แก้วมันแตกอยู่แล้ว

ผมอ่านเจอย่อหน้าหนึ่งในหนังสือ Master of Change ของ Brad Stulberg ซึ่งผมรู้สึกว่างดงามมาก จึงอยากนำมาแปลไว้ตรงนี้ครับ


There is a story of a wise Thai Forest elder named Achaan Chaa who held up his favorite glass in front of his students and said, “You see this goblet? For me this glass is already broken. I enjoy it; I drink out of it. It holds my water admirably, sometimes even reflecting the sun in beautiful patterns. If I should tap it, it has a lovely ring to it.

But when I put this glass on the shelf and the wind knocks it over or my elbow brushes it off the table and it falls to the ground and shatters, I say, ‘Of course.’

When I understand that the glass is already broken, every moment with it is precious.”

มีเรื่องเล่าของปราชญ์ผู้เฒ่าป่าชาวไทยนามอาจารย์ชา

ท่านยกแก้วใบโปรดขึ้นมาต่อหน้าลูกศิษย์แล้วกล่าวว่า

“เห็นแก้วใบนี้ไหม สำหรับเรา แก้วใบนี้มันแตกอยู่แล้ว เราเพลิดเพลินไปกับมัน เราดื่มน้ำจากแก้วใบนี้ มันเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี บางทีก็สะท้อนแสงแวววับจับตา ถ้าเราดีดแก้วเบาๆ มันก็ส่งเสียงเสนาะหู

แต่ถ้าเราวางมันไว้บนชั้น แล้วลมพัดมันตกลงมา หรือถ้าเราวางมันไว้บนโต๊ะแล้วข้อศอกของเราไปโดนจนมันตกพื้นแตกละเอียด เราย่อมพูดว่า ‘ก็แหงอยู่แล้ว’

เมื่อเราเข้าใจว่าแก้วมันแตกอยู่แล้ว ทุกชั่วขณะที่เราได้อยู่กับแก้วใบนี้ย่อมมีความหมาย”


Brad Stulberg ผู้เขียนหนังสือเรียกผู้เล่าเรื่องว่า a wise Thai Forest elder named Achaan Chaa ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ปราชญ์ผู้เฒ่าป่าที่ไหน แต่คือหลวงปู่ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง ที่มี “พระอินเตอร์” จากอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ จนคำสอนของท่านได้รับการบอกเล่า (และอาจเพี้ยนไป) ในหลายภาษานั่นเอง

ผมลองกูเกิ้ลหาเรื่องแก้วแตกของหลวงปู่ชาในภาษาไทยก็เจออยู่บ้าง แต่ผมยังชอบเวอร์ชั่นนี้มากที่สุดอยู่ดี

การเข้าใจว่า the glass is already broken มันเตือนให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี ไม่เห็นอะไรเป็นของตาย (to not take things for granted) และไม่เสียใจในวันที่เราจะต้องเสียแก้วไปซึ่งย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่ออยู่กับคนที่เรารัก ขอให้ตระหนักว่าแก้วมันแตกอยู่แล้วครับ

ปรับชีวิตให้เข้ากับร่างกาย

นิ้วกลม: หลวงพี่รู้สึกว่าตัวเองแก่ตอนไหนครับ?

พระไพศาล: เริ่มรู้ตัวประมาณสี่สิบกว่า แต่ว่าอาการมันยังไม่ชัดจนกระทั่งเริ่มหกสิบ ตอนนี้เรี่ยวแรงก็เริ่มน้อยลง หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยทำได้ มันทำไม่ได้หรือทำได้น้อยลง อย่างการอดหลับอดนอน หรือทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ หรือแม้กระทั่งสิ่งง่ายๆ อย่างการหลับการนอน แต่ก่อนเป็นเรื่องง่ายมาก แต่พออายุมาก เราพบว่าสิ่งง่ายๆ มันเริ่มทำได้ยาก มันทำให้เราพบว่าร่างกายมันไม่เหมือนเดิม ตาที่ฝ้าฟาง หูที่เริ่มตึง กล้ามเนื้อที่มันไม่ค่อยมีกำลังวังชาเหมือนเมื่อก่อน

นิ้วกลม: มันชวนให้หงุดหงิดใจมั้ยครับ?

