12 เรื่องสุดเจ๋งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ Thomson Reuters

ผมเริ่มทำงานที่ทอมสันรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546

หรือถ้าเขียนเป็นตัวเลขภาษาอังกฤษก็จะได้ วันที่สามเดือนสามปีศูนย์สาม (03/03/03)

วันนี้จึงเป็นวันครบรอบ 12 ปีที่ทำงานที่นี่พอดีครับ

เลยขออนุญาตนำเสนอ 12 เรื่องราวสุดเจ๋งของ Thomson Reuters ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

0. เราเปลี่ยนชื่อเป็น Thomson Reuters มา 7 ปีแล้ว

ผมนับเป็นข้อ 0 เพราะไม่นับว่าเป็นเรื่อง “สุดเจ๋ง” แต่เป็นเรื่องที่ควรรู้เพื่อปูพื้นนะครับ

บริษัทรอยเตอร์ ก่อตั้งโดยชาวยิวชื่อ Paul Julius Reuter (ไม่มี ‘s’) ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1851  หรือ พ.ศ.2394 ตรงกับปีที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์พอดี

บริษัททอมสัน ก่อตั้งโดยชาวแคนเนเดียนนาม Roy Thomson ที่ประเทศแคนาดาเมื่อปีค.ศ.1934 หรือพ.ศ.2477 หรือหลังจากที่เมืองไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 2 ปี

และเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ช่วงสงกรานต์ พ.ศ.2551 บริษัท Thomson ก็ได้ควบรวมกับบริษัท Reuters กลายเป็น Thomson Reuters โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์ค

thomson_reuters_logo

ส่วนที่เมืองไทยเรามีบริษัท Reuters (Thailand) Ltd. และ Reuters Software (Thailand) Ltd. ซึ่งบริษัทแรกนั้นดูแลเรื่องงานข่าวและงานขายเป็นหลัก ส่วน Reuters Software ก็พัฒนาซอฟท์แวร์ตามชื่อครับ โดยทั้งสองบริษัทยังคงใช้ชื่อนี้อยู่แม้บริษัทแม่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Thomson Reuters แล้วก็ตาม

1. เราไม่ได้เป็น (แค่) สำนักข่าว

พ่อผมชอบแนะนำคนอื่นๆ ว่า “ลูกทำงานอยู่สำนักข่าวรอยเตอร์”

ก็ได้ครับพ่อ!

เพราะคนไทยจะรู้จักรอยเตอร์ในฐานะสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีนักข่าวสองพันกว่าคน และมีคนหนึ่งพันล้านคนที่ได้เสพข่าวจากรอยเตอร์ทุกวัน

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สำนักข่าวรอยเตอร์คือธุรกิจที่เล็กที่สุดของเรา!

โปรดดูพายชาร์ทด้านล่าง

TRBusiness

จะเห็นว่ารายได้ของข่าว (Reuter News) เป็นเพียง 2% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนรายได้เกินกว่าครึ่งมาจากธุรกิจด้านการเงิน (Financial & Risk) ซึ่งก็คือการขายซอฟท์แวร์และข้อมูลให้กับโบรคเกอร์และสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการซื้อขายหุ้นและเงินตราต่างประเทศนั่นเอง

รายได้ของ Thomson Reuters เมื่อปี 2014 คือ 12,600 ล้านดอลล่าร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 408,000 ล้านบาท

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ทอมสันรอยเตอร์มีรายได้มากกว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่สามเจ้าในเมืองไทยรวมกัน (AIS+TRUE+DTAC = 359,000 ล้าน)

2. เราเป็น Software Development Center ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย

บริษัทของเราตั้งอยู่ที่ตึกอื้อจื่อเหลียง ถนนพระราม 4 (ตรงข้ามสวนลุมพอดี) มีออฟฟิศอยู่ทั้งหมด 8 ชั้น และ 90% เป็นพนักงานด้าน IT ไม่ว่าจะเป็น software engineer, quality assurance engineer, support consultant, project manager, network engineer, software process specialist, technical specialist และ architect

เราเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ CMMI Level 5 (CMMI นั้นคล้ายกับมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO ครับ แต่ใช้กับพวกบริษัทซอฟท์แวร์  ส่วน Level 5 คือระดับสูงสุด)

นอกจากนั้นเรายังเป็นองค์กรที่ใช้ Agile methodology ในการทำซอฟท์แวร์ที่มีคนใช้งานอยู่ทั่วโลกอีกด้วย

3. คนไทยเป็นตัวหลักในการสร้างหนึ่งในโปรดักท์ที่สำคัญที่สุดของบริษัท

อย่างที่เล่าให้ฟังไปในข้อที่หนึ่งว่าธุรกิจใหญ่ที่สุดของเราคือธุรกิจด้านการเงิน (มูลค่าธุรกิจเกินสองแสนล้าน)

และ Thomson Reuters Eikon ก็คือโปรดักท์ชูโรงของเรา ซึ่งสถาบันการเงินทั่วโลกใช้กัน โดยมีคู่แข่งหลักคือ Bloomberg Terminal ครับ

นี่คือหน้าตาของ Eikon ครับ

Eikon - Single Equity View

อย่างน้อย 40%-50% ของสิ่งที่คุณเห็นใน Eikon  นั้น เป็นฝีมือของคนไทยครับ

ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

4. พนักงานผู้หญิงที่นี่มีโอกาสเติบโตสูงพอๆ กับผู้ชาย

หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ !

สัดส่วนพนักงานชายกับหญิงคือ 60:40 ซึ่งถือว่าโอเคเลย เพราะงาน IT มักจะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง…

1 ใน 5 ของพนักงานหญิงจะเป็นระดับ manager

ขณะที่ 1 ใน 7 ของพนักงานชายจะเป็นระดับ manager

ซึ่งแปลว่า ถ้าคุณเป็นผู้หญิง คุณจะมีโอกาสเป็นเมเนเจอร์มากกว่าเพื่อนพนักงานชายซะอีก

แน่นอน จริงๆ แล้วการเติบโตที่นี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหญิงหรือชาย แต่เป็นเรื่องความสามารถ โอกาส และจังหวะครับ

แต่ประเด็นก็คือ ถ้าคุณเก่งซะอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย คุณก็จะมีโอกาสได้เติบโตที่นี่

Female

 5. สวัสดิการดีสุดๆ

เท่าที่คุยกับเพื่อนๆ ที่บริษัทอื่น ผมยังไม่เจอที่ไหนสวัสดิการเจ๋งกว่าของที่นี่นะครับ

เอาเฉพาะที่ใช้กันบ่อยๆ นะครับ

  • เรามีเงินอุดหนุนสำหรับสมัครสมาชิกฟิตเนสรายปี แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็สามารถจะขอคูปองเพื่อลองเล่นได้ 24 ครั้งต่อปี
  • ประกันสุขภาพ – ค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งสามารถเบิกได้ทุกวัน
  • สวัสดิการเรื่องประกันสุขภาพนี้ครอบคลุมไปถึงสามี/ภรรยา และลูกๆ ด้วย เหมาะสำหรับคนมีครอบครัวอย่างมาก
  • สามารถเลือกได้ว่าจะตัดเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไหร่ ตั้งแต่ 6% – 9.75% และองค์กรก็จะสมทบให้ 9.75% (แม้เราจะหักแค่ 6% เขาก็จะสมทบให้ 9.75% อยู่ดี)
  • ทุนเรียนโท (แบบพาร์ทไทม์) 170,000 บาทตลอดหลักสูตร
  • ลาหยุด 15 วันต่อปี และมีวันลาเพิ่มขึ้นตามอายุงาน
  • วันหยุดตามธนาคารแห่งประเทศไทย บวกวันคริสต์มาส (แต่ไม่ได้หยุดตรุษจีนนะฮะ!)
  • มีวันลาสำหรับสถานการณ์พิเศษ เช่น แต่งงาน (ห้าวัน) คลอดบุตร (คุณแม่ลาได้สี่เดือน คุณพ่อลาได้สองอาทิตย์) อ่านหนังสือสอบปริญญาโท (ห้าวันต่อปี) ฯลฯ
  • มีบ้านพักตากอากาศ 3 หลัง ที่เขาใหญ่และระยอง ให้เราไปพักได้ฟรีๆ

