กายหยาบมนุษย์ไม่สามารถรองรับได้

20190430b

กับสิ่งล่อตาล่อใจทั้งในมือถือและทีวี

กับข่าวสารที่ถาโถมทุกช่องทาง

กับงานที่ติดตัวไปทุกหนแห่ง

กับเวลาพักผ่อนอันน้อยนิด

กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เราทำเป็นกิจวัตรทั้งๆ ที่เมื่อสิบปีก่อนเราไม่เคยต้องทำเลย (ตอบไลน์ รีทวีต อัพสตอรี่)

กับความตึงเครียดและพลังงานลบ

กับอาหารและเครื่องดื่มที่เรานำเข้าปาก

กับวิถีทุนนิยมที่บอกให้เราเติบโตและบริโภคไม่จบไม่สิ้น

กับเวลาเพียง 80 ปีบนโลกมนุษย์

หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา input ที่มนุษย์ได้รับในแต่ละวันน่าจะโตขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า ในขณะที่ร่างกายเราแทบไม่ต่างอะไรกับบรรพบุรุษ Homo Sapiens ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาเมื่อ 150,000 ปีที่แล้วเลย

ถ้าไม่รู้จักคัดสรรสิ่งที่เรารับเข้ามา ร่างกายของเรารับไม่ไหวแน่นอน

—–

เปิดรับสมัคร Storytelling with Powerpoint Presentation รุ่นที่ 3 วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 62 ที่ Sook Station (BTS อุดมสุข) bit.ly/tgimstory3 (เหลือ 17 ที่)

เช้าทำงานใหญ่บ่ายทำงานเล็ก

20190430

วิธีการจัดการเวลาอย่างหนึ่งที่ผมลองแล้วเวิร์คคือการทำงานใหญ่ในช่วงเช้าและงานย่อยในช่วงบ่าย

ช่วงเช้าเป็นช่วงที่เรามี willpower มากที่สุด ยิ่งถ้าเรามาถึงออฟฟิศเร็วกว่าใครเขาด้วยแล้วล่ะก็ เราจะมีช่วงเวลานาทีทองในการทำงานที่ high impact ซึ่งยากและใช้เวลายาวนานกว่าจะเข็นออกมาได้ แต่ถ้าทำสำเร็จมันจะส่งผลต่อทีมและต่อองค์กรมากกว่างานชิ้นเล็กๆ รวมกันเป็นร้อยชิ้นเสียอีก

แต่ก่อนจะทำงานใหญ่ในตอนเช้าได้ เราก็ต้องสร้างสถานการณ์ที่เอื้อให้เราทำงานได้อย่างมีสมาธิด้วย ถ้าเป็นไปได้ผมจะไม่นัดประชุมช่วงเช้าเลย เพื่อจะได้มีเวลาโฟกัสกับงานเดียวได้เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่มีอะไรมาแทรก (แต่ไม่ได้แปลว่าให้ตัวติดโต๊ะตลอดเวลานะครับ ควรจะพักเข้าห้องน้ำห้องท่าและทำอะไรเพื่อรีเฟรชตัวเองด้วย)

อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราทำงานใหญ่ตอนเช้าได้คืออย่าเพิ่งเช็คอีเมล ค่อยเช็คตอนสิบโมงกว่าๆ ก็ไม่เสียหาย ถ้ามันด่วนและสำคัญมากจริงๆ เขาคงโทร.มาแล้ว

ส่วนภาคบ่ายนั้นเราควรเก็บไว้ทำงานที่ไม่ต้องใช้สมาธิเยอะมากนัก จะประชุม ตอบเมล รีวิวงาน คุยกับคนนั้นคนนี้เพื่อให้งานเดินต่อไปได้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ ที่สำคัญควรเป็นงานที่ไม่ต้องใช้เวลามากเกินไปนัก เพราะช่วงบ่ายๆ เราไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งไหนได้นานๆ หรอก

