อ่านหนังสือยังไงให้ลืมได้เร็วๆ

ช่วงหยุดยาวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้หยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่าน

สำหรับใครที่ชอบหนังสือประเภท non-fiction อาจจะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพออ่านจบได้ไม่นาน ก็มักจะลืมเนื้อหา หรือแทบไม่ได้หยิบอะไรจากหนังสือมาใช้ในชีวิตจริง จนรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มมันนั้นมันสูญเปล่าหรือไม่ คนกลุ่มนี้จึงเฟ้นหาวิธีที่จะช่วยให้เขาจดจำเนื้อหาได้มากกว่านี้

เขาว่ากันว่า การไฮไลต์หนังสือเฉยๆ นั้นไม่ได้ช่วยในการจดจำ เพราะสมองของเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหามากเพียงพอ

เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านแล้วไม่ลืมก็เช่น

  • จดโน๊ตตรงพื้นที่ว่างในหนังสือว่ามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างไร
  • สร้าง Output เช่น สรุปหนังสือออกมาในคำพูดของเรา เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนเป็นบทความ
  • จดโน้ตด้วยเทคนิค Zettelkasten ของเยอรมัน ที่สามารถเอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเก่าหรือโน้ตใหม่

บทความวันนี้จะมาบอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบข้างบนเลยก็ได้นะครับ

เพราะถ้าหากเรารู้สึกว่าจะต้อง “รีดประโยชน์” จากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจก็จะกลายเป็น “งานอีกหนึ่งชิ้น” ขึ้นมาทันที

การจดเพื่อให้จำได้นั้นเป็นการทำเพื่อตัวเราในอนาคต แต่มันกลับทำให้ตัวเราในวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

มีบทความหนึ่งที่ผมชอบมากของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks

บทความนี้มีชื่อว่า “How to forget what you read

คุณ Burkeman เขาเป็นคนแบบนี้แหละครับ ชอบเขียนบทความที่ตั้งคำถามกับกระแสหลัก ในเมื่อกูรูส่วนใหญ่สอนว่าจะอ่านหนังสือยังไงให้จำได้นานๆ เขาก็เลยตั้งชื่อบทความว่าอ่านยังไงให้ลืมได้เร็วๆ ผมเลยขออัญเชิญมาเป็นชื่อของบทความวันนี้ด้วยเสียเลย


Burkeman เคยเป็น productivity geek มาก่อน ลองเครื่องมือ productivity มาแล้วแทบทุกชนิด

เขาเคยตั้งกฎกับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 30 นาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกวันละ 30 นาทีเพื่อจดโน้ตและจัดระเบียบโน้ต โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเขาต้องหาเวลาเพิ่มอีก 60 นาทีเพื่อทำสองสิ่งนี้ในตารางชีวิตที่ยุ่งมากพออยู่แล้ว

หลังจากลองแล้วล้มเหลว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าเราไม่ต้องพยายามจดจำทุกอย่างที่อ่านก็ได้

Burkeman ให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.การลืมคือตัวกรองอย่างหนึ่ง

      “Forgetting is a filter.”

      อะไรที่ไม่สำคัญ สมองจะทำหน้าที่ลืมให้เราโดยอัตโนมัติ

      แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่านมันมีความหมายกับเรามากพอ เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายาม

      แน่นอนว่ามีบางบริบทเช่นการเรียนหรือการทำงานที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับการอ่านส่วนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น

      การที่สมองทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว อะไรที่เราอินก็จะติดอยู่ในหัว อะไรที่เราไม่อิน สมองก็จะช่วยคัดออกให้

      แต่ถ้าเราทดแทนกลไกนี้ด้วยการจดโน้ตและจัดระเบียบ สมองของเราจะเต็มไปด้วย “ประเด็นที่น่าจะสำคัญ” จน “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ถูกกลืนหายไป

      Paulo Coelho ผู้เขียนนิยาย Alchemist เคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Ferriss เอาไว้ว่า*

      “Forget notebooks. Forget taking notes. Let what is important remains. What’s not important goes away.”

