สมการความสุข / สมการความทุกข์

ผมเคยเขียนถึงสมการความสุขไว้ในบล็อกนี้หลายครั้งว่า

Happiness = Reality – Expectations

ความสุขเท่ากับความจริงลบความคาดหวัง

ถ้าความจริงมันดีกว่าที่เราคาดหวัง เราก็จะมีความสุข

ถ้าความจริงมันแย่กว่าที่เราคาดหวัง ผลออกมาย่อมเป็นลบ นั่นแสดงว่าเรากำลังมีความทุกข์

ยิ่งเรามีความคาดหวังมากเท่าไหร่ เรายิ่งเพิ่มโอกาสที่จะมีความทุกข์มากเท่านั้น

แต่ถ้าเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เราก็จะเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง ก็คือเราอาศัยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความจริงย่อมเปลี่ยนไป แต่คนเราก็ยังยึดติดกับความเคยชินและความคาดหวังเดิมๆ

เมื่อความจริงเปลี่ยน แต่เราคาดคั้นให้มันเป็นเหมือนเดิม ความสุขก็อาจลดน้อยถอยลงได้เช่นกัน

อีกสมการหนึ่งที่ผมเพิ่งเจอและอยากเอามาเขียนในบล็อกนี้เป็นครั้งแรก ก็คือสมการความทุกข์

Suffering = Pain x Resistance

ความทุกข์เท่ากับความเจ็บปวดคูณด้วยการต่อต้าน

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดของ Haruki Murakami ที่เคยบอกไว้ว่า “Pain is inevitable. Suffering is optional”

ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราเลือกได้

เมื่อความเจ็บปวดหรือสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นทางกายหรือทางใจ ยิ่งเรายิ่งต่อต้านมันเท่าไหร่ เรายิ่งทุกข์มากขึ้นเป็นทวีคูณ

แต่ถ้าเราไม่ต่อต้าน และยอมรับอย่างที่มันเป็น กายอาจจะยังทุกข์อยู่ แต่ความทุกข์ทางใจจะน้อยลงอย่างแน่นอน

Happiness = Reality – Expectations

Suffering = Pain x Resistance

คาดหวังให้น้อย ต่อต้านให้น้อย แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น และมีความทุกข์น้อยลงครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Master of Change: How to Excel When Everything Is Changing – Including You by Brad Stulberg

ความเจ็บปวดทำให้เราเป็นคนแบบไหน

เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ผมได้รับโอกาสให้เขียนหนังสือให้คุณอนันต์ เดชอนันตชาติ เจ้าของเครื่องสำอางค์โยโกะ

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “ล้มลุกคลุกคลาน ประสบการณ์ 75 ปี” ที่แชร์ประสบการณ์คุณอนันต์ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน

หนึ่งในบทที่ผมชอบที่สุดมีชื่อว่า “ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด”:

“เพื่อนผมคนหนึ่ง ตอนเด็กๆ ที่บ้านยากจนมาก ถึงขนาดที่แม่จะคลอดลูก ไปยืมเงินญาติกลับไม่มีใครให้ยืม

ความแร้นแค้นครั้งนั้นฝังใจเพื่อนผมมาก จนเดี๋ยวนี้แม้จะทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้ว กลายเป็นคนไม่ค่อยจะยอมใช้เงิน ไม่เคยให้ใครยืมเงิน เวลาไปกินข้าวไม่เคยเลี้ยงเพื่อน กลายเป็นเศรษฐีขี้เหนียว เพราะเขาไม่อยากกลับมาจนอีก

ตัวผมเองก็เคยลำบากมากๆ เหมือนกัน ตอนนั้นได้แต่คิดว่า ถ้ามีคนยื่นมือมาช่วยเหลือเราบ้างคงดีไม่น้อย

มาถึงวันนี้ ถ้ามีคนเดือดร้อนมาหา ผมจะพยายามช่วยเหลือเขา เพราะผมเข้าใจดีว่าการมีปัญหาการเงินนั้นมันทุกข์แค่ไหน

แปลกดีที่คนสองคนที่ผ่านสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกลับได้ข้อสรุปที่ตรงกันข้าม
คนหนึ่งเลือกที่จะเก็บเงินเอาไว้ อีกคนเลือกที่จะปล่อยมันออกไป

เพื่อนคนนั้นเขาก็ถูกของเขา แต่ผมเองผมก็ถูกของผมเช่นกัน”


Donald Miller เป็นผู้เขียนหนังสือ Hero on a Mission: The Power of Finding Your Role in Life

