กองดองและลู่วิ่งไฟฟ้ามีบางอย่างที่เหมือนกัน

กองดองและลู่วิ่งไฟฟ้ามีบางอย่างที่เหมือนกัน

ช่วงเย็นผมมักจะไปเดินรอบหมู่บ้านเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงานมาทั้งวัน

พอเดินบ่อยก็เลยเห็นบ้านอื่น แล้วก็นิสัยไม่ดีเก็บมาคิดต่อ

มีอย่างน้อยสองหลังที่มีแป้นบาสยี่ห้อ TARMAK วางอยู่หน้าบ้าน แต่ผมไม่เคยเห็นใครออกมาเล่นบาสเลยสักครั้ง

มีหลังหนึ่งซื้อ “ตู้อบสมุนไพร” ทำจากไม้ไผ่ขนาดนั่งได้คนเดียววางอยู่ในโรงจอดรถ ผ่านไปนานๆ เข้าก็กลายเป็นที่เก็บของ

และผมก็มั่นใจว่ามีอีกหลายบ้านที่ลู่วิ่งไฟฟ้าที่ซื้อมาตอนปีใหม่กลายเป็นราวตากผ้าหรือที่วางของเป็นที่เรียบร้อย

นักปรัชญาชาวเยอรมันนาม Arthur Schopenhauer เคยกล่าวไว้ว่า

“Buying books would be a good thing if one could also buy the time to read them in.”

การซื้อหนังสือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่านั้นถ้าเราซื้อเวลาไว้อ่านมันด้วย

การมีกองดองขนาดมหึมาที่อ่านไม่ทันนั้นนับเป็นปัญหาหนึ่งของนักอ่าน และเป็นโจทย์ที่ผมขบคิดมานานว่าจะทำยังไงกับมันดี จนกระทั่งได้เห็นแป้นบาส TARMAK และตู้อบสมุนไพรจึงตระหนักได้ว่าปัญหาที่เราประสบมันหนักหนากว่านั้นอีก

ปัญหาก็คือเรามักจะบอกตัวเองและหลอกตัวเองซ้ำๆ ว่าเมื่อซื้อของชิ้นนี้มาแล้วเราจะมีเวลาและพลังงานพอที่จะได้ใช้ประโยชน์จากมัน

คนเป็นพ่อแม่จะรู้เรื่องนี้ดี เราจะหาซื้อของเล่น หรือหนังสือเสริมทักษะให้ลูก ตอนจะกดเอฟของเราก็วาดภาพไว้เสียดิบดีว่าเราจะนั่งล้อมวงเล่นด้วยการอย่างอบอุ่นและสนุกสนาน แต่พอถึงเวลาได้ของมาแล้วจริงๆ เราแทบไม่เคยเล่นของชิ้นนั้นกับลูกเลย ภาพที่ฉายซ้ำคือเรานอนเล่นมือถือแล้วปล่อยให้ลูกดู YouTube Kids เสียมากกว่า

ปัญหาของการไม่มีเวลานี่น่าจะเป็นมาทุกยุคทุกสมัย แต่ตอนนี้มันแย่ลงเพราะว่าเราเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ง่ายดายกว่าแต่ก่อน แถมราคาของก็ถูกลงมากมาย กำลังซื้อจึงล้ำหน้ากำลังกายของเราไปหลายช่วงตัว

หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานเข้า บ้านเราจะเต็มไปด้วยข้าวของที่ไม่ได้ใช้ เกิดความไม่ spark joy จนต้องพึ่งพาคอนมาริครั้งแล้วครั้งเล่า

ผมไม่แน่ใจว่าปัญหานี้มีวิธีแก้ที่ได้ผลหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็เห็นส่วนประกอบสองข้อที่พาเรามาถึงจุดจุดนี้

  1. เรา romanticize ว่าของที่เราซื้อจะนำพาความสุขมาให้
  2. เมื่อได้ของมาแล้ว เราไม่เคยจัดเวลาที่จะใช้สอยมันให้เกิดประโยชน์

ดังนั้น ถ้าจะให้คิดถึงทางออกคร่าวๆ ก็ต้องแก้ทั้งสองฝั่ง

หนึ่ง ระลึกเสมอว่าเรามีแนวโน้มที่จะคิดเข้าข้างตัวเองเกินไป เราจะได้ซื้อของให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรืออะไรก็ตาม

