ใช้ชีวิตให้ถูกกาลเทศะ

20181023c

กาล = เวลา
เทศ = ถิ่นที่

ถ้านี่เป็นเวลางาน และเรากำลังอยู่ที่ทำงาน เราก็ควรจะมีสมาธิกับการทำงานให้มากที่สุด

แต่พอเวลากลับถึงบ้านแล้ว เป็นเวลาเลิกงานแล้ว รายล้อมไปด้วยคนที่เรารักแล้ว เราก็ควรใส่ใจกับคนที่บ้านให้มากที่สุด

ความยุ่งเหยิงของชีวิตคนเมืองและการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ต ทำให้เราใช้ชีวิตไม่ค่อยถูกกาลเทศะ

อยู่ที่ทำงานก็มัวแต่ห่วงเรื่องที่บ้าน พอกลับถึงบ้านก็เปิดคอมทำงาน

เมื่อกายกับใจอยู่คนละที่ มันก็เลยไม่เต็มที่กับอะไรซักอย่าง

มาใช้ชีวิตให้ถูกทั้งกาละและเทศะ

อยู่ที่ทำงานก็ขอให้อยู่ที่ทำงาน

อยู่ที่บ้านก็ขอให้ได้อยู่บ้านจริงๆ ครับ

Easy Pass ด่านอโศก ลด 5 บาทแล้วนะครับ

20181031_easypass

สวัสดีครับ

เมื่อวานนี้ผมได้ไปร่วมงานแถลงข่าวของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่กำลังจะออกแคมเปญดังนี้

  • ผู้ใช้ Easy Pass วิ่งผ่านด่านอโศก ลดราคาจาก 50 บาทเหลือ 45 บาท
  • เฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนคือ 6.00-9.00 ในวันธรรมดา
  • บัตร MPass ก็ลดเช่นกัน
  • เริ่ม 1 พ.ย. – 28 ธ.ค. 2561

เหตุผลที่ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความ “ใครเบื่อรถติดบนทางด่วนพระราม 9 โปรดอ่าน!” เอาไว้ ซึ่งผมเสนอว่าถ้าเรารณรงค์ให้คนที่ใช้ทางด่วนด่านอโศกในชั่วโมงเร่งด่วนหันมาใช้ Easy Pass เพิ่ม 3,000 คัน จะบรรเทารถติดไปได้ไม่น้อย

ต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยแชร์บทความนี้ รวมถึงคุณโหน่ง วิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจคิดด้วยภาพ The Back of thee Napkin Thailand ที่นำเรื่องราวมาเล่าใหม่ให้เข้าใจได้ง่าย จนถึงหู (ถึงตา) คุณหนุ่ย พงศ์สุข แห่งแบไต๋ ไฮเทคที่นำไปต่อยอดเป็นวีดีโอที่มีคนดูหลายแสนคน  และน่าจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยคลอดแคมเปญนี้ออกมา

มีสามประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงในบทความนี้

1. ทำไมการทางพิเศษถึงทำแค่ด่านเดียว?
การทางพิเศษมีสัญญาสัมปทานผูกมัดอยู่ จึงไม่อาจลดแลกแจกแถมตามอำเภอใจได้ รายได้ที่ต้องแบ่งให้กับ BEM (ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง BMCL หรือ รถไฟฟ้ากรุงเทพ กับ BECL หรือ ทางด่วนกรุงเทพ) ต้องไม่กระทบ ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ การทางพิเศษจะถือว่าเป็นงบการตลาด

ถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าการทางพิเศษจะสูญเสียรายได้ไปประมาณ 6000 คัน x 5 บาท x 40 วันทำงาน = 1.2 ล้านบาท ซึ่งผมว่าไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับการลองชิมลาง เพราะแม้ว่าจะมีคนใช้ Easy Pass เพิ่มก็อาจจะยังติดอยู่ดีก็ได้  แต่ถ้าทำแล้วส่งผลดี เขาก็จะได้มีงบเหลือไปลองทำกับด่านอื่นๆ ดูบ้าง

ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อรถติดบนทางด่วนพระราม 9 คือพื้นผิวการจราจรที่มีไม่เพียงพอ รวมถึงการจัดการจราจรด้วย (มีรถที่ผ่านด่าน 25 บาทมาแล้วต้องเบี่ยงซ้ายลงพระราม 9 ในขณะที่ก็มีรถที่มาจากทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ที่ต้องการเบี่ยงขวาเข้าเส้นทางหลัก ทำให้บางทีตำรวจต้องหยุดการจราจรและทำให้รถติดไปจนถึงด่าน 25 บาท)

2. ที่ต้องทนใช้เงินสดเพราะต้องนำใบเสร็จไปเบิกบริษัท
มีหลายบริษัทเปิดให้พนักงานนำ “รายงานข้อมูลการใช้บัตร” Easy Pass มาเบิกได้แล้วนะครับ หน้าตาประมาณนี้ครับ

