วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari

20150810_KonMari

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาเขียนบล็อกเรื่องวิธีจัดบ้านแบบ KonMari (คอนมาริ) นะครับ

จริงๆ ตอนแรกผมกะจะรอเก็บบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาเขียนเล่าให้ฟัง แต่เนื่องจากว่าวันพุธนี้เป็นวันแม่ และทุกคนอยู่บ้านกันพร้อมหน้าพร้อมตา เลยจะถือโอกาสจัดบ้านแบบคอนมาริซะเลย ก่อนที่จะต้องเตรียมย้ายเข้าบ้านใหม่เดือนหน้า

และเจตนาของผมคือเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้นมาให้ พ่อ แม่ น้อง และภรรยาได้อ่าน จะได้เข้าใจภาพตรงกันก่อนจะลงมือครับ ดังนั้นเนื้อหาอาจจะไม่ได้ครอบคลุมหนังสือทั้งหมดนะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าวิธีเก็บบ้านแบบ KonMari นั้น อยู่ในหนังสือชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up ซึ่งเขียนโดยสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นชื่อ Kondo Marie (คนโด มาริเอะ) ดูภายนอกเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่หนังสือของเธอได้สร้างปรากฎการณ์มาแล้วทั้งในญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป จนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 (100 Most Influential people)

ผมเองได้รู้จักวิธีการนี้จากบล็อกเกอร์สามีภรรยาชื่อ James & Claudia Altucher ที่บอกว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเขาก็โยนของในบ้านออกไปเกือบหมด

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงกลัวว่า เฮ้ย มันจะบ้ารึเปล่า อดทนอ่านต่ออีกสักนิดนะครับ ผมไม่ได้มาชวนให้ทุกคนโยนของทุกอย่างออกจากบ้านแน่ๆ

หลังจากเห็นฝรั่งหลายคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้บ่อยเข้า กอปรกับผมกำลังจะย้ายเข้าบ้านใหม่ด้วย เลยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลองไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน โดยผมไปเดินดูที่คิโนะคุนิยะพารากอน และกว่าจะหาได้ก็ยากเย็นเพราะมันไม่ได้เป็นหนังสือแนะนำหรือติดอันดับขายดีอะไรทั้งนั้น (ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคม 2558)

ปกหนังสือที่ผมได้มา ต่างจากที่เห็นในเว็บไซต์ tidyingup.com พอสมควร แถมชื่อยังขาดคำว่า “Up” ต่อท้าย เหลือเพียง The Life-changing Magic of Tidying เฉยๆ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ของปลอมหรอกเนอะ!

ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือเรื่องการเก็บบ้าน แต่กลับไม่มีภาพประกอบเลย ผมเลยต้องใช้วิธีเปิด Youtube แล้วพิมพ์คำว่า KonMari ก็จะเจอวีดีโอที่คนเอามาแชร์กันเยอะแยะ

แค่เปิดหนังสือมาอ่านหน้าแรกๆ มาริเอะก็พูดถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คือเธอบอกว่าวิธีจัดบ้านของเธอจะทำให้เราต้องจัดบ้านแค่ครั้งเดียว และใช้ได้กับทุกคนแม้ว่าจะเป็นคนขี้เกียจหรือไร้ระเบียบแค่ไหนก็ตาม

ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ราวหนึ่งสัปดาห์ แล้วก็เริ่มลงมือทดลองด้วยการจัดถุงเท้าเมื่อตอนกลางเดือนกรกฎาคม จนบัดนี้ผ่านมาเดือนหนึ่งแล้วถุงเท้าของผมก็ยังเรียบร้อยอยู่จริงๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากผมเขียนบทความเรื่อง จะรีบไปไหน น้องสาวที่ชื่อหญิงก็มาคอมเม้นท์บอกว่าทางสำนักพิมพ์วีเลิร์นกำลังจะวางแผงหนังสือเล่มนี้แล้วนะ โดยมีชื่อไทยว่า “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว” ซึ่งแฟนผมก็ไปสอยมาให้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

จากนี้ไปผมจึงจะขอสรุปบทเรียนที่ได้มาจากหนังสือเล่มนี้ แล้วก็ให้คุณผู้อ่านได้ตัดสินกันเอาเองนะครับว่ามันจะ Life-Changing จริงรึเปล่า

หลักการเก็บบ้านสไตล์ KonMari มีดังนี้

เก็บรวดเดียวให้เสร็จ ถ้าคุณเก็บบ้านวันละนิดวันละหน่อย คุณจะต้องเก็บบ้านไปตลอดชีวิต (ซึ่งดูจากชีวิตที่ผ่านมาของผมมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ) และวิธีการเก็บรวดเดียวให้เสร็จ จะสร้าง “ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด” กับชีวิตคุณ จนคุณจะไม่ยอมให้บ้านคุณรกอีกเลย ทั้งนี้ การเก็บรวดเดียวให้เสร็จไม่ได้หมายความว่าต้องเก็บวันเดียวเสร็จนะครับ แต่อาจจะทำสามวันติดต่อกัน หรือวันเสาร์สามเสาร์ติดต่อกันก็ได้ เพราะขนาดห้อง/บ้านแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว

ให้ถือว่าการเก็บบ้านเป็นวาระพิเศษ เหมือนกับที่เราให้การไปเที่ยวต่างประเทศหรือการจัดงานวันเกิดเป็นเหตุการณ์พิเศษ (special occasion) ที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม

ให้จัดบ้านตามหมวดหมู่ ไม่ใช่จัดตามห้อง เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าของอย่างเดียวกันจะมีที่เก็บมากกว่าหนึ่งที่ ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลังอย่างแน่นอน อย่างบ้านผมตอนนี้มีที่เก็บกระดาษทิชชู่อยู่สองที่คือห้องน้ำแม่และหลังตู้เย็นชั้นสอง ดังนั้นแทนที่จะเก็บห้องน้ำหนึ่งวันนี้ และเก็บห้องน้ำสองวันพรุ่งนี้ ก็ควรจะ “เก็บอุปกรณ์ในห้องน้ำ” ภายในคราวเดียวไปเลย

สองขั้นตอนหลักในการเก็บบ้านแบบ KonMari คือการคัดของออกและการจัดเก็บของเข้าที่ เพราะถ้าคุณไม่คัดของทิ้งซะก่อน รับรองเลยว่าบ้านคุณจะกลับมารกอีกครั้งแน่นอน เพราะสาเหตุหลักที่บ้านเรารกก็เพราะเรามีของเยอะเกินไป ไม่ใช่เพราะเรามีพื้นที่จัดเก็บน้อยเกินไป (และยิ่งคุณมีของมากเท่าไหร่ คุณจะซื้อของเข้าบ้านเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไม)

วิธีการคัดของออกควรจะเรียงตามนี้ คือเริ่มจากเสื้อผ้า ต่อด้วยหนังสือ ตามด้วยเอกสาร ต่อด้วยของจิปาถะ และจบท้ายด้วยของที่มีคุณค่าทางจิตใจเช่นจดหมายหรืออัลบั้มรูป เพราะถ้าเราคัดของโดยไม่เลือกประเภทเสียก่อน สิ่งที่เราจะเจอคือรูปเก่าๆ หรือจดหมายเก่าๆ แล้วเราก็จะใช้เวลามากมายไปกับการละเลียดความหลัง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้ว ทำให้การเก็บของล่าช้าไปมาก ทางที่ดีคือถ้าเราเจอสมบัติอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้เราเอาไปกองรวมกันเอาไว้ แล้วค่อยมาจัดการทีหลังสุด เพราะพอถึงตอนนั้น “กระดูกเราจะแข็งพอ” เพราะเราได้ฝึกฝนผ่านการทิ้งของอื่นๆ ที่ง่ายกว่าอย่างเสื้อผ้า หนังสือและเอกสารมาแล้ว

วิธีการคัดของออก – อันนี้ถือเป็นหัวใจของวิธี KonMari เลยนะครับตั้งใจอ่านดีๆ

สมมติเราเริ่มต้นจากเสื้อผ้า เราต้องเอาเสื้อผ้าที่เรามีทั้งหมดมากองไว้ที่พื้นหรือบนเตียง และต้องให้แน่ใจว่านี่คือเสื้อผ้าทั้งหมดที่เรามีแล้วจริงๆ (อาจต้องเดินไปดูว่ามีเสื้อผ้าของเราตกหล่นอยู่ที่ห้องอื่น หรืออยู่ในกล่องอื่นๆ อีกรึเปล่า) วิธีการนี้จะช่วยให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีเสื้อผ้าอยู่เยอะแค่ไหน ซึ่งคำตอบที่คุณจะเจอก็คือ “เยอะกว่าที่คิด”

ยกตัวอย่างผมเป็นต้น ธรรมดาผมไม่ใช่คนชอบชอปปิ้งอยู่แล้ว เสื้อผ้าก็วิ่งไปซื้อที่แพลตตินัมแค่ปีละครั้ง และนานๆ ทีแฟนก็อาจจะซื้อเสื้อเชิ๊ตมาให้บ้าง แต่พอผมลองเอาเสื้อผ้ามากองรวมกันดูก็อดตกใจไม่ได้ว่า นี่เรามีเสื้อผ้าเยอะขนาดนี้จริงๆ เหรอ?

20150730_091622

20150730_090654

2015-08-11_001417

20150712_152914

หลังจากเอาเสื้อผ้าทุกอย่าง มากองรวมกันแล้ว ก็ให้หยิบเสื้อผ้าขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามตัวเองว่า Does it spark joy? (ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า Tokimeku)

Spark = จุดประกาย
Joy = ความสุข

แปลตรงตัวก็คือพอคุณหยิบเสื้อตัวนี้ขึ้นมาแล้วมันจุดประกายความสุขให้คุณรึเปล่า?

สำนวนของสำนักพิมพ์วีเลิร์นเขาใช้คำว่า “มันปลุกเร้าความสุขได้ไหม”

ส่วนถ้าจะใช้สำนวนผม ผมก็คงใช้ทับศัพท์ว่า “มันสปาร์คจอยรึเปล่า” หรือไม่ก็ “มันทำให้ชื่นใจรึเปล่า”

ขอย้ำว่า ก่อนที่คุณจะถามว่ามันทำให้คุณชื่นใจรึเปล่า คุณต้องหยิบเสื้อตัวนั้นขึ้นมา ห้ามตัดสินด้วยการดูเฉยๆ การจับเสื้อขึ้นมาดูจะทำให้เราตัดสินใจโดยใช้สัญชาติญาณได้ง่ายขึ้นเยอะเลยครับว่าเรายังอยากจะใส่เสื้อตัวนี้อยู่รึเปล่า

เสื้อหรือกางเกงตัวไหนที่ทำให้คุณชื่นใจ ก็เก็บมันไว้ ตัวไหนที่ไม่ได้สปาร์คจอย ก็จงปล่อยมันไปซะ

แต่ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ไม่ได้สปาร์คจอยยัดลงถุงดำ อย่าลืมกล่าวขอบคุณมันด้วย “ขอบคุณที่ดูแลกันมานะ”

วิธีการคัดของแบบเก่าๆ ของเราไม่เวิร์คเพราะเราเลือกว่าจะทิ้งอะไร แทนที่จะเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ วิธีสองแบบนี้ดูจะเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกันเลย

วิธีการเลือกของที่จะทิ้งจะทำให้เราไม่มีความสุข (เพราะเราไปโฟกัสแต่สิ่งที่ไม่อยากได้) แต่ถ้าเราเลือกว่าจะเก็บเฉพาะของที่ทำให้เราชื่นใจ เราจะมีความสุข ไม่เชื่อลองดูได้ครับ

อีกสาเหตุหนึ่งที่วิธีการแบบเก่าๆ ของเราต่างกับวิธีคอนมาริก็คือ พอเราเลือกว่าจะทิ้งของชิ้นไหนแล้ว เราจะโยนมันทิ้งอย่างไม่แยแส

แต่วิธีคอนมาริจะปฏิบัติกับสิ่งของทุกชิ้นด้วยความเคารพราวกับว่ามันคือสิ่งมีชีวิต ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถ “สะสาง” ความรู้สึกภายในใจของเราได้เวลาเราต้องอำลาจากของชิ้นนั้น

ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าวิธีคิดอย่างนี้ดูเด็กๆ และเพ้อฝัน แต่ถ้าลองได้ทำดูจะรู้ว่ามันช่วยคลายปมบางอย่างภายในใจได้จริงๆ และการคัดเลือกของก็จะกลายเป็นการนั่งสนทนากับตัวเอง เป็นประสบการณ์แสนรื่นรมย์ที่วิธีการแบบเดิมๆ ไม่มีทางให้เราได้

อ้อ เวลาคัดเสื้อผ้าออก มันก็จะมีปัญหาบางอย่างเช่น เสียดาย เสื้อตัวนี้ยังไม่ได้ใส่เลย หรือกลัวว่าถ้าคัดเก็บแต่ของที่ spark joy เราจะมีเสื้อผ้าไม่พอใช้

มาริเอะก็บอกเราอีกว่า เมื่อเจอสิ่งของที่ไม่ได้สปาร์คจอยแต่ยังเสียดายที่จะทิ้ง ให้ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่า ตอนที่เราซื้อเสื้อตัวนี้มานั้น เราซื้อมาด้วยเหตุผลอะไร

เพราะของแต่ละชิ้นมีวัตถุประสงค์ของมันอยู่ ถ้าเสื้อตัวนี้คุณซื้อมาเป็นปีแล้วแต่คุณก็ยังไม่ได้ใส่ และตอนนี้พอคุณจับมันมาแล้วคุณไม่รู้สึกถึงความชื่นใจอะไรเลย แสดงว่าวัตถุประสงค์ของเสื้อตัวนี้ก็คือการสอนให้คุณรู้ว่า เสื้อสไตล์นี้ไม่เหมาะกับคุณและไม่ใช่เสื้อที่คุณอยากจะใส่อะไรมากมายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพียงแต่จังหวะที่ซื้ออาจเพราะเห็นว่าอยู่บนหุ่นแล้วดูดี หรือกำลังลดราคาเท่านั้นเอง เมื่อคุณรู้แล้วว่าเสื้อตัวนี้มันได้บรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว ก็จงกล่าวขอบคุณที่มันช่วยให้บทเรียนกับเราและลาจากมันไปด้วยดี

ส่วนเรื่องเสื้อผ้าไม่พอ มาริเอะบอกว่า ถ้าคุณเลือกเฉพาะเสื้อผ้าที่ทำให้คุณชื่นใจ คุณจะมีเสื้อผ้าเพียงพอแน่นอน เพราะลูกค้าหลายพันคนที่เธอเคยให้บริการเรื่องการจัดบ้าน ไม่เคยมีใครซักคนที่กลับมาบ่นกับเธอว่าเสื้อผ้าไม่พอใส่

แต่ถ้าคุณกลัวจริงๆ ว่าเสื้อผ้าจะไม่พอ ก็อาจจะลองเก็บไว้ในถุงแล้วทิ้งไว้ในห้องเก็บของซักพักก็ได้ (อันนี้ผมพูดเอง มาริเอะไม่ได้พูด)

ขอนอกเรื่องนิดนึง เคยมั้ยครับที่มีเสื้อผ้าหรือถุงเท้าอยู่เต็มตู้ แต่ก็รู้สึกว่าหาเสื้อที่ถูกใจใส่ไม่ได้เลย?

ปัญหาจริงๆ ก็คือ เรามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้อยากใส่แล้วเยอะเกินไป เสื้อผ้าที่ไม่ได้ทำให้เราชื่นใจจึงมาเบียดบังเสื้อผ้าที่เราอยากใส่จริงๆ เกือบหมด นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกว่ามีเสื้อผ้าเยอะแต่ไม่มีตัวไหนถูกใจ จิตใต้สำนึกของเราจึงคอยบอกให้เราซื้อเสื้อใหม่ตลอดเวลา และการซื้อเสื้อผ้าเข้ามาเพิ่มก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก

ก่อนจะจัดระเบียบถุงเท้า ผมก็รู้สึกเสมอๆ ว่าถุงเท้าที่ผมมีมีแต่คู่ที่มันพังๆ เวลาเดินผ่านร้านขายถุงเท้าผมจึงมักจะซื้อติดมือมาบ่อยๆ ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะพอผ่านไปซักเดือนนึงปัญหาเดิมก็จะกลับมาอีก

แต่พอผมคัดถุงเท้าจนเหลือแต่ที่ยางยังดีและน่าใส่จริงๆ จำนวนถุงเท้าเหลือน้อยกว่าครึ่ง แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าผมขาดถุงเท้าอีกต่อไปแล้ว

ขอทวนกันอีกครั้งนะครับ

เอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองรวมกันเพื่อที่จะรู้ว่าเรามีเยอะแค่ไหน

