คุณเห็นแต่ตอนเค้าเท่ คุณเคยเห็นตอนเค้าเหนื่อยรึเปล่า

(เคล็ดวิชาชีวิต พี่จูน จรีพร IMET MAX)

การไปทริป IMET MAX ที่จันทบุรีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากได้สนทนากับ “พี่เตา” บรรยง พงษ์พานิช แล้ว ผมยังมีโอกาสได้ฟังและร่วมสนทนากับ “พี่จูน” จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

พี่จูนเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 26 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มจากการทำธุรกิจพลาสติก ก่อนจะเข้าไปจับธุรกิจคลังสินค้าและขยายอาณาจักร จนบัดนี้ WHA Group มีมูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท และให้บริการสี่ด้านหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และการให้บริการด้านดิจิทัล

บางคนในวงการขนานนามพี่จูนว่า “นอสตราดามุส” เพราะมองเห็นเทรนด์โลกและขยับตัวก่อนคนอื่นเสมอ

นี่คือบางส่วนของแง่คิดที่ผมได้รับจากพี่จูนครับ

.

อ่านจากหลังไปหน้า

พี่จูนเกิดกรุงเทพ แต่ไปโตที่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีอะไรให้ทำมากนัก แต่กิจกรรมที่โปรดปรานคือการอ่านหนังสือ ทั้งในห้องสมุดและที่เก็บเงินซื้อเอง เวลาซื้อกล้วยแขกมากินเสร็จแล้วยังคลี่ถุงกล้วยแขกมาอ่าน

พี่จูนเป็นคนชอบอ่านหนังสือซ้ำ อ่านสามก๊กจบสามรอบตั้งแต่อายุ 14

“แต่อ่านแค่ถึงตอนที่ขงเบ้งเสียนะคะ ดังนั้นยังคบได้อยู่” พี่จูนตบมุขให้เสร็จสรรพ

อีกหนึ่งนิสัยที่น่าสนใจ คือการอ่านจากหลังไปหน้า

ในความหมายที่ว่าพอพี่จูนรู้แล้วว่าโครงเรื่องเป็นอย่างไร พี่จูนก็จะเดาว่าตอนจบจะเป็นแบบไหน แล้วพลิกไปดูหน้าหลังๆ ว่ามันเป็นอย่างที่พี่จูนคิดรึเปล่า

ผมเดาว่าเพราะพี่จูน “ฝึกทายอนาคต” ตั้งแต่เด็กนี่เอง จึงทำให้เป็นคน “มองไกล” และ “อ่านเกมขาด” จนได้ฉายานอสตราดามุสในวงการธุรกิจ

.

ความลับของท็อปเซลส์

ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ พี่จูนทำงานประจำและได้เป็น top sales ของบริษัท

ไม่ใช่เพราะพี่จูนขายของเก่ง แต่เพราะพี่จูนฟังเก่ง ฟังจนรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรและเติมเต็มความต้องการนั้น

พอออกมาทำธุรกิจ พี่จูนก็ใช้ทักษะการฟังเหมือนเดิม

“ถ้าคุณเคยเป็นหัวหน้าหรือเป็นอาจารย์มาก่อน คุณจะเคยชินกับการเป็นฝ่ายพูด แต่เวลาคุณอยู่กับลูกค้าคุณต้องฟัง เพราะคุณกำลังคุยกับคนที่เก่งกว่าคุณ”

.

ก่อนจะเท่

เพื่อนคนหนึ่งบอกพี่จูนว่า สิ่งหนึ่งที่อยากลอง คือการทำธุรกิจของตัวเอง เห็นพี่จูน และพี่ๆ mentor ของ IMET MAX หลายคนสร้างธุรกิจขึ้นมา มันดูเท่ มันดู inspire มากเลย

“คุณเห็นแต่ตอนเขาเท่ คุณเคยเห็นตอนเขาเหนื่อยรึเปล่า” พี่จูนถามกลับ

ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ พี่จูนต้องขับรถเอาถังพลาสติกไปเสนอขายทั่วประเทศ

“สองปีขับรถไปแสนกว่ากิโล”

ช่วงระดมทุนให้ WHA พี่จูนต้องเดินทางไปพบลูกค้าหลายประเทศ ลืมตาตื่นมาตอนเช้ายังเบลอๆ ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน รู้แค่ว่าไม่ใช่ที่บ้านเพราะฝ้าเพดานไม่ใช่สีนี้

“คิดให้ดีว่าเราอยากทำธุรกิจเพราะอะไร อย่าทำเพียงเพราะคิดว่ามันจะเท่ ไม่อย่างนั้นคุณจะอดทนกับอุปสรรคและความลำบากไม่ได้”

.

