เห็นคุณค่าของปัญหาที่เราไม่มี

ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มี

คนที่อ่านหนังสือเก่งจะ “อ่านระหว่างบรรทัด” จนสามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อแม้เขาจะไม่ได้บรรยายมันออกมา

หนึ่งในคดีที่โด่งดังของเชอร์ล็อกโฮล์มส์ ก็คือการหายตัวไปของม้าแข่ง Silver Blaze ทั้งที่มีหมาเฝ้าคอกอยู่

Inspector Gregory: “Is there any point to which you would wish to draw my attention?”

Sherlock Holmes: “To the curious incident of the dog in the night-time.”

Inspector Gregory: “The dog did nothing in the night-time.”

Sherlock Holmes: “That was the curious incident.”

ประเด็นสำคัญที่ช่วยให้โฮล์มส์ไขคดีได้ ก็คือการที่หมาไม่เห่าตอนเกิดเหตุนั่นเอง

ผมเคยเขียนบทความตอนหนึ่งว่า “เวลาดูคนเก่ง อย่าดูแค่สิ่งที่เขาทำ ให้ดูสิ่งที่เขาไม่ได้ทำด้วย

เมื่อเราเห็นสิ่งที่คนเก่งไม่ได้ทำ สงสัยหมาที่ไม่ได้เห่า และเข้าใจข้อความที่ไม่ได้เขียนออกมา เราจะคิดและมองอะไรได้กว้างกว่าเดิม

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ จู่ๆ ผมก็คิดขึ้นได้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่ไม่ต้องเจอปัญหาที่คนอื่นเขาเจอกัน

ไม่มีปัญหาพี่น้องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีปัญหาพี่เลี้ยง ไม่มีปัญหากับลูกทีม

ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ปัญหายังมีให้แก้อยู่ทุกวัน แต่ปัญหาที่ไม่มีให้แก้นั้นเยอะกว่าหลายเท่า

เห็นคุณค่าของปัญหาที่เราไม่มี แล้วจะตระหนักได้ว่าเรายังโชคดีกว่าคนอีกมากมายครับ

คำถามเตือนสติที่ผมชอบมากที่สุดในเวลานี้

เป็นคำถามที่ผมได้อ่านจาก The Imperfectionist newsletter ของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022 ที่ผมเคยเขียนลงในบล็อกนี้ไปหลายครั้ง

คำถามเตือนสติที่ว่าก็คือ “And how’s that working out for you?”

ถ้าให้แปลเป็นไทยก็คือ “ทำแบบนี้แล้วมันเวิร์คมั้ยล่ะ?”

ครั้งแรกที่ผมได้อ่านคำถามนี้ผมก็เฉยๆ แต่กลับพบว่าตัวเองถามคำถามนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น

ผมพบว่ามันใช้ได้กับหลายสถานการณ์มาก

เช่นเวลาลูกงอแง แล้วเราก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แล้วลูกก็ไม่ฟัง แล้วเราก็ยิ่งหงุดหงิดพยายามอธิบายซ้ำหลายๆ รอบ

“And how’s that working out for you?”

หรือตอนที่เราทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ ข้าวปลากินไม่เป็นเวลาโดยหวังว่าจะทำงานเสร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

“And how’s that working out for you?”

หรือเวลาเห็นคนบ่นเรื่องรถติด หรือเรื่องเศรษฐกิจแย่จนทำให้ธุรกิจของตัวเองแย่ตามไปด้วย แล้วก็คาดหวังหรือฝากความหวังให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้

“And how’s that working out for you?”

คำถามนี้ไม่ได้ปฏิเสธสถานการณ์ตรงหน้าว่าไม่เป็นความจริง และไม่ได้ปฏิเสธว่ามันเป็นความคาดหวังที่สมเหตุสมผล แต่มันเตือนสติให้เรากลับมาสำรวจว่ายุทธศาสตร์และวิธีการที่เราใช้มาตลอดนั้นมันสร้างผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นหรือเปล่า

ถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น แล้วทำไมไม่ลองวิธีอื่นดู ถ้าลองแล้วไม่เวิร์คก็แค่ลองวิธีอื่นต่อ ยังไงก็น่าจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการเฝ้ารอให้วิธีการเก่ามันเวิร์คไม่ใช่หรือ?

“And how’s that working out for you?”

เวลาพบเจอตัวเองว่ากำลังหงุดหงิดกับสิ่งใด ลองถามคำถามนี้ดูนะครับ

Miswanting – เมื่อสิ่งที่เคยฝันไว้ไม่ได้สร้างความสุขเท่าเราที่คิด

คำสาปหนึ่งของมนุษยชาติ คือเรามักคาดการณ์ผิดว่าเราจะมีความสุขขนาดไหนหากเราได้ “สิ่งนั้น” มาไว้ในครอบครอง

ไม่ว่าจะเป็นรถในฝัน บ้านในฝัน หรือแม้กระทั่งคนในฝัน

เรามีแนวโน้มที่จะ overestimate ทั้งระดับและระยะเวลาของความสุขที่เราจะได้มาจากการบรรลุเป้าหมาย

