ความเจ็บปวดในวัยเด็กของ Will Smith

ธรรมดาผมจะไม่ค่อยเขียนเรื่องดารา
 
แต่วันนี้เห็นข่าว Will Smith ตบ Chris Rock บนเวทีออสการ์ หลังจากที่ Chris Rock พูดจาล้อเลียนภรรยาของเขาที่โกนหัว ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทที่ 1 ของหนังสือ “Will” อัตชีวประวัติที่ Will Smith ร่วมกันเขียนกับ Mark Manson
 
ผมขอยกบางส่วนมาไว้ตรงนี้ครับ
 
—–
 
บทที่ 1 – ความหวาดกลัว
 
ผมมองตัวเองว่าเป็นคนขี้ขลาดมาโดยตลอด ความทรงจำวัยเด็กของผมเกือบทั้งหมดมักจะเป็นตอนที่ผมกลัว กลัวเด็กคนอื่น กลัวเจ็บ กลัวอับอาย กลัวถูกมองว่าอ่อนแอ
 
แต่ส่วนใหญ่ในความทรงจำนั้น คือผมกลัวพ่อผมเอง
 
ตอนที่ผมอายุ 9 ขวบ ผมยืนมองพ่อต่อยแม่อย่างแรงจนแม่ล้มลงไปกองกับพื้น และแม่ถ่มน้ำลายออกมาเป็นเลือด
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องนอนคืนนั้น คือห้วงขณะที่หล่อหลอมตัวตนของผมมากกว่าห้วงขณะใดในชีวิต
 
ทุกอย่างที่ผมทำนับตั้งแต่วันนั้น ทั้งรางวัลและเกียรติยศ สปอตไลท์และความสนอกสนใจ บทบาทการแสดงและเสียงหัวเราะ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคำขอโทษทางอ้อมที่ผมมีให้แม่ที่คืนนั้นผมไม่ได้ทำอะไรเลย ที่ผมทำให้แม่ผิดหวัง ที่ผมไม่กล้าประจันหน้ากับพ่อ
 
ที่ผมขี้ขลาด
 
คนที่คุณได้รู้จักในนามของ Will Smith ผู้กำราบมนุษย์ต่างดาว ดาราหนังอันน่าตื่นตาตื่นใจ เป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างระมัดระวังเพื่อปกป้องตัวผมเอง เพื่อซ่อนตัวผมจากโลกภายนอก เพื่อซ่อนไอ้ขี้ขลาดคนนี้
 
—–
 
ผมมีชื่อเต็มๆ ว่า Willard Carroll Smith II
 
พ่อก็ชื่อ Willard เหมือนกัน
 
พ่อเกิดในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) และเคยรับราชการทหาร ดังนั้นเขาจึงมองทุกอย่างเป็น mission และเข้มงวดกับทุกคนในครอบครัว
 
ครั้งหนึ่งพ่อเคยใช้ผมไปซื้อบุหรี่ แต่ขากลับผมเจอเพื่อนที่มีของเล่นใหม่ เลยแวะคุยอยู่นานจนพ่อมาตาม
 
“แกทำอะไรอยู่เนี่ย? ฉันบอกให้แกมาทำอะไร?”
 
“ผมรู้ครับพ่อ แต่ผม-“
 
“บ้านเราใครคุม?”  (Who’s in charge?)
 
“พ่อหมายความว่าไงครับ”
 
“บ้านเราใครคุม ฉันหรือแก?”
 
“…พ่อเป็นคนคุมครับ”
 
“ถ้ามีผู้คุมสองคน ทุกคนจะตายกันหมด!! ถ้าแกจะเป็นคนคุมก็บอกฉันด้วย ฉันจะได้ให้แกเป็นหัวหน้า”
 
แล้วพ่อก็พูดต่อ
 
“เวลาฉันส่งแกมาทำภารกิจ มันมีทางออกได้แค่สองทาง หนึ่งคือแกทำภารกิจเสร็จสมบูรณ์ หรือสองก็คือแกตาย แกเข้าใจฉันมั้ย?”
 
“เข้าใจครับพ่อ”
 
แล้วพ่อก็ลากคอผมกลับบ้าน

—–
 
แม้ทุกคนในครอบครัวต้องเจ็บปวดกับความรุนแรงของพ่อ แต่แม่นั้นต้องรับมือกับพ่อมากกว่าใครทั้งหมด ถ้ามีสองคนเป็นผู้คุม ทุกคนจะตาย ดังนั้นแม่จึงไม่สามารถคุมอะไรในบ้านได้เลย
 
แต่แม่ของผมไม่ใช่คนที่จะยอมให้ใครมาสั่งได้ง่ายๆ แม่มีการศึกษาและหัวรั้น มีครั้งหนึ่งที่พ่อตบแม่ แล้วแม่ก็พูดกับพ่อว่า
 
“โอ้ พ่อชายชาตรี คิดว่าตบผู้หญิงแล้วจะทำให้เธอเป็นลูกผู้ชายหรือไง?”
 
แล้วพ่อก็ตบแม่อีกครั้งจนแม่ล้มลงไปกอง
 
แม่ลุกขึ้นมาสบตากับพ่อและพูดอย่างสงบว่า
 
“เธอจะตบจะตีฉันยังไงก็ได้ แต่อย่าคิดว่าจะทำให้ฉันเจ็บได้นะ” (“Hit me all you want, but you can never hurt me.”)
 