สอง ของสิ่งใดที่ซื้อมาแล้ว ก็ควรจัดแรงและเวลาที่จะได้ใช้มันด้วย ภาพใดที่เราเคยสร้างเอาไว้ในใจก่อนที่เราจะจ่ายเงินซื้อของชิ้นนั้น เราก็ควรสร้างมันให้เกิดขึ้นจริงด้วยเช่นกัน

กว่าจะหาเงินมาได้ เราต้องใช้พลังชีวิตไปตั้งเท่าไหร่ การซื้อของมาตั้งไว้โดยไม่ได้ใช้ย่อมนับเป็นการทิ้งขว้างชีวิตรูปแบบหนึ่ง

ไม่หลอกตัวเองก่อนซื้อของ และจัดเวลาให้กับของที่เรามี เพื่อให้พลังชีวิตของเราไม่ถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่าครับ

anontawong.com/2023/02/28/buyer-user-gap

ยากที่สุดคือความพอดี

คนโสดอยากมีแฟน ส่วนคนมีแฟนอยากมีที่ว่างตรงกลางเอาไว้บ้าง

คนจนฝันอยากมีเงินเยอะๆ ส่วนคนมีเงินก็สงสัยว่าทำไมตัวเองยังไม่มีความสุข

คนธรรมดาโหยหาชื่อเสียง ส่วนคนมีชื่อเสียงโหยหาความเป็นส่วนตัว

คนฉลาดมักคิดมากจนเครียด ส่วนคนไม่ฉลาดมักพลาดผิดกับเรื่องง่ายๆ

คนไร้อำนาจรู้สึกว่าตนถูกกดขี่ข่มเหง ส่วนคนมีอำนาจต้องคอยระแวงตลอดเวลา

ต่อให้ชีวิตดีแค่ไหน มนุษย์ก็แสวงหาเรื่องทุกข์ใจได้ตลอด ทุกทางออกจึงนำไปสู่ปัญหาใหม่เสมอ

ไม่มีอะไรที่จะดีไปทั้งหมด ไม่มีอะไรที่จะแย่ไปเสียทุกอย่าง โจทย์ของการเป็นมนุษย์คือการแสวงหาจุดลงตัว และคนที่บรรลุวิชาชีวิตคือคนที่รู้ว่าดีแค่ไหนถึงจะพอดีครับ

เมื่อลูกเริ่มนอนเป็นเวลา แม่ก็ควรเอาชีวิตตัวเองกลับมาเช่นกัน

หนึ่งในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนคนหนึ่งได้มากที่สุดก็คือการมีลูก

ตอนเป็นโสดอาจจะมีเหงาบ้าง แต่ก็คล่องตัว สามารถทำอะไรได้อิสระเสรีพอสมควร

พอมีคู่ความเหงาก็คลี่คลาย อิสระอาจจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นคู่ที่ไปไหนไปกันก็สนุกไปอีกแบบ

แต่พอมีลูก เราแทบจะต้องทิ้งทุกอย่างที่เคยทำเพื่อมาดูแลสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ขาดเราไม่ได้

คนเป็นแม่นั้นลำบากกว่าคนเป็นพ่อหลายเท่า เพราะลำบากตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ต้องแพ้ท้อง ต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว ต้องกังวลกับท้องลายและน้ำหนักที่ขึ้นเอาๆ ตอนช่วงท้ายก็อุ้ยอ้ายทำอะไรก็ลำบาก พอคลอดน้องออกมายังไม่ทันมีเวลาพักให้หายเจ็บแผลก็ต้องอดหลับอดนอนเอาลูกเข้าเต้า กล่อมลูกนอน พอลูกหลับปุ๊บยังต้องปั๊มนมเก็บไว้อีก

สามเดือนแรกน่าจะเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด จากนั้นจึงค่อยๆ เหนื่อยน้อยลงแต่ก็ต้องเริ่มกลับมาทำงาน ส่วนลูกก็มีโจทย์มาให้เราแก้เรื่อยๆ เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวดื้อ เดี๋ยวต้องเตรียมเข้าโรงเรียน

