้กับสังคมไทย คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่าประเทศมันต้องสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือให้ทรัพยากร ให้เวลา ให้ปัญญา ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศนี้ในทุกๆ ภาคส่วน เศรษฐกิจ สังคม การเงิน วัฒนธรรม ศิลปะ ต้องให้เขาสร้าง ต้องเปิดโอกาส อย่ากดสังคมนี้ไว้อีกต่อไป มันเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

อย่าใช้อำนาจเป็นตัวนำสังคม ให้ใช้ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้มีโอกาสสร้างอนาคตให้กับประเทศในวันที่มันพอจะสร้างได้ เพราะในวันที่มันสร้างไม่ได้ เราเหลือกลยุทธ์เดียวคือเราต้องหนี อย่าให้คนรุ่นใหม่ อย่าให้เยาวชนต้องหนีจากประเทศนี้ไป

ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งความหวัง ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งอนาคต ไม่ใช่เป็นดินแดนที่ถูกอดีตกดทับ แล้วเราต้องอยู่กับความทรงจำกับความรุ่งเรืองในอดีตที่จางหายไปแล้วแต่คุณยังไม่ตระหนัก

นี่คือทำไมผมต้องคุยกับคนรุ่นใหม่ ผมจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในอนาคตที่คนรุ่นใหม่สร้าง ฉะนั้นไม่มีทางที่ผมจะปฏิเสธกำลัง ความคิด ความฝันของคนรุ่นใหม่ ผมมีหน้าที่ต้องให้เวลา พลังงาน ปัญญากับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อให้พวกคุณทุกท่านทำหน้าที่อย่างดีที่สุด แล้วผมจำเป็นต้องฝากชีวิตน้อยๆ ของผมอยู่ในสังคมที่สร้างโดยคนรุ่นใหม่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจนที่สุด แล้วจำเป็นต้องเปิดโอกาสทางสังคม ต้องทำให้สังคมตระหนักรู้ได้ว่า เราคนรุ่นเก่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกมิติได้แล้ว หยุดการครอบงำสังคมด้วยอคติและความทรงจำเดิมๆ และความสำเร็จในอดีตของเราเสียที

(เสียงปรบมือยาวนาน)

[ถาม]: คราวนี้จะทำยังไงดี ในเมื่อคนรุ่นเก่าเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องหลีกทาง ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กๆ 500 คน

[ตอบ]: เรื่องแบบนี้ตอบง่ายที่สุดและสั้นที่สุด ท่านท่องไว้หนึ่งคำ 3 ครั้ง disruption, disruption, disruption

สวดมนต์ไว้ disruption, disruption, disruption

คุณไม่มีทางไปร้องขออำนาจหรือความเปลี่ยนแปลงจากคนที่หวงอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลง คุณขอสิ่งที่เขาไม่อยากให้มากที่สุดได้อย่างไร สิ่งที่คนรุ่นเก่าหวงมากที่สุดก็คืออำนาจ สิ่งที่คนรุ่นเก่ากลัวมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลง คืออยากจะรักษาอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการสูญเสียอำนาจในทุกๆ มิติ

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือการ disruption สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ โดยไม่ต้องร้องขออำนาจ เมื่อคุณ disruption ไปทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด 500 จุดหรือมากกว่าไปเรื่อยๆ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง โดยที่คนรุ่นเก่าก็ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วค่อยๆ ถอยออกจากบทบาทที่ตัวเองยืนอยู่

คลื่นลูกใหม่ย่อมเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่า คลื่นลูกใหม่ไม่เคยขอร้องให้คลื่นลูกเก่าหลีกทางให้ แต่คลื่นลูกใหม่สร้างตัวเองเข้าสู่ชายหาดเรื่อยๆ เราเป็นต้นไม้เล็กๆ ต้องหาทางที่จะหลบร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเข้าไปหาแสงแล้วเติบโตขึ้นมา แม้ว่ามันจะบิดงอไปตามทิศทางของแสง แต่ในเมื่อมันเติบใหญ่ขึ้นมาได้ แม้ว่าจะบิดงอ ยากที่จะเหยียดยืนหยัดตรงเป็นต้นไม้เหมือนรุ่นเก่า แต่มันก็จะเติบโตขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นป่าแห่งใหม่

อย่าร้องขอ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเป็นด้วยตัวของคุณเอง แล้วใช้พลังของการ disruption สร้างมันขึ้นมาทุกจุดในสังคม แล้วสังคมจะเปลี่ยน อยากทำงานธุรกิจสร้างธุรกิจ อยากทำงานวัฒนธรรมสร้างวัฒนธรรมใหม่ อยากทำงานสังคมสร้างสังคม อยากทำงานการเมืองสร้างการเมือง อยากเขียนหนังสือเขียนหนังสือ อยากทำอะไรทำ ใช้พลังแห่งความเชื่อมั่น disrupt มันไปทีละส่วน แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงมวลรวมของปัจเจกชนขึ้นมาได้

ยากที่เราจะหา platform และฉันทามติร่วมกันในเวลานี้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมด รอไปถึงชาติหนึ่งก็อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ง่ายกว่าที่ปัจเจกชนจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนแปลงทีละจุด เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วจึงเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เปลี่ยนแปลงธุรกิจแล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วค่อยไปเปลี่ยนแปลงโลก อย่าคิดเปลี่ยนแปลงโลกแล้วย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ฉะนั้นง่ายสุดคือลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น อย่าสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อตนเอง อย่าสูญเสียศรัทธาที่มีต่อตนเอง อย่าหมดหวังกับตนเอง อย่าหมดหวังกับประเทศ ถ้ามีความหวังกับตัวเอง มีความหวังกับสังคม เราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับประเทศนี้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับสังคม เพราะเราจะไม่มีประเทศและไม่มีสังคมให้เราเดินต่อไปได้