2018-10-31 07_11_02-EasyPassUsage_2018-10-31_07_10_56.pdf

ซึ่งผมว่าน่าเชื่อถือและจัดการง่ายกว่าใบเสร็จที่ได้จากการจ่ายเงินสดอีก

ลองไปคุยกับทีมบัญชีหรือเจ้าของบริษัทดูว่าใช้แทนใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีได้มั้ย

ผมว่าถ้าใส่ความยืดหยุ่นลงไปซักหน่อย มันควรจะทำได้ และสำหรับบริษัทมันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเมื่อคำนึงถึงเวลาและสุขภาพจิตของพนักงานที่ได้กลับคืนมาจากการใช้ Easy Pass

สำหรับคนที่มี Easy Pass ผมทำวิธีการไว้ให้แล้วที่ bit.ly/easypassregistration ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีครับ

สำหรับคนที่ยังไม่มี Easy Pass ก็ซื้อตอนเย็นขากลับจากทำงานก็ได้ครับ จะได้ไม่ต้องรีบ ผ่านด่านอโศกแล้วก็ชิดซ้ายเดินลงไปซื้อได้เลย

3. ไม่อยากเอาเงินไปกองไว้ใน Easy Pass ให้คนอื่นเอาไปทำประโยชน์
ผมแปลกใจเหมือนกันที่มีคนคิดอย่างนี้จำนวนไม่น้อย เอาเป็นว่าทีม PR ของการทางพิเศษที่ผมคุยด้วยเมื่อวาน บอกว่าเงินที่คุณเติมเอาไว้ การทางพิเศษไม่สามารถนำไปใช้ได้จนกว่าจะมีการใช้งานจริงครับ (แม้กระทั่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ยังเอาไปใช้ไม่ได้) เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งนั้น ยกเว้นคนที่ใช้ Easy Pass

เราทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี เรายอมจ่ายเงินเป็นหมื่นเพื่อซื้อมือถือดีๆ ยอมจ่ายเงินเป็นพันเพื่อกินอาหารดีๆ แต่ทำไมเราถึงไม่ยอมจ่ายเงิน 500 บาทใส่ไว้ใน Easy Pass เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น?

การเอาเงินสองหมื่นไปซื้อไอโฟน ก็คือการเอาเงินไปกองไว้เหมือนกัน แล้วเราก็ค่อยๆ ถอนทุนคืนด้วยการใช้งานมันทุกวันเป็นเวลาสองปีก่อนจะเปลี่ยนมือถือใหม่

เงินคือสิ่งที่เราเอาพลังชีวิตไปแลกมันมา ดังนั้นการใช้เงิน 500 บาทซื้อพลังชีวิตกลับคืนมาก็น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่านะครับ

แน่นอนว่า Easy Pass ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย พอแก้ตรงนี้ได้ปุ๊ป เดี๋ยวก็คงเจอปัญหาใหม่ให้แก้เพิ่มเติม แต่นั่นคือนิมิตหมายที่ดี เพราะอย่างน้อยเราก็ได้เริ่มก้าวแรกแล้ว ผมและคุณหนุ่ยได้ใช้ทักษะและความสามารถที่เรามีจุดประเด็นนี้ขึ้นมา และการทางพิเศษก็ได้ริเริ่มทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้ว

ก็เหลือแต่คนขับรถแล้วว่าจะเลือกทางไหน

จะบ่นเฉยๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาต่อไป

หรือจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทางออกครับ

ฟ้าตั้งกว้างมีเมฆดำก้อนเดียว

20181028_blackcloud

“มีเซเหมือนกันเวลาเจอคนหมั่นไส้เราแล้วก็ก่นด่าเราในเฟซบุ๊ค แต่ว่าผมถือว่าจำนวนน้อย ไม่เป็นไร…ฟ้าตั้งกว้าง มีเมฆดำลอยมาก้อนนึง มันเข้าเฟรมมาเดี๋ยวมันก็ลอยผ่านไป”
พิง ลำพระเพลิง The Standard Pop

ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้ แสดงว่าคุณมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนอีกหลายสิบล้านคนในประเทศไทย

มีการศึกษา มีเวลาอ่านบล็อก มีคอมหรือสมาร์ทโฟน มีตังค์จ่ายค่าเน็ต

เรามักจะมองไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพราะมันอยู่ใกล้เราจนเราลืมมันไป เหมือนนกไม่เห็นฟ้าปลาไม่เห็นน้ำ

สิ่งที่เรามักจะมองเห็นคือสิ่งแปลกปลอมในชีวิต ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหน

ซึ่งผมเชื่อว่านี่เป็นผลจากวิวัฒนาการที่สอนให้มนุษย์เราตรวจจับสิ่งแปลกปลอม เช่นเสียงแปลกๆ ในพุ่มไม้ หรือรอยเท้าของสัตว์ที่ไม่เคยเห็นในละแวกนี้ เพราะมันสำคัญยิ่งต่อการเอาชีวิตรอด

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเห็นเรื่องไม่เป็นใจ เพราะสมองเราถูกออกแบบมาอย่างนั้น แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ในหนึ่งเรื่องที่ไม่ดี ยังมีอีกร้อยเรื่องที่ดีๆ

