ความหรูหราที่มีเวลาจำกัด

เมื่อวานนี้ผมกับภรรยาพาพ่อกับแม่ไปกินข้าวเที่ยงเนื่องในโอกาสที่พ่อเพิ่งอายุครบ 75 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้หลายช็อต แต่ช็อตที่ชอบที่สุดคือรูปที่ลูกๆ “ปรายฝน” และ “ใกล้รุ่ง” ถ่ายกับคุณปู่คุณย่า

นานๆ จะได้เห็น baby boomers กับ Gen Alpha อยู่ในภาพเดียวกันโดยไม่มีเจนอื่นคั่นกลาง

เมื่อมองดูภาพถ่ายผมก็ตระหนักได้ว่า การที่พ่อแม่ของผมได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับหลานๆ ถือเป็น luxury อย่างหนึ่ง

เพราะไม่ใช่ทุกคนในวัยผมจะมีโอกาสแบบนี้ บางคนพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว บางคนอยากมีลูกแต่มีไม่ได้

กลับถึงบ้านตอนบ่ายๆ ผมนอนอ่านหนังสือแป๊บนึงแล้วผลอยหลับไป ตื่นมาเย็นๆ มองเห็นใกล้รุ่ง เลยเล่นต่อสู้กันเล็กน้อย

มีช่วงหนึ่งที่ผมนอนหงาย ใช้มือและเท้ายกใกล้รุ่งขึ้นทำท่าเครื่องบิน ใกล้รุ่งหัวเราะชอบใจ

ชั่วขณะที่ผมพินิจหน้าใกล้รุ่งที่กำลังเบิกบาน ผมก็ตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่าช่วงเวลาที่เราจะได้เล่นกันแบบนี้เหลืออีกไม่มากนัก ปลายปีใกล้รุ่งจะอายุครบ 6 ขวบ อีกสามปีเขาก็คงตัวโตเกินกว่าที่ผมจะจับเขาทำท่าเครื่องบินได้ หรือแม้ผมจะยังพอทำไหว ก็ไม่รู้ว่าใกล้รุ่งจะยังอยากเล่นอะไรแบบนี้อยู่รึเปล่า

ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า เราจะอยากได้แต่สิ่งที่เรายังไม่มี พอเรามีมันแล้ว เราจะเห็นคุณค่ามันน้อยลง เราจะ take it for granted เพราะคิดว่าจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ขอเอาเวลาไปไล่ล่าสิ่งอื่นก่อน

แต่ของบางอย่างผ่านแล้วผ่านเลย ทั้งพ่อแม่ที่ยังแข็งแรง ทั้งลูกเล็กที่ยังสนุกกับการเล่นกับเรา เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ไม่อยู่ หรือวันที่ลูกมีโลกของตัวเอง ต่อให้เรามีเงินเดือนเท่าไหร่ หรือมีทรัพย์สินมากขนาดไหนก็ไม่อาจหาซื้อมันได้อีก

มองดูให้ดีว่าเรามีอะไรเป็นความหรูหราที่แม้คนรวยกว่าเราก็ไม่อาจเข้าถึง

หากเราเห็นคุณค่าและใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ก็คงไม่มีอะไรที่ค้างคา และไม่มีอะไรให้เสียดายครับ

วิธีง่ายๆ ที่จะเป็นผู้ชายที่ดีขึ้น

(จริงๆ วิธีนี้ก็ใช้สำหรับผู้หญิงได้เช่นกัน แค่อยากตั้งชื่อหัวข้อให้คล้องจองครับ)

เวลาผมฟังสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จว่าใครเป็นแบบอย่างในชีวิตหรือคนที่เขาชื่นชม เกิน 50% จะมี “พ่อ” หรือ “แม่” เป็นคำตอบ

บุคคลเหล่านี้มักจะพูดถึงพ่อหรือแม่ในเชิงของความเป็นคนไม่ยอมแพ้ ความอดทน ความใฝ่รู้ ความทุ่มเท

ถ้ามองว่าคนประสบความสำเร็จคือฮีโร่

พ่อแม่ของคนเหล่านี้ก็คือฮีโร่ของฮีโร่

แต่ผมเดาว่า สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูก อาจจะเป็นญาติ เพื่อน หรือเพื่อนที่ทำงาน “ฮีโร่ของฮีโร่” เหล่านี้อาจจะเป็นเพียงคนธรรมดาในสายตาของพวกเขา

สมมติว่าในสายตาของลูก ให้คะแนนพ่อแม่ตัวเอง 90 เต็ม 100

ในสายตาของเพื่อน อาจจะให้คะแนนคนเหล่านี้แค่ 70 เต็ม 100

20 คะแนนที่เป็นส่วนต่าง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า discrepancy นี้มาจากไหน?

แน่นอนว่าการเป็นพ่อแม่นั้นมีแต้มต่อ เพราะพ่อแม่เป็นครูคนแรก และเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตของลูก (ถ้าได้เลี้ยงลูกเอง) ดังนั้นก็จะได้คะแนนมากกว่าปกติอยู่แล้ว สมมติว่าปัจจัยส่วนนี้อธิบาย 10 คะแนนจาก 20 คะแนนที่ต่างกันอยู่

แล้วอีก 10 คะแนนที่เหลือมาจากไหน? ขอทดประเด็นนี้ไว้ก่อน


คุณพศิน อินทรวงค์ เคยเล่าเรื่องเปรียบเทียบเด็กสองคนที่เรียนเก่งทั้งคู่

คนแรกนั้นอยากสอบได้ที่ 1 เพราะมีนิสัยไม่ชอบยอมแพ้และต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขานั้นเหนือกว่าทุกคนในห้อง