คนรุ่นผมอาจจะต้องขออภัยที่ไม่สามารถส่งมอบสังคมในอุดมคติให้กับคนรุ่นใหม่ได้ แต่ผมหวังว่าคนรุ่นคุณจะสามารถแผ้วถางทางสร้างธุรกิจ สร้างสังคมวัฒนธรรมใหม่ที่ดีกว่าเพื่อสร้างสังคมให้คนรุ่นลูกหลานของคุณใน 20 ปีข้างหน้า แล้วคุณคือคนที่จะมานั่งคุยอยู่ตรงนี้ในอนาคต แล้วบอกกับคนรุ่นหลังว่า เราได้พยายามเต็มที่แล้ว”

17 Insights จากหนังสือ China Endgame

1.ความขัดแย้งของสหรัฐฯ จีน และรัสเซียมีความละม้ายคล้ายคลึงมากกับยุคสามก๊ก ก๊กของโจโฉ (สหรัฐฯ) แข็งแกร่งสุด รองลงมาคือก๊กของซุนกวน (จีน) ซึ่งจับมือกับก๊กของเล่าปี่ (รัสเซีย) เพื่อสู้กับโจโฉ

2.สหรัฐฯ นั้นแข็งแกร่งในทุกมิติ จีนแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจแต่ไม่ได้รบกับใครมานานแล้ว ส่วนรัสเซียอ่อนแอสุดแต่มีแสนยานุภาพสูงโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอาวุธนิวเคลียร์ จริงๆ แล้วจีนกับรัสเซียก็ไม่ได้รักกันเพราะมีปัญหาเรื่องชายแดนมานมนาน แต่ตอนนี้จะแตกกันไม่ได้เพราะต่างมีศัตรูร่วมกันคือสหรัฐฯ

3.เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขนาดเศรษฐกิจของจีนคิดเป็น 2% ของเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้ผงาดขึ้นมาเป็น 18% และน่าจะขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐฯที่ขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 20% ของเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้ ส่วนเศรษฐกิจรัสเซียปัจจุบันคิดเป็นแค่ 2% เท่านั้น หากจีนจับมือกับรัสเซียก็ได้แค่ 20% แต่ยังไงก็สู้สหรัฐฯ+ยุโรป+ญี่ปุ่น+อินเดีย ที่มีขนาดเศรษกิจรวมกันมากกว่า 50% ไม่ได้

4.รัสเซียต้องการล้มระเบียบโลกเสรีนิยมของสหรัฐฯ และล้างแค้นที่เคยโดนสหรัฐฯทุบจนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ส่วนจีนไม่ได้ต้องการโค่นสหรัฐฯ เพราะจีนเองก็ได้ประโยชน์จากระเบียบโลกปัจจุบันเช่นกัน สิ่งที่จีนต้องการคือขึ้นมาเป็นคู่บัลลังก์จักรพรรดิร่วมกับสหรัฐฯ และอยากให้โลกตะวันตกยอมรับว่าวิถีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกับระเบียบโลกแบบเสรีนิยม

5.รัสเซียบุกยูเครนั้นมีผลเป็นบวกต่อสหรัฐฯ เพราะยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากสหรัฐฯมากขึ้น รวมถึงต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่งให้ค่าเงิน USD แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

6.ปี 1949 เจียงไคเช็กแห่งพรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงครามกลางเมืองที่ปะทะกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตง จึงต้องหลบหนีไปตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน และตั้งชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ที่เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองตั้งชื่อประเทศของตัวเองว่า “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (People’s Republic of China) เจตนารมณ์ของพรรคก๊กมินตั๋งคือเฝ้ารอวันที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนล่มสลายเพื่อจะกลับมาทวงคืนแผ่นดินเกิดและให้จีนแผ่นดินใหญ่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย

7.ในมุมนานาชาติ ไต้หวันยังไม่ได้รับการรองรับว่าเป็นประเทศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น คนอายุ 40 ปีขึ้นไปในไต้หวันยังมีความทรงจำที่ผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์แบบนั้น มองว่าตัวเองคือคนไต้หวัน พรรครัฐบาลปัจจุบันของไต้หวันก็มีแนวคิดอยากประกาศให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน แต่ยังทำไม่ได้เพราะจีนแผ่นดินใหญ่มีกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าหากไต้หวันประกาศเอกราชเมื่อไหร่ก็จะส่งกองทัพบุกไต้หวันทันที เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯเดินทางไปเยือนไต้หวัน จีนก็ส่งสัญญาณไม่พอใจด้วยการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน

8.นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงมีคำกล่าวว่า “ใครครองไต้หวัน ผู้นั้นครองโลก” หากจีนครองไต้หวันได้ จะคุมทะเลจีนตะวันออก และปิดช่องทางการเดินเรือของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งจีนอาจจะใช้คำขู่ปิดเส้นทางการเดินเรือเป็นไพ่บังคับให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากเอเชีย ถ้าวันนั้นมาถึงก็จะเป็นสัญลักษณ์ว่าจีนกลับมาเป็นพี่เบิ้มของเอเชียอย่างแท้จริงโดยไม่มีสหรัฐ เป็นกว้างขวางคอ

