ถาม: การเปลี่ยนชีวิตมาเป็นพระสงฆ์ เป็นการตัดสินใจฉับพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป
ตอบ: ค่อยเป็นค่อยไป อาตมาสนใจธรรมะมานานเป็นสิบปีแล้ว ขนานไปกับการทำงาน ซึ่งการทำงานโฆษณานี่ ถ้าเราไม่ดูแลจิตใจตัวเอง เราจะอยู่ไม่ได้ หลายคนในวงการนี้รู้ปุ่มไปแต่ไม่รู้ปุ่มหยุด อาตมาเองก็เคยเป็นแบบนั้น จริงๆ ทุกอาชีพนั่นแหละ– จิตร์ จิตตสังวโร
GQ Magazine Thailand
เรื่อง: แป้งร่ำ
ภาพ: แสงอรุณ จำปาวัน
31/01/2017
สมัยทำงานอยู่ที่ทอมสันรอยเตอร์ มักจะมีผู้บริหารชาวต่างชาติแวะมาเยี่ยมเยือนและเล่าให้เราฟังว่าศักยภาพของโปรดักท์ของเราก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
หนึ่งในตลาดที่ทอมสันรอยเตอร์เป็นผู้เล่นหลัก คือการส่งข้อมูลราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
ในตลาดนี้ เราจะแข่งกันว่าใครจะสามารถส่งข้อมูลถึงลูกค้าได้เร็วกว่ากัน เมื่อสิบกว่าปีก่อนวัดกันเป็นวินาที สามสี่ปีหลังแข่งกันเป็น milliseconds (1 ใน 1000 ของวินาที) และเดี๋ยวนี้เขาวัดความเร็วกันเป็น microseconds หรือ 1 ใน 1,000,000 ของวินาทีแล้ว
ผมยกมือถามเขาว่า การแข่งกันเร็วขึ้นเรื่อยๆ นี่มันจะพาเราไปสู่จุดไหนเหรอ
เขาก็ตอบว่า
“I really don’t know. Scary isn’t it.”
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน น่ากลัวมั้ยล่ะ”
สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างขับรถไปทำงาน ผมได้ฟังพอดคาสท์ Hardcore History เกี่ยวกับ “เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ไม่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20”
เหตุการณ์ที่ว่านั้นคือสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต
อเมริกาคิดค้นระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน ซึ่งสั่งการให้ทิ้งระเบิดลงฮิโรชิมาและนางาซากิอันนำไปสู่การลงเอยของสงครามโลกครั้งที่สอง
อีกไม่กี่ปีต่อมา อเมริกายังประสบความสำเร็จในการสร้างไฮโดรเจนบอมบ์ที่มีพลังทำลายล้างมากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมา 300 เท่า
โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการตัดสินใจของมนุษย์เพียงคนเดียว (ประธานาธิบดีสหรัฐ) สามารถฆ่าคนนับล้านได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที
โซเวียตเองก็เร่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาไม่น้อย และสองมหาอำนาจนี้ก็จวนเจียนจะเปิดสงครามนิวเคลียร์ใส่กันในเหตุการณ์ Cuban Missile Crisis ในเดือนตุลาคมปี 1962 เดชะบุญที่ John F. Kennedy กับ Nikita Khrushchev ผู้นำทั้งสองชาติหาทางออกร่วมกันได้
ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า
“I know not with what weapons World War III will be fought, but World War IV will be fought with sticks and stones.”
“ผมไม่รู้หรอกนะว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะใช้อาวุธอะไรสู้กัน รู้แต่ว่าสงครามโลกครั้ง 4 นี่คนจะสู้กันด้วยไม้และก้อนหินแน่ๆ”
ความ “ก้าวหน้า” ทางเทคโนโลยีของมนุษยชาติได้สร้างอาวุธที่สามารถพาเรา “ถอยหลัง” กลับสู่ยุคหินได้อีกครั้ง
ยิ่งคิดภาพโดนัลด์ ทรัมป์ มีปุ่มกดยิงขีปนาวุธอยู่ในมือยิ่งใจไม่ดีเอาเสียเลย
เคยถามตัวเองมั้ยครับว่า แต่ละวันเราใช้มือถือวันละกี่ชั่วโมง?
และย้อนกลับไปเมื่อซัก 30 ปีที่แล้ว ก่อนที่พวกเราจะมีมือถือ เราเอาเวลาว่างไปทำอะไรกัน?
สมัยนั้นถ้าผมต้องนั่งรอรถเมล์ ผมก็คงคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย หรือไม่ก็ทนทุกข์ทรมานกับการรอคอย
แม้จะไม่ค่อย productive เท่าไหร่ แต่อย่างน้อยคนเราสมัยนั้นก็ยังมีเวลาได้ใจเหม่อลอยหรือคิดนู่นคิดนี่ได้
มาสมัยนี้เราไม่มีเวลาให้เหม่อลอยหรือคิดนู่นคิดนี่กันแล้ว ว่างเมื่อไหร่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาส่องเฟซหรือเช็คไลน์ เจออะไรก็ต้องเสพ มีความเห็นอะไรก็ต้องเมนท์
เราเสพติด “การทำอะไรตลอดเวลา” จนไม่มีโอกาสได้ทอดสายตาไปไกลๆ หรือกลับมารู้เนื้อรู้ตัวเลย
ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราซึ่งเคยมีโอกาสได้อยู่ในโลก analog ยังเสพติดการทำอะไรตลอดเวลาขนาดนี้ คิดดูว่ารุ่นลูกของเราจะยิ่งเหนื่อยกว่าเราขนาดไหน
เหนื่อยที่ใจไม่เคยได้พักแม้ซักวินาทีเดียว
“คนในวงการนี้รู้ปุ่มไปแต่ไม่รู้ปุ่มหยุด”
ในโลกที่มนุษย์เกือบร้อยละร้อยรู้จักแต่การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยไม่เคยหยุดถามด้วยซ้ำว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่อะไร
บางทีการ “อยู่เฉยๆ” ให้เป็นอาจเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 ก็ได้นะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก GQ Thailand: จิตร์ จิตตสังวโร สร้างความสงบในใจและเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น