      ไม่ต้องไปสนใจสมุด ไม่ต้องไปสนใจการจดโน้ต อะไรที่สำคัญจะยังคงอยู่กับเรา อะไรที่ไม่สำคัญมันจะจากเราไปเอง


      2.ยิ่งเทคนิคที่เราใช้ต้องลงแรงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือมากขึ้นเท่านั้น

        ถ้าเรารู้สึกว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านนั้นจะต้องตามมาด้วยการจดโน้ต ความน่าจะเป็นก็คือเราอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหรือไม่มีแรงมากพอ

        แทนที่จะได้อ่านหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ เราจึงอาจจะเลือกอ่านหนังสือที่อ่านง่าย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ายังพอจดโน้ตไหว ยังพอเขียนสรุปไหว


        3.เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในสมอง เราอ่านหนังสือเพื่อหล่อหลอมตัวตน

          “The point of reading, much of the time, isn’t to vacuum up data, but to shape your sensibility.”

          งานทุกชิ้นที่เราอ่านนั้นจะมีผลกับเราเสมอ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อหาได้เป๊ะๆ

          สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลก ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว และนำมุมมองนั้นมาสร้างเป็นผลงานและสร้างคุณประโยชน์ในแบบของเราเอง


          จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะบอกให้ลืมทุกสิ่งที่เราอ่าน หรือให้ทิ้งการจดโน้ตไปทั้งหมด

          หากเราเป็นคนชอบจดโน้ต ก็จงจดต่อไปในรูปแบบที่เราถนัด

          ส่วนใครที่ไม่ชอบจดโน้ต ก็ขอให้มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องมีกฎกติกามากมาย

          มาถึงวัยนี้แล้ว การอ่านหนังสือควรเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ด้วยความกล้ำกลืนหรือด้วยความมีระเบียบวินัย

          และขอให้เชื่อเถอะครับว่า เมื่อได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือบทความดีๆ สักตอน ต่อให้เราจดจำเนื้อหาได้เล็กน้อยเพียงใด การอ่านนั้นย่อมไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน


          * บทสัมภาษณ์ที่ Paulo Coelho ให้ไว้กับ Tim Ferriss ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ How to forget what you read ของ Oliver Burkeman แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Coelho ขึ้นมาได้พอดี แม้จะเคยฟังบทสัมภาษณ์นี้เพียงครั้งเดียวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า อะไรที่มีความหมายกับเรา เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายามจริงๆ

          24 สิ่งที่ไม่ควรทำในปี 2024

          1.อย่าให้ความมั่นใจโตไวกว่าความสามารถ เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาอาจเกิดจากโชคช่วยด้วยไม่มากก็น้อย

          2.อย่าพยักหน้าและแสร้งทำเป็นเข้าใจทั้งที่ยังไม่เข้าใจ

          3.อย่าบอกว่าทำไม่ได้ทั้งที่ยังไม่ได้ลอง เพราะเรามักเผลอคิดไปก่อนว่ามันทำไม่ได้

          4.อย่าใส่ใจตัวตนของเราในโลกออนไลน์มากกว่าตัวตนของเราในโลกจริง เพราะตัวเราในโลกออนไลน์เป็นเพียง avatar เท่านั้น

          5.อย่ารู้สึกผิดกับกองดอง ให้มองหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านเป็นเหมือนสายน้ำใสสะอาดที่เราจะตักขึ้นมาดื่มกินเมื่อไหร่ก็ได้

          6.อย่าเอามือถือเข้าห้องน้ำหรือห้องนอน แล้วเราจะอ่านหนังสือได้มากขึ้นเดือนละเล่ม

          7.อย่าคุยกับคนแปลกหน้า เช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์และนักเลงคีย์บอร์ด ไม่เคยมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นจากการใช้เวลากับคนเหล่านี้