อีกประเด็นก็คือ ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับหนึ่งของโลก เป็นหัวใจสำคัญของซัพพลายเชนเทคโนโลยีโลก หากเกิดวิกฤติอ่าวไต้หวันเมื่อไหร่ การผลิตสินค้าไฮเทคทั่วโลกจะสุดลงแน่นอน และหากจีนบุกไต้หวันเมื่อไหร่ สหรัฐฯก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าร่วมเพราะไต้หวันสำคัญต่อสหรัฐฯมากในเชิงยุทธศาสตร์ วิกฤติในไต้หวันจึงมีโอกาสจุดชนวนสงครามครั้งใหญ่ยิ่งกว่าสงครามในยูเครนเสียอีก

9.ความฝันสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่การได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่คือการรวมชาติจีนให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง นี่คือเหตุผลที่เราเห็นท่าทีที่แข็งกร้าวที่จีนมีต่อไต้หวัน ทิเบต และฮ่องกง และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็เคยประกาศไว้ว่าไต้หวันต้องกลับสู่อ้อมอกจีนภายในปี 2049 ซึ่งตรงกับการฉลองครบรอบ 100 ปีที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

10.ความร่ำรวยของชนชั้นกลางในจีนล้วนสะสมอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นเหมือนประเทศอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตเมือง รายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นจึงมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมจะประมูลที่ดินของรัฐบาลด้วยราคาที่สูงกว่าตลาด จนนักวิเคราะห์บอกว่าการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดในจีนคือภาคอสังหาริมทรัพย์เพราะว่ามัน Too Big to Fail

แต่เดือนสิงหาคม 2021 ก็เกิดวิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande Group) บริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน เนื่องจากไม่สามารถกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าได้เพราะติดกฎเกณฑ์เรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลจีน หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้เศรษฐกิจพังระเนระนาดคล้ายกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 แต่ปรากฎว่ารัฐบาลจีนจัดการได้อยู่หมัดด้วยการควบคุมข่าวสาร ทำให้ผู้คนไม่แตกตื่นเทขายอสังหาฯ จนราคาตก แทนที่ฟองสบู่อสังหาจะแตก จึงกลายเป็นเหมือนการปล่อยลมออกจากลูกโป่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แม้ว่าการจัดการฟองสบู่อสังหาฯ จะทำให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างมาก แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาราคาอสังหาพุ่งสูงอย่างไม่สมเหตุสมผลจนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและคนจีนไม่ยอมแต่งงานและไม่ยอมมีลูก

11.ปี 2021 รัฐบาลจีนจัดการบริษัท Big Tech รายแล้วรายเล่า ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดกับ Alibaba Tencent และ Meituan รวมถึงห้าม Ant Financial เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าบริษัททั้งหมดนี้ล้วนเป็น Soft Tech ที่เป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ ฟินเทค แต่รัฐบาลไม่ได้เล่นงาน Hard Tech เลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Semiconductor, Biotech หรือ Robotics นี่จึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เม็ดเงินลงทุนไหลจากภาค Soft Tech ไปยัง Hard Tech แทน

ในฝั่งสหรัฐฯ Silicon Valley ล้วนแข็งแกร่งจาก Soft Tech แต่สหรัฐฯแทบไม่มีภาคการผลิตหลงเหลืออีกต่อไป เพราะย้ายฐานการผลิตมาที่จีนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผิดกับเยอรมันที่ยังคงแข็งแกร่งเรื่อง Hard Tech มาก จีนจึงให้ความสำคัญกับ Hard Tech โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์เพราะที่ผ่านมาจีนถูกสหรัฐฯ สกัดกั้นไม่ให้ใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทของสหรัฐฯ และพันธมิตร

12.ต้นเดือนสิงหาคม 2021 สีจิ้นผิงได้ประกาศสโลแกนใหม่คือ “รุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) แสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะรักษาความนิยมและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวผลักดัน และสนับสนุนเอกชนที่พัฒนา “ในทางสร้างสรรค์” ซึ่งหมายความว่าเอกชนจะต้องไม่พัฒนาหรือแสวงกำไรในสิ่งที่เกิดโทษหรือผลลบต่อสังคม โดยสีจิ้นผิงตั้งเป้าว่าจะให้จีนเติบโตปีละ 5% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขการเติบโตของจีนที่ผ่านมา

13.เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสีจิ้นผิงนั้นชื่นชมปูตินมาก ทั้งสองพบกันบ่อยครั้งและคุยกันถูกคอ แถมยังไม่พอใจตะวันตกเหมือนกันอีกด้วย จนมีภาพที่สีจิ้นผิงและปูตินจับมือกันในงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งเมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ปูตินจะบุกยูเครน นี่จึงทำให้ยุโรปและสหรัฐฯไม่ไว้ในจีนเข้าใปใหญ่

14.เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้นมีปัจจัยแตกต่างกันไป

เงินเฟ้อในสหรัฐฯ (ร้อยละ 8 ถึง 9) เกิดจากการอัดเงินเข้าไปในระบบช่วงล็อกดาวน์ เมื่อมีเงินในระบบมากขึ้นแต่สินค้าในระบบมีเท่าเดิม จึงผลักให้สินค้าราคาแพงขึ้น

เงินเฟ้อในยุโรป (ร้อยละ 7 ถึง 8) เกิดจากวิกฤติด้านพลังงาน เพราะหลังจากยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าทุกอย่างแพงขึ้น

รัสเซียนั้นเงินเฟ้อไม่เยอะเพราะรัฐบาลรัสเซียออกมาตรการไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ ส่วนเงินเฟ้อในจีนนั้นยังคุมให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้เพราะจีนสามารถผลิตและบริโภคภายในประเทศ