เด็กคนนี้จะตั้งใจฟังคุณครูสอน ทำการบ้านเสร็จรวดเร็ว และทบทวนตำราเรียนอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนเด็กคนที่สองนั้นก็อยากสอบได้ที่ 1 เหมือนกัน เพราะเห็นว่าพ่อแม่ทำงานเหนื่อย อยากทำอะไรให้ท่านภูมิใจ

เด็กคนนี้จะตั้งใจฟังคุณครูสอน ทำการบ้านเสร็จรวดเร็ว และทบทวนตำราเรียนอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

มองเผินๆ ดูจะเหมือนกัน การกระทำเดียวกัน และน่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน

แต่มันมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง

ถามว่าเด็กคนแรกจะยอมติวหนังสือให้เพื่อนช่วงก่อนสอบรึเปล่า คำตอบคืออาจจะไม่ เพราะไม่อยากมีคู่แข่งเพิ่ม

แต่เด็กคนที่สองมีแนวโน้มที่จะติวหนังสือให้เพื่อน เพราะเป้าหมายของเขาไม่ใช่การสอบได้ที่ 1 เป้าหมายคือการเป็นลูกที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ


ผมได้รับโอกาสไปเรียนมัธยมปลายที่ประเทศนิวซีแลนด์ช่วงปี 1994-1997

ที่นิวซีแลนด์มีเรียนสามเทอม ผมเริ่มไปเรียนเทอมที่สามคือประมาณเดือนกันยายนปี 1994

ปรากฎว่าเดือนธันวาคมที่สอบปลายภาค ผมสอบตกทุกวิชายกเว้นวิชาเลข ส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรง อีกส่วนหนึ่งเพราะข้อสอบนั้นรวมเนื้อหาของทุกเทอม

พอกลับถึงเมืองไทย พ่อแม่มารับที่ดอนเมือง ระหว่างนั่งรถ ผมแจ้งให้พ่อแม่ทราบเรื่องผลสอบ จำได้ว่าพ่อแม่ไม่ได้ถามหรือพูดอะไรเยอะ แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความผิดหวังและความกังวล

พอผมกลับไปเรียนอีกครั้งตอนต้นปี 1995 ผมก็เลยตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ และทำผลการเรียนได้ดีอย่างสม่ำเสมอจนจบมัธยมปลาย

การไปเรียนเมืองนอกสมัยนั้นมีอิสระค่อนข้างเยอะ อยู่ไกลหูไกลตาพ่อแม่ โทรกลับบ้านแค่เดือนละหนึ่งครั้งเพราะยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เป็นการง่ายมากที่จะเถลไถล

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญที่สุดที่ผมตั้งใจเรียนมันเกิดจากความรู้สึกที่ไม่อยากทำให้พ่อแม่ต้องผิดหวังอีกนี่แหละ


กลับมาที่เรื่องฮีโร่ของฮีโร่ ที่พ่อแม่จะได้คะแนนจากลูกมากกว่าจากคนอื่น

สัญชาตญาณอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นพ่อเป็นแม่ คือเราอยากเป็นคนที่ดีในสายตาลูก

หลายคนกลับมาดูแลตัวเอง หลายคนเลิกสูบบุหรี่ หลายคนเลิกเจ้าชู้ หลายคนใจเย็นลง หลายคนตั้งใจทำมาหากิน หลายคนเริ่มคาดเข็มขัดเวลานั่งเบาะหลัง

แน่นอนว่าความพยายามนี้มันไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ บางทีก็มีหลุด มีอารมณ์เสีย มีไม่ใส่ใจเขาเท่าที่ควร ซึ่งมันไม่ได้แสดงว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ใช้ไม่ได้ มันแค่แสดงว่าเราเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง

การที่พ่อแม่อยากเป็นคนที่ดีในสายตาลูก หรือการที่ลูกไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง มันคือการ “ออกแรงเป็นพิเศษ” เพื่อคนที่เรารัก

ดังนั้น ผมเลยคิดว่าวิธีที่จะเป็นผู้ชาย (หรือผู้หญิง) ที่ดีขึ้น ก็คือการหาใครสักคนที่เราไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง – find someone you don’t want to let down.

คนใกล้สุดก็คงเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือคู่ชีวิต

แต่ถ้าเราไม่มีหรือเลือกไม่ได้ ก็อาจจะเป็นคนอื่นที่เราอาจไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เรารักและเคารพเขามากพอที่เราอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้นเพื่อเขาครับ

วุ้นแปลภาษาที่เรียกว่าความสัมพันธ์

ในการ์ตูนโดราเอมอน จะมีของวิเศษอย่างหนึ่งที่ว้าวมาก นั่นคือวุ้นแปลภาษา

พอกินวุ้นเข้าไปแล้ว จะสามารถคุยกับคนทุกชาติทุกภาษาได้ แม้แต่กับสิงสาราสัตว์ก็คุยรู้เรื่อง

วันก่อนนี้ผมเขียนเรื่อง “วิธีให้ฟีดแบ็คลูกน้องแบบ Radical Candor” ซึ่งเน้นว่าลูกน้องต้องรู้ก่อนว่าเราแคร์ เราถึงจะพูดตรงๆ กับเขาได้

เพราะความหมายไม่ได้อยู่แค่ในคำพูด แต่อยู่ในคนพูดด้วย

ถ้าเรารู้ว่าคนพูดนั้นแคร์ เราย่อมแปลความไปในทางบวก

ถ้าเรารู้ว่าคนพูดนั้นไม่แคร์ เราย่อมแปลความไปในทางลบ แม้ว่าจะใช้คำพูดเดียวกันก็ตาม

เพราะสิ่งที่ประกอบอยู่ในถ้อยคำ คือโทนเสียง สีหน้าท่าทาง และพลังงานที่ปล่อยออกมา

ความสัมพันธ์จึงเป็นวุ้นแปลภาษาที่ทรงพลังอย่างมาก

ฝรั่งมีประโยคที่ว่า It’s not what you say, it’s how you say it – พูดอะไรไม่สำคัญเท่าพูดอย่างไร