แทนที่จะเลือกว่าจะทิ้งเสื้อผ้าตัวไหน ให้เลือกว่าจะเก็บตัวไหน โดยหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่า “มันทำให้เราชื่นใจรึเปล่า”

เสื้อผ้าตัวไหนที่มันไม่ได้ทำให้เราชื่นใจแล้ว ให้กล่าวขอบคุณมัน (อาจจะแค่ในใจก็ได้ถ้าเขิน) แล้วส่งมันไปตามทาง (อาจจะขนไปบริจาคหรืออะไรก็ตามแต่)

อ้อ แล้วก็ไม่ต้องเอาไปฝากไว้บ้านแม่ หรือบ้านญาตินะครับ เพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้ท่านเสียเปล่าๆ

มาริเอะเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ลูกค้าคนหนึ่งย้ายออกจากบ้านพ่อแม่มาแล้ว ก็ยังเอาสิ่งของต่างๆ ที่เธอไม่ได้ใช้แล้วกลับมาเก็บไว้ที่ห้องนอนเดิมของตัวเองที่บ้านพ่อแม่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่แม่ของเธอเขาปรารถนามาตลอดคือการมีห้องของตัวเองไว้ทำอะไรตามใจ แต่แม่ก็ทำไม่ได้เพราะต้องเอาไว้เก็บของที่ลูกสาวไม่ได้ใช้ ผมว่าถ้าเราทำให้แม่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้มันก็ดูจะใจร้ายกับท่านไปหน่อยนะ

ขอเตือนอีกข้อหนึ่ง เวลาที่เราคัดว่าจะเก็บอะไร จะทิ้งอะไร อย่าให้คนในครอบครัวเห็นนะครับ เพราะอาจจะทำให้เขารู้สึกเสียดายแทนเรา และเขาจะขอเก็บเอาไว้เอง ซึ่งนั่นจะทำให้ปัญหาคาราคาซังครับ

—–

เมื่อเราคัดเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงคราวจัดเก็บเข้าที่

มาริเอะแนะนำว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเราควรจะใช้วิธีพับเก็บ ยกเว้นพวกเสื้อผ้าที่น่าจะแฮปปี้กว่าถ้ามันโดนแขวน (ใช้หลักปฏิบัติราวกับว่าเสื้อผ้ามีชีวิตอีกเช่นเคย)

ดังนั้นผมเลยเลือกที่จะแขวนเสื้อเชิ๊ต กางเกงสแล็ก และชุดสูท ที่เหลือผมพับเก็บหมดเลย

อ้อ เวลาพับเก็บควรจะเก็บเป็นแนวตั้งนะครับ เพราะไม่มีเสื้อผ้าตัวไหนอยากโดนทับหรอก

ถุงเท้าก็เช่นกัน ไม่มีถุงเท้าที่ไหนอยากโดนมัดเป็นก้อนๆ หรือขมวดเป็นปมหรอก

อย่างที่บอกครับ ให้ปฏิบัติต่อสิ่งของราวกับว่ามันมีชีวิตจิตใจ แล้วคุณจะตอบได้เองว่าควรจะเก็บมันยังไง

วิธีการพับผ้า ก็ให้ลองไปดูใน Youtube ได้เลยนะครับ

https://www.youtube.com/results?search_query=konmari+folding

หลักการสำคัญคือควรจะพับเพื่อให้มันวางตั้งบนสันได้ ซึ่งขอเตือนไว้เลยว่าถ้าไม่ลองดูวีดีโอให้เข้าใจก่อน มีโอกาสสูงมากที่คุณจะพับผิดวิธีและพอจัดเสร็จแล้วผ้าจะล้มดูไม่งามตา

ส่วนตัวผมเองผมใช้กล่องรองเท้า (ซึ่งเป็นวัสดุที่มาริเอะแนะนำเพราะฟรีและมีกันเกือบทุกคน) โดยตอนแรกใช้กล่องกระดาษที่ได้มากับรองเท้า แต่ผมมีไม่พอเลยไป “ยืม” กล่องรองเท้าพลาสติกที่แม่ผมซื้อเอาไว้ (ไว้จะซื้อคืนให้นะครับแม่)

ผลลัพธ์ที่ได้คือตามนี้ครับ

20150730_162449

20150801_092452

20150712_162417

ตู้เสื้อผ้าใหม่ที่ผมจะย้ายเข้าไปคงจะมีชั้นมากกว่านี้ ซึ่งก็จะทำให้สามารถวางกล่องเหล่านี้ได้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น

ข้อดีของการพับเสื้อและถุงเท้าแบบนี้ก็คือแค่มองปราดเดียวก็รู้เลยว่ามีเสื้อผ้าอยู่เท่าไหร่ และมีลายไหนบ้าง

ข้อเสียก็คือมันอาจจะขาดความยืดหยุ่น เพราะกล่องหนึ่งก็ใส่ได้แค่ไม่กี่ชิ้น ถ้ากล่องหมดก็ไปต่อไม่ได้แล้ว แต่นั่นก็อาจจะทำให้เรากลับมาทบทวนว่าเสื้อผ้าที่เราพยายามจะยัดลงกล่องอยู่นั้น มัน spark joy ทุกตัวแน่แล้วเหรอ

—–

เมื่อเราจัดการกับเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาจัดการกับหนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจตามลำดับ

วิธีการก็เหมือนเดิม คือเอาหนังสือทั้งหมดมากองรวมกันไว้ เพื่อให้รู้ (สำเหนียก/สำนึก) ว่าเรามีหนังสือเยอะแค่ไหน

