เหตุผลเพียงสองข้อที่เราจะทำอะไรสักอย่าง

ไม่นานมานี้เอง ที่ผมเพิ่งตระหนักและคอยเตือนตัวเองว่า หากผมจะทำอะไรสักอย่าง มันควรถูกขับเคลื่อนด้วยหนึ่งในเหตุผลสองข้อนี้

ข้อแรก สิ่งนั้นทำให้เรามีความสุขในตอนนี้

ข้อสอง สิ่งนั้นจะทำให้เราได้สิ่งที่ต้องการในอนาคต

สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขทันที ก็เช่นกินของอร่อย ใช้เวลากับคนที่เรารัก ทำงานอดิเรก ดูบอล อ่านการ์ตูน ฟังเพลง นอนเล่น

สิ่งที่ทำให้เราได้สิ่งที่เราต้องการ หมายถึงสิ่งที่อาจไม่ได้ให้ความสุขกับเราในทันที แต่ทำไปเพราะเรารู้ดีว่ามันจะนำพามาซึ่งความสุข – หรือช่วยจำกัดความทุกข์ – ในอนาคต เช่นกลั้นใจไม่ซื้อของ เพื่อจะได้มีเงินเก็บเงินลงทุน ออกกำลังกายจนปวดไปทั้งตัวเพื่อให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

ถ้ามีสิ่งใดที่ทำแล้วได้ทั้งสองข้อก็ถือว่าดีเยี่ยม เช่นทำงานที่เราชอบและทำได้ดี เพื่อสร้างประโยชน์ในวันนี้และวันข้างหน้า

แต่ถ้าเราไม่ได้โชคดีขนาดนั้น อย่างน้อยสิ่งที่เราทำควรตอบโจทย์หนึ่งในสองข้อ เช่นอาจจะไร้สาระแต่มันทำให้เรามีความสุข หรืออาจเป็นทุกข์แต่มันช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม

ฟังดูเรียบง่าย แต่หลายคนก็ยังพลาดด้วยการทำสิ่งที่ไม่ได้มอบความสุข แถมยังไม่ช่วยให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการอีกด้วย

เช่นการถกเถียงเพื่อเอาชนะคนใกล้ตัว นอกจากอารมณ์จะขุ่นมัวแล้วยังสร้างแผลเป็นในความสัมพันธ์

หรือการเสพอะไรจนเกินพอดี ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือโซเชียล เราหยิบขนมบางอย่างขึ้นมากิน หรือหยิบมือถือขึ้นมาดูโดยไม่รู้ตัวอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งกินยิ่งไม่สบายท้อง ยิ่งส่องยิ่งไม่สบายใจ แต่เราก็ยังทำต่อไปราวกับโดนชักใยจากมือที่มองไม่เห็น

อะไรที่เราติดเป็นนิสัย แสดงว่ามันมี “รางวัล” ซ่อนอยู่ เช่นการที่เราชอบเอาชนะ ก็เพราะว่ามันสาแก่ใจ หรือการที่เราติดโซเชียล ก็เพราะว่าคุ้นชินกับการหลั่งของโดพามีน

แต่ความสุขบางอย่างนั้นช่างกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับความหนักอึ้งที่รอคอยเราอยู่

ต้องรอให้ถึงวันที่ใจมันฉลาดพอที่จะรู้ ว่าความสุขแบบใดที่คุ้มค่า ความสุขแบบใดที่ขาดทุน

ยิ่งเมื่อเลยวัยกลางคนเป็นต้นมา วัยที่เข็มนาฬิกาเสียงดังกว่าเดิม เราจะเริ่มหยุดทำบางสิ่ง เพราะตะหนักรู้อย่างแท้จริงว่าชีวิตไม่ได้ยืนยาวพอ

ทุกครั้งที่จะทำอะไร ขอให้สิ่งนั้นนำมาซึ่งความสุขในวันนี้ หรือไม่ก็นำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการในวันข้างหน้า

ถ้าไม่มีหนึ่งในสองข้อนี้ ก็อย่าไปทำเสียเลยดีกว่า จริงมั้ยครับ

เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ มุมหนึ่งที่ผมไปเยือนบ่อยที่สุดคือมุม Self-Improvement หรือ Self-Help

มีหนังสือมากมายที่สอนว่าเราจะทำงานเก่งกว่านี้ได้อย่างไร จัดการตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร

พ็อดแคสต์ชื่อดังหลายรายการที่ผมฟังก็จะโคจรรอบหัวข้อประมาณนี้

ดูเหมือนมนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือถ้าให้ตรงประเด็นยิ่งกว่านั้นก็คือ ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี

แต่สมการชีวิตที่ “ดี” ก็มีส่วนประกอบสองอย่าง คือความจริงของโลกภายนอก กับความคาดหวังของโลกภายใน

ที่ผ่านมาเราพยายาม “พัฒนา” ความจริงของโลกภายนอก เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น ดูดีขึ้น

แต่ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปเท่าไหร่ ความคาดหวังของโลกภายในมักจะตามทันเสมอ

เพราะในโลกโซเชียลนั้น เรื่องมหัศจรรย์ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา

ในความหมายที่ว่า เรื่องราวของคนระดับ Top 1% หรือแม้กระทั่ง Top 0.01% จะถูกแชร์ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ทั้งที่จริงแล้วมันไม่มีอะไรปกติเลย

เมื่อเห็นคนที่เก่งกว่า รวยกว่า ดูดีกว่า เราก็อาจจะมีปฏิกิริยาหนึ่งในสามอย่างนี้

หนึ่ง คือเราฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ และเราก็ออกไป “วิ่ง” เพื่อไขว่คว้า

สอง คือเรารู้สึกด้อยค่า ว่าทำไมเราถึงยังไม่ดีเท่าเขา

สาม คือปฏิเสธเส้นทางของคนเหล่านั้น อารมณ์หมาจิ้งจอกกับองุ่นเปรี้ยว

แต่มันอาจจะมีทางที่สี่ก็ได้

กลับมาที่สมการนี้

ชีวิตที่ดี = ความเป็นจริงของโลกภายนอก – ความคาดหวังของโลกภายใน

สำหรับคนที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่าเราต้องทำความจริงของโลกภายนอกให้ดีขึ้นก่อน อย่างน้อยให้ถึงจุดที่เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองและคนที่เรารักได้

แต่มีงานวิจัยมากมาย ที่ระบุว่าเมื่อเรามีรายได้ถึงจุดหนึ่ง การมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้นำพามาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันอีกต่อไป

คำถามสำคัญก็คือเรามาถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังหมายถึงมิติอื่นๆ ด้วยเช่นความแข็งแรงหรือความดูดี

เพราะถ้าเราคิดแต่จะ beat yesterday เราก็กำลังหลบตาความจริงที่ว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เมื่อถึงจุดที่โลกภายนอกดีพอแล้ว เราจึงควรกลับมาจัดการโลกภายในให้พอดี

ในการ์ตูนเรื่อง One Piece มีตัวละครหนึ่งเคยพูดเอาไว้ทำนองว่า

“สัญญาณของการเติบโต คือการยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง”

พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผม เคยบอกไว้ว่า

“เราสามารถชื่นชมคนอื่นได้ โดยไม่ต้องอยากเป็นอย่างเขา”

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะสงบศึกกับตัวเอง รู้ตัวว่าเราเหมาะกับอะไร ไม่เหมาะกับอะไร และยอมรับว่าต่อให้เราพยายามกว่านี้ มันก็จะได้ประมาณนี้แหละ

เราก็อาจโล่งอกที่ไม่ต้อง “วิ่ง” ไปตลอด และไม่รู้สึกผิดกับการอยู่เฉยๆ

เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต การพัฒนาตัวเองจะไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับตัวเองครับ

สิ่งสำคัญคือการกลับมาใหม่วันพรุ่งนี้

ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมเริ่มเข้าฟิตเนสและจ้าง personal trainer เพราะอยากเพิ่มความน่าจะเป็นที่ตัวเองจะสะสมกล้ามเนื้อไว้เพียงพอก่อนถึงวัยเกษียณ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability)

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้ คือไม่ว่าจะเป็นตอนยืดเส้น ตอนเล่นเวท หรือตอนคูลดาวน์ เทรนเนอร์จะพูดเสมอว่า “ช้าๆ นะครับ”