ผมอยากเสริมอีกหนึ่งประโยค – It’s not what you say, it’s who says it – พูดอะไรอาจไม่สำคัญเท่าใครเป็นคนพูด

เรื่องบางเรื่องที่บ้าน คนในครอบครัวพูดกลับไม่ฟัง แต่ให้คนนอกพูดเขากลับฟัง

เรื่องบางเรื่องที่ทำงาน เราพูดแล้วบางคนไม่(ยอม)เข้าใจ แต่พอให้นายใหญ่พูดเขากลับเข้าใจได้ง่ายดาย

ถ้าเรารู้สึกว่าไม่อาจเข้าถึงใครบางคน คงต้องกลับมาสำรวจตัวเราก่อน ว่ามีวิธีพูดที่ดีกว่านี้มั้ย

แต่ถ้าปรับแล้วยังไม่เห็นผล อาจต้องลองเปลี่ยนคนพูดแล้วล่ะครับ


ขอบคุณภาพจาก Doraemon Wiki : Translation Tool

ความเจ็บปวดในวัยเด็กของ Will Smith

ธรรมดาผมจะไม่ค่อยเขียนเรื่องดารา
 
แต่วันนี้เห็นข่าว Will Smith ตบ Chris Rock บนเวทีออสการ์ หลังจากที่ Chris Rock พูดจาล้อเลียนภรรยาของเขาที่โกนหัว ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทที่ 1 ของหนังสือ “Will” อัตชีวประวัติที่ Will Smith ร่วมกันเขียนกับ Mark Manson
 
ผมขอยกบางส่วนมาไว้ตรงนี้ครับ
 
—–
 
บทที่ 1 – ความหวาดกลัว
 
ผมมองตัวเองว่าเป็นคนขี้ขลาดมาโดยตลอด ความทรงจำวัยเด็กของผมเกือบทั้งหมดมักจะเป็นตอนที่ผมกลัว กลัวเด็กคนอื่น กลัวเจ็บ กลัวอับอาย กลัวถูกมองว่าอ่อนแอ
 
แต่ส่วนใหญ่ในความทรงจำนั้น คือผมกลัวพ่อผมเอง
 
ตอนที่ผมอายุ 9 ขวบ ผมยืนมองพ่อต่อยแม่อย่างแรงจนแม่ล้มลงไปกองกับพื้น และแม่ถ่มน้ำลายออกมาเป็นเลือด
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องนอนคืนนั้น คือห้วงขณะที่หล่อหลอมตัวตนของผมมากกว่าห้วงขณะใดในชีวิต
 
ทุกอย่างที่ผมทำนับตั้งแต่วันนั้น ทั้งรางวัลและเกียรติยศ สปอตไลท์และความสนอกสนใจ บทบาทการแสดงและเสียงหัวเราะ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคำขอโทษทางอ้อมที่ผมมีให้แม่ที่คืนนั้นผมไม่ได้ทำอะไรเลย ที่ผมทำให้แม่ผิดหวัง ที่ผมไม่กล้าประจันหน้ากับพ่อ
 
ที่ผมขี้ขลาด
 
คนที่คุณได้รู้จักในนามของ Will Smith ผู้กำราบมนุษย์ต่างดาว ดาราหนังอันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างระมัดระวังเพื่อปกป้องตัวผมเอง เพื่อซ่อนตัวผมจากโลกภายนอก เพื่อซ่อนไอ้ขี้ขลาดคนนี้
 
—–
 
ผมมีชื่อเต็มๆ ว่า Willard Carroll Smith II
 
พ่อก็ชื่อ Willard เหมือนกัน
 
พ่อเกิดในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) และเคยรับราชการทหาร ดังนั้นเขาจึงมองทุกอย่างเป็น mission และเข้มงวดกับทุกคนในครอบครัว
 
ครั้งหนึ่งพ่อเคยใช้ผมไปซื้อบุหรี่ แต่ขากลับผมเจอเพื่อนที่มีของเล่นใหม่ เลยแวะคุยอยู่นานจนพ่อมาตาม
 
“แกทำอะไรอยู่เนี่ย? ฉันบอกให้แกมาทำอะไร?”
 
“ผมรู้ครับพ่อ แต่ผม-“
 
“บ้านเราใครคุม?”  (Who’s in charge?)
 
“พ่อหมายความว่าไงครับ”
 
“บ้านเราใครคุม ฉันหรือแก?”
 
“…พ่อเป็นคนคุมครับ”
 
“ถ้ามีผู้คุมสองคน ทุกคนจะตายกันหมด!! ถ้าแกจะเป็นคนคุมก็บอกฉันด้วย ฉันจะได้ให้แกเป็นหัวหน้า”
 
แล้วพ่อก็พูดต่อ
 
“เวลาฉันส่งแกมาทำภารกิจ มันมีทางออกได้แค่สองทาง หนึ่งคือแกทำภารกิจเสร็จสมบูรณ์ หรือสองก็คือแกตาย แกเข้าใจฉันมั้ย?”
 
“เข้าใจครับพ่อ”
 
แล้วพ่อก็ลากคอผมกลับบ้าน

—–
 
แม้ทุกคนในครอบครัวต้องเจ็บปวดกับความรุนแรงของพ่อ แต่แม่นั้นต้องรับมือกับพ่อมากกว่าใครทั้งหมด ถ้ามีสองคนเป็นผู้คุม ทุกคนจะตาย ดังนั้นแม่จึงไม่สามารถคุมอะไรในบ้านได้เลย
 
แต่แม่ของผมไม่ใช่คนที่จะยอมให้ใครมาสั่งได้ง่ายๆ แม่มีการศึกษาและหัวรั้น มีครั้งหนึ่งที่พ่อตบแม่ แล้วแม่ก็พูดกับพ่อว่า
 
“โอ้ พ่อชายชาตรี คิดว่าตบผู้หญิงแล้วจะทำให้เธอเป็นลูกผู้ชายหรือไง?”
 