15.จุดแข็งของจีนก็กลับมาเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เพราะเมื่อจีนควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี ก็ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรจีนต่ำมาก อัตราการฉีดวัคซีนในหมู่ผู้สูงวัยก็ยังต่ำอยู่ ยังไม่นับว่าวัคซีนของจีนก็มีประสิทธิภาพต่ำกว่าของฝั่งตะวันตกด้วย เมื่อเดือนเมษายน 2022 จีนต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่ที่สุดอย่างเซี่ยงไฮ้เป็นเวลากว่าเดือนครึ่ง ซึ่งยาวนานกว่าความคาดหมายของทุกคน ตราบใดที่จีนยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก ความเสี่ยงนี้จะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

16.เรากำลังเข้าสู่จุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัฒน์ที่ใครเก่งอะไรก็ผลิตสิ่งนั้นแล้วค้าขายได้อย่างเสรี แต่วิกฤติช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ supply chain ทั่วโลกต้องสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละประเทศจึงต้องหันมาสนใจเรื่องความมั่นคงด้านซัพพลายมากขึ้นด้วยการทำ Friend-shoring นั่นคือการให้ประเทศที่เราไว้ใจได้ผลิตสินค้าให้เรา มากกว่าจะให้ประเทศที่ถูกที่สุดทำให้ รวมถึง Reshoring หรือการเอางานผลิตบางส่วนกลับมาทำที่ประเทศตนเองแม้ต้นทุนจะสูงกว่ามากก็ตาม การปรับตัวใหญ่ครั้งนี้จะทำให้ปัจจัยที่เคยสำคัญอย่างต้นทุนและสิ่งแวดล้อมค่อยๆ หายไปจากสมการ เพราะว่าในยุคแห่งความผันผวนนี้ความมั่นคงทางซัพพลายเชนนั้นสำคัญยิ่งกว่า

17.เป้าหมายของสีจิ้นผิงต่อจากนี้คือการเพิ่มชนชั้นกลางในจีนจาก 400 ล้านคนเป็น 800 ล้านคนในเวลา 15 ปี เปลี่ยนโครงสร้าง “พีระมิด” ที่ “รวยกระจุกบน จนกระจายล่าง” เป็นโครงสร้างแบบ “ลูกรักบี้” ที่ “ตรงกลางกว้าง บนล่างแคบ”
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จีนต้องโดนสงครามการค้า วิกฤติล็อกดาวน์อู่ฮั่น การจัดการฮ่องกงแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม วิกฤติเอเวอร์แกรนด์ การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เดือนครึ่ง แต่ละข้อล้วนส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจจีนอย่างมหาศาลแต่จีนก็ยังยืนหยัดมาได้ แม้ว่า 40 ปีต่อจากนี้ประชากรจีนจะลดลง 200 ล้านคน แต่ก็จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนจะแซงสหรัฐฯภายในเวลาไม่เกิน 15 ปี ขอเพียง GDP ต่อหัวของจีนขึ้นมาเท่า 1 ใน 4 GDP ต่อหัวของสหรัฐฯ จีนก็แซงหน้าได้แล้ว

สิ่งที่ไม่อยู่ในหนังสือแต่ผมอยากจะบอกไว้ก็คือเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม สี จิ้นผิงในวัย 69 ปีเพิ่งได้รับการมอบตำแหน่งประธานาธิบดีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ ดังนั้นการดำเนินตามแผนที่ระบุไว้ในหนังสือน่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า China Endgame แล้วเกมนี้จะจบอย่างไร?

แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคต แต่อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียนก็ได้ไขข้อสงสัยนี้เอาไว้ในบทท้ายๆ แล้ว ถ้าผมเอามาเล่าก็จะเป็นการสปอยล์ อยากให้ทุกคนไปอุดหนุนและซื้อมาอ่านเองมากกว่า

นี่คือหนังสือภาษาไทยที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านในปี 2022

ขอให้คะแนน 10 เต็ม 10 ครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ China Endgame อ่านเกมสามก๊ก จีน สหรัฐฯ รัสเซีย อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน สำนักพิมพ์ bookscape

ว่าด้วยเรื่องเงินเดือนนายกรัฐมนตรี

บทความนี้มีจุดตั้งต้นจากการที่ผมอ่านเจอคำถามนี้ใน Quora:

What are the most underpaid jobs?

อาชีพอะไรที่ได้เงินเดือนน้อยเกินไป?

Asim Qureshi ซึ่งเคยเป็น VP ของ Morgan Stanley และ Credit Suisse มาตอบคำถามนี้ว่า อาชีพที่เงินเดือนน้อยเกินไปคือครูกับ Heads of Government (นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือตำแหน่งใดก็ตามที่บริหารประเทศนั้น)

สำหรับอาชีพครูนั้น คนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่าควรได้เงินเดือนมากกว่านี้

แต่สำหรับนายกนั้นเขารู้ดีว่าคงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (controversial)

Asim เล่าว่าตอนที่เขาอายุยี่สิบปลายๆ และลาออกจาก Credit Suisse เงินเดือนของเขามากกว่า Tony Blair นายกของอังกฤษหลายเท่า

เขามองว่าเมื่อผู้บริหารประเทศได้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการคอรัปชั่น และย่อมหมายความว่าเราอาจไม่ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาบริหารบ้านเมือง

เราปรารถนาดีต่อคนในครอบครัวของเรายังไง เราก็ควรปรารถนาดีต่อคนในชาติเราอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?