พระไพศาล: มันไม่ถึงกับหงุดหงิดนะ มันรู้สึกว่า เอ๊ะทำไมมันทำไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน แต่พอเราเริ่มยอมรับมันได้ มันก็ไม่ทุกข์แล้ว คือเราต้องปรับชีวิตให้เข้ากับร่างกาย แต่ก่อนเราปรับร่างกายของเราให้เข้ากับชีวิตที่เราปรารถนาใช่มั้ย? ร่างกายต้องทำงานหนัก บางทีต้องยอมเดินฝ่าแดดฝ่าฝนในการธุดงค์ เพราะนี่คือชีวิตที่เราปรารถนา ต้องปรับ-ต้องฝึกร่างกายเพื่อให้ตอบสนองชีวิตที่พึงประสงค์ แต่ตอนนี้เราต้องรู้จักปรับชีวิตให้เข้ากับร่างกายเสียแล้ว ถ้าเรายอมรับมันก็ไม่ทุกข์นะ เราก็แค่ปรับใจของเราแค่นั้นเอง

พระไพศาล วิสาโล | THE LESSONS บทเรียนชีวิต

อันตรายอย่างหนึ่งของวัยกลางคน คือความเชื่อ – หรือความอยากเชื่อ – ว่าเรายังเหมือนเดิม

สิ่งใดที่เราเคยทำในวัยยี่สิบกว่าๆ เราก็ยังทำอยู่ในวันที่วัยขึ้นเลขสี่

การทำงานหนัก การอดหลับอดนอน การดื่มเหล้า การสั่งพิเศษสองชาม

เมื่อก่อนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ดื่มเหล้าถึงตีสองก็ยังตื่นไปทำงานได้ เพราะร่างกายพร้อมตอบสนองชีวิตที่เราปรารถนา

วันนี้ร่างกายเราเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราไม่อยากยอมรับ เพราะ “ข้างใน” ยังไม่ได้รู้สึกแก่ขนาดนั้น

หนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่สำคัญที่สุดในหนังสือ Four Thousand Weeks คือ “ความจำกัดของชีวิต” (finitude) ว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ว่าเราไม่สามารถอยู่ได้ทุกที่ ว่าเรา “คือ” เวลาแค่สี่พันสัปดาห์

ถ้าไม่ยอมสบตากับความจริงข้อนี้ เราจะหลอกตัวเองว่าเราไม่มีข้อจำกัด เรายังสามารถบรรลุทุกความฝันและยังสามารถทำทุกอย่างที่เราอยากทำได้

แต่ในวันที่ชีวิตเดินมาถึงครึ่งทาง หากเราไม่ละเลยที่จะฟังร่างกายของตนเอง เราจะรู้ตัวว่าร่างกายมันไม่เหมือนเดิม และถ้ายอมรับมันได้ เราก็จะไม่ทุกข์ใจ เราจะกลับมามองว่าอะไรคือสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับชีวิตในเฟสนี้

เราไม่ได้จะล้มเลิกความฝันหรือความต้องการทุกอย่าง เพียงแต่เราจะมีสติมากขึ้นในการคัดกรองและคัดสรรว่าอะไรที่ควรทำ และอะไรที่ไม่ควรทำอีกต่อไป

ในวัยหนุ่มสาว เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะปรับร่างกายให้เข้ากับชีวิต

แต่ในวัยกลางคนเป็นต้นไป เราควรปรับชีวิตให้เข้ากับร่างกายครับ

มีลูกเล็กแล้วบ้านเลอะเทอะไม่ใช่ Bug แต่เป็น Feature

เมื่อสองคืนที่แล้ว “ปรายฝน” ลูกสาววัย 8 นึกครึ้มอกครึ้มใจ ย้ายโต๊ะทำการบ้านของตัวเองที่ปกติจะวางอยู่ในห้องทำงานของผมไปไว้ในห้องนอน แล้ว “สร้างบ้าน” ด้วยการคลุมผ้าห่มและวางหมอนรอบๆ

ของที่เคยวางอยู่บนโต๊ะปรายฝนก็เลยกระจัดกระจายอยู่เต็มห้องทำงานของผม จะเก็บกวาดก็ยังไม่มีจังหวะ เลยปล่อยให้ดูไม่เป็นที่เป็นทางอยู่อย่างนั้น

ช่วงแรกก็หงุดหงิดเล็กน้อยที่ห้องทำงานตัวเองไม่เรีบบร้อย

แต่แล้วก็คิดขึ้นได้ว่าการที่ลูกทำบ้านเลอะเทอะมันไม่ใช่ bug แต่เป็น feature!