แล้วพ่อก็ตบแม่อีกครั้งจนแม่ล้มลงไปกอง
 
แม่ลุกขึ้นมาสบตากับพ่อและพูดอย่างสงบว่า
 
“เธอจะตบจะตีฉันยังไงก็ได้ แต่อย่าคิดว่าจะทำให้ฉันเจ็บได้นะ” (“Hit me all you want, but you can never hurt me.”)
 
—–
 
พี่น้องทุกคนต่างจำคืนที่พ่อต่อยแม่ในห้องนอนได้ และแต่ละคนก็มีปฏิกิริยาแตกต่างออกไป
 
แฮร์รี่ ซึ่งแม้ตอนนั้นจะอายุแค่ 6 ขวบ แต่เขาก็พยายามจะเข้ามาขวางและปกป้องแม่ เขาจะทำอย่างนี้อีกหลายครั้งตลอดหลายปี ซึ่งบางครั้งเขาก็ทำสำเร็จ แต่สำหรับคืนนั้น แค่พ่อผลักแฮร์รี่ก็กระเด็นแล้ว
 
แฮร์รี่ได้เรียนรู้บทเรียนที่แม่ค้นพบเกี่ยวกับความเจ็บปวด เขาเจอสิ่งหนึ่งในตัวเขาที่ไม่อาจมีใครแตะต้องได้ นั่นก็คือต่อให้คุณจะตบจะตีเขาเท่าไหร่ คุณก็ไม่มีทางทำให้เขาเจ็บได้
 
แฮร์รี่เคยตะโกนใส่พ่อว่า “ถ้าอยากให้ผมหยุด พ่อต้องข้ามศพผมไปก่อน”
 
ในคืนเดียวกันนั้น เอลเลนพี่สาวของผมวิ่งไปซ่อนอยู่บนเตียง นอนตัวขด เอานิ้วอุดหูและร้องไห้ เธอจำได้ว่าคืนนั้นพ่อเดินผ่านมาที่ห้องนอนของเธอ พอได้ยินเสียงร้อง พ่อก็ถามว่า “จะร้องหาพระแสงอะไร”
 
หลังจากนั้นเอลเลนก็ตีตัวออกห่างจากทุกคน พอเริ่มโต เธอจะออกตระเวนราตรี กินเหล้าและสูบบุหรี่และไม่เคยโทรบอกใครว่าเธออยู่ที่ไหน
 
ส่วนผม หลังจากคืนนั้น ผมก็กลายเป็นคนชอบเอาอกเอาใจ เพราะผมเชื่อว่าถ้าทำให้พ่อหัวเราะและยิ้มได้ พวกเราทุกคนจะปลอดภัย เด็กชาย 9 ขวบในตัวผมตีความว่าความรุนแรงของพ่อนั้นเป็นความผิดของผมเอง
 
และไอ้ความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะเอาใจคนอื่น ทำให้คนอื่นหัวเราะ และดึงความสนใจออกห่างจากสิ่งที่อัปลักษณ์ และมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่สวยงาม นั่นแหละคือจุดกำเนิดของ entertainer ในตัวผม
 
แต่ในคืนวันนั้น ในห้องนอนห้องนั้น ที่ผมยืนตรงทางเดินแล้วเห็นกำปั้นของพ่อกระแทกกับใบหน้าของผู้หญิงที่ผมรักที่สุดในโลก ผมเห็นแม่ล้มลงไปกองกับพื้นและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผมได้แค่ยืนตัวแข็งทื่อ
 
ผมเป็นคนขี้กลัวมาตลอด แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักถึงการไม่ทำอะไรเลยของตัวเอง ผมเป็นลูกชายคนโต ผมยืนห่างจากตรงนั้นไม่ถึง 10 เมตร ผมเป็นเพียงคนเดียวที่จะช่วยแม่ได้
 
แต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลย
 
นั่นคือจุดที่อัตลักษณ์นั้นฝังแน่นอยู่ในใจ เข้าไปในชั้นล่างสุดของตัวตน เป็นความรู้สึกที่ไม่อาจสลัดทิ้ง
 
ไม่ว่าผมจะทำอะไร ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ไม่ว่าจะมีเงินเยอะเท่าไหร่ มีเพลงฮิตติดชาร์ตกี่เพลง หรือทำลายสถิติไปแล้วกี่ครั้ง มันก็ยังมีความรู้สึกอันเงียบงันที่สั่นไหวอยู่ลึกๆ ในใจผม ว่าผมมันเป็นไอ้ขี้ขลาด ผมมันล้มเหลว
 
ผมขอโทษ – แม่ครับ ผมขอโทษ
 
“รู้มั้ยว่าเวลามีคนคุมสองคนจะเกิดอะไรขึ้น? เวลามีคนคุมสองคน ทุกคนจะตายกันหมด!”
 
ค่ำคืนนั้น ในห้องนอนห้องนั้น ในวัยเพียง 9 ขวบ ผมเฝ้ามองแม่ล้มลงไปกองกับพื้นพร้อมกับครอบครัวที่พังทลายลง
 
ในเสี้ยววินาทีนั้นเอง ผมได้ตัดสินใจ และผมได้ให้คำมั่นสัญญาอันเงียบงันกับแม่ กับคนในครอบครัว และกับตัวผมเอง
 
ซักวันหนึ่ง ผมจะเป็นคนคุมเกม (One day, I would be in charge.)
 
และผมจะไม่มีวันปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด (And this would never, ever happen again.)
 