ไม่มีนายก (หรือประธานาธิบดี) คนไหนในโลกที่ได้เงินเกินปีละ $600,000 เหรียญ ยกเว้นประเทศเดียวคือสิงคโปร์ซึ่งได้เงินปีละ 2.2 ล้านเหรียญ ในขณะที่เงินเดือนของ CEO ในบริษัทที่รายได้สูงสุด 500 บริษัทในอเมริกานั้นมีรายได้เฉลี่ยปีละ 11 ล้านเหรียญ

Asim บอกว่า ลีกวนยูซึ่งเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นคนที่ตั้งกฎให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูงๆ เพื่อจะได้โฟกัสที่การทำงาน ทำงาน ทำงาน มากกว่าที่จะเข้ามาหากิน


คำตอบของ Asim บน Quora จบเท่านี้ แต่ผมสงสัยก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แค่กูเกิล prime minister salaries by country ก็เจอหน้า Wikipedia ที่บอกว่านายกแต่ละประเทศได้เงินเดือนเท่าไหร่บ้าง จากนั้นก็หาข้อมูลอื่นๆ มาเสริม

ถ้าใครอยากดูข้อมูลประกอบบทความนี้ไปด้วย ลองเข้า Google Sheets อันนี้แล้ว Make a copy หรือดาวน์โหลดมาเล่นได้ครับ

https://bit.ly/ampmsalaries

Wikipedia มีรายชื่อเกือบ 200 ประเทศ แต่ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายกนั้นมีเพียง 144 ประเทศ

5 อันดับแรกได้แก่

  1. สิงคโปร์ ปีละ 1.6 ล้านเหรียญ (ต่างจากที่ Asim บอกว่าได้ 2.2 ล้าน) หรือตกเดือนละ 4.3 ล้านบาท (ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ 1 USD = 32 บาทเพราะข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนในตารางของ Wikipedia บอกว่ามาจากปี 2019)
  2. ฮ่องกง เดือนละ 1.5 ล้านบาท
  3. สวิตเซอร์แลนด์ 1.3 ล้านบาท
  4. สหรัฐอเมริกา 1.1 ล้านบาท
  5. เยอรมันนี 990,000 บาท

อันดับ 6-10 ได้แก่ออสเตรีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 700,000-980,000 บาท

ส่วนนายกของไทยนั้นจำง่ายมาก ได้อันดับที่ 100 พอดี รับอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับบทความที่ iTax เคยเขียนเอาไว้

อันดับข้างเคียง (95-105) ได้แก่บัลแกเรีย เวเนซูเอล่า ปาเลสไตน์ บุรุนดี เบลีซ แทนซาเนีย แซมเบีย ตองก้า และโบลิเวีย

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยได้เงินเดือนน้อยกว่าฟิลิปปินส์ (สองแสนห้า) มาเลเซีย (แสนหก) และอินโดนีเซีย (แสนสี่) แต่ได้มากกว่าพม่า (แปดหมื่นเจ็ด) และกัมพูชา (แปดหมื่น) ที่ประหลาดและเชื่อได้ยากหน่อยคือเวียดนามที่ Wikipedia ระบุว่านายกได้เงินเดือนแค่สองหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

แน่นอนว่าถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ควรจะดูเรื่องอย่างค่าครองชีพ (Cost of Living Index) จำนวนประชากร และ GDP ของประเทศนั้นๆ ด้วย

อย่างที่กล่าวไป ถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียว ไทยได้อันดับที่ 100 จาก 144 ประเทศ (ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายก) หรืออยู่ที่ 30th percentile (Percentile ยิ่งต่ำแสดงว่ายิ่งอยู่รั้งท้าย)

ถ้าดูเงินเดือนโดยคิดเรื่องค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ด้วย ไทยจะได้อันดับที่ 78 จาก 100 ประเทศ (เพราะ Cost of Living Index ไม่ได้มีครบทุกประเทศ) หรือประมาณ 22nd percentile

ประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 จาก 190 ประเทศ (89th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนนายกหารด้วยจำนวนประชากร ไทยจะได้อันดับที่ 109 จาก 125 ประเทศ (13th percentile) (ผมตัดประเทศที่ประชากรน้อยกว่าสามแสนคนออกไปก่อน ไม่งั้นอันดับต้นๆ จะมีแต่ประเทศเล็กๆ ที่เราไม่รู้จัก)

โดยนายกไทยจะได้เงินเดือน 1.7 บาทสำหรับการดูแลประชาชน 1000 คน ใกล้เคียงกับพม่า (1.6 บาท) และฟิลิปปินส์ (2.2 บาท) แต่แพ้มาเลเซียกับอินโดนีเซียที่ได้เงินเดือนประมาณ 5 บาทต่อการดูแลประชากร 1000 คน

ประเทศไทยมี GDP มากเป็นอันดับที่ 26 จาก 189 ประเทศ (86th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนหารด้วย GDP ไทยจะได้อันดับที่ 105 จาก 126 ประเทศ (17th percentile)

สำหรับทุกๆ $1 million ของ GDP นายกไทยได้เงินเดือนเกือบสลึง (24 สตางค์) น้อยกว่าพม่า (1.34 บาท) ฟิลิปปินส์ (65 สตางค์) กับมาเลเซีย (44 สตางค์) แต่มากกว่าอินโดนีเซีย (12 สตางค์)

