จุดอ่อนของ Marshmallow Test

หลายคนคงเคยได้ยินการทดสอบจิตใจด้วยมาร์ชเมลโล่ ที่ทำขึ้นในปี 1972 โดยนักจิตวิทยานาม Watler Mischel และทีมงานแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

การทดลองก็ง่ายๆ คือให้เด็กรุ่นเตรียมอนุบาลนั่งอยู่ตามลำพังกับขนมมาร์ชเมลโล่ โดยเลือกได้ว่าจะกินมันทันที หรือถ้ายอมอดทนรอ 15 นาที พี่ๆ นักทดลองก็จะเอามาร์ชเมลโล่มาเพิ่มให้อีก 1 ชิ้น

จากการทดลองพบว่า มีเด็กๆ 1 ใน 3 ที่รอจนครบ 15 นาที หลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี Mischel ก็กลับมาติดตามผลของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วก็พบว่าเด็กที่อดทนรอได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รับมือกับความเครียดได้ดี และสอบได้คะแนน SAT ได้สูงกว่าเด็กอีกกลุ่มที่รอไม่ได้

ข้อสรุปของ Marshmellow Test ก็คือ คนที่มี willpower และสามารถ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” (delayed gratification) จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

งานวิจัยนี้โด่งดังและถูกนำมาเล่าขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่วันนี้อยากมาเล่าอีกมุมหนึ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนครับ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ของ Tyler Watts, Greg Duncan และ Haonan Quan ระบุว่างานวิจัยของ Mischel นั้นทดลองกับเด็กเนอสเซอรี่เพียง 90 คนเท่านั้น และทุกคนล้วนมาจากโรงเรียน Bing ที่อยู่ในแคมปัสของสแตนฟอร์ด

ในการทดลองครั้งใหม่ Watts และเพื่อนๆ จึงได้ทำการทดลองนี้อีกครั้งกับเด็ก 900 คน และเมคชัวร์ว่าเด็กๆ เหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย รวมถึงเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนักด้วย

ผลที่ได้จากการทดลองก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับ willpower แต่เกี่ยวกับ money

เด็กที่ฐานะยากจนกว่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะกินมาร์ชเมลโล่ทันที เพราะประสบการณ์สอนให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน และคำสัญญาของผู้ใหญ่บางคนนั้นเชื่อถือไม่ได้

ในขณะที่สำหรับเด็กที่มีฐานะดีกว่านั้นมันตรงกันข้าม เพราะเขาคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ที่บ้านของเด็กเหล่านี้อาหารไม่เคยขาดแคลน และผู้ใหญ่ก็เป็นคนรักษาคำพูด

ในการทดลองของ Watts จึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าอยากให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จ การสอนเขาเรื่องอดเปรี้ยวไว้กินหวานอาจไม่สำคัญเท่ากับการดูแลให้พวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ What’s Your Problem by Thomas Wedell-Wedellsborg