เพราะการที่เขาเอาโต๊ะไปสร้างเป็นบ้าน แสดงว่าเขามีจินตนาการและกำลังสนุกสนานกับการลองนู่นลองนี่

ถ้าเขาไม่ลองอะไรเลย อยู่ในกรอบที่เราวางไว้ตลอด นั่นต่างหากที่น่าเป็นห่วง

แน่นอนว่าการเล่นของแล้วเก็บเข้าที่ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องช่วยปลูกฝังกันต่อไปไป แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องระวังที่จะไม่ไปเรียกร้องให้เขาเรียบร้อยจนเกินเด็ก หรือห้ามเขาไปเสียทุกอย่างเพียงเพราะกลัวว่าบ้านจะไม่เรียบร้อย

แล้วผมก็คิดได้อีกว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เรามักเผลอคิดว่าเป็น bug แต่จริงๆ แล้วเป็น feature

เช่นการทะเลาะกับแฟนไม่ใช่ bug แต่เป็น feature ในทุกความสัมพันธ์

การที่เรากับแฟนเห็นไม่ตรงกันแล้วเถียงหรือทะเลาะกัน แน่นอนว่าไม่มีใครชอบ แต่การทะเลาะกันเป็นครั้งคราวคือโอกาสในการเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน

ความเสี่ยงและความผันผวนในการลงทุนก็ไม่ใช่ bug แต่เป็น feature เช่นกัน เหมือนที่ Morgan Housel เขียนไว้ใน The Psychology of Money ว่าความผันผวนในตลาดคือ fee (ค่าธรรมเนียม) ไม่ใช่ fine (ค่าปรับ)

ความผันผวนคือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมเงินเอาไว้เฉยๆ

เราไม่ชอบความเจ็บปวด เราไม่ชอบความทุกข์กายหรือทุกข์ใจ แต่ความเจ็บปวด ก็ไม่ใช่ bug แต่เป็น feature เช่นกัน เพราะกายและใจรู้จักเจ็บรู้จักปวด เราถึงรู้ตัวถึงอันตรายก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้

ลองสังเกตสิ่งรอบตัวที่เราไม่ชอบใจ ที่เราคิดว่าไม่มีมันเสียได้ก็ดี แล้วเราอาจพบว่ามันไม่ใช่ bug แต่เป็น feature

แล้วเราอาจรับมือกับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลางกว่าเดิมครับ

คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์-ลงนรกที่ถูกจริตผมมากที่สุด

เราเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำชั่วก็จะตกนรก

ภาพเก่าที่เราจำติดตาคือมีพญายมราชคอยพิพากษาว่าคนคนนี้ควรจะได้ไปที่ไหน

“พญายมราช มีบริวารที่คนไทยรู้จักดี ได้แก่ พระกาฬไชยศรี เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ซึ่งมีรูปปั้นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เก็บดวงวิญญาณต่าง ๆ บ้านไหนที่จะมีคนตาย พระองค์จะทรงใช้นกแสกบ้าง นกเค้าแมวบ้าง ไปเกาะหลังคา ร้องเตือนให้ทราบล่วงหน้า หรือบันดาลนิมิตดีร้าย หากผู้นั้นมีปัญญาจะได้รีบขวนขวายทำบุญ ก่อนจะหมดโอกาสในโลก ส่วนในขณะทรงทำหน้าที่พิพากษา ท่านจะมีผู้ช่วยบันทึกกรรมของแต่ละดวงวิญญาณ ได้แก่ สุวัณ ผู้จดการกระทำความดีใส่สมุดทองคำ และ สุวาณ ผู้จดการกระทำชั่วใส่สมุดหนังหมา”*

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าทุกคนที่ตายไปต้องมาผ่านพญายมราชเท่านั้น คิวคงจะยาวน่าดู อาจจะดีกว่าถ้าโลกหลังความตายมี super computer และ AI ที่คอยประมวลผลความดี-ความชั่วทั้งหมดที่เราสั่งสมมา แล้วตัดสินว่าเราควรจะไปไหนในภพภูมิทั้ง 31 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมามัวเปิดสมุดทองคำหรือบัญชีหนังหมากันอยู่

แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเพียงความเชื่อและไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มันอาจจะเป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้นเพื่อให้คนหมั่นทำความดีและละเว้นความชั่วเท่านั้นเอง

แต่คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์หรือลงนรกที่ผมเคยอ่านแล้วถูกจริตผมมากที่สุด มาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อมาจากศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์โกเอ็นก้า

เมื่อเราทำความดี จิตใจของเราก็จะสว่างและเบาสบาย

เมื่อเราทำความชั่ว จิตใจเราก็จะมืดๆ และหนักๆ

ดังนั้น “ธรรมชาติจิต” ของคนทำดีเป็นประจำกับคนที่ทำชั่วเป็นนิจย่อมแตกต่างกัน

เมื่อเราสิ้นอายุขัย จิตดวงเดิมดับ เกิดจิตดวงใหม่มันก็ย่อมไป “จับ” ภพภูมิที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของจิตนั้น

ตอนเด็กๆ เราเคยทำการทดลอง ที่เอาน้ำกับน้ำมันมาผสมกัน สุดท้ายมันก็จะแยกเป็นคนละชั้นอยู่ดี น้ำย่อมไปอยู่กับน้ำ น้ำมันก็จะไหลไปอยู่กับน้ำมัน

จิตของเราก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มันจะไหลไปอยู่ในชั้นที่เหมาะสมกับตัวเอง

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีทั้งพญายมราช ไม่ต้องมีการจดบัญชีหนังหมา และไม่ต้องมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองโดยไม่ต้องมีใครมาตัดสินครับ


ขอบคุณข้อมูลพญายมราชจาก ไทยนิวส์: ทำความรู้จักกับ พญายมราช พญามัจจุราช เทพเจ้าแห่งนรกและความตาย

อ่านนิทาน-ตักข้าว-ล้างมือ

วันนี้มีสามเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระมาเล่าให้ฟังครับ

เรื่องที่ 1

เกือบทุกคืน ผมจะเป็นคนอ่านนิทานให้ปรายฝน (6 ขวบ) กับใกล้รุ่ง (4 ขวบ) ฟังก่อนนอน

ซึ่ง 5 นาทีแรกที่เริ่มอ่านนิทาน เด็กๆ ยังไม่ง่วง จึงไม่ค่อยมีสมาธิฟังนิทานเท่าไหร่ จะออกแนวชวนคุยมากกว่า

เมื่อคืนวันจันทร์ พอผมเริ่มอ่านนิทานเรื่องแรก ปรายฝนก็เริ่มชวนคุย

“แด๊ดดี้ ปรายฝนคิดตลอดเวลาเลย หยุดคิดไม่ได้”

ผมนึกครึ้มอกครึ้มใจ เลยตอบไปว่า

“เพราะความคิดมันเป็นอนัตตาไงลูก”

“ที่เป็นเพื่อนกับโดราเอมอนเหรอ”

“อันนั้นมันโนบิตะ อันนี้คืออนัตตา”

“แล้วอนัตตาคืออะไร”

“คือควบคุมไม่ได้ เหมือนมันชีวิตของมันเอง”

ปรายฝนหยุดไปครู่หนึ่ง ผมเลยเริ่มอ่านนิทานต่อ สักแป๊บปรายฝนก็โพล่งขึ้นมาว่า

“ปรายฝนหยุดคิดได้แล้วๆ”

“เห็นมั้ย เวลาจะหยุดมันก็หยุดของมันเองเหมือนกัน”

พอผมพูดเสร็จปรายฝนก็เงียบ และตั้งใจฟังนิทานจนหลับไป


เรื่องที่ 2

นี่เป็นเรื่องที่สังเกตมานานแล้วเวลาไปทานข้าวที่ร้านอาหาร

เวลาไปกินกันเป็นหมู่คณะแบบ 6 คนขึ้นไป มักจะมีสมาชิกคนหนึ่งที่มี service mind อาสาตักข้าวให้ทุกคน โดยจะไปยืนที่โถข้าว แล้วเริ่มตักข้าวใส่จานคนที่อยู่ใกล้สุดก่อน จากนั้นจึงให้คนอื่นส่งจานข้าวของตัวเองมา แล้วเขาก็จะตักให้แล้วส่งกลับไป