          8.อย่าคุยกับ ChatGPT มากกว่าคุยกับคนในครอบครัว

          9.อย่าอดเปรี้ยวไว้กินหวานจนเคยตัว – เพราะคนเราจะมีพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน

          10.อย่ารีรอที่จะทำอะไรให้อีกคนรู้สึกดี

          11.อย่ากลัวการใช้เงินไปกับสิ่งที่สร้างความสุขให้เราได้อย่างแท้จริง เงินหาใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ประสบการณ์กับคนบางคนนั้นมีเวลาจำกัดมากกว่าที่เราคิด

          12.อย่าทำงานให้คนที่เราไม่ได้เคารพ (ถ้าเลือกได้)

          13.อย่าคิดว่าเราไม่มีทางเลือก คนเรามีทางเลือกเสมอถ้าเรายอมรับผลที่ตามมาได้

          14.อย่ายึดติดกับความเป็นตัวเองมากเกินไป คนเราเปลี่ยนกันได้ รวมทั้งตัวเราเองด้วย

          15.อย่าประมาทเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเลยวัย 35 – นอนให้พอ กินให้พอดี กายให้ได้เหงื่อ วันหนึ่งเราจะเข้าใจอย่างแท้จริงว่าสุขภาพนั้นสำคัญกว่า ‘ความก้าวหน้า’ ที่เราเอาสุขภาพไปแลกมา

          16.อย่ามัวมองไปข้างหน้าจนลืมมองคนตรงหน้า

          17.อย่าละเลยที่จะใช้เวลากับลูกในช่วงที่เขายังต้องการเรามากที่สุด พอโตเกิน 12 ขวบเขาก็อาจเป็นเด็กอีกคนแล้ว

          18.อย่าลืมคิดถึงชีวิตที่เราอยากมีอยู่เนืองๆ จะได้รู้ว่ากำลังมาถูกทางรึเปล่า

          19.อย่ามัวแต่มองหาทางลัด เพราะมันมักไม่ได้ลัดจริง ถ้าไปทางตรงตั้งแต่แรกป่านนี้อาจไปได้ไกลแล้ว

          20.อย่าคิดว่าคนอื่นจะคิดถึงเรามากเท่าที่เราคิดถึงตัวเอง ข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษถ้าเราเสพติดการโพสต์ลงโซเชียล

          21.อย่าผิดหวังกับคนเดิมในเรื่องเดิมเกินสามครั้ง ให้เปลี่ยนความคาดหวังหรือไม่ก็เปลี่ยนคน

          22.อย่าเป็น ‘คนเก่ง’ จนไม่เหลือใครคอยเตือน

          23.อย่าให้การเตรียมพร้อมเป็นที่หลบซ่อนของการลงมือทำ

          24.อย่าลืมที่จะมีเวลาอยู่เฉยๆ คนเดียว มีพื้นที่ว่างให้ตัวเองได้คิดและทบทวน นี่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับปี 2024

          ถ้าจะทำนับพันครั้งก็ควรทำมันให้ถูกต้อง

          1. เพราะอะไรที่เราทำซ้ำๆ มันจะเกิดการทบต้น หรือ compounding effect

          2. เพราะอะไรที่เราทำทุกวัน เรามักไม่ใส่ใจและมองข้าม

          ถ้าให้สำรวจเร็วๆ ว่ามีอะไรที่เราทำทุกวันหรือเกือบทุกวันบ้าง ก็เช่น

          แปรงฟัน – เราแปรงฟัน/ขัดฟันถูกวิธีหรือยัง ถ้าฟันยังผุ เหงือกยังร่น ยังมีคราบหินปูนเยอะ แสดงว่าเรายังดูแลฟันได้ดีกว่านี้

          กินข้าว – เราเคี้ยวข้าวและกับข้าวละเอียดพอก่อนที่จะกลืนหรือไม่ กินในปริมาณที่เหมาะสมหรือเปล่า กินเวลาไหน และกินอะไรบ้าง

          เก้าอี้/โต๊ะทำงาน – ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้มันพอดีกับสรีระของเรารึยัง ถ้าทำงานแล้วยังปวดแขนปวดคอ แสดงว่ายังมีอะไรให้ปรับได้