คำถามว่าถ้านายกได้เงินเดือนเยอะแล้วคอรัปชั่นจะน้อยลงหรือเปล่า (ไม่ว่าจะเป็น causation หรือ correlation ก็ตาม) ผมคิดว่าข้อมูลอาจยังไม่ได้บ่งชี้ขนาดนั้น

ใน 180 ประเทศ ไทยเป็นอันดับที่ 114 เรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น (37th percentile)

5 ประเทศที่คอรัปชั่นน้อยที่สุดคือเดนมาร์ค ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์ ซึ่งนายกได้เงินเดือนอันดับที่ 26, 43, 12, 38 และ 1 ตามลำดับ (คิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว)

ถ้าดูประเทศที่นายกได้เงินเดือนเยอะที่สุด 5 ประเทศโดยคิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว ก็จะเห็นว่าบางประเทศยังมีการคอรัปชั่นพอสมควร (ตัวเลขในวงเล็บยิ่งสูง แสดงว่าคอรัปชั่นยิ่งเยอะ)

Singapore (5)
Hong Kong (12)
South Africa (71)
Austria (13)
Turkey (101)


บทสรุป

  1. เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยถือว่าได้เงินเดือนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง GDP และจำนวนประชากร
  2. ถ้าเราขึ้นเงินเดือนให้คนในรัฐบาลเยอะๆ เราอาจจะเหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่คอรัปชั่นน้อย หรืออาจจะเหมือนแอฟริกาใต้หรือตุรกีที่คอรัปชั่นยังเยอะอยู่ดีก็ได้

อย่างที่คุณ Asim เขียนไว้ว่าหัวข้อนี้มันละเอียดอ่อนและน่าจะทำให้เกิดการโต้แย้ง แต่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปขบคิดต่อ เพราะ

  1. ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์ คนเราจะตอบสนองต่อแรงจูงใจเสมอ (People respond to incentives) เพียงแต่ว่า incentives ที่ว่านั้นมันจะพาให้คนส่วนใหญ่ดีขึ้นหรือคนส่วนใหญ่แย่ลง
  2. ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณเนื้อหาครึ่งแรกจาก Quora: Asim Qureshi’s answer to What are the most underpaid jobs?

อยู่ประเทศไหนรวยง่ายที่สุด?

Herald Eia เป็นนักสังคมวิทยาและผู้จัดการทีวีชาวนอร์เวย์

ในปี 2016 เขาเคยขึ้นพูดบนเวที TEDxOslo ในหัวข้อ Where in the world is it easiest to get rich?

ผมขอถอดความบางส่วนมาไว้ในบล็อกนี้ครับ


อยู่ประเทศไหนรวยง่ายที่สุด? นี่คือคำถามที่ผมถามอาจารย์ของผมตั้งแต่ช่วงต้นยุค 90’s สมัยที่ผมเรียนคณะสังคมวิทยา (sociology)

อาจารย์กำลังสอนเรื่องประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) และรัฐสวัสดิการ (welfare state) ของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ฯลฯ) เขาเชื่อเรื่องการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ไม่มีทั้งคนรวยและคนจน

แต่ผมเองตอนนั้นกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคนรวย ตอนที่ผมได้สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจผู้มั่งคั่ง ทุกคนล้วนบอกว่าชีวิตในสแกนดิเนเวียมันไม่ง่ายเลย พวกเขาต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพราะว่าโดนเก็บภาษีแพงมาก สหภาพแรงงานก็มีอำนาจต่อรองเยอะ และรัฐสวัสดิการก็ทำให้ผู้คนที่นี่เกียจคร้านอีกต่างหาก

ผมเลยอดไม่ได้ที่จะยกมือถามอาจารย์ในห้องว่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความเท่าเทียม ถ้าความฝันของผมคือการได้เป็นคนรวยล่ะ ผมควรจะไปเกิดที่ประเทศไหนถึงจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้เป็นคนรวย

อาจารย์นิ่งไปสักครู่ก่อนจะตอบผมว่า

“ถ้านั่นคือเป้าหมายของคุณ คุณก็ควรจะเลือกเกิดในประเทที่มีตลาดเสรี ภาษีถูก และรัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงกลไกลตลาดมากนัก อ้อ แล้วถ้าคุณอยากจะรวยจริงๆ ควรไม่ควรเลือกเรียนสังคมวิทยาด้วยนะ”

ผมก็คิดว่านั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง จนกระทั่งผมได้อ่านผลงานของอาจารย์ Karl Moene แห่งมหาวิทยาลัย Oslo ถึงได้รู้ความจริงคืออะไร

ก่อนอื่นเราต้องนิยามคำว่า “รวย” กันก่อน

ยูเอ็น (United Nations) ได้กำหนด “เส้นความยากจน” (poverty line) เอาไว้ที่ $2 ถ้าใครมีรายได้ต่ำกว่าวันละ $2 ก็ให้ถือว่าคนคนนั้นยากจน

แต่เส้นที่น่าสนใจกว่าคือ “เส้นความร่ำรวย” (richness line) และรายงานที่เชื่อถือได้มากที่สุดก็คือ Wealth Report ที่นิยามคนร่ำรวยไว้ว่าต้องมีความมั่งคั่งสุทธิ (net worth = ทรัพย์สินลบด้วยหนี้สิน) อยู่ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า Ultra High Net Worth Individual

ในโลกนี้มี UHNWI อยู่ 170,000 คน และนี่คือประเทศ Top 5 ที่มีคนเหล่านี้

ที่ 5 คือจีนมีแปดพันคน ที่ 4 อังกฤษหนึ่งหมื่นคน ที่ 3 เยอรมันมีหมื่นสอง ที่ 2 ญี่ปุ่นมีหมื่นเจ็ดพันคน และแน่นอนว่าที่ 1 คืออเมริกาที่มีคนรวยระดับนี้ถึงสี่หมื่นคน