Miller เคยให้สัมภาษณ์ในพ็อดแคสต์ The School of Greatness ของ Lewis Howes

สิ่งที่เขาเล่าในนาทีที่ 35 สอดคล้องกับสิ่งที่คุณอนันต์เคยเล่าเอาไว้

“วายร้ายกับฮีโร่นั้นมีเรื่องราวเบื้องหลังที่เหมือนกันเป๊ะ นั่นคืออดีตที่เจ็บปวด

ฮีโร่มักจะเป็นเด็กกำพร้าหรือเคยถูกทอดทิ้ง ส่วนวายร้ายนั้น ถ้าคุณสังเกต นักเขียนบทจะให้เขามีแผลเป็นบนหน้า หรือเดินขากะเผลก หรือพูดจาติดๆ ขัดๆ ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าตัวละครนี้มีความหลังที่เจ็บปวด

ดังนั้น ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวของฮีโร่กับว้ายร้าย ก็คือการตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่พวกเขาเคยประสบมา

วายร้ายจะพูดว่า “โลกเคยทำร้ายเรา ดังนั้นเราจะทำร้ายโลกกลับ” (The world hurt me, I’m gonna hurt it back)

ส่วนฮีโร่จะพูดว่า “โลกเคยทำร้ายเรา ดังนั้นเราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครอีก” (The world hurt me, I’m not gonna let this happen to anybody else.)

เราตอบสนองต่อความเจ็บปวดอย่างไร คือตัวตัดสินว่าเราจะเป็นฮีโร่หรือจะเป็นวายร้าย”


ชีวิตเกิดมาย่อมไม่เท่ากัน บางคนโชคดีกว่าคนอื่น บางคนก็โชคร้ายกว่าคนอื่น

แต่ถ้าเรายังนั่งอ่านบทความนี้ได้ แสดงว่าเรามีสติปัญญาและศักยภาพเพียงพอที่จะเลือกทำในสิ่งที่ควรทำ

ความเจ็บปวดในอดีตเรากลับไปแก้ไขไม่ได้ เช่นเดียวกับความเจ็บปวดในอนาคตที่ไม่มีมนุษย์คนใดหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

สิ่งเดียวที่เราพอทำได้ คือจะให้ความเจ็บปวดเหล่านั้นหล่อหลอมเราให้เป็นคนแบบไหนครับ

ความทุกข์ที่เราคุ้นเคย-ความทุกข์ที่เราไม่คุ้นเคย

20200805

คนบางคนติดหล่มอยู่กับปัญหาที่ควรจะแก้ได้แต่กลับไม่ยอมแก้

บางคนมีปัญหาเรื่องงาน เช้าวันจันทร์จิตใจเศร้าหมอง แต่กลับไม่มองหางานใหม่

บางคนมีปัญหาเรื่องคู่ แฟนเจ้าชู้และทำให้เจ็บอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังรอคอยให้เขาปรับปรุง

บางคนมีปัญหาเรื่องหนี้สิน แค่ดอกเบี้ยก็แทบสิ้นกำลังใจ แต่ก็ไม่ขวนขวายสะสาง

ที่เราไม่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะว่าเราพร้อมที่จะอยู่กับความทุกข์ที่เราคุ้นเคย มากกว่าจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมที่อาจนำมาซึ่งความทุกข์ที่เราไม่คุ้นเคย

แต่อย่าลืมว่าความทุกข์ที่เราคุ้นเคยนั้น ถ้าเกิดขึ้นทุกวันมันจะติดลบสะสมไปเรื่อยๆ

แต่หากเราลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง อาจจะเจ็บกว่าแต่ก็มีโอกาสจบ

คำถามสำคัญก็คือ เราอยากจะอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนานแค่ไหน

และถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันจะดีขึ้นจริงๆ หรือเราแค่ปลอบใจตัวเองไปวันๆ

ลองกล้าขึ้นอีกนิด ลองเผชิญกับความทุกข์ที่ไม่คุ้นเคยดูบ้าง

แล้วเราอาจจะพบว่า มีหนทางที่ดีกว่ารออยู่ครับ

—–

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer

ความสุขไม่มีอยู่จริง

20200530

เมื่อวานนี้ผมแปลนิทานเรื่อง “พระเจ้ามีจริงรึเปล่า” ลงในบล็อก ซึ่งก็มีคนเข้ามาคอมเม้นท์กันอุ่นหนาฝาคั่งทั้งทางเฟซบุ๊คเพจและในบล็อกดิท