หนังสือหลายสิบเล่มที่เราคิดว่าจะเก็บเอาไว้อ่าน “วันหลัง” ถ้าเราไม่หลอกตัวเองเราก็จะรู้ดีว่า “วันหลังไม่มีวันมาถึง”

แทนที่จะเก็บหนังสือที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าคงไม่ได้อ่าน สู้เราส่งต่อมันไปถึงมือคนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากมันดีกว่า เพราะหนังสือบางเล่มก็เลยเวลาที่เราจะอ่านมันมามากโขแล้ว

หนังสือประเภทเดียวที่เราจะเก็บคือหนังสือที่ทำให้เราชื่นใจ ซึ่งเมื่อเราใช้วิธีนี้ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่เราจะได้อ่านหนังสือที่เราอยากจะอ่านจริงๆ

20150730_090554

20150730_191100

20150811_001839_resized

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะมีหนังสือเยอะแค่ไหน ผมก็จะซื้อเล่มใหม่เข้าบ้านตลอด แต่พอตื่นเช้ามาเห็นแต่หนังสือที่เรา “อยากอ่านไปหมดเลย” อยู่บนชั้น แม้จะมีเพียงไม่กี่เล่ม ผมก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากซื้อหนังสือเล่มใหม่เข้าบ้านเท่าแต่ก่อนแล้ว

——

ในแง่เอกสาร มาริเอะบอกว่า หลักการง่ายๆ คือ “ทิ้งเอกสารทุกชิ้น ยกเว้นที่ต้องใช้จริงๆ เท่านั้น”

ผมเองมีเก็บสลิปบัตรเครดิตไว้ร่วมสามปี ใบภงด. สลิปเงินเดือนเก่าๆ และใบเสร็จอีกนับร้อย  พอคัดเฉพาะที่ต้องเก็บจริงๆ ลิ้นชักผมก็เบาไปเยอะมาก ส่วนอันไหนผมไม่แน่ใจก็ถ่ายรูปเอาไว้แล้วก็ทิ้งตัวกระดาษไปซะ

พวกเอกสาร Manual ต่างๆ มาริเอะบอกให้ทิ้งไปได้เลย เพราะเรา google เอาได้อยู่แล้ว

ส่วนกล่องที่มากับของ (เช่นกล่องลำโพง กล่องโน๊ตบุ๊ค) มาริเอะก็บอกให้ทิ้งเช่นกัน บางคนเก็บกล่องเพราะหวังว่าจะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้นเวลาเราเอาของไปขายต่อ แต่ถ้านับพื้นที่ที่เราต้องเสียไปกับการเก็บกล่องที่ไม่ได้ใช้ (โดยเฉพาะพวกเราที่เช่าห้องเป็นรายเดือน) จะเห็นได้เลยว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับพื้นที่เหล่านั้น เยอะกว่าเงินที่จะได้มาในอนาคตจากการขายของโดยมีกล่องค่อนข้างแน่

ลูกค้าบางคนของมาริเอะทิ้งเอกสารบางอย่างไป แล้วพอต้องใช้อีกครั้ง เขาก็รู้ชัดว่าเอกสารพวกนี้ไม่มีแล้ว เขาจึงสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นต่อไปเลย ไม่ต้องมาเสียเวลางมหาเอกสารอยู่ (ใครเคยมีประสบการณ์ที่ใช้เวลาหาเอกสารตั้งนาน แล้วสุดท้ายไม่เจอบ้างมั้ยครับ?)

เสียดายผมไม่ได้ถ่ายรูป before/after ในการจัดเก็บเอกสาร มีแต่ตอนที่กำลัง in progress อย่างเดียวเลยไม่ขอเอามาลงนะครับ

—–

(ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้ (10 ส.ค.) ส่วนตัวผมเองทำถึงแค่เรื่องจัดการเอกสารครับ ส่วนของจิปาถะกับของที่มีคุณค่าทางใจยังไม่ได้ทำ ดังนั้นจึงยังไม่มีรูปนะครับ)

เมื่อจบเรื่องเอกสารแล้ว ก็ค่อยลงมือกับของจิปาถะ เช่น ซีดี อุปกรณ์ครัว แบงค์+เหรียญ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องเอาทุกอย่างมากองไว้ในที่เดียวเพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณมีของเหล่านี้เยอะเกินความจำเป็นแค่ไหน (และจะได้ไม่กลัวที่จะคัดบางอย่างออก)

อ้อ บางคนชอบแพ้ของลดราคา ซึ่งมักจะมาเป็นแพ็ค ซึ่งมาริเอะบอกว่าไม่คุ้มกันหรอก เพราะกว่าคุณจะได้ใช้ชิ้นหลังๆ ในแพ็ค ของก็เสื่อมคุณภาพ ไม่น่าชื่นใจอีกต่อไปแล้ว สู้ซื้อมาเท่าที่จำเป็นจริงๆ ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ในการเก็บ และถ้าจำเป็นต้องซื้อใหม่จริงๆ แค่เดินไปปากซอยหรือขับรถไปนิดหน่อยก็หาซื้อได้แล้ว

—–

ของประเภทสุดท้ายที่เราต้องเจอ ก็คือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่นอัลบั้มรูปหรือจดหมาย จงจัดการของพวกนี้ต่อเมื่อคุณจัดการที่เหลือหมดเรียบร้อยแล้ว เพราะอัลบั้มรูปและจดหมายนั้นเป็น “ตัวบอส” ซึ่งยากต่อการตัดใจอย่างมาก คุณจึงต้องผ่านด่านเสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร และของจิปาถะก่อน

วิธีการก็เช่นเดิม เอามันมากองรวมกัน หยิบขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่าม้นยัง spark joy อยู่มั้ย (แม้กระทั่งภาพถ่าย มาริเอะก็บอกให้เอาออกมาจากอัลบั้ม)

