อย่าใช้ชีวิตเหมือนเพลงรักที่ไม่มีท่อนฮุค

ท่อนฮุคคือท่อนที่เพราะที่สุดในเพลง ทั้งในแง่ทำนองและเนื้อร้อง มันคือสิ่งที่จะปรากฎออกมาในห้วงคำนึงอยู่เสมอแม้ว่าเราจะไม่ได้ฟังเพลงนั้นมานานแค่ไหนแล้วก็ตาม

ชีวิตก็ควรเป็นเช่นนั้น เราควรจะเก็บสะสมท่อนฮุคในชีวิตเอาไว้

ท่อนฮุคช่วงเวลาที่เรารู้สึกแนบแน่นกับชีวิต อาจจะเป็นอารมณ์ที่หวือหวาตอนได้ไปเที่ยวที่สนุกๆ หรือเป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ในยามที่ยลแสงตะวันพาดทับขอบฟ้าบนหุบเขา หรือเป็นโมเมนต์เล็กๆ ที่เราเห็นรอยยิ้มหรือได้ยินเสียงหัวเราะของคนที่เรารัก

การต้องอยู่กับบ้านตลอดช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสสะสมท่อนฮุคไปพอสมควร

ตอนนี้หลายคนได้ฉีดวัคซีนแล้ว แม้จะอีกนานกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ แต่เราก็ควรเริ่มวางแผนเพื่อจะหาท่อนฮุคมาเติมสีสันให้ชีวิตกันอีกครั้งนะครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Hometown Cha-Cha-Cha

คำพูดที่ออกจากปากเอากลับคืนมาไม่ได้

สิ่งที่มาพร้อมกับอายุ คือความยับยั้งชั่งใจ

แม้จะยังไม่รู้ว่าต้องพูดยังไงถึงจะถูก แต่เราจะรู้ว่าพูดอะไรแล้วผิดแน่ๆ

ถ้าพูดออกมาแล้วมันมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ก็อย่าพูดมันออกมาเลย

ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วยากมาก โดยเฉพาะตอนที่อีกฝ่ายพูดจาไม่เข้าหูจนเราคันปากยุบยิบ

ต้องเตือนตัวเองว่าสำคัญกว่าการเถียงชนะคือการรักษาความสัมพันธ์ เพราะชัยชนะเหนือเพื่อนรักหรือคนที่เรารักนั้นสร้างบาดแผลให้ทั้งสองฝ่าย

และแม้จะเตือนตัวเองไว้ดีแล้ว แต่บางครั้งเราก็ยังเผอเรอพูดคำบางคำที่ทำร้ายอยู่ดี

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ขอให้นึกถึงประโยคที่หัวหน้าฮงพูดกับหมอฟันใน Hometown Cha-Cha-Cha

น้ำหกจากแก้วไปแล้ว เราเอาน้ำกลับคืนใส่แก้วไม่ได้

แต่เราขอโทษที่ทำน้ำหกได้นะครับ

Empathy คือทักษะสำคัญที่สุดของผู้นำยุคนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีบทความหนึ่งของ Forbes ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ

บทความนี้มีชื่อว่า Empathy Is The Most Important Leadership Skill According To Research เขียนโดย Tracy Brower

ในบรรดาทักษะทั้งหมดที่ผู้นำจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างทีมงานที่พนักงานรู้สึก engaged มีความสุข และปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่นั้น empathy หรือความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นคือทักษะที่สำคัญที่สุด

เหตุผลที่ empathy สำคัญกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะ COVID-19 ส่งผลให้สภาพจิตใจของคนทำงานนั้นย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

จากการเก็บข้อมูลจากทั่วโลกของ Qualtrics พบว่า 42% ของผู้คนรู้สึกว่าสุขภาพจิตแย่ลง

ถ้าเจาะให้ลึกไปกว่านั้น 67% ตอบว่ารู้สึกว่าเครียดขึ้น 57% มีความกังวลใจมากกว่าเดิม 54% รู้สึกหมดแรงทางอารมณ์ (emotionally exhausted) และ 28% รู้สึกว่าไม่สามารถโฟกัสกับงานได้

อีกงานวิจัยหนึ่งก็พบว่า ความเครียดจากงานทำให้นอนหลับไม่สนิท และมักทำให้เผลอปล่อยพลังงานลบใส่คนอื่นโดยเฉพาะกับแฟนหรือคู่สมรส

จากการศึกษาของ Carleton University ก็พบว่า เมื่อพนักงานต้องเจอกับ “ความป่าเถื่อน” (incivility) จากเพื่อนร่วมงาน ก็จะส่งผลให้ตัวเองทำหน้าที่พ่อแม่ได้แย่ลง ส่วนงานวิจัยชิ้นใหม่ของ Georgetown University ก็พบว่าความเถื่อนในที่ทำงานนั้นกำลังขยายวงกว้างและส่งผลให้พนักงานไม่ค่อยร่วมมือกัน

เมื่อเราต้องลำบากกับสภาวะ burnout และหาความสุขจากการทำงานไม่ค่อยได้ การมีเจ้านายที่มี empathy คือแสงสว่างสำหรับคนทำงานโดยแท้ทรู

ในงานวิจัยล่าสุดของ Catalyst ที่สำรวจพนักงาน 889 คนได้พบความแตกต่างระหว่างองค์กรที่ผู้นำมีหรือไม่มี empathy ดังนี้