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Will by Will Smith and Mark Manson

นั่งคุยกับพ่อ: ประสบการณ์ 50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตย

เมื่อปีที่แล้ว ผมเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “นั่งคุยกับพ่อ” เพื่อเป็นของชำร่วยในงานวันเกิด 72 ปีของพ่อผมเอง

พ่อเป็นคนที่มีความเคลื่อนไหวด้านการเมืองมายาวนาน ตั้งแต่เขียนจดหมายเปิดโปงการทุจริตในจุฬาลงกรณ์ภายใต้นามปากกา “นายฉันท์แก่น” จนเกิดการเดินขบวนของนักศึกษาในปี 2513

พ่อยังเป็นคนแรกใน 100 รายชื่อผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนเป็นชนวนไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พ่อกับแม่ก็โดนคุกคามจนต้องเข้าป่าจับปืน และจากบ้านเกิดเมืองนอนถึง 5 ปี

หลังกลับมาเมืองไทยก็ยังมีชีวิตที่วนเวียนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางการเมืองอยู่ตลอด ไปร่วมประท้วงก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รณรงค์สีลมสีเขียวจนเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ตราบจนเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยบนเวทีของกปปส.

เรื่องราวของพ่อเกี่ยวพันกับตัวละครหลายคนที่เราคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็นมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คุณอานันท์ ปันยารชุน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ พลตรีจำลอง ศรีเมือง คุณไขแสง สุกใส อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี คุณวิสา คัญทัพ คุณรสนา โตสิตระกูล

การเขียนหนังสือเพื่อบันทึกประสบการณ์ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ จึงถือว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยเอาไว้ด้วย

ตอนนั้นตั้งใจจะผลิตหนังสือเพื่อแจกคนที่มาร่วมงานวันเกิดของพ่อเท่านั้น แต่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยก็เสนอว่าจะพิมพ์และขายให้ด้วย

มาวันนี้ หนังสือ “นั่งคุยกับพ่อ ประสบการณ์ 50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตย” จึงวางตลาดแล้ว

นี่คือบางช่วงตอนจากหนังสือ ที่ฉายภาพหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาจนถึงวันที่พ่อตัดสินใจเข้าป่าครับ


รุตม์: หลังจากที่จบ 14 ตุลาคม พ่อกลับมาทำงานอาชีพตามปกติ
พ่อ: หลัง 14 ตุลาคม การเมืองมันเข้มข้น มันเป็นการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง ของประชาชน แปลว่าสิทธิเสรีภาพ การเรียกร้องต่างๆ ก็เกิดขึ้นทั่วไป ชาวนาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมเนื่องเพราะเจ้าของที่ดินเก็บค่าเช่าไปถึงครึ่งหนึ่ง สมมุติได้ข้าว 80 ถัง เจ้าของที่ดินเอาไปแล้ว 40 ถัง ตอนนั้นยังไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำนะ นายจ้างจ่ายวันละ 3 บาทก็ได้ กรรมกรก็เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ขอแค่ 12.50 บาท

อเมริกาตั้งฐานทัพ อุดร สัตหีบ นครพนม เอาระเบิดไปทิ้งที่เวียดนาม ทำไมต้องยอมให้อเมริกามาใช้ฐานทัพในเมืองไทย ทำให้ไทยเป็นอริกับเวียดนาม ก็มีการชุมนุมเดินขบวน

อาธีรยุทธกับพ่อและเพื่อนๆ เคลื่อนไหวต่อเนื่อง ตอนนั้นตั้งกลุ่มขึ้นชื่อ “กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (ปช.ปช.) มีสำนักงานเล็กๆ เป็นห้องแถวอยู่ที่ถนนสามเสน เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรม เคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้อง เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับฐานทัพอเมริกาในไทย อยากทำอะไรก็ทำ อาธีรยุทธเป็นหัวแถว ไปเห็นหมู่บ้านนาทราย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ที่นั่นทางการไปเผาทิ้งทั้งหมู่บ้านเลย มีเด็กกับผู้หญิงตายด้วย เราไปดูก็เห็นซากหมู่บ้านเป็นร้อยหลังคาเรือนถูกเผาหมด เป็นฝีมือของฝ่ายทหารสายเหยี่ยวในยุคนั้น

รุตม์: เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเหรอครับ
พ่อ: ตอนนั้นเขาเรียก “กอ.รมน.” กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีนายทหารสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง ที่นิยมใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ประชาชน เช่น ขว้างระเบิดใส่การชุมนุมไล่ฐานทัพอเมริกา ทีนี้อาธีรยุทธกับพ่อพาผู้ใหญ่บ้านของบ้านนาทรายชื่อผู้ใหญ่ลม มาแถลงข่าวหนังสือพิมพ์แล้วเปิดปราศรัยที่สนามหลวง เปิดโปงว่าทางการทำร้ายประชาชน

รุตม์: ตอนนั้นเป็นรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ใช่ไหม
พ่อ: ใช่

รุตม์: รัฐบาลป้องกันไม่ได้
พ่อ: เป็นนายก แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ คือทหารยังมีอำนาจมาก เราก็ต้องอาศัยวิธีนี้ อาศัยสังคมมาเปิดโปง ช่วงนั้นมีทั้งเหตุการณ์ไล่ฐานทัพอเมริกา เปิดโปงการฆ่าการเผาที่พัทลุง เขาเรียกว่า “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” ตอนนั้นการปราบคอมมิวนิสต์รุนแรง ใครที่ทางการสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์เขาก็จับใส่กระสอบขึ้นคอปเตอร์ถีบลงเขานะ บางส่วนก็เผาลงถังแดง เอาถังแดงถังน้ำมันใหญ่ๆ ใส่น้ำมัน ฆ่าให้ตาย ให้หมดลมหายใจก่อนแล้วค่อยใส่ถังเผาเพื่อทำลายหลักฐาน มีการเปิดโปง คนที่นำในการเปิดโปงคือ พินิจ จารุสมบัติ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายกรณี

รุตม์: งงว่าเขาออกมาเรียกร้องรัฐบาล แต่ทำไมทหารเป็นคนลงมือ
พ่อ: ในยุคนั้น ทหารสายเหยี่ยวยังมีอิทธิพล ตามแนวทางที่อเมริกาปลุกผีคอมมิวนิสต์เอาไว้

รุตม์: คนที่ออกมาเรียกร้องก็มักโดนข้อหาคอมมิวนิสต์
พ่อ: ตอนนั้นคอมมิวนิสต์เหมือนเป็นปีศาจที่น่าสะพรึงกลัว พรบ. คอมมิวนิสต์ ยังมีอยู่ เป็นข้อหาที่หยิบยกมาเล่นงานประชาชนได้โดยง่าย ขณะเดียวกัน การเข่นฆ่าและเผาที่กระทำต่อประชาชนเป็นปัญหามนุษยธรรม การเคลื่อนไหวต่างๆ มันไปคุกคามฝ่ายนายทุน ไปคุกคามเจ้าของที่ดิน ไปคุกคามเจ้าของโรงงาน ไปคุกคามทหาร จึงเกิดการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดงขึ้นมาโดยมีนายทหารระดับพลตรีคนหนึ่งเป็นหัวหอก

รุตม์: ตั้งขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีอะไรรองรับ ไม่ใช่องค์กร
พ่อ: ไม่ใช่องค์กรอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่รู้กันว่าเขาประกาศตัวเป็นกลุ่มกระทิงแดง เขาอาศัยพวกเด็กนักเรียนอาชีวะจำนวนหนึ่งไปเป็นมือเท้า พวกนี้ไม่กลัวตาย พร้อมใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ตอนขับไล่ฐานทัพอเมริกามีการเดินขบวนไปที่สถานทูต ผ่านสยามสแควร์ ก็มีการขว้างระเบิดโดยกลุ่มกระทิงแดง อดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งถูกสะเก็ดระเบิด ยังฝังอยู่ในร่างกายจนบัดนี้

รุตม์: คือเขาตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะปราบปรามนักศึกษาที่เขากล่าวโทษว่าก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันนี้คือสิ่งที่เขาโฆษณาว่าจำเป็นต้องทำอย่างนี้ ก็เลยเรียกคนออกมาช่วยรักษาความสงบ
พ่อ: ใช่จาก 14 ตุลาคม 16 ไปถึง 6 ตุลา 19 เขามีการเคลื่อนไหว 2 อย่าง หนึ่งคือเคลื่อนไหวทางวาทกรรม “ขวาพิฆาตซ้าย” พระรูปหนึ่งชื่อ กิตติวุฑโฒภิกขุ ซึ่งมีชื่อเสียงพอสมควรก็ออกมาประกาศว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” นักเขียน นักวิชาการ นักการเมืองหลายคนก็อยู่ฝ่ายขวา มีหน้าที่คอยเปล่งเสียงต่อต้านนักศึกษา ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ใช้ความรุนแรงมากระทำต่อนักศึกษาประชาชน

รุตม์: เขาออกมาต่อต้านนักศึกษาเพราะอะไรนะ
พ่อ: เขามองว่าสร้างความวุ่นวาย สร้างความปั่นป่วน ไม่รักประเทศชาติ เป็นคอมมิวนิสต์ แล้วในความเป็นจริงมันต้องยอมรับว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์เองก็มีการเคลื่อนไหวทางความคิดอย่างกว้างขวางในเวลานั้น ความคิดด้านสังคมนิยมเข้ามาเยอะ ทฤษฎีคาร์ล มาร์กซ์ ความคิดของ เลนิน ซึ่งเป็นต้นตำรับคอมมิวนิสต์ มีการนำมาศึกษากัน มันฟังดูดี ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน แรงงานสร้างโลก นายทุนเอาเปรียบกรรมกร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการจัดนิทรรศการจีนแดงยาวนานเป็นสัปดาห์ ความคิดเหมาเจ๋อตงก็เข้ามา เหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำการปฏิวัติจีน ขับไล่ญี่ปุ่น ต่อสู้กับอเมริกา เชกูวาร่าเป็นฮีโร่ของทางอเมริกาใต้ ถ้าทำให้ทุกคนในประเทศเท่ากันได้ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีนายทุนมาขูดรีดจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความสุข ความคิดสังคมนิยมเข้ามามีบทบาทมาก กลายเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ทางการเขามีเหตุผลที่จะต้องปราบปราม แล้วลุงไขแสง สุกใส กับพ่อและเพื่อนๆก็ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

รุตม์: ซึ่งสังคมนิยมต่างจากคอมมิวนิสต์ใช่มั้ยครับ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Socialist ใช่มั้ย
พ่อ: Socialist มีดีกรีอ่อนกว่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ถือว่าปัจจัยการผลิตอย่างที่ดินนั้นเป็นของรัฐ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว แต่ในวันนี้แทบจะหาเส้นแบ่งไม่ได้แล้ว เพราะประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนก็กลายเป็นทุนนิยมไปมากแล้ว แนวคิดหลักของสังคมนิยมเราในตอนนั้นคือต่อต้านจักรวรรดินิยม ไม่เอาต่างชาติเข้ามาครอบงำแบบมีฐานทัพ ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ที่ดินต้องเป็นของชาวนา กรรมกรต้องได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

รุตม์: ก็คือเพื่อปกป้องคนที่ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม คล้ายๆ ให้เขาลืมตาอ้าปากได้ คือเหมือนมี Safety Net ให้ประชาชน
พ่อ: จะว่าไปแล้วมันก็คล้ายๆ รัฐสวัสดิการน่ะ