6. ให้เสรีภาพสำหรับเวลาเข้างาน (Flexible working hours)

ที่นี่เราไม่มีตอกบัตร เพราะถือว่าโตๆ กันแล้ว และควรจะมีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะรับผิดชอบต่องานที่เรามี

และด้วยความที่เราต้องทำงานกับเมืองนอก บางทีเลยต้องอยู่ประชุมดึกๆ ผ่านระบบ teleconference หรือ telepresence จึงอะลุ่มอล่วยให้มาทำงานสายได้ แต่ก็ไม่ควรเกินสิบโมง

ถ้าต้องมี teleconference ตอนหัวค่ำ และไม่อยากทำที่ออฟฟิศ ก็อาจจะออกเร็วเพื่อกลับไปทำที่บ้านได้เช่นกัน

และในบางสถานการณ์ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านในบางวันหรือเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง (เช่นลูกเพิ่งเข้าโรงเรียน และต้องไปรับไปส่งทุกวัน) ก็สามารถคุยกับเจ้านายเป็นกิจจะลักษณะเพื่อที่จะขอเวลาเข้างานและออกงานที่สอดคล้องกับตารางเวลาของเรา

ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพให้เจ้านายเชื่อมั่นในตัวเราก่อนนะครับ

7. ให้โอกาสคน

ยกตัวอย่างตัวเองแล้วกัน

ผมจบวิศวะไฟฟ้า แต่มาทำงานบริษัทซอฟท์แวร์ แถมยังได้ทำเป็น developer (หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า programmer) ทั้งๆ ที่ผมเรียน programming มาน้อยมาก

จากนั้นก็ได้ไปทำงาน support (ซึ่งไม่ต้องโค้ด แต่ต้องรับมือการความกดดันจากลูกค้าที่ประสบปัญหากับซอฟท์แวร์ของเรา)

และพอรู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานสาย technical ก็ได้มาทำงานสื่อสารองค์กร ทั้งๆ ที่เราไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่คนที่สัมภาษณ์เราเห็นว่าเรามีศักยภาพพอที่จะทำได้

ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่เปลี่ยนงานข้ามสาย เช่นเคยดูแล facilities ตอนนี้กลายมาเป็น product manager ของ Eikon

หรือเคยเป็น software engineer มาก่อน แล้วตอนนี้ไปเป็น product manager ที่นิวยอร์ค หรือ development manager ที่ลอนดอน

เพราะที่นี่ไม่ได้ดูแค่วุฒิการศึกษา แต่ดูผลงานและศักยภาพของเราเป็นหลักครับ

8. Facilities ดีสุดๆ

Lounge สำหรับกิจกรรมที่ต้องรองรับคนเยอะๆ

ห้องพยาบาล มีพยาบาลประจำ และมีคุณหมอเข้ามาสัปดาห์ละสองครั้ง

มีห้อง multi-faith prayer room คือห้องสำหรับศาสนิกชนใดก็ได้มาทำละหมาด / สวดมนต์ / นั่งสมาธิ

มีห้อง mother room หรือที่เรียกกันติดปากว่าห้องปั๊มพ์นมลูก สำหรับคุณแม่ลูกอ่อน

มีหนังสือดีๆ ให้ยืมเยอะแยะ

Pantry

20150227_16465920150227_164635

20150227_164935

9. โต๊ะทำงานใหญ่มว้าาากก

จะนับเรื่องนี้เป็น Facilities ก็ได้ แต่อยากแยกออกมาเพราะประทับใจจริงๆ

นี่คือรูปโต๊ะทำงานครับ วางจอคอมได้ห้าจอสบายๆ  (นายแบบคือน้องชายผมเอง)