แต่สำหรับแม่ที่ทำงานประจำ หลายคนต้องสู้รบกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยกับงานได้ จะดูแลลูกก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพออีก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือวันทั้งวันก็จะเทเวลาให้กับสองสิ่งนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็เรื่องลูก ถ้าไม่ใช่เรื่องลูกก็เรื่องงาน

เมื่อคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปนานๆ เข้า แม่บางคนอาจลืมไปเลยว่าแต่ก่อนเราเคยมี passion หรือมีความสุขกับเรื่องอะไร หรือถึงไม่ลืมเราก็จะบอกตัวเองว่าเอาไว้ก่อน เอาเรื่องลูกก่อน เอาเรื่องงานก่อน

แต่ผมกลับรู้สึกว่า ถ้าลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแล้ว (เช่นตอนอายุเกิน 1 ขวบ) เริ่มไม่ต้องมีเราอยู่ในทุกฝีก้าวในชีวิตเขาแล้ว คนเป็นแม่ควรกลับมาดูแลจิตใจและร่างกายตัวเองบ้าง

แผลผ่าตัดหายดีแล้ว ลูกเริ่มกินนมจากขวดได้แล้ว ตัวแม่กับลูกไม่จำเป็นต้องติดกันตลอดเวลาอีกแล้ว นี่คือจังหวะที่ดีที่เราจะจัดเวลาทำอะไรที่เติมเต็มเราได้บ้าง

เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ชีวิตเราจะมีแค่งานกับลูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เข้าก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า resentment หรือความเคืองขุ่นในจิตใจ ทั้งกับตัวงาน ตัวคู่สมรส หรือแม้กระทั่งตัวลูกเอง จากนั้นก็รู้สึกโกรธที่ตัวเองดันแอบไปรู้สึกแย่กับลูกอีกด้วย

เราจึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เราไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทมนุษย์แม่ตลอดเวลา หันกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ spark joy ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมหย่อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีลูกเป็นศูนย์กลางของทุกการกระทำ

เมื่อเราสามารถจัดเวลาให้ตัวเองได้บ้าง ได้เติมบางอย่างที่ขาดหายมานาน เราก็จะมีพละกำลังที่จะทำหน้าที่แม่ได้อย่างเต็มใจและยืนระยะได้ดีกว่าเดิมครับ

เมื่อลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแม่ก็ควรเอาชีวิตตัวเองกลับมาเช่นกัน

หนึ่งในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนคนหนึ่งได้มากที่สุดก็คือการมีลูก

ตอนเป็นโสดอาจจะมีเหงาบ้าง แต่ก็คล่องตัว สามารถทำอะไรได้อิสระเสรีพอสมควร

พอมีคู่ความเหงาก็คลี่คลาย อิสระอาจจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นคู่ที่ไปไหนไปกันก็สนุกไปอีกแบบ

แต่พอมีลูก เราแทบจะต้องทิ้งทุกอย่างที่เคยทำเพื่อมาดูแลสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ขาดเราไม่ได้

คนเป็นแม่นั้นลำบากกว่าคนเป็นพ่อหลายเท่า เพราะลำบากตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ต้องแพ้ท้อง ต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว ต้องกังวลกับท้องลายและน้ำหนักที่ขึ้นเอาๆ ตอนช่วงท้ายก็อุ้ยอ้ายทำอะไรก็ลำบาก พอคลอดน้องออกมายังไม่ทันมีเวลาพักให้หายเจ็บแผลก็ต้องอดหลับอดนอนเอาลูกเข้าเต้า กล่อมลูกนอน พอลูกหลับปุ๊บยังต้องปั๊มนมเก็บไว้อีก

สามเดือนแรกน่าจะเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด จากนั้นจึงค่อยๆ เหนื่อยน้อยลงแต่ก็ต้องเริ่มกลับมาทำงาน ส่วนลูกก็มีโจทย์มาให้เราแก้เรื่อยๆ เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวดื้อ เดี๋ยวต้องเตรียมเข้าโรงเรียน