นักจิตวิทยาเรียกอาการนี้ว่า miswanting คือการไขว่คว้าในสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการ แต่เมื่อได้มันมาแล้วเรากลับรู้สึกแปลกใจที่มันไม่ได้สร้างความอิ่มเอมเท่าที่เราคิด

และแม้ว่าเราจะคิดผิดมาแล้วหลายครั้ง เราก็ยังเจ็บไม่จำอยู่ดี

แม้ว่ารถคันที่แล้วจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขขนาดนั้น แต่พอมีรถออกใหม่ให้ใฝ่ฝันถึง เราก็ยังแอบเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าหากได้รถคันนี้มา มันจะนำพามาซึ่งความสุขมากกว่ารถคันเดิม

จะว่าไป ช่วงเวลาแห่งการไขว่คว้านั้นมีรสชาติกว่าช่วงเวลาแห่งการได้มาเสียอีก เพราะเมื่อได้มันมาแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะเริ่มจืดจาง สิ่งที่เคยแสนพิเศษก็จะกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา

เหมือนที่ Mark Manson เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Everything is F*cked, A Book About Hope ว่า

“The only thing that can ever truly destroy a dream is to have it come true.”

วิธีทำลายล้างความฝัน คือการทำให้มันกลายเป็นจริง

เมื่อรู้แล้วว่ามนุษย์ต้องคำสาปที่ไม่อาจถอดถอนได้ แล้วเราจะมีความสุขขึ้นได้อย่างไร?

Dr. Laurie Santos อาจารย์มหาวิทยาลัย Yale และผู้จัดพ็อดแคสต์ “The Happiness Lab” บอกว่า จากงานวิจัย คนที่มีความสุขนั้นมักจะมี 5 สิ่งนี้

  1. มีความสัมพันธ์ที่ดี – social connection
  2. โฟกัสที่คนอื่นมากกว่าเรื่องตัวเอง – other-orientedness
  3. เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี – gratitude
  4. ดื่มด่ำกับประสบการณ์ดีๆ ในชีวิต – savoring
  5. ร่างกายได้เคลื่อนไหว – exercise

ข้อ 3 กับ 4 นั้นสอดคล้องกับประเด็นข้างต้น เพราะคนเรามักไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่ตัวเองมี ทั้งที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นสิ่งที่เราได้แต่ฝันถึงด้วยซ้ำ

หากเราเป็นคนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ในชีวิต วิธีหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยได้คือการเขียน gratitude journal

หลักการนั้นง่ายมาก ก่อนจะเข้านอนให้เขียน 3-5 เรื่องที่เราอยากจะขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ หรือแม้กระทั่งฟ้าฝน

อาจจะขอบคุณคนในครอบครัว ขอบคุณคนแปลกหน้าที่ยิ้มให้ ขอบคุณฝนที่ทำให้อากาศเย็นสบาย

ช่วงแรกของการเขียน gratitude journal มันจะขัดๆ เขินๆ เป็นธรรมดา แต่เมื่อทำไปได้สัก 2 สัปดาห์เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

หากสิ่งที่เคยฝันไว้ไม่ได้สร้างความสุขเท่าเราที่คิด วิธีแก้อาจไม่ใช่การออกไปหาความสุขครั้งใหม่ แต่คือการเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีให้มากกว่าเดิมครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก Big Think: How to be happier in 5 steps with zero weird tricks | Laurie Santos

เราพร้อมที่จะทำอะไรซ้ำๆ นับพันครั้งรึเปล่า

“There are no shortcuts — everything is reps, reps, reps.”
-Arnold Schwarzenegger

อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อดีตมิสเตอร์ยูนิเวิร์ส ดาราฮอลลีวู้ดที่โด่งดังจากหนังเรื่องคนเหล็ก 2029 (จะว่าไปก็อีก 6 ปีเท่านั้น) และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียบอกว่าชีวิตไม่มีทางลัด ทุกอย่างเกิดจากการทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน (Reps มาจากคำว่า repetitions)

พอโลกเรามีทางเลือกมากมายกว่าแต่ก่อน ผมว่าสิ่งหนึ่งที่จะทำได้ยากกว่าแต่ก่อน คือการอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานพอ

เพลงที่เคยโด่งดังเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้เรายังจำเนื้อร้องได้ทุกคำ เพราะเราได้ฟังได้ร้องไปไม่รู้กี่รอบ

แต่เพลงที่โด่งดังในวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเราจะยังจำได้ในอีก 20 ปีข้างหน้ารึเปล่า

ผมเพิ่งได้อ่านเรื่องราววัยเด็กของ David Beckham อดีตนักเตะหมายเลข 7 ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นคนที่เปิดบอลแม่นที่สุดในโลก

เบคแคมเริ่มเล่นบอลตอนอายุ 6 ขวบ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดาะบอลในสวนหย่อมหลังบ้าน

แม่ของเบคแคมเล่าว่า เธอสามารถมองเห็นเบคแคมผ่านหน้าต่างในครัว ช่วงแรกๆ เบคแคมเดาะได้ 5-6 ทีเท่านั้น แต่เบคแคมนั้นขยันซ้อมมาก พอกลับจากโรงเรียนก็จะตรงไปเดาะบอลที่สวนหย่อม ตกเย็นพ่อกลับมาจากที่ทำงานก็พาเบคแคมไปซ้อมต่อที่สวนสาธารณะ

