Outlive หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024 – ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

ความเดิมจากตอนที่ 1 – Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023/2024 เพราะมันทำให้ผมตระหนักได้ว่า ถ้าไม่ดูแลสุขภาพเสียแต่ตอนนี้ ตอนแก่เราจะเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน จาก “สี่พญามาร” อันได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคสมองเสื่อม

ตอนที่แล้วเราได้คุยถึงพญามารตัวแรกคือเบาหวานไปแล้ว ตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงโรคหัวใจครับ โดยส่วนไหนที่ผมหาข้อมูลมาเอง ไม่ได้เอามาจากหนังสือ Outlive ผมจะใส่ไว้ในวงเล็บ [ ] ครับ

[โรคหัวใจหรือ cardiovascular disease เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศในโลก

ซึ่งโรคหัวใจที่เราคุ้นหูกันก็คือหัวใจวาย กับ สโตรค (stroke) ซึ่งไม่เหมือนกัน

หัวใจวาย หรือ heart attack เกิดจากหัวใจขาดเลือด

สโตรค เกิดจากสมองขาดเลือด หรือจะเรียกว่า brain attack ก็จะจำได้ง่ายขึ้น

ทั้งสองโรค เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis ออกเสียงว่า “แอ๊ธธะโร สะเค ลอโร้ซิส”) คือการมีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดหลอดเลือดตีบตัน

โรคหัวใจคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศทั่วโลก (ของไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็ง)

ในปี 2021 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกทั้งหมดประมาณ 58.5 ล้านคน มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 20.5 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 

อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 7 แสนคน คิดเป็น 210 คนในประชากรทุกหนึ่งแสนคน

ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจปีละประมาณ 60,000 คน คิดเป็น 84 คนในประชากรทุกแสนคน ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขต่ำผิดปกติจนไม่ค่อยอยากเชื่อสถิตินี้ เพราะประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรือมาเลเซียล้วนมีอัตราส่วนเกิน 200 คนต่อหนึ่งแสนทั้งนั้น

แม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคหัวใจของเราก็ยังก้าวหน้ากว่าโรคมะเร็งหรือสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับ 100 ปีที่แล้ว อัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงมากที่สุดในบรรดาสี่พญามาร]

เราถูกสอนมาว่า ให้ระวังคอเลสเตอรอลสูง ใครที่คอเลสเตอรอลเกิน 200 นี่น่าเป็นห่วงและควรกินยา

แต่ Dr.Attia บอกว่า ค่า total cholesterol ที่เป็นผลรวมของ HDL, LDL และ Triglyceride นั้นแทบไม่มีประโยชน์ในการทำนายความเสี่ยงของโรคหัวใจ

จริงๆ แล้วคอเลสเตอรอลไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างฮอร์โมน วิตามินดี และกรดน้ำดี

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือคอเลสเตอรอลที่เราได้จากอาหาร เป็นเพียง 20% ของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกายของเราเท่านั้น

อีก 80% ที่เหลือ เป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายของผลิตขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีตับเป็นผู้ผลิตหลัก แต่ลำไส้และสมองก็ผลิตคอเลสเตอรอลด้วยเช่นกัน

เรามักจะบอกว่า HDL คือไขมันดี ส่วน LDL คือไขมันร้าย เราจึงนึกว่าไขมันกับคอเลสเตอรอลคือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรลึกไปกว่านั้น

เนื่องจากคอเลสเตอรอลนั้นไม่ละลายน้ำ จึงไม่อาจเดินทางไปในกระแสเลือดได้ด้วยตัวเองเหมือนกลูโคสหรือโซเดียม คอเลสเตอรอลจำเป็นต้องอาศัยยานพาหนะที่ชื่อว่า lipoprotein (“ลิโปโปรตีน”)

HDL ย่อมาจาก High Density Lipoprotein ส่วน LDL ก็ย่อมาจาก Low Density Lipoprotein

Density ในที่นี้หมายถึงความหนาแน่นของอะไร?

มันคือความหนาแน่นของโปรตีนเมื่อเทียบกับไขมัน

HDL ก็คือ lipoprotien ที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับไขมัน และ Low Density ก็แปลว่ามีความเข้มข้นของโปรตีนไม่เยอะ หรือแปลว่ามีไขมันเยอะนั่นเอง

ทั้ง HDL และ LDL คือยานพาหนะที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แถมยังมีการถ่ายเทคอเลสเตอรอลระหว่าง HDL กับ LDL อีกด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ คอเลสเตอรอลเป็น “สัมภาระ” ส่วน HDL หรือ LDL เป็น “เรือดำน้ำ” ที่เคลื่อนย้ายสัมภาระไปมา

คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสัมภาระและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตจึงไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย สิ่งที่เป็นอันตรายคือเรือดำน้ำอย่าง LDL ต่างหาก

เวลาตรวจเลือด เรามักจะดูค่า LDL-C โดย C ย่อมาจาก Cholestorol

LDL-C ก็คือคอเลสเตอรรอลที่ถูกขนส่งด้วยเรือดำน้ำ LDL

หมอบอกว่า LDL-C ไม่ควรสูงกว่า 130 mg/dL (dL = decilitre)

แต่ตัวปัญหาจริงๆ คือสิ่งที่ติดมากับ LDL ที่เรียกว่า apoB อ่านว่า “เอโพบี” โดย apo ย่อมาจาก apolipoprotein และ apo คือ prefix มีความหมายว่า away

apoB เป็นเหมือนขดลวดหุ้มอยู่รอบตัว LDL อีกที แถม apoB ไม่ได้มีแค่ใน LDL แต่มีอยู่ใน VLDL และ IDL ด้วย (VL = Very Low, I = Intermediate) อีกด้วย

ขณะที่ HDL ก็มีขดลวดรอบๆ เหมือนกัน ชื่อว่า apoA แต่มีพฤติกรรมต่างออกไป 

ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าเรามีความเสี่ยงโรคหัวใจแค่ไหน ตอนตรวจเลือดควรบอกพยาบาลว่าอยากดูค่า apoB ด้วย [ซึ่งธรรมดาเขาไม่ค่อยวัดกัน ผมกลับไปดูประวัติการตรวจสุขภาพของตัวเองก็ไม่มีค่านี้ ดังนั้นถ้าอยากวัดอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม]

เพื่อให้เห็นภาพว่า apoB สร้างปัญหาอย่างไร ให้ลองนึกถึงบ้านเรือนในเมืองนอกที่อยู่กันเป็นบล็อคเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ 

ถนนหรือ street ที่พาดผ่านหน้าบ้านคือเส้นเลือดของเรา และรั้วบ้านด้านนอกคือผนังหลอดเลือด

เวลา HDL วิ่งผ่านมา apoA ที่หุ้ม HDL อยู่ก็จะติดอยู่ตามรั้วบ้าน อาจเข้ามาทักทายเจ้าของบ้านตรงระเบียงหน้าบ้าน (porch – พื้นที่ระหว่างรั้วบ้านกับตัวบ้าน) แต่พอสักพักก็จะร่ำลาและจากไป

แต่พอเวลา LDL/VLDL/IDL วิ่งผ่านมา apoB จะติดตามรั้วบ้าน เข้ามาตรงระเบียงบ้าน แล้วก็นั่งแช่อยู่อย่างนั้นไม่ยอมจากไปไหน แถมยังช่วนเพื่อนๆ apoB ตัวอื่นๆ ที่ผ่านมาให้มาปูเสื่อจัดปาร์ตี้กันอย่างอิ่มหนำสำราญในรั้วบ้านคนอื่นหน้าตาเฉย

ซึ่งเมื่อ apoB มาซ่องสุมอยู่นานๆ เข้า ก็จะเกิดกระบวนการ oxidation และเริ่มเกาะติดแน่น 

จากนั้น ร่างกายก็จะแก้ปัญหาด้วยการโทร 191 เรียกเม็ดเลือดขาวชื่อ monocyte ที่ทำตัวเหมือนแพ็คแมน (Pac-Man) ออกมากินพวก apoB เกเรเหล่านี้

แต่ถ้ากินมากเกินไปเม็ดเลือดขาวก็จะท้องแตกกลายร่างเป็นสิ่งที่มีหน้าตาคล้ายๆ กับเมล็ดโฟมสีขาว (foam cell) เมื่อมีเมล็ดโฟมสีขาวเรียงรายกันเยอะ ผนังเลือดก็จะมี “ลายไขมัน” (fatty streak) ติดอยู่ 

ซึ่งลายไขมันนี้เกิดได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวเลยทีเดียว ผลการชันสูตรศพของคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่นอุบัติเหตุหรือการฆาตรกรรม ก็ล้วนเจอลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือด จึงมีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนอายุ 16-20 ปีก็มีลายไขมันบนผนังหลอดเลือดกันแล้ว

แสดงว่าผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือบทความนี้) ก็น่าจะมีลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือดแล้วเช่นกัน แถมยังไม่มีวิธีการตรวจพบได้อีกด้วย

แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เราคงไม่ได้เป็นโรคหัวใจเร็วๆ นี้ สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ กว่าเราจะหัวใจวายหรือเป็นสโตรค ต้องใช้เวลาสะสมของปัจจัยนานเป็นสิบปี ไม่มีใครเป็นสโตรคจากสาเหตุเพียงชั่วข้ามคืน

เมื่อ foam cell สะสมขึ้นมากๆ ก็จะกลายเป็นคราบที่ยังไม่ได้เกาะตัวแน่น (non-calcified plaque) พอนานๆ ไปก็จะพัฒนาไปเป็นคราบหินปูนหรือตะกรัน (calcified plaque) ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้เราสามารถใช้เครื่อง Calcium Scan ในการตรวจหาคราบหินปูนได้

ตัวคราบหินปูนนั้นเอาจริงๆ ไม่ได้อันตรายเท่าไหร่เพราะว่าเกาะติดแน่นอนและข้างเสถียร แต่การมีอยู่ของคราบหินปูนในหลอดเลือดคือสัญญาณที่บอกเราว่าเส้นเลือดของเรามีคราบที่ไม่เสถียรเกาะอยู่ไม่น้อย และถ้าคราบนี้หลุดออกจากผนังหลอดเลือด ล่องลอยไปตามกระแสเลือดและไปขัดขวางการจราจร ก็ย่อมนำไปสู่ heart attack (หัวใจวาย) หรือ brain attack (สโตรค) ได้นั่นเอง

นอกจาก apoB แล้ว ยังมีวายร้ายอีกตัวหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จัก ชื่อว่า Lp(a) (“แอลพีลิทเทิ่ลเอ”) ซึ่งคนที่มีค่านี้สูงๆ มีโอกาสที่จะ “หัวใจวายก่อนวัยอันควร” (premature heart attacks)

ค่า Lp(a) สูงเกิดจากกรรมพันธุ์ บางคนมีค่านี้สูงกว่าคนปกติถึงร้อยเท่า ดังนั้นถ้าใครมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็ควรตรวจเลือดหาค่านี้ด้วยเช่นกัน

คำถามสำคัญก็คือเราจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้อย่างไร

แม้จะมีความเชื่อว่าการมี “ไขมันตัวดี” อย่าง HDL สูงๆ จะช่วย แต่ Dr.Attia บอกว่าจากงานวิจัยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า HDL ที่สูงจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้จริงๆ

ถ้าอยากลดความเสี่ยงโรคหัวใจ สิ่งที่ต้องโฟกัสคือการลดค่า LDL ให้ต่ำที่สุด (ซึ่งก็จะทำให้ apoB ซึ่งเป็นวายรายตัวจริงน้อยลงไปโดยปริยาย)

การออกกำลังกาย ไม่ได้ช่วยให้ค่า LDL ลดลง (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในทางตรง) การลดค่า LDL ที่ได้ผล ก็คือการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ยา

เพื่อจะลด LDL เราควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ที่มาจากเนื้อสัตว์บก และกินไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fats) ที่มาจากพืชหรือปลา

[จากประสบการณ์ตรงของคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องอาหารการกินเท่าไหร่ ผมไม่เคยจำได้ว่าเลยว่า อะไรคือไขมันอิ่มตัว อะไรคือไขมันไม่อิ่มตัว แต่ผมพบวิธีจำได้ง่ายๆ แล้ว นั่นก็คือ อะไรที่กินแล้ว “อิ่มท้อง” ก็มักจะมีไขมัน “อิ่มตัว” (เนื้อ หมู ไก่ แกะ) อะไรที่กินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องเท่าไหร่ ก็คือไขมันไม่อิ่มตัว (ปลา อะโวคาโด แอลมอนด์ฯลฯ)

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มีหลายองค์กรออกมาเตือนให้ระวังการบริโภคไข่ไก่ เพราะจะทำให้คอเลสเตอรอลสูง แต่ในเมื่อไข่ไก่ไม่ได้มีไขมันอิ่มตัว การกินไข่จึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้ไปเพิ่ม LDL

Peter Libby หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เคยกล่าวไว้ว่า โรคหัวใจอาจจะสูญพันธุ์ ถ้าประชากรทุกคนมีค่า LDL-C เท่ากับตอนที่เราอยู่ในวัยทารก คือประมาณ 20 mg/dL เท่านั้น

Dr.Attia บอกว่า LDL ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีค่า LDL ที่ต่ำเกินไป ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจ ควรหาทางทำให้ LDL ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ การตั้งเป้าให้ LDL-C ต่ำกว่า 100 จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าจะต้องใช้ยาอย่างสแตติน (Statin) ก็ตาม

[ผมคิดว่า Dr.Attia อาจจะสุดโต่งเกินไปหน่อย การยอมใช้ยาเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทคนไทยที่หาซื้อยา Statin จากร้านขายยาได้โดยง่าย และอาจบริโภคมากเกินไปโดยที่ไม่ได้ปรึกษาหมอ]

[อีกประเด็นไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ แต่ผมอยากจะชวนคุย ก็คือเรื่องการกินอาหารทะเล ซึ่งคนไทยชอบแซวกันว่า ก่อนไปตรวจสุขภาพ ห้ามกินอาหารทะเล ไม่งั้นจะโดนหมอดุเพราะคอเลสเตอรอลสูง

แต่ก็เช่นเดียวกับไข่ไก่ อาหารทะเลอย่างกุ้งหรือปลาหมึกนั้นไม่ได้มีไขมันอิ่มตัวเหมือนเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว (ซึ่งทำให้ตับผลิต LDL มาก และมี apoB ที่สร้างปัญหาให้หลอดเลือดแข็ง) แถมอาหารทะเลยังมีโอเมกา 3 ที่ทำให้ HDL สูงขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น แม้การกินอะไรทะเลอาจทำให้ค่า total cholestorol ที่มาจาก HDL+LDL+Triglyceride สูงขึ้นก็จริง แต่จะเป็นการสูงในส่วนของ HDL ซึ่งเป็นเรื่องดี และไม่ได้ทำให้ LDL สูงขึ้นแต่อย่างใด

ตราบใดที่เรากินอาหารทะเลอย่างพอประมาณ ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่ามันจะทำให้สุขภาพของเราแย่ครับ]

ในตอนต่อไป เราจะพูดถึงพญามารตัวที่ 3 ซึ่งคนไทยน่าจะหวาดกลัวมากที่สุด

โรคมะเร็งครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

บทเรียนสำคัญจาก Outlive หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024 (ตอนที่ 1)

ผมได้อ่านหนังสือ Outlive: The Science & Art of Longevity ของ Peter Attia จบเมื่อตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2023 และอ่านซ้ำอีกครั้งช่วงกลางเดือนธันวาคม 2023 ตั้งใจจะเขียนบล็อกนี้ให้เสร็จก่อนสิ้นปี แล้วตั้งชื่อบทความว่า หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023 แต่ปรากฎว่าไม่ทัน ก็เลยขอตั้งชื่อบทความนี้ว่าเป็น “หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024” แทนแล้วกันนะครับ

โดยตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนให้จบแล้วปล่อยเป็นตอนเดียวไปเลย แต่กลับใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้มาก จึงเปลี่ยนแผนมาทยอยปล่อยบทความเป็นตอนๆ โดยคิดว่าน่าจะจบบริบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์

Key Message ของหนังสือเล่มนี้คือ “จงอย่าคิดไปเองว่าเราจะยังแข็งแรงในวัยชรา จงดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ และวิธีที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย”

เรื่องออกกำลังกายเป็นสิ่งที่พูดซ้ำกันจนเบื่อ ใครที่อายุเกินสี่สิบอาจมีทำนองเพลง “กีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ” ลอยเข้ามาในหัวด้วยซ้ำ

—–

คนเราเวลาแก่ตัวลง มักจะมีเรื่องกลัวอยู่ไม่กี่อย่าง

หนึ่งคือกลัวไม่มีเงินใช้ สองคือกลัวเจ็บป่วย สามคือกลัวตาย

ข้อหนึ่งมีคนพูดถึงเยอะแล้ว ส่วนข้อสามก็ยากมาก ต้องพึ่งความเข้าใจทางจิตวิญญาณ ซึ่งไม่รู้จะเข้าถึงได้เมื่อไหร่หรือจะมีวันเข้าถึงได้หรือเปล่า

ส่วนข้อสอง การกลัวความเจ็บป่วยนั้น สิ่งที่หลายคนทำคือซื้อประกัน ซึ่งเอาเข้าจริงมันไม่ได้ป้องกันให้เราไม่เจ็บป่วย แค่ช่วยให้เราไม่หมดตัวเวลาป่วยหนักเท่านั้น

ด้วยวิถีชีวิตของคนเราทุกวันนี้ที่ทำงานที่บ้าน ขยับตัวน้อยกว่าแต่ก่อน (sedentary lifestyle) และความจริงที่ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ผมคิดว่าการกลับมาใส่ใจเรื่องสุขภาพตั้งแต่วัยขึ้นเลขสามหรือเลขสี่เป็นการปรับกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ที่จำเป็นมากๆ สำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่ไม่เดือดร้อนลูกหลาน (แถมหลายคนเลือกที่จะไม่มีลูกด้วย) ไม่ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรังในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต

มันคือการสบตากับความจริงที่ว่า สังขารของเราต้องโรยรา และอาจโรยราเร็วกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราด้วยซ้ำ ใครจะไปนึกว่าตอนอายุ 40 เราจะปวดหลังได้ขนาดนี้ ตอนพ่อแม่อายุเท่าเราเขาดูแข็งแรงกว่าเราตอนนี้อย่างชัดเจน

การเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมง่ายกว่าและมีโอกาสสำเร็จมากกว่าไปเริ่มเตรียมพร้อมตอนอายุ 50 หรือ 60 (แต่ถึงคุณจะอายุ 60 แล้วจะเริ่มก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ)

ผมใช้เวลาเขียนบทความนี้ข้ามปี เนื่องจากผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บและอาหารการกิน เลยต้องหาข้อมูลอ่านเพิ่มเองเยอะมาก หากมีข้อผิดพลาดประการใด รบกวนท้วงติงด้วยนะครับ

ความหวังสำคัญของผม คือให้บทความชิ้นนี้เปลี่ยนทิศทางชีวิตของผู้อ่าน ด้วยการหันมาเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

แล้วอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า เราจะนึกกลับมาขอบคุณตัวเองที่ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทครับ

======

เกี่ยวกับหนังสือและผู้เขียน

======

Outlive อ่านว่า เอ๊าท์ลีฟ

Live แปลว่าการมีชีวิตอยู่

Out ในที่นี้คือ “การทำให้มากกว่า” เช่น 

outrun – วิ่งเร็วกว่า 

outnumber – มีจำนวนมากกว่า

outdo – ทำได้ดีกว่า

Outlive จึงแปลว่าอยู่ได้นานเกินกว่าคนทั่วไปหรือนานเกินกว่าค่าเฉลี่ย

ผู้เขียนชื่อ Dr.Peter Attia เคยเรียนจบตรีด้านวิศกรรมเครื่องกล ก่อนไปเรียนจบปริญญาเอกที่ Stanford University School of Medicine ได้ทำงานกับ John Hopkins Hospital อยู่ 5 ปี และที่ National Cancer Institute อีก 2 ปีในฐานะหมอโรคมะเร็งผิวหนัง (melanoma)

ผมได้ยินชื่อ Peter Attia โดยบังเอิญจาก YouTube ถ้าลองไปเสิร์ชดูจะเห็นว่าเขาได้ให้สัมภาษณ์และทำพ็อดแคสต์เอาไว้เยอะมาก 

Dr.Attia บอกว่าเขาใช้เวลาเขียน Outlive อยู่ถึง 6 ปี เป็นหนังสือเล่มแรกและน่าจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตของเขา ผมเลยลองไปหาที่ร้าน AsiaBooks สาขาซีคอนแสควร์ตอนเดือนตุลาคม 2023 ปรากฎว่ามีแค่เล่มเดียวแถมยังเป็นปกแข็ง ราคาก็แรงอยู่ แต่ก็ตัดสินใจซื้อมาอ่าน

ปรากฎว่าสนุกกว่าที่คิด เป็นหนังสือที่ผมขีดไฮไลต์มากที่สุดในปี 2023 ความลำบากคือมีข้อเสียตรงที่ศัพท์ทางเทคนิคเยอะ แถมผู้เขียนก็ค่อนข้างสุดโต่งในหลายเรื่องเพราะแก geek มากๆ

ผมอ่าน Outlive จบตอนต้นเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ยังไม่ได้เขียนถึงในบล็อกนี้เพราะยังไม่แน่ใจว่ามันจะมีอิมแพ็กต์กับชีวิตผมมากแค่ไหน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็พบว่าตัวเองคิดถึงหลายประเด็นที่ Outlive พูดถึงอยู่หลายครั้ง จึงคิดว่าคงถึงเวลาที่จะฮึดขึ้นมาเขียนบล็อกยาวๆ อีกสักตอน เพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองและเป็นของขวัญให้ผู้อ่านบล็อก Anontawong’s Musings สำหรับปีใหม่

เพื่อเรียกน้ำย่อย ขอจั่วหัวบางประเด็นที่จะพูดถึงในบทความนี้เอาไว้หน่อย

– หนึ่งในปัจจัยการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของคนวัยเกษียณคือ “การล้ม” – เราคงเคยได้ยินเรื่องราวของญาติผู้ใหญ่หลายคนที่ล้มทีนึงแล้วสุขภาพทรุดเลย – เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะลดโอกาสที่พ่อแม่ของเราจะล้ม รวมถึงโอกาสที่เราจะล้มในวันที่เราแก่กว่านี้?

– ลักษณะอะไรที่คนอายุยืนเกิน 100 ปีมีเหมือนกัน?

– ทำไมการดื่มน้ำผลไม้จึงอาจไม่ดีต่อสุขภาพ?

– คอเลสเตอรอลสูงไม่ดีจริงหรือ?

– จะเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดได้อย่างไร?

– อัลไซเมอร์มีทางรักษาหรือไม่?

– KPI ตัวไหนที่ทำนายอายุขัยของเราได้ดีที่สุด?

เนื่องจากบางหัวข้อจำเป็นต้องมีการปูพื้นฐาน เนื้อหาส่วนไหนที่ผมเพิ่มเติมเข้าไปเอง จะใส่ไว้ในวงเล็บ [ ] กำกับไว้นะครับ

=======

Lifespan vs Healthspan

=======

แน่นอนว่าทุกคนอยากอายุยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่การแพทย์ยุคใหม่ทำได้ดี อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ในศตวรรษที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

นั่นหมายความว่าถ้าตอนนี้เราคิดว่าจะอายุถึง 80 ปี เมื่อร้อยปีที่แล้วเราจะมีอายุคาดเฉลี่ยเพียง 40 ปีเท่านั้น คิดแล้วก็สั้นจนน่าใจหาย

แต่แม้ว่าการแพทย์สมัยนี้จะทำให้เราอายุยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตในช่วง 10 ปีสุดท้ายนั้นไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่

พอเลยวัย 65 หรือ 70 ปี สุขภาพของเราจะทรุดโทรมเร็วมาก บางคนต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นกิจวัตร บางคนนั่งรถเข็น บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ทศวรรษสุดท้ายจึงเป็น”ทศวรรษชายขอบ” (marginal decade) ของคนจำนวนไม่น้อย คือยังหายใจอยู่ แต่ชีวิตก็เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยและความทุกข์ทางกายและทางใจ จนไม่แน่ใจว่าอายุที่ยืนยาวนั้นเป็นพรหรือเป็นคำสาป

สิ่งที่เราควรใส่ใจไม่น้อยกว่า lifespan ก็คือ healthspan คือนอกจากอายุขัยจะยืนยาวแล้ว เราควรตั้งความหวังและตั้งใจที่จะมีสุขภาพดีไปจนถึงช่วงทศวรรษสุดท้าย และแม้กระทั่งช่วงเดือนปีสุดท้ายของชีวิตด้วย

=======

Medicine 3.0

=======

ในมุมมองของ Peter Attia การแพทย์ของเรามีอยู่สามยุค

Medicine 1.0 – เริ่มต้นจากชาวกรีกนาม ฮิปโปเครติส Hippocrates ในสมัย 460 ปีก่อนคริสตกาล ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์”

Medicine 2.0 – เริ่มต้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากคนอย่าง Louis Pasteur ที่ค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่า และ Robert Kosch ที่พบว่าจุลินทรีย์เป็นต้นเหตุของวัณโรคและอหิวาตกโรค

การค้นพบว่าโรคติดต่อเกิดจากเชื้อโรคนั้น ทำให้ Medicine 2.0 ช่วยมนุษชาติเอาชนะโรคโปลิโอและโรคฝีดาษ รวมถึงจำกัดการทำลายล้างของเชื้อ HIV ได้

แต่ Medicine 2.0 ก็ยังมีข้อจำกัด คือส่วนใหญ่แล้วมันช่วยรักษามนุษย์จากอุบัติเหตุและโรคติดต่อ (fast death) แต่กลับไม่ได้สร้างความคืบหน้ามากนักสำหรับโรคเรื้อรัง (slow death) อย่างเช่นโรคมะเร็ง

ในระหว่างปีค.ศ. 1900-2000 อัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยต่อประชากร 100,000 ลดจาก 1,600 เหลือ 800 คน

แต่ถ้าตัดการเสียชีวิตจากโรคติดต่อ 8 อันดับแรกออกไป อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนลดลงจาก 1100 คน เหลือ 800 คนเท่านั้น

Medicine 3.0 คือสิ่งที่ Peter Attia พยายามจะผลักดัน โดยมีข้อแตกต่างจาก Medicine 2.0 สี่ข้อด้วยกัน

หนึ่ง เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา

สอง มองคนไข้แต่ละคนเป็นปัจเจก และออกแบบการรักษาเพื่อคนไข้คนนั้นโดยเฉพาะ

สาม ประเมินความเสี่ยงต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงความเสี่ยงที่จะไม่ทำอะไรเลยด้วย

สี่ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด ในขณะที่ Medicine 2.0 ให้ความสำคัญกับ lifespan และการยื้อยุดกับความตายบนเตียงโรงพยาบาล Medicine 3.0 จะให้ความสำคัญกับ healthspan และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้ยาวนานที่สุด

ระบบสาธารณสุขและธุรกิจประกันสุขภาพยังใช้โลกทัศน์แบบ Medicine 2.0 แทบไม่มีบริษัทประกันเจ้าไหนที่จะยอมจ่ายเงินให้หมอสั่งคนไข้ให้ระมัดระวังเรื่องการกินและคอยมอนิเตอร์ค่าน้ำตาลในเลือด แต่หากคนไข้เป็นเบาหวานเมื่อไหร่ บริษัทประกันพร้อมจะจ่ายค่ายาฉีดอินซูลินซึ่งใช้เงินสิ้นเปลืองกว่ามาก

“Nearly all the money flows to treatment rather than prevention – and when I say “prevention,” I mean prevention of human suffering.”

