ข้างนอกสุกใสข้างในกรีดร้อง

20200830c

ภาษาอังกฤษจะมีสิ่งที่เรียกว่า a life of quiet desperation

desperation: a state of despair

despair: the complete loss or absence of hope.

คนที่มี quiet desperation คือคนที่ชีวิตเหมือนจะดูดี หน้าที่การงานดี ฐานะดี หน้าตาดี ใช้แต่ของดีๆ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เราเห็นใน IG

แต่คนเหล่านี้ก็มีความสิ้นหวังอยู่ลึกๆ อาจเพราะได้ทำงานที่ไม่ชอบหรือไม่สอดคล้องกับตัวตน หรือเสพติดอะไรบางอย่าง หรือชีวิตส่วนตัวล้มเหลว

ที่สำคัญปัญหาเหล่านี้ดันบอกใครไม่ได้เพราะกลัวจะเสียหน้าหรือเสียฟอร์ม

แต่ละวันจึงเป็นการแสดง หลอกทั้งคนอื่นและตัวเองให้เชื่อว่าชีวิตเราโอเค ทั้งที่จริงแล้วมันไม่โอเคเลย

ถ้าใครข้างนอกสุกใส แต่ข้างในกำลังกรีดร้อง ผมเชียร์ว่าให้ลองทำอะไรสักอย่างนะ

เพราะชีวิตสั้นเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ครับ

อยู่กับที่เท่ากับเราเดินหน้า

20200830b

โลกมักจะบอกกับเราว่า เพียงคุณหยุดอยู่กับที่ คุณก็โดนคนอื่นแซงแล้ว

แต่บางที การหยุดให้เป็นก็ทำให้เราก้าวหน้าได้เช่นกัน

เพราะคนที่คิดตลอดเวลา ความคิดย่อมไม่แหลมคม

คนที่พูดตลอดเวลา คำพูดย่อมไม่มีน้ำหนัก

คนที่ทำอะไรตลอดเวลา การกระทำย่อมไร้พลัง

ศักยภาพในการหยุด คือสิ่งที่มนุษย์ควรพัฒนา

โดยเฉพาะในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันจนไม่รู้เราจะเร็วไปเพื่อใครกันแน่

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากพี่พศิน อินทรวงศ์ บน Youtube

ยิ่งหาทางลัดยิ่งช้า

20200830d

ยิ่งหาทางลัดยิ่งช้า

หนึ่งใน “ความสามารถพิเศษ” ของผมคือการเล่นกีตาร์โดยไม่ต้องดูคอร์ด

ที่ต้องใส่ ” ” เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้พิเศษอะไรขนาดนั้น ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่เราฝึกกันได้

ผมเริ่มเล่นกีตาร์ตอนอยู่ม.ปลายที่นิวซีแลนด์ ปี 1994

สมัยนั้นถ้าอยู่เมืองไทย ก็จะซื้อหนังสือเพลงมาเปิดคอร์ดแล้วเล่นตาม

แต่ที่นิวซีแลนด์ไม่มีหนังสือคอร์ดขาย อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มี ดังนั้นทางเดียวที่จะเล่นเพลงที่เราชอบได้ก็คือต้องแกะเอาเอง

แกะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าเล่นไปแล้วมันไม่ขัดหู

พอได้แกะเองบ่อยๆ มันก็เลยจะพอจับทางได้ว่าถ้าทำนองประมาณนี้ คอร์ดต่อไปต้องประมาณไหน

เพลงไทยยุค 90’s นั้นมีทางคอร์ดที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว อัสนี-วสันต์ นูโว เจ-เจตริน อินคา ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ พอได้แกะเองบ่อยๆ ก็เข้าใจและมั่นใจมากขึ้น ผมเลยมีความสามารถนี้ติดตัวไปโดยปริยายและไม่หายไปไหน เหมือนการปั่นจักรยานสองล้อที่ต่อให้ไม่ได้ปั่นมาหลายปีก็ยังกลับไปปั่นได้เสมอ

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมเลยเป็นมือกีตาร์ประจำวง(เหล้า) เพื่อนขอเพลงอะไรมาถ้าผมร้องได้ก็จะเล่นให้ได้เลย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้คุยไลน์กับเพื่อนกลุ่มนี้

Rut: ได้เล่นกีตาร์บ้างมั้ยเล็ก

Lek: เล่นเกือบทุกวัน แต่ซื้อหนังสือมาเรียนรู้เองกลับไม่ได้อ่าน

Rut: ดีๆ เรียนใน youtube ก็ได้มั้ง

Lek: 555 ซื้อมาแล้วอ่ะ อยากเรียน picking ให้เก่ง รู้สึกเล่นไปแล้วจังหวะมันไม่ค่อยลงตัว

Rut: เปิดเพลงเล่นตามบ่อยๆ ก็ได้แล้วมั้ง

Kitt: อยากรู้วิธีการจำคอร์ดอะรุด

Rut: ก็ต้องเล่นแบบไม่ดูคอร์ดบ่อยๆ แล้วมันจะจับทางได้เอง

Rut: มันจะรู้ว่าถ้าเสียงประมาณนี้มันน่าจะคอร์ดนี้

Rut: ถ้าคีย์ G มันก็จะมีแค่ G Em C Am D7 Bm วนๆ อยู่แค่นี้แหละ

Lek: ยากแหละ

Rut: 6-7 คอร์ดเอง มันต้องมีซักคอร์ดที่ถูก ลองเล่นเพลงอัสนี-วสันต์หรือนูโว ทางคอร์ดง่าย