          การพิมพ์คอม – เรายังพิมพ์แบบจิ้มหรือพิมพ์สัมผัส ถ้ายังจิ้มอยู่แล้วหัดพิมพ์สัมผัสได้ เราน่าจะทำงานเสร็จเร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง

          การออกกำลังกาย – เช่นการวิ่งหรือเล่นเวท ถ้าเราทำผิดซ้ำๆ อาจนำมาสู่อาการเข่าเสื่อมหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ถ้าหาคนสอนพื้นฐานให้ถูกต้องตั้งแต่แรก น่าจะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บและทำให้เรายืนระยะได้ยาวนาน

          การนอน – เรานอนถูกท่าหรือไม่ นอนทับแขนตัวเองหรือเปล่า นอนหลับสนิทหรือเปล่า ถ้าเรานอนดี วันถัดมาก็จะดี ถ้าเรานอนแย่ วันถัดมาก็จะแย่

          เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันคือสิ่งพื้นฐานที่เราต้องทำไปตลอดชีวิต ดังนั้นเราควรจะทำให้ถูกและทำให้ชำนาญ แล้วการใช้ชีวิตจะราบรื่นขึ้นครับ

          เมื่อใส่สิ่งที่ถูกลงไป มันจะเหลือที่ให้สิ่งที่ผิดน้อยลง

          หลายคนคงได้ยินหรือดูวีดีโอเรื่องอาจารย์กับโถหนึ่งใบ หินก้อนใหญ่ ก้อนกรวด และเม็ดทราย

          อาจารย์ใส่หินก้อนใหญ่ลงไปในโถและถามเด็กนักเรียนว่าโถเต็มรึยัง เด็กตอบว่าเต็มแล้ว

          แต่อาจารย์ก็ใส่ก้อนกรวดลงไปในโถได้อีก และถามว่าโถเต็มรึยัง เด็กตอบว่าเต็มแล้ว

          แต่อาจารย์ก็ยังใส่ทรายลงไปได้อีก (แถมยังเติมเบียร์ลงไปได้อีกด้วย)

          อาจารย์บอกว่า ถ้าเราใส่หินก้อนใหญ่ลงไปก่อน เราจะมีพื้นที่ให้กรวดและทรายเสมอ

          แต่ถ้าเราใส่ทรายลงไปก่อน เราจะไม่พื้นที่เหลือให้หินก้อนใหญ่เลย

          หินก้อนใหญ่คือเรื่องสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ความสัมพันธ์ สิ่งที่เรารัก

          ก้อนกรวดคือเรื่องสำคัญรองลงมา เช่น งาน บ้าน รถ

          ทรายคือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สำคัญกับชีวิตเท่าไหร่นัก

          —–

          Eisenhower Matrix ระบุไว้ว่ากิจกรรมในชีวิตคนเรามีสี่แบบ

          Q1 เรื่องสำคัญและเร่งด่วน

          Q2 เรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน

          Q3 เรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

          Q4 เรื่องไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

          สำหรับอาจารย์ หินก้อนใหญ่ก็คงเป็น Q1 & Q2 ก้อนกรวดคือ Q3 และทรายคือ Q4

          ถ้าเราจัดตารางให้ Q2 หรือเรื่องสำคัญและไม่เร่งด่วนลงไปก่อน ตามด้วย Q1 คือสิ่งที่ถูกบังคับให้ต้องทำอยู่แล้ว เราก็จะมีเวลาน้อยลงสำหรับการทำ Q3 และ Q4 ไปโดยปริยาย ซึ่งไม่เป็นไร เพราะเอาจริงๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญกับเราขนาดนั้น

          ผมสังเกตตัวเองว่าวันไหนที่สนุกกับงาน สนุกกับการออกกำลังกาย หรือสนุกกับการอยู่กับผู้คน ผมจะเล่นมือถือ (Q4) น้อยลงไปโดยไม่ต้องพยายาม