—–
 
พี่น้องทุกคนต่างจำคืนที่พ่อต่อยแม่ในห้องนอนได้ และแต่ละคนก็มีปฏิกิริยาแตกต่างออกไป
 
แฮร์รี่ ซึ่งแม้ตอนนั้นจะอายุแค่ 6 ขวบ แต่เขาก็พยายามจะเข้ามาขวางและปกป้องแม่ เขาจะทำอย่างนี้อีกหลายครั้งตลอดหลายปี ซึ่งบางครั้งเขาก็ทำสำเร็จ แต่สำหรับคืนนั้น แค่พ่อผลักแฮร์รี่ก็กระเด็นแล้ว
 
แฮร์รี่ได้เรียนรู้บทเรียนที่แม่ค้นพบเกี่ยวกับความเจ็บปวด เขาเจอสิ่งหนึ่งในตัวเขาที่ไม่อาจมีใครแตะต้องได้ นั่นก็คือต่อให้คุณจะตบจะตีเขาเท่าไหร่ คุณก็ไม่มีทางทำให้เขาเจ็บได้
 
แฮร์รี่เคยตะโกนใส่พ่อว่า “ถ้าอยากให้ผมหยุด พ่อต้องข้ามศพผมไปก่อน”
 
ในคืนเดียวกันนั้น เอลเลนพี่สาวของผมวิ่งไปซ่อนอยู่บนเตียง นอนตัวขด เอานิ้วอุดหูและร้องไห้ เธอจำได้ว่าคืนนั้นพ่อเดินผ่านมาที่ห้องนอนของเธอ พอได้ยินเสียงร้อง พ่อก็ถามว่า “จะร้องหาพระแสงอะไร”
 
หลังจากนั้นเอลเลนก็ตีตัวออกห่างจากทุกคน พอเริ่มโต เธอจะออกตระเวนราตรี กินเหล้าและสูบบุหรี่และไม่เคยโทรบอกใครว่าเธออยู่ที่ไหน
 
ส่วนผม หลังจากคืนนั้น ผมก็กลายเป็นคนชอบเอาอกเอาใจ เพราะผมเชื่อว่าถ้าทำให้พ่อหัวเราะและยิ้มได้ พวกเราทุกคนจะปลอดภัย เด็กชาย 9 ขวบในตัวผมตีความว่าความรุนแรงของพ่อนั้นเป็นความผิดของผมเอง
 
และไอ้ความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะเอาใจคนอื่น ทำให้คนอื่นหัวเราะ และดึงความสนใจออกห่างจากสิ่งที่อัปลักษณ์ และมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่สวยงาม นั่นแหละคือจุดกำเนิดของ entertainer ในตัวผม
 
แต่ในคืนวันนั้น ในห้องนอนห้องนั้น ที่ผมยืนตรงทางเดินแล้วเห็นกำปั้นของพ่อกระแทกกับใบหน้าของผู้หญิงที่ผมรักที่สุดในโลก ผมเห็นแม่ล้มลงไปกองกับพื้นและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผมได้แค่ยืนตัวแข็งทื่อ
 
ผมเป็นคนขี้กลัวมาตลอด แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักถึงการไม่ทำอะไรเลยของตัวเอง ผมเป็นลูกชายคนโต ผมยืนห่างจากตรงนั้นไม่ถึง 10 เมตร ผมเป็นเพียงคนเดียวที่จะช่วยแม่ได้
 
แต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลย
 
นั่นคือจุดที่อัตลักษณ์นั้นฝังแน่นอยู่ในใจ เข้าไปในชั้นล่างสุดของตัวตน เป็นความรู้สึกที่ไม่อาจสลัดทิ้ง
 
ไม่ว่าผมจะทำอะไร ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ไม่ว่าจะมีเงินเยอะเท่าไหร่ มีเพลงฮิตติดชาร์ตกี่เพลง หรือทำลายสถิติไปแล้วกี่ครั้ง มันก็ยังมีความรู้สึกอันเงียบงันที่สั่นไหวอยู่ลึกๆ ในใจผม ว่าผมมันเป็นไอ้ขี้ขลาด ผมมันล้มเหลว
 
ผมขอโทษ – แม่ครับ ผมขอโทษ
 
“รู้มั้ยว่าเวลามีคนคุมสองคนจะเกิดอะไรขึ้น? เวลามีคนคุมสองคน ทุกคนจะตายกันหมด!”
 
ค่ำคืนนั้น ในห้องนอนห้องนั้น ในวัยเพียง 9 ขวบ ผมเฝ้ามองแม่ล้มลงไปกองกับพื้นพร้อมกับครอบครัวที่พังทลายลง
 
ในเสี้ยววินาทีนั้นเอง ผมได้ตัดสินใจ และผมได้ให้คำมั่นสัญญาอันเงียบงันกับแม่ กับคนในครอบครัว และกับตัวผมเอง
 
ซักวันหนึ่ง ผมจะเป็นคนคุมเกม (One day, I would be in charge.)
 
และผมจะไม่มีวันปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด (And this would never, ever happen again.)
 

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Will by Will Smith and Mark Manson