หรือกับแกงจืด/ต้มยำที่อยากตักใส่ถ้วยเล็กก็ใช้วิธีเดียวกัน คือส่งถ้วยของตัวเองมา ให้ตักใส่ถ้วย แล้วส่งกลับ

ผมรู้สึกว่า “การยึดถือเป็นของเรา” นี่มันเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน

จานใบนี้ ถ้วยใบนี้ วางอยู่บนโต๊ะของมันดีๆ พอเรามานั่งอยู่ตรงนั้น เราก็รู้สึกว่ามันเป็นจานของเรา เป็นถ้วยของเราทันที

เราจึงต้องส่ง จานของเรา/ถ้วยของเรา ไปให้เขาตักข้าวตักแกงให้ แล้วส่งกลับมาที่เราคนเดียว

ในชีวิตประจำวัน ผมเลยพยายามเตือนตัวเองเรื่องนี้

ตอนเช้า ในวันที่แม่บ้านทำข้าวให้กิน ผมกับแฟนจะทานข้าวด้วยกันสองคน

ผมจะตักข้าวใส่จานที่วางอยู่ตรงหน้าผม แล้วยื่นจานนั้นให้แฟน (lady first!) แล้วค่อยหยิบจานที่วางอยู่ตรงหน้าแฟนมาตักข้าวเพื่อเป็นจานของผม

อาจฟังดูยุ่งยากวุ่นวายแปลกๆ แต่หากเราระลึกได้ว่า จานข้าวนี้ยังไม่ใช่จานของเราซักหน่อย เราก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น


เรื่องที่ 3

สองปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีดกัน เราจะถูกสอนว่าควรล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 30 วินาที

ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ใช้เวลานานกว่าปกติเหมือนกัน ธรรมดาเราล้างแค่ 10 วินาทีเท่านั้นแหละ ทริคที่ได้ยินเขาบอกมาคือให้ล้างไปและร้องเพลงช้าง พอร้องจบจะครบ 30 วินาทีพอดี

แต่จะให้ร้องเพลงช้างในใจทุกครั้งก็เขินตัวเอง ผมเลยจะใช้วิธีถูมือไปมาให้ครบ 30 ครั้ง แล้วค่อยๆ ถูนิ้วทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว ก็จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที

พอระยะหลัง ฉีดวัคซีนแล้ว การ์ดเริ่มตก ระยะเวลาในการล้างมือก็หดสั้นลงเรื่อยๆ

เมื่อวันอังคาร ผมเพิ่งเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ พอประชุมเสร็จตอนห้าโมงก็รีบออกจากออฟฟิศเพื่อจะได้เลี่ยงรถติด เมื่อกลับถึงบ้าน ก็เข้าห้องน้ำล้างมือตามความเคยชิน

ผมถูสบู่และล้างน้ำอย่างรวดเร็ว พอจะก้าวเท้าออกจากห้องน้ำ ก็เกิดบทสนทนานี้ขึ้น

“เฮ้ย เมื่อกี้ยังล้างไม่ถึง 30 วิเลยนะ”

“ไม่เห็นเป็นไรเลย สะอาดพอแล้วแหละ(มั้ง)”

“ต้องรีบไปทำอะไรเหรอ”

“…จริงๆ ก็ไม่ได้ต้องรีบไปไหน”

“แล้วเวลา 30 วินาที จะมีให้ตัวเองไม่ได้เลยหรือไง”

“โอเค ก็ได้ๆ”

ผมเลยเดินกลับไปที่อ่างล้างหน้าอีกครั้ง รู้สึกตลกตัวเองหน่อยๆ ที่จะมาล้างมือซ้ำ แต่ก็ค่อยๆ ล้างมือตามสูตรเดิมจนแน่ใจว่าครบ 30 วินาทีแน่ๆ

จากที่ยุ่งๆ มาทั้งวัน การได้อยู่กับตัวเองครึ่งนาทีก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีเหมือนกัน

แล้วผมก็คิดได้ว่า บางทีเราก็รีบกันจนเป็นนิสัย

รีบทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะรีบไปทำไมด้วยซ้ำ