Medicine 3.0 เชื่อว่าการป้องกันนั้นใช้เงินน้อยกว่าและทรงประสิทธิภาพมากกว่ามากนัก โดยเฉพาะเมื่อวัดกันในเรื่องการลดความทุกข์ทรมานของมนุษย์

=======

สี่พญามาร

=======

[ในพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ ในยามที่โลกถึงวันพิพากษา จตุรอาชา (The Four Horsemen of Apocalypse) จะปรากฎตัวและนำไปสู่วันสิ้นโลก โดยจตุรอาชาได้แก่ โรคระบาด สงคราม ความอดอยาก และความตาย]

ในหนังสือ Outlive Dr.Attia บอกว่าจตุรอาชาของโรคเรื้อรัง ได้แก่

1.เบาหวาน (Metabolic Dysfunction)

2.โรคหัวใจ

3.มะเร็ง

4.สมองเสื่อม เช่นอัลไซเมอร์

เพื่อให้เข้ากับบริบทไทย ผมขอเปลี่ยนคำว่า จตุรอาชา เป็น “พญามาร” แล้วกันนะครับ

ทั้งสี่โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ทั่วโลก เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ กินเวลายาวนานกว่าจะออกอาการ และทั้งสี่โรคนี้อาจมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด

ในบรรดาคนที่อายุยืนเกิน 100 ปี (centenarian) พวกเขาจะเริ่มเป็นโรคเหล่านี้ช้ากว่าคนอื่นๆ นับทศวรรษ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนทั่วไป เมื่อเราอายุถึง 72 ปี เราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งถึง 20%

แต่ในคนที่อายุยืนยาวเกิน 100 ปี กว่าที่พวกเขาจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถึง 20% นั้น ต้องรอถึงอายุ 92 ปีเลยทีเดียว

โรคอื่นๆ อย่างสโตรค (stroke) หรือสมองเสื่อมก็เกิดกับคนกลุ่มนี้ช้ามาก หรืออาจจะไม่เกิดเลย

เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของฝรั่งหรือแม้กระทั่งคนไทยที่อายุยืนทั้งๆ ที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเยอะ แต่ขอให้รู้ว่านั่นเป็นเพราะพวกเขาโชคดีกว่าเรา

คนที่อายุยืนโดยไม่ต้องพยายามนั้นเกิดจากพันธุกรรมเป็นหลัก ถ้าพ่อแม่หรือพี่น้องของเราอายุยืน เราก็มีโอกาสที่จะอายุยืนเช่นกัน

แต่ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นคนปกติ เราก็มีแนวโน้มที่จะมีอายุขัยเท่าคนปกติ และมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยหนึ่งใน 4 โรคพญามาร

ดังนั้น ถ้าเราอยาก Outlive และหลบหลีกพญามาร เราต้องทำความรู้จักกับพญามารว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเริ่มดูแลตัวเองให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อลดโอกาสหรือถ่วงเวลาของการมาถึงของพญามารให้นานที่สุด

=======

พญามารตัวที่ 1 – เบาหวาน

=======

[โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินเลย

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน และเปลี่ยนน้ำตาลในร่างกายไปเป็นไขมัน ถ้าตับอ่อนผลิตสารอินซูลินได้น้อย หรือไม่ได้เลย น้ำตาลก็จะตกค้างอยู่ที่กระแสเลือด และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น]

ธรรมดาน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดเราทั้งร่างกายนั้นมีอยู่แค่ 5 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชา

ส่วนคนที่เป็นเบาหวานนั้นมีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือด 7 กรัมหรือ 1 ช้อนชาครึ่ง

เรามีเลือดในร่างกายประมาณ 5 ลิตร แต่ความแตกต่างของคนปกติกับคนเป็นเบาหวาน อยู่ที่น้ำตาลในเลือดที่มากขึ้นแค่ครึ่งช้อนชาเท่านั้น!

เบาหวาน เป็นหนึ่งในอาการของ Metabolic Dysfunction คือกระบวนการเผาผลาญที่ผิดปกติ

อีกหนึ่งอาการของ Metabolic Dysfunction ก็คือภาวะไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease – NAFLD)

หนังสือบอกว่าประชากรถึง 1 ใน 4 ของโลกมีภาวะนี้อยู่ และเป็นกันตั้งแต่วัยรุ่น! และหากอาการแย่ลงก็อาจกลายเป็นภาวะตับอักเสบ (nonalcoholic steatohepatitis – NASH )

เราอาจจะคิดว่าเราผอม เราไม่อ้วน เราไม่เป็นไร แต่แท้จริงแล้วคนผอมอาจจะมีความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับมากกว่าคนอ้วนด้วยซ้ำ

เพราะพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการสะสมไขมันในร่างกาย คือไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) คนที่อ้วน จ้ำม่ำ หรือตุ้ยนุ้ย ก็คือคนที่มีไขมันใต้ผิวหนังอยู่ทั่วร่างกาย ไขมันก็จะไปเก็บอยู่ตามแขนตามขาซึ่งไม่เป็นอันตราย

แต่สำหรับคนผอม ที่ไม่มีพื้นที่ให้สะสมไขมันใต้ผิวหนัง ไขมันเหล่านั้นจะหลุดไปสะสมอยู่ตามอวัยวะที่ไม่ควรอยู่ เช่นตามอวัยวะช่องท้องอย่างตับ ไขมันที่อยู่ตรงนั้นเรียกว่า – visceral fat

ซึ่ง visceral fat นี่อันตรายมาก

ลองจินตนาการถึงอ่างอาบน้ำว่าเป็นร่างกายของคนเรา น้ำที่ไหลเข้าอ่างอาบน้ำคือไขมัน ส่วนท่อระบายน้ำคือการเผาผลาญ

คนอ้วน ก็คือคนที่มีอ่างขนาดใหญ่ น้ำไหลเข้ามาเยอะ ถ้าระบายน้ำไม่ทัน ก็จะเก็บน้ำเอาไว้อยู่ในอ่างได้เพราะมีไขมันใต้ผิวหนังเยอะ

ส่วนคนผอม คือคนที่มีอ่างขนาดเล็ก น้ำไหลเข้ามาเยอะ ระบายไม่ทัน น้ำก็จะล้นอ่าง แล้วท่วมไปตามพื้นห้องน้ำ ลามไปที่ห้องนอน และส่วนอื่นๆ ของบ้าน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้อย่างมาก

เหตุผลที่คนยุคนี้เป็นไขมันพอกตับและเบาหวานมากกว่าคนยุคก่อน ก็เพราะว่าร่างกายของเราไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “อุดมสมบูรณ์” ขนาดนี้

ก่อนจะเริ่มทำการเกษตร บรรพบุรุษของพวกเราหาอาหารด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชผลอยู่หลายแสนปี

อาหารจึงเป็นของหายาก ได้กินมื้อนี้แล้วยังไม่แน่ว่ามื้อถัดไปจะเป็นเมื่อไหร่ ดังนั้นร่างกายของเราจึงถูกออกแบบให้เก็บไขมันและน้ำตาลได้ดีเพื่อสามารถดึงออกมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

แต่ในยุคนี้เราเข้าถึงแหล่งอาหารได้ง่ายดายมาก เราจึงมักบริโภคไขมันและน้ำตาลเยอะเกินกว่าร่างกายจะระบายหรือใช้ได้ทัน ไขมันจึงพอกตับ และน้ำตาลในเลือดจึงสูง และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แค่น้ำตาลสูงขึ้นเพียงครึ่งช้อนชาในเลือดห้าลิตรก็เป็นเบาหวานแล้ว)

แม้กระทั่งเครื่องดื่มสุขภาพอย่างน้ำผลไม้สมูทตี้ ก็มีน้ำตาล fructose มากเกินกว่าที่ตับจะจัดการไหว หนังสือแนะนำว่าให้กินผลไม้เป็นลูกๆ จะดีกว่า เพราะมีกากใยและช่วยให้กระบวนการการดูดซึมเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อหลายคนเติมน้ำ(ตาล) มากเกินไปจนล้นอ่าง วิธีแก้ไขและลดความเสี่ยง ก็คือต้องเอาน้ำใส่อ่างให้น้อยลง หรือไม่ก็ต้องทำให้น้ำระบายออกได้ง่ายขึ้น ด้วยการออกกำลังกาย ที่จะช่วยดูแลระบบเผาผลาญของเราให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