ผมเดาว่า สิ่งหนึ่งที่เทรนเนอร์ห่วงที่สุด คือคนที่เรียนด้วยบาดเจ็บ

การที่คนคนหนึ่งบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ไม่ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่สำหรับเทรนเนอร์มันจะทำให้เขาสูญเสียรายได้อีกด้วย (เวลาจ้างเทรนเนอร์ เราจะซื้อแพคเกจเป็นจำนวนครั้ง เช่น 20/30/50 ครั้ง ถ้านักเรียนบาดเจ็บ ก็จะไม่ได้ใช้สิทธิ์ ทำให้การซื้อแพคเกจครั้งต่อไปต้องกระเถิบออกไป หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลยในกรณีที่เจ็บยาว)

สิ่งสำคัญสำหรับเทรนเนอร์ จึงไม่ใช่กล้ามที่ใหญ่ขึ้นในเวลาอันรวดเร็วของนักเรียน แต่คือการที่นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองมีความก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ได้รับบาดเจ็บ จะได้มาฟิตเนสและใช้บริการเทรนเนอร์ได้เรื่อยๆ


ในยุคที่เราเสพโซเชียลมีเดียและเห็นคนอื่นไปได้ไกลและไปได้เร็วกว่าเรา มันก็อาจหล่อหลอมให้เราเป็นคนใจร้อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ถ้าใครเป็นสายวิ่ง ก็อยากจะทำสถิติใหม่ของตัวเอง

ถ้าใครเป็นสายทำ content ก็อยากให้ยอดคนติดตามมากขึ้นโดยไว

ถ้าใครลงทุน ก็อยากให้พอร์ตของตัวเองเติบโตแบบก้าวกระโดด

การเป็นคนคิดใหญ่-ไม่คิดเล็กนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ถ้าเราเป็นคนคิดใหญ่ที่ใจร้อนก็อาจส่งผลเสีย เพราะเราอาจใช้ทางลัด เราอาจทำอะไรเกินตัว หรือเราอาจใช้ความโลภแทนที่จะใช้สตินำทาง

สิ่งหนึ่งที่ Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money เน้นย้ำ ก็คือเราควรวางแผนการเงินของตัวเองให้ “ฆ่าไม่ตาย” – be financially unbreakable.

เราจึงควรมีเงินสดให้เพียงพอ และไม่ทุ่มหมดหน้าตักกับการลงทุนใดลงทุนหนึ่ง เพราะว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ

อะไรก็ตามที่ทำแล้วมีโอกาสเจ๊ง แม้ว่าความน่าจะเป็นจะต่ำแค่ไหน แต่ถ้ามันจะทำให้เราไม่สามารถกลับมาสู่เกมนี้ได้อีกเลย เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงมันให้มากที่สุด


Naval Ravikant นักลงทุนคนแรกๆ ในธุรกิจอย่าง Uber และ Twitter เคยกล่าวไว้ว่า

“All the returns in life, whether in wealth, relationships, or knowledge, come from compound interest.”

ไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุน แต่ทั้งเรื่องความสัมพันธ์และความรู้ ก็ล้วนตั้งอยู่บนผลตอบแทนทบต้นหรือ compound interest

หมายความว่า เราควรมองอะไรให้ไกลๆ และไม่ต้องใจร้อน ผลตอบแทนแต่ละปีอาจไม่ต้องสูงมาก แต่ถ้าเราอยู่กับมันได้นานพอ compound interest จะทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรง และเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีเราก็อาจไปได้ไกลจนตัวเองยังแปลกใจ

เมื่อบวกสองอย่างเข้าด้วยกัน คือหนึ่ง อย่า “บาดเจ็บ” จนต้องออกจากเกม สองคืออยู่ในเกมนั้นให้นานพอเพื่อให้ผลตอบแทนทบต้นทำงาน ก็จะเป็นแนวคิดที่ช่วยนำทางชีวิตเราได้

ถ้าเราออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เราก็ไม่จำเป็นต้องซ้อมหนักอย่างบ้าคลั่ง แต่ซ้อมให้มีความสุขและไม่ฝืนร่างกายตัวเองเกินไป เพื่อที่ว่าเราจะได้อยากกลับมาซ้อมอีกในวันพรุ่งนี้ และเราจะยังมีร่างกายที่สมบูรณ์เพื่อกลับมาซ้อมได้เรื่อยๆ

สำหรับคนทำงาน เราอาจไม่จำเป็นต้องทำงานเป็นบ้าเป็นหลังจนเป็นออฟฟิศซินโดรมและโรคซึมเศร้า แต่เราควรเลือกหัวหน้าที่เราเคารพและอยากทำงานด้วย และเลือกองค์กรที่มีโอกาสเติบโต จากนั้นเราก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และสนุกไปกับมัน เมื่อเราเอ็นจอยงานและทำได้ดีติดต่อกันเป็นเวลานาน ความก้าวหน้าย่อมตามมาเอง

