เกมที่เราควรเล่นคือหา niche (ตลาดจำเพาะ) ที่เราสามารถ dominate ได้ โดยเราอาจจะเริ่มจากสายงานที่เราถนัดก่อน แล้วค่อยๆ ขยับเข้าสู่สายงานที่แคบลงเรื่อยๆ จนไปเจอ niche ที่ยังไม่มีใครครอบครอง ซึ่ง niche นี้จะสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเราที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
เวลาเลือกงาน ให้เลือกงานที่จะให้โอกาสเราได้เรียนรู้มากที่สุด ความรู้ที่ practical คือสินทรัพย์ที่จะปันผลให้เราอย่างงามไปอีกหลายสิบปี
ถ้าเราเลือกงานโดยดูว่าใครจ่ายหนักสุด สุดท้ายเราจะโฟกัสผิดจุด เพราะรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา เราจะมัวกังวลว่าคนอื่นจะมองเรายังไง เราต้องเอาอกเอาใจใครบ้าง ฯลฯ
เวลาฝึกฝน เราต้องพาตัวเองเข้าสู่ the cycle of accelerated returns ให้ได้ เพราะเมื่อเข้าสู่วงจรนี้เราจะสนุกไปกับการฝึกฝนจนทำให้เราฝึกได้ยาวนานขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราพัฒนาในอัตราเร่งขึ้นอีก ซึ่งกว่าจะเข้าสู่วงจรนี้ได้ เราต้องกัดฟันเพื่อผ่านช่วงแรกที่ยากลำบากที่เราไม่เก่ง-ไม่ชอบไปให้ได้ก่อน
คนเราเมื่อพัฒนามาถึงจุดนึงแล้วก็จะตัน เพราะเรามักจะฝึกฝนด้วยวิธีเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ทำให้เราไม่เก่งขึ้นเสียที ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ เราต้องทำ Resistance Practice ซึ่งก็คือการ “ฝืนธรรมชาติ” ฝืนที่จะไม่ผ่อนปรนกับตัวเอง ต้องเป็นนักวิจารณ์ที่เข้มงวดผับผลงานที่เราผลิตออกมา ต้องมองให้ออกว่าอะไรที่เรายังอ่อนอยู่และขยี้ไปตรงจุดนั้น
ถ้าต้องการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เราต้องมีความรู้ที่ “กลมกล่อม” อันเกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างศาสตร์และศิลป์ เมื่อ 500 ปีที่แล้ว วิทยาศาสตร์กับศิลปะถูกแยกขาดออกจากกัน แต่จริงๆ แล้วเมื่อสองสิ่งนี้อยู่ร่วมกันมันจะสร้างสิ่งอัศจรรย์ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำไมงานของดาวินชีถึงยังอมตะเหนือกาลเวลา
เราควรจะเรียนรู้ทักษะให้หลากหลายมากที่สุด หากเรารู้แค่ไม่กี่เรื่องและเดินตาม career path อย่างตายตัวและเคร่งครัด สุดท้ายพออายุ 40 กว่าเราจะติดหล่มในอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยไม่สามารถย้ายงานไปทำอย่างอื่นได้ แต่ถ้าเรียนรู้ทักษะให้หลากหลายเข้าไว้ โอกาสจะยังมีเข้ามาไม่ขาดสาย
เหตุผลที่เราควรมี mentor เพราะว่าชีวิตเรานั้นสั้นเกินกว่าจะที่เรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก การเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือนั้นก็ไม่ efficient พอเพราะเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ customized สำหรับตัวเรา การได้ mentor ที่เปี่ยประสบการณ์และมองขาดว่าเรายังต้องปรับปรุงเรื่องอะไรจะทำให้เราพัฒนาได้ในอัตราเร่ง
คนที่เป็น Masters ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเรื่องงานและข้อมูลที่ถาโถมพวกเขา หากเราสามารถแบ่งเบาภาระเหล่านี้ให้เขาได้ เราก็มีโอกาสที่เขาจะเมตตาเรามากกว่าลูกศิษย์คนอื่นๆ ที่ไปขอฝากตัวด้วย
คนที่เพิ่งรู้จักกับเราได้ไม่นานแต่เอ่ยปากชมเราเกินเหตุมีแนวโน้มที่จะริษยาเราอยู่ลึกๆ และกำลังหาโอกาสเข้าใกล้เพื่อทำร้ายเรา
บางทีเราก็ต้องทำตัวลึกลับ บางทีเราก็ต้องตรงไปตรงมา อย่าวางตัวให้คนอื่นๆ เดาทางเราออกง่ายเกินไป
Masters จะต้องมี Original Mind หรือการมองอะไรเหมือนกับเห็นเป็นครั้งแรกราวกับเด็กๆ
ด้วยความรู้ที่ลึกซึ้งและจิตใจที่เปิดกว้าง ทำให้ Masters จึงมี creativity สูงมาก
วิธีที่จะได้ไอเดียสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดคือค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ค้นคว้าให้เยอะและอย่ารีบร้อน แม้มันดูต้องลงแรงและเวลามหาศาลแต่วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อมองย้อนกลับมา เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรหรอก
การเรียนรู้ที่ดีคือการเอามันไปประยุกต์ใช้จริงๆ เปลี่ยนความรู้ของคนอื่นมาเป็นความรู้ของเราด้วยการมองให้เห็นความเชื่อมโยงของความรู้หลายแขนงและอนุมานกฎหรือสูตรที่อยู่เบื้องหลังชุดความรู้เหล่านั้นให้ได้
ไม่มีช่วงเวลาใดที่สูญเปล่าถ้าเราใส่ใจกับทุกบทเรียนที่ติดมากับทุกประสบการณ์
อย่าลืมฝึกฝน memory เราด้วย งานที่เราเคยต้องใช้ความจำอย่างเบอร์โทรศัพท์ การคำนวณอย่างง่ายๆ หรือการจดจำเส้นถูกเทคโนโลยีทำแทนให้หมแล้ว หากเราไม่ใช้กล้ามเนื้อสมองส่วนความจำนี้บ้างมันก็จะฝ่อไม่ต่างจากกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ
เราต้องหัดสังเกตสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างอะไรกับสมัยบรรพบุรุษเรายังอยู่ในทุ่งสะวันนาในแอฟริกา ในที่ทำงานเราต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต ทุกสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงคือสัญลักษณ์ให้เราถอดรหัสและตีความ ยิ่งเราสามารถเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเราได้มากเท่าไหร่ เรายิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น
—–
ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Concise Mastery by Robert Greene
(Book Insights ไม่ใช่ Book Summary และไม่ใช่ Book Review ดังนั้นจึงจะไม่พยายามพูดถึงหนังสือทั้งเล่ม และจะไม่วิจารณ์ด้วยว่าดีไม่ดี หรือผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร สิ่งที่ Book Insights จะทำคือการดึงเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ขึ้นมาพูดเป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับเนื้อหาแบบลัดสั้นที่สุดครับ)