ของพวกนี้มีคุณค่า และเราไม่อยากทิ้งมันไปเพราะมันช่วยให้เรานึกถึงอดีตอันหอมหวาน และเราก็กลัวว่าถ้าเราทิ้งรูปเหล่านี้ไป เราก็จะลืมเรื่องเหล่านี้ไปด้วย

แต่มาริเอะบอกว่า ความทรงจำอันล้ำค่าจริงๆ ของเรา ต่อให้ไม่มีรูปถ่ายเหล่านี้ เราก็ยังจะจำมันได้อยู่ดี

ถ้าเราอยากจะคัดรูปเก็บไว้ ก็ควรจะคัดแต่รูปที่ spark joy เท่านั้น สมมติการไปเที่ยวครั้งนี้มีรูป 36 รูป เราอาจจะคัดรูปที่ดีที่สุดเพียงสามสี่รูป ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้เรานึกถึงทริปคราวนี้ได้ (จะว่าไป สมัยเป็นกล้องฟิล์มเราถ่ายรูปเสียๆ เยอะจะตาย)

มาริเอะบอกว่าวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นก็คือ จงให้ความสำคัญกับตัวเราในปัจจุบัน (cherish what you have become) แทนที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเคยเป็นในอดีต

ของอีกชนิดนึงที่เรามักไม่กล้าทิ้ง คือของที่คนอื่นให้มา อาจจะเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ ของฝากจากเพื่อนสนิท หรือรูปวาดของลูกสมัยเขายังเด็ก ถ้าเราทิ้งของเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกผิดทันที

มาริเอะก็สอนอีกเช่นกันว่า จงดูให้ดีว่าเจตนารมณ์ของสิ่งของเหล่านี้คืออะไร

ของพวกนี้คือ “ของขวัญ” ดังนั้น วัตถุประสงค์ของมันคือการ “ถูกรับ”

ในเมื่อเราในฐานะ “ผู้รับ” ได้รับมันมาแล้ว ได้รู้สึกดีและรู้สึกขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ/ความใส่ใจของผู้ให้แล้ว ของขวัญชิ้นนั้นก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วเช่นกัน

เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เราก็ย่อมกล่าวอำลากับของขวัญเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร

—–

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก และคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเจอกัน คือเราอยากเก็บบ้าน แต่คนอื่นในครอบครัวไม่สนใจ

มาริเอะก็เคยเจอสถานการณ์อย่างนี้ เพราะคนในครอบครัวไม่ได้บ้าการเก็บบ้านเหมือนเธอ มาริเอะรู้สึกหงุดหงิดมากที่คนในครอบครัวยอมอยู่กันแบบรกๆ และไม่ว่าเธอจะบ่นแค่ไหนก็ไม่มีใครขยับตัว เธอจึงเจ้ากี้เจ้าการเก็บห้องให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว แถมยังแอบเอาของบางชิ้นของคนในบ้านไปทิ้งด้วย (หลังจากสังเกตเห็นแล้วว่าไม่ค่อยได้ใช้)

ปรากฎว่ามาริเอะโดนจับได้ แม่เลยสั่งห้ามไม่ให้เธอไปเก็บห้องให้ใคร หรือไปยุ่งกับทรัพย์สมบัติของคนอื่นอีก

มาริเอะกลับมาที่ห้องด้วยความผิดหวัง เพียงเพื่อจะพบว่า ในขณะที่เธอเจ้ากี้เจ้าการเก็บห้องให้คนโน้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วห้องของเธอก็ยังรกอยู่มาก เธอจึงเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่เธอจะทำได้ คือการจัดการกับข้าวของของเธอให้เรียบร้อย เธอจึงหันกลับมาสนใจแต่ข้าวของของตัวเองเท่านั้น

และเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น หลังจากมาริเอะจัดห้องเธอเสร็จไปเพียงสองสัปดาห์ น้องชายที่ร้อยวันพันปีไม่เคยคิดจะทิ้งอะไรเลย กลับเริ่มจัดห้องของตัวเองและทิ้งหนังสือถึง 200 เล่มในวันเดียว

ดังนั้น ถ้ารู้ตัวว่าเรากำลังหงุดหงิดกับความไร้ระเบียบของคนในบ้าน ผมแนะนำให้ลองจัดห้องตัวเองให้เรียบร้อยก่อนครับ แล้วคนอื่นๆ ก็จะเห็นและ (อาจ) รู้สึกอยากทำตามเอง

—–

การที่เราไม่ยอมทิ้งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ spark joy แล้ว มันมีเหตุผลเพียงสองข้อเท่านั้นคือ

1. ยึดติดกับอดีต (เลยยังเก็บของเก่าๆ ไว้อยู่)
2. กังวลกับอนาคต (เลยซื้อของมาตุนไว้เพียบ)

ซึ่งทั้งสองเหตุผลนี้จะเบียดบังไม่ให้เรามีความสุขกับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

ข้อความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่กระทบใจผมมากก็คือ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สิ่งของต่างๆ จะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรา

เสื้อเชิ๊ตรุ่นนึงมีผลิตออกมาตั้งเป็นพันเป็นหมื่นตัว แต่เสื้อเชิ๊ต “ตัวนี้” ก็ยังอุตส่าห์ “หาเราจนเจอ” และมาอยู่กับเราในบ้านหลังนี้

โชคชะตาพาให้เราและสิ่งของต่างๆ มาเจอกัน และความปรารถนาสูงสุดของสิ่งของเหล่านั้น ก็คือการได้รับใช้เจ้านายของมัน ถ้ามันไม่ได้ถูกใช้งาน ชีวิตของมันก็ไม่มีคุณค่าอันใด