บางชั้นที่อยู่กันหนาแน่นหน่อยก็อาจจะโต๊ะเล็กกว่านิดนึง วางได้แค่ 4 จออะไรงี้

20150227_165423

10. ศิษย์เก่าทอมสันรอยเตอร์ดังๆ เยอะแยะ

เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมคนเก่งๆ ไว้เยอะมาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หลังออกจากทอมสันรอยเตอร์ไปแล้ว ศิษย์เก่าของที่นี่จะประสบความสำเร็จในหลายๆ วงการ

ไม่ว่าจะเป็น ยอด CEO ของ Wongnai ซึ่งเคยเป็น manager ทีม support ที่ผมเคยอยู่

Yod3ยอด Wongnai

Yod2ยอด Thomson Reuters

และบอย ภัทราวุธ CTO ของ Wongnai ซึ่งมี followers กว่า 60,000 คนบนวงใน ก็เคยเป็นมือกลองให้ Thomson Reuters Music Group วงดนตรีของบริษัท

Boy2บอย วงใน

Boy4บอย TRMG

เอ็ม ขจร @khajochi เจ้าของเว็บ macthai.com และรองแชมป์แฟนพันธุ์แท้ Steve Jobs ก็เคยทำงานเป็น Lead software engineer ที่นี่

KhajornFanpuntaeเอ็ม แฟนพันธุ์แท้สตีฟ จ๊อบส์

KhajornReuters เอ็ม นักบาสรอยเตอร์ (รูปนี้เก่าแค่ไหนก็ดูที่โลโก้เอานะครับ)

พี่อ๊อบ อรรถพล (Ob Oberon) หนึ่งใน mobile application developers ที่รุ่งที่สุดคนหนึ่งในพ.ศ.นี้ ก็เคยเป็น developer ที่ดูแลโปรดักท์ตัวเดียวกันกับผม และไปเทรนที่ฝรั่งเศสมาด้วยกันเมื่อสิบปีที่แล้ว

ObTVอ๊อบ นักพัฒนาเกมบนมือถือ

Obอ๊อบ ตากล้องประจำก๊วนที่ไปปารีสด้วยกัน

หรือกระทั่งตากล้องดังๆ อย่าง ตั๊กกับออมแห่ง Coffeoto หรืออู๋ แห่ง Auzypand5 ก็เคยอยู่ที่นี่เช่นกัน

OomCoffeeOtoตั๊กกับออมแห่ง Coffeoto

Oom3ออมเคยเป็นนักร้องของ TRMG (ในรูปนี้คือนักร้องประจำวงบางส่วน)

Au2อู๋ตากล้องยอดติสท์แห่ง Auzypand5

Auzypand5อู๋ มือกีต้าร์ TRMG

11. HR ที่นี่เฟรนด์ลี่สุดๆ

ภาพจำของแผนกบุคคลหรือ HR นั้น คือดินแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยมนุษย์ป้าและบรรยากาศมาคุ

แต่ที่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นครับ

HR ที่นี่เป็นกันเองสุดๆ คอยช่วยเหลือทุกอย่าง มีขนมให้ผมไปแย่งกินตลอด และที่สำคัญ ไม่ได้ทำแค่เรื่องเงินเดือนและเรื่องสัมภาษณ์  เพราะมีไอเดียใหม่ๆ เพื่อเพื่อนพนักงานตลอด ไม่ว่าจะเป็นงาน career day,  movie night, เปิดสอนโยคะที่ออฟฟิศ, หรืองาน Appreciating You

HR_Fixed

12. เรารับนักศึกษาฝึกงานตลอดปี

ที่นี่มีรับนักศึกษาฝึกงานตลอดปี ทั้งแบบช่วงปิดเทอมและแบบสหกิจ (อยู่ด้วยกันทั้งเทอมเลย) ถ้าใครเรียนทางด้าน IT มาก็สามารถส่งเรซูเม่มาที่ thailand.internship@thomsonreuters.com ได้เลยนะครับ