ลองลิสต์งานชิ้นเล็กๆ ออกมาซัก 10-20 ชิ้น แต่ละชิ้นใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที แล้วลองตะลุยทำงานพวกนี้ดู จะรู้สึกว่าตอนบ่ายผ่านไปโดยไม่เหนื่อยและไม่เนือยเกินไปนัก พอหมดวันเราจะเคลียร์งานเสร็จไปได้เยอะเลยทีเดียว

ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ

—–

เปิดรับสมัคร Storytelling with Powerpoint Presentation รุ่นที่ 3 วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 62 ที่ Sook Station (BTS อุดมสุข) bit.ly/tgimstory3 (เหลือ 17 ที่)

เราสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองได้เสมอ

20190429_justify

และตรงนี้แหละที่อันตราย

เพราะคนเรามี 4 มาตรฐาน

หนึ่งให้ศัตรู สองให้คนอื่น สามให้คนใกล้ตัว และสี่ให้ตัวเอง

เราเข้มงวดกับศัตรู และผ่อนปรนให้ตนเองเสมอ

เวลามีข่าวดราม่าอะไร เราจึงสนุกกับการไปร่วมแสดงความเห็น ประณามตัวร้ายในละครเรื่องนี้ เพราะมันทำให้เรารู้สึกดี ภาษาฝรั่งเรียกว่า moral superiority

แต่พอคนใกล้ตัวเป็นเสียเอง หรือเราเป็นเสียเอง เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนเลวร้ายอะไร แค่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับเท่านั้นเอง

สิ่งที่ทำได้ คือลดช่องว่างทางมาตรฐาน

เพิ่มมาตรฐานให้ตนเอง ลดมาตรฐานให้คนอื่น

เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ไม่พลั้งเผลอกลายเป็นผู้ร้ายในดราม่าเสียเอง

วิธีรับมือเวลาลูกถามว่า “ทำไม” ติดๆ กัน

20190427

ใครเคยดูการ์ตูน “อิ๊กคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา” คงจะจำได้ว่าอิ๊กคิวซังนั้นแพ้ทาง “เจ้าหนูจำไม” ที่ชอบถาม “จำไม” (ทำไม) ต่อๆ กันจนอิ๊กคิวซังเดินถอยหลังจนตกน้ำ

คนที่เป็นพ่อ-แม่ทุกคนก็ย่อมได้เจอเจ้าหนูจำไมในชีวิตจริงเช่นกัน

นั่นก็คือลูกของเราเอง

แม้ว่าเราจะรักลูกแค่ไหน แต่พอลูกถามทำไมบ่อยๆ เข้า มันก็อดไม่ได้ที่จะมีอารมณ์รำคาญและอยากตอบแบบขอไปที

แต่ผมไปเจอคำตอบใน Quora ประเด็นนี้พอดี และคิดว่ามีประโยชน์มาก เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เวลาเด็กตัวน้อยถามว่า “ทำไม” นั้น เขาไม่ได้มองหาคำตอบใดคำตอบหนึ่งเหมือนเวลาผู้ใหญ่ถาม

คำถามว่า “ทำไม” ของเด็ก มันมีความหมายประมาณว่า “เล่าให้หนูฟังมากกว่านี้หน่อย” (Tell me more about this topic)

เหตุผลที่เค้าใช้คำถามว่า “ทำไม” เป็นเพียงเพราะว่าเขาไม่รู้วิธีการตั้งคำถามในรูปประโยคอื่นเท่านั้นเอง

เวลาเราเจอคำถามว่า “ทำไม” ครั้งแรก เราควรตอบตามปกติ แต่ถ้าเขาถามว่า “ทำไม” อีก ลองแปลคำถามนี้ว่า “เล่าให้ฟังเพิ่มหน่อยสิ”

ตัวอย่างเช่น

“พ่อครับ ทำไมมดต้องเดินลงรูกันด้วยครับ”

“อ๋อ มันเป็นรูที่เข้าไปสู่รังมดน่ะครับ มดพวกนี้เค้ามีบ้านหลังใหญ่ใต้ดินที่เรามองไม่เห็น”

“ทำไมล่ะครับ”