          —–

          ผมเพิ่งได้ฟังรายการ Impact Theory สัมภาษณ์ Sal DiStefano ที่เป็นกูรูด้านฟิตเนส

          ดีสเตฟาโน่บอกว่า แต่ก่อนเวลามีนักเรียนมาขอความช่วยเหลือในการลดน้ำหนัก เขาจะให้การบ้านนักเรียนไปจดทุกอย่างที่กินเป็นเวลาสองสัปดาห์

          จากนั้นดีสเตฟาโน่ก็จะรีวิวรายการอาหารเหล่านั้น และสั่งนักเรียนว่าต้องตัดอะไรทิ้งบ้าง

          ซึ่งก็ทำให้นักเรียนน้ำหนักลดลงได้จริง แต่หลังจากจบโปรแกรมไป นักเรียนส่วนใหญ่จะกลับมาน้ำหนักเท่าเดิมภายในเวลาหนึ่งปี

          ดีสเตฟาโน่เชื่อว่า เวลาเราไปบังคับหรือจำกัดสิทธิ์ใครสักคน – เช่นห้ามกินคุกกี้ – คนที่โดนห้ามนั้นจะมี “ตัวตน” ที่ซ่อนอยู่ข้างในที่คอยต่อต้านว่า “ทำไมฉันจะกินไม่ได้?” ช่วงที่โดนบังคับอาจจะห้ามใจไม่แตะคุกกี้ได้ก็จริง แต่เมื่อจบโปรแกรมและไม่โดนบังคับอีกต่อไป ตัวตนที่ต่อต้านนั้นจะโผล่ออกมาและทำการ “ล้างแค้น” ด้วยการกินคุกกี้หมดห่อได้ในคราวเดียว

          เมื่อดีสเตฟาโน่เข้าใจแล้วว่าการบังคับหรือการจำกัดอาหารนั้นไม่ยั่งยืน เขาเลยเปลี่ยนแนวทาง

          เวลามีนักเรียนใหม่มา เขาจะบอกนักเรียนเลยว่า

          “อยากกินอะไร กินเท่าไหร่ก็กินไปเลย ขออย่างเดียวว่าให้กินแต่ whole foods เท่านั้น (อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป)”

          ซึ่งปรากฎว่าแค่หันมากินแต่ whole foods อย่างเดียว ก็ลดน้ำหนักได้อย่างชัดเจนแม้จะกินอาหารปริมาณเท่าเดิม

          หรือไม่เขาก็อาจจะบอกว่า ให้นักเรียนกินเหมือนที่เคยกินมาเลย ขอแค่สองอย่าง คือกินโปรตีนให้ถึง 150 กรัม และดื่มน้ำเปล่าวันละสองขวดใหญ่

          ดีสเตฟาโน่รู้ดีว่า ถ้ากินโปรตีน 150 กรัม มันก็จะอิ่มมากอยู่แล้ว ทำให้ท้องไม่อยากกินอาหารอื่นๆ (ที่เสียสุขภาพ) ไปโดยปริยาย และถ้าคนคนหนึ่งดื่มน้ำเปล่าวันละสองขวดใหญ่ ก็คงไม่มีพื้นที่เหลือให้ดื่มน้ำหวานมากเท่าไหร่แล้ว

          แทนที่จะบังคับไม่ให้กินคุกกี้หรือไม่ให้ดื่มน้ำหวาน ดีสเตฟาโน่เปลี่ยนเป็นขอให้กินโปรตีนและดื่มน้ำเปล่า

          ผมว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และอาจสอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถหักห้ามใจหรือมีวินัยได้ขนาดนั้น แถมคนเหล่านี้ยังมีทางเลือกอย่างเต็มที่ว่าจะกินอะไรและกินเยอะแค่ไหน จึงไม่เกิดการต่อต้านจากตัวตนข้างใน