ใครที่ต้องการดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็น Metabolic Dysfunction หรือไม่ ให้ดูห้าข้อนี้ 

1. ความดันสูงกว่า 130/85

2. ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 mg/dL

3. HDL ต่ำกว่า 40 mg/DL ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 mg/DL ในผู้หญิง

4. รอบเอวใหญ่กว่า 40 นิ้วสำหรับผู้ชาย และใหญ่กว่า 35 นิ้วสำหรับผู้หญิง

5. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (elevated fasting glucose) สูงกว่า 110 mg/DL

ถ้าเรามี 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็ให้ระวังว่าอาจจะมีอาการเบาหวานหรือก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) แม้จะไม่ได้อ้วนเลยก็ตาม

ในตอนต่อไป เราจะไปทำความรู้จักพญามารตัวที่ 2 ที่ชื่อว่าโรคหัวใจ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนทั่วโลกครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Book Insights – Everything is F*cked – A Book about Hope by Mark Manson

20191222

สมมติว่าพนักงานสตาร์บัคส์ไม่ได้เขียนชื่อเราบนแก้วกาแฟ แต่เขียนไว้ว่าอย่างนี้

“วันหนึ่งคุณและทุกคนที่คุณรักก็จะตาย และนอกเหนือจากคนจำนวนเพียงน้อยนิดในเวลาอันแสนสั้น สิ่งที่คุณพูดหรือทำแทบจะไม่มีความหมายใดๆ นี่คือความจริงที่ยากจะยอมรับ (Uncomfortable Truth) และทุกสิ่งที่คุณคิดหรือทำก็เป็นเพียงการหลีกเลี่ยงความจริงข้อนี้

เราเป็นแค่เพียงละอองฝุ่นในจักรวาลที่สาละวนกันอยู่บนจุดน้ำเงินจุดเล็กๆ นี้ เราจินตนาการไปเองว่าเรานั้นมีความสำคัญ เราคิดไปเองว่าเรามีความหมาย จริงๆ แล้วเราเป็นได้แค่ nothing

ดื่มกาแฟ %!$ ให้อร่อยนะ (Enjoy your fucking coffee)”

—–

สิ่งที่ตรงข้ามกับความสุขไม่ใช่ความทุกข์หรือความโกรธ เพราะถ้าเราโกรธแสดงว่าเรายังมีหวังอยู่ สิ่งที่ตรงข้ามกับความสุขคือความสิ้นหวัง (hopelessness) และนี่เป็นบ่อเกิดของการป่วยทางจิตแทบทุกโรค

—–

เราอยู่ในช่วงเวลาที่มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เรากลับรู้สึกสิ้นหวังกว่าที่เคย ยิ่งอะไรๆ ดีขึ้นเท่าไหร่เรายิ่งรู้สึกสิ้นหวังมากขึ้นเท่านั้น นี่คือปริศนาแห่งความเจริญ (paradox of progress) ยิ่งประเทศไหนมั่งคั่งมากเท่าไหร่ โอกาสที่คนในประเทศนั้นจะฆ่าตัวตายยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

—–

The Classic Assumption สมมติฐานคลาสสิคของเราก็คือ ถ้าคนๆ หนึ่งไม่มีวินัยหรือเป็นคนใช้ไม่ได้ นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือจิตใจไม่เข้มแข็งพอ

แต่ความเป็นจริงก็คือเราต้องใช้มากกว่า willpower ในการควบคุมตัวเอง จริงๆ แล้วอารมณ์เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจและในการกระทำเพียงแต่เรามักไม่รู้ตัว

—–

เรามีสมองอยู่สองส่วนคือ Thinking Brain และ Feeling Brain เรามักจะคิดว่า Thinking Brain ของเราเป็นใหญ่ เป็นคนขับรถชีวิตคันนี้ แต่จริงๆ แล้วคนขับรถคือ Feeling Brain ต่างหาก เพราะทุกการกระทำของเราถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยเหตุผล

หลายครั้งที่รู้ทั้งรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราควรทำ แต่เราก็ไม่ทำ เพราะ I don’t feel like it. (Feeling Brain เป็นตัวนำ)

Feeling Brain นั้นแข็งแรงกว่า Thinking Brain หลายสิบเท่า บางครั้ง Thinking Brain เลยมักจะเออออห่อหมกตาม Feeling Brain เช่นเรากำลังลดน้ำหนักแต่เกิดอยากกินไอติมขึ้นมา Feeling Brain ตัดสินใจแล้วว่ากูจะกินไอติมแท่งนี้ Thinking Brain สู้ไม่ไหวเลยพยายามเข้าข้างตัวเองว่า “เออ วันนี้ฉันทำงานหนักมาทั้งวันแล้วนะ ดังนั้นต้องให้รางวัลตัวเองหน่อย”

Feeling Brain ไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าต้องทำอะไร และยิ่ง Thinking Brain จะใช้เหตุผลกับ Feeling Brain ยิ่งเป็นไปไม่ได้ การโน้มน้าวด้วยข้อมูลนั้นไม่ได้ช่วยอะไร

วิธีที่จะโน้มน้าว Feeling Brain ได้คือการโน้มน้าวด้วยอารมณ์ ถ้าอยากออกกำลังกาย ก็ต้องทำให้มันนึกถึงหุ่นดีๆ ที่จะได้มา หรือความรู้สึกเซ็กซี่ตอนใส่ชุดว่ายน้ำลงทะเล รวมถึงความชื่นชมจากคนรอบข้าง

Thinking Brain จะคิดแนวราบ ว่าอะไรเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ส่วน Feeling Brain จะคิดแนวดิ่งว่าอะไรดีกว่ากัน

—–

วิธีเดียวที่จะเปลี่ยนคุณค่าที่เรายึดถือ (values) ได้คือต้องเจอประสบการณ์ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เรายึดมั่น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องเปลี่ยนความเชื่อ เราก็ต้องพานพบกับความเจ็บปวดเสมอ ไม่มีการเติบโตใดที่ไม่เจ็บปวด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ไม่ลำบาก

เหตุผลที่โลกนี้ต้องมีศาสนาเพราะสมัยก่อนตอนที่เทคโนโลยีไม่ก้าวหน้า การพัฒนาไม่มี ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิมตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นถ้าคุณเกิดมาจน คุณก็ไม่มีความหวังว่าชีวิตคุณจะดีขึ้น ถ้าคุณเกิดมาเป็นทาส คุณก็จะเป็นทาสไปตลอดชีวิต ศาสนามอบความหวังด้วยการสัญญาว่า ถ้าคุณเชื่อในพระเจ้า ชีวิตหลังความตายของคุณจะดีกว่าชีวิตนี้

นิทเช่บอกว่าคนเราจะยิ่งใหญ่ได้ ต้องมองไปไกลกว่าความหวัง ไกลกว่าดีหรือชั่ว แต่จง amor fati ซึ่งแปลว่า love one’s fate เจออะไรมาก็จงรับมันไว้ด้วยความปรีดา

—-

Child -> Pleasures
“เด็กเล็ก” จะวิ่งเข้าหาความสุขโดยไม่สนใจอย่างอื่น ไม่สนใจสายตาใคร

Adolescents -> Principles -> Pleasures
“เด็กวัยรุ่น” จะเริ่มคิดถึงหลักการที่จะนำไปสู่ความสุข เช่นถ้าใส่แว่นนี้จะดูเท่รึเปล่า ถ้าฟังเพลงนี้จะอินเทรนด์รึเปล่า

ทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่นก็ยังเป็นเด็กอยู่ดี เพียงแต่วัยรุ่นมีความเนียนกว่าหน่อย แต่สุดท้ายก็ยังมุ่งหาความสุขหรือ pleasures ไม่ต่างกัน

Adult -> Principles
“ผู้ใหญ่ (ที่แท้จริง)” จะยึดมั่นในหลักการ โดยไม่สนใจว่ามันจะนำไปสู่ความสุขหรือไม่

Emmanuel Kant บอกว่าสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากทุกสิ่งในจักรวาลนี้ก็คือ “Consciousness” หรือความรู้สึกตัว เราเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่คิดอย่างมีเหตุมีผลและใช้ชีวิตอย่างมีสติได้

—–

Hope หรือความหวังนั้นมันมีจุดอ่อนตรงที่มันยังเป็นการ “แลกเปลี่ยน” (transactional) อยู่ เช่นไม่กินสิ่งนี้ แล้วคุณจะได้ไปสวรรค์ อย่าฆ่าคนๆ นี้ ไม่อย่างนั้นคุณจะตกนรก ทำงานหนักและอดออม คุณจะได้มีความสุข