“เพราะบ้านของมันอยู่ตรงนั้นไง”

“ทำไมล่ะครับ”

(ตอนนี้เราจะเริ่มหงุดหงิดแล้วเพราะคิดว่าเราตอบคำถามไปเรียบร้อยแล้ว แต่จริงๆ แล้วเด็กเค้าแค่อยากจะรู้รายละเอียดเพิ่ม แต่ถามวิธีอื่นไม่เป็น)

“เพราะมดอยู่ด้วยกันในบ้านหลังใหญ่ที่มีโพรงเต็มไปหมด มีทั้งมดงาน มีทั้งมดนางพญา รวมถึงไข่มดเม็ดเล็กๆ อีกด้วยนะ มดพวกนี้ขยันดูแลบ้านของมันให้สะอาดทุกวัน มันก็เลยขนเม็ดทรายไปมาตลอดเวลา มดที่เป็นเบบี๋กินเก่งมาก ส่วนมดนางพญาจะเป็นคนสั่งมดทุกตัวว่าต้องทำอะไรบ้าง”

เมื่อได้ฟังคำตอบประมาณนี้ เด็กจะยิ่งสนใจเรื่องมดมากขึ้นไปอีก แต่จะยังไม่ถามว่า “ทำไม” เพิ่ม เพราะข้อมูลที่เราให้เขานั้นก็มากเพียงพอที่จะเอาไปคิดต่อได้อีกซักพัก

ขั้นตอนถัดไป (ถ้าเรามีเวลา) คือหาหนังสือเกี่ยวกับมดมาอ่านให้เขาฟัง หรือไม่ก็ลองเอาอาหารวางไว้ใกล้ๆ รังมดแล้วรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำอะไรก็ได้ที่จะกระตุ้นความสนใจของเด็กในเรื่องนี้ต่อไป

จำไว้ว่า “ทำไม” เป็นคำถามที่เป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะนั่นแสดงว่าลูกของเรากำลังสนใจใคร่รู้ความเป็นไปในโลกใบนี้ และสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เราจะทำกับเด็กได้ก็คือการทำให้เขารู้สึกไม่ดีเวลาเขาถามคำถาม เช่นตอบแบบขอไปที หรือพูดตัดบทว่าเลิกถามได้แล้ว

ขอให้รับมือกับเจ้าหนูจำไมได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปนะครับ!

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Quora: Shulamis Ossowsk’s answer to How do you manage the typical toddler asking the question “why” over and over again?

เปิดรับสมัคร Storytelling with Powerpoint Presentation รุ่นที่ 3 วันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 62 ที่ Sook Station (BTS อุดมสุข) bit.ly/tgimstory3

นิทานลูกสาวพระพาย

20190426_wind

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ชายหนุ่มหลงรักหญิงสาวคนหนึ่งมานานแล้ว เขาจึงคิดว่าจะต้องรวบรวมความกล้าเพื่อบอกรักเธอเสียที

แต่หญิงสาวคนนี้เป็นคนเฉลียวฉลาดมาก เขาจึงใคร่ครวญอยู่นานว่าจะบอกรักเธออย่างไรดี

วันหนึ่งเมื่อสบโอกาสเหมาะ เขาจึงถามเธอว่า

“คุณเป็นลูกสาวของพระพายหรือเปล่า”

หญิงสาวแปลกใจ

“ทำไมถึงคิดอย่างนั้นล่ะ”

ชายหนุ่มมีกำลังใจขึ้น

“เวลาผมอยู่ใกล้คุณ ผมรู้สึกสบายใจจังเลย คุณทำให้ผมผ่อนคลาย เบาสบาย เหมือนมีสายลมอันสดชื่นพัดผ่านตลอดเวลา”

หญิงสาวยิ้ม

“เหรอคะ แต่บางครั้งสายลมอันเบาสบายก็อาจกลับกลายเป็นพายุได้เช่นกัน ในเวลาเช่นนั้น คุณจะทำยังไงคะ?”

—–

ขอบคุณนิทานจาก Thai Plum Village