แต่สำหรับแม่ที่ทำงานประจำ หลายคนต้องสู้รบกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยกับงานได้ จะดูแลลูกก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพออีก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือวันทั้งวันก็จะเทเวลาให้กับสองสิ่งนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็เรื่องลูก ถ้าไม่ใช่เรื่องลูกก็เรื่องงาน

เมื่อคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปนานๆ เข้า แม่บางคนอาจลืมไปเลยว่าแต่ก่อนเราเคยมี passion หรือมีความสุขกับเรื่องอะไร หรือถึงไม่ลืมเราก็จะบอกตัวเองว่าเอาไว้ก่อน เอาเรื่องลูกก่อน เอาเรื่องงานก่อน

แต่ผมกลับรู้สึกว่า ถ้าลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแล้ว (เช่นตอนอายุเกิน 1 ขวบ) เริ่มไม่ต้องมีเราอยู่ในทุกฝีก้าวในชีวิตเขาแล้ว คนเป็นแม่ควรกลับมาดูแลจิตใจและร่างกายตัวเองบ้าง

แผลผ่าตัดหายดีแล้ว ลูกเริ่มกินนมจากขวดได้แล้ว ตัวแม่กับลูกไม่จำเป็นต้องติดกันตลอดเวลาอีกแล้ว นี่คือจังหวะที่ดีที่เราจะจัดเวลาทำอะไรที่เติมเต็มเราได้บ้าง

เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ชีวิตเราจะมีแค่งานกับลูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เข้าก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า resentment หรือความเคืองขุ่นในจิตใจ ทั้งกับตัวงาน ตัวคู่สมรส หรือแม้กระทั่งตัวลูกเอง จากนั้นก็รู้สึกโกรธที่ตัวเองดันแอบไปรู้สึกแย่กับลูกอีกด้วย

เราจึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เราไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทมนุษย์แม่ตลอดเวลา หันกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ spark joy ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมหย่อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีลูกเป็นศูนย์กลางของทุกการกระทำ

เมื่อเราสามารถจัดเวลาให้ตัวเองได้บ้าง ได้เติมบางอย่างที่ขาดหายมานาน เราก็จะมีพละกำลังที่จะทำหน้าที่แม่ได้อย่างมั่นคงกว่าเดิมครับ

นิทานรถบัส

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ณ ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่งในเมืองนอก

แม่: ถ้าคนขับถามว่าลูกอายุเท่าไหร่ ลูกตอบว่า 6 ขวบนะ ตั๋วจะได้ราคาถูก

เด็กชาย: ได้ครับแม่

รถบัสมาจอดที่ป้าย ทั้งแม่และลูกเดินขึ้นบันไดรถ

คนขับ: อายุเท่าไหร่แล้วพ่อหนุ่มน้อย

เด็กชาย: 6 ขวบครับ

คนขับ: โอ้ดีๆ แล้วจะ 7 ขวบเมื่อไหร่ครับเนี่ย

เด็กชาย: ตอนลงจากรถครับ

นิยามของความมัธยัสถ์

วิวัฒนาการคือแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุดในโลก มันสามารถเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวให้กลายมาเป็นมนุษย์ยุคนี้ได้

แต่วิวัฒนาการไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะมันไม่มีคู่มือใดๆ ทั้งสิ้น บางทีมันไม่ค่อยเก่งเรื่องการคัดสรรคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วยซ้ำ

พลังเพียงอย่างเดียวของมันคือมันทำการทดลองเป็นล้านล้านครั้ง และอันไหนไม่เวิร์คก็ฆ่าทิ้งเสีย ส่วนผู้ที่เหลือรอดก็จะได้อยู่ต่อไป

มีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Fisher’s Fundamental Theorem of Natual Selection ที่บอกว่าความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง เพราะยิ่งประชากรมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณสมบัติให้คัดสรรมากเท่านั้น

ซึ่งก็อุปมาอุปไมยเหมือนกับการใช้เงิน

หลายคนไม่รู้ว่าการใช้เงินแบบไหนจะทำให้เรามีความสุข เราควรซื้ออะไรดี? ควรเดินทางไปไหนดี? ควรเก็บเงินเท่าไหร่ดี?