Kitt: แล้วมันจะจับทางได้เอง <— มีทางอื่นมั้ย

Rut: ยิ่งหาทางลัดยิ่งช้า

Lek: จริง

Rut: เอาไปเขียนบล็อกดีกว่า 555

Rut: กิตกับเล็กร้องเพลงถูกคีย์อยู่แล้ว

Rut: ดังนั้นถ้าคอร์ดมันผิดเราจะรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ ก็แค่ปรับไปเรื่อยๆ

Rut: อย่างที่บอกว่ามันมีแค่ 6-7 คอร์ดนี้

Kitt: คือ พยายามเล่นแบบไม่ดู แล้วลองไปทีละคอร์ด งี้หรอ

Kitt: เริ่มจากคอร์ดใหนดี g หรือ c ดีอะรุด

Rut: แล้วแต่เพลงดิ

Kitt: ต้องลองดูๆ

ทักษะทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลา การมีคนช่วยสอนนั้นทำให้เราไปได้เร็วขึ้นก็จริง แต่สุดท้ายเราก็ต้องลงมือเองอยู่ดี ไม่มีใครเก่งแทนเราได้

อย่ามัวแต่มองหาทางลัด เพราะยิ่งรีบจะยิ่งช้า ยิ่งขี้เกียจจะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหาทางง่ายจะยิ่งยุ่งยาก

ไปตรงๆ มันนี่แหละ ลงแรงให้คู่ควร แล้วเราจะได้ของที่ยั่งยืนครับ

นิทานซินเดอเรลล่าใจเด็ด

20200827

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

มหาตมะคานธีขึ้นรถไฟ แล้วรองเท้าข้างหนึ่งหลุดจากเท้า

จังหวะนั้นรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานี จะลงไปเก็บก็ไม่ทัน คนอื่นยืนมองด้วยความเสียดาย

แต่คานธีกลับถอดรองเท้าอีกข้างหนึ่ง แล้วขว้างออกไปสุดแรง ให้รองเท้าข้างนั้นตกใกล้รองเท้าอีกข้างหนึ่งที่หลุดไปให้มากที่สุด

มีคนถามว่าทำไมคานธีถึงทำเช่นนั้น

“คนที่เก็บรองเท้าจะได้รองเท้าครบคู่ เอาไปใช้ประโยชน์ได้”

—–

ขอบคุณเรื่องจริงจากหนังสือ “กรอบที่ไม่มีเส้น” ของหนุ่มเมืองจันท์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 และขอบคุณบล็อก tzitblog: คิดแบบ คานธี

เรื่องเรือดำน้ำไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ

20200826b

เมื่อวันอังคารผมโพสต์บทความ “วิธีเอาผิดของคนโบราณ” โดยเขียนว่าหลังอ่านข่าวเรือดำน้ำแล้วผมคิดถึงกฎกติกาที่บังคับให้คนทำงานมี skin in the game มากกว่านี้

ปรากฎว่าเป็นโพสต์ที่มีคนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างดุเดือด แต่ก็เห็นเจตนาดีของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการซื้อเรือดำน้ำ

โพสต์เฟซบุ๊คเรื่องเรือดำน้ำที่มีคนอ้างอิงถึงค่อนข้างเยอะคือโพสต์ของคุณ Kantapon Sukraranga ที่เขียนไว้เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม จั่วหัวว่า “ตอบประเด็นร้อนเรื่อง เรือดำน้ำ ฉบับเข้าใจง่าย” เข้าไปอ่านเนื้อหาและอ่านคอมเม้นท์กันได้ครับ

กรณีเรื่องเรือดำน้ำทำให้ผมคิดได้ว่านี่มันไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ

แต่มันเกี่ยวพันกับเรื่องเพื่อนยืมนาฬิกา เรื่องบอสขับรถชน เรื่องจำนำข้าว เรื่องโควิด เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องชูสามนิ้ว และเรื่องอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดศรัทธาต่อรัฐบาล

พอไว้ใจอะไรๆ ก็ง่าย พอไม่ไว้ใจอะไรๆ มันก็ดูยากไปหมด

ถามว่าคนที่ต่อต้านนั้นไม่รู้จักแยกแยะรึเปล่า จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล ข้อมูล และตรรกะเพียงอย่างเดียว อย่างไรเสียอารมณ์ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องมีศาสตร์อย่าง behavioral economics เพราะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมที่บอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลนั้นไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ได้ดีเพียงพอ

ภรรยาโกรธบ้านแตกไม่ใช่เพราะแค่สามีกลับบ้านดึก

พนักงานลาออกไม่ใช่แค่เพราะโดนเจ้านายดุ

แบรนด์โดนถล่มไม่ใช่เพราะทำพลาดแค่หนเดียว

มันมีเหตุการณ์นับร้อยนับพันอย่างก่อนหน้านี้ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน แม้ว่ามันจะดูไม่เกี่ยวกันแค่ไหนก็ตาม

เรื่องเรือดำน้ำไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ

แนวคิดนี้เอาไปอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเราได้หลายอย่างเลยนะครับ