ผ่านไปหกเดือน เบคแคมเดาะบอลได้ 50 ครั้ง

ผ่านไปหนึ่งปี เดาะได้ 200 ครั้ง

ผ่านไปสามปี เดาะบอลได้ 2,003 ครั้ง

ถ้าเป็นคนนอกมองเข้ามา ย่อมคิดว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เด็ก 9 ขวบจะเดาะบอลได้มากขนาดนั้น

แต่สำหรับแม่ของเบคแคมที่เห็นเขาทุกวันผ่านหน้าต่างในห้องครัว มันไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไรเลย เพราะเธอเห็นความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนที่พาเบคแคมมาได้ไกลขนาดนี้

หลังจากมั่นใจเรื่องการเดาะบอลแล้ว เบคแคมก็เลย move on ไปซ้อมอีกทักษะหนึ่ง นั่นคือการเตะฟรีคิกนั่นเอง

เบคแคมกับพ่อจะไปที่สวนสาธารณะทุกวันเพื่อฝึกยิงไปที่ตาข่ายหลังอาคารแห่งหนึ่ง โดยพ่อของเบคแคมจะมายืนขวางทางเพื่อบังคับให้เบคแคมต้องยิงอ้อมตัวเขา

“พอผ่านไปได้ซัก 2-3 ปี คนที่เดินผ่านมามักจะหยุดและยืนดูพวกเรา” พ่อของเบคแคมเล่า “เบคแคมน่าจะได้ซ้อมยิงฟรีคิกกับผมไปไม่น้อยกว่า 50,000 ครั้ง”

เรื่องราวของเบคแคม ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอดีตดาราฮอลลีวู้ดอีกคนหนึ่ง

“I fear not the man who has practiced 10,000 kicks once, but I fear the man who has practiced one kick 10,000 times.”
-Bruce Lee

เราอยากจะเก่งกาจในด้านใด เราก็ต้องพร้อมที่จะอยู่กับสิ่งนั้นให้นานพอ แม้ว่าจะไม่มีอารมณ์ แม้ว่ามันจะน่าเบื่อ แม้ว่าจะล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน

เราพร้อมที่จะทำอะไรซ้ำๆ นับพันครั้งรึเปล่า ในเมื่อมันมีสิ่งที่สนุกกว่า ใหม่กว่า สดกว่ามาล่อตาล่อใจเต็มไปหมด

นี่คือเคล็ดลับที่ไม่ลับ ที่อาจทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนมหัศจรรย์ครับ


ขอบคุณเรื่องราวของเบคแคมจากหนังสือ Black Box Thinking | Marginal Gains and the Secrets of High Performance by Matthew Syed

คนเป็นผู้นำไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ไม่ได้

พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสถสภาว่า เคยให้นิยาม Leadership ว่าคือการ get things done through others and with others – ทำงานให้สำเร็จผ่านคนอื่นและร่วมกับคนอื่น

คนเราพอได้เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหารแล้ว 90% ของงานเราไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งพาผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะลูกทีม

ความฝันของหัวหน้าหลายๆ คนจึงเป็นการมีลูกน้องที่พึ่งพาได้

แต่กว่าจะมีลูกน้องที่พึ่งพาได้ เราก็ต้องเป็นคนที่เขาพึ่งพาได้ก่อน

และสิ่งที่มาก่อนความพึ่งพาได้ คือความเชื่อใจ

หากหัวหน้ากับลูกน้องเชื่อใจกัน อะไรก็ง่าย หากไม่เชื่อใจกัน อะไรก็ยากไปหมด

หัวหน้าบางคนอาจจะมองว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อง เพราะเขาไม่ได้มาหาสังคม เขามาที่นี่เพื่อจะ get things done

แต่อย่างที่นิยามกันไปข้างต้น ว่าผู้นำไม่สามารถ get things done ได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ

ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเป็นหัวหน้าที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นหัวหน้าที่ไม่ต้องแบกรับทุกอย่างจนเกินตัว

สำหรับคนที่เป็นผู้นำ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองยังต้องทำอะไรเองเยอะแยะ ยังไม่สามารถไว้ใจใครได้ ก็คงต้องกลับมาถามตัวเองเช่นกันว่าเราได้ลงทุนกับความสัมพันธ์กับทีมงานและเพื่อนร่วมงานมากพอหรือยัง

ถ้ารู้ตัว – และยอมรับ – ว่ายังไม่พอ วิธีง่ายๆ ที่ทำได้เลยคือชวนไปดื่มกาแฟ* และนัดคุย 1 on 1 อย่างสม่ำเสมอ

เพราะคนเป็นผู้นำไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ไม่ได้ครับ


* หัวหน้าบางคนอาจจะบอกว่าตัวเองไม่ดื่มกาแฟ ผมเองก็ไม่ดื่มกาแฟ ก็เลยสั่งอย่างอื่นครับ