          เมื่อใส่หินก้อนใหญ่ มันจะเหลือที่ให้ใส่ทรายน้อยลง

          เมื่อใส่สิ่งที่ถูกลงไป มันจะเหลือที่ให้สิ่งที่ผิดน้อยลงครับ

          ข้อดีของการเขียน To-Do List บนกระดาษตอนหมดวัน

          นิสัยอย่างหนึ่งที่ผมเริ่มทำมาไม่นานแต่รู้สึกว่ามีประโยชน์ คือการเขียน To-Do List ตอนหมดวัน แทนที่จะเขียนตอนเช้า

          ข้อดีของการเขียน To-Do List บนกระดาษเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเลิกงานมีดังนี้

          • เป็น “พิธีกรรม” (ritual) อย่างหนึ่งที่บอกสมองให้รู้ว่า ตอนนี้เรากำลังจะเลิกงานแล้วนะ การเขียน To-Do List คืองานชิ้นสุดท้ายที่จะทำในวันนี้ก่อนที่จะปิดคอมแล้วไปทำอย่างอื่น
          • เป็นการบังคับตัวเองให้รีวิวงานที่ทำมาในวันนี้ งานไหนที่เสร็จแล้วก็ขีดฆ่าทิ้ง งานไหนที่ยังไม่เสร็จก็ขึ้นกระดาษ A4 แผ่นใหม่เพื่อเอาไว้ทำวันพรุ่งนี้
          • ผมชอบเขียนลงกระดาษมากกว่าเขียนลงแอป เพราะบนแอปมันมีความรู้สึก “ไม่รู้จบ” จะใส่งานลงไป 20 ชิ้นก็ได้ แต่กระดาษมีพื้นที่จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์และข้อจำกัดของเวลาทำงาน เราเลยจะไม่ใส่งานลงไปมากเกินกว่าที่เราเองจะทำไหวในหนึ่งวัน
          • เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่ามีอะไรบ้างที่เราจะเก็บไว้ทำวันพรุ่งนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงงานเหล่านั้นในวันนี้อีกต่อไป เหมือนคำพูดที่ไซตามะ พระเอกการ์ตูนเรื่อง One Punch Man เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาของวันพรุ่งนี้ ก็ให้ตัวฉันในวันพรุ่งนี้จัดการละกัน”*
          • ช่วงหัวค่ำหรือก่อนเข้านอน ถ้าแว้บอะไรขึ้นมาได้ ก็เขียนต่อท้ายใน To-Do List ของวันพรุ่งนี้ได้เลย เมื่อเราได้เขียนลงกระดาษที่เรามั่นใจว่าพรุ่งนี้เราจะเห็นแน่นอน ความกังวลใจก็จะลดลง ไม่เก็บไปคิดจนนอนไม่หลับ
          • พอเราเขียนงานเหล่านั้นลงกระดาษ แล้วไปนอนสักคืนหนึ่ง (sleep on it) เมื่อตื่นขึ้นมาดูลิสต์นั้นอีกที งานบางงานเหมือนจะดูง่ายขึ้น ผมเดาว่าช่วงที่เรานอน สมองอาจจะเอางานบางชิ้นไป “ขบคิด” ต่อในจิตใต้สำนึก พอตื่นขึ้นมาก็เลยรู้สึกว่างานเหล่านั้นถูกย่อยมาแล้วในระดับหนึ่ง
          • หลายคนชอบการเก็บเตียงให้เรียบร้อยในตอนเช้า เพราะตอนค่ำหลังจากเหนื่อยมาทั้งวัน ได้เห็นเตียงที่ spark joy แล้วสามารถเอนกายลงได้ทันที ในมุมกลับกัน การตื่นเช้ามาแล้วมี To-Do List รออยู่แล้วก็ช่วยให้เราสามารถเริ่มต้นวันได้อย่างไม่อ้อยอิ่ง การเก็บเตียงนอนตอนเช้า กับการเขียน To-Do List ตอนเย็น จึงเป็นเหมือนหัว-ก้อยของเหรียญเดียวกัน

          ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ


          * ขอบคุณเพจเขียนไว้ให้เธอที่แนะนำให้รู้จักกับประโยคนี้ครับ