รุตม์: สวัสดิการที่ทำให้คนตอนนี้เขาอย่างน้อยไม่ตกต่ำไปกว่านี้ แต่ไม่ได้ขอให้ทุกคนเท่าเทียมกันหรือว่าอะไรอย่างนี้ ก็คือยังต้องการให้มีการเลือกตั้งเหมือนเดิม เพียงแต่ว่านโยบายมันจะต้องช่วยเหลือคนจนมากกว่าช่วยเหลือนายทุนใช่ไหมครับ
พ่อ: ทำให้คนจนลืมตาอ้าปาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง ทำให้คนจนมีอำนาจต่อรอง ทำให้ทุนมีบทบาทที่เอื้ออาทรต่อคนยากคนจน เช่นเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่สุดของประเทศเกษตรกรรมอย่างเรา ถ้าจำกัดการถือครอง ถ้าแต่ละคนมีไม่เกิน 50 ไร่ มันก็จะเป็นเรื่องดี นายทุนครอบครองที่ดินมาเป็นของตัวเองแบบมีเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ อันนี้ทำไม่ได้ เป็นต้น อันที่จริงสมัยจอมพลป. ก็เคยออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน แต่ถูกยกเลิกไปในสมัย จอมพลสฤษดิ์

รุตม์: แล้วพ่อตั้งพรรคกับลุงไขแสง อาธีรยุทธ
พ่อ: ใช่ตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย มีคนร่วมเยอะ อาธีรยุทธด้วย แต่เขาไม่รับตำแหน่ง เขาร่วมคิด ธีรยุทธ บุญมี ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ชํานิ ศักดิเศรษฐ์

รุตม์: เป็นพรรคจดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว
พ่อ: เป็นพรรคจดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว ชื่อพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย หัวหน้าพรรคคือ พันเอกสมคิด ศรีสังคม เป็นอดีต ส.ส.จังหวัดอุดรธานี แล้วรองหัวหน้าพรรคก็คือลุงไขแสง สุกใส ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นเลขาธิการพรรค

รุตม์: อันนี้คือปี
พ่อ: ปี 2517

รุตม์: แล้วมีเลือกตั้งเมื่อไหร่นะครับ
พ่อ: เลือกตั้งต้นปี 18

รุตม์: พ่อลงด้วยหรือเปล่าครับ
พ่อ: พ่อลงด้วย ลงเขตโคราช สมัครกัน 30 กว่าคน พ่อได้ที่ 5

รุตม์: ทำไมถึงไปลงโคราช
พ่อ: เพราะลุงคำสิงห์ อยู่ที่นั่น ลุงคำสิงห์เป็นคนบัวใหญ่ ลุงคำสิงห์ดึงพ่อไปลงที่นั่น แล้วลุงคำสิงห์เป็นนักเขียน แวดวงนักเขียนก็รู้จักแกดี เคยเจอกันเคยพบปะสังสรรค์กันก่อนหน้าจะชวนไปลงเลือกตั้ง

รุตม์: นั่นเป็นการสมัคร ส.ส. ครั้งแรก
พ่อ: ใช่ แล้วก็ไม่ได้ เขตนั้นมี ส.ส.ได้ 3 คน พ่อได้คะแนนเป็นที่ 5

รุตม์: หาเสียงตอนนั้นเหมือนกรุงเทพฯ ที่ต้องไปลงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน ขึ้นเวทีปราศรัยรึเปล่า?
พ่อ: ต่างจังหวัดบ้านเรือนมันห่างกัน มันไม่ชิดกันแบบห้องแถว แต่ละหมู่บ้านก็ห่างกัน

รุตม์: ก็คือเดินก็ไม่ได้
พ่อ: ระหว่างหมู่บ้านต้องนั่งรถ วันหนึ่งปราศรัย 6-7 หมู่บ้าน ตอนนั้นในพรรคก็มี 3 คนที่ลงด้วยกัน ลุงคำสิงห์ พ่อ และลุงคำพอง พิลาสมบัติ

รุตม์: โอเค ปี 2517-2518 ก็คือเป็นการทำพรรคท่ามกลางบรรยากาศขวาพิฆาตซ้าย สิ่งที่ฝ่ายขวาเชื่อคืออะไรครับ
พ่อ: รักษาสถานะเดิมให้คงอยู่ หมายถึงว่า อย่ามาจำกัดการถือครองที่ดิน อย่ามาไล่ฐานทัพอเมริกา ฐานทัพอเมริกาทำให้ประเทศไทยไม่เป็นคอมมิวนิสต์อะไรอย่างนี้ อย่ามาต่อสู้เรียกร้องกับนายทุน ฝ่ายขวาเขาจะเป็นอย่างนั้น ที่ควรบันทึกไว้คือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เป็นรุ่นพี่พ่อที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นคนที่ชัดเจนมาก บอกเลยว่าต้องการสังคมที่เป็นธรรม ต้องไล่ฐานทัพอเมริกา ต้องการให้กรรมกรได้ค่าแรงขั้นต่ำ ต้องการปฏิรูปที่ดิน ยืนหยัดในแนวทางสร้างความเป็นธรรม ให้สังคม แต่กลับต้องเสียชีวิตวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519 แต่คืนวันที่ 28 ได้คุยกับพ่อ