แต่ถ้าอยากจะก้าวข้าม Hope ไป เราต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีข้อแม้ (act unconditionally) รักโดยไม่หวังให้เขารักตอบ เคารพเขาโดยไม่หวังให้เขาต้องเคารพเรา เป็นคนซื่อสัตย์แม้จะไม่มีใครชื่นชม หากเรายังแอบหวังผลตอบแทน นั่นก็แปลว่าเรายังไม่ได้รักเขาจริงๆ ไม่ได้เคารพเขาจริงๆ ไม่ได้มีความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง

Humanity (มนุษยธรรม) คือเป้าหมายในตัวมันเอง ไม่ใช่ช่องทางที่นำพาเราไปสู่เป้าหมาย (use humanity as an end in and of itself, not as a means to an end)

วิธีเดียวที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้คือการทำตัวเองให้ดีขึ้น

—–

จากงานวิจัยหลายสิบปี ไม่ว่ากลุ่มตัวอย่างจะรวยจนแค่ไหนหรือเคยผ่านประสบการณ์ดีหรือร้ายอะไรมา ความสุขเฉลี่ยของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 7 เต็ม 10 เสมอ แล้วเราก็จะมีภาพในจินตนาการว่า “10” มีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งคะแนนสิบเต็มในจินตนาการนี่แหละที่มันนำพาให้เราต้องดิ้นรนอยู่ไม่สุขอยู่ร่ำไป

เรารู้จักสูตร E = mc^2 โดย c คือความเร็วแสงซึ่งไอน์สไตน์บอกว่ามันเป็น universal constant ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนได้คือ space-time

เราคิดว่า “ตัวเรา” คือ “ค่าคงที่สากล” (universal constant) เช่นกัน เราวันนี้ก็คือเราคนเดิมในเมื่อวานและจะเป็นเราคนเดิมในวันพรุ่งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือประสบการณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา

แต่ในความเป็นจริงก็คือ “ตัวเรา” ไม่ใช่ universal constant สิ่งเดียวที่เป็น universal constant คือ pain หรือ ทุกข์ แล้วเราเองต่างหากที่ปรับตัวไปเรื่อยๆ เพื่อให้รับมือกับทุกข์ระดับต่างๆ ได้ (ความสุขของเราจึงอยู่ที่ประมาณ 7/10 เสมอ)

เนื่องจาก pain เป็นค่าคงที่สากล เราจึงไม่มีทางหลุดพ้นจากมันได้ การทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อจะหลีกหนีความทุกข์จึงไร้ประโยชน์และมีแต่จะทำให้ปัญหาแย่ลง

The pursuit of happiness หรือการตามหาความสุขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของอเมริกานั้นจะพาเราไปผิดทาง การมีชีวิตที่ดีไม่ใช่การหลบหลีกความทุกข์ ชีวิตที่ดีคือการยอมทนทุกข์ด้วยเหตุผลที่เราเลือกแล้ว (Living well doesn’t mean avoding suffering; it means suffering for the right reasons)

เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เราเชื่อว่าคนเราควรจะทุกข์น้อยลงแต่จริงๆ แล้วความทุกข์ไม่เคยหายไปไหน มันแค่เป็นความทุกข์ที่พัฒนาแล้วเท่านั้นเอง (improvement of pain is not an elimination of pain) มันแค่แปรรูปจากความทุกข์ทางร่างกายมาเป็นความทุกข์ทางจิตใจเท่านั้นเอง

เราต้องไม่สับสนระหว่าง Freedom กับ Variety สมมติว่าไมค์มีช้อยส์ขนมปังให้เลือก 20 ช้อยส์ แต่เจนมีให้เลือกแค่ 2 ช้อยส์ ไมค์ไม่ได้มีอิสรภาพ (freedom) มากกว่าเจน เขาแค่มีความหลากหลายมากกว่าเจนเท่านั้น

อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้โดยแท้จริงผ่านการ self-elimination เท่านั้น เลือกว่าจะตัดอะไรออกไปในชีวิต

ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่บอกว่าจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนั้น แท้จริงเป็นเพียง “Modern diversions” หรือการเบี่ยงเบนความสนใจ มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอแต่อย่างใด

—–

เมื่อถึงวันที่ AI สามารถเขียน AI ได้ดีกว่าที่เราเขียน วิถีชีวิตของเราอาจไม่ต่างกับยุคหลายพันปีก่อนที่มนุษย์บูชาและปฏิบัติตามพลังที่เราไม่อาจหยั่งถึงและไม่อาจต่อกรด้วยได้

สุดท้ายแล้ว AI อาจจะเป็น The Final Religion ที่นิทเช่เคยพูดถึง และเราไม่ควรตัดสิน AI ไปล่วงหน้า เพราะสิ่งแย่ๆ ที่เราคิดว่า AI จะทำนั้นล้วนแล้วแต่ขับมาจากความคิดความเชื่อของมนุษย์ที่ยังกิเลสหนาปัญญาด้อย ซึ่ง AI คงไม่ทำอะไรโง่ๆ อย่างนั้น

คำแนะนำก็คือ อย่าหวัง – Don’t hope

แล้วก็อย่าสิ้นหวังด้วย – Don’t despair either

อย่าคิดว่าเรารู้อะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว เพราะไอ้ความเชื่อที่เราว่าเรารู้แล้วนี่แหละที่ทำให้เรามีปัญหาอยู่ทุกวันนี้

อย่าหวังว่าอะไรจะดีขึ้น แค่เป็นคนที่ดีขึ้นก็พอ Don’t hope for better. Be better.


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ  Everything is F*cked – A Book about Hope by Mark Manson

(Book Insights ไม่ใช่ Book Summary และไม่ใช่ Book Review ดังนั้นจึงจะไม่พยายามพูดถึงหนังสือทั้งเล่ม และจะไม่วิจารณ์ด้วยว่าดีไม่ดี หรือผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร สิ่งที่ Book Insights จะทำคือการดึงเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ขึ้นมาพูดเป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาแบบลัดสั้นที่สุดครับ)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงคริสต์มาสนี้ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ fb.com/anontawongblog/posts/1529356450556797

Book Insights – The Culture Code

20191026

เคยมีการทดลองให้ทำงานกลุ่มด้วยการนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างสิ่งก่อสร้างให้สูงที่สุด

– เส้นสปาเก็ตตี้ดิบ 20 เส้น
– สก๊อตเทป 1 หลา
– ด้าย 1 หลา
– มาชเมลโลว์ 1 ก้อน

โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มเด็ก MBA จะสร้างได้เตี้ยกว่ากลุ่มเด็กอนุบาล โดยเด็ก MBA สร้างได้สูงแค่ 10 นิ้ว ส่วนเด็กอนุบาลสร้างได้สูง 26 นิ้ว

เวลาที่เด็ก MBA ทำงานกลุ่ม ภายนอกอาจดูเหมือนว่ามีการแบ่งงานกันดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่การทำงานร่วมกัน แต่เป็นการทำ status management (จัดการที่ทาง/สถานะของตัวเอง) คำถามที่วนอยู่ในหัวพวกเขาคือ “ใครคือผู้นำกลุ่มในตอนนี้” “ฉันวิจารณ์ไอเดียคนอื่นได้รึเปล่า” “มีกฎอะไรบ้าง” ทำให้การทำงานร่วมกันไม่มีประสิทธิภาพแถมยังมีการชิงดีชิงเด่นกันอย่างเนียนๆ ด้วย

ขณะที่เด็กอนุบาลนั้น ภายนอกอาจดูยุ่งเหยิง แต่พวกเขาไม่สนใจเรื่อง status management ทุกคนล้วนอยากช่วยกัน ลองผิดลองถูก เรียนรู้ว่าอะไรเวิร์คหรือไม่เวิร์คแล้วค่อยๆ พาตัวเองไปสู่ทางออกที่ดีกว่า

เด็กอนุบาลไม่ได้ฉลาดกว่าเด็ก MBA แค่ทำงานฉลาดกว่าเฉยๆ (they are not smarter, they just work in a smarter way)

หนังสือเล่มนี้พูดถึง 3 skills หลักๆ
1. Build Safety – สร้างความรู้สึกปลอดภัย
2. Share Vulnerability – ยอมรับในความอ่อนแอและความกังวลของตัวเอง
3. Establish Purpose – มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

—–

Build Safety

เคยมีการทดลองด้วยการส่ง “คนพลังงานลบ” เข้าไปในที่ประชุมของคนทำงาน โดยมีหน้าที่หลักๆ คือทำตัวเป็น Jerk (คนนิสัยเสีย), Slacker (คนขี้เกียจ), และ Downer (คนหม่นหมอง) เมื่อคนจำพวกนี้เข้าไปในกลุ่มไหน พลังงานของกลุ่มจะตกลงทันที และคนอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะทำตัวคล้อยตามไปด้วย

แต่มีกลุ่มหนึ่งที่คนพลังงานลบทำอะไรไม่ได้ เพราะมีคนอย่าง Jonathan อยู่ โดยเวลาที่ Jerk พูดอะไรไม่ดีออกมา โจนาธานจะตอบอย่างนุ่มนวลและถามคำถามใหม่ที่ทำให้คนอื่นๆ ได้แสดงความเห็น และโจนาธานก็จะฟังอย่างตั้งใจก่อนจะตอบอย่างระมัดระวัง จนทำให้บรรยากาศของทีมกลับมาดีขึ้น

โจนาธานทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องใช้คำใหญ่โต ไม่ต้องพูดจาปลุกใจ ไม่ต้องบอกว่าใครต้องทำอะไร สิ่งที่เขาทำเพียงสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้คนอื่นๆ ได้มีบทบาทเท่านั้นเอง

เท่าที่ได้ไปสังเกตการณ์ในองค์กรที่มีทีมเวิร์คที่ดีอย่าง IDEO, หน่วย SEAL หรือโรงเรียน KIPP เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ในการทำงานกลุ่ม
– คนยืน/นั่งอยู่ใกล้กัน และมักจะเป็นวงกลม
– คนในกลุ่มสบตากันเยอะมาก
– มีการแตะเนื้อต้องตัวอยู่บ่อยๆ handshakes, fist bumps, hugs
– ไม่มีใครพูดยาวๆ แต่จะผลัดกันพูดสั้นๆ
– ทุกคนได้พูดพอๆ กัน
– มีการขัดจังหวะกันน้อยมาก
– มีคำถามเยอะมาก
– ฟังอย่างตั้งใจ
– เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ
– มีมารยาท (พูดขอบคุณ เปิดประตูให้เพื่อน)

อีกหนึ่งการทดลองที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ลองแก้ปัญหา puzzle โดยจะใช้เวลานานเท่าไรก็ได้ เมื่อผ่านไปสองนาทีก็มีคนส่งกระดาษมาให้ เขียนโดยลายมือของคนชื่อสตีฟบอกว่า “ผมเคยทำ puzzle นี้มาก่อน และผมมีเคล็ดลับที่อยากจะบอก…” เมื่อผู้เข้าร่วมได้รับกระดาษแผ่นนี้แล้ว เขามีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับการแก้ puzzle นานขึ้นถึง 50% ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเคล็ดลับในกระดาษก็ไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกที่ว่ามีใครบางคนแคร์เราอยู่

การส่งสัญญาณว่าเราแคร์นั้นทำแค่ครั้งเดียวไม่พอ แม้เค้าจะรู้อยู่แล้วว่าเราแคร์ก็เถอะ เหมือนคนรักกันก็ควรบอกรักกันบ่อยๆ

ในการทำ staff orientation ของ Call Center แห่งหนึ่ง พนักงานใหม่ได้รับการเทรนเหมือนกันหมด แต่ตอนท้ายมีการแบ่งกลุ่มเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้กลับบ้านเลย ส่วนกลุ่มที่สองได้รับการเทรนเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ผ่านไป 7 เดือน กลุ่มที่สองมีโอกาสสูงกว่ากลุ่มแรกถึง 250% ที่จะยังทำงานที่นี่อยู่ ความแตกต่างก็คือในการเทรน 1 ชั่วโมงที่กลุ่มที่สองได้รับนั้น พวกเขาได้รับ “สัญญาณ” ว่าองค์กรนี้แคร์เขา ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า ช่วงเวลาไหนของวันที่เขาทำงานได้ดีที่สุด เขามีทักษะพิเศษอะไรบ้าง รวมถึงการได้รับแจกเสื้อที่มีชื่อของตัวเองปักอยู่

คนชอบนึกว่าองค์กรที่มี culture ที่ดีคือองค์กรที่คนทำงานอย่างมีความสุขความสบาย แต่ความเป็นจริงก็คือผู้คนในองค์กรที่มี culture ที่แข็งแรงนั้นไม่ได้แคร์เรื่องการมีความสุขเท่ากับความสามารถและโอกาสในการแก้ปัญหายากๆ ร่วมกัน

ในอีกหนึ่งการทดลองที่ให้เด็กมัธยมเขียนเรียงความและให้อาจารย์เป็นคนให้ฟีดแบ็ค ปรากฎว่ามีประโยคหนึ่งที่ทรงพลังเป็นพิเศษ นักเรียนที่ได้รับประโยคนี้มีโอกาสสูงมากที่จะแก้ไขเรียงความให้ดีกว่าเดิม ประโยคที่ว่าคือ

I’m giving you these comments because I have very high expectations and I know that you can reach them

ครูเขียนคอมเม้นท์เหล่านี้เพราะว่าครูมาตรฐานสูงและครูก็รู้ว่าเธอทำได้

ประโยคนี้เป็นสัญญาณสร้างความปลอดภัยในสามระดับ
1. เธอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเรา
2. กลุ่มของเรานั้นพิเศษ เพราะเรามาตรฐานสูง
3. ครูรู้ว่าเธอสามารถทำตามมาตรฐานนี้ได้

เคยมีการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ทีมๆ หนึ่งสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆ และได้พบกว่า กลุ่มคนที่ผลงานโดดเด่นนั้นมี clusters of high communications ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีการติดต่อสื่อสารพูดคุยกันบ่อยๆ นั่นเอง

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิด high communications คือ “ระยะทางระหว่างโต๊ะ” ยิ่งโต๊ะอยู่ใกล้กันเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดการสื่อสารมากขึ้นเท่านั้น ถ้านั่งห่างกันไม่เกิน 8 เมตรจะสื่อสารกันถี่มาก แต่ถ้านั่งไกลกว่านั้น การสื่อสารจะตกลงอย่างรวดเร็ว ดูภาพประกอบได้ที่ Allen Curve

คนที่นั่งใกล้กันจะส่งเมลหากันบ่อยกว่าคนที่นั่งห่างกันถึง 4 เท่า และทำโปรเจ็คเสร็จเร็วกว่าถึง 32%

—–

Share Vulnerability

วิธีดูว่าวันนี้เรามีวันทำงานที่ดีหรือไม่ – ถ้าเราขอความช่วยเหลือ 10 ครั้ง แสดงว่าวันนี้โอเค ถ้าวันนี้เราทำทุกอย่างเองคนเดียว แสดงว่าหายนะอาจมาเยือนในไม่ช้า

คำถามชุด A กับ B ต่างกันอย่างไร?

ชุดคำถาม A
– ของขวัญที่ดีที่สุดที่คุณเคยได้รับคืออะไร?
– ลองเล่าถึงสัตว์เลี้ยงตัวล่าสุดที่คุณมีให้ฟังหน่อย?
– ตอนมัธยมปลายเรียนที่ไหน มันเป็นยังไงบ้าง?
– นักแสดงที่คุณชื่นชอบมีใครบ้าง?

ชุดคำถาม B
– ถ้าคุณมีแก้ววิเศษที่ตอบคุณได้ทุกอย่าง คุณจะถามอะไร?
– มีอะไรที่อยากจะทำมานานแล้วยังไม่ได้ทำบ้างมั้ย? ทำไมถึงยังไม่ได้ทำ?
– อะไรคือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ?
– คุณร้องเพลงให้ตัวเองฟังครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? แล้วร้องให้คนอื่นล่ะ?

คำถามสองชุดนี้ดูเผินๆ แล้วจะเหมือนกันคือเป็นคำถามที่ค่อนข้าง personal แต่จริงๆ แล้วคำถามชุด B นั้นตอบได้ยากกว่า เวลาคุณคิดจะตอบคำถามในชุด B หัวใจคุณอาจเต้นแรงขึ้น คุณอาจรู้สึกไม่แน่ใจ คุณอาจรู้สึกกังวลว่าจะเปิดเผยตัวตนของคุณมากเกินไป

คำถามชุด B จะสร้างความรู้สึกใกล้ชิดได้มากกว่าคำถามชุด A ถึง 24%

เรามักเชื่อว่าเราต้องสร้างความไว้วางใจก่อนเราถึงจะกล้าทำอะไรเสี่ยงๆ ได้ แต่ในบางทีการได้ทำอะไรเสี่ยงๆ ร่วมกันกันก่อนก็สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเช่นกัน

คำพูดที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำจะพูดกับลูกน้องได้คือ “เรื่องนี้พี่พลาดเอง” (I screwed that up)

คนมักจะคิดว่าความกล้าหาญคือการถือปืนเดินเข้าหาข้าศึก แต่ความกล้าหาญที่แท้คือการมองเห็นความจริงและการพูดความจริงต่อกัน

ความรู้สึกใกล้ชิดกันนั้นมักจะเกิดแบบทันทีทันใด มันจะมี moment หนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าได้ยินและเข้าใจซึ่งกันและกัน และความสัมพันธ์หลังจากนั้นก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เวลาคุณถามอะไรไป คำตอบแรกที่ได้มักจะไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง คุณต้องฝึกที่จะหัดถามคำถามเดิมด้วยรูปประโยคที่ต่างออกไปหลายๆ รอบเพื่อเข้าใจว่าคนที่คุณคุยด้วยกำลังคิดอะไรอยู่

ก่อนเริ่มโปรเจค ควรจะให้ทีมตอบคำถามต่อไปนี้
1. อะไรคือผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวัง?
2. อะไรคืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3. เราได้เรียนรู้อะไรจากโปรเจคที่คล้ายๆ กันมาแล้วบ้าง
4. อะไรที่จะทำให้เราทำสำเร็จในโปรเจคนี้

หลังจากจบโปรเจคแล้ว ควรจะถามคำถามต่อไปนี้
1. อะไรคือสิ่งที่เราหวังจะให้เกิด
2. สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คืออะไร
3. อะไรคือสาเหตุของผลลัพธ์เหล่านั้น
4. ครั้งหน้า อะไรคือสิ่งที่เราจะทำเหมือนเดิม
5. ครั้งหน้า อะไรคือสิ่งที่เราจะทำต่างออกไป

—–

Establish Purpose

แบบฝึกหัดที่เรียกว่า Mental Contrasting จะทำให้เรามีความเพียรพยายามมากขึ้นถึง 60% ในการบรรลุเป้าหมาย โดยมีสองขั้นตอนเท่านั้นคือ

1. คิดถึงเป้าหมายที่เป็นไปได้ และจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเราบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว

2. จินตนาการถึงอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่นถ้าเราตั้งเป้าจะลดน้ำหนัก ให้คิดถึงสถานการณ์ที่เราได้กลิ่นคุกกี้และอดใจไม่ไหวจนหยิบขึ้นมากิน

Adam Grant เคยทำการทดลองกับ Call Center ของ University of Pennsylvania ที่ต้องโทร.ไปหาศิษย์เก่าเพื่อขอรับบริจาคทุนการศึกษา ตอนแรก call center นี้มี performance ต่ำมาก แต่พออดัมเอาจดหมายจากหนึ่งในนักเรียนทุนให้คนใน call center อ่าน ยอดการบริจาคก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ขั้นต่อมา อดัมเลยพานักศึกษาที่ได้รับทุนมาพบกับพนักงาน call center แบบเห็นหน้า การพูดคุยใช้เวลาเพียง 5 นาทีเพื่อให้นักศึกษาได้บอกว่าเขามาจากไหน และทุนการศึกษานั้นสร้างความแตกต่างอย่างไรบ้าง ปรากฎว่าเดือนถัดมาจำนวนการโทร.หาศิษย์เก่าเพิ่มขึ้น 142% และยอดบริจาครายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 172%

—–

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Culture Code: The Secrets of Highly Successful Groups 

Book Insights – The Concise Mastery

20191013_mastery

เกมที่เราควรเล่นคือหา niche (ตลาดจำเพาะ) ที่เราสามารถ dominate ได้ โดยเราอาจจะเริ่มจากสายงานที่เราถนัดก่อน แล้วค่อยๆ ขยับเข้าสู่สายงานที่แคบลงเรื่อยๆ จนไปเจอ niche ที่ยังไม่มีใครครอบครอง ซึ่ง niche นี้จะสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเราที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้

เวลาเลือกงาน ให้เลือกงานที่จะให้โอกาสเราได้เรียนรู้มากที่สุด ความรู้ที่ practical คือสินทรัพย์ที่จะปันผลให้เราอย่างงามไปอีกหลายสิบปี

ถ้าเราเลือกงานโดยดูว่าใครจ่ายหนักสุด สุดท้ายเราจะโฟกัสผิดจุด เพราะรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา เราจะมัวกังวลว่าคนอื่นจะมองเรายังไง เราต้องเอาอกเอาใจใครบ้าง ฯลฯ

เวลาฝึกฝน เราต้องพาตัวเองเข้าสู่ the cycle of accelerated returns ให้ได้ เพราะเมื่อเข้าสู่วงจรนี้เราจะสนุกไปกับการฝึกฝนจนทำให้เราฝึกได้ยาวนานขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราพัฒนาในอัตราเร่งขึ้นอีก ซึ่งกว่าจะเข้าสู่วงจรนี้ได้ เราต้องกัดฟันเพื่อผ่านช่วงแรกที่ยากลำบากที่เราไม่เก่ง-ไม่ชอบไปให้ได้ก่อน

คนเราเมื่อพัฒนามาถึงจุดนึงแล้วก็จะตัน เพราะเรามักจะฝึกฝนด้วยวิธีเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ทำให้เราไม่เก่งขึ้นเสียที ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ เราต้องทำ Resistance Practice ซึ่งก็คือการ “ฝืนธรรมชาติ” ฝืนที่จะไม่ผ่อนปรนกับตัวเอง ต้องเป็นนักวิจารณ์ที่เข้มงวดผับผลงานที่เราผลิตออกมา ต้องมองให้ออกว่าอะไรที่เรายังอ่อนอยู่และขยี้ไปตรงจุดนั้น

ถ้าต้องการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เราต้องมีความรู้ที่ “กลมกล่อม” อันเกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างศาสตร์และศิลป์ เมื่อ 500 ปีที่แล้ว วิทยาศาสตร์กับศิลปะถูกแยกขาดออกจากกัน แต่จริงๆ แล้วเมื่อสองสิ่งนี้อยู่ร่วมกันมันจะสร้างสิ่งอัศจรรย์ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมงานของดาวินชีถึงยังอมตะเหนือกาลเวลา

เราควรจะเรียนรู้ทักษะให้หลากหลายมากที่สุด หากเรารู้แค่ไม่กี่เรื่องและเดินตาม career path อย่างตายตัวและเคร่งครัด สุดท้ายพออายุ 40 กว่าเราจะติดหล่มในอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยไม่สามารถย้ายงานไปทำอย่างอื่นได้ แต่ถ้าเรียนรู้ทักษะให้หลากหลายเข้าไว้ โอกาสจะยังมีเข้ามาไม่ขาดสาย

เหตุผลที่เราควรมี mentor เพราะว่าชีวิตเรานั้นสั้นเกินกว่าจะที่เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก การเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือนั้นก็ไม่ efficient พอเพราะเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ customized สำหรับตัวเรา การได้ mentor ที่เปี่ยประสบการณ์และมองขาดว่าเรายังต้องปรับปรุงเรื่องอะไรจะทำให้เราพัฒนาได้ในอัตราเร่ง

คนที่เป็น Masters ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเรื่องงานและข้อมูลที่ถาโถมพวกเขา หากเราสามารถแบ่งเบาภาระเหล่านี้ให้เขาได้ เราก็มีโอกาสที่เขาจะเมตตาเรามากกว่าลูกศิษย์คนอื่นๆ ที่ไปขอฝากตัวด้วย

คนที่เพิ่งรู้จักกับเราได้ไม่นานแต่เอ่ยปากชมเราเกินเหตุมีแนวโน้มที่จะริษยาเราอยู่ลึกๆ และกำลังหาโอกาสเข้าใกล้เพื่อทำร้ายเรา

บางทีเราก็ต้องทำตัวลึกลับ บางทีเราก็ต้องตรงไปตรงมา อย่าวางตัวให้คนอื่นๆ เดาทางเราออกง่ายเกินไป

Masters จะต้องมี Original Mind หรือการมองอะไรเหมือนกับเห็นเป็นครั้งแรกราวกับเด็กๆ

ด้วยความรู้ที่ลึกซึ้งและจิตใจที่เปิดกว้าง ทำให้ Masters จึงมี creativity สูงมาก

วิธีที่จะได้ไอเดียสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดคือค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ค้นคว้าให้เยอะและอย่ารีบร้อน แม้มันดูต้องลงแรงและเวลามหาศาลแต่วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อมองย้อนกลับมา เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรหรอก

การเรียนรู้ที่ดีคือการเอามันไปประยุกต์ใช้จริงๆ เปลี่ยนความรู้ของคนอื่นมาเป็นความรู้ของเราด้วยการมองให้เห็นความเชื่อมโยงของความรู้หลายแขนงและอนุมานกฎหรือสูตรที่อยู่เบื้องหลังชุดความรู้เหล่านั้นให้ได้

ไม่มีช่วงเวลาใดที่สูญเปล่าถ้าเราใส่ใจกับทุกบทเรียนที่ติดมากับทุกประสบการณ์

อย่าลืมฝึกฝน memory เราด้วย งานที่เราเคยต้องใช้ความจำอย่างเบอร์โทรศัพท์ การคำนวณอย่างง่ายๆ หรือการจดจำเส้นถูกเทคโนโลยีทำแทนให้หมแล้ว หากเราไม่ใช้กล้ามเนื้อสมองส่วนความจำนี้บ้างมันก็จะฝ่อไม่ต่างจากกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ

เราต้องหัดสังเกตสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างอะไรกับสมัยบรรพบุรุษเรายังอยู่ในทุ่งสะวันนาในแอฟริกา ในที่ทำงานเราต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต ทุกสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงคือสัญลักษณ์ให้เราถอดรหัสและตีความ ยิ่งเราสามารถเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเราได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น

—–

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Concise Mastery by Robert Greene 

(Book Insights ไม่ใช่ Book Summary และไม่ใช่ Book Review ดังนั้นจึงจะไม่พยายามพูดถึงหนังสือทั้งเล่ม และจะไม่วิจารณ์ด้วยว่าดีไม่ดี หรือผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร สิ่งที่ Book Insights จะทำคือการดึงเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ขึ้นมาพูดเป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาแบบลัดสั้นที่สุดครับ)