แต่สิ่งที่เราอยากรู้มากกว่าคือจำนวนคนรวยต่อประชากร 1 ล้านคน และถ้าเราตัดดินแดนภาษีต่ำ (tax havens) อย่างไซปรัส สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และโมนาโคทิ้งไป [เพราะเป็นเพียงแหล่งซุกเงินของคนรวยเท่านั้น] เราก็จะได้รายชื่อประเทศเหล่านี้

อันดับ 5 เดนมาร์ค มีคนรวย 179 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

อันดับ 4 แคนาดา 181

อันดับ 3 นิวซีแลนด์ 234

อันดับ 2 สวีเดน 329

อันดับ 1 นอร์เวย์ 484 คน

ส่วนอเมริกาอยู่เพียงอันดับที่ 13 มี 126 คน

อาจารย์แกงผมซะแล้ว ไหนบอกว่าสแกนดิเนเวียไม่มีทั้งคนรวยและคนจนไง

แต่เอาเถอะ $30 ล้านอาจจะดูจิ๊บจ๊อยไปหน่อย สมมติเราเพิ่มมาตรฐานเป็น $1 พันล้านจะเกิดอะไรขึ้น? แหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้มากที่สุดก็คือ Forbes Billionaires List

อันดับ 5 เยอรมันนี มีคนรวยระดับ billionaires 1.2 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

อันดับ 4 อเมริกา 1.7 คน

อันดับ 3 นอร์เวย์ 2.0 คน

อันดับ 2 สวีเดน 2.4 คน

ส่วนอันดับ 1 คือไอซ์แลนด์ 3.1 คน ซึ่งมี billionaire หนึ่งคนถ้วนคือ Thor Björgólfsson [ไอซ์แลนด์มีประชากรสามแสนกว่าคน]

ประเด็นก็คืออเมริกา 1.7 ส่วนสแกนดิเนเวียค่าเฉลี่ยคือ 2.1

มันเป็นไปได้ยังไง? ทำไมประชาธิปไตยสังคมนิยมซึ่งคนเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียมจึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์มหาเศรษฐีไปได้?

มีเหตุผล 2 ข้อ

ข้อแรกคือค่าเล่าเรียนฟรี (free education)

ประชาธิปไตยสังคมนิยมทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ แถมยังมีเงินกู้ยืมดอกเบี้ยถูกและทุนการศึกษาให้อีกด้วย มันจึงช่วยให้คนจำนวนมากสามารถใช้ความสามารถที่ตัวเองมีเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว

มิติหนึ่งที่เราสามารถดูกันได้คือ “การขยับสถานะทางสังคม” (social mobility)

ลองนึกภาพคนที่เป็น “่พ่อคน” ในประเทศหนึ่ง และแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็น 5 กลุ่มโดยดูจากรายได้เรียงจากมากไปน้อย

คราวนี้ก็ให้ไปดูลูกของคนเหล่านั้น และแบ่งเป็น 5 กลุ่มเช่นกัน

แล้วลองดูซิว่า พ่อที่อยู่ในกลุ่มที่จนที่สุด 20% นั้น มีลูกที่ได้ไปอยู่ในกลุ่มที่รวยที่สุด 20% บ้างรึเปล่า มีลูกที่ได้เปลี่ยนจากยาจกเป็นมหาเศรษฐีมากน้อยแค่ไหน

ในโลกอุดมคติที่มี perfect social mobility [ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะไปจบอยู่ที่กลุ่มไหนก็ได้] 20% ของลูกของพ่อในกลุ่มที่จนที่สุดควรจะได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่รวยที่สุด

ที่สวีเดน ตัวเลขคือ 14%

นอร์เวย์ 12%

สวีเดน 11%

ส่วนอเมริกาคือ 8%

การเรียนฟรีในประเทศแถบสแกนดิเนเวียทำให้คนสร้างเนื้อสร้างตัวได้มากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา

แล้วถ้าเราดูลูกของพ่อที่จนที่สุดว่ามีใครที่ยังคงอยู่ในกลุ่มที่จนที่สุดบ้างล่ะ (ลูกของยาจกที่ดิ้นไม่หลุดจากความยากจน)

ใน perfect social mobility ตัวเลขก็คือ 20% เช่นกัน

เดนมาร์ค 25%

สวีเดน 26%

นอร์เวย์ 28%

อเมริกา 42%

นั่นเป็นเพราะว่าค่าเล่าเรียนในอเมริกานั้นแพงมากนั่นเอง [คนจนเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก]

แต่เหตุผลข้อที่ 2 – และเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สแกนดิเนเวียเป็นแหล่งเพาะพันธุ์คนร่ำรวยก็คือ…

ที่อเมริกา เวลาคุณขึ้นทางด่วน คุณจะเจอเจ้าหน้าที่ประจำด่าน เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต คุณจะเจอพนักงานเก็บเงิน เวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะ คุณก็จะเจอแม่บ้านทำความสะอาด

ขณะที่ในนอร์เวย์ ไม่ว่าคุณจะขึ้นทางด่วน ไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเข้าห้องน้ำสาธารณะ คุณจะแทบไม่ได้เจอมนุษย์เลย เพราะใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีแทนคนไปเกือบหมดแล้ว

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สหภาพแรงงานนั้นคอยกดดันให้เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำอยู่เสมอ การว่าจ้างคนจึงแพงมาก ถ้าคุณอยู่นอร์เวย์แล้วคุณได้งานเป็นพนักงานเก็บค่าทางด่วน พนักงานคิดเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นแม่บ้านทำความสะอาด คุณจะได้ค่าจ้างมากกว่าในอเมริกาถึง 3 เท่า

เพราะค่าแรงในสแกนดิเนเวียแพงมาก หลายบริษัทเลยต้องลดจำนวนพนักงาน (downsize) และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่อย่างนั้นบริษัทก็อยู่ไม่ได้ แต่การใช้เทคโนโลยีก็ทำให้บริษัทมี productivity มากขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

ในทางกลับกัน สหภาพแรงงานในสแกนดิเนเวียก็ไม่ยอมให้ค่าแรงของคนที่มีทักษะสูงๆ นั้นสูงเกินไปเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

Senior Engineer ในนอร์เวย์จะได้ค่าแรง $76,000 ต่อปี ส่วนในอเมริกานั้นจะได้ $100,000 ต่อปี และแน่นอนว่าการจำกัดเงินเดือนของคนที่ทักษะสูงๆ นั้นย่อมเป็นผลดีต่อกำไรของบริษัท เช่นนี้แล้วสหภาพแรงงานจึงเหมือนช่วยบริษัทประหยัดต้นทุนอยู่กลายๆ

มันจึงเป็นเหมือนตลกร้าย ที่คนร่ำรวยที่ผมได้สัมภาษณ์ตอนทำวิทยานิพนธ์นั้นล้วนบ่นว่าการเป็นคนรวยในสแกนดิเนเวียนั้นช่างยากเย็น พวกเขาเข้าใจผิดไปไกลเลย

ภาษีแพงนั้นทำให้พวกเราได้เรียนฟรีและทำให้เศรษฐกิจของเราเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถ

สหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งบังคับให้องค์กรมี productivity ที่ดีขึ้น

และความเป็นรัฐสวัสดิการก็ทำให้สหภาพแรงงานยอมให้เกิดการปลดพนักงานได้เพราะเขารู้ว่าแม้จะตกงานไปคนเหล่านี้ก็จะยังมีรัฐคอยดูแลเป็นอย่างดี

ประชาธิปไตยสังคมนิยมจึงไม่ใช่แนวคิดที่ต่อต้านความร่ำรวยหรือต่อต้านระบอบทุนนิยม รัฐสวัสดิการและสหภาพแรงงานนั้นทำงานควบคู่ไปกับทุนนิยมเลยด้วยซ้ำ

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศในสแกนดิเนเวียจึงเป็นดินแดนที่ผู้คนสามารถบรรลุ The American Dream ได้ง่ายดายเสียยิ่งกว่าในอเมริกาครับ!


ขอบคุณเนื้อหาจาก TEDxOslo | Where in the world is it easiest to get rich? | Harald Eia

Halo Effect vs Horn Effect

Halo (อ่านว่า เฮโล่) คือแสงสว่างเป็นวงกลมอยู่เหนือศีรษะของนักบุญในคริสต์ศาสนา การมี halo อยู่บนหัวจะทำให้คนๆ นั้นดูเป็นคนดีขึ้นมาทันที

Halo Effect ก็คือเมื่อเราชอบพอใครคนใดคนหนึ่งแล้ว อะไรที่เขาทำก็จะเข้าหูเข้าตาไปเสียหมด

คนหน้าตาดีมักจะได้รับอานิสงส์จาก Halo Effect เมื่อหล่อ-สวย คนอื่นก็จะมองในแง่ดีเอาไว้ก่อน

Halo Effect อาจส่งผลร้าย เมื่อเรามองเห็นแต่ข้อดีของคนคนหนึ่งจนมองไม่เห็น (หรือมองข้าม) ข้อเสียของเขาไป

เพราะคนที่ทำให้เราเจ็บมากที่สุด มักจะเป็นคนที่เรารักมากที่สุด

สิ่งที่ตรงข้ามกับ Halo Effect ก็คือ Horn Effect

Horn ในที่นี้คือเขาของปีศาจ ไม่ใช่เขาวัวเขาควาย

เมื่อเราไม่ชอบอะไรบางอย่างในตัวคนคนหนึ่ง เราก็จะติดเขาให้กับคนคนนั้น เราจะมีอคติ เขาทำอะไรก็ไม่เข้าหูเข้าตา ถ้าอาการหนักหน่อยแค่เขาอ้าปากจะพูดก็ผิดแล้ว

Halo Effect และ Horn Effect เห็นได้ชัดมากในสนามการเมือง ซึ่งมันนำไปสู่การเชียร์แบบไม่ลืมหูลืมตา รวมถึงการตีตราฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนชั่วช้าหรือโง่งมงาย

จะรักใครจะชังใครนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่หากจุดประสงค์ของเราคือการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ประเด็นจึงไม่ใช่การเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายเหนือกว่าในด้านศีลธรรม แต่เป็นการมองเห็นโลกให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

หากรู้ตัวว่าเรากำลังตกอยู่ใต้ Halo Effect หรือ Horn Effect อยู่ วิธีที่จะช่วยบรรเทาได้ก็คือ

  1. มองให้เห็นข้อเสียของคนที่เราชอบ
  2. มองให้เห็นข้อดีของคนที่เราชัง

โดยเฉพาะข้อสอง เราต้องระวังที่จะไม่มองเห็นข้อดีแบบประชดประชัน

ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่ใต้ Horn Effect เหมือนเดิมครับ