ถ้าเราลงทุน ก็เลือกการลงทุนที่ถูกจริตของเรา ไม่ทำให้เราเครียดจนนอนไม่หลับ และให้แน่ใจว่าถ้าพอร์ตนี้เจ๊งไป ครอบครัวจะไม่เดือดร้อน

ไม่ว่าจะเรื่องงาน การออกกำลังกาย หรือการลงทุน เราไม่จำเป็นต้องเล็งผลเลิศในเดือนนี้หรือปีนี้ แต่ควรเล็งผลที่ดีพอและพอดีในอีก 10 ข้างหน้า

เมื่อนั้นเราจะเป็นคนที่รอได้ เมื่อนั้นเราจะไม่ทำอะไรผิดธรรมชาติ

เพราะสิ่งสำคัญ คือการกลับมาใหม่วันพรุ่งนี้ครับ

ให้คำพูดของเรานั้นศักดิ์สิทธิ์

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนบอกว่าเขาสามารถทำนายอนาคตได้

เขาพูดว่า “เดี๋ยวผมจะไปอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของห้อง” เมื่อพูดจบเขาก็เดินไปที่ฟากหนึ่งของห้อง เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำนายเอาไว้นั้นแม่นยำจริงๆ

ตอนที่อ่านข้อความนี้ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผมก็รู้สึกแปลกๆ ผู้เขียนไม่ได้ทำนายอนาคตได้เสียหน่อย เขาก็แค่พูดในสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แล้วก็ทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเหลวไหลเรื่องนี้ก็ยังกลับมาให้ผมขบคิดอยู่บ่อยๆ

(อะไรที่ผ่านไปนานแล้วแต่เรายังนึกถึงมันอยู่ แสดงว่ามันน่าจะมีประโยชน์อะไรบางอย่าง เพราะโดยปกติแล้วสมองคนเรานั้นโยนทิ้งข้อมูลเก่งกว่านักจัดบ้านแบบ KonMari เสียอีก อะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ spark joy เราก็จะลืมมันไปอย่างง่ายดาย อังคารที่แล้วกินอะไรเป็นข้าวเที่ยงผมยังจำไม่ได้เลย)

ผมว่าบทเรียนลึกๆ ของการ “ทำนายอนาคตอันแสนสั้น” ก็คือเราสามารถทำในสิ่งที่เราลั่นวาจาเอาไว้ได้

แน่นอนว่าโอกาสในการทำสิ่งที่เราเอ่ยไว้ให้สำเร็จนั้นก็มีสูงต่ำต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราพูดออกมานั้นทำได้ยากแค่ไหนและต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง

ถ้าการทำนายว่า “ผมจะไปอยู่อีกฟากหนึ่งของห้องใน 10 วินาที” นั้นมีโอกาสถูกต้อง 100%

และการทำนายว่า “ผมจะมีเงินเก็บ 100 ล้านภายใน 10 ปี” มีโอกาสถูกต้อง 1%

การทำนายว่า “น้ำหนักผมจะลดลง 1 กิโลภายใน 1 เดือน” นั้นมีโอกาสถูกต้อง 80% เพราะว่ามันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

เราจึงควรฝึก “ทำนาย” เรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างน้อย 80% แล้วตั้งใจทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ

ปีใหม่นี้หลายคนตั้งปณิธานว่าจะอ่านหนังสือให้มากขึ้น จะออกกำลังกายให้มากขึ้น จะเล่นโซเชียลให้น้อยลง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเรามีโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้เกิน 80% แน่ๆ เพราะมันอยู่ในความควบคุมของเราเกือบทั้งหมด

แต่ถ้าเราตั้งใจเอาไว้ แล้วเรากลับไม่ได้ทำ (ซึ่งต่างจากการทำไม่ได้) การผิดคำพูดนี้จะกลับมาทำร้ายตัวเองตรงที่มันอาจทำให้เราเชื่อถือตัวเองน้อยลง

เมื่อพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และควรทำได้ แต่เรากลับไม่ทำ คำพูดของเราก็จะศักดิ์สิทธิ์น้อยลงเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งคนก็จะเลิกให้น้ำหนักกับคำพูดของเรา

และคงเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้าไม่มีใครเชื่อใจในคำพูดของเราแม้แต่ตัวเราเอง

ในมุมกลับกัน ถ้าเราพูดในสิ่งที่เราทำได้ และเราก็ทำให้มันเกิดขึ้นจริง เราจะเริ่มเชื่อใจตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

จากเชื่อใจจะกลายเป็นเชื่อมั่น จากเชื่อมั่นจะกลายเป็นศรัทธา

ถ้าเราเชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะมีทรัพย์สมบัติอะไรที่มีค่าไปกว่าการมีศรัทธาในตัวเอง

เมื่อมองไปยังคนที่เขาคิดใหญ่ ฝันใหญ่ และลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือศรัทธาที่เต็มเปี่ยมทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เพราะเขาได้พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายและเอ่ยวาจาเอาไว้นั้นมันเกิดขึ้นจริง

เรายังไม่ต้องฝันใหญ่เบอร์นั้นก็ได้ เพราะจะกดดันตัวเองเกินตัว

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เรื่องที่ถ้าได้ลงมือทำแล้วโอกาสสำเร็จนั้นเกือบ 100% ก่อน

พูดในสิ่งที่เราทำได้ แล้วก็ลงมือทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการเดินไปฟากหนึ่งของห้อง จากนั้นค่อยขยับไปทำเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะพูดอะไรออกมาว่าจะทำ ก็จงลงมือทำอย่างตั้งใจ จนกว่าสิ่งนั้นจะเห็นผล

หากทำได้บ่อยๆ คำพูดของเราจะมีความศักดิ์สิทธิ์ครับ

จุดอ่อนของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เมื่อเช้านี้แฟนเรียกผมให้ไปดู “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัย 6 ขวบในห้องทำงานของแฟน

ใกล้รุ่งนั่งกอดเข่าขดตัวอยู่ใต้โคมไฟที่ตั้งอยู่มุมห้อง ฝั่งหนึ่งถูกปิดด้วยโซฟา อีกฝั่งถูกปิดด้วยโต๊ะทำงาน ผมงงนิดหน่อยว่าใกล้รุ่งเข้าไปนั่งตรงนั้นได้ยังไง

ผมไม่แน่ใจว่าใกล้รุ่งงอนเรื่องอะไร เดาว่าอาจจะทะเลาะกับพี่สาวที่ห่างกันสองปี แต่พอคุยหยอกด้วยซักครู่ใกล้รุ่งก็อารมณ์ดีขึ้น เลิกกอดเข่า แล้วคลานออกมาจากมุมห้อง ผ่านโคมไฟและใต้โต๊ะ

อ๋อ เข้าไปตรงนั้นด้วยการมุดโต๊ะนี่เอง

แล้วผมก็พลันตระหนักได้ว่า ใกล้รุ่งน่าจะเป็นคนเดียวในบ้านที่ยังทำแบบนั้นได้เพราะตัวยังเล็กพอที่จะมุดโต๊ะแล้วแทรกตัวเข้าไประหว่างโซฟากับกำแพงห้องที่เว้นที่ว่างไว้เพียงให้วางโคมไฟตั้งพื้นได้

ปีหน้าน่าจะตัวใหญ่เกินที่จะมุดเข้าไปอย่างนั้นแล้ว


หลายคนน่าจะเคยได้ยินการทดลอง Marshmellow Test เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่นำเด็กวัย 3 ขวบครึ่งถึง 5 ขวบครึ่งมานั่งอยู่ในห้องคนเดียว ตรงหน้ามีขนมมาร์ชเมลโล่ โดยเลือกได้ว่าจะกินมันทันที หรือถ้ายอมอดทนรอ 15 นาที พี่ๆ นักวิจัยก็จะเอามาร์ชเมลโล่มาเพิ่มให้อีก 1 ชิ้น

จากการทดลองพบว่า มีเด็กๆ 1 ใน 3 ที่รอจนครบ 15 นาที หลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี นักวิจัยก็กลับมาติดตามผลของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วก็พบว่าเด็กที่อดทนรอได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รับมือกับความเครียดได้ดี และสอบได้คะแนน SAT ได้สูงกว่าเด็กอีกกลุ่มที่รอไม่ได้

ผลสรุปของการทดลองนี้ก็คือ คนที่มี willpower และสามารถ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ delayed gratification นั้นมีโอกาสที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า


สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ How-to หนังสือการลงทุน หนังสือวางแผนการเงิน เกือบทุกเล่มก็จะเน้นย้ำความสำคัญของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เราควรทำงาน Q2 คือสิ่งทำสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้

เราลงทุนในวันนี้ เพื่อจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณ

เราควรออกกำลังในวันนี้ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า

เราควรสรรหาความรู้ เข้าสัมมนา เพื่อเป็นการ “ลงทุนกับตัวเอง” เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเราในอนาคต

ผมเองก็เชื่อแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะมันก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นได้จริงๆ ทำงานอย่างขยัน ใช้เงินอย่างประหยัด เป็นคนวินัยเพื่อจะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า


หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผมยกให้หนังสือ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022 ก็เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเห็นจุดอ่อนของ Q2 และทำให้ผมเขียนบทความชื่อ “5 กับดักของคน Productive

โดยกับดักข้อที่ 5 ผมเขียนเอาไว้ว่า “วันนี้จะถูกใช้เพื่อวันข้างหน้าเรื่อยไป”

เมื่อเราอยาก “ใช้เวลาให้คุ้มค่า” เราจะมองทุกอย่างด้วยสายตาของนักลงทุน เราจะทำอะไรบางอย่างในตอนนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างในอนาคตเสมอ

เราออกไปวิ่ง เพื่อจะทำเวลาได้ดีในการแข่งขัน

เราอ่านหนังสือ เพื่อจะได้เอาไปเขียนบล็อกหรือเล่าในพอดแคสต์

เราพักผ่อน เพื่อที่เราจะได้มีแรงกลับไปทำงานอย่างเต็มที่

เราแทบไม่เคยจะวิ่งเพื่อวิ่ง อ่านหนังสือเพื่ออ่านหนังสือ หรือพักผ่อนเพื่อพักผ่อนเลย

เพราะมันคือการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน มันคือการยอมแลก “วันนี้” เพื่อ “วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ซึ่งเราทำแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบจนสิ้นอายุขัย

แต่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า วันที่เราจะมีเงินเก็บมากพอ วันที่ to-do list เราจะเป็นศูนย์ วันที่เราจะรู้สึกว่า “เอาอยู่” แล้วและพร้อมที่จะเริ่มใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากให้เป็นจริงๆ นั้นมันไม่เคยมาถึง และอาจไม่มีวันมาถึง

ดังนั้นให้ระวังตรงนี้ให้มาก ถอดแว่นตาของนักลงทุนออกเสียบ้าง ไม่ต้องทำอะไรเพื่อวันพรุ่งนี้ไปเสียทุกอย่าง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราเหลือวันพรุ่งนี้อีกกี่วัน


คนที่ใช้ชีวิตด้วยการมี delayed gratification มาจนชิน มักจะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุขในวันนี้ เพราะต้องการสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

แต่เรามักจะลืมไปว่า ประสบการณ์บางอย่าง หรือเรื่องบางเรื่องนั้นมันไม่สามารถผัดผ่อนไปได้ตลอด

การจะมีประสบการณ์บางอย่างนั้นต้องใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือเงิน เวลา และสุขภาพ

ยกตัวอย่างที่สุดโต่งหน่อยเช่นการเล่นสกี

สำหรับคนไทย สกีฟังดูเป็นกีฬาที่ไกลตัวไปหน่อย แต่ผมโชคดีที่ช่วงมัธยมปลายได้ไปเรียนนิวซีแลนด์อยู่ 3 ปี และได้ไปเล่นสกี 3 ครั้ง เหตุผลที่ไม่ได้ไปมากกว่านี้เพราะไม่มีเงิน และหลังจากกลับจากนิวซีแลนด์ในปี 1997 ผมก็ไม่เคยได้เล่นสกีอีกเลย แม้ช่วงที่ทำงานใหม่ๆ จะมีโอกาสไปจอยทริปสกีแต่ก็ตัดสินใจไม่ไปเพราะเสียดายเงิน ขอเก็บตังค์ก่อนดีกว่า (delayed gratification!)