เข้ามาแล้วได้ทำงานจริงๆ แน่นอน เพราะที่นี่เราค่อนข้างจริงจังกับการฝึกงาน ตอนที่ผมเคยเป็นหัวหน้าทีม ก็ให้น้องฝึกงานทำ ระบบ eLearning ให้กับโปรดักท์เราตัวนึงเลยครับ

ถ้าใครโชว์ผลงานดี พอเรียนจบแล้วถ้าเรามีตำแหน่งว่างก็พร้อมจะพิจารณาเป็นพิเศษครับ

Intern

—–

และนี่คือ 12 เรื่องราวเกี่ยวกับบริษัท Thomson Reuters ที่ผมอยากให้ชาวไทยได้รับทราบกัน

ด้วยหวังลึกๆ ว่าเวลาผมบอกใครว่าทำงานที่ทอมสันรอยเตอร์ จะไม่ถูกถามกลับมาอีกว่า “เป็นนักข่าวเหรอ”

ถ้าใครอยากติดตามความเคลื่อนไหวของ Thomson Reuters ประเทศไทย เชิญกดไลค์ Facebook fan page  Reuters Software (Thailand) Ltd. ได้เลย!

และถ้ายังไม่จุใจ ก็ตามไปอ่าน “7 เรื่องที่ได้เรียนรู้จาก Reuters Software Thailand” ของเอ็ม ขจรได้นะครับ

—–

Sources

Stock Exchange of Thailand ADVANC , TRUEDTAC

Wongnai.com: Yod Chinsupakul, Pattrawoots

Ob Oberon: facebook.com/ob.oberon

@Khajochi: khajochi.com, macthai.com, twitter.com/khajochi

Coffeoto: facebook.com/coffeoto

Auzypand5: facebook.com/auzypand5photo

—–

ดาวน์โหลดอีบุ๊คฟรี

หากท่านใดสนใจหนังสือ eBook “เกิดใหม่” ซึ่งรวบรวม 17 บทความเกี่ยวกับธรรมะใกล้ตัว ใช้ภาษาวัยรุ่น ไม่ต้องปีนกะไดอ่าน ขอเชิญได้ที่นี่เลยครับ

โดมิโนสู่ดวงจันทร์

20150216_DominoesToTheMoon

เมื่อสองวันก่อนนี้ผมเขียนถึงดวงจันทร์ของแต่ละคน

วันนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวกับดวงจันทร์มาเล่าให้ฟังอีกเช่นกัน

ถ้าใครเข้าร้านหนังสือสัญชาติฝรั่งอย่าง Kinokuniya หรือ Asia Books อาจจะเห็นหนังสือเล่มนี้ผ่านหูผ่านตาบ้าง

หนังสือชื่อเชยๆ เรื่อง The ONE Thing เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านเมื่อปีที่แล้วครับ

ในช่วงแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ แกรี่ เคลเล่อร์ (Gary Keller) ได้เปรียบเปรยคววามหมายของการทำ The One Thing กว่าคล้ายๆ กับโดมิโน

เชื่อว่าหลายท่านอาจจะเคยเอาโดมิโน่มาวางเรียงกัน แล้วพอสะกิดให้ตัวแรกล้ม โดมิโนตัวถัดไปก็จะล้มตามกันไปเรื่อยๆ

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ

ในทศวรรษ 1980 (ยุคเอทตี้ส์) นักฟิสิกส์เคยทำการทดลองเอาโดมิโนมาวางเรียงกัน แต่โดมิโนแต่ละตัวจะมีขนาดไม่เท่ากัน โดยโดมิโนตัวถัดไปจะใหญ่กว่าโดมิโนชิ้นก่อนหน้า 1.5 เท่า

สมมติว่าโดมิโนชิ้นแรกสูง 2 นิ้ว
ชิ้นที่สองก็จะสูง 3 นิ้ว (2×1.5)
ชิ้นที่สามสูง 4.5 นิ้ว (3×1.5)
ชิ้นที่สี่สูง 6.75 นิ้ว (4.5×1.5)
ฯลฯ