เราคือนักประพันธ์

คำพูดติดปากของพี่จูน คือเราอาจทำสิ่งเดิม แต่เราต้องไม่ทำเหมือนเดิม

เราต้องพัฒนาและปรับปรุงอยู่เสมอ รวมถึงแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มความท้าทายให้กับทีมงาน

“คนเก่งเล่นเพลงเดิมไปนานๆ เขาก็เบื่อ เราจึงต้องเขียนเพลงที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเราก็ต้องทำหน้าที่เป็น conductor ที่ดี”

.

ลูกน้องข้าใครอย่าแตะ

พี่จูนบอกว่าตัวเองเป็นคนที่ดุมาก และเป็นคนพูดสั้นๆ ตรงประเด็น

ถึงกระนั้นพี่จูนก็เป็นคนที่ปกป้องลูกน้อง จะไม่ยอมให้ใครคนอื่นมาต่อว่าลูกน้องข้ามหัวพี่จูนเด็ดขาด

มีอะไรให้มาบอกพี่จูน แล้วเดี๋ยวพี่จูนจะไปคุยกับลูกน้องเอง – อาจจะจัดหนักกว่าที่คนอื่นจะมาว่าด้วยซ้ำ

“หัวหน้ารับผิด ลูกน้องรับชอบ” พี่จูนกล่าว

.

เหตุผลที่ต่อยมวย

กีฬาที่พี่จูนเล่นประจำคือการต่อยมวย เชี่ยวชาญระดับต่อยได้ถึง 8 ยก

เราถามว่าต่อยมวยไม่กลัวเป็นแผลหรือตัวฟกช้ำดำเขียวหรือ พี่จูนตอบว่าเขาฝึกกับครูที่จบพละ ไม่ได้ฝึกกับนักมวย จึงรู้วิธีชกมวยที่เซฟตัวเอง

ที่พี่จูนชอบมวยเพราะเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมาธิสูง ไม่สามารถคลาดสายตาได้เลยแม้แต่นิดเดียว และการต่อยมวยก็ช่วยปลดปล่อยความเครียดได้ดี

แถมมวยก็เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้แค่ช่วงนี้เท่านั้น พออายุมากกว่านี้คงต้องไปเน้นออกกำลังกายเบาๆ แบบโยคะมากขึ้น

.

ถ่ายรูปนอกบ้าน

ผมถามพี่จูนคำถามเดียวกับพี่เตา ว่าเวลาเราไม่อยู่บ้าน ต้องออกไปทำธุระข้างนอกเยอะๆ จะทำอย่างไรให้คนที่บ้านสบายใจ

พี่จูนบอกว่า เราต้องชิงบอกเขาก่อน อย่ารอให้คนที่บ้านถาม

เวลาพี่จูนไปไหน พี่จูนจะถ่ายรูปส่งไปให้ลูกดูตลอด ว่าวันนี้แม่มาทำงานที่นี่นะ

.

ไม่มีลูกในรถเข็น

สมัยที่ลูกพี่จูนยังเล็ก เวลาทำงานจะมีพี่เลี้ยงช่วยดูแลลูกให้

แต่นอกเวลางาน พี่จูนจะอยู่กับลูกตลอด ทำอาหารให้ลูก อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน

เวลาไปเที่ยวนอกบ้าน พี่จูนจะอุ้มลูกติดตัวเสมอ ส่วนรถเข็นมีไว้ใส่ของ

พี่จูนเห็นบางครอบครัวไปเดินห้าง แม่เดินนำ ส่วนพี่เลี้ยงอุ้มลูกเดินตาม สรุปนี่ลูกเราหรือลูกพี่เลี้ยง

“เราให้เค้าเกิดมาแล้ว ดังนั้นเราต้องดูแลเค้าให้ดีที่สุด”

ขอบคุณพี่จูนสำหรับแง่คิดดีๆ ที่ให้กับพวกเราชาว IMET MAX ครับ