วันนี้ผมมีเงินเก็บมากพอที่จะไปทริปสกีได้ แต่อาการเจ็บเข่าเรื้อรังที่ผมได้จากการเตะบอลเมื่อ 10 ปีที่แล้วทำให้ผมไม่มั่นใจว่าจะเล่นสกีได้อีกต่อไป

ประสบการณ์บางอย่างถ้าเราผัดผ่อนมันไป เราอาจจะพลาดโอกาสนั้นไปตลอดชีวิต ต่อให้มีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อมันไม่ได้แล้วเพราะร่างกายไม่เอื้ออำนวย


นอกจากสามปัจจัยอย่างเงิน เวลา และสุขภาพแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือคนในครอบครัวของเรา

ในวันที่มีเงินเก็บมากมาย แต่ถ้าคนสำคัญของเราเขาไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว เราก็ไม่อาจจะซื้อประสบการณ์นั้นได้อีก ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็ตาม

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ ผมจะพูดเสมอว่า อย่านับว่าพ่อแม่จะอยู่กับเราอีกกี่ปี แต่ให้นับว่าเราจะมีโอกาสได้กินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกกี่หน

เมื่อพูดถึงพ่อแม่ จะไม่พูดถึงลูกก็ไม่ได้

วัยสี่สิบกว่า เป็นช่วงเวลาที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน หลายคนได้เป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร และเรามักจะให้ความสำคัญกับงานจนบางทีก็รู้สึกรำคาญเวลาที่ลูกมาก่อกวนสมาธิ (แล้วค่อยมารู้สึกตัวและรู้สึกผิดทีหลัง)

ที่อาจทำให้เรารู้สึกผิดไปกว่านั้น คือเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ (เช่นตอนที่ผมเขียนบทความนี้เป็นต้น!) เราก็ยังเอาเวลามาหารายได้เสริมหรือสร้างอนาคต แล้วทำให้เราเสียโอกาสที่จะใช้เวลากับลูกไปอีกเช่นกัน

อาจเพราะงานมีเส้นตาย แต่ลูกของเราอยู่ตรงนี้แบบไม่มีเส้นตาย แต่ขอให้อย่าลืมว่าลูกของเราจะอายุ 6 ขวบอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เมื่อเขาโตไปกว่านี้ เขาก็จะห่างอ้อมอกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการใช้เวลากับลูกในวันที่เขายังต้องการเราที่สุดนั้นก็มีเวลาจำกัดเช่นกัน


เรื่องของ Marshmellow test ยังไม่จบ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ของ Tyler Watts, Greg Duncan และ Haonan Quan ได้นำการทดลองนี้มาปัดฝุ่นใหม่ เพราะงานวิจัยเก่านั้นทำกับกลุ่มเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ต่างกันมากนัก

ในการทดลองครั้งใหม่ Watts และเพื่อนๆ ทำการทดลองนี้อีกครั้งกับเด็กถึง 900 คน และเมคชัวร์ว่าเด็กๆ เหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย รวมถึงเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนักด้วย

ผลที่ได้จากการทดลองก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับ willpower แต่เกี่ยวกับ money

เด็กที่ฐานะยากจนกว่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะกินมาร์ชเมลโล่ทันที เพราะประสบการณ์สอนให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน และคำพูดของผู้ใหญ่บางคนนั้นเชื่อถือไม่ได้

ในขณะที่สำหรับเด็กที่มีฐานะดีกว่านั้นมันตรงกันข้าม เพราะเขาคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ที่บ้านของเด็กเหล่านี้อาหารไม่เคยขาดแคลน และผู้ใหญ่ก็เป็นคนรักษาคำพูด ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถอดใจรอ 15 นาทีเพื่อจะได้มาร์ชเมลโล่ว์ชิ้นที่สอง

Delayed gratification นั้นยังมีประโยชน์อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี


สำหรับใครที่ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้มานาน ผมว่าเราควรกลับมาใส่ใจการใช้ชีวิตในวันนี้ให้มากขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องรอให้เราสำเร็จทุกอย่างก่อนจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

สำหรับคนที่ชีวิตเดินมาเกินครึ่งทาง การเลือกกินมาร์ชเมลโล่แค่ชิ้นเดียวในวันนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรอไปอีกสิบหรือยี่สิบปีเพื่อโอกาสจะได้มาร์ชเมลโล่ชิ้นที่สอง

เพราะถึงตอนนั้นเราอาจกินมาร์ชเมลโล่ไม่ไหว หรือคนที่เราอยากกินมาร์ชเมโล่ด้วยเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้วครับ