ใครที่ยังไม่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้ อยากให้อ่านกันก่อนนะครับ เพราะผมลงนิทานก็เพื่อที่จะปูทางให้กับบทความที่ผมจะเขียนในวันนี้

หลายคนถามว่านิทานเรื่องนี้มาจากไหน ถ้าลองกูเกิ้ลคำว่า professor god absence of heat absence of light ก็จะเจอนิทานในหลากหลายเวอร์ชั่น แถมนักศึกษาที่เถียงกับอาจารย์ในเรื่องนี้มักถูกอ้างว่าเป็น Albert Einstein อีกด้วย (ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง)

ไอน์สไตน์คือผู้ให้กำเนิดสมการที่โด่งดังที่สุดในโลก นั่นคือ E = mc2

และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ก็ทำให้โลกรู้ว่า ที่มนุษย์เคยคิดว่า “เวลา” เป็นค่าคงที่สากล (universal constant) นั้นเป็นการเข้าใจผิดมาโดยตลอด สิ่งที่เป็น universal constant จริงๆ คือความเร็วแสงต่างหาก

เวลานั้นไม่เคยคงที่ แต่ยืด-หดได้โดยขึ้นอยู่กับ “ผู้สังเกตการณ์” ว่ากำลังเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน ยิ่งเคลื่อนที่ใกล้ความเร็วแสง เวลาก็จะยิ่งเดินช้าลง เราจึงเคยได้ยินเรื่องราวของนักบินอวกาศที่จากโลกไปเพียงปีเดียว แต่พอกลับมาเวลาบนโลกกลับผ่านไปแล้ว 50 ปี

 


 

Mark Manson ได้เขียนในหนังสือ Everything is F*cked: A Book About Hope ถึงการทดลองของนักจิตวิทยาที่ต้องการจะศึกษา “ความสุข” ของผู้คนด้วยการให้อาสาสมัครหลายร้อยคนพกเพจเจอร์ติดตัว

(สำหรับใครที่เกิดไม่ทันเพจเจอร์ มันคืออุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ขนาดประมาณนามบัตร หนาประมาณสองเซ็น เราสามารถโทรเข้า call center เพื่อส่งข้อความเข้าเครื่องเหล่านี้ได้)

เมื่อไหร่ก็ตามที่เพจเจอร์ดังขึ้น อาสาสมัครต้องตอบคำถามสองข้อ

1. คะแนนความสุขของคุณตอนนี้ เต็ม 10 ให้เท่าไหร่
2. เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณบ้าง

ผลลัพธ์ที่ได้คือคนส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่า 7 เต็ม 10 ไม่ว่าชีวิตจะผ่านอะไรมาก็ตาม

จะกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง คุยงาน ก็ให้ 7 คะแนน และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เช่นเพิ่งประสบอุบัติเหตุหรือคนใกล้ตัวป่วยหนัก คะแนนก็จะลดลงไปแค่ไม่กี่วัน จากนั้นก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เท่าเดิม

ไม่มีใครสุขล้นเป็นอาจิณ แต่ก็ไม่มีใครทุกข์ทนตลอดเวลาเช่นกัน

ถ้าให้แปลความหมายของ 7 เต็ม 10 ก็น่าจะประมาณว่า “ชีวิตฉันก็โอเคนะ แต่ยังดีกว่านี้ได้อีก” แถมเรายังบอกตัวเองอีกว่า “ถ้าได้ xxx มาชีวิตคงจะดีน่าดู และความสุขของเราก็จะสิบเต็มสิบ!”

แต่ไม่ว่าจะได้ของที่อยากได้แค่ไหน งานในฝัน รถในฝัน คนในฝัน ไม่นานคะแนนความสุขของเราก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี

ชีวิตมนุษย์จึงเป็นชีวิตที่ไล่ล่า “สิบคะแนนเต็มในจินตนาการ” อยู่ร่ำไป ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่ความสุขก็ไม่เคยอยู่กับเราได้นานอย่างที่หวังสักที

เราคิดมาตลอดว่า “ตัวเรา” นั้นคือ “ค่าคงที่” (universal constant) แต่จริงๆ แล้วตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความคาดหวังของเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย

Mark Manson จึงบอกว่า universal constant นั้นไม่ใช่ “ตัวเรา” แต่คือ “pain” หรือความทุกข์ในจิตใจ-ของเราต่างหาก

มันคือ “3 แต้มที่ยังขาดหายไป” ที่ทำให้เรามีความสุขแค่ 7 เต็ม 10 อยู่เสมอไม่ว่าชีวิตจะดีหรือจะร้ายแค่ไหนก็ตาม