หัวข้อ / องค์กรที่ผู้นำมี empathy / องค์กรที่ผู้นำไม่มี empathy

Engagement ความรู้สึกผูกพันกับองค์กร / 76% / 32%

Ability to be Innovative ความสามารถที่จะคิดใหม่ทำใหม่ / 61% / 13%

Retention ความรู้สึกอยากอยู่กับองค์กรต่อไป / 57% / 14%

Inclusivity ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร / 50% / 17%

Work-Life Navigation ความสามารถในการจัดสรรเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว / 86% / 60%

Empathy เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เกิด งานวิจัยของ Lund University นั้นพบว่าเด็กอายุแค่ 2 ขวบก็รู้แล้วว่าคนอื่นๆ ไม่ได้คิดและรู้สึกเหมือนตัวเอง

Empathy ของผู้นำนั้นมีได้สองแบบ:

Cognitive Empathy รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง

Emotional Empathy รู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง

แต่ผู้นำที่ดีต้องไม่ใช่แค่รู้ว่าคนอื่นคิดหรือรู้สึกยังไง เขาต้องแสดงออกด้วยว่าเป็นห่วงเป็นใยและถามลูกทีมกันตรงๆ พร้อมทั้งตั้งอกตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกน้องจะพูดด้วย

เราสามารถเป็นหัวหน้าที่มี empathy โดยไม่จำเป็นต้องเรียนด้านจิตวิทยามาก่อน เพียงแค่คุยกับลูกทีมบ่อยๆ และหัดสังเกตสังกา และหากหัวหน้ารู้ว่าองค์กรที่อยู่นั้นมีเครื่องมืออะไรที่จะช่วยซัพพอร์ตสภาพจิตใจของพนักงานได้บ้างก็ยิ่งเป็นเรื่องดี

การเป็นผู้นำที่มี empathy จึงไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายหรือการเล่นวาทะ แต่มันต้องแสดงออกมาจากใจและลงมือทำจนคนเชื่อว่าเราแคร์

เหมือนคำฝรั่งที่บอกว่า people may not remember what you say, but they will remember how you made them feel.

คนคนหนึ่งอาจจะลืมสิ่งที่เราพูด แต่เขาจะไม่มีวันลืมว่าเราเคยทำให้เขารู้สึกอย่างไรครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Forbes: Empathy Is The Most Important Leadership Skill According To Research by Tracy Brower

หาจุดที่เกมพลิก

Nassim Taleb ผู้เขียน The Black Swan บอกไว้ว่า ชีวิตคือการหาให้เจอว่าจุดที่เกมพลิก (reversal point) อยู่ตรงไหน

“เกมพลิก” ในที่นี้คือความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ มือถือ และสิ่งต่างๆ ที่เราหาซื้อ

ถ้าเราซื้อมือถือราคา 5,000 บาท เราจะเป็นเจ้าของมัน

ถ้าเราซื้อมือถือราคา 50,000 บาท มันจะเป็นเจ้าของเรา

จากที่เคยเป็นสิ่งที่เราซื้อไว้ใช้สอย เราจะกลายเป็นคนรับใช้ให้กับมัน

ต้องซื้อเคส ต้องติดฟิล์ม ต้องระวังไม่ให้ใครมาขโมย ต้องห้ามทำตก หากมีรอยขีดข่วนแม้แต่นิดเดียวเราก็ทุกข์ร้อนขึ้นมาทันที

ไม่ได้บอกว่าเราควรซื้อมือถือราคา 5,000 บาท แค่จะบอกว่าถ้าอยากมีชีวิตที่สมดุล เราก็ต้องหาจุดสมดุลในสิ่งที่เราซื้อ เพื่อที่เราจะได้มีของที่คุณภาพดีไว้ใช้ ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้ราคาสูงเสียจนเรายึดติดกับมันเกินไป

จะได้มีจิตใจที่เบาสบาย ไม่ต้องมาคอยพะวงกับเรื่องที่ไม่ได้มีแก่นสารอะไรครับ

พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นเป็นคนแรก

James Clear ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits บอกไว้ว่า วิธีการสร้างอุปนิสัยใหม่ๆ นั้นมีสองขั้นตอนด้วยกัน

  1. ตัดสินใจว่าเราอยากเป็นคนแบบไหน
  2. พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นด้วยการทำเรื่องง่ายๆ ให้สำเร็จ

สมมติว่าเราอยากเป็นคนที่ดูแลสุขภาพมากกว่าเดิม วิธีการง่ายๆ ก็อาจจะเป็นการเข้าแอปสั่งอาหาร ค้นหาคำว่าสลัด และสั่งมากินเป็นมื้อเย็น

หรือถ้าเราอยากเป็นคนที่ใช้เวลากับมือถือให้น้อย ก็อาจจะชาร์จมือถือทิ้งไว้นอกห้องนอนตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ

ถ้าเราอยากเป็นคนที่เติบโตขึ้นทุกวัน ก็อ่านหนังสือดีๆ เป็นสิ่งแรกตอนตื่นนอนหรือสิ่งสุดท้ายตอนเข้านอน แค่วันละ 2-3 หน้าก็พอ

ไม่จำเป็นต้องเล็งผลเลิศ ไม่จำเป็นต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แค่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการกระทำก็พอ

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือทำให้ตัวเองเชื่อก่อนว่าเราสามารถเปลี่ยนเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ครับ