ฟ้าตั้งกว้าง มีเมฆดำแค่ก้อนเดียว

อย่าเอาแต่จับจ้องเมฆดำก้อนนั้นจนลืมมองท้องฟ้าสีครามและสูญเสียโอกาสที่จะมีความสุขกับปัจจุบันไปนะครับ

จะทะเลาะกันใช้คนสองคน

20181028_quarrel

จะเลิกทะเลาะใช้แค่คนเดียว

เมื่อไหร่ก็ตามที่กำลังถกเถียงกันอย่างดุเดือด ให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้

ว่าเพียงเราหยุด การทะเลาะก็จะจบลงทันที

เพราะถ้าเราหยุด เขาก็ไม่รู้จะเถียงหรือไปทะเลาะกับใคร

แต่ถ้าเขายังชวนทะเลาะไม่เลิกล่ะ?

ก็ถือว่าเป็นบททดสอบว่าเราหยุดได้จริงรึเปล่า ถ้าเราหงุดหงิดตอบโต้ การทะเลาะก็กลับมาใหม่ แต่การทะเลาะจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ยังขึ้นอยู่กับเราอยู่ดีจริงมั้ย?

คนเราทะเลาะกันเพราะความโกรธ แต่ความโกรธก็เหมือนกับทุกอารมณ์คือเข้ามาแล้วก็จากไป

แทนที่จะราดน้ำมันลงกองไฟของกันและกัน สู้เดินออกมา รอเวลาให้ไฟมอดลงก่อน แล้วค่อยมานั่งจับเข่าคุยกันน่าจะดีกว่านะครับ

ปัญหาของเราก็เป็นปัญหาของเรา

20181028_hero

ปัญหาของเขาก็เป็นปัญหาของเขา

ชีวิตจะเริ่มวุ่นวายเมื่อเราเอาปัญหาของเราไปเป็นปัญหาของคนอื่น หรือเอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นปัญหาของเรา

คนที่เอาปัญหาของเราไปเป็นปัญหาของคนอื่น ก็คือคนที่พอเกิดปัญหาอะไรแล้วชอบโทษนู่นโทษนี่

โทษว่าเพื่อนร่วมงานไม่น่ารัก โทษว่าหัวหน้าใช้ไม่ได้ โทษว่าโชคร้าย โทษว่ามีแต่คนรังแก

อันนี้เรียกว่าเป็น victim’s mindset คือมองตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งคนไม่น้อยเป็น เพราะว่าไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องสบตากับความจริงว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเราตอนนี้เราล้วนมีส่วนเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งนั้น

ส่วนคนที่เอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นปัญหาของเราก็เช่นคนที่เดือดเนื้อร้อนใจไปกับข่าวดราม่าต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องชาวบ้าน เรื่องดารา หรือเรื่องนักการเมือง เพราะเรื่องราวเหล่านี้มันกระตุ้นต่อมศีลธรรมของเราให้พองโตได้ดียิ่งนัก เราจึงเมามันไปกับการแสดงความเห็นทั้งบนโต๊ะกินข้าวและในช่องคอมเมนท์ตาม social network

ประเด็นก็คือความเห็นเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย หรือทำให้ชีวิตของตัวเอกในข่าวดีขึ้นแต่ประการใด

ในภาษาของพี่ต่อ ฟีโนมีน่า การกระทำอย่างนี้เรียกว่า “ไม่สร้างการผลิต

อีกตัวอย่างหนึ่งของคนที่เอาปัญหาคนอื่นมาเป็นปัญหาของตัวเอง ก็คือคนที่ชอบโทษว่าตัวเองผิดเวลาที่คนอื่นมีปัญหา

“แฟนกำลังเครียดกับเรื่องงาน เดี๋ยวเราร่อนเรซูเม่หางานใหม่ให้แฟนดีกว่า”

“เพื่อนร่วมงานคนนี้ดูเศร้าๆ ต้องเป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยได้ชวนเธอคุยแน่เลย”

“ลูกเพื่อนเซลฟี่ขึ้นเฟซบ่อยจัง เมสเสจไปเตือนหน่อยดีกว่า”

ดูแล้วเหมือนปรารถนาดี แต่จริงๆ ภายใต้ความคิดเหล่านี้ เราอาจกำลังมองว่าตัวเองเป็นฮีโร่ที่ต้องคอยเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น และเมื่อทำสำเร็จเราก็จะได้รับการยอมรับและความรักกลับคืนมา

ไม่ได้จะบอกว่าเราต้องเป็นคนไม่มีน้ำใจและนิ่งดูดายนะครับ เพียงแต่ต้องมองให้ออกว่าเจตนาที่แท้จริงของเราคืออะไร ถ้าจะช่วยก็เพื่อจะช่วยจริงๆ ไม่ใช่ช่วยเพื่อให้เราได้อะไรบางอย่าง

อย่าเอาปัญหาของเราไปเป็นปัญหาของเขา เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

อย่าเอาปัญหาของเขามาเป็นปัญหาของเรา เพราะเวลามีจำกัด และทุกคนต่างมีวิบากเป็นของตัวเองครับ