 


 

เดือนเมษายนที่หลายคน work from home กันนานๆ ผมได้เขียนบทความเรื่อง “นี่คือชีวิตที่เราเคยฝันไว้ไม่ใช่หรือ

เราเคยฝันมานานว่าอยากทำงานที่มีรายได้ดี นอนตื่นสายได้ ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องออกไปเจอรถติด ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว และการ WFH ก็มอบสิ่งนี้ให้กับเราหมดเลย

แต่มันกลับไม่ฟินอย่างที่คิด

เรากลับเจอเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่พอใจขึ้นมาอีก ทั้งความเหงา ความเฉา ความรู้สึกเหมือนคนทำงานตลอดเวลาไม่ได้พัก

นี่ขนาดเราได้ชีวิตที่เราเคยฝันหวานมาอยู่ในมือแล้ว เรายังมีความสุขไม่ได้เลย แล้ว “อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า” ที่เราเคยวาดหวังเอาไว้ มันจะไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตาหรอกหรือ มันคือสิบคะแนนเต็มในจินตนาการที่มนุษย์สร้างไว้หลอกตัวเองรึเปล่า

 


 

วันก่อนผมได้ฟัง Youtube การเสวนาหัวข้อเรื่อง “ว่าง…จึงสร้างสรรค์” ที่จัดขึ้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562

ผู้ร่วมวงเสวนามีดังต่อไปนี้

นักปรัชญา – อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
นักเกษตรกร – อาจารย์เดชา ศิริภัทร
นักเศรษฐศาสตร์ – คุณบรรยง พงษ์พานิช
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ – อาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ
นักศิลปะ – อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ
นักชวนคิด ชวนคุย – คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เรื่องที่สะดุดใจผมที่สุดคือคำพูดของอาจารย์เดชาในช่วงท้ายๆ ที่การเสวนาดำเนินมาแล้ว 1:43:45 ชั่วโมง

“ผมสัมผัสมาแล้วว่าความทุกข์นั้นมันจริง เหมือนความร้อนมันจริง ความร้อนทางฟิสิกส์เนี่ยมีจริงแล้วก็ไม่มีกำหนดเลย เท่าไหร่ก็ได้ แต่ความเย็นไม่จริงครับ ความเย็นเป็นแต่เพียงความร้อนน้อยเท่านั้นเอง

แล้วถ้าความร้อนไม่มีเนี่ย ความเย็นมันอยู่แค่นั้นเอง ไม่มีทางมากกว่านั้นอีกแล้ว ความเย็นขึ้นอยู่กับความร้อน ความร้อนไม่มีความเย็น(ก็)อยู่ตรงนั้นเอง ไม่ต่ำกว่านั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นความร้อนจริงครับ ความเย็นไม่จริง

ผมสรุปว่า ความทุกข์น่ะมันจริง ไม่มีกำหนดหรอกครับ แต่ความสุขมันไม่จริงครับ ความสุขคือความทุกข์น้อย ถ้ามันไม่ทุกข์เลย ความสุขคุณสูงสุดครับ”

 


 

อาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เคยสอนไว้ว่า คนทั่วไปจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง แต่หากเราได้ภาวนามาถึงจุดๆ หนึ่งเราจะพบว่าชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแค่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ เป็นการเรียนรู้ทุกข์ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มันคือ universal constant ทางจิตใจไม่ต่างอะไรกับความเร็วแสงที่เป็น universal constant ทางกายภาพ

เมื่อความทุกข์เป็นสากล การแสวงหาความสุขหรือ the persuit of happiness ที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกาจึงเป็นเกมที่เราไม่มีวันชนะ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ต่อให้ชีวิตเราจะดีแค่ไหน ความสุขของเราก็จะอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี

หากเราเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะไม่เหนื่อยเกินไปกับการแสวงหาสิบคะแนนเต็มในจินตนาการ และดำรงสติเอาไว้ได้เมื่อชีวิตต้องผ่านความยากลำบากครับ

 


 

ฟังเสวนา ว่าง…จึงสร้างสรรค์ https://bit.ly/2XLJUht

อ่านนิทาน พระเจ้ามีจริงรึเปล่า https://bit.ly/36KR89j

อ่านบทความ นี่คือชีวิตที่เราฝันไว้ไม่ใช่หรือ https://bit.ly/2Mct3yW

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มล่าสุดของผมที่ว่าด้วยการตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต หาซื้อได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือที่ตอนนี้กลับมาเปิดแล้วครับ