คำถามคือ เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือที่เราจะเก็บมันเอาไว้เพียงเพราะว่า “อาจจะได้ใช้มันซักวันหนึ่ง” ทั้งที่จริงแล้ว เรากลับปล่อยมันเอาไว้ในส่วนลึกสุดของตู้ หรือวางไว้บนชั้นจนฝุ่นจับ นานจนกระทั่งเราลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามันเคยมีตัวตน

ไม่มีใครอยากถูกลืมหรอกนะครับ

ดังนั้น ถ้าสิ่งของชิ้นใดไม่ได้ทำให้เราชื่นใจอีกแล้ว จงปล่อยมันให้เป็นอิสระเพื่อให้มันได้ทำหน้าที่ของมันกับเจ้านายคนอื่นเถิด

และถึงแม้สุดท้ายแล้วมันจะถูกทำลาย แต่สิ่งของเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แปรเปลี่ยนเป็นสสารและเกิดใหม่เป็นสิ่งของชิ้นอื่นในอนาคตเท่านั้นเอง

จงปล่อยมันไป แล้วมันจะกลับมาหาคุณอีกครั้งในรูปแบบอื่นอย่างแน่นอน

—–

มาริเอะบอกว่า การจัดบ้านไม่ใช่แค่การจัดบ้าน แต่มันคือการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับข้าวของที่เรามี

การจัดบ้าน คือการสบตากับความจริง ว่าตัวเราในปัจจุบันต้องการอะไร และเราต้องการจะใช้ชีวิตที่เหลือแบบไหน

การจัดบ้านให้เรียบร้อย จึงเป็นการเดินทางของจิตวิญญาณ ปลดปล่อยตัวเองจากอดีต และมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยความไว้ใจในชีวิตเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตกับปัจจุบันได้ดีที่สุด

ลองนึกภาพดูนะครับว่า ถ้าของทุกชิ้นในบ้านคุณ spark joy มันจะดีแค่ไหน

เปิดตู้เสื้อผ้าก็เห็นแต่ชุดที่เราอยากใส่ มองไปที่ชั้นหนังสือก็เจอแต่หนังสือที่อยากหยิบขึ้นมาอ่าน ดีวีดีทุกแผ่นล้วนแล้วแต่เป็นหนังในดวงใจ และรูปทุกใบทำให้เรายิ้มทุกครั้งที่เห็น

เมื่อนั้น “บ้าน” จะเป็นแหล่งพักพิงใจของเราอย่างแท้จริง

ผมไม่อาจการันตีได้ว่าวิธีนี้จะดีอย่างที่มาริเอะบอกไว้รึเปล่า ทางเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือต้องลองทำดูครับ

ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ค สถานการณ์ก็คงไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่

แต่ถ้ามันได้ผลจริงๆ มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณ เหมือนกับที่มันได้เปลี่ยนชีวิตหลายพันหลายหมื่นคนมาแล้ว

ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการจัดบ้านครับ

—–

ป.ล. แม้ผมจะอธิบายมาค่อนข้างยาว ก็ยังเทียบไม่ได้กับการซื้อหนังสืออ่านเต็มๆ นะครับ ฉบับแปลไทยราคา 180 บาทเท่านั้น (แฟนผมซื้อจากร้านนายอินทร์สาขาแม๊กซ์แวลูพัฒนาการ) ส่วนเล่มภาษาอังกฤษผมซื้อมาจากคิโนะคุนิยะสาขาพารากอน ราคา 521 บาทครับ

—–

ภาพจากกล้องมือถือของผู้เขียน เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่


UPDATE 06.04.2017

ผมเขียนบล็อกนี้ในเดือนสิงหาคมปี 2558 และได้แชร์บล็อกตอนนี้อีกครั้งผ่านเพจ Anontawong’s Musings  เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีผู้อ่านทักเข้ามาว่า “อยากรบกวนให้ช่วยอัพเดทรูปปัจจุบันหน่อยได้ไหมคะว่าหลังจากย้ายบ้านมาแล้ว และจัดเก็บของแบบนี้แล้วสามารถคงสภาพความเรียบร้อยได้นานแค่ไหน” ก็เลยถ่ายภาพมาให้ดู โดยพยายามคงสภาพเดิมให้มากที่สุดนะครับ (หากจะมี “จัดฉาก” บ้างก็อย่างเช่นรูปในห้องน้ำที่ต้องเอาผ้าที่ตากไว้ออกไปก่อน)

20170406_145848

ถุงเท้าและกางเกงขาสั้น

20170406_145901

เสื้อยืด

20170406_150237

เสื้อเชิ๊ต กางเกงแสล็ค และเสื้อยืดสีดำล้วน

20170406_145945

ชั้นหนังสือ

20170406_152231

ห้องน้ำ

20170406_150445

ห้องทำงาน

20170406_150641

โต๊ะกินข้าวแบบยังไม่ได้จัดระเบียบ

20170406_150735

ชั้นรองเท้า (มีสตั๊ดใส่ถุงแหลมอยู่มุมขวาบนด้วย)

20170406_150935

อุปกรณ์อิเลคโทรนิคทั้งหลาย

musicgroup

สุดสัปดาห์ มกราคม 2560 วันที่เพื่อนมาเล่นดนตรีด้วยกันที่บ้าน

จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยเรียบร้อยมากนัก แต่ถ้าเทียบกับตอนก่อนจัดบ้านแบบ KonMari ก็ยังดีกว่ามากครับ


ชวนฟังเพลงภาษาใจ by Anontawong’s Music: http://bit.ly/pasajaiyt

(Updated: Jan 2020) [ขายของ] “Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer

80507942_579966649467475_5144866110411112448_n


(UPDATE: 11 Aug 2017) หากคุณเป็นคนที่ชอบ “เล่นเกมยาว” และเบื่อหนังสือประเภท รวยเร็ว รวยลัด ฯลฯ อยากจะบอกว่าหนังสือ  Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ของผมวางแผงแล้วที่ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S และศูนย์หนังสือจุฬานะครับ! >> bit.ly/tgimannounce

TGIM_HardCopies

29 thoughts on “วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari

  1. ได้อ่านการแบ่งปันการจัดบ้านแล้ว ประทับใจมาก ทำให้ดิฉันลุกขึ้นมาทำตามเลยค่ะ รู้สึกว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด 555 ตั้งใจค่ะ จะทำให้เสร็จ มีอะไรแนะนำไหมคะ ยินดีรับฟังค่ะ

    Like

  2. Pingback: ลองจัดบ้านแบบ คอนมาริ…ไม่ลองไม่รู้ จะเห็นผลเมื่อได้ลงมือทำ | NTD Thai

  3. ขอบคุณที่แชร์เรื่องดีๆ ค่ะ ซื้อหนังสือมาอ่านแล้วเหมือนกัน ดูยูทูปวิธีการด้วย แต่ปัญหาอย่างเดียวคือยังไม่ได้ลงมือทำ วาระแห่งชาติ ต้องหากสักวันลงมือทำซะแล้ว

    Like

  4. ขอบคุณนะคะ ที่ให้แนวทางดีๆ จะไปลองทำดูค่ะ

    Like

  5. Pingback: สู้ตาย | Anontawong's Musings

  6. Pingback: Tool or Toy? | Anontawong's Musings

  7. Pingback: เคล็ดลับความสำเร็จของ Tony Robbins | Anontawong's Musings

  8. Pingback: ประโยชน์ของการไปโรงเรียน | Anontawong's Musings

  9. เราเพิ่งย้ายเข้าบ้านใหม่
    ตอนย้ายจากบ้านเก่า เราทิ้งของไปเยอะมาก
    แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเราคือหนังสือ
    เราลงมือเก็บเอง แยกเป็น 3 กลุ่ม
    – กลุ่มแรกคือ ของรักของหวง พวกหนังสือปกแข็ง หนังสือที่เก็บเป็นชุด หนังสือของนักเขียนคนโปรด
    – กลุ่มที่สองคือ หนังสือตำรา หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง
    – กลุ่มที่สาม คือ หนังสือเด็ก หนังสือที่เราโตเกินกว่าจะอ่าน เตรียมแจกจ่ายและบริจาค
    แพ็คลงกล่อง ติดป้ายเรียบร้อย แต่สุดท้ายพอมาแกะกล่องหนังสือที่บ้าน ปรากฏว่า เหลือแต่กลุ่มที่สอง กลุ่มแรกไม่รู้หลงไปที่ไหน หายังไงก็หาไม่เจอ อุตส่าห์เก็บไว้เป็นระเบียบ แต่พลาดที่ไม่ได้ทำรายการ ของเลยหายไม่รู้ตัว
    เสียใจมาก เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ครั้งแรกมีลายเซ็นนักเขียน กับหนังสือทำมือซะส่วนใหญ่ ต่อให้หาซื้อได้ใหม่ คุณค่าทางจิตใจก็ไม่เหมือนเดิมอยู่ดี

    ใครกำลังจะย้ายบ้านนอกจากการตัดใจทิ้งของที่ไม่จำเป็นเเละการแยกแพ็คของให้เป็นหมวดหมู่แล้ว
    แนะนำให้แพ็คของแล้วแปะป้ายเป็นโค้ดสีค่ะ อันไหนขาย อันไหนแจกจ่าย อันไหนบริจาค อันไหนทิ้ง แยกให้ชัดเจน
    เพราะแปะป้ายสีเดียวกันมันพลาดกันได้นะคะ

    Liked by 1 person

  10. กำลังสนใจหนังสือเล่มนี้อยู่เลยค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นะคะ 🙂

    Like

  11. เพิ่งจัดห้องไปเอง>< เดี๋ยวรอห้องใหม่นะ ตอนย้ายจองจะจัดให้กริ๊บเลย เสื้อเยอะมาก แต่ไม่ค่อยหยิบมาใส่เลย
    เพราะเสียดายจุดนี้แหละที่อยากแก้

    Like

  12. Pingback: ได้ออกทีวีเพราะ KonMari | Anontawong's Musings

  13. ขอบคุณนะคะ
    เห็นคุณในทีวี เมื่อวาน
    ตามมาจนเจอ
    ขอแชร์นะคะ
    จะไปจัดการกับชุดวินเทจ ประมาณ 2000 กว่าชิ้นที่มี แล้วจะมาเล่าค่ะ

    Like

  14. ขอบคุณครับคุณ itim เคยเห็นแต่ยังไม่เคยนั่งดูจริงๆ จังๆ เลยครับ ขอบคุณที่มาแชร์ให้ผมและผู้อ่านท่านอื่นๆ นะครับ

    Like

  15. ขอบคุณมากนะครับ ผมอ่านดูแล้วชอบมากครับ จะลองเอาไปทำดูนะครับ

    Liked by 1 person

  16. Pingback: จัดบ้านแบบ KonMari ในวันแม่ | Anontawong's Musings

  17. อ่านแล้วรีบไปจัดห้องเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆค่ะ

    Liked by 1 person

  18. ขอบคุณมากเลยนะคะที่มีคำแนะนำดีๆมาให้ อ่านแล้วชื่นใจและเป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำตาม บล็กสวยและอ่านง่ายสบายตาด้วยค่ะ คนทำตั้งใจและน่ารักจริงๆ

    Liked by 1 person

Leave a comment