รุตม์: คุยกับพ่อว่า
พ่อ: “ประสาร พวกเราต้องระวังตัวกันไว้นะ เวลานี้ กอ.รมน. เขาหมายหัวพวกเราไว้ 65 คน ชื่อประสาร ชื่อธีรยุทธ และชื่อเพื่อนๆใกล้ตัวพวกเรามีหมด เขาจะทำอะไรเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไปไหนมาไหนให้ระวังตัวให้ดี” พ่อก็รับฟัง พอรุ่งขึ้นแกก็ถูกฆ่า ถูกยิงทิ้งที่ปากซอยเข้าบ้าน แถววิภาวดี อาจารย์กำลังขับรถเข้าบ้านแล้วโดนดักยิงที่หน้าปากซอยบ้าน เดี๋ยวนี้ยังจับไม่ได้ ผู้นำชาวนาที่เขาต่อสู้เรื่องค่าเช่าที่เป็นธรรม ตายไป 19 คน มันก็มีปรากฏการณ์ ที่มันบ่มเพาะความรุนแรง
จากอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดให้มีการเลือกตั้งได้อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นนายก เป็นนายกได้แค่ 11 เดือนก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็ได้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช มาเป็นนายก มีการเดินทางกลับจากต่างประเทศในสภาพสามเณรของจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้มีการต่อต้าน ในที่สุดก็มีการปราบรุนแรงตอน 6 ตุลาคม 19 ที่ธรรมศาตร์และที่สนามหลวง

รุตม์: 6 ตุลาคมก็คือต่อต้านจอมพลถนอมที่กลับมาหรือ
พ่อ: ชนวนอยู่ตรงนั้น อยู่ที่การกลับมาของจอมพลถนอมตอนนั้น วีระ มุสิกพงศ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น วีระกานต์ มุสิกพงศ์) เขาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช วีระเขาอภิปรายในสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคของตนเองว่าทำไมยอมให้จอมพลถนอมบวชเณรกลับเข้าประเทศมาได้ อภิปรายแรงมาก ม.ร.ว.เสนีย์ ประกาศลาออกกลางสภา ถือว่าโดนลูกพรรคหยามหยัน
แล้วการชุมนุมในธรรมศาสตร์มันเกิดขึ้นเนื่องจากถนอมกลับมา แรงปะทะระหว่างซ้ายกับขวาแรงมากในเวลานั้น

รุตม์: ตอนนั้นพ่ออยู่ไหน
พ่อ: ตอนนั้นพ่อเข้าป่าแล้ว

รุตม์: พ่อเข้าไปก่อนเกิดเหตุ
พ่อ: พ่อเข้าไปตั้งแต่ 7 สิงหาคม 19

รุตม์: อะไรเป็นสัญญาณที่บอกว่าต้องเข้าแล้วล่ะ
พ่อ: พ่อถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายซ้าย มีสัญญาณว่ารัฐบาลคงจะอยู่ยากเพราะมีความขัดแย้งกันแรง สิ่งที่เห็นคือ ผู้นำชาวนาถูกฆ่า ผู้นำกรรมกรถูกขว้างระเบิด ดร.บุญสนอง ถูกยิงทิ้ง รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นอีกไม่นานคงมีการยึดอำนาจ และพวกเราก็จะอยู่ได้ยาก อาจถูกปราบหรือโดนกำจัดด้วยวิธีรุนแรง

รุตม์: สัญญาณมาจากสายคอมมิวนิสต์เหรอครับ
พ่อ: ไม่มีการบอกว่าเขาเป็นหรือไม่เป็น แต่พอรู้เป็นเลาๆ เขาชี้ให้เห็นว่าชีวิตไม่ปลอดภัยนะ อาจถูกฆ่าหรือถูกจับ จึงเสนอมาว่าจะเข้าป่าไหม เขาจะดูแลจัดการให้ อนาคตข้างหน้าค่อยว่ากันอีกที

รุตม์: ก่อนที่พ่อจะเข้าป่าพ่อก็ต้องไปร่ำลาใครบ้างไหมครับ ตอนนั้นย่ารู้รึเปล่า
พ่อ: ไม่รู้ ตอนนั้นใช้วิธีส่งจดหมาย จดหมายถึงปู่กับย่า บอกอยู่ไม่ได้ ขอเข้าป่า ส่งจดหมายถึงเจ้านาย ตอนนั้นพ่อทำงานเป็น Personnel Manager ของบริษัทไทยฟูจิ เป็นบริษัทผลิตงานพิมพ์ถุงพลาสติก

รุตม์: Personnel Manager เป็น HR หรือเป็นอะไร
พ่อ: ก็คืองาน HR นั่นแหละแต่สมัยนั้น มีเรื่องรับคน เรื่องสัมภาษณ์คน เรื่องค่าจ้างเงินเดือนอะไรต่างๆ ตอนนั้นยังไม่ได้เรียก HR เขาเรียกว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคล ออฟฟิศอยู่ฝั่งธนที่ใกล้ๆ วงเวียนใหญ่ พ่อก็ต้องเขียนจดหมายลาออก ก็ส่งจดหมายไปว่าลาออกจากตำแหน่ง แล้วก็จดหมายถึงปู่กับย่า

รุตม์: ทำไมถึงไม่ไปลาปู่กับย่าด้วยตัวเองล่ะครับ
พ่อ: ถ้าไปลาถึงตัวก็โดนเบรคสิ แล้วอาจจะข่าวรั่วไปถึงหูทางการอีก ใช้จดหมายดีที่สุด


เรื่องราวในป่าก็สนุกและตื่นตาไม่แพ้กัน ใครสนใจเรื่องการเมืองไทย หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปพบเรื่องราว behind the scenes ที่หาอ่านไม่ได้ที่ไหน

และเมื่ออ่านจบ นอกจากจะเข้าใจอดีตและปัจจุบันมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะรู้สึกอยากนั่งคุยกับพ่อมากขึ้นด้วยครับ

นั่งคุยกับพ่อ ประสบการณ์ 50 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตย ราคาเล่มละ 170 บาท หาซื้อได้ที่เว็บเคล็ดไทย นายอินทร์ และซีเอ็ดครับ