และในการทดลอง นักฟิสิกส์กลุ่มนี้สามารถจัดเรียงโดมิโนจากเล็กไปใหญ่ และเมื่อล้มโดมิโนตัวแรกแล้ว มันก็พาโดมิโนตัวอื่นๆ ล้มตามไปด้วย  ซึ่งรวมถึงตัวสุดท้ายที่โดมิโนขนาด 3 ฟุต หรือ 36 นิ้ว

สิ่งนี้คือกระบวนการที่เรียกว่า geometric progression หรือการก้าวหน้า/เติบโตแบบทวีคูณ

ถ้าโลกมีพื้นที่พอ และเราสามารถสร้างโดมิโนที่ใหญ่ขึ้น 1.5 เท่าไปได้เรื่อยๆ ลองเดามั้ยครับว่า ต้องใช้โดมิโนกี่ตัวถึงจะล้มโดมิโนที่สูงเท่าหอไอเฟลได้?

คำตอบคือ 23 ตัวครับ

น้อยกว่าที่คิดใช่มั้ย?

แล้วคุณลองเดาซิว่า โดมิโนตัวที่เท่าไหร่ที่จะล้มไปแตะดวงจันทร์ได้?

57 ตัวครับ* (น้อยกว่าที่คิดอีกแล้วใช่มั้ย)

The One Thing คือการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดเดี๋ยวนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายปัจจุบัน อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป

และนี่คือความเจ๋งของ geometric progression ครับ เพราะแม้ในช่วงแรกเราอาจจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง แต่ถ้าเราเพียรทำในสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างไม่ลดละ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว อาจจะติดลมบนจนฉุดไม่อยู่เลยก็ได้

คล้ายกับบล็อกที่ผมเคยเขียนเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เพียงแค่เราทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่ 1% พอครบปีเราจะเก่งขึ้นถึง 36 เท่า

หากเราจัดเรียงโดมิโนให้ดีๆ แล้วมุ่งความสนใจไปที่การล้มโดมิโนแต่ละตัวอย่างตั้งใจ

ไม่ช้าไม่นาน เราก็จะไปถึงดวงจันทร์ได้เช่นกันครับ

—–

* หมายเหตุ 57 ตัวจริงรึเปล่า? ในฐานะเด็กเก่งเลขอย่างเราต้องขอพิสูจน์หน่อย วิธี เพียงเอา 1.875 (ความสูงมาตรฐานของโดมิโน หน่วยเป็นนิ้ว) คูณ 1.5 ไป 56 ครั้ง แล้วคูณด้วย * 0.0000254 เพื่อแปลงเป็นกิโลเมตร

1.875*1.5^56*0.0000254 = 345,896 กิโลเมตร

ส่วนระยะทางจากโลกถึงพระจันทร์คือประมาณ 384,400 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย (ระยะทางระหว่างพระจันทร์กับโลกจะอยู่ในช่วง 363,104 ถึง 405,696 กิโลเมตร)

Source: The ONE Thing

ทำตามความฝัน

20150213_HadIKnown

นี่คือประโยคหนึ่งในหนังสือ “คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย” ที่มีคำโปรยด้วยว่า “เหมาะกับมนุษย์เดินดินที่มีความฝัน แต่ชอบคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อม”

ผมว่ามันเป็นหนังสือที่ตั้งชื่อได้ “กินขาด” ที่สุดเล่มหนึ่ง

แค่เห็นชื่อก็อยากซื้อแล้ว แม้จะราคาถึง 255 บาทก็ตาม

ผมอ่านคิดจะไปดวงจันทร์ฯ ช่วงหยุดปีใหม่ ร่วมกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “มองไกลบนไหล่ยักษ์” ของคุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ

หนังสือทั้งสองเล่มถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้ผมตั้งใจเขียนบล็อกนี้อย่างจริงๆ จังๆ จนผมต้องส่งข้อความไปขอบคุณท่านทั้งสองทาง Facebook

เพราะผมเองก็มีความฝันของผมเหมือนกัน แต่ผมขออุบไว้ก่อน เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ไว้ดูเข้าที่เข้าทางเมื่อไหร่จะมาเล่าให้ฟัง