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพราะเราแต่ละคนนั้นแตกต่าง คนส่วนใหญ่จึงมักเชื่อตามเสียงของสังคมที่บอกว่าของที่ราคาสูงที่สุดจะทำให้เรามีความสุขได้มากที่สุด

แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราต้องลองใช้เงินในหลากหลายรูปแบบเพื่อจะได้รู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับเรา บางคนชอบเดินทาง ส่วนบางคนนั้นติดบ้าน บางคนชอบกินร้านอาหารหรู แต่บางคนชอบฟาสต์ฟู้ดมากกว่า หลายคนมองว่าการนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสเป็นเรื่องหลอกกินเงิน แต่สำหรับบางคนก็มองว่ามันคุ้มค่า

ยิ่งเราได้ลองใช้เงินในรูปแบบต่างกันมาเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสจะเจอของที่ใช่มากขึ้นเท่านั้น และการลองก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ แค่ลองชิมอาหารจานใหม่ ลองใช้บริการใหม่ๆ ลองซื้อรองเท้าสวยๆ ฯลฯ

เหมือนที่ Ramit Sethi เคยนิยามไว้

“โดยเนื้อแท้แล้ว ‘ความมัธยัสถ์’ คือการหาให้เจอว่าเรารักสิ่งใดมากพอที่จะยอมใช้เงินอย่างอู้ฟู่ และพร้อมที่จะลดค่าใช้จ่ายกับทุกอย่างที่เหลือ”

“Frugality, quite simply, is about choosing the things you love enough to spend extravagantly on — and then cutting costs mercilessly on the things you don’t love.”

ไม่มีคู่มือที่จะบอกว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุข เราแค่ต้องลองสิ่งละอันพันละอย่างเพื่อหาให้เจอว่าอะไรที่เหมาะกับเรา


ผมแปลข้อความข้างต้นมาจากส่วนหนึ่งของบทความ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel

ผมชอบคำพูดของ Ramit Sethi เป็นพิเศษ ตรงที่เขานิยามความประหยัดว่าไม่ใช่ความตระหนี่ถี่เหนียวและอยากจ่ายให้น้อยที่สุดในทุกเรื่อง แต่คือการเลือกให้ดีว่าจะตัดเรื่องอะไร และจะยอมอู้ฟู่กับเรื่องอะไร

ผมเป็นคนประหยัดกับข้าวของส่วนตัว ไม่เคยอินกับแคมเปญ 11.11 พร้อมจะใช้ของไม่มียี่ห้อถ้ามันตอบโจทย์ได้ 70%

ผมเคยบ่นกับน้องในทีมว่าหูฟังสายไฟมันเริ่มลอกแล้ว กลัวไฟช็อต น้องก็แนะนำหูฟังยี่ห้อหนึ่งราคาสามพันกว่าบาท ผมบอกว่าไม่กล้าซื้อ ปกติผมซื้อแต่หูฟังในเซเว่นอันละร้อยกว่าบาทเท่านั้น

แต่ถ้าผมกับแฟนไปดูคอนเสิร์ต ผมพร้อมควักเงินซื้อตั๋วที่นั่งใกล้เวทีราคาหลายพันได้แบบไม่เสียดาย เพราะคิดว่าไปคอนเสิร์ตทั้งทีแล้วก็อยากเห็นหน้าศิลปินคนโปรดชัดๆ

ความยากอย่างหนึ่งเรื่องการใช้เงินคือเราจะบาลานซ์อย่างไรระหว่างการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขในวันนี้ และการเก็บออมและลงทุนเพื่อความมั่นคงในวันหน้า

เพราะแม้ว่าความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะอยู่ถึงวันนั้นรึเปล่า หรือเมื่อถึงวันนั้นแล้วเราจะยังแข็งแรงพอที่จะทำบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ ดังนั้นถ้าเราไม่ใช้เงินเพื่อปัจจุบันบ้างเลยผมว่ามันก็เป็นการฝากความหวังไว้กับอนาคตมากไปหน่อย

ทดลองให้รู้ว่าเงินซื้อความสุขให้เราในเรื่องไหนได้บ้าง อู้ฟู่ไปกับมัน แล้วค่อยประหยัดกับเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับเราครับ