8 ข้อควรรู้สำหรับเด็กที่เกิดยุคโควิด

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าคงมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่คิดหนักเรื่องการมีลูก เพราะกลัวความเสี่ยงจะติดเชื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของอนาคตด้วย

ช่วงนี้เราอาจจะอุ่นใจมากขึ้น เพราะมีวัคซีนที่ป้องกันการป่วยขั้นรุนแรงได้ แต่คำถามสำคัญก็คือการมีลูกในช่วงที่โรคโควิดยังระบาดอยู่นั้นมันมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

วันนี้ผมได้อ่านบทความเรื่อง The COVID generation: how is the pandemic affecting kids’ brains ที่เขียนโดย Melinda Wenner Moyer ของ Nature – วารสารทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่มานานกว่า 150 ปี

อ่านแล้วเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับพ่อแม่ที่เพิ่งให้กำเนิดลูกในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้

เลยอยากนำมาสรุปเป็นข้อๆ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

1. คุณแม่ติดโควิด ไม่ได้มีผลเสียร้ายแรง
ก่อนหน้านี้คุณหมอก็เป็นห่วงว่าถ้าเด็กทารกที่ติดโควิด หรือเกิดจากคุณแม่ที่ติดโควิดจะมีผลกระทบร้ายแรงหรือไม่ เพราะโรคติดต่ออย่าง Zika นั้นมีรายงานชัดเจนว่าอาจก่อให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดได้ (birth defects) แต่ COVID-19 นั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของร่างกายของเด็กทารก

2. พัฒนาการช้ากว่าเด็กรุ่นอื่น
Dani Dumitriu จาก Morgan Stanley Children’s Hospital ที่นิวยอร์ค ได้มีการเก็บข้อมูลการพัฒนาการของเด็กมาตั้งแต่ปลายปี 2017 โดยทีมแพทย์ได้ศึกษาเรื่องการสื่อสารและการเคลื่อนไหวร่างกาย (motor skills) ของเด็กวัยแรกเกิดจนถึงวัย 6 เดือน จึงลองทำการเปรียบเทียบว่าเด็กที่เกิดยุคโควิดกับเด็กที่เกิดก่อนหน้านั้นมีพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่างไร

แล้วพวกเขาก็พบว่า เด็กที่เกิดยุคโควิดนั้นมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กยุคก่อนหน้านั้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งพัฒนาการที่ล่าช้านั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่าพ่อหรือแม่เคยติดโควิดมาก่อนหรือไม่ สิ่งที่ดูน่าจะเป็นปัจจัยหลักคือสภาพแวดล้อมของเด็กหลังจากคลอดออกมา

ในอีกงานวิจัยหนึ่งของ Seon Dioni จาก Brown University ที่เก็บข้อมูลจากเด็ก 600 คน อายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ขวบ ก็พบว่า เด็กที่ถูกวัดผลในช่วงปี 2020 และ 2021 นั้นได้คะแนนความสามารถทางสมอง (อารมณ์คล้ายๆ IQ test) ต่ำกว่าเด็กรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยปกติคะแนนจะขึ้นลงอยู่ระหว่าง 85-115 แต่ปี 2020 กับ 2021 นั้นมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 75-80 เท่านั้น (ดูรูปกราฟประกอบบทความ) ซึ่งทางผู้วิจัยเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Development Dip

3. ยิ่งจนยิ่งได้รับผลกระทบ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทาง Brown University ค้นพบก็คือ สถานะทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน จะมี development dip มากที่สุด และเด็กผู้ชายจะได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยมิติที่กระทบหนักที่สุดคือ gross motor skills ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างการลุกขึ้นนั่ง การคลาน หรือการเดิน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? นักวิจัยสันนิษฐานว่าในช่วง pandemic นี้ เด็กขาดโอกาสที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (a lack of human-to-human interactions) โดยทีมงานได้พบว่า จำนวนคำที่พ่อแม่พูดกับเด็กในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีอื่นๆ

ทีมงานยังสันนิษฐานอีกว่า การที่เด็กรุ่นนี้ไม่ได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ก็อาจส่งผลให้มีพัฒนาการด้าน motor skills ที่ล่าช้าเช่นกัน

4. คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ให้ระวังเรื่องความเครียด
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจก็คือ โควิดสามารถสร้างผลกระทบให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ได้หรือไม่

Catherine Lebel จากมหาวิทยาลัย Calgary ในแคนาดาได้ทำการสำรวจคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ถึง 8,000 คนในช่วงสองปีที่ผ่านมา เกือบครึ่งหนึ่งตอบว่ามีอาการวิตกกังวล และหนึ่งในสามมีอาการซึมเศร้า ซึ่งสัดส่วนนี้สูงกว่าตอนที่โควิดจะระบาดอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อจะหาผลกระทบ ทางทีมวิจัยจึงทำ MRI สแกนสมองของเด็ก 75 คนตอนอายุครบ 3 เดือน และพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอาการวิตกและซึมเศร้านั้น มีการเชื่อมโยงของสมองส่วนอะมิกดาลากับสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ต่างไปจากแม่ที่ไม่ค่อยมีอาการเครียด ซึ่งการเชื่อมโยงในรูปแบบนี้มีความสัมพันธ์ (correlation) กับพฤติกรรมที่รุนแรง (agressive behavior) ของเด็กวัยก่อนเข้าเรียน (preschool age)

อ่านมาถึงตรงนี้ พ่อแม่หลายคนอาจจะเริ่มเครียด มาฟังอีกมุมนึงกันบ้างดีกว่า

5. แม้จะใส่หน้ากากคุยกัน เด็กก็ยังเข้าใจเราได้
มีการตั้งสมมติฐานเหมือนกันว่า การที่พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงเด็กใส่หน้ากากเวลาอยู่กับลูก จะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และด้านภาษาหรือไม่ เพราะเด็กจะเห็นแค่ดวงตาของเรา แต่ไม่เห็นปาก ไม่เห็นสีหน้าที่ชัดเจน

Edward Tronick จาก University of Massachusetts ซึ่งเคยโด่งดังจากการทดลอง ‘Still Face’* ในปี 1975 ได้ทำการทดลองโดยให้พ่อแม่คุยกับลูกวัยแบเบาะแบบไม่ใส่หน้ากากก่อน จากนั้นให้พ่อแม่หยิบหน้ากากขึ้นมาใส่และดูว่าเด็กจะมีปฏิกิริยาเช่นไร

Tronick พบว่า เด็กจะสังเกตเห็นว่าพ่อแม่หน้าตาไม่เหมือนเดิม โดยเด็กจะชี้ไปที่หน้ากาก แล้วก็พยายามสื่อสารกับพ่อแม่ต่อเหมือนเป็นปกติ เขาจึงได้ข้อสรุปว่าการใส่หน้ากากอาจจะปิดกั้นช่องทางการสื่อสารบ้างก็จริง แต่พ่อแม่ก็ยังสามารถแสดงออกได้ว่ายังคุยกับเด็กและยังเชื่อมโยงกับเขาได้อยู่

6. เดี๋ยวมันจะดีขึ้น
Marion van Den Heuvel นักวิจัยจาก Tilburg University บอกว่า “การวัด IQ ในเด็กแรกเกิดนั้นบอกอะไรเกี่ยวกับอนาคตของเด็กไม่ได้มากนักหรอก”

Moriah Thomason จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจาก New York University ก็ให้ความเห็นว่า แม้ความเครียดของแม่ในช่วงตั้งครรภ์จะมีผลต่อลูก แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้ลูกต้องลำบากไปตลอดชีวิต “เด็กๆ นั้นยืดหยุ่นและปรับตัวเก่งมาก เราจึงเชื่อว่าพวกเขานั้นเข้มแข็งพอที่จะรับมือเรื่องเหล่านี้ได้”

ในปี 2011 มีน้ำท่วมใหญ่ในรัฐ Queensland ของ Australia และเด็ก 6 เดือนที่เกิดจากแม่ที่มีอาการเครียดจากเหตุการณ์นี้ก็มีทักษะการแก้ปัญหาและการเข้าสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่พอเด็กอายุครบ 30 เดือน ข้อด้อยตรงนี้ก็หายไป โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อและแม่ให้เวลากับลูกอย่างเพียงพอ

7. ฟังหูไว้หู
งานวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวถึงในบทความนี้ยังไม่ได้รับการ peer review หรือการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญว่าถูกต้องตามมาตรฐานงานวิจัยหรือไม่ และโดยธรรมชาติของนักวิจัยก็อยากจะมองหาผลกระทบที่เป็นเชิงลบ เพราะมันมีโอกาสจะได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียง ไม่ต่างอะไรกับนักข่าวที่ต้องพาดหัวข่าวให้ดูน่าตื่นเต้นเอาไว้ก่อนเพื่อให้คนสนใจอยากอ่าน

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือกลุ่มตัวอย่างที่เก็บได้ในช่วง 2 ปีมานี้อาจจะมี selection bias นั่นก็คือพ่อแม่ที่ยอมเสี่ยงพาเด็กมาโรงพยาบาลในช่วงนี้อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการที่ล่าช้าของเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

8. คุยกับลูกให้มากๆ
Dani Dumitriu นักวิจัยที่ผมกล่าวถึงในข้อที่ 2 ให้ความเห็นว่า “เรายังมีเวลาที่จะทำอะไรก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” (public health emergency) “สมองของเด็ก 6 เดือนนั้นยืดหยุ่นมาก ดังนั้นเราจึงสามารถมีส่วนสำคัญในพัฒนาการของเด็กได้”

สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยได้คือคุยและเล่นกับลูกเป็นประจำ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

นักวิจัยหลายคนเห็นตรงกันว่าสุดท้ายแล้วเด็กส่วนใหญ่จะโอเค โดย Sean Deoni ได้ให้ความเห็นว่า “เด็กๆ นั้นเข้มแข็งและยืดหยุ่น แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่า 1,000 วันแรกของวัยเด็กนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก”

เด็กที่เกิดในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลกใหม่ๆ ตอนเดือนมีนาคม 2020 นั้น บัดนี้ก็อายุเกิน 650 วันแล้ว

Deoni กล่าวปิดท้ายว่า “เด็กคือผลผลิตของสภาพแวดล้อม เราได้เล่นกับเขามากเท่าไหร่ อ่านนิทานให้เขามากเท่าไหร่ รักเขาได้มากเท่าไหร่ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาได้อย่างที่เราวาดหวังไว้”


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ Nature: The COVID generation: how is the pandemic affecting kids’ brains? by Melinda Wenner Moyer

* การทดลอง Still Face ของ Edward Tronick คือการให้พ่อแม่แกล้งทำ “หน้าตาย” เพื่อดูปฏิกิริยาของเด็กแบเบาะว่าจะทำตัวยังไง ลองไปเสิร์ชดูในยูทูบได้นะครับ

ท่ามกลางความวุ่นวาย อย่าลืมสูดลมหายใจลึกๆ

เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนคงปั่นป่วนกับเรื่องโควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้ง

สามเดือนที่ผ่านมาดูเราจะชะล่าใจ เราจึงลดการ์ดและสนุกสนานราวกับไวรัสตัวนี้ไม่มีอยู่จริง ทั้งๆ ที่มันอยู่แถวนี้มาโดยตลอด พอมันโผล่ออกมาหลายคนเลยตกอยู่ในความเสี่ยง

ผมไม่มีข้อแนะนำอะไรนอกจากขอให้อย่าลืมสูดลมหายใจลึกๆ บ้างเป็นครั้งคราว

เมื่อเรารู้ตัวว่าเราหายใจ เราจะหลุดออกจากโลกของความคิด หลุดจากโรคของความเครียดได้ แม้เพียงไม่กี่วินาทีก็ยังมีประโยชน์

ต้องถือว่าโชคดีแค่ไหนที่เราพ้นภัยมาได้จนถึงวันนี้ วันที่เริ่มมีวัคซีน วันที่การแพทย์รู้วิธีการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อจนอัตราการหายดีนั้นสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน

ที่เราทำได้คือทำสิ่งที่เรารู้ว่าควรทำอยู่แล้ว ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ต้องใช้ความอดทน

ท่ามกลางความวุ่นวาย อย่าลืมสูดลมหายใจลึกๆ กันนะครับ