ไม่ใช่อะไร กลัวหน้าแตกครับ

—–

ผมอ่านประโยคด้านบนนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงหนังเรื่อง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” ที่นำแสดงโดยติ๊ก เจษฎาพร ผลดี กับนางเอกหน้าใหม่ชื่อโบ ณัฐชลัยย์ สุขะมงคล

นางเอกเป็นเด็กติสท์เอามากๆ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และเพิ่งเข้ามาทำงานในบริษัทของพระเอก

พระเอกเป็นผู้บริหาร เป็นยอดมนุษย์เงินเดือนตัวเอ้ มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กร และขยันทำงานสุดๆ

พระเอกมีแฟนอยู่แล้วคนหนึ่ง แฟนก็มีความฝันว่าวันหนึ่งอยากเปิดร้านเบเกอรี่ แต่เพราะพระเอกดูจะทุ่มเทให้กับงานบริษัทเสียเหลือเกิน แฟนของพระเอกจึงห่างเหินกับพระเอกขึ้นเรื่อยๆ

วันหนึ่งพระเอกก็เลยปรับทุกข์ให้นางเอกฟังว่า

“ถามอะไรหน่อยสิ…ไอ้ที่เค้าเรียกว่าความฝันน่ะ มันต้องเป็นแบบ…เปิดร้านขนม…เขียนหนังสือ…แต่งเพลง…ทำหนัง…อะไรแค่นั้นเหรอ แล้วไอ้ที่ผมอยากจะมีเงินเก็บมากๆ อยากจะดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด มันเรียกว่าความฝันไม่ได้เลยหรือไง”

เออ…จริง

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดียครองโลก ทางเลือกมีมากมาย

Passive Income, Financial Freedom, New Rich, ทำงานที่บ้าน คือแฟชั่นใหม่ล่าสุดที่หลายคนเลือกสวมใส่

อาชีพที่อินเทรนด์และดู cool สุดๆ คือการออกหนังสือมาซักหนึ่งเล่ม และทำหน้าที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเดินตามฝันของตัวเอง มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องยึดติดกับการเข้างาน 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น มีเวลาเล่นกับลูกได้เต็มที่ และไม่มีเพดานของรายได้

พอเจอกระแสนี้หนักๆ เข้า การเป็นมนุษย์เงินเดือนเลยดู uncool สุดๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละ

ทุกคนต่างก็มีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน ความเชื่อแตกต่างกัน และให้ความสำคัญในแต่ละมิติของชีวิตไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น การเป็นมนุษย์เงินเดือนอาจจะไม่ใช่เรื่องแย่อะไร ตราบใดที่เรายังพอใจกับวิถีชีวิตแบบนี้

และเหล่าคนที่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นโค้ช หรือเขียนหนังสือ โดยเนื้อแท้แล้วเขาก็ต้องพึ่งพามนุษย์เงินเดือนอยู่ดี ถ้าไม่ใช่ในฐานะคนที่ทำงานให้ ก็ในฐานะลูกค้า

ผมไม่ได้ต่อต้านวิถีชีวิตแนวใหม่นะครับ

เพียงแต่เราไม่ควรไปดูแคลนคนที่ยังเต็มใจที่จะเป็นพนักงานประจำ ว่าเขาไม่มีความฝัน หรือฉลาดไม่เท่าเรา

คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย…

แต่ดวงจันทร์ไม่ได้มีดวงเดียว

นักเขียนก็มีดวงจันทร์ของเขา
คนขายของออนไลน์ก็มีดวงจันทร์ของเขา
เจ้าของกิจการก็มีดวงจันทร์ของเขา
ครูประถมเงินเดือนหมื่นเศษก็มีดวงจันทร์ของเขา
พนักงานบริษัท ก็มีดวงจันทร์ของเขาเช่นกัน

เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าดวงจันทร์ดวงไหนสวยที่สุดครับ

Sources: คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย, ยอดมนุษย์เงินเดือน